พระราชเมธี บรรยายเสริมมาตรา ๒๐-๒๑ อีก

พระราชเมธี บรรยายเสริมมาตรา ๒๐-๒๑ อีก

          หมวดนี้ครับ เป็นหมวดที่ว่าด้วยการจัดระเบียบการปกครองคณะสงฆ์ เพราะหมวดที่ ๒ ซึ่งผ่านมาแล้ว เป็นหมวดที่ว่าด้วยองค์กรปกครองคณะสงฆ์ชั้นสูงสุด มาถึงหมวดนี้เป็นหมวดให้อำนาจจัดระเบียบการปกครอง และให้จัดอย่างไร คุณมนูได้บรรยายมาตามลำดับ นับว่าให้ความแจ่งแจ้งชัดเจนพอสมควร แต่กระผมจะขอชึ้แจงเพิ่มเติมอีกเป็นบางส่วน และเพื่อให้ได้ความรู้ละเอียดขึ้น เมื่อมหาเถรสมาคมจัดระเบียบการปกครองคณะสงฆ์ ขอให้ได้เข้าใจว่า ท่านจัดเป็น ๒ คือ

          (๑)  ระเบียบการปกครองคณะสงฆ์ส่วนกลาง

          (๒)) ระเบียบการปกครองคณะสงฆ์ส่วนภูมิภาค

        ส่วนกลางนั้น เป็นส่วนที่กำหนดและควบคุมนโยบายการปกครองคณะสงฆ์ทั่วทั้งประเทศ เป็นส่วนที่รับผิดชอบต่อพื้นที่ทั่วประเทศ ในด้านนโยบายทั้งหมดและด้านธุรการส่วนสูงในส่วนกลางนี้ อำนาจหน้าที่โดยตรงเป็นของมหาเถรสมาคม เมื่อเป็นของมหาเถรสมาคมแล้ว มหาเถรสมาคมต้องมีผู้สนองงานคืองานธุรการใด ๆ ต้องมีผู้รับใช้ กล่าวคือผู้ช่วยทำงาน ซึ่งแยกเป็น ๒ คือ

        ในส่วนมอบให้พระเถระช่วย ได้แก่ส่วนมอบหมายให้เจ้าคณะใหญ่เป็นผู้สั่งการและปฏิบัติการ ซึ่งมีเจ้าคณะใหญ่ ๕ หน คือ หนกลาง หนเหนือ หนตะวันออก หนใต้ และคณะธรรมยุต และในส่วนมอบพระเถระอื่น ๆ อีก เช่น แม่กองบาลีสนามหลวง แม่กองบาลีสนามหลวง คณะอนุกรรมการอื่น ๆ ในลักษณะนี้เป็นงานที่เถระปฏิบัติช่วยมหาเถรสมาคมทั้งนั้น

        ในส่วนกรมการศาสนารับทำ นอกจากงานที่มอบพระเถระดังกล่าวแล้ว งานธุรการใด ๆ ของมหาเถรสมาคม กรมการศาสนาในฐานะสำนักเลขาธิการมหาเถรสมาคม รับสนองงานทั้งหมด งานอันใดเป็นงานประจำ เจ้าหน้าที่เขาทำไปตามลำพัง งานอันใดเป็นงานใหม่เป็นงานนโยบาย จะนำเสนอมหาเถรสมาคมเพื่ออนุมัติก่อนจึงทำ

