ลักษณะ ๑
บทนิยาม
———-
อันบทนิยาม คือ “บทให้ความหมาย” หรือ “บทให้คำจำกัดความ” ซึ่งจำกัดให้ใช้ความหมายดังที่นิยามนี้ในกฎฉบับนี้โดยตรง บทที่ท่านนิยามไว้นี้ ปรากฏในกฎฉบับนี้ ณ ที่ใด ให้ถือเอาความหมายตามที่นิยามไว้ จัดเป็นฝ่ายหลักเกณฑ์อันสำคัญที่ผู้ศึกษาต้องทำความเข้าใจเป็นพิเศษ บทนิยามดังกล่าวนี้ ท่านบัญญัติไว้ในข้อ ๔ มี ๑๘ บท พึงทราบตามลำดับ ดังนี้
๑.พระภิกษุ หมายถึง
(ก) พระภิกษุซึ่งมิใช่ผู้ปกครองสงฆ์ รวมถึงพระภิกษุซึ่งดำรงสมณศักดิ์ต่ำกว่าชั้นพระราชาคณะ
(ข) พระภิกษุผู้ปกครองสงฆ์ รวมถึงพระภิกษุผู้เป็นกิตติมศักดิ์ ผู้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาเจ้าคณะ ผู้ดำรงตำแหน่งเทียบพระสังฆาธิการ และผู้ดำรงสมณศักดิ์ชั้นพระราชาคณะขึ้นไป
ตามความใน (ก) ได้แก่พระลูกวัด กล่าวคือพระภิกษุผู้ไม่เข้าหลักใน (ข) แม้จะเป็นพระเปรียญ หรือพระฐานานุกรม หรือพระครูฐานานุกรม หรือพระครูสัญญาบัตร ก็จัดอยู่ใน (ก) นั้น
ตามความใน (ข) ได้แก่พระสังฆาธิการทุกตำแหน่ง เจ้าคณะใหญ่ กรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าอาวาสกิตติมศักดิ์ เจ้าคณะกิตติมศักดิ์ทุกตำแหน่ง ที่ปรึกษาเจ้าคณะทุกชั้น ผู้ดำรงตำแหน่งเทียบพระสังฆาธิการ เช่น พระคณาจารย์ ผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาส ผู้รักษาการแทนเจ้าคณะ
การที่แยกพระภิกษุออกเป็นประเภท (ก) และ (ข) เพราะหลักเกณฑ์การพิจารณาวินิจฉัยการลงนิคหกรรมนั้น กำหนดหลักเกณฑ์ไว้ลดหลั่นกันตามควรแก่ฐานะตำแหน่งทางการปกครองและศักดิ์ศรี โดยคำนึงถึงพระภิกษุผู้ทำความผิด จะต้องมีตำแหน่งต่ำกว่าพระภิกษุผู้พิจารณา และคณะผู้พิจารณาเสมอไป ทั้งผู้กระทำความผิดในเขตสังกัดและทั้งผู้กระทำความผิดนอกเขต เพราะผู้ใช้อำนาจตุลาการรวมอยู่กับพระสังฆาธิการซึ่งเป็นผู้ปกครองสงฆ์ มิได้แยกเป็นคณะอื่นไว้โดยเอกเทศ
๒. ความผิด หมายถึง การล่วงละเมิดพระธรรมวินัย
ใน ๒. นี้ จำกัดเพราะการล่วงละเมิดสิกขาบทอันเป็นพุทธบัญญัติ โดยตรงก็คือการประพฤติผิดพระธรรมวินัย ส่วนการล่วงละเมิดจริยาพระสังฆาธิการ และการละเมิดจริยาพระอุปัชฌาย์ ไม่จัดเป็นความผิดตามความหมายนี้ ดังนั้น การล่วงละเมิดพระธรรมวินัยนั้น จะดำเนินการพิจารณาวินิจฉัยการลงนิคหกรรมตามหลักเกณฑ์และวิธีการในกฎมหาเถรสมาคมฉบับนี้ ข้อสังเกตพิเศษ ท่านที่ใช้คำว่า “พระธรรม” คู่กับคำว่า “วินัย” รวมเป็น “พระธรรมวินัย” ไว้ในพระราชบัญญัติอันเป็นแม่บทและกฎฉบับนี้ คงจักหมายความว่า “พระธรรมวินัย” เป็นคำคู่กัน หรือเพราะพระพุทธเจ้าทรงใช้คำว่า “ธรรม” แทนคำว่า ”วินัย” เช่น ในพระวินัยปิฎก สิกขาบทที่ ๘ แห่งสังฆาทิเสส ว่า โย ปน ภิกฺขุ ภิกฺขุํ ทุฏฺโฐ โทโส อปฺปติโต อมูลเกน ปาราชิเกน ธมฺเมน อนุทฺธํเสยฺย และมีในบทอื่น ๆ อีก โดยอาศัยพระพุทธดำรัสเช่นว่านี้ จึงใช้คำว่า “พระธรรมวินัย” หรืออาจหมายความว่า ก่อนจะล่วงละเมิดพระวินัย ย่อมล่วงละเมิดธรรมะอันเป็นปทัฏฐานกล่าวคือล่วงละเมิดหิริและโอตตัปปะก่อนแล้ว หรืออาจหมายถึงการล่วงละเมิดพระธรรมรวมทั้งพระวินัย เช่น เป็นผู้ทำความทะเลาะวิวาทก่ออธิกรณ์ขึ้นในสงฆ์ด้วยตนเองหรือยุพระภิกษุอื่นให้ทำเป็นต้น
