นายมนู ช่างสุพรรณ บรรยายมาตรา ๒๔-๒๙

นายมนู ช่างสุพรรณ บรรยายมาตรา ๒๔-๒๙

          ในหมวดที่ ๔ ว่าด้วยการลงนิคหกรรมและการสละสมณเพศ ในหมวดเดียวกันนี้ แยกออกเป็น ๒ กรณี กรณีแรกคือ นิคหกรรมอันได้แก่การลงโทษพระภิษุผู้ประพฤติผิดพระธรรมวินัย เป็นการลงโทษทางพระวินัยนะครับ ส่วนการสละสมณเพศนั้น เป็นเรื่องกฎหมาย ก็กำหนดให้พระภิกษุผู้ละเมิดกฎหมายฝ่ายบ้านเมือง หรือต้องหาว่ากระทำความผิด จะต้องสละสมณเพศตามหลักเกณฑ์และวิธีที่กำหนดไว้ในกฎหมาย อันนี้เป็นตัวบทกฎหมายนะครับ

          เรื่องเกี่ยวกับนิคหกรรมนี้ กระผมขอกล่าวเบื้องต้นเสียเลยว่า พอตรากฎมหาเถรสามคมฉบับที่ ๑๑ ออก หลวงพ่อทุกรูปเป็นเจ้าคณะหรือไม่ก็เป็นเจ้าอาวาสทุกรูป ก็เป็นผู้พิจารณาหรือผู้ร่วมคณะผู้พิจารณาตามความในกฎมหาเถรสมาคมฉบับที่ ๑๑ ถ้าเป็นเจ้าคณะอำเภอ ก็เป็นหัวหน้าคณะผู้พิจารณาชั้นต้น ในตำแหน่งนี้แหละครับ หลวงพ่อมอบกันไม่ได้ เพราะกฎหมายเขาบังคับให้เป็น เจ้าคณะตำบลจะมอบให้รองเจ้าคณะตำบลทำหน้าที่แทนไม่ได้ เว้นแต่จะเลี่ยงออกไปว่าไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ชั่วคราว เพื่อให้มีการแต่งตั้งผู้รักษาการแทนให้ถูกต้องอันนั้น ก็ผู้รักษาการแทนก็ปฏิบัติหน้าที่ได้ เพราะผู้รักษาการแทนมีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับเจ้าคณะทุกอย่าง ขออย่าให้เป็นดังรองเจ้าคณะภาค ๑๐ ท่านว่า งานบางอย่างไม่อยากมอบให้พอถึงเรื่องยาก ๆ ขึ้นมาแล้ว จะเอาเรื่องยาก ๆ มามอบให้ มันก็กระไรอยู่นะครับ อันส่วนดีแล้วไม่ยอมมอบให้ ส่วนที่มันแย่ ๆ แล้วจะมอบให้รองเจ้าคณะช่วยทำ มันก็ไม่ถูกต้องนัก อันหลักเกณฑ์และวิธีการในกฎมหาเถรสมาคมฉบับที่ ๑๑ ว่า ด้วยการลงนิคหกรรมนี้ กระผมเห็นใจท่านเจ้าคณะพระสังฆาธิการอยู่มากว่า เกือบจะร้อยละ ๘๐ ไม่ค่อยรู้เรื่อง พูดอย่างง่าย ๆ ไม่รู้เรื่อง ที่พูดเช่นนี้ ไม่อะไรหรอกครับ ได้แก่ตัวผมเองนะครับ กระผมนี้ครับ เรียนจบปริญญาตรี ทางกฎหมายฝ่ายบ้านเมืองเขา แล้วก็ทำงานคลุกคลีอยู่กับกฎฉบับนี้แหละครับ พลิกกันไปพลิกกันมา อ่านตั้งหลายสิบเที่ยว ท่านเจ้าคณะภาค ๘ ซึ่งเป็นเจ้าคณะกรุงเทพมหานครอยู่ด้วย เอาพวกผมไปช่วยเข็นเพื่อจะให้รู้เรื่องกฎนี้ให้ดี เพราะมีหน้าที่เกี่ยวกับกฎนี้โดยเฉพาะ ท่านเอาไปเข็นอยู่ ๗ วัน ไปครั้งหนึ่งอยู่ตั้งสิบกว่าเที่ยว แต่ก็ยังไม่รู้เรื่องครับ ต่อมามีคำสั่งให้เข้าอบรมพร้อมกับเจ้าคณะภาค รองเจ้าคณะภาค เจ้าคณะจังหวัด รองเจ้าคณะจังหวัด เลขานุการเจ้าคณะภาค และเลขานุการรองเจ้าคณะภาคเข้าอบรมกันเป็นแถวครับ  ผมก็ได้เข้าอบรมด้วยอีก ๗ วัน แต่ก็ไม่รู้เรื่อง จึงมานั่งนึกอยู่ว่า เราก็อ่านสิบเที่ยวนั้น ความรู้ก็ไม่ค่อยอ่อนนัก ก็พอเป็นนิติศาสตร์กับเขา ก็พอเป็นได้ในเรื่องกฎหมาย แต่พอมาอ่านกฎ ๑๑ เข้าแล้ว ต้องงง ๆ ทำอะไรไม่ค่อยถูกต้อง เพราะไม่เคยชิน แต่พวกหลวงพ่อทั้งหลาย มหาเถรสมาคมกำหนดให้อบรมพิเศษ ๗ วัน กระผมอย่างจะรู้ว่า หลวงพ่อจะรู้กันสักเท่าไร ผมเข้าใจว่าน้อยเต็มทีที่จะเข้าใจได้ดี นอกจากจะศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมเอาหลังจากอบรมแล้วพยายามใฝ่หาเอา นั้นแหละถึงจะทำได้ ถ้าไม่เช่นนี้ ก็จะทำไม่ได้ ถ้าทำไม่ได้ จะทำอย่างไร ถ้ามีกรณีเกิดขึ้น ซึ่งกรณีเช่นนี้ จะไม่เกิดขึ้นบ่อยนัก เรื่องเกี่ยวกับที่จะลงนิคหกรรมตามมาตรานี้ แต่จะไว้ใจได้หรือว่า จะไม่มีเรื่องเช่นนี้เกิดขึ้น ตลอดเวลาที่ดำรงตำแหน่งอยู่ ไม่แน่ครับ บางครั้งมันก็เกิดขึ้นมาได้ ถ้ามันเกิด ถ้าไม่รู้ไม่เข้าใจ ขออย่าเพิ่งทำลงไปทั้งที่ไม่รู้ เพราะถ้าทำผิดลงไปแล้ว เขาส่งเรื่องขึ้นมา ในด้านการปกครอง ก็ต้องหาว่าในฐานะเป็นผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาส ในขณะรักษาการแทนเจ้าอาวาสนั้น ก็เอาของวัดไปขาย เป็นการผิดหน้าที่ พร้อมกันนั้น การเอาของสงฆ์ไปขาย เขาถือว่าเป็นการยักยอกของสงฆ์ เขาฟ้องเอามาว่าเป็นอาบัติปาราชิก เขาฟ้องมาสองกระทงพอดี เกิดวินิจฉัยมาอันเดียวกับเสียด้วย ทั้งเรื่องปกครองกับเรื่องนิคหกรรม อันนี้ หมายถึงต้องห้าม ให้แบ่งแยกพิจารณา ออกไปว่าส่วนใด จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับพระวินัยคืออำนาจการลงนิคหกรรมตามพระธรรมวินัย ส่วนเรื่องของการปกครอง ก็ต้องว่ากันไปตามกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ ๕ ว่าได้กระทำความผิดอย่างไร นี้ทั้งสองกระทงนี้ มีวิธีดำเนินการต่างกันครับ เป็นการพิจารณาตามกฎ ๑๑ นี้ ผู้พิจารณาเป็นไปเองโดยอัตโนมัติ ไม่ต้องแต่งตั้ง หัวหน้าผู้พิจารณาชั้นต้น