นายมนู ช่างสุพรรณ บรรยายมาตรา ๑๒-๑๙

นายมนู ช่างสุพรรณ บรรยายมาตรา ๑๒-๑๙

        หมวดที่ ๒ ว่าด้วยมหาเถรสมาคมนะครับ จะได้ถวายความเรียงมาตรา

      มาตรา ๑๒ มหาเถรสมาคมประกอบด้วยสมเด็จพระสังฆราช ทรงดำรงตำแหน่งประธานกรรมการโดยตำแหน่ง สมเด็จพระราชาคณะทุกรูป เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง และพระราชาคณะที่สมเด็จพระสังฆราชทรงแต่งตั้งมีจำนวนไม่ต่ำกว่า ๔ รูป และไม่เกิน ๘ รูป เป็นกรรมการ

        นี้ องค์ประกอบของมหาเถรสมาคม มหาเถรสมาคมเป็นสถาบันปกครองคณะสงฆ์สูงสุดของประเทศไทยในขณะนี้ มีองค์ประกอบ ประกอบด้วยสมเด็จพระสังฆราชทรงเป็นประธานกรรมการโดยตำแหน่ง อันนี้ ก็บัญญัติไว้แล้วในมาตรา ๘ และได้บัญญัติไว้ให้มองเห็นชัดคือองค์ประกอบของมหาเถรสมาคมอีกครั้งหนึ่ง สมเด็จพระราชาคณะทุกรูป เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง กรรมการโดยตำแหน่งนี้ ถ้าพระราชาคณะเจ้าคณะรองรูปใดรูปหนึ่ง ได้รับสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระราชาคณะ ก็เป็นกรรมการมหาเถรสมาคมโดยตำแหน่ง ไม่ต้องแต่งตั้งพอวันที่ ๕ ได้รับสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระราชาคณะ ถึงวันที่ ๑๐ เป็นวันประชุมมหาเถรสมาคม กรมการศาสนาในฐานะสำนักเลขาธิการมหาเถรสมาคม ก็จะต้องทำหนังสืออาราธนาสมเด็จพระราชาคณะผู้ได้รับสถาปนาใหม่ ให้เข้าประชุมในฐานะกรรมการมหาเถรสมาคมโดยตำแหน่ง อันนี้ ไม่มีการแต่งตั้งเป็นไปโดยอัตโนมัติ คล้าย ๆ กับพระบาทสมเด็จประเจ้าอยู่หัวทรงแต่งตั้งโดยปริยาย รูปใดเป็นสมเด็จพระราชาคณะ ก็เป็นกรรมการมหาเถรสมาคมโดยตำแหน่ง ในฐานะที่เป็นสมเด็จพระราชาคณะนั่นเอง นอกจากนี้มหาเถรสมาคมยังประกอบด้วยพระราชาคณะซึ่งสมเด็จพระสังฆราชเป็นผู้ทรงแต่งตั้ง โดยจะทรงแต่งตั้งพระราชาคณะรูปใดก็ได้ อันนี้ ไม่จำกัด จำกัดคุณสมบัติอยู่อย่างเดียว คือต้องเป็นพระราชาคณะ จะแต่งตั้งจากพระครูสัญญาบัตรหรือพระภิกษุอื่นที่มิได้เป็นพระราชาคณะไม่ได้ เพราะกฎหมายกำหนดไว้อย่างนั้น เจตนารมณ์อันนี้ ก็เข้าใจว่า พระราชาคณะแต่ละรูปนั้นก่อนจะได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะ จะต้องได้รับการกลั่นกรองถึงคุณงามความดีและความสมารถในด้านต่าง ๆ จากคณะสงฆ์ไปแล้ว จึงจะนำความขึ้นกราบทูลขอพระราชทานสมณศักดิ์ให้ดำรงตำแหน่งเป็นพระราชาคณะ อันนี้ ไม่จำกัดว่าต้องเป็นชั้นใด ๆ แต่ในปัจจุบันนี้ ก็ได้มีการแต่งตั้ง ตั้งแต่พระราชาคณะชั้นธรรมขึ้นไป จำนวนของพระราชาคณะที่สมเด็จพระสังฆราชแต่งตั้ง มีจำนวนไม่ต่ำกว่า  ๔ รูป และไม่เกิน ๘ รูป ที่ทรงแต่งตั้งต่ำกว่า  ๔ รูป และจะเกิน ๘ รูปไปไม่ได้ เพราะกฎหมายกำหนดไว้อย่างนั้น และในกาณีที่แต่งตั้งไว้ ๔ รูป ถ้ากรรมการว่างลงโดยประการใดประการหนึ่ง ก็จะต้องแต่งตั้งเพิ่มขึ้นให้มีจำนวนไม่ต่ำกว่า ๔ รูป เว้นแต่กรณีที่แต่งตั้งไว้เกิน ๔ รูปแล้ว หรือแต่งตั้งไว้เต็มตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายคือ ๘ รูปแล้ว ถ้าว่างลงในระยะใดระยะหนึ่ง สมเด็จพระสังฆราช จะทรงแต่งตั้งเพิ่มขึ้นให้ครบจำนวน หรือไม่ทรงแต่งตั้งก็ได้ เพราะสูงกว่าจำนวนต่ำสุดที่กฎหมายกำหนด อันนี้ เป็นเรื่องที่ว่าจะแต่งตั้งใหม่ หรือไม่แต่งตั้งก็ได้ แต่ถ้าแต่งตั้งไว้แล้ว  ๔ รูปจำนวนพร่องลงไปไม่ครบ ๔ รูป ก็ไม่เป็นองค์ของมหาเถรสมาคมต้องแต่งตั้งเพิ่มให้ครบทั้ง ๔ รูป

