พระราชเมธี กล่าวความเบื้องต้น

พระราชเมธี กล่าวความเบื้องต้น

      ท่านเจ้าคณะพระสังฆาธิการที่เคารพและนับถือ

     กระผมพร้อมด้วยคุณมนู ช่างสุพรรณ หัวหน้าฝ่ายสังฆการ กรมการศาสนา ขอถือโอกาสนี้ ถวายความรู้เรื่องพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.๒๕๐๕ บางมาตรา

     ในเบื้องต้นขอทำความเข้าใจกับท่านทั้งหลายสักเล็กน้อยแล้วจึงจะพูดเรื่องพระราชบัญญัติคณะสงฆ์เป็นลำดับไป ทั้งนี้เพราะทั้งกระผม และคุณมนู เป็นผู้ใหม่ต่อจังหวัดนี้ แม้จะเคยไปมาอยู่บ้าง ก็ไม่มีความคุ้นเคยกับท่านทั้งหลาย ทั้งท่านทั้งหลายก็มิได้คุ้นเคยกับกระผมและคุณมนูมาก่อน

     กระผมเกิดที่อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี เมื่ออายุครบ ๒๐ ปี ได้บรรพชาอุปสมบทที่วัดอินทรแบก อำเภอศรีมหาโพธิ จังหวัดเดียวกัน แล้วเรียนนักธรรมและบาลี ที่วัดอินทรแบกและวัดใหม่กรงทอง อำเภอศรีมหาโพธิ นั้น สอบเปรียญธรรม ๕ ประโยคได้ เมื่ออายุ ๒๕  พรรษา แล้วย้ายมาอยู่ที่วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฏิ์ กรุงเทพมหานคร จนถึงปัจจุบัน เมื่ออายุ ๓๐ พรรษา ๑๐ สอบเปรียญธรรม ๘ ประโยคได้ ครั้นเดือนตุลาคม ๒๕๑๖ ได้รับแต่งตั้งเป็นเลขานุการเจ้าคณะภาค ๑๐ เมื่อเข้ามารับงานเลขานุการเจ้าคณะภาคแล้วกระผมได้ตั้งใจสนองงานมาด้วยดี  จนครบสมัยเมื่อวันที่๖ ตุลาคม ๒๕๒๐ ก็พ้นจากหน้าที่ เพราะเจ้าคณะภาคพ้นจากตำแหน่งครั้นปลายเดือนตุลาคม ๒๕๒๐ นั้น ได้รับพระบัญชาแต่งตั้งดำรงตำแหน่งรองเจ้าคณะภาค ๑๐ และดำรงตำแหน่งมาจนถึงปัจจุบัน  

     สำหรับวิทยากรอีกท่านหนึ่ง คือ คุณมนู ช่างสุพรรณ เป็นชาวจังหวัดสุพรรณบุรี นามสกุลบอกชัดว่าจังหวัดใด ท่านผู้นี้ ได้ศึกษาเล่าเรียนตามลำดับ จบปริญญาตรีทางกฎหมายที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รับราชการที่กรมการศาสนามาเป็นเวลาเกือบ ๓๐ ปี ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง หัวหน้าฝ่ายสังฆการซึ่งเป็นฝ่ายที่เกี่ยวกับคณะสงฆ์โดยตรง เป็นผู้มีความชำนาญในกฎหมายคณะสงฆ์พอสมควร ท่านเจ้าคณะภาค ๙ ได้ขอเชิญให้มาบรรยายคู่กับกระผม เดิมจะให้คุณมนูบรรยายคนเดียว เห็นว่าจะหนักเกินไป เพราะต้องพูดหกเจ็ดชั่วโมงต่อวัน เพื่อมิให้คุณมนูหนักเกินไปจึงให้กระผมมาเสริม คือมาเป็นผู้ช่วยคุณมนู กระผมจะเป็นเพียงผู้เสริม กระผมขอแนะนำในส่วนเบื้องต้นเพียงเท่านี้