ก็ได้แก่เจ้าคณะอำเภอและผู้ร่วมคณะได้แก่รองเจ้าคณะอำเภอและเจ้าคณะตำบลในกรณีนี้ ผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิด เป็นผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาส ก็เหมือนกับตัวเจ้าอาวาส ดังนั้น ผู้พิจารณาเบื้องต้น ก็ได้แก่เจ้าคณะตำบล คณะผู้พิจารณาชั้นต้นก็ได้แก่เจ้าคณะอำเภอ รองเจ้าคณะอำเภอและเจ้าคณะตำบล เมื่อพิจารณาแล้วคณะผู้พิจารณาตัดสินบังคับลงมาเลย ตัดสินมาก็คงเพราะเข้าใจผิดหรือย่างไร ได้ตัดสินว่า ให้ผู้ถูกกล่าวหารับนิคหกรรมให้สึกเสีย ถ้าไม่สึกให้ออกจากวัดภายใน ๗ วัน คำตัดสินอย่างนี้ ใช้ไม่ได้ ชั้นแรกว่า ให้สึก ถ้าบังคับให้สึกไม่ได้ ก็ให้ออกจากวัดภายใน ๗ วัน คำตัดสินสองกรณีไม่มีหรอกครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่คำตัดสินลงโดยเป็น ๒ ทาง คำตัดสินฝ่ายบ้านเมืองเขาไม่มีครับ ถ้าจะประหารชีวิต ก็ประหารไปเลย ถ้าไม่ประหาร จะลงโทษอย่างใด มีคำตัดสินอย่างเดียว คำตัดสินต้องมีความผิดตามมาตรานี้ ให้ลงโทษประหารชีวิต แต่จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา จึงให้ลดทาลงมาตลอดชีวิต ลดลงไปอีกเป็นเหลือให้จำคุกตลอดชีวิตเพียงกรณีเดียว แต่นี้หลวงพ่อท่านเล่นตัดสินเอา ๒ กรณี คือให้สึกเสีย สึกก็คือให้ประหารชีวิตในทางสมณเพศ ถ้าไม่สึกให้ออกจาวัดถ้าออกจากวัด แล้วจะไปอยู่ที่ไหนเล่าครับ ตัดสิน ๒ กรณีเช่นนี้ใช้ไม่ได้ ปรากฎว่า เมื่อตัดสินให้สึกแล้ว เขาไม่ปฏิบัติตามเขาจะอุทธรณ์ เกิดไม่ยอมให้คัดสำเนาคำวินัจฉัยนี้ ถ้าผู้ถูกต้องคำวินิจฉัยเขาขอเอกสารลับ ต้องให้เขาคัดสำเนา ซึ่งเขาขอคัดเพื่อนำไปยื่นคำอุทธรณ์เพราะเขามีสิทธิอุทธรณ์ภายใน ๓๐ วัน ถ้าเขาขอคัดสำเนา จะปฏิเสธมิได้ครับ แต่นี้ท่านไม่ให้เขาคัดสำเนา ผู้ต้องคำวินิจฉัยก็ไม่ยอมสึกและไม่ยอมออกจากวัด ท่านยังอยู่อย่างนี้ เสร็จแล้ว ท่านก็ส่งเรื่องให้กรมการศาสนา ให้กรมไปช่วยบังคับให้สึกอีก หรือไม่ก็ให้บังคับให้ออกไปจากวัด เรื่องก็ไปถึงผม กระผมต้องไปสอบถามว่า ทำไมอำเภอจึงทำอย่างนี้ จังหวัดบอกผมว่า อ้าว เมื่อเขาไม่ทำตาม ขอให้เจ้าคณะจังหวัดบังคับ เจ้าคณะจังหวัดก็บอกว่า จังหวัดไม่มีหน้าที่และการพิจารณาตัดสิน และกรณีนี้ก็ไม่ถูกต้องตามขั้นตอน จะขอให้ตำรวจมาช่วยบังคับ เขาก็ไม่ช่วย เขาช่วยไม่ได้ เขาอ่านดูแล้วมันไม่ถูกขั้นตอน เมื่อไม่ถูกขั้นตอนตามที่กำหนดไว้ในกฎมหาเถรสมาคมแล้ว อำนาจไม่เกิด เมื่ออำนาจไม่เกิด ตำรวจเขาก็ไม่บังคับให้นะครับ ตัวเองก็ไม่รู้จะทำอย่างไร จึงส่งเรื่องให้กรมการศาสนา ผมก็ออกไปถามเจ้าคณะจังหวัด อย่างนี้อย่างนี้ ทำไม่ถูกนะ จังหวัดบอกว่า เขาส่งเรื่องมาจังหวัดเหมือนกัน จังหวัดไม่ทำให้แนะนำให้ไปพิจารณาใหม่ เขาก็ไม่ยอม เขายังขืนอยู่อย่างนั้น ผมย้อนว่า เอ๊ะ หลวงพ่อ ถ้าจะปล่อยไว้อย่างนี้ไม่ได้ครับ เพราะมันเรื่องอธิกรณ์เป็นความเสียหายทางคณะสงฆ์ จังหวัดยืนยันว่า ถ้าจะให้จังหวัดดำเนินการ ก็มีอยู่ประการเดียว คือถอดเจ้าคณะอำเภอออกจากหน้าที่เสีย ฐานปฏิบัติการไม่ถูกต้องตามกฎมหาเถรสมาคม ผมก็เลยกลับ ถ้าขืนอยู่นานไม่ดี เพราะท่านเจ้าคณะจังหวัดท่านแข็งอยู่ เดี๋ยวท่านถอดเอาเสียจริง ๆ แล้ว ก็ช่วยไม่ได้ ท่านเจ้าคณะจังหวัดรูปนี้แน่ครับ ขนาดพระอุปัชฌาย์ไปบวชพระเรียบร้อยแล้ว ไปเข้าคณะสัจจโลกุตตระ ท่านเรียกพระอุปัชฌาย์มาเลย และบอกว่า ท่านต้องเอาสัทธิวิหาริกคืนมาให้ได้ภายใน ๓ เดือน ถ้าไม่ได้ ผมจะสั่งพักท่าน ๓ เดือน ระยะที่พัก ๓ เดือนนั้น ผมจะให้โอกาสท่านไปเกลี้ยกล่อมมา ถ้าครบ ๓ เดือนแล้ว เอากลับไม่ได้ ผมเสนอถอดพระอุปัชฌาย์แน่ครับ ปรากฎว่า ๗ วันเท่านั้น พระอุปัชฌาย์เอาสึกเรียบร้อย พอท่านเจ้าคณะจังหวัดท่านกวดขัน พระอุปัชฌาย์ก็ทำได้เรียบร้อย อันนี้ก็เหมือนกัน เพราะฉะนั้น เกี่ยวกับเรื่องนิคหกรรมนี้ ถ้าทำไม่ถูกหรือแน่ใจว่าจะทำไม่ได้ เมื่อมีกรณีขึ้นมา ขอได้กรุณาเสนนอะปัญหาด่วนไปที่กรมการศาสนา มันก็ไม่ช้าหรอกครับ ส่งเรื่องไปที่กรมนั้น กรมจะให้เจ้าที่รับเป็นที่ปรึกษาได้ เจ้าหน้าที่จะมาให้คำแนะนำว่าจะทำอย่างไร อันนี้ เป็นการให้อำนาจตามกฎ ๑๑ ถ้าอำเภอไปแต่งตั้งใครขึ้น ย่อมเป็นการบกพร่อง คือคณะผู้พิจารณานั้นไม่ต้องแต่งตั้งนะครับ อันนี้ เป็นเรื่องของการลงนิคหกรรม อันนี้ ถ้าไม่เข้าใจ ขอให้ส่งไปที่กรม แล้วพวกผมจะออกมาให้คำปรึกษาเองครับ ขอให้ทำให้ถูกเสียแต่เรก อย่าให้ไปแก้ปลายเลยนะครับ ถ้าไปแก้ปลายแล้วมันยุ่งครับ มันเหมือนกับลิงเล่นแหครับ พอมันหล่นน้ำตูม แล้วใครจะช่วยมันครับดีไม่ดี ก็เป็นการปฏิบัติหน้าที่มิชอบ ต้องมีความผิด ทีนี้จะว่าในหมวด ๔ เรียงมาตราครับ