      มาตรา ๑๓ ให้อธิบดีกรมการศาสนาเป็นเลขาธิการมหาเถรสมาคมโดยตำแหน่ง และให้กรมการศาสนาทำหน้าที่สำนักเลขาธิการมหาเถรสมาคม

        อันนี้ เพื่อให้มีผู้สนองงานของมหาเถรสมาคม เป็นผู้ประสานงาน เป็นผู้ดำเนินกิจการแทนพร้อมกับเป็นผู้ประสานงานกับทางราชอาณาจักร จึงกำหนดให้อธิบดีกรมการศานา ต้องเป็นเลขาธิการมหาเถรสมาคมโดยตำแหน่ง ผู้ใดมาเป็นอธิบดีกรมการศาสนา ผู้นั้นจะต้องรับตำแหน่งเลขาธิการมหาเถรสมาคมอีกตำแหน่งหนึ่งด้วย

        นอกจากนั้น ได้กำหนดให้กรมการศาสนา ทำหน้าที่สำนักเลขาธิการมหาเถรสมาคม คือเป็นหน่วยปฏิบัติงานทั่วไปของมหาเถรสมาคม ข้าราชการในกรมการศาสนา ต้องเป็นเจ้าหน้าที่ของมหาเถรสมาคมไปด้วย เพราะมาตรานี้ แม้กรมการศาสนา จะเป็นกรมของรัฐบาล เมื่อมีกฎหมายบังคับใช้เช่นนี้ ก็ต้องรับสนองงานคณะสงฆ์ คืองานของมหาเถรสมาคมอย่างเต็มที่

      มาตราที่ ๑๔ กรรมการมหาเถรสมาคมซึ่งสมเด็จพระสังฆราชทรงแต่งตั้ง อยู่ในตำแหน่งคราวละ ๒ ปี และอาจได้รับแต่งตั้งอีกได้