๓. นิคหกรรม หมายถึง การลงโทษตามพระธรรมวินัย
ใน ๓. นี้เป็นการจำกัดความอย่างชัดว่า ให้วินิจฉัยลงโทษทางพระวินัยอย่างเดียว จะวินิจฉัยลงโทษสถานอื่น เช่น ถอดถอนจากตำแหน่งพระสังฆาธิการ ถอดถอนจากตำแหน่งพระอุปัชฌาย์ มิได้ ซึ่งโทษทางพระวินัยนั้น โดยความได้แก่ “ปรับอาบัติ” และรูปอาบัตินั้นมี ๒ คือ อเตกิจฉา อาบัติที่เยียวยามิได้ คือต้องแล้ว ขาดจากความเป็นพระภิกษุ ต้องสึกเสีย ๑ สเตกิจฉา อาบัติที่พอเยียวยาได้ คือต้องแล้ว ต้องให้ทำคืนด้วยวุฏฐานวิธีหรือเทสนาวิธี ๑ ดังนัยแห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ มาตารา ๒๖ กำหนดว่า “นิคหกรรมให้สึก” ซึ่งได้แก่ “อเตกิจฉา” มาตรา ๒๗ กำหนดว่า “นิคหกรรมไม่ถึงให้สึก” ซึ่งได้แก่ “สเตกิจฉา” นั่นเอง และอาจหมายถึงการลงโทษอุกเขปนียกรรม หรือตัชชนียกรรมเป็นต้นด้วย
๔. ผู้มีส่วนได้เสีย หมายถึง พระภิกษุผู้ปกตัตตะ ซึ่งมีสังกัดในวัดเดียวกันและมีสังวาสเสมอกันกับพระภิกษุผู้เป็นจำเลย
ใน ๔. คำว่า พระภิกษุผู้ปกตัตตะ ได้แก่ พระภิกษุผู้มีตนตามปกติ[1]คือมิใช่ผู้ต้องอาบัติสังฆาทิเสสซึ่งกำลังประพฤติวุฏฐานวิธี หรือมิใช่ผู้ถูกสงฆ์ลงอุกเขปนียกรรม ในเพราะไม่เห็นซึ่งอาบัติ ในเพราะไม่ทำคืนซึ่งอาบัติ หรือในเพราะไม่สละทิฏฐิอันลามก และพระภิกษุปกตัตตะที่จะจัดว่า “ผู้มีส่วนได้เสีย” เพราะมีองค์ประกอบ ๒ อย่าง คือ
(ก) ต้องมีสังกัดอยู่ในวัดเดียวกันกับภิกษุผู้เป็นจำเลย
(ข) ต้องมีสังวาสเสมอกันกับพระภิกษุผู้เป็นจำเลย
คำว่า “สังวาส” นั้น ในปฐมสมันตปสาทิกา ได้แก่ธรรมเป็นเครื่องอยู่ร่วมกันของพระภิกษุ ๓ อย่าง[2] คือ
(ก) เอกกัมมะ มีสังฆกรรม ๔ อย่าง คือ อปโลกนกรรม ญัตติกรรม ญัตติทุติยกรรม และญัตติจตุตถกรรม เป็นอันเดียวกัน ได้แก่ ร่วมสังฆกรรมกันได้
(ข) เอกุทเทสะ มีอุทเทส ๕ คือ นิททานุทเทส ปาราชิกุทเทส สังฆาทิเสสุทเทส อนิยตุทเทส และวิตถารุทเทส เป็นอันเดียวกัน กล่าวคือมีพระปาฏิโมกข์เป็นอันเดียวกัน ได้แก่ร่วมอุโปสถกันได้
(ค) สมสิกขาตา ความเป็นผู้มีสิกขาเสมอกัน
คำว่า “ผู้มีส่วนได้เสีย” หมายถึง “เป็นผู้มีส่วนได้เสียทางสัฆกรรม” ได้แก่เมื่อฝ่ายหนึ่งล่วงละเมิดครุกาบัติแล้ว เมื่อร่วมสังฆกรรมย่อมทำสังฆกรรมใด ๆ ให้เสีย ฝ่ายหนึ่งย่อมพลอยเสียไปด้วย
๕. ผู้เสียหาย หมายถึง ผู้ได้รับความเสียหายเฉพาะตัวเนื่องจากการกระทำความผิดของพระภิกษุผู้เป็นจำเลย และหมายความรวมถึงผู้จัดการแทนผู้เสียหายในกรณีดังต่อไปนี้
ใน ๕. คำว่า “ผู้เสียหาย” ท่านจำแนกไว้ ๒ ประเภท คือ “ผู้เสียหายเฉาะตัว” และ “ผู้จัดการแทนผู้เสียหาย” พึงทราบคำอธิบายดังนี้