        มาตรา ๒๔ พระภิกษุจะต้องรับนิคหกรรรมก็ต่อเมื่อกระทำการล่วงละเมิดพระธรรมวินัย และนิคหกรรมที่จะลงแก่พระภิกษุ ก็ต้องเป็นนิคหกรรมตามพระธรรมวินัย

          อันนี้ เป็นบทบังคับเลย ถ้าพิจารณาย้อนกลับได้ความว่า พระภิกษุจะต้องปฏิบัติตนให้อยู่ในกรอบของพระวินัย ถ้าปฏิบัติผิดพระธรรมวินัย ก็จะต้องได้รับนิคหกรรมคือได้รับโทษตามที่กำหนดไว้ในพระธรรมวินัย และโทษต่าง ๆ ที่จะเอาลงแก่พระภิกษุ ก็ต้องเป็นโทษที่อยู่ในพระธรรมวินัยทั้งนั้น จะเอาโทษนอกพระธรรมวินัยมาลงแก่พระภิกษุมิได้ เพราะบางอย่างจะไปเฆี่ยนไปตีไม่ได้ หรือบางทีทำผิดพระวินัย ต้องอาบัติปาจิตตีย์ จะลงโทษให้ไปอยู่กรรมเสียก่อนจึงทำคืนอาบัติ ซึ่งเป็นกรณีต้องปฏิบัติสำหรับผู้ต้องอาบัติสังฆาทิเสส ซึ่งเป็นอาบัติหนักกว่า อันนั้นก็ไม่ได้ ต้องเป็นไปตามพระธรรมวินัย หรือว่าถ้าพิจารณาได้ความถ่องแท้ว่า เป็นอาบัติปาราชิก ต้องอันติมวัตถุจริง ก็จะมาลดหย่อนผ่อนโทษแบบกฎหมายฝ่ายบ้านเมือง ดังที่กระผมว่าเมื่อกี้ก็ไม่ได้ ถ้าเป็นปาราชิกจริง ก็ต้องให้สึกเสีย อันนี้ เป็นที่ลดหย่อนไม่ได้ พระธรรมวินัยไม่ได้กำหนด บทลดหย่อนโทษที่จะลงแก่พระภิกษุ ไม่ใช่ต้องอาบัติปาราชิกแล้ว เออ แกไปอยู่กรรมเสีย แล้วจึงกลับมาอยู่กับสงฆ์ต่อไป อย่างนี้ ใช้ไม่ได้ครับ เพราะผู้ต้องอาบัติปาราชิก ขาดความเป็นพระไปแล้ว เมื่อต้องการกระทำถึงที่สุด เป็นอาบัติปาราชิก เป็นอันว่าไม่สามารถจะทำคืนได้เลย

          บัดนี้ ได้เวลาบรรยาต่อแล้ว กระผมจะถวายความรู้ในมาตรา ๒๕ ต่อไปนะครับ

        มาตรา ๒๕ ภายใต้บังคับแห่งมาตรา ๒๔ มหาเถรสมาคมมีอำนาจตรากฎมหาเถรสมาคม กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการปฏิบัติ เพื่อให้การลงนิคหกรรมเป็นไปโดยถูกต้อง สะดวก รวดเร็ว และเป็นธรรม และให้ถือว่าเป็นการชอบด้วยกฎหมายที่มหาเถรสมาคมจะกำหนดในกฎมหาเถรสมาคม ให้มหาเถรสมาคมหรือภิกษุผู้ปกครองสงฆ์ตำแหน่งใดเป็นผู้มีอำนาจลงนิคหกรรมแก่พระภิกษุ ผู้ล่วงละเมิดพระธรรมวินัย รับทั้งการกำหนดให้การวินัจฉัยการลงนิคหกรรมให้เป็นอันยุติในชั้นใด ๆ นั้นด้วย