        ต่อไปขอพูดถึงเรื่องพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.๒๕๐๕ แต่การพูดเรื่องพระราชบัญญัติฉบับนี้ ต้องพูดถึงเรื่องประกอบอื่นเพื่อให้มองเห็นภาพพจน์ ถ้าพูดเจาะจงเพียงเรื่องเดียว ก็อาจอำนวยประโยชน์ให้แก่ผู้ฟังน้อย ดังนั้น กระผมขอพูดถึงส่วนกว้าง ๆ อันเกี่ยวกับการปกครองทั่วไปเป็นลำดับแรก

     การปกครองมีอยู่ทุกระดับชั้น อยู่ตัวคนเดียวก็ต้องปกครอง คือปกครองตัวเอง สองคนขึ้นไป ก็ต้องมีการปกครอง ระดับสูงสุดคือการปกครองประเทศ และการปกครองทุกระดับนั้น จำเป็นต้องใช้อำนาจ อำนาจสูงสุดทางการปกครอง เรียกว่า อำนาจอธิปไตย อธิปไตยศัพท์นี้ ตามหลักที่ท่านเคยเรียนนักธรรมชั้นโท จะเห็นชัดว่า อธิปไตย มี ๓ คือ.-

     – อัตตาธิปไตย ปรารภตนเป็นใหญ่

     – โลกาธิปไตย ปรารภโลกเป็นใหญ่

     – ธัมมาธิปไตย ปรารภธรรมเป็นใหญ่

     การปกครองคือการใช้อำนาจอธิปไตย อำนาจอธิปไตยนั้น คืออำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศ แยกเป็น ๓ คือ.-

     (๑) อำนาจนิติบัญญัติ ได้แก่อำนาจในการตรากฎหมายกำหนดระเบียบ แบบแผน ตั้งกฎข้อบังคับ ตั้งหลักเกณฑ์และวิธีการปฏิบัติงาน ให้ประโยชน์แก่สังคมแก่หมู่คณะ

     (๒)  อำนาจบริหาร ได้แก่อำนาจการกำหนดนโยบายและควบคุมการบริหารประเทศชาติ เพื่อให้ประเทศชาติมีความวิวัฒนาสภาพร

     (๓) อำนาจตุลาการ คืออำนาจในการวินิจฉัยชี้ขาดและให้ความยุติธรรมในเมื่อมีกรณีขัดแย้งเกิดขึ้นในสังคม

     อันการปกครองประเทศนั้น เขาใช้อำนาจทั้ง ๓ นี้ ต่างกัน ตามลักษณะของการปกครอง แยกเป็น ๒ แบบคือ แบบรวมอำนาจ ๑ แบบกระจายอำนาจ ๑

     แบบรวมอำนาจ คือการรวมอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการ ให้อยู่กับคน ๆ เดียว หรือให้อยู่กับกลุ่มบุคคลกลุ่มเดียว เช่น ประเทศไทย เมื่อก่อนวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ ปกครองระบอบสมบูรณาฐาสิทธิราชย์ ในลักษณะนี้ เรียกว่า แบบรวมอำนาจ อีกอย่างหนึ่ง ประเทศในค่ายสังคมนิยม แม้เขาจะมีรัฐบาลหรือมีองค์กรใดก็ตาม ลักษณะการใช้อำนาจอธิปไตย เขาใช้แบบรวมอำนาจ

     แบบกระจายอำนาจ ได้แก่การแยกบุคคลรับผิดชอบ กล่าวคือรัฐสภารับผิดชอบในตรากฎหมาย คือด้านนิติบัญญัติ รัฐบาลหรือคณะรัฐมนตรี รับผิดชอบในด้านการบริหาร ศาลรับผิดชอบในด้านตุลาการ พระมหากษัตริย์ทรงอยู่เหนือการใช้อำนาจทั้ง ๓ นั้น เป็นเพียงทรงรับทราบการใช้อำนาจ เช่น ระบอบการปกครองในเมืองไทย ซึ่งเรียกว่า การปกครองระบอบประชาธิปไตยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ลักษณะเช่นนี้ เป็น แบบกระจายอำนาจ

     คณะสงฆ์นั้นเป็นกลุ่มชนกลุ่มหนึ่ง ซึ่งมีลัทธิทางศาสนาโดยเฉพาะ มีลัทธิประเพณีเป็นของพระสงฆ์โดยตรง แต่กลุ่มพระสงฆ์นั้นเป็นคนของราชอาณาจักร พระสงฆ์จึงอยู่ภายใต้กฎหมาย ว่าโดยลักษณะถึง ๓ ลักษณะ คือ.-