ก. ผู้เสียหายเฉพาะตัว ได้แก่บุคคลผู้บรรลุนิติภาวะแล้วไม่เป็นผู้ไร้ความสามารถ และเป็นผู้สามรถดำเนินการฟ้องเองได้ ซึ่งถูกพระภิกษุกระทำให้เกิดความเสียหายอย่างใดอย่างหนึ่ง จะเป็นอุปสัมบันหรืออนุปสัมบันก็ตาม เป็นโจทก์ฟ้องพระภิกษุผู้กระทำความผิดต่อพระภิกษุผู้พิจารณาได้
ข. ผู้จัดการแทนผู้เสียหาย ในกรณี่ที่ผู้ถูกพระภิกษุกระทำให้เกิดความเสียหายอย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว ตนเองไม่อาจเป็นโจทก์ฟ้องเองได้ เพราะเหตุอย่างใดอย่างหนึ่ง ให้มีผู้ปฏิบัติหน้าที่เป็นโจทก์แทน อันได้แก่ “ผู้จัดการแทนผู้เสียหาย” แยกโดยลักษณะเป็น ๓ ประเภท คือ
(๑) ผู้จัดการแทนผู้เยาว์หรือผู้ไร้ความสามารถ ผู้เยาว์และผู้ไร้ความสามารถ จัดการฟ้องเองมิได้ จำเป็นต้องมีผู้จัดการแทน ท่านกำหนดบุคคลผู้เป็นผู้จัดการแทนเป็น ๓ คือ
(ก) ผู้แทนโดยชอบธรรม[3] ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑ (๑๓) ความว่า “ผู้แทนโดยชอบธรรม” หมายความว่า “บุคคลซึ่งตามกฎมหมายมีสิทธิที่จะทำการแทนบุคคลผู้ไร้ความสามารถ หรือบุคคลที่จะต้องให้คำอนุญาต หรือให้ความยินยอมแก่ผู้ไร้ความสามารถในอันที่จะทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง” ซึ่งตามนัยนี้ ผู้แทนโดยชอบธรรม หมายถึงผู้จัดการแทนบุคคลผู้ไม่มีความสามารถตามกฎหมาย หรือความสามารถถูกกำจัดโดยบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ว่าด้วยความสามารถ ซึ่งเป็นความหมายที่รวมเอาทั้งผู้อนุบาลและผู้พิทักษ์ไว้ด้วย ส่วนบทนิยามตามข้อ ๔ (๕) ก. แห่งกฎมหายเถรสมาคมฉบับนี้ ผู้แทนโดยชอบธรรมย่อมหมายเฉพาะผู้ที่เกี่ยวกับผู้เยาว์ เพราะแยกผู้อนุบาลตามกฎหมายไว้ส่วนหนึ่งอย่างชัดแจ้ง ถ้าถือเอาความตามมาตรา๑๕๙๘/๓ วรรคแรก แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ซึ่งมีความว่า “ผู้ปกครองเป็นผู้แทนโดยชอบธรรมของผู้อยู่ในปกครอง” และตามมาตราอื่นเกี่ยวกับความปกครอง พอกล่าวได้ว่า ผู้แทนโดยชอบธรรม ตามบทนิยามนี้ หมายถึง ผู้ใช้อำนาจผู้ปกครอง หรือ ผู้ปกครองผู้เยาว์ ซึ่งโดยตรงได้แก่บิดามารดาและโดยนัยอื่นได้แก่ ผู้ปกครองที่บิดามารดาผู้ซึ่งตายทีหลังตั้งโดยพินัยกรรม หรือผู้ปกครองที่ศาลตั้งขึ้นในเมื่อญาติของผู้เยาว์หรืออัยการร้องขอ หรือผู้ปกครองบุตรบุญธรรมซึ่งยังเป็นผู้เยาว์ ผู้เยาว์นั้น[4] ได้แก่ผู้ยังไม่บรรลุนิติภาวะเพราะอายุยังไม่ครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์ หรือเพราะยังมิได้สมรสอันชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งผู้เยาว์ดังกล่าวนี้กฎหมายจำกัดสิทธิในการทำนิติกรรม แม้จะถูกพระภิกษุกระทำให้ได้รับความเสียหาย ก็ไม่อาจเป็นโจทก์ฟ้องพระภิกษุด้วยตนเองได้ ดังนั้น จึงบัญญัติให้มีผู้แทนโดยชอบธรรม เป็นผู้จัดการแทนผู้เสียหายเฉพาะในกรณีที่กระทำความผิดต่อผู้เยาว์ ซึ่งอยู่ในความดูแล กล่าวคือ ให้ผู้แทนโดยชอบธรรมนั้น เป็นโจทก์ฟ้องแทน หรือจะกล่าวว่า “ผู้แทนโดยชอบธรรมเป็นผู้เสียหาย” ก็ย่อมได้