          มาตรานี้ยาวหน่อยนะครับ จะต้องแยกพิจารณาเป็นหลายกรณี โดยเฉพาะในท่อนแรกของมาตรา ๒๕ ที่ว่า ภายใต้บังคับแห่งมาตรา ๒๔ ก็หมายความว่า การที่จะลงนิคหกรรมต้องพิจารณาความในมาตรา ๒๔ ด้วย อยู่ใต้บังคับของมาตรา ๒๔ แต่มาตรา ๒๕  นี้ กำหนดใหมหาเถถรสมาคมตราเป็นกฎมหาเถรสมาคมว่าด้วยการลงนิคหกรรม และการลงนิคหกรรมนั้น ก็ต้องเป็นนิคหกรรมที่ลงแก่พระภิกษุผู้ละเมิดพระธรรมวินัยและเป็นนิคหกรรมที่จะใช้ลงแก่พระภิกษุ ก็ต้องเป็นนิคหกรรมตามพระธรรมวินัยด้วย เพราะฉะนั้น จึงได้บอกไว้ว่า ภายใต้บังคับแห่งมาตรา ๒๔ ถึงในมาตรา ๒๕ นี้ ให้อำนาจในการตรากฎมหาเถรสมาคม ว่าจะให้มีหลักเกณฑ์และวิธีการปฏิบัติอย่างไร คือจะให้มีการพิจารณาวินิจฉัยลงนิคหกรรมดำเนินการอย่างไร มีขั้นตอนอย่างไร มีหลักเกณฑ์อย่างไร มีใครเป็นองคณะผู้พิจารณา ใครเป็นผู้พิจารณาในเบื้องต้น ใครบ้างที่มีคุณสมบัติเป็นโจทก์ หรือเป็นผู้กล่าวหาเป็นผู้แจ้งความผิด อันนั้น รายละเอียดก็จะต้องศึกษาในกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่๑๑ ซึ่งจะเอามากล่าวกันทั้งกฎ ก็ต้องใช้เวลาสัก ๗ วัน ก็เอากันแต่เพียง ย่อ ๆ ว่า หลักเกณฑ์และวิธีการปฏิบัติ ในกฎมหาเถรสมาคม ก็ได้กำหนดวิธีการปฏิบัติเบื้องต้น ตลอดการวินิจฉัยกำหนดขั้นตอนไว้อย่างไร และกฎหมายได้กำหนดไว้ด้วยว่า การจะดำเนินการพิจารณาวินิจฉัยการลงนิคหกรรมนั้น จะต้องเป็นไปโดยถูกต้องสะดวก รวดเร็ว และเป็นธรรม มี ๔ ประการด้วยกัน ที่ว่าถูกต้องนั้น ก็ต้องให้ได้ความแน่ชัดว่า พระภิกษุผู้ถูกกล่าวหานั้นได้กระทำความผิดจริงหรือไม่ พิจารณาให้ดีก่อนในเบื้องต้น มิใช่เป็นการกลั่นแกล้งกัน โดยวิธีการที่ละเอียด ก็คือจะต้องมีวิธีการอย่างไร บางทีก็ให้อำนาจไว้แก่ผู้พิจารณาเบื้องต้น ให้อำนาจในการลงนิคคหกรรมได้เลย เพื่อให้สะดวกในการพิจารณาป้องกันให้เรื่องลุกลามใหญ่โตไป ก็มีการกำหนดไว้ว่าจะให้พิจารณาเสร็จในเวลาเท่าไร เมื่อพิจารณาวินิจฉัยเสร็จเรียบร้อยแล้ว จะต้องอุทธรณ์หรือฎีกา ก็มีกำหนดระยะเวลาอยู่ในกฎมหาเถรสมาคม มิใช่ว่ารับเรื่องแล้ว ไม่เอื้อเฟื้อ พร้อมกันนั้นก็ต้องให้ความเป็นธรรมแก่โจทก์และจำเลย ก็จะต้องพิจารณาดูให้ถ่องแท้ว่า ที่เขากล่าวหานั้น เป็นความจริงไหม ถ้าคำกล่าวหาเป็นความจริง ก็ต้องหาทางให้สิ้นสุดเสียโดยเร็ว เพราะเรื่องเกี่ยวกับอธิกรณ์นี้ มันเป็นเรื่องขยายออกไป จากจุดหนึ่งก็ไปอีกจุดหนึ่ง แล้วพอข่าวขยายออกไปแล้ว มันเป็นผลเสียหายแก่คณะสงฆ์และส่วนรวม สมมติว่า พระภิกษุวัดใดวัดหนึ่งในจังหวัดนี้กระทำความผิด ทีแรกเขาอาจบอกว่า พระวัดนั้น พอออกนอกเขตวัดไป เขาก็บอกว่าพระตำบลนั้น พระอำเภอนั้น พระจังหวัดนั้น พอขยายออกไปกว้างเป็นพระภาคนั้น พอข่าวออกไปนอกประเทศ พระไทยนี่แย่ประพฤติผิดพระธรรมวินัยบ่อย มันขยายอย่างนี้นะครับ และเสื่อมวลชนทั้งหนังสือพิมพ์ วิทยุนี้ พระทำความผิดหรือถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิด ก็ออกมาเป็นข่าว และกระจ่ายข่าวรวดเร็ว ผมก็ไม่ทราบเจตนารมณ์เขาเป็นอย่างไร ถ้าสมมติว่า หลวงพ่อผมก่อสร้างพัฒนาชนบทให้ดีเป็นประโยชน์แก่ราษฎร ลงข่าวหน้าไหนครับ บางทีก็มีรูปหลวงพ่อยืนคู่กับศาลาที่พัฒนั้นแหละ เล็กนิดเดียว แต่ถ้าพระทำผิดหรือถูกกล่าวหาว่าทำผิด เขาพาดหัวข่าวตัวเบ้อเร่อเลยนะครับ พระรูปนั้นทำอันนั้น อันนี้ ลงข่าว ๓ วัน ๗ วันไม่จบครับ นี้ถ้าข่าวกระทำความเสื่อมเสียแบบนี้ครับ บางทีข่าวนั้น ไม่เป็นความจริง พอไม่เป็นความจริงขึ้นมาเขาก็ขอขมา เมื่อเขาลงข่าวลงเต็มที่แต่เวลาขอขมานี้ เล็กนิดเดียว ถ้าคนที่เคยอ่านข่าวแต่แรก ได้พบการขอขมาก็ดีไป แต่คนที่ไม่เคยเห็นเรื่องแต่แรก อาจคิดไปอย่างอื่นบ้าง มีแต่แนวโน้มไปทางเสียหาย เพราะฉะนั้น จะทำอะไร ขอให้เป็นไปโดยความรวดเร็ว อย่าให้ข่าวมันมาแพร่ออกไปถ้าอันใด สามารถจะระงับได้ภายในขอบเขตของวัด หรือในชั้นต้นตามที่กำหนดไว้ในกฎนี้ ก็ขอให้เป็นไปส่วนที่ว่าเพื่อให้ความเป็นธรรมนั้น มิใช่ว่า เมื่อเขากล่าวหาแล้ว เราก็จะประกาศว่า พระภิกษุเราเป็นผู้กระทำความผิดเสมอไป บางครั้งมันก็ไม่แน่ บางครั้งก็เป็นการใส่ความกัน เขาบอกว่าให้ดำเนินการสึกพระให้เขาที เพราะพระรูปนี้ ถูกกล่าวหาว่า ละเมิดพระวินัยอย่างหนึ่ง และถูกกล่าวหาในคดีอาญาว่าปลุกปล้ำเขา ข่มขืนเขา ผมถามว่า สารวัตรมีหลักฐานแน่นอนหรือยัง ถ้ามีหลักฐานพร้อมมูล ก็จะจัดการให้ ถ้าไม่มีหลักฐาน ก็ขอให้พิจารณาดูให้ดี เพราะพระของผมสึกไม่ยาก บวชก็ไม่ยาก แต่ว่าพรรษาท่านนั้นสิครับ จะเอาที่ไหนไปคืนท่าน ท่านบวชมาครบ ๕ พรรษา ๑๐ พรรษา มีคุณสมบัติเป็นเจ้าอาวาสเป็นเจ้าคณะได้ตามลำดับไปสึกท่านเข้าแล้ว จะทำให้ท่านเสียสิทธิ ทั้งที่เรายังมิได้พิจารณา แล้วคดีข่มขืนเป็นการใส่ความกันได้เสียมาก คดีข่มขืนนี้ ร้อยเกือบทั้งร้อยนะครับ เป็นอันว่าสมยอมทั้งนั้น เว้นแต่มีหลักฐานว่าได้ใช้อาวุธหรืออะไร อันนั้นไปอีกเรื่องหนึ่ง ผลสุดท้ายเขาบอกว่า ถ้าจะต้องปล่อยชั่วคราว ผมก็บอกว่า ถ้าปล่อยชั่วคราว ก็ให้ปล่อยไป ข้อเท็จจริงนั้น ตำรวจมิใช่จะวินิจฉัยได้ เพราะมันเป็นอำนาจของศาลที่จะวินิจฉัยว่าผิดหรือไม่ผิด ส่วนศาลวินิจฉัยแล้วว่า เป็นความผิดหรือไม่เป็นความผิด มันก็ไปตามครรลองของศาลยุติธรรม ซึ่งเขามีมาตรฐานการพิจารณาดีกว่าทางคณะสงฆ์ นอกจากหลัก ๔ ประการแล้ว ยังบัญญัติให้เป็นการชอบด้วยกฎหมายที่จะกำหนดในกฎมหาเถรสมาคมให้มหาเถรสมาคมหรือพระภิกษุผู้ปกครองสงฆ์ในระดับใด จะเป็นผู้มีอำนาจวินิจฉัย ให้อำนาจมหาเถรสมาคมไว้ รวมทั้งกำหนดให้การวินิจฉัยลงนิคหกรรม เป็นอันยุติในชั้นใด ๆ ก็ได้ ซึ่งตามกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ ๑๑ ก็กำหนดการพิจารณาไว้ บางเรื่องก็ยุติในชั้นฎีกา บางเรื่องก็ยุติในชั้นอุทธรณ์ ดังเช่นศาลยุติธรรมของฝ่ายบ้างเมือง คือมีชั้นต้น ชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกา แต่ของเรา การพิจารณาเบื้องต้นนั้น ก็ให้มีอำนาจลงนิคหกรรมได้ตามหลักเกณฑ์ที่วางไว้ ในคณะผู้พิจารณาชั้นต้น ได้แบ่งทั้งตำแหน่งทั้งสมณศักดิ์ ทำให้คณะผู้พิจารณาแตกต่างกันออกไปในแต่ละระดับ อย่างเจ้าอาวาสทำความผิด ผู้พิจารณาเบื้องต้นได้แก่เจ้าคณะตำบล เจ้าคณะตำบลกระทำความผิด ก็ได้แก่ เจ้าคณะอำเภอ ตำแหน่งอื่น ๆ และพระสมณศักดิ์ก็กำหนดรายละเอียดในชั้นแบ่งระดับชั้นไว้เหมือนกัน สำหรับชั้นฎีกานั้น ไม่ว่าใครจำทำผิด ชั้นฎีกามีชั้นเดียวคณะเดียว คือมหาเถรสมาคม การพิจารณานั้นพระภิกษุบางระดับ ชั้นพิจารณาก็น้อยลง เช่นเจ้าคณะใหญ่หรือพระราชาคณะชั้นธรรม ก็มหาเถรสมาคมเป็นคณะผู้พิจารณาชั้นเดียวเสร็จไปเลย ไม่มีอุทธรณ์ ไม่มีฎีกา ตัดสินแล้วครั้งเดียวเสร็จสิ้นไปเลย อันนี้เป็นเรื่องที่กฎหมายให้ยุติ เพราะในมาตรา ๒๕ บอกว่า มหาเถรสมาคมจะให้ยุติในชั้นใด ๆ ก็ได้

