พระราชเมธี บรรยายเสริมมาตรา ๓๗-๓๙
สำหรับการบรรยายตามลำดับมาตรา คงได้เท่านี้นะครับ กระผมขอกล่าวความสรุปอีกสักเล็กน้อย
มาตรา ๓๗ หน้าที่เจ้าอาวาส อันนี้ อยากขอร้องท่านผู้เป็นเจ้าอาวาสทั้งหลาย ขอให้ศึกษาความให้ละเอียดถี่ถ้วน เพียง (๑) อันเดียวเท่านั้น ถ้าศึกษาโดยละเอียด จะเห็นว่าหน้าที่ของเจ้าอาวาสสำคัญมาก มาตรา ๓๗ เจ้าอาวาสมีหน้าที่ดังนี้ (๑) บำรุงรักษาวัดจัดกิจการและศาสนสมบัติของวัดให้เป็นไปด้วยดี เพียง (๑) บรรทัดเดียวนี้ มีความละเอียดลึกซึ้งมาก บำรุงหมายถึงการสร้างสรรค์เสนาสนะหรือสิ่งที่ไม่เคยมีให้เกิดขึ้น เหมือนอย่างที่วัดบูรพาภิรามนี้ ไม่เคยมีพระเจ้าใหญ่มาก่อน เจ้าอาวาสเรียกร้องศรัทธาประชาชนจนได้รับความร่วมมือ แล้วสร้างพระเจ้าใหญ่ขึ้นมา การสร้างสรรค์ทุกอย่าง ท่านใช้คำว่า บำรุง เช่น การตั้งวัดในชั้นแรก ก่อนกระทรวงประกาศตั้งวัด มีเสนาสนะพออยู่อาศัยได้เพียง ๔-๕ รูป และพอมีที่บำเพ็ญกุศลบางแห่งเท่านั้น ต่อมาสร้างศาลาการเปรียญขึ้น สร้างอุโบสถขึ้น ตามควรแก่โอกาส เช่นนี้ เป็นการบำรุงคือสร้างสมบัติเพิ่มเติมขึ้น แต่มิใช่ว่าสร้างสิ่งที่เป็นภัยต่อพระพุทธศาสนา แม้จะบำรุงก็บำรุงในสิ่งที่ชอบ ถ้าสร้างสิ่งที่เป็นภัยต่อพระพุทธศาสนา ก็เป็นการปฏิบัติหน้าที่อันไม่ชอบ รักษา หมายถึงการบูรณะปฏิสังขรณ์ ตลอดจนการรักษาความสะอาดในวัด จัดทำและจัดปรับปรุงบริเวณให้เป็นสัดส่วน เพื่อให้วัดเป็นรัมณียสถานพ่อสมควร อันนี้ ขอฝากท่านเจ้าอาวาสทุกรูป หน้าที่เจ้าอาวาสตาม (๑) ที่ให้ไว้นี้ สำคัญมาก การพระศาสนาการคณะสงฆ์จะเจริญก้าวหน้าหรือจะเสื่อม อยู่ที่เจ้าอาวาสปฏิบัติหน้าที่ได้ดีหรือไม่ดี เหมือนกับประเทศชาติจะเจริญหรือไม่ อยู่แต่ละครอบครัวดำเนินการในหลักเศรษฐกิจของตนได้ดีหรือไม่ ชาติเจริญก้าวหน้าเพราะครอบครัวดี สถาบันวัดจะเจริญก้าวหน้าก็เพราะจัดการวัดได้ดี เพราะวัดเป็นสถานที่สร้างสรรค์การคณะสงฆ์และการพระศาสนาให้เจริญ ดังนั้น อำนาจหน้าที่ของเจ้าคณะชั้นอื่น ๆ มิได้กำหนดโดยกฎหมาย อำนาจและหน้าที่ของผู้ปกครองสงฆ์ซึ่งกำหนดโดยกฎหมาย คือ อำนาจหน้าที่สมเด็จประสังฆราช ในฐานะสกลมหาสังฆปริณายก ตามความในมาตรา ๘ และอำนาจหน้าที่มหาเถรสมาคม ตามความในมาตรา ๑๘ เท่านั้น ส่วนอำนาจหน้าที่ของผู้ปกครองสงฆ์ นอกนี้ กำหนดโดยกฎมหาเถรสมาคมทั้งนั้น ก็เพราะความสำคัญของเจ้าอาวาส จึงกำหนดอำนาจและหน้าที่ไว้ ในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ จึงกำหนดอำนาจและหน้าที่ไว้ ในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ อันการบำรุงรักษาวัดนี้ เจ้าอาวาสทุกวัดอย่าได้ทอดทิ้ง ถ้าไม่มีเงินจะสร้างอะไรขึ้นใหม่ ไม่มีเงินจะบูรณะที่ชำรุด ก็ต้องรักษาบริเวณวัดและบริเวณเสนาสนะต่าง ๆ ให้สะอาดสะอ้าน น่าอยู่อาศัย อย่าให้อุโบสถรกรุงรัง อย่าให้เต็มด้วยรังปลวกหรือหยากเยื่อ และอยากขอร้องอีกอันหนึ่ง ป้ายบอกชื่อวัด อยากให้จัดทำทุกวัดครับ หากมีหน้าวัดแล้ว มีตรงทางแยกเข้าวัดพร้อมกับบอกระยะทางด้วยจะดียิ่ง ในเขตภาค ๑๐ พระผมพูดอยู่บ่อย ก็ได้ผลเพียงพอเริ่มตื่นตัวขึ้นบ้างเท่านั้น วัดต่าง ๆ อย่างไม่มีอะไร จัดรักษาความสะอาดให้ดี จัดทำป้ายบอกชื่อวัดและการเขียนชื่อวัดในป้าย ต้องให้ใช้ชื่อตามทะเบียนวัด อย่าได้เขียนชื่อวัดเองตามใจชอบ ท่านบอกว่า บำรุงรักษาวัดให้เป็นไปด้วยดี ต้องทำให้ดี จึงจะชื่อว่าปฏิบัติหน้าที่โดยถูกต้อง ถ้าบำรุงรักษาวัดไม่ดีหรือว่าไม่บำรังรักษาวัดเลย ชื่อว่าปฏิบัติหน้าที่ไม่ถูกต้อง เช่นการทำป้ายวัด ชื่อวัดอย่างหนึ่ง แต่เขียนป้ายเป็นอีกชื่อหนึ่ง ลักษณะนี้เป็นการบำรุงรักษาวัดในทางเสื่อมเสียเพราะเป็นการยัดเยียดความผิดพลาดให้เกิดขึ้น ซึ่งจะก่อให้เกิดความเสื่อมเสียในอนาคตกาล จัดกิจการของวัด วัดมีกิจการอย่างใด ต้องจัดให้เป็นไปด้วยดี คือเป็นไปตามระเบียบแบบแผนหรือเป็นไปเพื่อความเจริญก้าวหน้า จัดศาสนสมบัติของวัด วัดทุกวัดย่อมมีศาสนสมบัติน้อยบ้างมากบ้าง การจัดศาสนสมบัติเป็นหน้าที่อันสำคัญของเจ้าอาวาส จะต้องจัดการให้เป็นไปด้วยดีคือให้เป็นไปตามระเบียบแบบแผน ซึ่งหลักเกณฑ์และวิธีจัดนั้นมีรายละเอียดแจ้งอยู่ในกฎกระทรวงฉบับที่ ๒ และจะต้องจัดให้เป็นไปตามนั้น รอรับรายละเอียดในกฎกระทรวงซึ่งจะมีการบรรยายในวันต่อไป
ลักษณะที่สอง เจ้าอาวาสมีหน้าที่ปกครองคนในวัด คือปกครองพระภิกษุสามเณรและคนอาศัยวัด ให้ตั้งมั่นอยู่ในคุณธรรมทางพระพุทธศาสนา ให้ยึดมั่นอยู่ในพระธรรมวินัย และให้เคารพเชื่อฟังคำสั่งสอนของผู้บังคับบัญชาทุกระดับ พร้อมทั้งบทบัญญัติต่าง ๆ ที่บัญญัติเพื่อการวัดและการคณะสงฆ์ ตลอดจนคำสั่งของเจ้าอาวาส ซึ่งสั่งการโดยชอบ นี้คือหลักหน้าที่ในการปกครอง
