นายมนู ช่างสุพรรณ บรรยายมาตรา ๔๕ แล้วบรรยายมาตรา ๓๗,๓๘,๓๙

นายมนู ช่างสุพรรณ บรรยายมาตรา ๔๕ แล้วบรรยายมาตรา ๓๗,๓๘,๓๙

     ก่อนที่จะพูดถึงมาตรา ๓๗ ขอพูดถึมาตรา ๔๕ ซึ่งบัญญัติไว้ว่า  “ให้ถือว่าพระภิกษุผู้ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในการปกครองคณะสงฆ์และไวยาวัจกร  เป็นเจ้าพนักงานตามความในประมวลกฎหมายอาญา” อันนี้  เจ้าอาวาสก็รวมอยู่ในเจ้าพนักงานด้วย ก่อนอื่น ก็ต้องทำความเข้าใจกันเสียก่อนว่า เจ้าพนักงานนั้นเป็นอย่างไร เจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญานั้น ได้แก่เจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติหน้าที่ของรัฐ โดยปกติ ก็เป็นข้าราชการของรัฐ เช่น ข้าราชการพลเรือน ข้าราชการทหาร ข้าราชการตำรวจ หรือเจ้าพนักงานอื่น ๆ ซึ่งกฎหมายกำหนดให้เป็นเจ้าพนักงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พระภิกษุผู้ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้ปกครองคณะสงฆ์นี้ ก็เป็นเจ้าพนักงานตามความในประมวลกฎหมายอาญาด้วย บุคคลใดมาทำการละเมิดอำนาจเจ้าอาวาส ก็อาจมีความผิดฐานละเมิดอำนาจเจ้าพนักงาน หรือบุคคลใดที่มาดูหมิ่นเจ้าอาวาส ก็ชื่อว่าดูหมิ่นเจ้าพนักงาน การดูหมินบุคคลธรรมดาอาจมีโทษเบา แต่ถ้าดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติงานตามหน้าที่แล้ว ก็จะมีโทษหนักขึ้น หรือทำร้ายเจ้าพนักงานหรือทำร้ายเจ้าอาวาสในขณะปฏิบัติหน้าที่ ก็มีโทษหนักขึ้น นะครับ อันนี้ เป็นส่วนดีที่ได้รับการคุ้มครอง หรือบางครั้งเจ้าอาวาสสั่งในฐานะที่เป็นเจ้าพนักงาน สั่งให้บุคคลใดบุคคลหนึ่งปฏิบัติการ ถ้าไม่ปฏิบัติตามที่เจ้าอาวาสสั่ง ก็ถือว่าขัดคำสั่งเจ้าพนักงาน ก็มีโทษตามกฎหมายอาญา ซึ่งถ้าเป็นบุคคลธรรมดาไปสั่งเขา เขาไม่ปฏิบัติตาม มันก็ไม่มีโทษเพราะบางอย่าง ถ้าเราในฐานะบุคคลธรรมดา หรือในฐานะลูกวัดที่ไม่มีหน้าที่ปกครองคณะสงฆ์ บางทีบางเรื่อง อาจไม่ทำการใด ๆ ก็ได้ เพราะไม่มีหน้าที่ดังเจ้าอาวาสนั้น ในฐานะเขาให้เรื่องมาดำเนินการตามอำนาจหน้าที่เจ้าอาวาส ไม่ปฏิบัติตาม ก็กลายเป็นความผิดฐานเจ้าพนักงานละเลยต่อหน้าที่ หรือฐานไม่ปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปโดยชอบ อันนี้ ก็เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ก็มีโทษหนักขึ้น นะครับ บางทีปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ก็โดนเข้า ๖ ปีก็มี แต่ว่ามันเป็นเรื่องของเจ้าพนักงานฝ่ายอื่น ต้องทำความเข้าใจเสียก่อน

