คำบรรยาย กฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ ๑๑ (พ.ศ.๒๕๒๑) ว่าด้วยการลงนิคหกรรม

คำบรรยาย[1]

กฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่  ๑๑

(พ.ศ.๒๕๒๑)

ว่าด้วยการลงนิคหกรรม

—————–

    อันนักปกครองทั้งทางราชอาณาจักรและทางพุทธจักร  จัดการปกครองหมู่คณะในอาณาจักรนั้น ๆ ก็เพื่อบำบัดทุกข์บำรุงสุขเป็นหลักสำคัญ มิใช่เพื่อประโยชน์อย่างอื่น แต่จะจัดการให้บรรลุผลสมมโนปณิธานได้นั้น ต้องใช้อุปกรณ์พิเศษ ๒ อย่าง คือ

     (๑) นิคหะ การปราบปรามผู้ควรปราบปราม

     (๒) ปัคคหะ การยกย่องผู้ควรยกย่อง

     ในทางอาณาจักรนั้น ได้ตราประมวลกฎหมายอาญาขึ้นเพื่อปราบปรามผู้ควรปราบปราม  กล่าวคือเพื่อใช้บำบัดทุกข์ ซึ่งเกิดขึ้นเพราะการเบียดเบียนข่มเหงตลอดจนฆ่าตีซึ่งกันและกัน “นี่คือหลักนิคหะ” และตราประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ขึ้นเพื่อรับรองสิทธิมนุษยชนในทุกด้าน กล่าวคือเพื่อบำบัดสุข “นี่คือหลักปัคคหะ” แต่กฎหมายดังกล่าวเป็นฝ่ายสารบัญญัติ มีฝ่ายเดียวเท่านั้น ย่อมไม่อำนวยผล จึงได้ประมวลตรากฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาและประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง  ซึ่งเป็นฝ่ายวิธีสบัญญัติขึ้น เพื่อเป็นอุปกรณ์ปราบปรามผู้ทำผิดกฎหมายอาญา และเป็นอุปกรณ์รับรองสิทธิมนุษยชนตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ นี้เป็นหลักการปกครองราชอาณาจักรส่วนหนึ่งซึ่งจะขาดเสียไม่ได้เลย

     ในทางพุทธจักรนั้น พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติสิกขาบท กำหนดโทษแก่ผู้ล่วงละเมิดสิกขาบทนั้นๆ ก็คือทรงบัญญัติโทษอาญา  ซึ่งเรียกว่า “พุทธอาณา” อันได้แก่ หลักนิคหะ  ทรงบัญญัติเพื่อปราบปรามผู้ควรปราบปราม ซึ่งตรงกับคำว่า “บำบัดทุกข์”  เป็นฝ่ายสารบัญญัติ และทรงบัญญัติหลักการปฏิบัติอื่นเป็นส่วนแห่งการยกย่อง เช่นทรงตั้งอัครสาวก ทรงมอบให้พระสงฆ์เป็นใหญ่ในสังฆกรรม  อันเป็นส่วนปัคคหะ การที่ทรงบัญญัติสิกขาบท อันเป็นส่วนนิคหะนั้น แม้จะทรงบัญญัติการลงโทษแก่ตัวผู้ล่วงละเมิดไว้แล้วก็ตาม แต่เพราะราชอาณาจักรเป็นฐานรองรับพุทธจักร จึงอาศัยอำนาจแห่งพระราชบัญญัติตรากฎมหาเถรสมาคมขึ้น เพื่อเป็นหลักเกณฑ์และวิธีการลงโทษแก่ผู้ล่วงละเมิดพระวินัยอีกชั้นหนึ่ง มิใช่บัญญัติโทษขึ้นใหม่ เป็นเพียงบัญญัติวิธีการลงโทษ ซึ่งอาศัยกฎหมายแผ่นดินเท่านั้น ซึ่งกฎมหาเถรสมาคมฉบับนี้ ก็เป็นฝ่ายวิธีสบัญญัติเหมือนกับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญานั่นเอง

