พระราชเมธี บรรยายเสริมทบทวน และมาตรา ๗-๙

พระราชเมธี บรรยายเสริมทบทวน และมาตรา ๗-๙

        ท่านทั้งหลาย ที่คุณมนูได้บรรยายมาโดยลำดับ เป็นส่วนความเบื้องต้น เหมือนกับพระราชปรารภ แต่พระราชปรารภในส่วนนี้ มีอะไรเป็นแนวปฏิบัติ ที่ผมเห็นว่าที่ควรจะย้ำ เพื่อให้เกิดความเข้าใจเป็นบางประการ

        ประการที่ ๑ ในคำว่า พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ ๒๕๐๕ นั้น เฉพาะคำว่า คณะสงฆ์ หมายรวมทั้งสงฆ์ไทย และคณะสงฆ์อื่น แต่ความเป็นจริง เป็นเรื่องคณะสงฆ์ไทยทั้งฉบับ มีเรื่องคณะสงฆ์อื่น เฉพาะมาตรา ๔๖ เท่านั้น แต่ก็รวมอยู่ในพระราชบัญญัติฉบับเดียวกัน ดังนั้นพระราชบัญญัติฉบับนี้ จึงเป็นพระราชบัญญัติสำหรับคณะสงฆ์ไทย ส่วนของคณะสงฆ์อื่นเพียงฝากไว้เท่านั้น ข้อควรทราบเรื่องสงฆ์ ๒ คณะ มีดังนี้

        คณะสงฆ์ไทย คือ คณะมหานิกาย และ คณะธรรมยุต ซึ่งคณะมหานิกายเป็นพระสงฆ์ที่ถือลัทธิตามแบบแผนที่พระมหากัสสปเถระ พร้อมด้วยคณะพระสังคีติกาจารย์ยกขึ้นสู่สังคายนา ครั้งที่ ๑ ซึ่งถือเป็นแบบฉบับจากพระโอษฐ์ของพระพุทธเจ้า และคณะธรรมยุตอุปสมบทจากพระมหานิกาย และอุปสมบทแปลงจากพระสามัญ ทั้งสองคณะนี้ ถือลัทธิและปฏิบัติศาสนกิจตามแบบดั้งเดิม ซึ่งเรียกว่า เถรวาท ทักษิณนิกาย หรือ หีนยาน

        คณะสงฆ์อื่น คือ คณะสงฆ์จีนนิกาย กับคณะสงฆ์อนัมนิกาย ซึ่งเรียกว่า
อาจริยวาท อุตตรนิกาย หรือ มหายาน ลัทธินี้เกิดขึ้นเพราะ พระที่มีความคิดแต่ต่างจากลัทธิเถรวาท เรียกว่าคนหัวสมัย แยกลัทธิตั้งขึ้นใหม่ตามความเห็นของตน เพราะเอาความเห็นของอาจารย์เป็นหลักจึงเรียกว่า อาจริยวาท เมื่อมีคนเชื่อถือมาก ได้แผ่นลัทธิไปทางธิเบต จีน ญวณ เฉพาะที่เข้ามาอยู่ในเมืองไทยมีสายจีน เรียกว่า
จีนนิกาย สายญวณ เรียกว่าอนัมนิกาย

        ในแผ่นดินไทยเรานี้ มีคณะสงฆ์ ๒ ฝ่ายคือ ฝ่ายเถรวาท และฝ่ายอาจริยวาท

        ฝ่ายเถรวาท แยกเป็น ๒ คณะคือ คณะมหานิกาย และคณะธรรมยุต พวกเถรวาทถือลัทธิทุกอย่างตามแบบเดิม แม้สงฆ์มอญ สงฆ์พม่า สงฆ์ลาว สงฆ์เขมรและสงฆ์ศรีลังกา การประกอบพิธีกรรมและปฏิบัติศาสนกิจ เป็นแบบเดียวกันกับพระสงฆ์ไทยโดยเฉพาะพระพม่าทางชายแดน ก็ขึ้นอยู่กับคณะสงฆ์ไทย จะแยกเป็นคณะสงฆ์อื่นมิได้ เพราะคำว่าคณะสงฆ์ไทยหมายเอาพระสงฆ์ฝ่ายเถรวาทในเมืองไทย