(ข) ผู้อนุบาลตามกฎหมาย[5] คือบุคคลผู้ที่ศาลตั้งขึ้นให้เป็นผู้อนุบาลบุคคลผู้ไร้ความสามรถ ชื่อว่า “ผู้อนุบาลตามกฎหมาย” ผู้ไร้ความสามารถนั้นคือบุคคลใดซึ่งวิกลจริต ถ้าสามีภริยา ผู้บุพการี ผู้สืบสันดาน หรือ พนักงานอัยการ ร้องขอต่อศาลแล้ว ศาลสั่งให้บุคคลนั้นเป็นคนไร้ความสามารถ โดยนำคำสั่งลงโฆษณาในราชกิจจานุเบกษา และบุคคลประเภทนี้ ให้อยู่ในความดูแลของผู้อื่นที่ศาลตั้งขึ้น ซึ่งเรียกว่า “ผู้อนุบาล” ผู้ไร้ความสามารถนี้ เป็นผู้เสียสุขภาพทางจิต เสื่อมความสามารถตามกฎหมาย ทำนิติกรรมใด ๆ มิได้ นิติกรรมใด ๆ อันเกี่ยวกับบุคคลผู้ไร้ความสามารถตกเป็นภาระของผู้อนุบาลในบทนิยามตามกฎนี้ ได้กำหนดให้ผู้อนุบาลตามกฎหมายนี้เองเป็นผู้จัดการแทนเฉพาะในกรณีที่พระภิกษุกระทำความผิดต่อผู้ไร้ความสามารถ ซึ่งอยู่ในความดูแล
อนึ่ง มีบุคคลอีกประเภทหนึ่ง คือคนเสมือนไร้ความสามารถ[6] กล่าวคือบุคคลใดไม่สามารถจะจัดทำงานของตนเองได้ เพราะกายพิการหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบหรือความประพฤติสุรุ่ยสุร่ายเสเพลเป็นอาจิณ หรือเพราะติดสุรายาเมา เมื่อสามีภริยาหรือผู้บุพการี เป็นต้น ร้องขอต่อศาล ศาลสั่งให้บุคคลนั้น เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถ และสั่งให้อยู่ในความพิทักษ์ของผู้ใดผู้หนึ่ง ซึ่งเรียกว่า “ผู้พิทักษ์” ผู้เช่นนี้จะทำนิติกรรมโดยลำพังมิได้ จะทำนิติกรรมได้ก็โดยความยินยอมของผู้พิทักษ์ แต่ในบทนิยามนี้มิได้กล่าวไว้ ก็แสดงว่าอาจยอมให้เป็นโจทก์ฟ้องเองได้โดยความยินยอมหรือจัดเข้าในข้อว่า “ผู้อนุบาลตามกฎหมาย”
(ค) ผู้ตามที่พระภิกษุผู้มีอำนาจลงนิคหกรรมเห็นสมควรให้เป็นผู้จัดการแทน ผู้จัดการแทนผู้เสียหายในกรณีเช่นนี้ หมายถึงผู้จัดการแทนผู้เยาว์หรือผู้ไร้ความสามารถ ซึ่งไม่มีผู้แทนโดยชอบธรรมหรือผู้อนุบาลตามกฎหมาย หรือมีแต่ไม่สามารถที่จะทำตามหน้าที่ได้ด้วยเหตุใดเหตุหนึ่ง ซึ่งในลักษณะเช่นว่านี้ หากพระภิกษุกระทำให้ผู้เยาว์หรือผู้ไร้ความสามารถเสียหาย จะมีผู้ใดเป็นโจทก์ จัดการฟ้อง จึงมีบทบัญญัติรับผู้ตามที่พระภิกษุผู้มีอำนาจลงนิคหกรรมพิจารณาเห็นสมควรให้เป็นผู้จัดการแทนผู้เสียหายเฉพาะความผิดซึ่งได้กระทำต่อผู้เยาว์หรือผู้ไร้ความสามารถ หมายความว่า ในกรณีเช่นนี้ พระภิกษุผู้พิจารณา ได้พิจารณาเห็นสมควรจะให้ผู้ใดผู้หนึ่งเป็นผู้จัดการแทน ย่อมกระทำได้ ข้อนี้เทียบได้กับการตั้งผู้แทนเฉพาะคดี ของศาลฝ่ายอาณาจักร ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๖ ซึ่งในมาตรา ๖ นั้น ให้ศาลตั้งผู้แทนเฉพาะคดี ถ้าไม่มีบุคคลเป็นผู้แทน ให้ตั้งพนักงานฝ่ายปกครองเป็นผู้แทน[7]
(๒) ผู้แทนบุคคลผู้บรรลุนิติภาวะ ผู้บรรลุนิติภาวะแล้ว โดยปกติย่อมมีสิทธิทำนิติกรรมใด ๆ ได้ทุกอย่าง แต่ในบางกรณีจำเป็นต้องให้มีผู้จัดการแทน คือในกรณีที่ผู้เสียหายตายก่อนฟ้องหรือหลังฟ้อง หรือผู้เสียหายเจ็บป่วยไม่สามารถจัดการฟ้องเองได้ ในกรณีเช่นนี้ ให้บุคคลดังกล่าวต่อไปนี้ เป็นผู้จัดการแทนได้