     (๑) กฎหมายพุทธศาสน์ หมายถึงพระธรรมวินัยของพระพุทธเจ้า

     (๒) กฎหมายแผ่นดิน หมายถึงพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.๒๕๐๕ และกฎหมายแผ่นดินที่ตราขึ้นเพื่อการอื่น อันเกี่ยวกับพระสงฆ์

     (๓)  จารีต หมายถึงประเพณีที่เคยยึดถือมาแล้วแต่อดีตที่ไม่ขัดกับพระธรรมวินัยและกฎหมาย

     เพราะฉะนั้น คณะสงฆ์จึงจัดระเบียบการปกครอง โดยอาศัยกฎหมายแผ่นดินเป็นหลักอุปถัมภ์ มิใช่จัดตามพระธรรมวินัยอย่างเดียว ถ้าปกครองตามพระธรรมวินัยอย่างเดียว ในสมัยนี้เราจะไปไม่รอด เพราะพระวินัยอันเป็นพุทธอาณานั้น ไม่มีอำนาจบังคับให้รับโทษในปัจจุบันได้ชัด ในฐานะที่ทางราชอาณาจักร เป็นฝ่ายศาสนูปถัมภ์ จึงตรากฎหมายมาช่วยสนับสนุนพระธรรมวินัย ที่จริงนั้น โดยอุดมการณ์ของคณะสงฆ์ ยึดเอาพระธรรมวินัยเป็นแบบฉบับ แต่รับเอากฎหมายมาสนับสนุน มาบังคับให้จัดองค์กรระดับชั้นผู้ปกครอง และบังคับให้ปฏิบัติอย่างนั้นอย่างนี้ เพื่อให้พระธรรมวินัยดำเนินไปได้โดยสะดวก จึงมีการใช้กฎหมายแผ่นดินต่างวาระ ก่อนที่จะพูดถึงกฎหมายที่ว่านี้ ขอพูดถึงลักษณะการปกครองคณะสงฆ์ตามสมัยต่าง ๆ เพื่อเปรียบเทียบ

     อันดับแรก ขอพูดถึงสมัยพุทธกาล พระพุทธเจ้าทรงใช้อำนาจอธิปไตยทั้ง ๓ อยู่ชัดแจ้ง อย่าได้เข้าใจว่า พระองค์มิได้ทรงใช้อำนาจอธิปไตยนะครับ ผมขอชี้อำนาจอธิปไตยที่ทรงใช้

     (๑) ทรงใช้อำนาจนิติบัญญัติ คือทรงบัญญัติหลักอันเป็นพุทธอาณา เป็นข้อบังคับพระภิกษุสามเณรให้ถือปฏิบัติ ให้ชาวพุทธปฏิบัติโดยตรง เป็นพระวินัยอันจะต้องรักษาส่วนหนึ่ง และทรงบัญญัติวิธีประกอบอีกส่วนหนึ่ง เป็นการตั้งระเบียบแบบแผน ตั้งขนบธรรมเนียม ตั้งจารีตทางศาสนา เหมือนกับรัฐสภาตราพระราชบัญญัติ นอกจากนั้น พระองค์ทรงแสดงธรรม เพื่อเป็นหลักปฏิบัติ ก็เหมือนกับรัฐสภาตรากฎหมายว่าด้วยการพัฒนาประเทศในด้านต่าง ๆ ลักษณะเช่นว่านี้ คือการทรงใช้อำนาจนิติบัญญัติ