        อันนี้ กรรมการโดยการแต่งตั้ง คือกรรมการที่เป็นพระราชาคณะ ก็อยู่ในวาระได้คราวละ ๒ ปี แต่ว่าเมื่อพ้นจากตำแหน่งตามวาระแล้ว อาจได้รับแต่งตั้งได้อีก เพื่อเปิดโอกาสให้พระราชคณะได้มีโอกาสหมุนเวียนเข้ามารับหน้าที่เป็นกรรมการมหาเถรสมาคม จะได้สืบทอดเจตนารมย์ตามกฎหมายนี้ ในเวลา ๒ ปีนี้ เมื่อแต่งตั้งแล้ว ส่วนใหญ่ก็มักได้รับแต่งตั้งอีก เว้นไว้แต่กรรมการโดยการแต่งตั้งบางรูป ได้รับสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระราชคณะ ทำให้ตำแหน่งว่างลง ที่ว่างลงก็เพราะว่าต้องขึ้นไปเป็นกรรมการโดยตำแหน่ง ก็ทำให้ตำแหน่งกรรมการโดยการแต่งตั้งนั้นว่างลง ในกรณีที่ว่างลงเช่นนี้ จะแต่งตั้งเพิ่มหรือไม่ก็ได้ ต้องแต่ตั้งเพิ่มในเมื่อกรรมการโดยการแต่งตั้งเหลืออยู่ต่ำกว่า ๔ รูป เช่น เดิมมี ๔ รูป ว่างลง ๑ รูป ก็ทำให้กรรมการโดยการแต่งตั้งขาดจำนวนไป ไม่ครบตามที่จำนวนกฎหมายกำหนดไว้ ต้องแต่งตั้งเพิ่มให้มีจำนวนไม่ต่ำกว่า ๔ รูป ถ้าแต่งตั้งไว้ ๘ รูป และว่างลงรูปใดรูปหนึ่ง ที่เหลือยู่เกินกว่าจำนวนต่ำสุดที่กำหนดไว้ อันนี้ ไม่จำเป็นต้องแต่งตั้ง

      มาตรา ๑๕ นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระตามความในมาตรา ๑๔ กรรมการมหาเถรสมาคม ซึ่งสมเด็จพระสังฆราชทรงแต่งตั้ง พ้นจากตำแหน่งเมื่อ

      (๑)  มรณภาพ

      (๒)  พ้นจากความเป็นภิกษุ

      (๓)  ลาออก

      (๔)  สมเด็จพระสังฆราชมีบัญชาให้ออก

        เหตุที่ทำให้กรรมการมหาเถรสมาคมโดยการแต่งตั้ง พ้นจากตำแหน่ง ดูความชัดเจนอยู่แล้วเห็นจะไม่ต้องอธิบายมาก

        ในวรรคที่ ๒ ว่า ในกรณีที่กรรมการมหาเถรสมาคมพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระ สมเด็จพระสังฆราชอาจทรงแต่งตั้งพระราชาคณะรูปใดรูปหนึ่งเป็นกรรมการแทน อันนี้ ถ้ามีกรณีจำเป็นต้องแต่งตั้งแทน ถ้าไม่จำเป็น ไม่ต้องแต่งตั้งแทนก็ได้

        ความวรรคสุดท้ายว่า กรรมการซึ่งได้รับแต่งตั้งแทนตามความในวรรคก่อน อยู่ในตำแหน่งตามวาระของผู้ซึ่งตนแทน สมมติว่า กรรมการมหาเถรสมาคมซึ่งเป็นโดยการแต่งตั้ง อยู่ในตำแหน่งมาแล้วหนึ่งปี ก็มีอันพ้นจากตำแหน่งไป ด้วยเหตุใดก็ตาม สมเด็จพระสังฆราชทรงแต่งตั้ง พระราชาคณะอีกรูปหนึ่งขึ้นเป็นกรรมการมหาเถรสมาคมแทนตำแหน่งของรูปที่พ้นไป รูปพ้นไปอยู่ในวาระมาได้เพียงปีเดียว แต่วาระของกรรมการมหาเถรสมาคมทั้งหมดมี ๒ ปี แต่เมื่อรูปที่พ้นไปได้ดำรงตำแหน่งมาแล้ว ๑ ปี วาระของรูปนั้นก็ยังเหลืออีก ๑ ปี รูปที่มาเป็นแทน ก็คงอยู่วาระได้เท่ารกับรูปที่ตนแทนคือได้วาระ ๑ ปี