        ส่วนภูมิภาค ในส่วนภูมิภาคนี้ มาตรา ๒๑ บอกไว้ชัด ให้จัดเขตปกครองส่วนภูมิภาคเป็นภาค จังหวัด  อำเภอ และตำบล ส่วนชั้นวัดจัดไว้ในหมวด ๕ การกำหนดเขตปกครองในส่วนนี้ บังคับให้กำหนดโดยกฎมหาเถรสมาคม จะกำหนดเป็นอย่างอื่นมิได้ และในมาตรา ๒๒ กำหนดเจ้าคณะผู้ปกครองชั้นนั้น ๆ เท่ากับจำนวนเขต มาตรา ๒๑ บอกเขตปกครองหรือชั้นการปกครอง มาตรา ๒๒ บอกผู้ปกครอง เขตการปกครองชั้นจังหวัด เจ้าคณะจังหวัดเป็นผู้ปกครอง เขตปกครองชั้นอำเภอ เจ้าคณะอำเภอเป็นผู้ปกครอง เขตปกครองตำบล เจ้าคณะตำบลเป็นผู้ปกครอง และเขตปกครองแต่ละชั้น ให้มีเจ้าคณะปกครองบังคับบัญชาเพียงรูปเดียว จะมีชั้นละ ๒ มิได้ ทั้งงานรักษาความเรียบร้อยดีงาม การศาสนศึกษา การศึกษาสงเคราะห์ การเผยแผ่พระพุทธศาสนา การสาธารณูปการ และการสาธารณะสงเคราะห์ ทุกอย่างนี้ เจ้าคณะในชั้นนั้น ๆ เป็นผู้บังคับบัญชารับผิดชอบทั้งสิ้น เขตปกครองคณะสงฆ์บางชั้นกว้างขวาง อาจมีงานดังกล่าวมาก จึงมีบทบัญญัติในมาตรา ๒๒ วรรค ๒ ว่า เมื่อมหาเถรสมาคมเห็นสมควร จะให้มีรองเจ้าคณะภาค รองเจ้าคณะจังหวัด รองเจ้าคณะอำเภอ และรองเจ้าคณะตำบล เป็นผู้ช่วยเจ้าคณะนั้น ๆ ก็ได้ บอกให้อำนาจจัดการกำหนดโดยกว้าง ๆ ได้บังคับให้กำหนดโดยกฎมหาเถรสมาคม หรือบทบัญญัติใด ๆ กำหนดเป็นอะไร สุดแต่มหาเถรสมาคม เรื่องเจ้าคณะกับรองเจ้าคณะ ยังมีประเด็นที่ขอย้ำอีกเกี่ยวกับการปฏิบัติ เพราะเท่าที่ทราบมา เฉพาะการปฏิบัติระหว่างเจ้าคณะและรองเจ้าคณะเกิดความสับสน เพราะเหตุไรจึงสับสน เพื่อความเข้าใจถูกต้อง ขอยกชั้นอำเภอเป็นตัวอย่าง คือโดยตรงนั้น อำเภอหนึ่ง ๆ ผู้มีอำนาจหน้าที่เต็มคือเจ้าคณะอำเภอ เพราะมีทั้งอำนาจหน้าที่ในการปกครองโดยสมบูรณ์ เลขานุการเจ้าคณะอำเภอมีอำนาจหน้าที่ไหม ไม่มีอำนาจแต่มีหน้าที่ คือมีหน้าที่ทำการเลขานุการ แต่อำนาจใด ๆ ไม่มีเลย แม้เจ้าคณะอำเภอจะมอบหมาย ก็มีอำนาจไม่ได้ รองเจ้าคณะอำเภอเพื่ออะไร เพื่อเป็นผู้ช่วยเจ้าคณะอำเภอ ดังความในมาตรา ๒๒ วรรค ๒ ซึ่งเรียนถวายแล้ว และในกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ ๔ ข้อ ๑๙ บัญญัติไว้ว่า รองเจ้าคณะอำเภอเป็นผู้ช่วยเจ้าคณะอำเภอ มีอำนาจหน้าที่ตามที่เจ้าคณะอำเภอมอบหมาย หมายความว่า รองเจ้าคณะอำเภอพอได้รับแต่งตั้ง มีสิทธิโดยทันที แต่ยังไม่มีอำนาจหน้าที่ สมมติว่า พระครู ก. เดิมเป็นเจ้าคณะตำบล ข. มีอำนาจหน้าที่ปกครองคณะสงฆ์ในตำบล ข.