นายมนู ช่างสุพรรณ บรรยายมาตรา ๑-๒-๓-๖
ขอนมัสการพระคุณเจ้าที่เคารพ
กระผม นายมนู ช่างสุพรรณ ก็คงไม่ต้องแนะนำกันมากนัก เพราะพระเดชพระคุณท่านแนะนำไปแล้ว หน้าที่ของกระผมขอบอกให้ทราบสักเล็กน้อย กระผมมีหน้าที่สนองงานคณะสงฆ์ในด้านดูแลรักษาความเป็นระเบียบเรียบร้อย ของพระภิกษุสามเณรทั่วราชอาณาจักร หน้าที่ของกระผมคล้าย ๆ กับตำรวจนั่นแหละ ตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายสังฆการ ก็คล้ายกับหัวหน้าตำรวจ มีหน้าที่ดำเนินการให้เป็นไปโดยถูกต้องตามพระธรรมวินัยตามระเบียบ กระผมรับราชการในกรมการศาสนา ๒๘ ปี กับปีนี้ เฉพาะหน้าที่ฝ่ายการปกครองนี้ ประมาณ ๑๖ ปี ในจำนวน ๑๖ ปีนี้ ผมขอบอกตรง ๆ ว่าผมไม่เคยสึกพระเณรเลยแม้แต่องค์เดียว แต่ปีหนึ่งก็เตรียมเสื้อผ้าไว้ปีละร้อยกว่าชุด ที่เตรียมไว้ร้อยกว่าชุดนั้น ไม่ใช่อะไร เตรียมสึกพระเณรเหมือนกัน ผมเองไม่เคยสึกเอง เพราะอำนาจดำเนินการไม่มี ก็มีเจ้าคณะท่านดำเนินการให้ลาสิกขา ให้สละเพศ หรือว่าเจ้าหน้าที่ฝ่ายบ้านเมืองผู้มีอำนาจตามกฎหมาย เขาจะดำเนินการให้สละสมณะเพศไป อันเป็นเรื่องของฝ่ายบ้านเมือง ส่วนเบื้องต้น กระผมขอพูดเพียงเท่านี้ครับ
ต่อไปจะบรรยายเรื่องพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ ขอกราบเรียนว่า เรื่องพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ เป็นเรื่องละเอียดอ่อน บางครั้งก็ต้องอ่านกันทุกตัวอักษร บางครั้งถึงจะอ่านทุกตัวอักษรและพิจารณาแล้ว ก็อาจไม่ทราบถึงหลักเกณฑ์พอสมควร หรือไม่สามารถปฏิบัติการให้เป็นไปตามกฎหมายได้ แต่เมื่อออกมาแล้วก็ต้องปฏิบัติ จะถือว่าไม่รู้กฎหมาย อ่านไม่รู้เรื่องแล้วไม่ทำ อย่างนั้นไม่ได้ เพราะไม่ทำก็ผิดกฎหมายทุกคน จะอ้างว่าไม่รู้กฎหมายมาเป็นเรื่องแก้ตัวนั้นไม่ได้
กระผมขอกราบเรียนถึงมาตรา ๑ นะครับ ว่าไปตามมาตราเสียก่อน ส่วนมากมีข้อบกพร่องส่วนไหน พระเดชพระคุณท่านก็จะเสริม หรือว่าอันไหนที่ท่านเห็นว่าจะไม่เข้าใจ ท่านฟังอยู่ท่านก็จะเสริมให้เข้าใจยิ่งขี้น
มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้ เรียกว่า พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.๒๕๐๕
นี้เป็นชื่อพระราชบัญญัติ และก็จำเป็นที่ต้องมี ทั้งนี้เพราะเหตุด้วยการอ้างอิง เมื่อคราวต้องอ้างอิงถึงพระราชบัญญัตินี้ เพราะว่าในการอ้างอิง เราจะได้อ้างอิงชื่อพระราชบัญญัติ เช่นว่า อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๘ แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.๒๕๐๕ มหาเถรสมาคมจึงตรากฎหมายมหาเถรสมาคม…….