        มาตรา  ๑๖ ในมาตรา ๑๖ นี้ มีลักษณะคล้ายกับมาตรา ๑๐ เพราะว่าเรื่องเป็นของประธานกรรมการมหาเถรสมาคม ซึ่งได้แก่สมเด็จพระสังฆราช  เพราะว่าในมาตรา ๙ และมาตรา ๑๒ บัญญัติว่า สมเด็จพระสังฆราชทรงดำรงตำแหน่งประธานกรรมการมหาเถรสมาคมโดยตำแหน่ง ในมาตรา ๑๖ กำหนดไว้ว่า เมื่อประธานกรรมการมหาเถรสมาคมไม่อาจมาประชุม หรือไม่อยู่ในที่ประชุมมหาเถรสมาคม และมิได้มอบหมายให้สมเด็จพระราชคณะรูปใดรูปหนึ่งปฏิบัติหน้าที่แทน อันนี้ โดยทางปฏิบัติได้ความว่า เมื่อประธานกรรมการมหาเถรสมาคมไม่มาประชุมหรือไม่อยู่ในที่ประชุมนั้น บางทีมาประชุม แต่มีพระกรณียกิจต้องเสด็จกลับไปที่อื่นก่อนหมดการประชุม อันนี้เป็นเรื่องที่ว่าเมื่อประธานกรรมการไม่อาจมาประชุม ถ้าไม่อาจมาประชุมก็จะแจ้งว่า มอบให้สมเด็จพระราชาคณะรูปใดรูปหนึ่งเป็นประธานในที่ประชุมแทน หรือว่าจะออกจากที่ประชุม ยังไม่หมดวาระการประชุม ก็มีพระราชกรณียกิจจะต้องเสด็จไป ต้องมอบให้รูปใดรูปหนึ่งในที่นั่น เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่ประธานกรรมการมหาเถรสมาคม อันนี้ ถ้าแต่งตั้งไว้  ก็เป็นไปตามที่ทรงมอบหมาย แล้วแต่จะทรงมอบหมายให้สมเด็จพระราชาคณะรูปใดเป็นประธานกรรมการแทนในที่ประชุมนั้น ทีนี้ และถ้ามิได้มอบหมาย ให้สมเด็จพระราชาคณะรูปใดรูปหนึ่ง ปฏิบัติหน้าที่แทนอันนี้ เป็นกรณีที่ไม่มอบหมายไว้ ก็ให้มหาเถรสมาคมแต่งตั้งสมเด็จพระราชาคณะรูปใดรูปหนึ่งปฏิบัติหน้าที่แทน ในกรณีเช่นนี้ ก็ให้มหาเถรสมาคมดำเนินการแต่งตั้ง คือการเลือกสมเด็จพระราชาคณะรูปใดรูปหนึ่งซึ่งมาประชุมในครั้งนั้น ทำหน้าที่เป็นประธานกรรมการมหาเถรสมาคม ในการประชุมเพื่อการแต่งตั้งนี้ ก็ให้สมเด็จพระราชคณะผู้อาวุโสสูงสุดโดยพรรษาเป็นประธานแห่งที่ประชุม คือเป็นประธานในที่ประชุมชั่วคราวการประชุมครั้งหนึ่ง ประชุมเพื่อคัดเลือกสมเด็จพระราชาคณะ ให้ทำหน้าที่ประธานกรรมการมหาเถรสมาคม ในการประชุมนั้น ก็ให้สมเด็จพระราชาคณะผู้มีอาวุโสสูงสุโดยพรรษา เป็นประธานชั่วคราว เมื่อเป็นประธานแล้ว ก็ทำการคัดเลือกสมเด็จพระราชาคณะซึ่งอยู่ในที่ประชุมนั้น ถ้าได้แก่รูปที่มีอาวุโสสูงสุดก็เป็นประธานต่อไป ถ้าได้สมเด็จพระราชาคณะรูปอื่น ก็ให้สมเด็จพระราชาคณะรูปที่ได้รับแต่งตั้งจากมหาเถรสมาคม คือได้รับเสียงข้างมากนั้น ปฏิบัติหน้าที่ประธานกรรมการมหาเถรสมาคม ต่อไป อันนี้จะจำกัดไว้ว่า ผู้ที่จะทำหน้าที่แทนได้นั้นต้องเป็นสมเด็จพระราชาคณะ จะเป็นพระราชาคณะซึ่งเป็นกรรมการรูปอื่นไม่ได้ ต้องเป็นสมเด็จพระราชาคณะเท่านั้น ที่จะทำหน้าที่ประธานกรรมการมหาเถรสมาคมแทนสมเด็จพระสังฆราชได้.

