นายมนู ช่างสุพรรณ บรรยายมาตรา ๑๐-๑๑
พระราชเมธี
ในภาคบ่ายนี้ กระผมและคุณมนู จักได้ถวายความรู้เรื่องสมเด็จพระสังฆราชต่อไปนะครับ ขอเชิญคุณมนู ได้ถวายความรู้ในมาตรา ๑๐ และมาตรา ๑๑ เป็นลำดับต่อไป ขอเชิญ
นายมนู ช่างสุพรรณ
ในมาตรา ๑๐ นะครับ มีความว่า ในเมื่อไม่มีสมเด็จพระสังฆราช ให้สมเด็จพระราชาคณะผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยพรรษา ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช อันนี้ เป็นความในวรรคต้นซึ่งเมื่อเช้านี้ พระเดชพระคุณบรรยายไว้ว่า สมเด็จพระสังฆราช โดยปกติสถาปนาสมเด็จพระราชาคณะผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ แต่มาถึงมาตรานี้ ในกณีที่ไม่มีสมเด็จพระสังฆราช หมายความว่า ในระหว่างที่สมเด็จพระสังฆราชว่างลง ตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายกนั้นมีความสำคัญอย่างมาก จะว่างลงนานมิได้ ฉะนั้น กฎหมายจึงได้กำหนดว่า ในเมื่อไม่มีสมเด็จพระสังฆราช หมายความถึงว่า ในระหว่างที่ว่างตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช ได้กำหนดให้สมเด็จพระราชาคณะผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยพรรษา ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช อันนี้ ต่างกับการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช เพราะว่าเราใช้สมเด็จพระราชาคณะผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยพรรษา โดยพรรษากับโดยสมณศักด์ต่างกัน โดยพรรษาก็หมายความว่า สมเด็จพระราชาคณะผู้ซึ่งอุปสมบทก่อน คือว่าเอาอาวุโสโดยพรรษา ไม่ได้เอาอายุ โดยพรรษาก็หมายความว่า สมเด็จพระราชาคณะผู้ซึ่งอุปสมบทก่อน คือว่าเอาอาวุโสโดยพรรษา ไม่ได้เอาอายุ โดยพรรษาก็คือโดยการอุปสมบท คือพรรษาตามหลักเกณฑ์ทางพระพุทธศาสนา พอว่างลง ต้องเป็นไปโดยอัตโนมัติ ไม่มีการคัดเลือก ไม่มีการเสนอชื่อรูปใดมีอาวุโสสูงสุดโดยพรรษาอยู่ในขณะนั้น กรมก็นำเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อประกาศนามในราชกิจจานุเบกษา การที่รู้ได้ เพราะกรมมีประวัติสมเด็จพระราชาคณะอยู่พร้อมทุกรูป กรมก็เสนอชื่อไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เพราะต้องประกาศนามสมเด็จพระราชาคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ตามมาตรานี้ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นผู้ประกาศนามในราชกิจจานุเบกษา กระผมได้กราบเรียนไว้แล้วว่า ราชกิจจานุเบกษาเป็นหนังสือสำคัญ และตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช ก็เป็นตำแหน่งที่มีความสำคัญมาก เมื่อมีผู้ปฏิบัติหน้าที่แทน จึงต้องประกาศนามในราชกิจจานุเบกษา เพื่อให้เป็นหลักฐานยืนยันและเพื่อให้ทราบทั่วถึงกันในสังฆมณฑล