        ฝ่ายอาจริยวาท แยกเป็น ๒ คณะ คือคณะจีนนิกาย และ คณะอนัมนิกาย ซึ่งฝ่ายนี้มีการประกอบพิธีกรรมและปฏิบัติศาสนกิจแตกต่างจากฝ่ายเถรวาทมากมาย ทั้งพระจีนและพระญวน เมื่อเข้ามาอยู่ในแผ่นดินไทยใหม่ ๆ นั้น ไทยไม่ถือว่าเป็นพระสงฆ์ คงถือว่าเป็นนักพรต นักบวช ต่อมาเมื่อตรากฎหมายคณะสงฆ์ ๒๔๘๔ จึงบัญญัติว่า คณะสงฆ์อื่นและในกฎหมายฉบับปัจจุบันก็มีบัญญัติว่า คณะสงฆ์อื่นเพราะเป็นสงฆ์ที่มีข้อปฏิบัติ และการปฏิบัติศาสนกิจแตกต่างจากคณะสงฆ์ไทย

        ดังนั้น พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.๒๕๐๕ จึงครอบคลุมถึงพระสงฆ์ทั้ง ๒ คณะ คือ คณะสงฆ์ไทย และคณะสงฆ์อื่น ได้แก่คณะสงฆ์ฝ่ายเถรวาท และคณะสงฆ์ฝ่ายอาจริยวาท แต่ฝ่ายอาจริยวาทมีเพียงมาตราเดียว

        ประการที่ ๒ ในมาตรา ๖ มีบัญญัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเป็นผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ คำว่ารักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ ขอเสริมอีกนิด คำว่า รักษาการ ที่เราได้ฟังได้ยินกันอยู่บ่อย ๆ นั้น พอแยกได้เป็น ๕  คำ คือ.-

      (๑) รักษาการตาม

      (๒) รักษาการให้เป็นไปตาม

      (๓) รักษาราชการแทน

      (๔) รักษาราชการในตำแหน่ง

      (๕) รักษาการแทน

        รักษาการตาม หมายถึงรักษาการปฏิบัติตามกฎหมายอันเป็นส่วนหลัก โดยพระมหากษัตริย์ให้อำนาจรักษาการตามคือตามพระราชบัญญัติ ตามพระราชกำหนดตามพระราชกฤษฎีกา ผู้ที่จะได้รักษาการตาม ต้องเป็นรัฐมนตรีว่าการ หรือนายกรัฐมนตรีว่าการ หรือนายกรัฐมนตรี ตามแต่เหตุ สุดแต่พระราชบัญญัตินั้น ๆ จะอยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงใด

        รักษาราชการให้เป็นไปตาม หมายถึงรักษาการปฏิบัติตามบทบัญญัติระดับต่ำลงมา มิใช่ระดับพระราชบัญญัติ เช่นเป็นคำสั่ง เป็นระเบียบ เป็นขอบังคับ กำหนดให้หัวหน้ากองนั้นรักษาการ หรือให้อธิบดีกรมนั้นเป็นผู้รักษาการ เขาใช้คำว่า รักษาการให้เป็นไปตามคำสั่ง ให้เป็นไปตามระเบียบ ก็คือรักษาการปฏิบัติตามคำสั่งฉบับนั้น ๆ ตามระเบียบนั้น โดยผู้บังคับบัญชาระดับเจ้ากระทรวงหรืออธิบดีเป็นผู้ให้อำนาจ

        รักษาการแทน หมายถึงรักษาการแทนตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่ง ซึ่งผู้ดำรงตำแหน่งไม่อยู่หรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้

        รักษาราชการในตำแหน่ง หมายถึงรักษาการตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่ง ซึ่งตำแหน่งนั้นว่างลง ไม่มีผู้ดำรงตำแหน่ง