     (๒)  ทรงใช้อำนาจบริหาร คือพระองค์ทรงมีอุดมการณ์บริหารคณะสงฆ์ ตามที่ทรงตั้งพระศาสนาไว้ ท่านทั้งหลายลองคิดเทียบดู พระปัจเจกพุทธเจ้า ได้ตรัสรู้เหมือนพระพุทธเจ้า แต่มิได้ตั้งพระศาสนา คือไม่ใช้อำนาจนิติบัญญัติ บริหารและตุลาการ ความตรัสรู้ จึงมีประโยชน์เฉพาะท่าน ส่วนพระพุทธเจ้านั้น พอตรัสรู้แล้ว ทรงตั้งอุดมการณ์เลยทีเดียว ฉันจักประกาศพระพุทธศาสนาให้เจริญแพร่หลายเสียก่อน จึงจะนิพพาน ถ้าพระพุทธศาสนาไม่ตั้งมั่น ไม่เจริญแพร่หลาย ไม่เป็นประโยชน์อันยิ่งใหญ่แก่ชาวโลกแล้ว ฉันจักไม่นิพพาน แล้วทรงบริหารคณะสงฆ์บริหารพระพุทธศาสนา การบริหารนั้น ทรงบริหารแบบธรรมาธิปไตย เอาธรรมเป็นใหญ่ ก็มิได้ทรงใช้โลกาธิปไตย เอาเสียงข้างมากเป็นหลัก ก็มิได้ทรงใช้ พระองค์ทรงใช้ธรรมาธิปไตย ทรงเอาเหตุผลและความถูกต้องชอบธรรมเป็นหลัก โดยพระองค์เป็น พระธรรมราชา เป็น พระธรรมสามี ทรงปกครองคณะสงฆ์ โดยทรงเป็นยอดของคณะสงฆ์ รองลงมาคือพระอัครสาวกขวาซ้าย คือพระสารีบุตรเถระและพระมหาโมคคัลลานเถระ และมีพระสาวกผู้ใหญ่อื่น ๆ เป็นหัวหน้าคณะปกครองพระสงฆ์ โดยลักษณะรวมเป็นคณะ ๆ ขึ้นต่อพระองค์ และทรงแสดงและบัญญัติพระธรรมวินัยเป็นหลักการปกครอง ใครจะนอกเหนือไปมิได้ และทรงมอบให้พระสงฆ์เป็นใหญ่ในสังฆกรรม เพราะเหตุนี้แหละครับ มีคนเข้าใจว่า พระพุทธเจ้าทรงปกครองแบบสังฆาธิปไตย เอาพระสงฆ์เป็นใหญ่ คล้ายระบอบประชาธิปไตยในปัจจุบัน พระเจ้าแผ่นดินก็เอาประชานชนเป็นใหญ่ พระพุทธเจ้าทรงเอาพระสงฆ์เป็นใหญ่ มีนักกฎหมายวินิจฉัยกันแบบนั้น และมีพระสังฆาธิการเข้าใจแบบนั้นก็เยอะ

     แต่กระผมเองเห็นอย่างนี้ครับ การปกครองบ้านเมืองนั้น พระมหากษัตริย์ทรงเอาประชาชนเป็นใหญ่ จึงเรียกว่าประชาธิปไตย ที่ว่าเอาประชาชนเป็นใหญ่ เพราะการตรากฎหมายปกครองประเทศต้องผ่านรัฐสภา ๓ วาระ รัฐสภาก็คือประชาชน ประชาชนเลือกผู้แทนของตนเข้าไปเป็นรัฐสภา เมื่อรัฐสภาต้องการอย่างใด พระมหากษัตริย์ไม่ทรงขัดข้อง เขาจะเอาอย่างไร ก็ทรงตามใจเขา ถ้ารัฐสภาตกลงแล้ว ทรงเอาด้วยทั้งสิ้น นั่นคือระบบเอาประชาชนเป็นใหญ่ ส่วนพระพุทธเจ้ามิได้ทรงเอาแบบนั้น มิได้ทรงเอาพระสงฆ์เป็นใหญ่ พระสงฆ์ในสมัยนั้น มีอยู่หลายแสนรูป แต่มิได้ทรงเอาพระสงฆ์มาเป็น สังฆสภา เพื่อทรงปรึกษาก่อน จึงทรงแสดงธรรมและทรงบัญญัติพระวินัยตาม พระองค์ทรงเอาความถูกต้องชอบธรรมเป็นหลัก อันใดถูกต้องชอบธรรม ทรงแสดงและทรงบัญญัติเป็นปทัฏฐาน ที่ว่าให้พระสงฆ์เป็นใหญ่ในสังฆกรรมนั้น ก็เพียงเพื่อให้รวมกันเป็นคณะเพื่อทำสังฆกรรมทุกชนิดตามพุทธบัญญัติ เช่นการรับเอาคนเข้ามาเป็นพระภิกษุ พระสงฆ์จะพร้อมกันตกลงถอนอันนั้น ถอนอันนี้ เลิกอันนั้น บัญญัติอันนั้น บัญญัติอันนี้ กระทำไม่ได้ เช่นทรงบัญญัติไว้ว่า คนมีกาลฝน ๒๐ บวชเป็นพระภิกษุได้ หย่อนกว่านั้นบวชเป็นพระภิกษุไม่ขึ้น พระสงฆ์จะปรึกษาถอนเสีย บัญญัติใหม่ว่า คนมีกาลฝน ๑๕ ก็บวชเป็นพระภิกษุได้ จะเอาอย่างนี้ไม่ได้ เพราะนอกพระวินัย อะไรก็ตามที่ขัดพระธรรมวินัย พระสงฆ์ไม่มีสิทธิที่จะทำได้