(ก) ผู้บุพการี ได้แก่ บุคคลผู้เป็นบุรพชนหรือญาติชั้นผู้ใหญ่ ๓ ชั้น คือ บิดา มารดา, ปู่ย่า ตายาย, ทวด[8]
(ข) ผู้สืบสันดาน ได้แก่ ผู้สืบสายโลหิตชั้นต่ำตามลำดับ ๔ ชั้น คือ ลูก หลาน เหลน ลื้อ[9]
(ค) ผู้สัมพันธ์โดยกฎหมาย ได้แก่ สามีหรือภรรยา ซึ่งถูกต้องตามกฎหมาย
(ง) ผู้สัมพันธ์โดยสายโลหิต ได้แก่ พี่ น้อง ร่วมบิดามารดาหรือร่วมเฉพาะมารดาหรือร่วมเฉพาะบิดา
(๓) ผู้จัดการหรือผู้เป็นนิติบุคคล[10] คำว่า “นิติบุคคล” หมายถึง หน่อยงานหรือสถาบันหรือคณะบุคคลซึ่งเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย คือกฎหมายยอมรับว่า “เป็นเสมือนบุคคลธรรมดา” ซึ่งนิติบุคคลนี้มีสิทธิ์หน้าที่เหมือนบุคคลธรรมดาทุกอย่าง เช่น คนธรรมดามีทรัพย์สินเงินทองได้ นิติบุคคลก็มีทรัพย์สินเงินทองได้ บุคคลธรรมดาทำนิติกรรมได้ นิติบุคคลก็ทำนิติกรรมได้ เว้นแต่สิทธิและหน้าที่เฉพาะบุคคลธรรมดา เช่น การสมรส
ในมาตรา ๗๒ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์[11] ระบุจำพวกที่เป็นนิติบุคคลไว้ ๖ คือ
(๑) ทบวงการเมือง
(๒) วัดวาอาราม
(๓) ห้างหุ่นส่วนที่จดทะเบียนแล้ว
(๔) บริษัทจำกัด
(๕) สมาคม
(๖) มูลนิธิที่รับมอบอำนาจแล้ว
ทั้ง ๖ จำพวกนี้ จะทำนิติกรรมหรือใช้สิทธิหรือหน้าที่อื่นใดเองมิได้ แต่ทั้ง ๖ จำพวกนี้ทำนิติกรรมใด ๆ หรือใช้สิทธิหรือหน้าที่อื่นใดอันชอบด้วยกฎหมายได้ เพราะอาศัยผู้จัดการหรือผู้แทน หากขาดผู้จัดการหรือผู้แทนแล้ว ทั้ง ๖ จำพวกนี้ จะทำนิติกรรมเป็นต้นมิได้ ดังความในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๗๕ ว่า “อันความประสงค์ของนิติบุคคลนั้น ย่อมแสดงปรากฏจากผู้แทนทั้งหลายของนิติบุคคลนั้น” ผู้จัดการนิติบุคคลนั้น ได้บัญญัตินามตำแหน่งไว้ต่างกัน เช่น กรม อธิบดีเป็นผู้จัดการ จังหวัด ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้จัดการ วัด เจ้าอาวาส เป็นผู้จัดการ ดังนั้น ทั้ง ๖ จำพวกนี้ ถ้าพระภิกษุกระทำความผิดต่อจำพวกใดจำพวกหนึ่ง จำพวกนั้น ไม่อาจเป็นโจทก์ฟ้องพระภิกษุเองได้ ต้องมีผู้จัดการหรือผู้แทนของนิติบุคคลนั้น เป็นโจทก์ฟ้องพระภิกษุแทน
๖. โจทก์ หมายถึง
ก. ผู้มีส่วนได้เสียหรือผู้เสียหาย ซึ่งฟ้องพระภิกษุต่อพระภิกษุผู้พิจารณาในข้อหาว่าได้กระทำความผิด หรือ
ข. พระภิกษุซึ่งได้รับแต่งตั้งให้ปฏิบัติหน้าที่โจทก์แทนสงฆ์ในชั้นพิจารณาวินิจฉัยในการลงนิคคหกรรมเกี่ยวกับความผิดของพระภิกษุผู้ถูกกล่าวหา
ใน ก. ได้แก่ ผู้มีส่วนได้เสียตามความในข้อ ๔ (๔) และผู้เสียหาย ทั้งผู้จัดการแทนผู้เสียหายตามความในข้อ ๔ (๕)
ใน ข. ได้แก่ พระภิกษุผู้ได้รับแต่งตั้งให้เป็นโจทก์แทนสงฆ์ใน ๓ กรณี ตามความในข้อ ๒๘ วรรคแรก ซึ่งเรียกว่า “โจทก์แทนสงฆ์”
๗. จำเลย หมายถึง
ก. พระภิกษุผู้ซึ่งถูกฟ้องต่อพระภิกษุผู้พิจารณาในข้อหาว่าได้กระทำความผิด หรือ