     ในการตรากฎมหาเถรสมาคมฉบับนี้ มหาเถรสมาคมมิได้กำหนดนโยบายไว้โดยชัดแจ้ง แต่ก็ตราขึ้นเพื่อเป็นอุปกรณ์ในการปราบปรามพระภิกษุผู้ล่วงละเมิดพระวินัยคือสิกขาบท  เพื่อให้ได้มาซึ่งความเรียบร้อยดีงามในวงการคณะสงฆ์ จึงกล่าวได้ว่า ตราขึ้นโดยมุ่งอำนาจประโยชน์ที่พระพุทธเจ้าทรงมุ่งหวัง  เมื่อทรงบัญญัติสิกขาบทดังปรากฏในพระไตรปิกฎว่า เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติสิกขาบท ย่อมทรงบัญญัติเพราะทรงอาศัยอำนาจแห่งประโยชน์ ๑๐ ประการ[2] คือ

     (๑) เพื่อความยอมรับแห่งสงฆ์

     (๒) เพื่อความผาสุกแห่งสงฆ์

     (๓) เพื่อข่มบุคคลผู้เก้อยาก

     (๔) เพื่อความผาสุกแห่งพระภิกษุผู้มีศีลเป็นที่รัก

     (๕) เพื่อกำจัดอาสวะทั้งหลายที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน

     (๖) เพื่อป้องกันอาสวะทั้งหลายที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

     (๗) เพื่อให้เกิดความเลื่อมในแก่เหล่าชนผู้ยังไม่เลื่อมใส

     (๘) เพื่อให้เกิดความเลื่อมใสยิ่ง ๆ ขึ้นแก่เหล่าชนผู้เลื่อมใสแล้ว

     (๙) เพื่อความตั้งมั่นแห่งพระสัทธรรม[3]

     (๑๐) เพื่ออนุเคราะห์แก่พระวินัย[4]

     หลักเกณฑ์และวิธีการที่บัญญัติไว้ในกฎมหาเถรสมาคมฉบับนี้  เป็นอุปกรณ์การกำจัดพระภิกษุผู้ประพฤติล่วงละเมิดพระธรรมวินัย  และเป็นเครื่องรับรองพระภิกษุผู้ประพฤติดีประพฤติชอบ ซึ่งถูกฟ้องหรือถูกกล่าวหาหรือถูกแจ้งควมามผิด  ดังนั้น  จึงพอกล่าวนโยบายอันเป็นเหตุได้ ๓ คือ

     (๑) เพื่อให้เป็นอุปกรณ์กำจัดพระภิกษุผู้ทุศีล

     (๒) เพื่อให้เป็นอุปกรณ์ป้องกันและชำระมลทินในสังฆมณฑล

     (๓) เพื่อเป็นอุปกรณ์การปกครองคณะสงฆ์

     และเมื่อจะกล่าวถึงนโยบายอันคล้อยตามพุทธประสงค์ทั้ง ๑๐ ประการ สรุปเป็นส่วนผลได้ ๓ คือ

     (๑) เพื่อความบริสุทธิ์ผุดผ่องแห่งสังฆมลฑล (๑-๖)

     (๒) เพื่อเสริมสร้างกำลังให้แก่สังฆมลฑล (๗-๘)

     (๓) เพื่อความตั้งมั่นแห่งพุทธจักร[5](๙-๑๐)

หลักการ

     การตรากฎมหาเถรสมาคมทุกฉบับ หลักการเป็นส่วนสำคัญ ซึ่งจักขาดเสียมิได้ ดังนั้น การตรากฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ ๑๑ จึงกำหนดหลักการไว้ พอกล่าวโดยย่อได้ ๒ คือ

     ๑.  ยกเลิกความในข้อ ๓ (๗) ข.   แห่งกฎมหาเถรสมาคม  ฉบับที่ ๒ และกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ ๙

     ๒. ตรากฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ ๑๑ (พ.ศ. ๒๕๒๑) ว่าด้วยการลงนิคหะกรรม