หรือจะตราอะไรก็ว่าไป ซึ่งกฎมหาเถรสมาคมที่ออกมาทุกฉบับ ก็ต้องอาศัยอำนาจตามความในพระราชบัญญัติ ไม่ใช่ว่ากฎมหาเถรสมาคมนั้น จะขัดหรือแย้งกับกฎหมายและพระธรรมวินัยมิได้ คำว่า ไม่ขัดหรือแย้งกับ นี้ หมายความว่า ให้กระทำการตามกฎหมาย คำพูดแว้งกลับมา ที่ว่า ไม่ขัดหรือแย้งกับ ก็คือ ให้ทำตามกฎหมาย และก็ให้ทำตามพระธรรมวินัย กฎหมายที่ออกมาต้องเป็นไปตามกฎหมาย ต้องเป็นไปตามพระธรรมวินัย อันนี้เป็นเรื่องของชื่อ พระราชบัญญัติชื่อไร จำเป็นจะต้องใช้ในการอ้างอิง หรือเพื่อจะนำไปอ้างกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายบ้านเมืองอื่น อ้างถึงอำนาจที่มีอยู่ในพระราชบัญญัติ เราก็ต้องอ้างว่า เรามีอำนาจตามความในมาตรา ๔๕ แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.๒๕๐๕ เจ้าหน้าที่ฝ่ายบ้านเมืองเขาพลิกดู เขาก็รู้ว่า มาตรา๔๕ ของพระราชบัญญัตินี้ มีบทบัญญัติว่าอย่างไร อันนี้ เป็นเรื่องประโยชน์ที่ใช้ในการอ้างอิง เพราะกฎหมายในประเทศเรา มีใช้กันอยู่หลายร้อยหลายพันฉบับ ถ้าไม่อ้างเขาจะไม่รู้ ถ้าบอกว่า มาตรา ๒๙ มาตรา ๔๕ และอ้างไปลอย ๆ เข้าก็ไม่รู้ว่าพระราชบัญญัติป่าไม้หรือพระราชบัญญัติการประมง หรือพระราชบัญญัติการเรี่ยไร อะไรทำนองนั้นครับ อันนี้ ก็จำเป็นที่ต้องระบุชื่อ และทุกฉบับก็มีชื่อโดยเฉพาะสำหรับในการอ้างอิง
มาตรา
๒ พระราชบัญญัตินี้ ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศราช
กิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
อันนี้ เป็นกำหนดการใช้พระราชบัญญัติ คือพระราชบัญญัตินี้ หรือกฎหมายทุกฉบับ จะต้องมีจุดตั้งต้น ตั้งต้นว่ามีผลบังคับตั้งแต่วันที่เท่าไร แล้วก็มีจุดสิ้นสุด ข้อบัญญัติอื่น ถ้าบัญญัติขึ้นภายหลัง การกระทำความผิดนั้น ก็ยังไม่ถือว่าเป็นความผิด เพราะยังไม่มีกฎหมาย เมื่อไม่มีกฎหมายก็ไม่เป็นความผิด เพราะฉะนั้น จึงมีกำหนดว่า ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นไป พระราชบัญญัติฉบับนี้ พระเจ้าอยู่หัวลงพระปรมาภิไธย เมื่อวันที่ ๒๕ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๐๕ แต่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาในวันที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๐๕ และในพระราชบัญญัตินี้เอง ก็กำหนดว่า ให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป เพราะฉะนั้น พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.๒๕๐๕ ก็เป็น พ.ศ.๒๕๐๕ แต่ชื่อ มามีผลบังคับใช้เอาเมื่อวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ.๒๕๐๖ ชึ่งเป็นวันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา หนังสือราชกิจจานุเบกษา ก็คือหนังสือเกี่ยวกับกิจการของทางราชการทั้งหมดนะครับ อันไหนเป็นราชการที่สำคัญ ก็จะนำลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา บรรดาพระราชบัญญัติ พระราชกำหนด พระราชกฤษฎีกา กฎกระทรวงเหล่านี้ ต้องนำลงในราชกิจจานุเบกษา จึงมีผลบังคับใช้