ข. พระภิกษุผู้ถูกกล่าวหาซึ่งตกเป็นจำเลยชั้นพิจารณาวินิจฉัยการลงนิคหกรรม
พระภิกษุใน ก. ตกเป็นจำเลยในขณะที่ผู้พิจารณารับเรื่องฟ้องของโจทก์ ยังมิต้องส่งฟ้องต่อคณะผู้พิจารณาชั้นต้น ต่างจากจำเลยในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา ๑ (๓)
ส่วนพระภิกษุใน ข. ตกเป็นจำเลยในเมื่อคณะผู้พิจารณาชั้นต้นรับคำกล่าวหาคำแจ้งความผิด หรือรับพฤติการณ์อันน่ารังเกียจสงสัย ไว้เพื่อดำเนินการพิจารณาวินิจฉัย คือ ประทับฟ้อง และได้แต่งตั้งผู้ปฏิบัติหน้าที่โจทก์แทนสงฆ์แล้ว
๘. ผู้กล่าวหา หมายถึง ผู้บอกกล่าวการกระทำความผิดพระภิกษุต่อพระภิกษุผู้พิจารณา โดยที่ตนมิได้มีส่วนได้เสีย หรือมิได้เป็นผู้เสียหาย และประกอบด้วยคุณสมบัติอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้
ก. เป็นพระภิกษุปกตัตตะหรือสามเณร ซึ่งถึงพร้อมด้วยศีลและอาจาระและมีสังกัดอยู่ในวัดใดวัดหนึ่ง
ข. เป็นคฤหัสถ์ผู้นับถืพระพุทธศาสนา ซึ่งมีอายุ ๒๐ ปี บริบูรณ์ มีความประพฤติเรียบร้อย มีวาจาพอเป็นที่เชื่อถือได้ และมีอาชีพเป็นหลักฐาน
ใน ก. และ ข. เป็นอันบัญญัติผู้มีสิทธิกล่าวหาไว้โดยแจ้งชัด คือให้เป็นผู้กล่าวหาได้เฉพาะพระภิกษุปกตัตตะและสามเณรซึ่งมีสังกัดวัดเป็นหลักฐาน ประเภทไม่มีสังกัดแม้จะกล่าวหาก็ไม่อยู่ในเกณฑ์รับดำเนิการ ส่วนคฤหัสถ์นั้น ต้องเป็นผู้นับถือพระพุทธศาสนาประเภทเดียว ผู้นับถือศาสนาอื่น แม้จะกล่าวหา ก็ไม่อยู่ในเกณฑ์ที่จะรับดำเนินการ การมิให้โอกาสแก่คนนอกศาสนาบอกกล่าวการกระทำความผิดของพระภิกษุนั้น นับว่าเป็นประโยชน์ต่อความมั่นคงแห่งพระพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่ง
๙. ผู้แจ้งความผิด หมายถึงพระภิกษุผู้ปกครองสงฆ์ซึ่งไม่มีอำนาจลงนิคหกรรมแจ้งการกระทำความผิด หรือพฤติการณ์อันเป็นที่น่ารังเกียจสงสัยในความผิดของพระภิกษุซึ่งได้พบเห็น ต่อพระภิกษุผู้พิจารณา
พระภิกษุใน ๙. ได้แก่ พระภิกษุผู้ปกครองสงฆ์แต่ไม่มีอำนาจลงนิคหกรรมเพราะเหตุอย่างใดอย่างหนึ่ง คือ เพราะตนเป็นเพียงรองเจ้าคณะจึงไม่มีอำนาจในการลงนิคหกรรมโดยตรงดังเช่นเจ้าคณะ หรือเพราะตนเป็นเจ้าคณะแต่ได้พบเห็นนอกเขตอำนาจหน้าที่ หรือเพราะผู้กระทำผิดไม่อยู่ในวิสัยด้วยเหตุผลอื่นใด ในกรณีเช่นว่านี้ มีบทบัญญัติให้โอกาสแก่พระภิกษุผู้ปกครองสงฆ์นั้น เพื่อแจ้งความผิดต่อพระภิกษุผู้พิจารณาเจ้าสังกัดหรือเจ้าของเขต แล้วแต่กรณี
๑๐. ผู้ถูกกล่าวหา หมายถึง
ก. พระภิกษุซึ่งถูกผู้กล่าวหาบอกกล่าวการกระทำความผิดต่อพระภิกษุผู้พิจารณา
ข. พระภิกษุซึ่งถูกแจ้งความผิด แจ้งการกระทำความผิดหรือพฤติการณ์อันเป็นที่รังเกียจสงสัยในความผิดต่อพระภิกษุผู้พิจารณา
พระภิกษุใน ๑๐. ก. และ ข. เมื่อถูกยื่นเรื่องราวต่อผู้พิจารณาตลอดจนระหว่างไต่สวนมูลฟ้อง จัดเป็นเพียงผู้ถูกกล่าวหา เมื่อประทับฟ้องและตั้งโจทก์แทนสงฆ์แล้ว จึงตกเป็นจำเลยตาม ๗. ข.