เต็มที่ ต่อมาได้รับแต่งตั้งเป็นรองเจ้าคณะอำเภอ ค.พอเป็นรองเจ้าคณะอำเภอ ไม่มีทั้งอำนาจทั้งหน้าที่ จะมีขึ้นได้เมื่อใด เมื่อเจ้าคณะอำเภอ ค.มอบหมายเพราะอำนาจและหน้าที่ปกครองอำเภอนั้น เป็นของเจ้าคณะอำเภอ ถ้าเจ้าคณะอำเภอไม่มอบหมายแล้ว ไม่มีอำนาจหน้าที่ เว้นแต่อำนาจหน้าที่ใด ๆ ที่มีบทบัญญัติอื่นกำหนดไว้ เช่นอำนาจหน้าที่เป็นผู้พิจารณาตามกฎ ๑๑ อันนั้น ไม่ต้องมอบหมาย ถึงจะมอบหมายก็ไม่ได้ เพราะว่าเป็นอำนาจหน้าที่ซึ่งมีขึ้นเองและมีเฉพาะตำแหน่ง ส่วนอำนาจหน้าที่ทั่วไปอื่น ถ้าไม่มอบหมายมีขึ้นไม่ได้ เปรียบเหมือนกับอธิบดีกรมการศาสนากับรองอธิบดีกรมการศาสนา อธิบดีนั้น มีอำนาจหน้าที่เต็มครบ รองอธิบดีโดยปกติ ต้องรับมอบหมาย จึงมีอำนาจหน้าที่ เว้นแต่อำนาจหน้าที่ใดที่มีกฎหมายบัญญัติไว้ จะมีโอกาศควบคุมงาน ก็เมื่อได้รับมอบหมายแล้ว เรื่องเจ้าคณะและรองเจ้าคณะนี้ ขอให้เข้าใจนะครับ กระผมเคยได้ทราบมา ในที่บางแห่งเจ้าคณะอำเภอมิได้มอบหมายหน้าที่ใดเลย แต่รองเจ้าคณะอำเภอก็ใช้ได้ ความจริง เมื่อมีรองเจ้าคณะอำเภอแล้ว จะต้องมอบหมายอำนาจหน้าที่ เพราะถ้าไม่มอบหมาย รองเจ้าคณะอำเภอทำงานไม่ได้ ถ้าทำงานโดยพลการ ไม่มีผลบังคับตามกฎหมาย เป็นแบบนี้ทุกชั้นครับ อย่างกระผมเป็นรองเจ้าคณะภาค ถ้าท่านเจ้าคณะภาคไม่มอบหมาย กระผมก็นั่งหาวนอน มิใช่แต่รองเจ้าคณะอำเภอครับ รองจ้าคณะทุกชั้น จะได้ทำงานหรือไม่ก็ตาม ย่อมมีสิทธิโดยสมบูรณ์ สิทธิอะไร สิทธิในการรับนิตยภัต สิทธิในการดำรงตำแหน่ง ใครจะมอบหมายงานหรือไม่ ฉันต้องมีสิทธิได้รับนิตยภัต เว้นแต่รองเจ้าคณะตำบล ตัวอย่าง พระครูสัญญาบัตรเจ้าคณะตำบลชั้นตรีรับนิตยภัตเดือนละ ๖๐ บาท ถือพัดยศชั้นตรี พัดแดงล้วน พอได้รับแต่งตั้งเป็นรองเจ้าคณะอำเภอ ย่อมมีสิทธิ (๑) รับนิตยภัตเพิ่มขึ้นอีก ๒๐ บาท เป็นเดือนละ ๘๐ บาท (๒) ขอรับพัดยศพระครูสัญญาบัตรรองเจ้าคณะอำเภอชั้นโทได้โดยไม่ต้องขอเลื่อนชั้น