     (๓) ทรงใช้อำนาจตุลาการ ได้แก่การวินิจฉัยชี้ขาด เมื่อมีพระภิกษุละเมิดพระวินัย โดยปกติทรงวินิจฉัยด้วยพระองค์เอง มีทรงมอบสาวกในกาลบางคราวเท่านั้น

     ในสมัยพุทธกาล ทรงใช้อำนาจอธิปไตยทั้ง ๓ โดยสมบูรณ์ โดยทรงใช้แบบพระธรรมราชา และทรงมอบอำนาจในบางโอกาส

     การปกครองคณะสงฆ์ในสมัยต่อมา ขอข้ามพูดในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ และจะเริ่มตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๔๕ เป็นต้นมา

     เมื่อ พ.ศ.๒๔๔๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงตรากฎหมายคณะสงฆ์ฉบับหนึ่ง เรียกว่า พระราชบัญญัติลักษณะปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ.๑๒๑ ถวายแก่คณะสงฆ์เพื่อจัดระเบียบการปกครองคณะสงฆ์ เป็นกฎหมายคณะสงฆ์ฉบับแรก ที่ให้คณะสงฆ์จัดระเบียบการปกครอง ในส่วนภูมิภาคให้มีเจ้าคณะมณฑล เจ้าคณะเมือง เจ้าคณะแขวง หรือผู้กำกับแขวง ( ในกรุง ) และเจ้าคณะแขวง ภายใต้บังคับแห่งกฎหมายฉบับนี้ ในส่วนภูมิภาค จัดระเบียบการปกครองได้ดี เพราะได้กำหนดเขตและผู้ปกครองพร้อมทั้งอำนาจหน้าที่ไว้ทุกชั้น แต่ในส่วนกลางหาได้กำหนดไว้ขัดเจนไม่ ที่สำคัญ ตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชมิได้กำหนดไว้เลย ทั้งมิได้ปฏิเสธไว้ ความจริงนั้นการปกครองทุกระดับ ต้องมีผู้เป็นประมุข คือเป็นราชา เช่น การปกครองประเทศ ต้องมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข การปกครองคณะสงฆ์ ก็ต้องมีสมเด็จพระสังฆราชเป็นประมุข เพราะเป็นพระราชาของคณะสงฆ์ และตำแหน่งนี้ เคยมีมาแล้วตั้งแต่กรุงสุโขทัย แม้จะไม่กำหนดไว้เลย แต่ในทางปฏิบัตินั้น ก็มีผู้บัญชาการคณะสงฆ์ชั้นสูงสุด ขอแยกกล่าวให้เห็นชัด ในมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัตินั้น เก็บความได้ว่า สมเด็จเจ้าคณะให้ทั้ง ๔ ตำแหน่งคือ เจ้าคณะใหญ่คณะเหนือ เจ้าคณะใหญ่คณะใต้ เจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุติกา และเจ้าคณะใหญ่คณะกลาง พร้อมด้วยพระราชาคณะเจ้าคณะรองทั้ง ๔ ตำแหน่งนั้น ยกเป็นพระมหาเถระที่ปรึกษาในการพระศาสนา การปกครองบำรุงสังฆมณฑล การประชุมพระมหาเถระดังกล่าวนี้ จัดเป็นการประชุมมหาเถรสมาคม ถ้าเข้าประชุมครบองค์แล้ว ที่ประชุมชี้ขาดปัญหาใด  ให้ถือว่าเป็นสิทธิ์ขาด ผู้ใดจะอุทธรณ์หรือโต้แย้งต่อไปมิได้ แต่ในตอนต้นไม่มีการประชุมตามพระราชบัญญัติเลย ส่วนการบัญชาการคณะสงฆ์ ในเมื่อยังมิได้สถาปนาสมเด็จพระสังฆราช เสนาบดีกระทรวงธรรมการ รับสนองพระบรมราชโองการสั่ง ฯ เจ้าคณะใหญ่เพื่อกระจายไปยังเจ้าคณะตามลำดับชั้น โดยนัยนี้ จึงกล่าวได้ว่า เสนาบดีกระทรวงธรรมการนั่นเอง เป็นผู้รั้งตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช แต่ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๖ เมื่อมีพระราชพิธีมหาสมณุตตมาภิเษก สถาปนากรมหมื่นวชิรญาณ
วโรรส ขึ้นเป็น สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส แล้วโปรดให้ทรงใช้อำนาจสูงสุดในทางคณะสงฆ์โดยเด็ดขาด ตั้งแต่นั้นมา อำนาจทั้ง ๓ รวมอยู่ในองค์พระประมุขสงฆ์สืบมา ส่วนเจ้าคณะแต่ละชั้น และเจ้าอาวาสใช้อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการ โดยสิทธิ์ขาด อำนาจดังกล่าวมานั้น รวมอยู่ในเจ้าคณะและเจ้าอาวาสแต่ผู้เดียว การปกครองในสมัยนี้ จึงจัดว่า การปกครองแบบรวมอำนาจ