     ในมาตรา ๓๗ มีความว่า “เจ้าอาวาสมีหน้าที่ ดังนี้

     ๑. บำรุงรักษาวัด จัดกิจการและศาสนสมบัติของวัดให้เป็นไปด้วยดี” ก็แยกออกเป็น ๔ กรณีด้วยกัน คือ  บำรุงวัด รักษาวัด จัดกิจการของวัด จัดศาสนสมบัติของวัดให้เป็นไปด้วยดี คำว่า “ให้เป็นไปด้วยดี” นี่แหละครับ เป็นเรื่องลำบาก บำรุงวัดก็ได้แก่เสนาสนะอันใดยังไม่มี หรือสิ่งที่ควรจะมีขึ้นในวัดอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่พอมีกำลังจะทำให้มีได้ ก็ทำให้มีขึ้น ส่วนการรักษาวัด ก็ได้แก่สิ่งที่มีอยู่แล้ว อย่าปล่อยให้มันชำรุดทรุดโทรมไป ถ้าปล่อยให้มันชำรุดทรุดโทรมไปก็เป็นการไม่ปฏิบัติหน้าที่เจ้าอาวาส บางทีการรักษาวัดนี้ มันก็ไม่เบาเหมือนกัน วัดที่มีสิ่งปลูกสร้างใหญ่โต เมื่อล่วงกาลผ่านไปนานความร่วงโรยก็ย่อมมีมาก เจ้าอาวาสบางรูปอาจมีความสามารถสร้างเสนาสนะได้ใหญ่โตและมีปัญญารักษไว้ ส่วนเจ้าอาวาสรูปที่ถัดไป บางรูปอาจไม่มีความสามารถในการรักษาเสนาสนะก็ย่อมจะทรุดโทรมไป ก็เป็นเรื่องลำบากเหมือนกัน  แต่ก็ต้องพยายามรักษาไว้ให้อยู่ในสภาพที่มั่นคงแข็งแรงอยู่เสมอ ส่วนการดำเนินกิจการของวัด ก็อาจมีการให้สถานที่ในการประชุมอบรม ให้สถานที่จัดงานวัด จัดให้มีการสอนศีลธรรม ส่วนการศาสนสมบัติของวัด เป็นเรื่องสำคัญ เพราะว่าเจ้าอาวาสมีหน้าที่ที่จะต้องรักษาศาสนสมบัติของวัดด้วย ต้องจัดศาสนสมบัติของวัดให้เป็นไปด้วยดี อันนี้ กระผมจะขอพูดเพิ่มสักนิดหนึ่ง เจ้าอาวาสก็เปรียบเหมือนคนสองคน ในฐานะที่เป็นตัวแทนนิติบุคคลอย่างหนึ่ง ในฐานะที่พระภิกษุรูปนั้นรูปนี้คือฐานะที่เป็นตัวของตัวเอง นี้อย่างหนึ่ง ต้องแยกกันให้ออก อย่าเอาสองอย่างไปปนกัน เช่น ของบางอย่างเขาถวายวัด แต่ไปคิดว่าเขาถวายเจ้าอาวาสใช้เป็นส่วนตัวเสีย อย่างนี้ก็ผิดวัตถุประสงค์ ถ้าไปบังเอิญมีเรื่องเข้า มันก็ต้องรับผิดชอบ บางครั้งอาจกลายเป็นเจ้าพนักงานยักยอกทรัพย์ไปศาสนสมบัติหรือทรัพย์ของวัดนั้นอยู่ในความดูและของเจ้าอาวาส ต้องแยกกันให้ดี ทรัพย์สมบัติใดเป็สมบัติส่วนตัว ทรัพย์สมบัติใดเป็นสมบัติวัด ต้องแยกกันให้ออก เพราะว่าเจ้าอาวาสเป็นผู้รับผิดชอบ ถ้าพลาดพลั้งลงไปกลายเป็นเจ้าพนักงานทำความผิด ก็มีโทษมากขึ้น