ลักษณะที่สาม หน้าที่ในการดำเนินกิจการคณะสงฆ์ คือให้เป็นธุระในการจัดศาสนศึกษา และการเผยแผ่พระพุทธศาสนาซึ่งเป็นงานหลักของคณะสงฆ์ เจ้าอาวาสต้องเป็นธุระในเรื่องนี้เป็นพิเศษ และจัดการศึกษาสงเคราะห์เป็นงานรอง กฎหมายให้อำนาจกว้าง ๆ คือทั้งจัดเพื่อคนในวัดและคนนอกวัด ตามควรแก่กรณี
ลักษณะที่สี่ ต้องจัดการสาธารณสงเคราะห์ โดยให้ถือว่าวัดเป็นบุญสถาน เป็นบุญเขตและเป็นสาธารณสถาน ซึ่งเจ้าอาวาสต้องอำนวยความสดวก ให้ผู้มาขอใช้สถานที่บำเพ็ญกุศลในวัดตามสมควร อันนี้ ต้องระวังนะครับ เพราะท่านมีคำบังคับว่า ตามสมควร คนบำเพ็ญบุญกุศลในวัดนั้น ให้อำนวยความสดวกให้พอสมควร เกินสมควรมิได้ คำว่าสมควรนี้ หมายถึงให้พอเหมาะแก่บุคคลหรือพอเหมาะแก่ตน พอเหมาะสมแก่สภาพวัด มิให้ขัดต่อกฎหมาย มิให้ขัดต่อพระธรรมวินัย หรือระเบียบแบบแผน จารีตทางศาสนา เช่น ชาวบ้านขอจัดงานศพหรืองานมงคลในวัด จัดมหรสพ มีมวย รำวง การพนัน ตั้งร้านจำหน่ายสุรา อย่างนี้ เกินควร ห้ามอำนวยความสะดวกแม้งานในวัดเอง ก็อย่าให้มีมหรสพดังว่านั้น เพราะไม่ชอบด้วยระเบียบคณะสงฆ์ ถ้าอำนวยความสดวกในลักษณะนั้น เจ้าอาวาสย่อมละเมิดจริยา ขอให้ช่วยกันด้วยครับ ขณะนี้ งานวัดต่าง ๆ ชอบจะมีมวย รำวงหรือขายสุรา ดาษดื่นอยู่ นั่นคือการจัดงานเพื่อทำลายความมั่นคงของคณะสงฆ์ และของพระศาสนาของเจ้าอาวาสผู้ใช้หน้าที่ในลักษณะนี้ได้ระวังครับ
ต่อไปเป็นมาตรา ๓๘ ซึ่งเป็นคู่กับมาตรา ๓๗ และมาตรานี้ แสดงอำนาจของเจ้าอาวาสโดยลักษณะ พอแยกได้เป็น ๓ คือ
(๑) มีอำนาจรับคนเข้า
(๒) มีอำนาจเอาคนออก
(๓) มีอำนาจในการลงโทษ
อำนาจประการที่ ๑ อำนาจในการรับคนเข้าอยู่วัดนั้นการรับคนเข้ามาอยู่ในวัดนั้นเป็นอำนาจของเจ้าอาวาสแต่ผู้เดียวผู้อื่นจะใช้อำนาจนี้มิได้ ขอพูดฝากไว้ในระดับอำเภอด้วย เพราะเคยเจอปัญหา บางทีเจ้าอาวาสรับพระภิกษุสามเณรเข้าสังกัด ให้ย้ายสังกัดเข้ามา เจ้าอาวาสเซ็นรับแล้ว ขอให้เจ้าคณะอำเภอลงนามและประทับตรารับรองหนังสือสุทธิ แต่เจ้าคณะอำเภอไม่ยอมทำเอาดื้อ ๆ อย่างนี้ ก็เคยเจอ หรือบางทีเจ้าคณะอำเภอเข้าใจผิดหรือไม่ก็มีเจตนาก้าวก่าย รับพระภิกษุสามเณรเสียเอง เช่นเซ็นย้ายพระภิกษุสามเณรจากวัดของตน ประทับตราย้าย