     ครั้นต่อมา พ.ศ.๒๔๘๔ ได้ตราพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พุทธศักราช ๒๔๘๔ ขึ้นใช้ ยกเลิกพระราชบัญญัติลักษณะปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ.๑๒๑ เสีย กฎหมายฉบับใหม่นี้ เป็นกฎหมายที่จัดระเบียบการปกครองคณะสงฆ์ โดยให้สมเด็จพระสังฆราช ทรงเป็นพระประมุขสงฆ์ ทรงเป็นองค์สกลมหาสังฆปริณายก ทรงบัญชาการคณะสงฆ์ ๓ ทางคือ.-

     ๑) อำนาจนิติบัญญัติ ได้แก่อำนาจในบัญญัติสังฆาณัติกำหนดหลักเกณฑ์วิธีการบริหารการคณะสงฆ์ ตลอดจนควบคุมการบริหารของคณะสังฆมนตรี ทรงใช้ทางสังฆสภา กล่าวคือ สังฆสภาเป็นผู้สนองงาน สังฆสภานั้น มีสมาชิกจำนวนไม่เกิน ๔๕ รูป     มีประธานสังฆสภาเป็นหัวหน้าคณะ ประกอบด้วยพระเถระชั้นธรรมขึ้นไป พระคณาจารย์เอกและพระเปรียญเอก

     ๒) อำนาจบริหาร ได้แก่อำนาจในการกำหนดนโยบายดำเนินกิจการของคณะสงฆ์ และอำนาจควบคุมการบริหารคณะสงฆ์ ทรงใช้ทางคณะสังฆมนตรี คณะสังฆมนตรีนั้น มีจำนวนไม่เกิน ๑๐ รูป ประกอบด้วยสังฆนายกเป็นหัวหน้า สังฆมนตรีว่าการ ๔ รูป นอกนั้นเป็นสังฆมนตรีช่วยว่าการและสังฆมนตรีลอย

     ๓) อำนาจตุลาการ ได้แก่อำนาจวินิจฉัยอธิกรณ์ กล่าวคือการชี้ขาดในเมื่อมีข้อหาว่าพระภิกษุละเมิดพระวินัย ใช้ทางคณะวินัยธร คณะวินัยธรมี ๓ ชั้น คือ ชั้นต้น ชั้นอุทธรณ์ ชั้นฎีกา มีประธานคณะวินัยธรเป็นหัวหน้า