     ๒. ความว่า “ปกครองและสอดส่องให้บรรพชิตและคฤหัสถ์ที่ทีถิ่นที่อยู่หรือพำนักอาศัยอยู่ในวัดนั้น ปฏิบัติตามพระธรรมวินัย กฎมหาเถรสมาคม ข้อบังคับ ระเบียบ หรือคำสั่ง ของมหาเถรสมาคม” อันนี้ การปกครองก็ต้องดูแลเขา ให้เขาประพฤติตามพระธรรมวินัย ถ้าไม่ดูและปล่อยให้ผู้อยู่ปกครองประพฤติตนไม่อยู่ในกรอบแห่งพระธรรมวินัย ประพฤติเลอะเทอะ หรือประพฤติล่วงละเมิดพระธรรมวินัยเป็นอาจิณ โดยไม่เอาใจใส่ ก็ชื่อว่าเจ้าอาวาสไม่ปฏิบัติการให้เป็นไปตามอำนาจหน้าที่ของตน

     ใน (๓) ความว่า “เป็นธุระในการศึกษาอบรมสั่งสอนพระธรรมวินัยแก่บรรพชิตและคฤหัสถ์” อันนี้ ต้องเป็นธุระทั่วไป มิได้จำกัดว่าบรรพชิตหรือคฤหัสถ์ในวัดใด เจ้าอาวาสวัดนี้จัดตั้งโรงเรียนขึ้นสั่งสองพระธรรมวินัยแก่พระภิกษุวัดนั้น และวัดอื่นก็มาเรียนด้วยได้ จึงกำหนดไว้กว้างๆ พระภิกษุนอกวัดด้วยก็ได้ มิใช่แต่บรรพชิต แม้คฤหัสถ์ทั้งในและนอกวัด ก็เป็นธุระสั่งสอนพระธรรมวินัยได้ เช่น จัดสอนธรรมศึกษา

     ใน (๔) ความว่า “อำนวยความสะดวกตามสมควรในการบำเพ็ญกุศล” อันนี้ โดยปกติ ถือว่า วัดเป็นสาธารณสถานเป็นหน่อยกลางของพระพุทธศาสนา เจ้าอาวาสเพียงเป็นผู้ดูแลรักษาเท่านั้น แต่ที่ว่าให้เจ้าอาวาสจัดดำเนินกิจการของวัดให้เป็นไป ก็ดูเหมือนเจ้าอาวาสเป็นเจ้าของวัด แต่โดยความจริงแล้ว เจ้าอาวาสมิใช่เจ้าของวัดโดยตรง ถ้าจะมีกิจการใด ๆ เกี่ยวกับการบำเพ็ญกุศลก็ดี เกี่ยวกับการบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ก็ดี เจ้าอาวาสต้องอำนวยความสะดวกในการนั้นตามสมควร แต่ว่าถ้าการใดไม่สมควร อาจยับยั้งเสียได้ เช่น เขาจะเอาวัดเป็นที่ตั้งศพหรือเป็นที่ตั้งผ้าป่า เสร็จแล้วเอาสุรามาขาย หรือเอาการพนันมาเล่นในวัด อย่างนี้เราห้ามเขาได้ ถ้าเขามาปฏิบัติตามเราก็ใช้คำสั่งเจ้าอาวาส สั่งให้เขาออกจากวัดเราได้ อันนี้ ก็ชื่อว่าเราให้ความสะดวกเขาตามสมควรในการบำเพ็กุศล แต่เขามาทำความผิดขึ้นในวัดของเรา ชื่อว่าไม่สมควรแล้วก็ไม่ต้องอำนวยความสะดวกให้