เหตุผล

    นอกจากจะมีข้อนิยมหลักการเป็นส่วนสำคัญในการตรากฎมหาเถรสมาคมทุกฉบับแล้ว  จะต้องมีหลักสำคัญอีกคือเหตุผลในการตรา  ดังนั้น มหาเถรสมาคมจึงได้กำหนดเหตุผลในการตรากฎ ๑๑ ไว้ พอกล่าวโดยสรุปดังนี้

     “เนื่องด้วยความในข้อ ๓ (๗) ข. แห่งกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ ๒ ได้บัญญัติไว้ในกฎ ๑๑ และ กฎมหาเถรสมาคมฉบับที่ ๙ เป็นบทบัญญัติที่กำหนดให้ลงนิคหกรรมเป็นไปตามระเบียบมหาเถรสามคม และมอบหมายให้มหาเถรสมาคมมีอำนาจพิจารณาวินิจฉัยอธิกรณ์ที่ค้างปฏิบัติอยู่ก่อนวันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๐๖

     บัดนี้  สมควรยกเลิกความในข้อ ๓ (๗) แห่งกฎ ๒ และ  กฎ ๙ และตราขึ้นเป็นกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่๑๑ (พ..ศ.๒๕๒๑) ว่าด้วยการลงนิคหกรรม”

     โดยนัยนี้ เห็นชัดว่า เมื่อความในกฎมหาเถรสมาคมทั้ง ๒ ฉบับที่กล่าวถึงนั้นมิได้ใช้ เพราะจะต้องใช้ฉบับใหม่ จึงยกเลิกเสีย หรือจะกล่าวว่ารวมทั้ง ๒ ฉบับนั้น ตราขึ้นเป็นฉบับใหม่ก็ได้  

คำปรารภ

     ในส่วนหัวเรื่องของกฎมหาเถรสมาคมทุกฉบับ เป็นแบบเดียวกัน เปลี่ยนแต่ฉบับที่………  พ.ศ. ………..  และว่าด้วย ……………………………. ในตอนต้น  ก่อนจะขึ้นข้อ ๑-๓ ก็เป็นแบบเดียวกัน  เพราะเป็นข้อความเริ่มต้น  จึงขอเรียกว่า “คำปรารภ” ซึ่งพอกำหนดโดยลักษณะเป็น ๔ คือ

     ๑.  อำนาจในการตรา การตรากฎมหาเถรสมาคมทุกฉบับ ย่อมอ้างถึงอำนาจที่ให้ตรานั้น โดยอ้างพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ เป็นหลัก ๒ มาตรา คือ มาตรา ๑๘ และมาตราอื่นอีก ๑ มาตรา

     อันมาตรา ๑๘ เป็นมาตราที่ให้อำนาจทั้ง ๓ แก่มหาเถรสมาคม และการใช้อำนาจนิติบัญญัตินั้น มิใช่จะอาศัยอำนาจมาตรา ๑๘ ตรากฎมหาเถรสมาคมได้ทุกกรณีเพราะมีคำบังคับว่า “โดยไม่ขัดหรือแย้งกับกฎหมายและพระธรรมวินัย ใช้บังคับได้” ดังนั้น จะตรากฎมหาเถรสมาคมในกรณีใด ต้องมีมาตราอื่นที่ให้อำนาจไว้อีกชั้นหนึ่ง ดังเช่น การตรากฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ ๑๑ ก็อาศัยอำนาจมาตรา ๒๕ อีกชั้นหนึ่ง เพราะมาตรา ๒๕ นั้น ให้อำนาจโดยตรงนั่นเอง

     อันมาตรา ๒๕ ให้อำนาจตรากฎมหาเถรสมาคมกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการปฏิบัติเกี่ยวกับการลงนิคหกรรม โดยให้อยู่ในหลักเกณฑ์  