        รักษาการแทน หมายถึงรักษาการแทนตำแหน่งในทางคณะสงฆ์นั้น จะมีผู้ดำรงตำแหน่งอยู่หรือไม่ก็ตาม ถ้าแต่งตั้งผู้รักษาการแทน จะใช้คำว่า รักษาการแทน คำเดียว แต่เข้าใจเอาเองโดยลักษณะ เพราะฉะนั้นการรักษาการตามพระราชบัญญัติในมาตราที่ ๖ ก็หมายถึงว่า ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มาควบคุมการปฏิบัติงานเกี่ยวกับพระราชบัญญัติฉบับนี้ทั้งหมด เพื่อจะได้ทราบว่า

        ๑) คณะสงฆ์จะทำการปกครองเป็นไปตามกฎหมายหรือไม่

        ๒) คณะสงฆ์ขาดอะไรในด้านศาสนูปถัมภ์ เพราะพระมหากษัตริย์เป็นเอกอัครศาสนูปถัมภ์ แต่ทรงอยู่ห่าง ต้องมาเป็นหูเป็นตาแทนพระองค์ เพื่อถวายอุปถัมภ์ เช่น จัดสรรงบประมาณมาให้ จัดสรรอัตรากำลังมาช่วย.

        ๓) คณะสงฆ์เกิดมีปัญหาอะไรเกี่ยวกับการใช้กฎหมาย ถ้าเกิดปัญหาจะได้ให้เจ้าหน้าที่บ้านเมืองมาช่วย จะได้ช่วยอำนวยความสะดวก

        ๔) คณะสงฆ์ทำการปกครอง มีอันใดที่ขัดผลประโยชน์ทางบ้านเมือง เป็นไปเพื่อทำลายความมั่นคงของบ้านเมืองหรือไม่ ถ้ามีจะได้กำจัดปัดเป่า ถ้าเป็นไปเพื่อสร้างเสถียรภาพบ้านเมือง ก็จะได้ส่งเสริม

        นี้จุดสำคัญในการรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ มีความประสงค์อย่างนี้ จึงให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการรับภาระอันนี้ เพราะกฎหมายทุกฉบับนั้น ออกไม่มีผู้รักษาการตามกฎหมายไม่ได้

        ขั้นที่สองที่บอกว่า ให้อำนาจออกกฎกระทรวง กฎกระทรวงนี้ จะขอพูดทบทวนดูหน่อย หลักนิติบัญญัติทางบ้านเมืองมีหลายหลัก คือพระราชบัญญัติ พระราชกำหนด พระราชกฤษฎีกา และกฎกระทรวง อันกฎกระทรวง คือบทบัญญัติที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงออก เพื่อแจกรายละเอียดเกี่ยวกับวิธีปฏิบัติในเรื่องนั้น ๆ ไม่ต้องผ่านรัฐสภา ไม่ต้องผ่านคณะรัฐมนตรี เจ้ากระทรวงเห็นชอบตามที่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติเสนอมา ก็ออกกฎกระทรวงได้โดยรัฐมนตรีเป็นผู้ลงนาม อันนี้ เรียกว่า กฎกระทรวง จะออกในที่ใดที่นั้นต้องมีพระราชบัญญัติอำนาจไว้ จะออกลอย ๆ มิได้

        เพราะฉะนั้น ในพระราชบัญญัติฉบับนี้ ที่ให้อำนาจออกกฎกระทรวงมีอยู่ ๓ มาตรา คือมาตรา ๓๒ มาตรา ๔๐ และมาตรา ๔๖ เพราะมาตราซึ่งว่าด้วยเรื่องวัด เรื่องศาสนสมบัติและเรื่องคณะสงฆ์อื่น แต่ละเรื่องมีรายละเอียดมาก ตราไว้ในพระราชบัญญัติไม่ไหว มิใช่หลักการเป็นเพียงวิธีปฏิบัติ ต้องออกเป็นกฎกระทรวงแจกรายละเอียด ให้อำนาจรัฐมนตรีเจ้ากระทรวงออกได้ แต่ที่ไม่ให้อำนาจแล้ว ออกไม่ได้ นี้เรียกว่า กฎกระทรวง ต้องเข้าใจอย่างนี้ครับ