มาตรา ๓ ให้ยกเลิกพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พุทธศักราช ๒๔๘๔
อันนี้ เป็นการยกเลิกทั้งฉบับ กฎหมายเมื่อมีการตั้งต้น ก็ต้องมีการสิ้นสุด การสิ้นสุดนี้ ก็ต้องมีประกาศยกเลิกโดยกฎหมายภายหลัง ถ้าเราไม่ยกเลิกด้วยกฎหมายภายหลัง ก็เป็นอันว่าฉบับแรกก็ยังใช้ ฉบับหลังก็ยังใช้ ซึ่งมิใช่วิสัยหลักการทางนิติศาสตร์ ซึ่งกฎหมายในเรื่องเดียวกัน จะมีใช้ถึง ๒ ฉบับ อันนี้ไม่ใช่หลักการ ก็จำเป็นที่ต้องยกเลิก ก็การยกเลิกนี้ ก็มีการยกเลิกทั้งฉบับอย่างหนึ่ง กับการยกเลิกบางส่วน อย่างการยกเลิกของพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พุทธศักราช ๒๔๘๔ ที่ประกาศยกเลิกพระราชบัญญัติลักษณะปกครองคณะสงฆ์ รศ.๑๒๑ ประกาศยกเลิกเฉพาะส่วนที่มีบัญญัติอยู่ในพระราชบัญญัตินี้ กับส่วนที่ขัดแย้งกัน ส่วนที่มีบัญญัติอยู่แล้ว ใช้บังคับต่อไปไม่ได้ ก็ยกเลิกไปเฉพาะส่วนที่มีบัญญัติอยู่ในพระราชบัญญัติ ๒๔๘๔ ก็เลิกไป อันนี้ ที่ผมยกขึ้นกล่าวก็เพราะว่า การยกเลิกสมัยนั้น ยกเลิกเฉพาะที่ขัดแย้งหรือมีบัญญัติอยู่ ส่วนที่ไม่ขัดหรือแย้งหรือไม่มีบัญญัติอยู่ ก็คงใช้ได้ เช่น
ในมาตรา ๘ ที่บัญญัติไว้ว่า วัดใดร้างสงฆ์ไม่อาศัยให้เจ้าพนักงานฝ่ายราชอาณาจักร เป็นผู้ปกครองรักษาวัดนั้นและที่ธรณีสงฆ์ของวัดนั้นด้วย
อันนี้ เป็นบทบัญญัติในมาตรา ๘ ที่ไม่มีในบัญญัติใน พรบ.๒๔๘๔ พร้อมกันนั้นก็ไม่มีใน พรบ.๒๕๐๕ นี้นะครับ ถ้าพิจารณาดูแล้ว ปัจจุบันนี้ เราไม่มีวัดร้าง แต่ว่าอาศัยที่ว่าเราไม่ยกเลิก พรบ.รศ.๑๒๑ ไป เราจึงมีสภาพของวัดร้าง วัดร้างก็ตกเป็นหน้าที่ของกรมการศาสนา วัดใดร้างสงฆ์ไม่อาศัย อันนี้ ไม่มีบัญญัติ ๒ ฉบับหลัง แต่ยังคงใช้ได้อยู่ เพราะไม่ได้ ถูกยกเลิกไปโดยพระราชบัญญัติ พ.ศ.๒๔๘๔ อันนี้ก็ยังคงใช้ได้ แต่ความในนั้น เราไม่ได้บังคับใช้อย่างเคร่งครัด เพราะความในพระราชบัญญัติใช้ว่า วัดใดร้างสงฆ์ไม่อาศัย นี้ก็แสดงให้เห็นว่า วัดใดร้างคือที่สงฆ์ไม่อาศัย อันนี้ครับ ตีความเคร่งครัดตามตัวอักษรแล้ว วัดที่สงฆ์ไม่อาศัย วัดหนึ่ง ๆ ก็ต้องมีพระสงฆ์อย่างน้อย ๔ รูป ถ้าเราตีความเคร่งครัดอย่างนั้นแล้ว หลายสิบวัด เป็นร้อยเป็นพันวัด ที่เป็นวัดร้าง เพราะบางวัดในที่ผมเคยผ่านไป ก็มีพระสงฆ์เพียงรูปหนึ่งหรือสองรูป อย่างบางอำเภอเท่าที่ผมไปพบ แม้วัดเจ้าคณะอำเภอเอง ก็ปรากฏว่าเจ้าคณะอำเภอหนึ่งรูปกับสามเณรอีกหนึ่งรูป ถ้าตีความกันอย่างเคร่งครัดกันจริง ๆ ก็เป็นวัดร้าง ก็เพราะกฎหมายเขาว่า อย่างนั้น แต่เราไม่ตีความกันอย่างนั้น พอมีพระสงฆ์สักรูปหนึ่ง สามเณรสักรูปหนึ่ง ก็ถือกันว่าเป็นวัดมีพระสงฆ์ ยังไม่เป็นวัดร้าง และไม่ได้เข้าไปดูแล ส่วนในบางจังหวัดที่ไปพบ บางวัดมีพระสงฆ์อยู่บ้าง พระสงฆ์ก็มีพอสมควร ก็ได้เข้าไปถามดูว่าองค์ไหนเป็นสมภาร จะไต่ถามทุกข์สุข