     โดยกฎหมายฉบับนี้ แยกการคณะสงฆ์เป็น ๓ ฝ่าย คือ ฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร  และฝ่ายตุลาการ ฝ่ายนิติบัญญัติ ทำหน้าที่พิจารณาร่างสังฆาณัติ ถวายคำแนะนำสมเด็จพระสังฆราช ในการบัญญัติสังฆาณัติ ฝ่ายบริหาร ทำหน้าที่บริหารคณะสงฆ์ โดยแยกหน่วยงานเป็น ๔ องค์การ คือองค์การปกครอง องค์การศึกษา องค์การเผยแผ่และองค์การสาธารณูปการ และให้มีกรรมการสังฆาณัติระเบียบพระคณาธิการ (ก.ส.พ.) ทำหน้าที่ควบคุมแต่งตั้งถอดถอนพระคณาธิการอีกส่วนหนึ่ง ฝ่ายตุลาการหน้าที่วินิจฉัยอธิกรณ์ที่เกิดขึ้นในสังฆมณฑล

     ในทางปฏิบัติ ในส่วนกลาง สมเด็จพระสังฆราชมิได้ทรงปฏิบัติงานใด ๆ เลย เพียงทรงรับทราบการปฏิบัติของแต่ละฝ่าย แม้จะทรงมีพระปรีชาสามารถสักเพียงใด ก็มิได้มีโอกาสได้ทรงใช้พระปรีชาสามารถ ผู้สนองงานคณะสงฆ์ทั้ง ๓ ฝ่ายนี้ ต่างก็มีอำนาจเต็มและเป็นอิสระมิได้ขึ้นต่อกัน เป็นการถ่วงดุลแห่งอำนาจ เป็นมูลเหตุให้เกิดความขัดแย้งและแตกแยกในส่วนกลางได้

     ในส่วนภูมิภาค ให้มีคณะตรวจการในภาคต่าง ๆ เป็นผู้ตรวจการปฏิบัติงานของผู้บริหาร กำหนดผู้บริหารงานคณะสงฆ์เป็นรูปคณะกรรมการชั้นจังหวัดและอำเภอคือ คณะกรรมการสงฆ์จังหวัดและคณะกรรมการสงฆ์อำเภอกรรมการสงฆ์คณะหนึ่งประกอบด้วย เจ้าคณะ ศึกษา เผยแผ่ และสาธารณูปการ ปฏิบัติงานตามลักษณะแห่งองค์การทั้ง ๔ แต่งานใดเป็นนโยบาย กำหนดให้รับผิดชอบร่วมกัน กรรมการสงฆ์บางรูปอยู่ห่างไกลสำนักงาน ไม่สะดวกต่อการปฏิบัติ เจ้าคณะจังหวัดจึงรวบอำนาจเสียเป็นส่วนมาก

     โดยลักษณะการปกครองแบบนี้ เป็น แบบกระจายอำนาจ เหมือนกับการปกครองทางอาณาจักรใน ระบอบประชาธิปไตยซึ่งมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข เป็นการเดินสวนทางกันกับสมัยพระพุทธเจ้า เพราะพระพุทธเจ้ามิได้ทรงมีสังฆสภา ทรงใช้หลักนิติธรรมด้วยพระองค์เอง โดยยึดเอาความถูกต้องชอบธรรมเป็นหลัก ทรงเป็นพระธรรมราชา มิได้ทรงอยู่เหนือการบริหาร แต่ทรงมอบให้พระอัครสาวกและพระสาวกอื่นช่วยปกครอง โดยการปกครองเป็นคณะ การวินิจฉัยอธิกรณ์ทรงวินิจฉัยเองเป็รนส่วนมาก ทรงมอบให้พระสาวกวินิจฉัยเป็นบางคราว ส่วนการปกครองตามกฎหมายฉบับนี้ สมเด็จพระสังฆราชมิได้ทรงปฏิบัติงานด้วยพระองค์เอง การบัญญัติสังฆาณัติ ก็ทรงบัญญัติตามคำแนะนำของสังฆสภา ยังมีข้อบังคับในบางมาตรา ในเมื่อสมเด็จพระสังฆราชไม่ทรงเห็นด้วยในร่างสังฆาณัติ เพียงนำขึ้นถวายและไม่ลงพระนาม ๒ ครั้งเท่านั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ก็นำถวายประธานสังฆสภาลงนามประกาศใช้ได้ การบริหารคณะสงฆ์ คณะสังฆมนตรี มีอำนาจบริหารเต็มที่ พระองค์เพียงแต่ทรงรับทราบ การวินิจฉัยอธิกรณ์ คณะวินัยธร ก็มีอำนาจเด็ดขาด พระองค์แต่เพียงรับทราบ นี้เป็นลักษณะที่เอาเสียงคนข้างมากเป็นเกณฑ์ การจะถูกหรือจะผิดใด ๆ ถ้าคนข้างมากเห็นแล้ว เป็นใช้ได้ ใช้มาประมาณ ๒๐ ปี ก็ต้องยกเลิก