        ต่อไป เรื่องราชกิจจานุเบกษา มีข้อบังคับว่า กฎกระทรวงนั้น ต้องประกาศในราชกิจจานุเบกษา ราชกิจจานุเบกษานั้น คือหนังสือแถลงข่าวของทางราชการแผ่นดิน แบบเดียวกับแถลงการณ์คณะสงฆ์ซึ่งออกเดือนละ ๑ ฉบับ แต่ราชกิจจานุเบกษาออก ๓ วันต่อ ๑ ฉบับ ประกาศทั่วประเทศ เป็นหนังสือประกาศเรื่องราชการที่เป็นมาตรฐาน กฎหมายที่ออกแต่ละฉบับต้องประกาศในหนังสือนี้ ให้เข้าใจอย่างนี้นะครับ

        กระผมจะชี้แจงต่อไป เรื่องสมเด็จพระสังฆราช เพื่อให้โอกาสคุณมนูพักสักหน่อย สมเด็จพระสังฆราชนั้น เป็นตำแหน่งประมุขสงฆ์ ประมุขแผ่นดินนั้น ได้แก่พระราชา ภาษา บาลีว่า ราชา แปลว่า พระราชา คือ พระเจ้าแผ่นดิน นี้ประมุขของสงฆ์ ได้แก่สมเด็จพระสังฆราช ภาษาบาลีว่า สงฺฆราชา พระราชาของสงฆ์ พูดง่าย ๆ คือ เจ้าฝ่ายสงฆ์ เจ้าปกครองสงฆ์ เจ้าผู้บังคับบัญชาการดำเนินกิจการของสังฆมณฑล คือสมเด็จพระสังฆราช เดิมสมัยกรุงสุโขทัย เรียกว่า พระสังฆราช เรามีพระสังฆราชมาแต่สมัยโน้น โดยอาศัยศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงมหาราชที่ว่า มหาเถรสังฆราชปราชญ์เรียนจบปิฏกไตร หลวกกว่าปู่ครูในเมืองนี้ ทุกคนลุกแต่เมืองนครศรีธรรมราชมา ศิลาจารึกว่าไว้อย่างนั้น อันนี้เราค้นหลักฐานได้ชัดว่า การปกครองคณะสงฆ์ในแผ่นดินไทยมีพระสังฆราชสืบมา อย่างน้อยสุดแต่สมัยกรุงสุโขทัย อาจมีมานานกว่านั้นก็ได้ แต่เพราะไม่ได้ศิลาจารึก เราจึงไม่ทราบเราได้ทราบจากศิลาจารึกในสมัยของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช เราจะเห็นได้ว่า ท่านใช้คำว่า พระสังฆราช เป็นประมุขสงฆ์ เป็นเจ้าสงฆ์ ใช้ต่อมาจนสิ้นกรุงสุโขทัย ใช้คำนี้มาโดยตลอด เมื่อสมัยกรุงศรีอยุธยา ปรากฏว่าเอาคำว่า สมเด็จ มาเพิ่มเข้า คำว่าสมเด็จ กระผมเคยถามผู้รู้ ท่านบอกว่าเป็นภาษาเขมร แปลว่า ยอด ยิ่งใหญ่ ประเสริฐ เมื่อรวมกับพระสังฆราชเป็น สมเด็จพระสังฆราช จึงหมายความว่า ยอดพระราชาสงฆ์ พระราชาสงฆ์ผู้ยิ่งใหญ่ สมณศักดิ์ในสมัยกรุงสุโขทัยมี พระสังฆราช กับพระครู เมื่อสมัยกรุงศรีอยุธยามีสมเด็จพระสังฆราช สมเด็จพระราชาคณะ พระสังฆราชาคณะ และพระครู อย่างไรก็ตาม จะพระสังฆราช หรือสมเด็จพระสังฆราช ก็เป็นตำแหน่งเจ้าของสงฆ์ หรือเจ้าผู้ปกครองสังฆมณฑล ขอให้ทำความเข้าใจอย่างนี้ ตั้งแต่กรุงศรีอยุธยาจนถึงปัจจุบันนี้ ได้พระนามว่า สมเด็จพระสังฆราช มาโดยตลอด ต่อไปนี้ก็คงเรียกว่า สมเด็จพระสังฆราชตลอดไป ในสมัยกรุงเทพมหานครนี้ เรียกว่า สมเด็จพระมหาสมณเจ้า อยู่ ๓ พระองค์ เรียก สมเด็จพระสังฆราชเจ้า ก็มีหลายพระองค์ การสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชนั้น ถ้ามิได้เป็นเชื้อพระวงศ์ เป็นสมเด็จพระสังฆราชธรรมดา ถ้าเป็นเชื้อพระวงศ์ เป็นสมเด็จพระสังฆราชเจ้า ทรงกรมนั้น ทรงกรมนี้ บางทีเป็นสมเด็จพระมหาสมณเจ้า ขอได้ทราบอย่างนี้ ครับ ต่อไปจะพูดเรียงมาตรา