๑๑. ผู้มีอำนาจลงนิคหกรรม หมายถึง พระภิกษุผู้พิจารณา และคณะผู้พิจารณา
ใน ๑๑. พระภิกษุผู้พิจารณา ได้แก่เจ้าอาวาส เจ้าคณะทุกชั้น และสมเด็จพระสังฆราช รวมถึงผู้รักษาการแทนหรือผู้ปฏิบัติหน้าที่แทน ซึ่งชอบด้วยกฎมหาเถรสมาคมและพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ด้วย แต่รองหรือผู้ช่วยเจ้าอาวาสหรือรองเจ้าคณะหาใช่ผู้พิจารณาไม่ คณะผู้พิจารณาหมายถึงทั้ง ๓ ชั้น ดังข้อ ๔ (๑๕), (๑๖), (๑๗), (๑๘)
๑๒. เจ้าสังกัด หมายถึง พระภิกษุผู้ปกครองสงฆ์ชั้นเจ้าอาวาส เจ้าคณะ เจ้าสังกัด ซึ่งมีอำนาจลงนิคหกรรมแก่พระภิกษุผู้กระทำความผิดในเขตจังหวัดที่สังกัดอยู่
ใน ๑๒. ได้แก่ เจ้าอาวาสเจ้าสังกัด และเจ้าคณะเจ้าสังกัด ซึ่งปกครองพระภิกษุผู้กระทำความผิดในเขตสังกัด
๑๓. เจ้าของเขต หมายถึง พระภิกษุผู้ปกครองสงฆ์ชั้นเจ้าคณะเจ้าของเขต ซึ่งมีอำนาจลงนิคหกรรมแก่พระภิกษุผู้กระทำความผิดในเขตที่มิได้สังกัดอยู่
ใน ๑๓. ได้แก่ เจ้าคณะผู้ปกครองเขตซึ่งพระภิกษุในสังกัดอื่นไปกระทำความผิดกำหนดตามผู้กระทำความผิด
๑๔. ผู้พิจารณา หมายถึง เจ้าสังกัดและเจ้าของเขตแล้วแต่กรณี ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ดำเนินการตามวิธีปฏิบัติเบื้องต้น
ใน ๑๔. ได้แก่ เจ้าอาวาสเจ้าสังกัดหรือเจ้าคณะเจ้าสังกัด หรือเจ้าคณะเจ้าของเขต แล้วแต่กรณี ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ดำเนินการตามวิธีปฏิบัติเบื้องต้น แต่เป็นตำแหน่งซึ่งมีอำนาจลงนิคหกรรมตามคำสารภาพหรือตามที่ได้พบเห็นอย่างประจักษ์ชัดได้ โดยดำเนินการรูปเดียว ไม่มีผู้ใดร่วมเป็นคณะ โดยตรงได้แก่ผู้ปกครองสงฆ์ ๗ ตำแหน่ง คือ เจ้าอาวาส เจ้าคณะตำบล เจ้าคณะอำเภอ เจ้าคณะจังหวัด เจ้าคณะภาค เจ้าคณะใหญ่ และสมเด็จพระสังฆราช
๑๕. คณะผู้พิจารณา หมายถึง มหาเถรสมาคม และคณะผู้พิจารณา ซึ่งมีผู้ดำรงตำแหน่งสูงเป็นหัวหน้า มีอำนาจดำเนินการตามวิธีไต่สวนมูลฟ้องและวิธีพิจารณาวินิจฉัยการลงนิคหกรรม
ใน ๑๕. ได้แก่ มหาเถรสมาคมซึ่งมีสมเด็จพระสังฆราชเป็นประธานกรรมการและพระภิกษุผู้ปกครองสงฆ์รวมกัน ๓ ตำแหน่ง เป็นคณะผู้พิจารณา โดยมีผู้ดำรงตำแหน่งสูงเป็นหัวหน้าคณะ
๑๖. คณะผู้พิจารณาชั้นต้น หมายถึง คณะผู้พิจารณาตามความในข้อ ๒๔ ซึ่งประกอบด้วยอันดับ ๗ อันดับ ตามข้อ ๗ มีอำนาจลงนิคหกรรมตามวิธีไต่สวนมูลฟ้องและวิธีพิจารณาวินิจฉัยการลงนิคหกรรมชั้นต้น
ใน ๑๖. ได้แก่ ผู้พิจารณาชั้นต้น ๗ อันดับ ดังเช่นผู้พิจารณา โดยมีเจ้าอาวาสหรือเจ้าคณะซึ่งเป็นผู้พิจารณาร่วมในคณะ มีเจ้าคณะระดับสูงอีกชั้นหนึ่งเป็นหัวหน้า มีรองเจ้าคณะระดับสูงนั้นร่วมในคณะผู้พิจารณาด้วย