ไต่ถามหลักเกณฑ์อะไรต่ออะไรบ้าง ท่านจะให้ช่วยอะไร ๆ บ้าง อันนี้ท่านก็ได้ชี้ไปหาองค์หนึ่ง ที่มีอาวุโสมากพอสมควร องค์นี้แหละเป็นสมภารเป็นผู้รักษาการวัดนี้ ก็เป็นผู้รักษาการวัดนี้ ก็ถามว่า ทำไมไม่แต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาส เป็นผู้รักษาการกันอยู่อย่างนี้หรือ ท่านบอกว่า คุณสมบัติยังไม่ครบ พรรษายังไม่ครบห้า ผมก็ถามว่ากี่พรรษาแล้วครับ ผมก็เพิ่งบวชเมื่อเดือนเมษา นะครับ ผมก็บอกนี้มันก็พฤษภา นี่ก็เพิ่งบวชเดือนเมษานี้ นะครับ องค์สุดท้าย อาวุโสสุดท้าย ก็เพิ่งบวชเมื่อวานชืนนี้ ก็แสดงว่าเมื่อก่อนเดือนเมษานั้น วัดนี้ก็อยู่ในสภาพวัดร้าง นะครับ แต่แล้วมันไม่ใช่ร้าง ทิ้งร้างไปเลยนะครับ ยังมีพระมาอยู่ ก็ยังเป็นวัดอยู่ ก็ไม่ต้องทำพิธียกวัดร้างเป็นวัดที่มีพระสงฆ์ อันนี้ก็เป็นเรื่องที่หนักใจของคณะสงฆ์และกรมอยู่เหมือนกัน เพราะวัดร้างในปัจจุบันมีเยอะเหลือเกิน เพราะบางวัด มีพระเฉพาะหน้าเข้าพรรษาอยู่ก็มีนะครับ อันนี้มิใช่มีเฉพาะในแดนกันดาร ในแดนที่เจริญ บางวัดที่ไปพบนี่ ในแดนที่เจริญก็มีอยู่เป็นจำนวนมาก บางวัดก็มีหลักฐานพอสมควร มีหมู่บ้านหลายร้อยหลังคาเรือน ไม่มีสมภารสักที เพราะสมภารอยู่ไม่ได้ อยู่ได้ปีสองปี ก็ได้ไปเป็นลูกเขยชาวบ้านกันเสียหมด หมายความว่า ชาวบ้านแถวนั้นเขาเอาสึกไปหมดเสีย เจ้าคณะท่านก็พูดอบรมสมภารใหม่ ส่งเข้าไปพอมีพรรษาครบเป็นสมภารอยู่ได้ปีครึ่ง ก็สึกไปเสียหมด ทำให้ขาดสมภารขาดเจ้าอาวาส นี้ก็คงขาดโดยพฤติการณ์ของชาวบ้านนั้น ๆ บางวัดก็ขาดสมภารโดยสภาพ เพราะมันแห้งแล้งกันดาร หรือขาดคนทะนุบำรุงส่งเสริม อันนี้ก็เป็นเรื่องของวัดร้าง สภาพที่เป็นวัดร้างและการยกเลิกกฎหมาย ก็กล่าวว่า ยกเลิกเฉพาะที่มีอยู่ในฉบับนี้ หรือฉบับ ๒๔๘๔ หรือฉบับขัดแย้งกันเท่านั้น ส่วนบางส่วนที่เรายังเอามาใช้กันอยู่ก็มี เช่น พระที่ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส ถ้าไม่มีสมณศักดิ์เป็นอย่างอื่น ให้มีสมณศักดิ์เป็นพระอธิการ นะครับ อันนี้ มีปรากฏในพระราชบัญญัติลักษณะปกครองคณะสงฆ์ ๑๒๑ ท่านกำหนดเอาไว้อย่างนั้น หรือรองเจ้าอาวาสก็บัญญัติ ให้ว่าเป็น รองอธิการ อันนี้ก็เป็นสมณศักดิ์ที่ปรากฏอยู่ใน พ.ร.บ.ลักษณะปกครองคณะสงฆ์ รศ.๑๒๑ ซึ่งไม่ได้ถูกยกเลิกไป หรือคำว่า เจ้าคณะแขวง เจ้าคณะหมวด ซึ่งปัจจุบันนี้ เทียบได้เจ้าคณะอำเภอ เจ้าคณะตำบล ถ้าไม่มีสมณะศักดิ์อย่างอื่น ก็ใช้ใช้คำว่า เจ้าอธิการ เป็นคำนัดแนะชื่อ เพื่อจะได้การชี้เครื่องหมายให้รู้ว่า ดำรงตำแหน่งเป็นอะไร อันนี้เรายังใช้ได้อยู่ แล้วก็ยังยอมรับมาใช้กันอยู่ในปัจจุบัน ถ้าตรวจดูกฎหมายทั้งฉบับ พ.ศ.๒๔๘๔ ทั้งฉบับ พ.ศ.๒๕๐๕ จะปรากฏ เจ้าอธิการ และพระอธิการ ไม่มีอยู่ในพระราชบัญญัติ แต่มีปรากฏในฉบับ ร.ศ.๑๒๑ แต่เรายังไม่ได้ยกเลิก เรายังเอามาใช้กันอยู่ เพราะคณะสงฆ์เขายอมรับใช้กันอยู่ในปัจจุบันนี้