        มาตรา ๒๖ พระภิกษุรูปใดล่วงละเมิดพระธรรมวินัยและได้มีคำวินิจฉัยถึงที่สุด ให้ได้รับนิคหกรรมให้สึก ต้องสึกภายในยี่สิบสี่ชั่วโมง นับแต่เวลาที่ได้รับทราบคำวินิจฉัยนั้น

          อันนี้ ต้องอ่านประกอบเสียให้ดีนะครับ เพราะว่า บอกว่าต้องสึกภายในยี่สิบสี่ชั่วโมง นับแต่เวลารับทราบคำวินิจฉัยนั้น มิใช่รับทราบคำวินิจฉัยชั้นต้นนะครับ ชั้นฎีกาเป็นแน่นอนถึงที่สุดแต่ในชั้นต้น เราต้องพิจารณาดู คำวินิจฉัยชั้นต้น ดังที่กระผมกราบเรียนไว้แล้วแต่แรก ก่อนที่จะกล่าวถึงการลงนิคหกรรมวินิจฉัยชั้นต้นนี้ จำเลยผู้ต้องคำวินิจฉัยนั้น มีสิทธิที่จะขออุทธรณ์ต่อไปได้ภายใน ๓๐ วัน จึงถือว่า คำวินิจฉัยยังไม่ถึงที่สุด คำวินิจฉัยชั้นต้นนั้น อ่านให้ฟังแล้ว จำเลยไม่อุทธรณ์ยอมรับนิคหกรรมไปเลย ก็เป็นเรื่องที่เสร็จสิ้นไป แต่ถ้าจำเลยยังไม่ยอมรับนิคหกรรม ก็ต้องให้โอกาสเขาอุทธรณ์ภายใน ๓๐ วัน เมื่อเขาอุทธรณ์ไปแล้ว ก็ให้คณะผู้พิจารณาชั้นอุทธรณ์ เพราะคณะผู้พิจารณาชั้นต้น ต้องให้คัดสำเนาคำวินิจฉัยชั้นต้น เพื่อให้จำเลยไปแก้ในชั้นอุทธรณ์ อันนี้ ต้องถือว่าคำวินิจฉัยนั้น ยังไม่ถึงที่สุด แม้คำวินิจฉัยอุทธรณ์ลงมา ยืนตามคำวินิจฉัยชั้นต้น จำเลยก็ยังมีสิทธิ์ที่จะขอฎีกาต่อไปอีกภายใน ๓๐ วัน ทีนี้เมื่อถึงชั้นฎีกาแล้ว ถ้าฎีกายืนตามเดิม ถ้าได้อ่านให้ฟังเมื่อใดก็นับเวลาได้เมื่อนั้น ต้องสึกภายใน ๒๔ ชั่วโมง เพราะกฎหมายว่าอย่างนั้น อันนี้ ต้องระวังนะครับ คำวินิจฉัยต้องให้ถึงที่สุดจริง ๆ นะครับ ถ้าไม่ถึงที่สุด ก็ยังบังคับไม่ได้ ถ้าถึงที่สุดจริง แล้วเขาไม่สึกภายใน ๒๔ ชั่วโมง ก็ต้องขออารักขาทางฝ่ายบ้านเมืองเขา เพราะถ้าฝ่าฝืนมาตรา ๒๖ ก็มีความผิดตามที่กำหนดในมาตรา ๔๒ คือ จำคุกไม่เกิน ๗ เดือน ส่วนการดำเนินการบังคับให้รับโทษอาญานั้น เป็นหน้าที่ของฝ่ายบ้านเมือง ฝ่ายพระเพียงขออารักขา โดยต้องชี้แจงรายละเอียดในความผิดนั้น ๆ เพราะความผิดเกี่ยวกับพระภิกษุนี้ บางทีทางฝ่ายบ้างเมืองเขาไม่ทราบเพราะประสบการณ์นี้เคยพบมา ปรากฎว่ามีหลายแห่งที่เขาไม่ทราบ พอเขาอ่านทราบเข้า เขาก็ยอมปฏิบัติตาม เพราะมันเป็นคดีอาญา ต้องแจ้งรายละเอียดด้วย อย่าเข้าใจว่าตำรวจรู้เรื่องคดีอาญาทั้งหมดครับ เพราะกฎหมายที่จะมีทางอาญานั้นมันมีมากมายเหลือเกินครับ ถึงกระผมเองก็ไม่รู้หมดครับ โดยเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับพระสงฆ์นี้ ทางตำรวจเขาไม่อยากยุ่ง ทั้ง ๆ ที่กำหนดโทษอาญาไว้ ดังนั้น จึงต้องแจ้งรายละเอียดด้วยว่า อันนี้ เป็นความผิดอย่างนี้ ถ้าปล่อยไว้จะเกิดความเสียแก่คณะสงฆ์ต้องบังคับให้สึกภายใน ๒๔ ชั่วโมง เพราะขัดขืน จึงต้องให้รับโทษตามมาตรา ๔๒