      มาตรา ๗ พระมหากษัตริย์ทรงสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช

        ในมาตรา ๗ นี้ ตราไว้สั้น ๆ นี้ แม้ในกฎหมายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๒๑ มาตรา ๙ ก็ตราไว้ว่า พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจที่จะสถาปนาฐานันดรศักดิ์ และพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ซึ่งคำว่า ฐานันดรศักดิ์ ก็หมายถึงสมณศักดิ์ทุกชั้น ตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชอยู่ในคำนี้ การสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชนั้น พระมหาษัตริย์ทรงสถาปนาสมเด็จพระราชาคณะขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราช ให้ทำความเข้าใจว่าบุคคลอื่นสถาปนามิได้ ต้องเป็นองค์พระมหากษัตริย์ แต่ถ้าพระมหากษัตริย์ไม่ประทับอยู่ในราชอาณาจักร ผู้ใดสำเร็จราชการแทนพระองค์ ผู้นั้นก็สถาปนาสมเด็จพระสังฆราชในพระปรมาภิไธยขององค์พระมหากษัตริย์ได้ คือ สถาปนาในพระปรมาภิไธยของพระมหากษัตริย์ จะสถาปนาในนามบุคคลอื่นมิได้ นี้หลักหนึ่ง

        หลักที่สอง ผู้ได้รับการสถาปนาจะเป็นใคร ตั้งแต่ใช้กฎหมายฉบับนี้มาตามลำดับนั้น ทรงสถาปนาเฉพาะสมเด็จพระราชาคณะขึ้น เป็นสมเด็จพระสังฆราช และเป็นไปตามลำดับอาวุโสโดยสมณศักดิ์  คือสมเด็จพระราชาคณะรูปใด ได้เป็นสมเด็จพระราชาคณะก่อน ทรงสถาปนารูปนั้นขึ้น เป็นสมเด็จพระสังฆราช นี้โดยปกตินะครับ เคยมีทรงสถาปนาพระอาจารย์ธรรมดาขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราช ก็เฉพาะในสมัยกรุงธนบุรี เพราะตอนนั้น บ้านแตกสาแหรกขาด จะไปหาสมเด็จพระราชาคณะมาสถาปนาไม่ได้ สถาปนาพระอาจารย์ทองดี ชาวกรุงเก่าขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราช แต่ในปัจจุบันนี้ เป็นที่แน่นอนพระราชประเพณีสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช ต้องเอาจากสมเด็จพระราชาคณะ และในกฎหมายฉบับใหม่นี้ เห็นได้ชัดว่าทรงสถาปนาสมเด็จพระราชาคณะผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ คือผู้ได้รับพัดยศก่อน โดยวิธีปฏิบัติตราไว้ชัด คุณมนู ช่างสุพรรณ เขาเคยทำเรื่องสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชแล้วถึง ๒ พระองค์ โดยทางปฏิบัตินั้น เจ้าหน้าที่กรมการศาสนาฐานะเป็นเจ้าหน้าที่ของกระทรวงศึกษาธิการ เป็นผู้ทำเรื่องราวเสนอนามสมเด็จพระราชาคณะทั้งหมด ที่มีในราชอาณาจักร พร้อมด้วยประวัติให้กระทรวงศึกษาธิการพิจารณา แต่การพิจารณานั้น มิใช่จะมีสิทธิ์ตัดทอน ต้องนำขึ้นทุกรูปเสนอตามลำดับ จนถึงองค์พระมหากษัตริย์ เมื่อสถาปนาองค์ที่ ๒ ของกฎหมายฉบับนี้ ได้ขอสังฆทัศนะคือมติสงฆ์ประกอบ แล้วองค์พระมหากษัตริย์ ก็โปรดสถาปนาผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ มีใช่ตามอายุพรรษา เอาตามที่เป็นสมเด็จพระราชาคณะก่อน ทรงสถาปนาอย่างนั้น ดังเราจะเห็นว่า รูปที่ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช มิได้เป็นสมเด็จพระสังฆราช เพราะการตรากฎหมายว่าด้วยการปฏิบัติหน้าที่ ใช้แบบหนึ่ง การสถาปนาอันเป็นพระราชประเพณี ใช้อีกแบบหนึ่ง

        วิธีสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชนั้น ถือเป็นประเพณีที่จะต้องทำให้เป็นพระราชพิธี ของเดิมจริง ๆ นั้น ก็เป็นพระราชพิธี แต่มาในยุคหนึ่งสถาปนาในวันเฉลิมพระชนมพรรษาบ้าง ในวันฉัตรมงคลบ้าง แต่ตอนหลังนี้ แยกเป็นพระราชพิธีต่างหาก เป็นพระราชพิธีสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช กระทำใหญ่โต กระผมเองเคยคิดว่า น่าจะมีผู้ถ่ายภาพยนตร์ เวลามีการประชุมพระสังฆาธิการ จะได้นำเอาภาพยนต์เรื่องนั้นมาฉายให้ชม เพราะถือว่าการสถาปนาเจ้าของฝ่ายสงฆ์ พระสงฆ์ควรได้รู้ว่าการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชนี้ ทำอย่างใด เริ่มแต่พระราชพิธีจารึกพระสุพรรณบัฏ จนถึงพิธีสถาปนาให้พระสงฆ์เราได้ชื่นชมยินดี

        ต่อไปขอพูดถึงมาตรา ๘ และ มาตรา ๙ โดยจะขอยกแม่บททั้ง ๒ มาตราขึ้นก่อนแล้วจะอธิบายรวมกันไป

      มาตรา ๘ สมเด็จพระสังฆราชทรงดำรงตำแหน่งสกลมหาสังฆปริณายก ทรงบัญชาการคณะสงฆ์และทรงตราพระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช โดยไม่ขัดหรือแย้งกับกฎหมายพระธรรมวินัยและกฎมหาเถรสมาคม

      มาตรา ๙ สมเด็จพระสังฆราช ทรงดำรงตำแหน่งประธานกรรมการมหาเถรสมาคม

        ในสองมาตรานี้ เป็นมาตราที่กำหนดตำแหน่งและอำนาจหน้าที่ของสมเด็จพระสังฆราช โดยกำหนดให้สมเด็จพระสังฆราชทรงดำรงตำแหน่ง ๒ ตำแหน่ง คือ

        (๑) ตำแหน่งสกลมหาสังฆปริณายก

        (๒) ตำแหน่งประธานกรรมการมหาเถรสมาคม

        อันตำแหน่งสกลมหาสังฆปริณายกนั้น เป็นตำแหน่งพระประมุขของสังฆมณฑล ทรงปกครองทั้งคณะสงฆ์ไทยและคณะสงฆ์อื่น เทียบได้กับตำแหน่งสกลมหาสังฆ
ปริณายก ในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พุทธศักราช ๒๔๘๔ ว่าโดยตรงคือตำแหน่งที่บัญชาการคณะสงฆ์