     (๑) เพื่อให้การปฏิบัติเป็นไปโดยถูกต้อง สะดวก รวดเร็ว และเป็นธรรม

     (๒) ให้หลักเกณฑ์และวิธีการที่ตราขึ้นนั้นเป็นการชอบด้วยกฎหมาย

     (๓) ให้กำหนดผู้มีอำนาจลงนิคหกรรมในชั้นใด ๆ

     (๔) ให้กำหนดให้การวินิจฉัยการลงนิคหกรรมเป็นอันยุติในชั้นใด ๆ

     ดังนั้น  การตรากฎมหาเถรสมาคมฉบับที่ ๑๑ จึงมุ่งให้การปฏิบัติของผู้มีอำนาจหน้าที่เป็นไปโดยถูกต้อง  มุ่งความสะดวกในการปฏิบัติ  มุ่งให้การปฏิบัติเป็นไปโดยรวดเร็วและมุ่งให้เกิดความเป็นธรรม  ส่วนการศึกษาตามตัวบท แม้จะไม่สะดวกหรือเข้าใจยากบ้าง ก็เป็นเรื่องการศึกษา อันขึ้นอยู่กับสติปัญญาของแต่ละท่าน

    ๒. ชื่อกฎ  ข้อ ๑.  กำหนดชื่อว่า “กฎมหาเถรสมคม ฉบับที่ ๑๑ (พ.ศ.๒๕๒๑) ว่าด้วยการลงนิคหกรรม” หากจะเรียกโดยย่อ เรียกว่า “กฎ ๑๑”

     ๓. วันประกาศใช้  กฎ ๑๑ นี้ ตราขึ้นเมื่อวันที่ ๘ พฤศจิกายน ๒๕๒๑ ประกาศในแถลงการณ์คณะสงฆ์ เล่ม ๖๖ ตอนพิเศษ เมื่อวันที่ ๒๕ ธันวาคม ๒๕๒๑ ความใน ข้อ ๒ กำหนดว่า “ให้ใช้บังคับแต่วันถัดจากวันประกาศในแถลงการณ์คณะสงฆ์เป็นต้นไป” ดังนั้น จึงใช้บังคับแต่วันที่ ๒๖ ธันวาคม ๒๕๒๑ เป็นต้นไป

     ๔. กำหนดให้ยกเลิก  นับแต่วันใช้กฎนี้ ให้ยกเลิก

           (๑) ความในข้อ ๓ (๗) ข.  แห่งกฎ ๒ และความใน กฎ ๙

           (๒)  ข้อบังคับ ระเบียบ คำสั่ง เกี่ยวกับคณะสงฆ์

                (ก) ในส่วนที่บัญญัติไว้ในกฎ ๑๑

                (ข) ซึ่งขัดหรือแย้งกับกฎ ๑๑

           ใน (๑) หมายถึง ให้ยกเลิกบทบัญญัติที่ได้บัญญัติไว้อย่างชัดแจ้งซึ่งมิได้ใช้

           ส่วนใน (๒) หมายถึง ให้ยกเลิกบทบัญญัติอื่น ๆ ซึ่งมีลักษณะ (ก) และ (ข) นั้นซึ่งอาจมีหลงเหลืออยู่ในที่อื่น ๆ เพราะมีกฎ ๑๑ ใช้โดยสมบูรณ์แล้ว


[1] เดิมเรียกว่า “เอกสารประกอบคำบรรยาย” เรียบเรียงเมื่อเป็น “พระศรีสุธรรมมุนี” เพื่อใช้ในการพัฒนาพระสังฆาธิการรุ่นที่ ๑,๒,๓ และในการถวายความรู้กฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ ๑๑ ของคณะสงฆ์ภาค ๑๐

[2] ดูพระไตรปิฎก เล่ม ๑ หน้า ๓๖-๓๗ และปฐมสมันตปาสาทิกา หน้า ๒๖๒-๒๖๕ ประกอบ

๓ พระสัทธรรมมี ๓ คือ พระปริยัติสัทธรรม ๑ พระปฏิปัตติสัทธรรม ๑ พระอธิคมสัทธรรม ๑

[4] พระวินัยมี ๔ คือ สังวรวินัย ๑ ปหานวินัย ๑ สมถวินัย ๑ ปัญญัติวินัย ๑

[5] พุทธจักรมีองค์ ๓ คือ พระพุทธศาสนา ๑ วัดวาอาราม ๑ สังฆมณฑล ๑