ถัดจากนั้น ก็เป็นมาตรา ๔ และ ๕ อันนี้ ก็จะขอผ่านไปเพราะเป็นเรื่องพ้นสมัย เพราะมาตรา ๔ และ ๕ มีเวลาบังคับใช้ตามเงื่อนไขตามกฎหมายภายใน ๑ ปี พ้นหนึ่งปีแล้วหมดสภาพ ฉะนั้นกระผมก็จะขอผ่านไป
ต่อจากนั้น
ก็มาถึง มาตรา ๖ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
มาตรานี้ เป็นมาตราที่สำคัญ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นผู้รักษาการตามพระราชบัญญัติ
การที่ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นผู้รักษาการนี้
เป็นแบบธรรมเนียมเป็นแบบของพระราชบัญญัติ
ที่จะต้องกำหนดไว้ให้รู้ว่าใครเป็นผู้รับผิดชอบ
ให้มีการดำเนินการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติ อย่างกฎหมายเกี่ยวกับที่ดิน หรือกฎหมายเกี่ยวกับการป่าไม้
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นผู้รักษาการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติ
กฎหมายเกี่ยวกับพาณิชย์ ก็รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์
เป็นผู้รักษาการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติ คำว่า
ผู้รักษาการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้ ก็เพื่อให้มีผู้รับผิดชอบ
ให้มีการดำเนินการตามพระราชบัญญัติ ในส่วนเกี่ยวกับการศาสนา
การศาสนาทั้งปวงในประเทศไทยนี้ ก็ตกเป็นหน้าที่ของกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงศึกษาธิการมีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการศึกษาการศาสนา
และวัฒนธรรม เมื่อการศาสนาอยู่ในการรับผิดชอบของกระทรวงศึกษาธิการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
ก็ต้องมีหน้าที่รับผิดชอบให้ดำเนินการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติ
ซึ่งงานในส่วนการศาสนานี้ กรมการศาสนาเป็นเจ้าหน้าที่รับผิดชอบสนองงานรับนโยบาย จากรัฐมนตรีเจ้ากระทรวงมาทีหนึ่งว่า
เราจะดำเนินการเกี่ยวกับด้านการศาสนาอย่างไร อันนี้
ก็เป็นเรื่องที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ จะต้องรับผิดชอบดำเนินการ
ให้เป็นผู้รักษาการ ก็เป็นผู้รับผิดชอบ อันนี้ การรับผิดชอบการรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
ก็ให้มีอำนาจออกกฏกระทรวง เพื่อให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติ
พระราชบัญญัตินี้บางส่วนไม่สามารถบัญญัติวิธีดำเนินงานไว้ได้โดยละเอียด
เพราะมันจะเป็นเรื่องที่ยืดยาวหรือไม่เหมาะสม
จึงให้อำนาจแก่รัฐมนตรีผู้รักษาการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินั้น
ให้เป็นผู้ออกกฎกระทรวง กฎกระทรวง
ก็คือการกำหนดรายละเอียดของพระราชบัญญัติในแต่ละมาตรา เท่าที่จำเป็น ก็ให้อำนาจแก่รัฐมนตรีเป็นผู้ออกกฎกระทรวงได้