๑๗. คณะผู้พิจารณาชั้นอุทธรณ์ หมายถึง คณะผู้พิจารณาตามความในข้อ ๒๕ ซึ่งประกอบด้วยอันดับ ๔ อันดับ มีอำนาจลงนิคหกรรมตามวิธีพิจารณาวินิจฉัยการลงนิคหกรรมชั้นอุทธรณ์
๑๘. คณะผู้พิจารณาชั้นฎีกา หมายถึง คณะผู้พิจารณาตามความในข้อ ๒๖ ซึ่งเป็นชั้นและอันดับสูงสุดตามข้อ ๒๗ มีอำนาจลงนิคหกรรมตามวิธีพิจารณาวินิจฉัยการลงนิคหกรรมชั้นฎีกา
ใน ๑๘. คณะผู้พิจารณาชั้นฎีกา ได้แก่ มหาเถรสมาคม
ข้อสังเกตุ ผู้พิจารณาใน ๑๔. โดยตรงได้แก่ ผู้ปกครองสงฆ์
ทำหน้าที่เริ่มจากการรับเรื่องราว การยื่นคำฟ้อง คำกล่าวหา คำแจ้งความผิด
และบันทึกพฤติการณ์อันเป็นที่น่ารังเกียจสงสัย
จนถึงใช้อำนาจสั่งลงนิคหกรรมตามคำสารภาพ
หรือตามที่ได้พบเห็นอย่างประจักษ์ชัด และเมื่อหาข้อยุติในชั้นปกครองมิได้
มีอำนาจหน้าที่รวบรวมคำฟ้องเป็นต้น และเอกสารประกอบส่งไปยังคณะผู้พิจารณาชั้นต้น
(ส่งฟ้อง) รูปเดียวนั่นเองทำทั้งหน้าที่ผู้ปกครอง ทั้งหน้าที่สอบปากคำ
ทั้งหน้าที่ส่งฟ้อง ทั้งสั่งลงนิคหกรรม ถ้าเปรียบกับทางราชอาณาจักร
เป็นทั้งพนักงานการปกครอง พนักงานสอบสวน พนักงานอัยการและศาล ดังนั้น
หากจะเรียกว่า “ศาลปกครองสงฆ์” ก็เห็นจะพอฟังได้ เพราะเป็นผู้ปกครอง
แต่ใช้อำนาจศาลลงโทษได้ ส่วนคณะผู้พิจารณาทั้ง ๓ ชั้น
เป็นผู้ใช้อำนาจตุลาการโดยตรง และจัดชั้นไว้ถึง ๓ ชั้น เพื่อให้ได้ความยุติธรรม
เทียบได้กับศาลยุติธรรมทางราชอาณาจักร หากจะเรียกว่า “ศาลยุติธรรมสงฆ์” ก็เห็นจะเหมาะสมยิ่ง
๖ ดูตติยสมันตปาสาทิกา หน้า ๒๙๓-๒๙๔ และ ๒๙๙ และกังขาวิตรณี หน้า ๑๐๐-๑๐๑ และวินัยมุข เล่ม ๓ ประกอบ
[2] ดูปฐมสมันตปาสาทิกา หน้า ๓๑๐-๓๑๑ พระไตรปิฎก เล่ม ๑ หน้า ๕๑ และวินัยมุข เล่ม ๓ ประกอบ
[3] ดูประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ว่าด้วยความสามารถและความปกครอง ประกอบ
[4] ดูประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ว่าด้วยความสามารถและการสมรส ประกอบ
[5] ดูประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๒๙-๓๐ ประกอบ
[6] ดูประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๓๔-๓๕ ประกอบ
[7] ดูประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๕-๖ และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๕๖ วรรคสุดท้าย ประกอบ
[8] ดูประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๒๙ ประกอบ
[9] ดูประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๒๙ ประกอบ
[10] ดูประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๖๙-๗๕ ประกอบ
[11] มาตรานี้ได้ยกเลิกไปแล้ว นิติบุคคลย่อมมีได้เพราะการจัดตั้งตามกฎหมายนี้และกฎหมายว่าด้วยการนั้น ๆ