แล้วเซ็นนามและประทับตราการรับเข้าสังกัดวัดอื่นเรียบร้อย เหลือไว้เฉพาะช่องลายเซ็นเจ้าอาวาส ขอบอกว่า อย่างนี้ไม่ได้นะครับ เจ้าคณะอำเภอหรือเจ้าคณะชั้นใด ๆ จะรับพระภิกษุสามเณรเข้าวัดอื่นไม่ได้ กฎหมายให้อำนาจเฉพาะเจ้าอาวาสเท่านั้น ถ้าเจ้าคณะอำเภอไปรับเอง ขัดต่อพระราชบัญญัติมาตรา ๓๘ นี้ เมื่อเจ้าอาวาสรับเขาแล้ว ส่งไปยังเจ้าคณะอำเภอ เจ้าคณะอำเภอต้องลงนามรับรองและประทับตรารับรองการรับเข้าสังกัด ถ้าไม่ทำให้เป็นอะไรครับ เป็นการละเมิดจริยาพระสังฆาธิการครับ ในบทใด หนึ่ง ไม่เอื้อเฟื้อต่อกฎมหาเถรสมาคม ตามข้อ ๓๖ สอง ไม่อำนวยความสะดวกในการคณะสงฆ์และการพระศาสนา ตามข้อ ๔๒ การรับพระภิกษุสามเณรเข้าวัดเป็นการคณะสงฆ์และการพระศาสนา พร้อมกันนั้น อำนาจเจ้าอาวาสห้ามคนที่เจ้าอาวาสมิได้อนุญาตเข้าไปอยู่ในวัด ตัวบทท่านพูดถึงอำนาจห้ามคนเข้าแต่ก็หมายถึงรับคนเข้าด้วย ถ้าคนที่ไม่เห็นสมควร ท่านเจ้าอาวาสต้องห้าม เดี๋ยวนี้ มีประเภทหนึ่ง ซึ่งเป็นภัยต่อการปกครอง เช่น ชาวบ้างข้างวัดหรือทายกวัดกับเจ้าอาวาสไม่ถูกกัน จะเอาลูกบวชที่วัดนี้ ไม่ชอบเจ้าอาวาส เอาลูกไปบวชเสียที่วัดอื่นบวชเสร็จกลับเข้ามาอยู่วัดนี้ ลักษณะเช่นนี้ ถ้าจะไม่รับเจ้าอาวาสก็ทำได้ แต่ถ้าไม่รับมันเสียหายทางอื่น จะเกิดทะเลาะกันหนักขึ้นที่เป็นเช่นนี้ เพราะพระอุปัชฌาย์วัดโน้นไม่เอื้ออำนวยต่อการปฏิบัติหน้าที่เจ้าอาวาส บวชแล้วส่งให้ โดยปกติ บวชแล้วพระอุปัชฌาย์ต้องติดต่อเจ้าอาวาสเสียก่อน ถ้าเขายินดีรับจึงส่งให้นี้ไม่อย่างนั้น บวชเสร็จทำหนังสือสุทธิย้ายมาเสร็จ เกิดปัญหาอยู่บ่อยนัก ถ้าเจ้าอาวาสท่านใช้อำนาจเต็มที่แล้ว พระอุปัชฌาย์เสียคน อันนี้ ขอแนะนำไว้ว่า มันไม่เหมาะ ขอพระอุปัชฌาย์ได้เอื้ออำนวยแก่การปฏิบัติหน้าที่เจ้าอาวาสด้วยครับ
อำนาจประการที่ ๒ อำนาจเอาคนออก คือคนที่มาอยู่แล้วถ้าไม่ประพฤติตามกฎหมาย พระธรรมวินัย ตักเตือนแล้ว ยังดื้อรั้น สั่งไล่ออกจากวัดได้ และสั่งไล่แล้ว ถ้าไม่ปฏิบัติตาม ฟ้องขับไล่ได้ ดังที่คุณมนูได้พูดแล้ว ผมเคยเจอเรื่องเหมือนกันพระลูกวัดไม่เชื่อฟังเจ้าอาวาส เจ้าอาวาสสั่งไล่ออกจากวัด พระลูกวัดไม่ยอมออก เจ้าอาวาสฟ้องฐานไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าอาวาส ซึ่งสั่งการอันชอบด้วยกฎหมาย สู้กันถึงศาลฎีกา เจ้าอาวาสชนะ แต่ฐานพระลูกวัดไม่เคยกระทำความผิดมาก่อน ให้ปรับเป็นเงิน ๑๕๐ บาท ดังนั้น การฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าอาวาสซึ่งสั่งการโดยชอบด้วยกฎหมาย ย่อมมีโทษทางอาญาได้โดยแท้