        ในมาตรา ๑๗ วรรคแรกว่า การประชุมมหาเถรสมาคม ต้องมีกรรมการโดยตำแหน่ง และกรรมการโดยการแต่งตั้งร่วมกันมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของกรรมการทั้งหมด จึงเป็นองค์ประชุม

        การประชุมกรรมการมหาเถรสมาคมนี้ กำหนดไว้ว่า การประชุมจะเป็นองค์ประชุมได้ ต้องมีกรรมการทั้งสองฝ่าย คือกรรมการโดยตำแหน่งและกรรมการโดยการแต่งตั้ง ต้องมาประชุมร่วมกัน จะมีแต่กรรมการโดยการแต่งตั้งมาประชุม ๘  รูป เกินกว่ากึ่งหนึ่ง ถ้าไม่มีสมเด็จพระราชาคณะมาร่วมในการประชุมนั้นด้วย ก็ไม่เป็นองค์ประชุม ประชุมไม่ได้นะครับ ถ้ามีกรรมการโดยตำแหน่งมาครบทุกรูป แต่พระราชาคณะที่ได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการมหาเถรสมาคมไม่มาเลยสักรูปเดียว ก็ไม่เป็นองค์ประชุม เพราะกรรมการโดยตำแหน่งแม้จะมีจำนวนเกินกึ่งหนึ่ง ก็ไม่เป็นองค์ประชุม เพราะกำหนดว่า ทั้งกรรมการโดยตำแหน่งและกรรมการโดยการแต่งตั้งมาประชุมร่วมกันเกินกึ่งหนึ่ง จึงเป็นองค์ประชุม นี้เป็นกฎหมายที่กำหนดเรื่ององค์ประชุมของมหาเถรสมาคมไว้ ก็เคยมีอยู่คราวหนึ่งสมเด็จพระสังฆราชก็เสด็จมาเป็นประธานอยู่แล้ว กรรมการโดยการแต่งตั้ง  ก็มาเกินกว่าจำนวนกึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการมหาเถรสมาคมทั้งหมดแล้ว แต่สมเด็จพระราชาคณะไม่ไปประชุมเลยแม้แต่รูปเดียว คราวนั้นต้องงดการประชุม เพราะถือว่ากรรมการมาไม่ครบองค์ประชุม สมเด็จพระสังฆราชถึงแม้จะเป็นประธานกรรมการโดยตำแหน่ง แต่กฎหมายระบุว่า กรรมการโดยตำแหน่งต้องมาประชุมร่วมกับกรรมการโดยการแต่งตั้งประธานกรรมการโดยตำแหน่ง ก็ไม่ถือว่าเป็นกรรมการโดยตำแหน่ง เพราะฉะนั้น ในครั้งนั้นต้องงดประชุม