ข้อความในวรรคที่ ๒ ว่า เมื่อสมเด็จพระสังฆราชไม่ประทับอยู่ในราชอาณาจักร ประเด็นหนึ่งนะครับ หรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ประเด็นที่สองนี้ อยู่ในราชอาณาจักร แต่ไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ คำว่า ไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ไม่ว่าจะเป็นกรณีใด อาจทรงประชวรจนไม่อาจปฏิบัติหน้าที่โดยปกติได้ หรือการที่จะเสด็จออกไปนอกราชอาณาจักร ไม่ว่าเป็นการชั่วคราว หรืออย่างไรก็แล้วแต่ ดังที่กระผมได้กราบเรียนไว้แล้วว่า อำนาจกฎหมายของเรามีอยู่เฉพาะภายในราชอาณาจักร เมื่อเด็จออกไปนอกราชอาณาจักรแล้ว อำนาจก็เชื่อมโยงไม่ถึง เพราะฉะนั้น ก็ถือว่าว่างสมเด็จพระสังฆราชชั่วคราว เพราะเสด็จออกนอกราชอาณาจักร ในกรณีนี้ ตำแหน่งของสมเด็จพระสังฆราชยังมีอยู่ แต่ว่าไม่อยู่ในราชอาณาจักรหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ สมเด็จพระสังฆราชจะได้ทรงแต่งตั้งให้สมเด็จพระราชาคณะรูปใดรูปหนึ่งปฏบัติหน้าที่แทน อันนี้ต้องมีคำว่า ปฏิบัติหน้าที่แทน สมเด็จพระสังฆราชจะทรงแต่งตั้งสมเด็จพระราชาคณะรูปใดรูปหนึ่ง ให้ทำหน้าที่แทนพระองค์ ในลักษณะเช่นนี้ กฎหมายถวายอำนาจให้สมเด็จพระสังฆราช ให้เลือกสรรสมเด็จพระราชาคณะรูปใดรูปหนึ่งปฏิบัติหน้าที่แทนพระองค์ได้ แต่ว่าให้ทรงเลือกเป็นสมเด็จพระราชาคณะ จะทรงเลือพระราชาคณะรูปใดรูปหนึ่งที่ไว้วางพระทัย ให้ปฏิบัติหน้าที่พระองค์ไม่ได้ เพราะกฎหมายบังคับไว้ว่า ให้เลือกสมเด็จพระราชาคณะรูปใดรูปหนึ่ง แต่งตั้งให้เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนพระองค์
ในกรณีที่ ๒ นี้ ถ้าไม่ทรงแต่งตั้งสมเด็จพระราชาคณะรูปใดรูปหนึ่ง ให้เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนไว้ ในกรณีเช่นนี้ ให้สมเด็จพระราชาคณะผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยพรรษา ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ความในข้อนี้แตกต่างกันอยู่ ถ้าสมเด็จพระสังฆราชคณะที่ทรงแต่งตั้ง จะใช้คำว่า ผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนสมเด็จพระสังฆราช แต่ถ้าไม่ทรงแต่งตั้งไว้ ก็สมเด็จพระสังราชาคณะผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยพรรษา เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนสมเด็จพระสังฆราชโดยอัตโนมัติ ในลักษณะเช่นนี้ ใช้คำว่า ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ไม่มีคำว่า แทน
ในวรรคถัดมา ในกรณีที่สมเด็จพระราชาคณะซึ่งได้รับแต่งตั้งให้ปฏิบัติหน้าที่แทนสมเด็จพระสังฆราช ไม่อาจปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชได้ ให้สมเด็จพระราชาคณะรูปอื่นผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยพรรษา ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ในวรรคที่ ๒ นี้ ก็หมายความว่าให้สมเด็จพระราชาคณะรูปอื่นซึ่งมีอาวุโสถัดมา เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช อันนี้ก็มีตัวอย่างอยู่ เมื่อคราวสมเด็จพระสังฆราชวัดมกุฏกษัตริยารามสิ้นพระชนม์ ซึ่งในขณะนั้น สมเด็จพระพุฒาจารย์ วัดอรุณราชวราราม เป็นผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยพรรษา แต่ท่านอาพาธ ไปพักอยู่โรงพยาบาลศิริราช ไม่พูดไม่จาไม่สามารถจะปฏิบัติหน้าที่ได้ เมื่อเป็นอย่างนี้กรมการศาสนาก็ต้องให้คณะแพทย์ซึ่งถวายการรักษาพยาบาลสมเด็จ ทำหนังสือรับรองมาว่า สมเด็จพระพุฒาจารย์นั้น ไม่สามารถที่จะปฏิบัติหน้าที่ได้ ก็ต้องเสนอชื่อสมเด็จพระราชาคณะผู้มีอาวุโสโดยพรรษารองลงไป เสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ให้ทราบว่า สมเด็จพระราชาคณะผู้มีอาวุโสโดยพรรษารองลงไป ได้แก่รูปใด ก็ได้แก่สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ วัดพระศรีมหาธาตุ ซึ่งมีอาวุโสรองลงไปในขณะนั้น สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ ก็ได้เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ในราชกิจจานุเบกษา นี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช ซึ่งมีความสำคัญ จะต้องมีผู้ปฏิบัติสืบเนื่องกันไป ส่วนตำแหน่งอื่นนั้น กฏหมายมิได้กำหนดไว้ เป็นแต่กำหนดไว้ในกฏมหาเถรสมาคม ในเรื่องการแต่งตั้งผู้รักษาการ กฎหมายกำหนดไว้แต่เฉพาะตำแหน่งสมเด็จพระสังฆาช ซึ่งจะว่างลงมิได้ เพราะเป็นตำแหน่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง ต่อไปเป็นมาตรา ๑๑
มาตรา ๑๑ สมเด็จพระสังฆราชพ้นจากตำแหน่งเมื่อ
(๑) มรณภาพ
(๒) พ้นจากความเป็นพระภิกษุ
(๓) ลาออก
(๔) ทรงพระกรุณาให้ออก
รวมเป็น ๔ กรณีด้วยกัน มรณภาพเป็นกรณีธรรมดาซึ่งปรากฎอยู่โดยปกติ แต่ว่าในบทนี้ทำไมจึงไม่ใช้คำว่า สิ้นพระชนม์ ก็ไม่ทราบเพราะในบทอื่นใช้คำว่า สมเด็จพระสังฆราชทรงดำรงตำแหน่ง ล้วนแต่เป็นราชาศัพท์ทั้งนั้น แต่เมื่อมาถึงมรณภาพ ใช้คำสามัญธรรมดา คำนี้ก็ไม่เข้าใจว่า ผู้ร่างจะมีความมุ่งหมายอย่างไร แต่ถึงจะสิ้นพระชนม์หรือมรณภาพ ก็มีความหมายเท่ากัน
พ้นจากความเป็นภิกษุ อันนี้ ก็ตั้งแต่สืบประวัติมาก็ไม่เคยเห็นมีว่า สมเด็จพระสังฆราชจะทรงลาสิกขา เพราะแต่ละพระองค์กว่าจะได้เป็นอายุ ๗๐-๘๐ แล้วทั้งนั้น ก็ไม่ทราบว่าจะสึกไปทำอะไรนะครับ รับรองไม่มีวันพ้นหรอกครับ นอกจากพ้นเพราะมรณภาพ
เหตุที่ ๓ ลาออก สมเด็จพระสังฆราชก็ไม่เคยลาออก ทุกพระองค์แหละครับ ยังไม่เคยเก็นปรากฏว่าสมเด็จพระสังฆราชลาออก สืบถอยไปได้เลยในประวัติศาสตร์ ว่าสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ใดบ้างทรงลาออกจากตำแหน่ง โดยปกติไม่มีแน่นอนมีแต่ดำรงตำแหน่งไปจนสิ้นพระชนม์ ถ้าไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ก็ทรงแต่งตั้งผู้ปฏิบัติหน้าที่แทน อันนี้ เป็นข้อป้องกันลาออก
เหตุที่ ๔ ทรงพระกรุณาโปรดให้ออก อันนี้ เคยมีในประวัติศาสตร์ครั้งเดียว คือสมัยกรุงธนบุรี โปรดให้สมเด็จพระสังฆราช (ศรี) วัดระฆังโฆสิตาราม ออกจากตำแหน่งเพราะไม่ยอมถวายบังคมพระองค์ ในขณะที่วิปลาศไปนั้น ให้ออกจากตำแหน่งแล้ว เอาสมเด็จพระสังฆราช (ชื่น) ขึ้นมาแต่งตั้งแทน เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ขึ้นเสวยราชสมบัติ ก็ทรงเอาสมเด็จพระสังฆราช (ศรี) กลับมาตั้งเป็นสมเด็จพระสังฆราชขึ้นใหม่ พร้อมกับลดตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช (ชื่น) ซึ่งพระเจ้ากรุงธนบุรีแต่งตั้งไว้นั้น ลงเป็นพระธรรมธีราชมหามุนี ให้ว่าเป็นที่สมเด็จพระวันรัต คือให้ราชทินนามว่า พระธรรมธีราชมหามุนี แต่มีตำแหน่งอยู่ในตำแหน่งพระวันรัต ทั้งนี้ ก็เป็นการโปรดให้ออก คือให้ออก เรื่องสมเด็จพระสังฆราช เกี่ยวกับการสถาปนา การปฏิบัติหน้าที่แทนสมเด็จพระสังฆราช ก็จบเท่านี้
Hits: 1