     มาตรา ๓๘ มีอำนาจถึง ๓ ลักษณะ คือ

     “(๑) ห้ามบรรพชิตและคฤหัสถ์ซึ่งมิได้รับอนุญาตของเจ้าอาวาสเข้าไปอยู่อาศัยในวัด” อันนี้ ห้ามในระยะแรกหมายความว่า ถ้าเขาเข้าไปสัก ๓ วัน ๗ วัน เห็นว่าไม่ชอบมาพากลว่า จะมาพักอยู่ตลอดไปเป็นที่อาศัย  เราก็ห้ามได้ ถ้าสั่งห้ามเขาแล้ว เขาไม่เชื่อ ก็ต้องขออารักขาทางฝ่ายบ้านเมือง แจ้งความแก่ตำรวจหรือกำนันผู้ใหญ่บ้านในเขตใกล้เคียง บอกว่าผู้นี้มาบุกรุกแล้ว ถือว่าบุกรุก ถ้าในระยะ ๑๕ วันนี้ ยังถือเป็นบุกรุกอยู่ ถ้าปล่อยไป ๓ เดือน ๔ เดือน ทางฝ่ายบ้านเมืองเขาถือว่าเราปล่อยให้เขาอยู่อาศัยในวัด พอเป็นการยินยอมแล้ว จะเอาความผิดฐานบุกรุกใช้ก็ไม่ได้ ฝ่ายบ้านเมืองเขาไม่ดำเนินการให้ ก็ต้องดำเนินการในกรณีที่ ๒

     “(๒) สั่งให้บรรพชิตและคฤหัสถ์ซึ่งไม่อยู่ในโอวาสของเจ้าอาวาสออกไปเสียจากวัด” อันนี้  การที่จะสั่งให้เขาออกไปจากวัดนี้ ต้องมีเหตุคือเขาต้องไม่อยู่ในโอวาทด้วย โอวาทนั้น อาจเป็นกติกาของวัดที่กำหนดไว้ว่า คนที่อยู่ในวัดจะต้องปฏิบัติตนอย่างไร จะต้องช่วยการงานของวัดอย่างไรถือว่าเมื่ออยู่วัดแล้ว จะต้องช่วยงานวัด จะต้องศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัย จะต้องทำวัตรสวดมนต์ จะต้องบิณฑบาต หรือในเวลาทำวัตรสวดมนต์ ทำสังฆกรรม จะต้องทำทุกวัน ถ้าไม่ลงจะต้องบอกลาเจ้าอาวาส ถ้าไม่ลงและไม่ยอมบอกลา ตักเตือนก็ไม่ได้ผล ก็ถือว่าไม่อยู่ในโอวาท ก็สั่งให้เขาออกจากวัดได้ เพราะกฎหมายให้อำนาจให้สั่งให้ออกได้ทั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์ที่ไม่อยู่ในโอวาท การสั่งนั้น ต้องสั่งให้มีหลักคือต้องสั่งเป็นหนังสือ เพราะการสั่งด้วยปากเปล่า แล้วเขาไม่ยอมไป เราก็ไม่มีหลักฐานอะไร จึงต้องทำเป็นคำสั่ง อย่างแบบคำสั่งในหนังสือที่พระเดชพระคุณเขียนขึ้น และเจ้าคณะภาคกำลังพิมพ์และจะแจกในวันหลัง ทั้งแบบคำสั่งและแบบระเบียบอะไรหลายอย่าง ท่านรวบรวมและเรียบเรียงไว้ในหนังสือเล่มนี้ เพื่อเป็นคู่มือในการปฏิบัติหน้าที่ได้ดีมาก อันนี้ ให้สั่งเป็นลายลักษณะอักษรให้เขารับทราบและให้ลงชื่อรับทราบในคำสั่งนั้นด้วย ถ้าสั่งถูกต้องเช่นนั้น ถ้าเขาขัดคำสั่ง เราก็แจ้งความต่อเจ้าพนักงานว่า เขาขัดคำสั่ง การขัดคำสั่งเจ้าอาวาสนี้ มีการต่อสู้กันถึงศาลฎีกาแล้ว กรณีพระลูกวัดขัดคำสั่งเจ้าอาวาส ซึ่งสั่งให้ออกไปจากวัด โดยเหตุทื่พระลูกวัดนั้นไม่อยู่ในโอวาทของเจ้าอาวาส เมื่อสู้คดีถึงศาลฎีกา ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เป็นการขัดคำสั่งเจ้าพนักงาน พระลูกวัดเป็นจำเลยต้องยอมปฏิบัติตามคำตัดสินของศาลชั้นฎีกา