        วรรค ๒ ว่า ระเบียบการประชุมมหาเถรสมาคม ให้เป็นไปตามกฎมหาเถรสมาคม

        อันนี้ ก็เป็นเรื่องของระเบียบวาระการประชุม ซึ่งมาตราเป็นกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ ๑ ว่าด้วยการประชุมมหาเถรสมาคม ซึ่งปัจจุบันนี้ มีการประชุมมหาเถรสมาคม ๑๐ วันต่อ ๑ ครั้ง เมื่อแรกได้ประชุม ๑๕ วันต่อครั้ง ต่อมาเห็นว่ามีเรื่องมาขึ้น ก็ประชุม ๑๐ วันต่อครั้ง คือทุกวันที่ ๑๐.๒๐และ๓๐ ของเดือน ถ้าวันที่ ๑ เดือนใด ตรงกับวันเสาร์ ก็เลื่อนเข้ามาประชุมเป็นวันศุกร์ ถ้าตรงกับวันอาทิตย์ ก็เลื่อนออกไปประชุมในวันจันทร์ วันที่ ๒๐.๓๐ ถ้าตรงกับวันเสาร์ ก็เลื่อนเข้า ถ้าตรงกับวันอาทิตย์ ก็เลื่อนออกเหมือนกันนะคัรบ แต่เดือนหนึ่งต้องประชุม ๓ ครั้ง แต่ถ้ามีกรณีรีบด่วน ก็อาจมีการประชุมเป็นครั้งพิเศษด้วย ถ้าเร่งด่วนจริงมีความจำเป็นเพิเศษจริงๆก็อาจขอมติที่ประชุมเป็นรายรูปได้ คือให้สมเด็จพระราชาคณะและกรรมการโดยการแต่งตั้งลงนามรับรองเกินกว่ากึ่งหนึ่ง ก็ถือว่าเป็นมติมหาเถรสมาคมเหมือนกัน อันนี้ ใช้เฉพาะในกรณีจำเป็นและเร่งด่วน คือรอไว้นานไม่ได้ อาจเกิดผลเสียหายขึ้นก็เวียนขอรับมติได้ โดยให้ประธานกรรมการสั่งเวียนก่อน.