        มาตรา ๒๗ พระภิกษุรูปใดต้องคำวินิจฉัยให้รับนิคหกรรมไม่ถึงให้สึก ไม่ยอมรับนิคหกรรมนั้น อันนี้ ประการหนึ่งนะครับ ต้องคำวินิจฉัยให้รับนิคหกรรมไม่ถึงให้สึก แต่ไม่ยอมรับนิคหกรรมนั้น เช่น ถูกวินิจฉัยให้อยู่ปริวาสกรรมเพราะต้องอาบัติสังฆาทิเสส ก็ไม่ยอมอยู่ปริวาสกรรม หรือต้องอาบัติปาจิตตีย์ ไม่ยอมแสดงอาบัติไม่ยอมทำคืน นี้ประการหนึ่ง

        หรือประพฤติล่วงละเมิดพระธรรมวินัยเป็นอาจิณ บางทีอาบัติเล็ก ๆ น้อย ๆ แต่ต้องบ่อย ๆ เรียกว่าต้องเป็นอาจิณก็อาจเกิดความเสียหายแก่คณะสงฆ์ กฎหมายจึงใก้อำนาจมหาเถรสมาคมวินิจฉัยให้พระภิกษุนั้นสละสมณเพศเสียได้  และคำในกฎหมายนี้มีอยู่ ๒ คำนะคัรบ คำแรกให้สึก สึกเป็นไปตามพระวินัย ให้สละสมณเพศเป็นอำนาจตามกฎหมาย บางครั้งตามพระวินัยโทษไม่ถึงให้สึก แต่ว่ากฎมหายให้ไว้ว่า บางสิ่งบางอย่างก็ให้สละสมณเพศ การสละสมณเพศก็คือสึกเหมือนกัน

          ในประการที่ ๓  หรือไม่สังกัดอยู่ในวัดใดวัดหนึ่งทั้งไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง อันนี้ เรื่องสังกัดของวัด และต้องยึดถือหนังสือสุทธิเป็นสำคัญ แต่ว่ามันต้องประกอบกัน ๒ อย่าง คือไม่สังกัดอยู่ในวัดใดวัดหนึ่ง และต้องไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่งด้วย มหาเถรสมาคมจึงจะมีอำนาจวินิจฉัยให้สละสมณเพศอันนี้ เขตสังกัด ผมเห็นว่า หนังสือสุทธิไม่ค่อยเรียบร้อยไม่ค่อยย้ายสังกัด บางที่ไปอยู่กรุงเทพตั้ง ๑๐ ปีก็ยังไม่ได้ย้าย กระผมพบบ่อย ปรากฏว่า หนังสือสุทธิมีข้อบกพร่องหลายประการบางรูปมีหนังสือสุทธิ ๒-๓ ฉบับ ถามว่าทำไมจึงพกมาหลายฉบับนัก ท่านตอบว่าที่พกมามากไม่ใช่อะไรหรอก ถ้าถูกยึดไปฉบับหนึ่ง ก็ยังเหลืออีก ๒ ฉบับ ยังมีใช้ได้อย่างนี้ก็ปรากฎ ข้อนี้เป็นความบกพร่องของหนังสือสุทธิ อาจเป็นความบกพร่องของเจ้าคณะอำเภอหรือพระอุปัชฌาย์รูปใดรูปหนึ่งนะครับ บางอันที่กระผมขอติงไว้หน่อย บางอำเภอไปกระทำตรายางเสียเอง ทั้งที่กรมการศาสนาก็ทำตราไว้ให้ อันนี้ไม่ถูกต้อง แถมหนังสือสุทธิก็ไม่ถูกต้อง เพราะตราประจำตำแหน่งที่ออกมาถวายเจ้าคณะชั้น
ต่าง ๆ นั้น กรมการศาสนาประทับไว้แล้วครับ ที่ประทับไว้นั้น เมื่อมีกรณีตต้องสงสัย จะได้เอามาตรวจสอบได้ เพราะที่ไปทำตรายางเข้าเส้นลายมันไม่ตรงตามเดิม บางรูปชำนาญมากไป เห็นว่าเจ้าคณะลงนามรับรองไม่ขลัง ถ้าจะให้ขลังต้องใช้ตราอธิบดีกรมการศาสนา ไปเอาตราอธิบดีมาจากที่ไหนไม่ทราบ ตีเข้าไป ผมเจอเข้าก็ต้องเล่น ๓ ฐาน คือ

          ๑. ใช้หนังสือสุทธิไม่ถูกต้อง

          ๒. ใช้เอกสารปลอม

          ๓. ปลอมแปลงตราของทางราชการ

          ผมก็บอกว่า หลวงพ่อผู้จัดการว่า สึกแล้วต้องส่งตำรวจด้วย มีความผิดถึง ๓ กระทง คงจะได้กำไรไปหลายปี ที่ได้กำไรหลายปี ก็เพราะฉลาดมากนั่นเอง

          อันนี้ ทั้ง ๓ กรณี ไม่รับนิคหกรรมซึ่งมีโทษไม่ถึงให้สึกอย่างหนึ่ง ประพฤติล่วงละเมิดพระธรรมวินัยเป็นอาจิณอย่างหนึ่ง ไม่สังกัดอยู่ในวัดใดวัดหนึ่ง กับทั้งไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่งอย่างหนึ่ง ต้องรายงานตามลำดับจนถึงมหาเถรสมาคม และมหาเถรสมาคมจะพิจารณาทันที คือเป็นเรื่งด่วนพิเศษ เมื่อลงมติแล้วจะส่งคำวินิจฉัยมาให้อ่าน