     “(๓) สั่งให้บรรพชิตและคฤหัสถ์ที่มีถิ่นที่อยู่หรือพำนักในวัด ทำงานภายในวัดหรือให้ทำทัณฑ์บนหรือให้ขอขมาโทษในเมื่อบรรพชิตหรือคฤหัสถ์ในวัดนั้นประพฤติผิดคำสั่งเจ้าอาวาส ซึ่งได้สั่งโดยชอบด้วยพระธรรมวินัย กฏหมาเถรสมาคมข้อบังคับ ระเบียบหรือคำสั่งของมหาเถรสมาคม” อันนี้ เรื่องให้ทำงานในวัด เป็นการลงโทษชั้นเบาๆ ถ้าเขาทำความผิดขึ้นมาแล้ว เพราะผิดคำสั่งเจ้าอาวาส แต่คำสั่งเจ้าอาวาสนั้น ต้องเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยพระธรรมวินัย กฎมหาเถรสมาคม ข้อบังคับระเบียบหรือคำสั่งของมหาเถรสมาคม ถ้าคำสั่งเจ้าอาวาสไม่ชอบด้วยหลักนี้ แม้เขาจะประพฤติคำสั่งเจ้าอาวาส ก็ลงโทษเขาไม่ได้ การลงโทษตามแบบนี้ เป็นการลงโทษชนิดหนึ่ง

     ต่อไปภึงมาตรา ๓๙ ซึ่งมาตราสุดท้าย เกี่ยวกับเรื่องวัดและเป็มาตราที่จะเว้นเสียมิได้

     “มาตรา ๓๙ ในกรณีที่ไม่มีเจ้าอาวาสหรือเจ้าอาวาสไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้แต่งตั้งผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาส และให้ผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาสมีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับเจ้าอาวาส” อันนี้ วัดใดถ้าไม่มีตัวเจ้าอาวาสจะด้วยเหตุใดๆ ก็ตามหรือมีเจ้าอาวาสอยู่แต่ไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ด้วยเหตุใดๆ ก็ตามต้องให้แต่งตั้งผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาส จะปล่อยไว้มิได้ เพราะถือเป็นตำแหน่งที่สำคัญเช่นเดียวกับตำแหน่งประธานกรรมการมหาเถรสมาคม และการแต่งตั้งนั้น ต้องแต่งตั้งเป็นลายลักษณ์อักษร มิใช่แต่งตั้งด้วยวาจา เพราะจะไม่มีหลักฐานปรากฏ ถ้าเจ้าอาวาสไม่มีหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ บังคับให้แต่งตั้งผู้รักษาการแทน จะปล่อยเฉยเสียมิได้ เพราะไม่ปฏิบัติตามกฎหมายก็จัดว่าละเมิดจริยาได้ และผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาสนั้น ย่อมมีอำนาจและหน้าที่ดังเป็นเจ้าอาวาสทุกประการ        ความวรรคสองว่า “การแต่งตั้งผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาสให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎมหาเถรสมาคม” อันนี้ เป็นการบังคับการแต่งตั้งให้เป็นไปตามกฎมหาเถรสมาคม และได้มีกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ ๑๐ กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการไว้แล้ว และมีตารางบรรยายรายละเอียดเรื่องกฎฉบับนี้โดยเฉพาะ จึงไม่ขอกล่าวถึงแหละครับ