        มาตรา ๑๘ มหาเถรสมาคมมีอำนาจหน้าที่ปกครองคณะสงฆ์ให้เป็นไปโดยเรียบร้อย คือมีอำนาจหน้าที่ปกครองคณะสงฆ์เป็นไปโดยเรียบร้อย คือต้องปกครองให้เป็นไปโดยเรียบร้อย ถ้าปกครองให้เป็นไปโดยวุ่นวาย มหาเถรสมาคมก็ทำการผิดหน้าที่ กรรมการมหาเถรสมาคมแต่ละรูป ก็มิได้เป็นพระสังฆาธิการ ไม่ใช่เป็นผู้ปกครองสงฆ์ตามความในกฎมหาเถรสมาคม กรรมการมหาเถรสมาคมแต่ละรูปไม่มีอำนาจในการปกครองคณะสงฆ์ แต่ว่าเมื่อรวมกันเป็นองค์คณะเป็นมหาเถรสมามคเมื่อไร ก็สามาถที่จะปกครองคณะสงฆ์ได้ แต่ก็มิได้ปกครองคณะสงฆ์แบบเจ้าคณะภาค หรือรองเจ้าคณะภาค ซึ่งได้รับมอบหมายจากเจ้าคณะภาค ให้ดำเนินกิจในการปกครองคณะสงฆ์ อันนี้ถ้าเป็นเจ้าคณะภาค เจ้าคณจังหวัด เจ้าคณะอำเภอ เจ้าคณะตำบล หรือรองเจ้าคณะชั้นนั้น ๆ ซึ่งได้รับมอบหมายก็สามารถที่จะดำเนินการปกครองได้โดยลำพัง แต่ถ้าเป็นกรรมการมหาเถรสมาคมแล้ว แต่ละรูปไม่มีอำนาจในการปกครองคณะสงฆ์ ถ้าจะปกครอง ก็ต้องทำในรูปการประชุมร่วมกันตามระเบียบวาระที่กำหนดขึ้น แต่ว่าที่ให้ปกครองนั้น ให้ปกครองโดยตรากฎมหาเถรสมาคม ออกข้อบังคับ วางระเบียบ หรือออกคำสั่ง ให้บังคับในการปกครองคณะสงฆ์มีอยู่ ๓ ประการ ที่มหาเถรสมาคมใช้เป็นเครื่องมือในการปกครอง คือปกครองโดยการตรากฎมหาเถรสมาคม วางระเบียบ ออกคำสั่ง ออกข้อบังคับ ทั้ง ๔ อย่างนี้ จะขัดหรือแย้งกับกฎหมายไม่ได้ อย่างที่พระเดชพระคุณได้ยกตัวอย่างไว้แจ้งว่า จะตรากฎมหาเถรสมาคมบังคับมิให้พระภิกษุซึ่งอยู่ภายใต้กฎหมายรับราชการทหาร ไม่ต้องไปเกณฑ์ทหารอย่างนี้ไม่ได้ และขัดแย้งกับพระธรรมวินัยก็ไม่ได้ เช่นว่า ตรากฎมหาเถรสมาคม วางระเบียบให้พระภิกษุประพฤติอย่างใดอย่างหนึ่งซึ่งเป็นการไม่ถูกต้องตามพระธรรมวินัยก็ไม่ได้ เช่น จะออกระเบียบว่า ต่อไปนี้พระภิกษุฉันอาหารในเวลาวิกาลได้ อย่างนี้ก็ออกมามิได้ ไม่มีผลบังคับใช้ เพราะเป็นเรื่องแย้งกับพระธรรมวินัย ต้องออกมาโดยชอบด้วยกฎหมายและชอบด้วยพระธรรมวินัย จึงจะใช้บังคับได้ หรือว่าจะออกมาลงโทษพระภิกษุสามเณร ตัวอย่างที่มีการกำหนดไว้ในพระธรรมวินัยให้ลงโทษเท่าใด ถ้าประพฤติผิด ก็ลงโทษได้เท่านั้น  จะลงโทษเกินกว่าที่มีอยู่ในพระธรรมวินัยก็ทำไม่ได้ ออกกฏมหาเถรสมาคมไม่ได้ เว้นไว้แต่งเรื่องที่เกี่ยวกับการปกครอง ก็ไปเรื่องของการปกครอง เรื่องของพระธรรมวินัย ก็เป็นเรื่องของพระธรรมวินัยนะครับ

        ในมาตรา ๑๙ การแต่งตั้งกรรมการมหาเถรสมาคมและการให้กรรมการมหาเถรสมาคมออกจากตำแหน่ง ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช.

        ตำแหน่งกรรมการมหาเถรสมาคมโดยการแต่งตั้ง เป็นตำแหน่งที่มีความสำคัญมาก การจะให้ดำรงตำแหน่งจะให้ออกจากตำแหน่ง ก็ต้องให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการรับทราบ คือลงนามรับสนองพระบัญชา ให้ได้รับสนองพระบัญชาเสียก่อนว่า สมเด็จพระสังฆราชได้แต่งตั้งพระภิกษุรูปนั้น หรือพระราชาคณะรูปนั้นรูปนี้ เป็นกรรมการมหาเถรสมาคม สมเด็จพระสังฆราชลงนามแล้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการลงนามรับสนองพระบัญชา เพราะตำแหน่งนี้เป็นตำแหน่งอยู่ในสถาบันสูงสุดของคณะสงฆ์ในปัจจุบันนี้ เอาละครับขอจบ