          เฉพาะอำนาจหน้าที่ ต้องรอให้เจ้าคณะอำเภอมอบหมายเป็นตำแหน่งฐานรองรับอำนาจหน้าที่ เพราะเป็นผู้ช่วย จะสั่งงานใด ๆ โดยพลการมิได้ ถ้าขืนกระทำ อาจเป็นผลเสีย ทำเองว่า “ทำคุณบูชาโทษ” และขอให้ท่านเจ้าคณะทั้งหลาย ได้ทราบถึงเจตนารมณ์ของมหาเถรสมาคม ที่ท่านกำหนดให้มีรองเจ้าคณะชั้นต่าง ๆ ซึ่งให้มีไว้เพื่อประโยชน์ ๒ ประการ คือ

          (๑) เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระเจ้าคณะชั้นนั้น ๆ

          (๒) เพื่อให้มาฝึกงานในตำแหน่งนี้ เพื่อเตรียมตัวที่จะเป็นเจ้าคณะในกาลต่อไป

          นี้นโยบายของมหาเถรสมาคม ครับ เช่น เจ้าคณะชั้นใดชั้นหนึ่งชราภาพมากแต่มีบารมีสูง จะยกเป็นกิตติมศักดิ์ก็ขัดข้อง ต้องให้มีรองเจ้าคณะมาช่วยสนองงาน หรือเขตปกครองบางชั้นมีปริมาณงานมาก มีแต่เพียงเจ้าคณะรูปเดียว งานเกินกำลัง ต้องให้มีรองเจ้าคณะมาช่วยงาน ใน ๒ อย่างนี้ มีรองเจ้าคณะเพื่อแบ่งเบาภาระ และการมีรองเจ้าคณะนั้น เป็นการเลื่อนพระสังฆาธิการในระดับต่ำขึ้นฝึกงานในระดับสูง เพื่อเตรียมไว้รับตำแหน่เจ้าคณะ นี้เป็นความประสงค์หลัก มิใช่ให้มีเจ้าคณะเพราะต้องการให้มีตำแหน่งสูงขึ้น ต้องการให้มีนิตยภัตมากขึ้น หรือเพราะต้องการให้มีสิทธิใช้พัดยศชั้นสูงขึ้นหรือเพื่อประดับเกียรติของเจ้าคณะ มิใช่อย่างนั้น ที่ให้มีรองเจ้าคณะนั้น เพื่อให้มาช่วยเจ้าคณะสนองงานคณะสงฆ์และงานพระพุทธศาสนา เป็นการช่วยสร้างสรรค์ความวิวัฒนาสถาพรให้แก่ประเทศชาติและพระพุทธศาสนา แต่มหาเถรสมาคมจะกำหนดอำนาจหน้าที่ให้เลยก็มิได้ เพราะเป็นผู้ช่วยเจ้าคณะ จึงบัญญัติให้มีเพราะการมอบหมายของเจ้าคณะ ดังนั้น ขอเจ้าคณะชั้นต่าง ๆ อย่างได้หวงอำนาจหน้าที่ พอมีรองเจ้าคณะมาแล้ว ขอได้พิจารณาแบ่งงานมอบหมายให้ช่วยปฏิบัติ เพื่อจะได้ลดภาระลงและเพื่อให้รองได้มีโอกาสปฏิบัติงาน แต่มิใช่ว่างานปกติไม่มอบหมาย พอมีงานยุ่งยาก มีปัญหามากแล้วมอบหมายให้ ต้องมอบจากง่ายไปหายากและมอบแล้ว ต้องรอให้การแนะนำหรือสอดส่องดูแลด้วยในระยะแรก ๆ เมื่อเห็นว่าชำนาญจึงค่อยเพิ่มงานมากขึ้น ปัจจุบันนี้ เจ้าคณะชั้นต่าง ๆ ปฏิบัติงานตามอำนาจหน้าที่ได้ ๓๐ % ขึ้นไปมีน้อย บางคราวใช้อำนาจหน้าที่ในทางมิชอบก็มี ขอยกตัวอย่างหนังสือสุทธิสำหรับพระภิกษุสามเณร เป็นเอกสารแสดงความบริสุทธิแห่งสมณเพศ ตราประจำตำแหน่งเจ้าคณะมีไว้ทำไม มีไว้เพื่อประทับรับรองหนังสือสุทธินี้อย่างหนึ่งด้วย การรับรองหนังสือสุทธิเป็นราชการคณะสงฆ์ เจ้าคณะบางรูป ไม่ค่อยยอมประทับให้ง่าย ๆ ถ้าประทับให้ ต้องเรียกค่าหมึกเล่มละ ๒-๓ บาท ลักษณะนี้ เป็นการใช้อำนาจหน้าที่ในทางทุจริต เป็นการทำลายระบบการปกครองคณะสงฆ์ ถ้าไม่ยอมให้ค่าหมึก บอกว่ายุ่งไปไม่ยอมทำให้ หรือมัวแต่ไปกิจนิมนต์ งานในตำแหน่งหน้าที่ปล่อยทิ้ง บอกแต่ยุ่งและไม่ยอมทำในลักษณะนี้ ย่อมละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น ถ้าทางราชการแล้ว เขาเล่นงานฐานละเมิดกฎหมายอาญามาตรา ๑๕๗ ดีไม่ดีติดตะราง ครับ ถ้างานมันหนักมากมีรองเจ้าคณะมาช่วย ก็ไม่ไว้ใจ ไม่ยอมมอบหมายใด ๆ บ่นแต่ว่าเขาไม่ช่วย อย่างนี้ไม่เหมาะนะครับ เจ้าคณะที่ฉลาดจะต้องแบ่งงานและมอบให้รองเจ้าคณะช่วยปฏิบัติ อันนี้ ท่านเอาไปสั่งการ อันนั้น ท่านเอาไปสั่งการ  ถ้าเช่นนี้ รองเจ้าคณะก็จะได้มีงาน ทั้งจะเพิ่มความเคารพในเจ้าคณะมากขึ้น ต้องจำไว้ว่าแต่งตั้งรองเจ้าคณะไว้เพื่อช่วยงาน มิใช่เพื่อประดับเกียรติ์ แบบดอกไม้กระถาง นะครับ ขอฝากท่านเจ้าคณะและรองเจ้าคณะทั้งหลายเพื่อรับทราบ นโยบายคณะสงฆ์เป็นอย่างนี้ครับ