     ต่อมาเมื่อ พ.ศ.๒๕๐๕ ทรงตราพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ ขึ้นใช้ ยกเลิกกฎหมาย ๒๔๘๔ เสีย กฎหมายฉบับนี้มีหลักใหญ่ ๆ คือ สมเด็จพระสังฆราช ทรงเป็นองค์สกลมหาสังฆปริณายก ทรงร่วมอยู่ในองค์กรปกครองคณะสงฆ์ ในฐานะประธานกรรมการมหาเถรสมาคม และทรงบัญชาการคณะสงฆ์ทางมหาเถรสมาคม โดยเงื่อนไข ๓ ประการ คือ.-

     ๑) ให้เป็นไปตามกฎหมาย ได้แก่การบัญชาการคณะสงฆ์นั้น ให้สอดคล้องกับกฎหมายของแผ่นดิน คือพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.๒๕๐๕ และกฎหมายทั่วไปของแผ่นดิน จะทรงบัญชาการขัดกฎหมายไม่ได้ นี่คือการมอบอำนาจและให้อยู่ในกรอบของกฎหมายแผ่นดินตัวอย่าง ทางราชอาณาจักร มีพระราชบัญญัติเกณฑ์ทหาร ผู้ชายอายุ ๒๐ ปี ต้องเกณฑ์ทหาร หรืออายุ ๑๗ ปีต้องขึ้นทะเบียนทหาร ผู้ที่มาบรรพชาอุปสมบทอายุครบเกณฑ์ทหารหรือครบขึ้นทะเบียนทหาร จะทรงบัญชาการให้พระภิกษุสามเณรดังกล่าว ไม่ต้องไปเกณฑ์ทหาร หรือไม่ต้องไปขึ้นทะเบียนทหาร เพราะถือว่าเป็นพระภิกษุสามเณรแล้ว เช่นนี้ ทรงบัญชาการไม่ได้ เพราะฝ่าฝืนกฎหมายแผ่นดิน

        ๒) ให้เป็นไปตามพระธรรมวินัย ได้แก่ให้ทรงบัญชาการคณะสงฆ์ตามพระธรรมวินัย ฝ่าฝืนพระธรรมวินัยไม่ได้ ตัวอย่าง ในพระวินัยว่า ผู้มีอายุหย่อน ๒๐ อุปสมบทไม่ได้ จะทรงบัญชาการว่า ผู้อายุ ๑๕ ปี ให้อุปสมบทได้ อย่างนี้ไม่ได้ เพราะขัดกับพระธรรมวินัย     

        ๓) ให้เป็นไปเพื่อความเจริญ ได้แก่การบัญชาการคณะสงฆ์ของสมเด็จพระสังฆราช จะต้องเป็นไปเพื่อความเจริญรุ่งเรืองของพระศาสนา แม้จะทรงบัญชาการไม่ขัดกับกฎหมาย ไม่ขัดกับพระธรรมวินัย แต่ถ้าเป็นไปเพื่อทำลายพระพุทธศาสนาเช่นนี้ ก็ทรงบัญชาการมิได้ เพราะขัดกับเจตนารมณ์ของกฎหมาย

     ดังนั้น เจตนารมณ์ของกฎหมายฉบับนี้ ทรงตราถวายคณะสงฆ์มาเป็นแบบมอบอำนาจ และให้อยู่ในขอบเขตแห่งกฎหมายและพระธรรมวินัยและให้เป็นไปเพื่อความเจริญรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนา นับว่ามีหลักการคล้ายคลึงกับสมัยพุทธกาลในหลักธรรมาธิปไตย นี้เป็นความเบื้องต้น ต่อไปนี้ขอเชิญคุณมนู ช่างสุพรรณ ได้บรรยายในเนื้อหาสาระในตัวบทแห่งพระราชบัญญัติสืบไป

Hits: 2