          ทีนี้ พระภิกษุต้องคำวินิจฉัยให้สละสมณเพศตามความวรรคก่อน ต้องสึกภายใน ๗ วัน นับแต่วันที่ได้รับทราบคำวินิจฉัยนั้น อันนี้ ให้โอกาสนานหน่อย เพราะไม่ใช่กระทำความผิดทางพระวินัย แต่เป็นฐานไม่ยอมปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของคณะผู้พิจารณา

        มาตรา ๒๘ พระภิกษุรูปใดต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้เป็นบุคคลล้มละลาย ต้องสึกภายในสามวันนับแต่วันคดีถึงที่สุด

          อันนี้ คำว่า ล้มละลาย นั้น หมายความว่า เป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัว จำนวนหนึ้สินตั้งแต่สามหมื่นบาทขึ้นไป คนที่มีหนี้สินสามหมื่นบาท และมีรายได้น้อย ฐานะไม่ดี แบบหาเช้ากินค่ำ หรือมีหลักฐานเพียงล้านบาท แต่เป็นหนึ้เขาตั้งสิบยี่สิบล้านบาท ถ้าไม่ใช้เขาตามกำหนด เขาฟ้องล้มละลายได้ แต่การล้มละลายนั้น เขาจะต้องประกาศชื่อในราชกิจจานุเบกษา ทางบ้านเมืองเกรงว่า จะเสื่อมเสียแก่พระพุทธศาสนา เพราะว่าถ้าล้มละลายแล้ว เขาจะต้องประกาศชื่อในราชกิจจานุเบกษาดังนั้น เมื่อต้องถูกคำพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลายและคดีถึงที่สุดแล้ว ต้องสึกภายใน ๓ วัน เพราะเมื่อสึกแล้ว เขาจะได้ประกาศชื่อเป็นนาย ก. นาย ข.ไป อันนี้ ก็ต้องระวังไว้ด้วย บางทีในการทำนิติกรรม ถ้งพลั้งลงไป หลวงพ่อเองในฐานะตัวแทนนิติบุคคลจะต้องรับผิด รับผิดเป็นส่วนตัว อาจต้องเป็นหนี้สินเกินกว่าสามหมื่นบาท บางทีก็ไม่มีปัญญาใช้เขา เขาก็อาจฟ้องล้มละลายได้เหมือนกัน ในกรณีเช่นนี้ต้องสึกภายใน ๓ วัน นะครับ ให้เวลาไว้ ถ้าไม่สึกภายใน ๓วัน ก็มีโทษทางอาญาตามมาตรา ๔๒ เหมือนกันครับ อันนี้ ละเว้นไม่ได้

          มาตรา ๒๙ นี้ เป็นเรื่องของฝ่ายบ้างเมือง เป็นอำนาจหน้าที่ของทางบ้านเมืองโดยเฉพาะ เป็นหน้าที่ของพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการตามมาตรา ๒๙ ในมาตรา ๒๙ กำหนดว่า พระภิกษุรูปใดถูกจับโดยต้องหาว่ากระทำความผิดอาญา เมื่อพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการไม่เห็นสมควรให้ปล่อยชั่วคราว และเจ้าอาวาสแห่งวัดที่พระภิกษุแห่งวัดนั้นสังกัดไม่ยอมรับตัวไว้ควบคุม อันนี้ ประเด็นหนึ่งนะครับ ประเด็นที่ว่า พระภิกษุถูกจับโดยต้องหาว่ากระทำความผิดคดีอาญา อย่างที่กระผมได้กราบเรียนไว้ในตอนนั้นแล้วว่า ถูกเขาจับไป ถ้าพนักงานสอบสวนเขาไม่เห็นสมควรให้ปล่อยตัวชั่วคราว คือเขาไม่ยอมให้ประกันตัวนั่นเอง แต่ในขั้นนี้ เขามีบทผ่อนลงมาว่าแม้จะไม่ยอมให้ประกันตัว ก็ยังยอมให้เจ้าอาวาสซึ่งวัดที่พระภิกษุรูปนี้สังกัดอยู่รับไปควบคุมได้ ถ้าเจ้าอาวาสรับควบคุม ก็ยังไม่ต้องสละสมณเพศ นี้เป็นกรณีหนึ่ง ที่นี้ ถ้าไม่เห็นสมควรให้ปล่อยชั่วคราว นำไปมอบให้เจ้าอาวาสรับไว้ แต่เจ้าอาวาสไม่รับ ก็ต้องให้สละสมณเพศนะครับ เพราะบางกรณีเจ้าอาวาสเองก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่า จะควบคุมได้หรือไม่ เพราะเป็นคดีมีโทษอุกฉกรรจ์อย่างนี้ และมาตรานี้ รู้สึกจะมีส่วนบกพร่องอยู่บ้างเล็กน้อย เพราะไม่มีเงื่อนไข ถ้าเจ้าอาวาสถูกจับเสียเอง ใครจะรับไปควบคุม เพราะไม่มีบทให้อาจแก่เจ้าคณะชั้นใดเป็นผู้รับไปควบคุม เป็นเรื่องของกฎหมายซึ่งเวลาบัญญัติอาจจะนึกไม่ถึง ในกรณีต่อมา หรือเจ้าพนักงานไม่เห็นสมควรให้เจ้าอาวาสรับตัวไปควบคุม อันนี้ก็ว่าไปแล้ว ถ้าเขาไม่เห็นสมควรปล่อยชั่วคราวและไม่ให้เจ้าอาวาสรับตัวไปควลคุม ถ้าคดีมันหนัก ๆ นี้อย่างหนึ่ง นะครับ หรือพระภิกษุรูปนั้น มิได้สังกัดวัดใดวัดหนึ่ง เขาจะให้รับควบคุมเหมือนกัน แต่พระภิกษุรูปนั้นไม่สังกัดวัด หรือว่าไปทำความผิดในกรุงเทพมหานครสังกัดมาอยู่ขอนแก่นอย่างนี้แทนที่เขาจะเอามาที่นี้ เขาไม่เอามาดอกครับ เขาถือว่าไม่มีสังกัด เมื่อไปทำความผิดอยู่ที่โน้นเขาอาจถือว่าไม่มีสังกัด ถึงจะมีสังกัดหรือไม่มีสังกัดก็ตาม ถ้าเขาไม่เห็นสมควร เขาก็ให้สละสมณเพศได้