          ต่อไปมาตรา ๒๓ ขอย้ำว่า การแต่งตั้งถอดถอนตำแหน่งต่าง ๆ ในทางคณะสงฆ์ เป็นเรื่องสำคัญ เป็นใจเป็นใจตายของการคณะสงฆ์ ในกฎหมายบังคับให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎมหาเถรสมาคม คือให้ตรากฎมหาเถรสมาคมกำหนดไว้ จะกำหนดเป็นข้อบังคับหรือระเบียบหรือบทบัญญัติอื่นใดมิได้ ตำแหน่งที่ต้องแต่งตั้งตามมาตรานี้ คือพระอุปัชฌาย์ พระสังฆาธิการระดับวัด พระสังฆาธิการชั้นเจ้าคณะและไวยาวัจกร ซึ่งตรากฎมหาเถรสมาคมกำหนดไว้ ๓ ฉบับ คือ

          (๑)  ฉบับที่ ๕ บัญญัติรายละเอียดในการแต่งตั้งถอดถอนและอื่น ๆ เกี่ยวกับพระสังฆาธิการทุกระดับ และเปิดโอกาสให้ออกระเบียบมหาเถรสมาคม กำหนดตำแหน่งที่เรียกชื่ออย่างอื่น

          (๒)  ฉบับที่ ๗ บัญญัติรายละเอียดในการแต่งตั้งถอดถอนและอื่น ๆ เกี่ยวกับพระอุปัชฌาย์พร้อมกับให้ตราระเบียบมหาเถรสมาคมให้รายละเอียดเพิ่มเติมได้อีก

          (๓)  ฉบับที่ ๘ บัญญัติการแต่งตั้งถอดถอนและรายละเอียดต่าง ๆ เกี่ยวกับไวยาวัจกร

          ดังนั้น การแต่งตั้งและถอดถอนตำแหน่งต่าง ๆ ต้องชอบด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎมหาเถรสมาคมที่ว่าด้วยการนั้น ๆ จึงจะมีผลบังคับตามกฎหมาย ถ้าขัดกับที่กำหนดไว้ย่อมไม่ชอบด้วยกฎหมายและเป็นโมฆะ เช่น การแต่งตั้งเจ้าอาวาสวัดราษฎร์ ถ้าเจ้าคณะอำเภอสั่งให้เจ้าคณะตำบลทำรายงานเสนอขอ เจ้าคณะตำบลปฏิบัติตาม และอำเภอก็เสนอต่อไป เจ้าคณะจังหวัดก็แต่งตั้งตามนั้น ถ้าในลักษณะนี้ การแต่งตั้งขัดต่อบทบัญญัติข้อ ๒๓ แห่งกฎมหาเถรสมาคมฉบับที่ ๕ เป็นการแต่งตั้งอันบกพร่อง จัดเป็นโมฆะไม่มีผลบังคับตามกฎหมาย การต้องตั้งที่ชอบ จะต้องเป็นไปตามแบแผน คือกำหนดไว้อย่างใดต้องปฏิบัติอย่างนั้น ขอให้ท่านเจ้าคณะพระสังฆาธิการทั้งหลายตั้งใจปฏิบัติให้ถูกต้อง อย่าคิดว่าเป็นเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ เป็นรื่องทำเล่น ๆ ความจริงก็เรื่องสมมติคือเรื่องเล่น ๆ นั้น แหละแต่มันเล่นจริง ๆ ครับ เดี๋ยวนี้ เราเล่นละครโรงใหญ่ที่เต็มไปด้วยระเบียบแบแผน มีกติการอันดีงาม ต้องเล่นกันอย่างมีระเบียบ ต้องรักษากติกาอย่างเคร่งครัด

          เรื่องการจัดระเบียบการปกครองคณะสงฆ์ ขอจบนะครับ ต่อไปเรื่องนิคกรรมและการสละสมณะเพศ ขอเชิญคุณมนู บรรยายต่อไป

Views: 3