เพื่อกำหนดรายละเอียดในวิธีดำเนินการ เพราะการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติในมาตรา
นั้น ๆ ส่วนที่ว่ามาตราไหนบทไหน ที่จะต้องออกเป็นกฎกระทรวงไว้แต่ละมาตรา ลักษณะของกฎหมายของเรา
ก็มีอยู่ ๓ อย่าง
พระราชบัญญัติ ก็ต้องออกโดยรัฐสภา และความเห็นชอบของรัฐสภา และตราออกมาเป็นพระราชบัญญัติมาใช้บังคับทั่วไป
และก็อันที่สอง พระราชกำหนด อันนี้ โดยฝ่ายบริหารพิจารณาเห็นว่าเมื่อมีเรื่องเร่งด่วน มีความจำเป็นเกี่ยวกับผลได้ผลเสียของประเทศ ก็อาจะตราพระราชกำหนดมาเสียก่อน เพื่อป้องกันมิให้ผู้อื่นถือประโยชน์ ก็ออกเป็นพระราชกำหนด ฝ่ายบริหารเป็นผู้ออกมา ก็ออกมาใช้ ประกาศใช้ มีผลประกาศในวันถัดมาจากวันราชกิจจานุเบกษา ซึ่งบางครั้ง จะเห็นรัฐบาลออกพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร อันนี้ก็เป็นผลได้ผลเสียซึ่งเกี่ยวกับรายได้ของแผ่นดิน ซึ่งถ้าให้พ่อค้ารู้ตัวเสียก่อน พ่อค้าก็อาจจะกักตุนสินค้าหรืออะไรอย่างนี้ เป็นการเดือดร้อนแก่ประชาชน จึงออกเป็นพระราชกำหนด และเมื่อออกพระราชกำหนดแล้ว ใช้ไปได้ระยะหนึ่ง เมื่อมีสมัยประชุม ก็จะต้องเสนอให้รัฐสภาอนุมัติพระราชกำหนดนั้น ถ้ารัฐสภาอนุมัติ พระราชกำหนดนั้น ก็กลายเป็นพระราชบัญญัติ ถ้ารัฐสภาไม่อนุมัติ พระราชกำหนดตกไปหมดสภาพไม่บังคับใช้
อันดับต่อมาก็เป็นอำนาจฝ่ายบริหาร เช่นเดียวกัน คือออกพระราชกฤษฎีกา การออกพระราชกฤษฎีกานี้ ต้องคณะรัฐมนตรีเป็นผู้ออก ออกโดยความเป็นชอบของคณะรัฐมนตรี รัฐมนตรีรับผิดชอบทั้งคณะ ออกเป็นพระราชกฤษฎีกา
ส่วนกฎกระทรวง ให้อำนาจเฉพาะรัฐมนตรีว่าการกระทรวง ซึ่งรับผิดชอบรักษาการตามพระราชบัญญัตินั้น เป็นผู้ดำเนินการตามที่กำหนดไว้ในมาตรานั้น ๆ กฎกระทรวงนั้น เมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้บังคับได้
บรรดากฎหมายก็ดี กฎกระทรวงก็ดี พระราชกฤษฎีกาหรือพระราชกำหนด ต้องประกาศพระราชกิจจานุเบกษา เพราะประกาศในราชกิจจานุเบกษานี้ ถือว่าทุกคนต้องรู้ ก็ในราชกิจจานุเบกษาก็บอกอยู่แล้วว่า เป็นกิจการของทางราชการ เมื่อประกาศออกมาแล้วเป็นหนังสือสำคัญ ถือว่าประกาศออกไปแล้วทุกคนต้องรู้ อ้างว่าไม่รู้ไม่ได้ เพราะว่ากฎหมายมีหลักเกณฑ์อยู่ว่า บุคคลจะอ้างว่าไม่รู้กฎหมายมาเพื่อเป็นการบรรเทาโทษนั้นทำไม่ได้ จะอ้างว่าไม่รู้ไม่ได้ ต้องถือว่ารู้ ทั้ง ๆ ที่บางคนอ่านหนังสือไม่ออก ไม่เคยเห็นเลย พระราชบัญญัตินั้นเป็นอย่างไร อย่างกฎหมายอาญานี้ คนอื่นจะอ้างว่าไม่รู้กฎหมายอาญา จึงฆ่าเขาตาย เป็นเรื่องที่ทำไม่ได้ เป็นเรื่องที่อ้างไม่ได้ ศาลไม่รับฟัง เพราะฉะนั้น เมื่อประกาศใช้ราชกิจจานุเบกษาแล้ว ถือว่าเป็นเรื่องที่ทุกคนต้องทราบ มีผลบังคับใช้ ไม่ทราบก็ต้องทราบอันนี้ก็หมดไปในส่วนเบื้องต้น