        ส่วนตำแหน่งประธานกรรมกามหาเถรสมาคมนั้น เป็นตำแหน่งที่บัญญัติขึ้นใหม่ ตำแหน่งนี้เป็นตำแหน่งปกครองโดยตรง ในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ฉบับเดิมไม่มีตำแหน่งนี้ แต่ในฉบับที่ใช้อยู่ในปัจจุบันนี้ ได้บัญญัติตำแหน่งนี้ขึ้นใหม่ โดยยุบตำแหน่งที่มีในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ฉบับเดิมนั้น และตำแหน่งที่มีในสังฆาณัติระเบียบพระคณาธิการ พุทธศักราช ๒๔๘๖ รวม ๔ ตำแหน่ง มาเป็น ตำแหน่งประธานกรรมการมหาเถรสมาคม เพียงตำแหน่งเดียว ตำแหน่งที่ถูกยุบนั้น คือ

        ตำแหน่งที่ ๑ ประธานสังฆสภา เป็นหัวหน้าคณะในฝ่ายนิติบัญญัติ

        ตำแหน่งที่ ๒ สังฆนายก เป็นหัวหน้าคณะในฝ่ายบริหาร

        ตำแหน่งที่ ๓ ประธานคณะวินัยธร เป็นหัวหน้าคณะในฝ่ายตุลาการ

        ตำแหน่งที่ ๔ ประธาน ก.ส.พ.

        ตำแหน่งที่ ๔ นี้ ประธาน ก.ส.พ. คือประธานกรรมการสังฆาณัติระเบียบพระคณาธิการ ตำแหน่งเปรียบเหมือนประธานคณะกรรมการ ก.ส.พ. หรือประธานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน ซึ่งนายกรัฐมนตรีเป็นอยู่โดยตำแหน่ง ทางคณะสงฆ์นั้นในสมัยใช้พระราชบัญญัติฉบับเดิมโดยสังฆาณัติ ให้มีกรรมการ ก.ส.พ. มีสังฆนายกเป็นประธานควบคุมการแต่งตั้งและถอดถอนพระคณาธิการทั้งประเทศ

        ในกฎหมายฉบับใหม่ ยุบเลิกตำแหน่งทั้ง ๔ นี้ แล้วเอามารวมกันบัญญัติชื่อตำแหน่งใหม่ว่า ประธานกรรมการมหาเถรสมาคม โดยกำหนดให้สมเด็จพระสังฆราชทรงดำรงตำแหน่งใหม่นี้โดยตำแหน่ง ตำแหน่งใหม่นี้ ปริมาณงานมีมาก เพราะงาน ๔ ตำแหน่งมารวมเป็นตำแหน่งเดียว ขอให้ทราบอย่างนี้นะครับ

        ต่อไปเรื่องอำนาจและหน้าที่ อำนาจและหน้าที่ในตำแหน่งสกลมหาสังฆปริณายกนั้น มี ๒ คือ

        ๑) ทรงบัญชาการคณะสงฆ์

        ๒) ทรงตราพระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช

        การบัญชาการคณะสงฆ์นั้น เป็นอำนาจหน้าที่ของสมเด็จพระสังฆราชในตำแหน่งสกลมหาสังฆปริณายก การตราพระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช ก็เป็นอำนาจหน้าที่ของสมเด็จพระสังฆราชในตำแหน่งสกลมหาสังฆปริณายก ส่วนการตรากฎมหาเถรสมาคมนั้น เป็นอำนาจหน้าที่คาบเกี่ยวกันอยู่ ในฐานะที่ทรงบัญชาการคณะสงฆ์ สมเด็จพระสังฆราชทรงลงนาม แต่ต้องถือว่าในตำแหน่งประธานกรรมการมหาเถรสมาคมด้วย การลงตำแหน่งต้องลง ๒ ตำแหน่ง ทำไมต้องลง ๒ ตำแหน่ง เพราะตำแหน่งแรกคือตำแหน่งสกลมหาสกลมหาสังฆปริณายก ตำแหน่งหลักคือ ตำแหน่งประธานกรรมการมหาเถรสมาคม เหมือนกับตำแหน่งสังฆนายก ซึ่งรับสนองพระบัญชาในกฎหมายฉบับเดิม ฉะนั้น ให้เข้าใจว่าสมเด็จพระสังฆราช ทรงมีอำนาจและหน้าที่ใหญ่ ๆ อยู่ ๒ อย่าง คือทรงบัญชาการคณะสงฆ์และทรงตราพระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช

        การใช้อำนาจทั้งสองนี้ สมเด็จพระสังฆราชทรงเป็นอิสระหรือไม่ ไม่เป็นอิสระ ครับ เพราะมีหลักเกณฑ์ในการปฏิบัติ เป็น ๓ คือ

        (๑) ขัดหรือแย้งกับกฎหมายไม่ได้

        (๒) ขัดหรือแย้งกับพระธรรมวินัยไม่ได้

        (๓) ขัดหรือแย้งกับกฎมหาเถรสมาคมไม่ได้

        มิใช่ว่าสมเด็จพระสังฆราชทรงบัญชาการได้อิสระนะครับ ใช่ว่าเป็นสมเด็จพระสังฆราชแล้ว จะเอาอย่างใดก็ได้ มิใช่อย่างนั้น จะต้องบัญชาการคณะสงฆ์มิให้ขัดกับกฎหมายแผ่นดินและกฎหมายคณะสงฆ์ ไม่ขัดกับพระธรรมวินัย และไม่ขัดกับกฎมหาเถรสมาคม ขัดเป็นไม่ได้ แม้แต่ระเบียบหรือคำสั่งมหาเถรสมาคมเรื่องใด ที่ตราขึ้นโดยอาศัยกฎมหาเถรสมาคม ก็ทรงบัญชาขัดมิได้

        อำนาจหน้าที่ของสมเด็จพระสังฆราชในสมัยต่าง ๆ ที่กล่าวมาย่อมแตกต่างพอสรุปได้ คือ

        ๑) สมัยใช้พระราชบัญญัติลักษณะปกครองพระสงฆ์ ร.ศ.๑๒๑ โดยอาศัยพระบรมราชโองการ ทรงใช้อำนาจทั้ง ๓ โดยสิทธิ์ขาด มหาเถรสมาคมเพียงเป็นที่ปรึกษา

        ๒) ในสมัยใช้พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พุทธศักราช ๒๔๘๔ ทรงใช้อำนาจ ๓ ทาง คือทางสังฆสภา ทางสังฆมนตรีและทางคณะวินัยธร โดยเพียงทรงรับทราบการปฏิบัติของคณะพระภิกษุ ๓ คณะเท่านั้น

        ๓) สมัยใช้กฎหมายฉบับปัจจุบัน ทรงใช้อำนาจทั้ง ๓ ทางมหาเถรสมาคมทางเดียวแต่ต้อง

               (๑) ไม่ขัดหรือแย้งกับกฎหมาย

               (๒) ไม่ขัดหรือแย้งกับพระธรรมวินัย

               (๓) ไม่ขัดหรือแย้งกับกฎมหาเถรสมาคม

        และต้องให้เป็นไปเพื่อความเจริญรุ่งเรืองแห่งพระพุทธศาสนา

        เรื่องอำนาจและหน้าที่ของสมเด็จพระสังฆราช ที่กล่าวมานี้ คืออำนาจหน้าที่ในตำแหน่งสกลมหาสังฆปริณายก นะครับ ส่วนอำนาจและหน้าที่ในตำแหน่งประธานกรรมการมหาเถรสมาคม ขอให้ทราบรายละเอียดในมาตรา ๑๘ เรื่องมหาเถรสมาคมในหมวดต่อไป เอาละครับหมดเวลา

Hits: 4