อำนาจประการที่ ๓ อำนาจให้ช่วยงานวัดและอำนาจการลงโทษของเจ้าอาวาส แต่อำนาจที่ให้เจ้าอาวาสจะลงโทษได้นั้นมีเพียง ๓ อย่าง คือ ลงทัณฑกรรมทำทัณฑ์บน และ ให้ขอขมาโทษ จะลงอาญาเฆี่ยนตีหรือปรับโทษมิได้ และที่จะลงได้นั้น เฉพาะแต่ผู้ประพฤติผิดคำสั่งของเจ้าอาวาสซึ่งได้สั่งโดยชอบเท่านั้น
มาตรา ๓๙ เป็นมาตราที่กำหนดผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาสโดยมีบทบัญญัติบังคับไว้ว่า ในกรณีที่ไม่มีเจ้าอาวาสหรือเจ้าอาวาสไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้แต่งตั้งผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาส ความท่อนนี้บังคับไว้เพื่อมิให้ปล่อยวัดว่างจากเจ้าอาวาสซึ่งเป็นตัวแทนของวัด ซึ่งต้องให้มีและต้องอาจปฏิบัติหน้าที่ได้อยู่เสมอถ้าไม่มีหรือมีแต่ไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ บังคับให้แต่งตั้งผู้รักษาการแทน ถ้าไม่แต่งตั้งผู้รักษาการแทน ถือว่าละเมิดกฎหมายและละเมิดจริยาพระสังฆาธิการ และระบุอำนาจและหน้าที่เจ้าอาวาสไว้โดยชัดแจ้ง คือมีเท่านกับเจ้าอาวาสตามความในมาตรา ๓๗ และ ๓๘ ทุกประการ
วรรคสุดท้าย บังคับให้ยึดหลักเกณฑ์และวิธีการแต่งตั้งให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎมหาเถรสมาคม คือให้มหาเถรสมาคมตรากฎมหาเถรสมาคมเป็นหลักปฏิบัติ และบังคับให้เป็นไปตามนั้น จะเป็นไปโดยประการอื่นมิได้ รายละเอียดแห่งหลักเกณฑ์และวิธีแจ้งในกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ ๑๐ ซึ่งจักมีวิทยากรมาบรรยายใหรายละเอียดอีกครั้งหนึ่ง
ท่านเจ้าคณะพระสังฆาธิการทั้งหลาย บัดนี้ เป็นการอันสมควรแล้ว ขอจบบรรยายเพียงเท่านี้ ส่วนมาตรา ๔๐ ถึงมาตรา ๔๖ นั้น ขอให้ท่านศึกษารายละเอียดเอง
ที่สุดนี้ ด้วยอานุภาพแห่งคุณพระศรีรัตนตรัย ขอให้ท่านพระสังฆาธิการผู้รับการอบรมและเจ้าหน้าที่ทุกท่าน จงเจริญด้วยจตุรพิธพร และตั้งใจรับการอบรมและนำวิชาการที่ได้จากการอบรมไปใช้ให้เกิดประโยชน์แก่การคณะสงฆ์การวัดและการพระศาสนายิ่ง ๆ ขึ้นไป ทุกท่านเทอญ.
Views: 27