          ในวรรคสุดท้ายว่า ให้พนักงานสอบสวนมีอำนาจจัดดำเนินการให้พระภิกษุรูปนั้นสละสมณเพศเสียได้ อันนี้เป็นเรื่องของพนักงานฝ่ายสอบสวนและพนักงานอัยการโดยเฉพาะไม่ใช่เรื่องของพระคุณเจ้า ไม่ใช่เป็นเรื่องของเจ้าหน้าที่กรมการศาสนา เป็นเรื่องของเจ้าพนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการโดยเฉพาะ เพราะว่ากฎหมายเขาว่าไว้อย่างนั้น อย่างบางกรณี ที่ตำรวจจับพระภิกษุเราในข้อหาอุกฉกรรจ์ ก็คงได้ได้ยินกันอยู่บ้างแล้ว เรื่องนั้นเขานำไปหาเจ้าคณะจังหวัด เจ้าคณะจังหวัดก็ไม่กล้ารับ นำมาหาเจ้าคณะภาค ท่านเจ้าคณะภาคเกลี้ยกล่อมให้สึก ก็ไม่สึก ไม่ยอมสละสมณเพศไม่ยอมสึก จะขอต่อสู้ในผ้าเหลือง เจ้าคณะภาคโทรศัพท์เรียกผมไปว่า ช่วยกันที่จะทำอย่างไร เรื่องจะลงเอยได้ ตำรวจก็จะให้เจ้าคณะภาคสึกให้ เจ้าคณะภาคก็ไม่ยอมสึก เพราะท่านรู้ว่าท่านไม่มีอำนาจ จึงต้องให้ผมเป็นผู้ประสานงานกับตำรวจ ผมได้ถามตำรวจว่า ท่านสารวัตร จะปล่อยพระรูปนี้ได้ไหม เขาตอบว่าปล่อยไม่ได้ เพราะคดีนี้มีพยานหลักฐานและพยานแวดล้อมแน่นหนามาก สำนวนหนาเป็นร้อยหน้าเขายืนยันปล่อยตัวไม่ได้ ต้องขังแน่นอน ผมก็หันมาถามพระว่า  ท่านครับ ตำรวจเขาไม่ยอมปล่อยแน่  ท่านจะยอมสึกหรือยอมสละสมณเพศให้เขาไหม ถ้าจะยอม ก็จะให้เจ้าคณะภาคเป็นประธานทำพิธีสึก ให้ประพรมน้ำพุทธมนต์ให้ถูกต้องตามพิธีการ ท่านก็ยืนยันว่า ไม่ยอมสึก จะสู้ทั้งผ้าเหลือง เอาตำรวจงงเต็มที่ แล้วถามผมว่า จะทำอย่างไรครับ ผมก็บอกว่าคุณก็ต้องดูมาตรา ๒๙ และอ่านให้ตำรวจฟังว่าเป็นอำนาจหน้าที่ เขามีอำนาจหน้าที่ให้สละสมณเพศ เราไม่มีอำนาจ เวลามีกรณีเช่นนี้ กรุณาพิจารณาให้ดี ถ้าเขาจะให้สึกอย่าไปสึกให้เขาง่าย ๆ อย่าไปบีบบังคับฉุดกระชากลากถูนะครับ บางทีโดนคดีอาญาด้วย ถ้าเขายินยอมสึก ให้เขาสึกได้แล้วให้เขาเซ็นชื่อไว้ หรือว่าเขาไม่ยินยอมก็ต้องปล่อยให้เป็นอำนาจของตำรวจ อย่างในกรณีที่ยกขึ้นมากล่าวนั้น ตำรวจเขาถามว่าจะทำยอย่างไร ผมตอบเป็นอำนาจของคุณทีจะให้พระภิกษุรูปนี้สละสมณเพศ ในเมื่อคุณไม่ยอมปล่อยและท่านไม่ยอมสึก คุณมีอำนาจตามมาตรา ๒๙ ในการดำเนินการให้สละสมณเพศได้ เขาถามว่า สละสมณเพศนั้นทำอย่างไร ผมตอบว่า ผ้าเหลืองนี้คือเครื่องหมายเพศของสมณะ ถ้าเอาผ้าเหลืองออกจากกายเมื่อไร ก็เป็นเพศคฤหัสถ์ ส่วนที่ว่าในใจของท่านจะยอมรับเพศหรือไม่นั้นไม่เกี่ยวกัน ผลสุดท้าย นายตำรวจเขาบอกว่า จ่าไปซื้อเครื่องมาชุดหนึ่ง เขาถามผมว่า จะให้สึกที่นี่หรือที่ไหน เพราะภาคก็ไม่มีอำนาจ และเจ้าตัวก็ไม่ยอมสึกที่นี่ ก็ควรนำไปจัดการที่อื่น แต่อย่าให้ประเจิดประเจ้อ เดี๋ยวจะเป็นข่าวใหญ่ มันจะเสียหายมากแล้วเขาก็ดำเนินการเขาเอง

          มาตรา ๓๐ อันเป็นมาตราสุดท้ายของหมวดนี้ มีความว่า มาตรา ๓๐ เมื่อจะต้องจำคุก กักขัง หรือขังพระภิกษุรูปใด ตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาล ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจหน้าที่ปฏิบัติการให้เป็นไปตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาล มีอำนาจดำเนินการให้พระภิกษุนั้นสละสมณเพศเสียได้ และให้รายงานให้ศาลทราบถึงการสละสมณเพศนั้น

          อันนี้ ก็เป็นกรณีที่พระภิกษุอาจต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก หรือต้องกักขังแทนค่าปรับหรือขังไว้ในระหว่างพิจารณาอันนี้ อาจเป็นคำสั่งของศาล บางทีก็เป็นคำพิพากษา บางทีก็เป็นคำสั่ง ถ้าต้องกักขังแทนค่าปรับ ก็คิดอัตรา ๒๐ บาท ต่อวัน ถ้าปรับ ๑๐๐ บาท ก็ต้อง ๕ วัน บางโทษมีการปรับเพียงสถานเดียว สมมติว่า ทำความผิดอย่างนี้ มีโทษจำคุกเท่านั้นเดือน มีโทษปรับ ๕๐๐ บาท โทษจำให้ยกเสีย ให้ปรับ ๕๐๐ บาท ถ้าไม่มีเสียค่าปรับ ค่ากักขังแทนค่าปรับ ปรับ ๕๐๐ บาท ต้องกักขัง ๒๕ วัน ก่อนที่จะเอาไปกักขังหรือขังหรือไปจำคุก ต้องให้สละสมณเพศเสียก่อน จะเอาพระไปกักขัง ขัง หรือจำคุกทั้งผ้าเหลืองไม่ได้ ถ้าขืนกระทำเจ้าหน้าที่ผู้ดำเนินการนั้น ต้องมีความผิด ทางชลบุรีนั้น ถูกย้ายกราวรูด ทั้งสถานีเลย เพราะเอาพระไปขังทั้งผ้าเหลืองตั้งแต่จ่านายสิบขึ้นไปจนถึงสารวัตรผู้มีอำนาจหน้าที่ในการกักขัง และดูเหมือนจะงดบำเหน็จทั้งหมด เพราะเป็นเรื่องที่เจ้าหน้าที่เป็นผู้มีอำนาจดำเนินการเอง แต่ทั้งสองบทนี้ ก็มีเรื่องเกี่ยวข้องอยู่กับพระภิกษุในเมื่อเขานำไปให้เจ้าอาวาสควบคุมไว้ ก็ต้องพิจารณาดู บางกรณีก็อาจรับไปควลคุมในบางกรณีไม่หนักก็รับไว้ ในบางกรณีมันเป็นความผิดชัดแจ้ง และบางกรณีเจ้าอาวาสก็อาจรู้ ถ้ารับไว้ควบคุม เขาอาจจะหลบหนีไป ถ้าเขาหลบหนีไป ความผิดก็ย่อมจะตกอยู่ทีเจ้าอาวาสผมขอจบหมวด ๕ ครับ