ลักษณะ ๓
การลงนิคหกรรม
หมวด ๑
วิธีปฏิบัติเบื้องต้น
———-
การลงนิคหกรรมแก่พระภิกษุผู้ล่วงละเมิดพระธรรมวินัยตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎมหาเถรสมาคมฉบับนี้ เป็นเรื่องสำคัญอย่างมาก ซึ่งเปรียบกับการลงโทษอาญาแก่ผู้ละเมิดกฎหมายแผ่นดิน เป็นการปฏิบัติซึ่งมีขั้นตอนแห่งวิธีปฏิบัติอันสลับซับซ้อนพอสมควร ซึ่งขั้นตอนแห่งวิธีปฏิบัติพอกำหนดได้ ๓ วิธี คือ วิธีปฏิบัติเบื้องต้น ๑ วิธีไต่สวนมูลฟ้อง ๑ วิธีการพิจารณาวินิจฉัยการลงนิคหกรรม ๑ ซึ่งแต่ละวิธีนั้น มีแนวปฏิบัติต่างกัน และตามบทบัญญัติได้แยกไว้ตามลำดับ เฉพาะหมวดนี้กำหนดวิธีปฏิบัติเบื้องต้นโดยเฉพาะ นับเป็นวิธีแรก และเป็นวิธีใช้มากกว่าวิธีอื่น เป็นวิธีที่พระสังฆาธิการทุกระดับ ต้องศึกษาให้เข้าใจอย่างละเอียด ทั้งในภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ เพื่อให้เกิดประโยชน์พระสังฆาธิการ จึงกำหนดวิธีปฏิบัติเบื่องต้นเป็น ๔ ประเด็น คือ
๑. ผู้ปฏิบัติในเบื้องต้น
๒. วิธีปฏิบัติในกรณีที่มีโจทก์ฟ้องพระภิกษุ
๓. วิธีปฏิบัติในกรณีที่มีผู้กล่าวหาพระภิกษุ
๔. วิธีปฏิบัติในกรณีที่พบเห็นพฤติการณ์หรือความผิด
๑. ผู้ปฏิบัติในเบื้องต้น
ก่อนที่จะศึกษาวิธีปฏิบัติในชั้นต้นนี้ ต้องศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับผู้มีอำนาจหน้าที่ในการนี้ เพื่อทบทวนความจำและเพื่อให้ได้หลัการให้ดีก่อน เพราะผู้มีอำนาจปฏิบัติในเบื้องต้น ได้กล่าวมาแล้วในลักษณะ ๒ โดยกล่าวถึงผู้มีอำนาจลงนิคหกรรมไว้ ๒ ประเภท คือ “ผู้พิจารณา” และ “คณะผู้พิจารณาชั้นต้น” ซึ่งทั้งสองประเภทนี้ปฏิบัติหน้าที่ต่างกัน แต่ปฏิบัติงานสืบเนื่องกัน จะกล่าวถึงเฉพาะผู้พิจารณาซึ่งเป็นผู้ใช้อำนาจผู้ปกครองได้แก่ผู้มีอำนาจหน้าที่ปฏิบัติการตามวิธีปฏิบัติในเบื้องต้น เริ่มแต่รับคำฟ้องเป็นต้นไป และมีอำนาจลงนิคหกรรมได้ ๒ กรณี คือ กรณีที่จำเลยยอมรับสารภาพโดยปราศจากเงื่อนไข ๑ ในกรณีที่ได้พบเห็นการกระทำความผิดอย่างประจักษ์ชัด ๑ แม้จะเป็นผู้ปฏิบัติในฐานะผู้ปกครอง ก็กำหนดให้ใช้อำนาจตุลาการได้อีกส่วนหนึ่ง ถ้าจะระบุอันดับผู้พิจารณามี ๗ อันดับ กำหนดโดยตำแหน่ง คือ
(๑) เจ้าอาวาส
(๒) เจ้าคณะตำบล
(๓) เจ้าคณะอำเภอ
(๔) เจ้าคณะจังหวัด
(๕) เจ้าคณะภาค
(๖) เจ้าคณะใหญ่
(๗) สมเด็จพระสังฆราช
อันดับ (๑) เป็นผู้พิจารณาเจ้าสังกัด ดำเนินการได้เฉพาะกรณีที่พระภิกษุกระทำความผิดในเขตสังกัดอย่างเดียว
อันดับ (๒) (๓) (๔) และ (๕) เป็นทั้ง “ผู้พิจารณาเจ้าสังกัด” ทั้ง “ผู้พิจารณาเจ้าของเขต” แล้วแต่กรณี
อันดับ (๖) และ (๗) เป็นเฉพาะผู้พิจารณาเจ้าสังกัด เพราะพระภิกษุผู้ขึ้นต่อผู้พิจารณาอันดับ ๖-๗ นั้น จะกระทำความผิด ณ ที่ใด ถือว่ากระทำความผิดใขเขตสังกัดทั้งสิ้น
ผู้ดำรงตำแหน่งปกครองสงฆ์ ๗ ตำแหน่งดังกล่าว เป็นผู้พิจารณา กล่าวคือเป็นผู้มีอำนาจที่ปฏิบัติตามวิธีในเบื้องต้น ในเมื่อพระภิกษุในบังคับบัญชาใกล้ชิดกระทำความผิดในเขตสังกัด หรือในเมื่อพระภิกษุชั้นเดียวกันกับผู้อยู่ในบังคับบัญชาใกล้ชิดซึ่งสังกัดเขตอื่นแต่มากระทำความผิดในเขตที่ตนปกครอง ซึ่งมีผู้ใดผู้หนึ่งเป็นโจทก์ฟ้องหรือผู้กล่าวหาหรือมีผู้แจ้งความผิด หรือในกรณีที่ได้พบเห็นพฤติการณ์อันเป็นที่น่ารังเกียจสงสัยหรือได้พบเห็นการกระทำความผิดเอง แต่ตำแหน่งรองเจ้าคณะผู้ปกครองสงฆ์ตำแหน่งดังกล่าวแล้ว มิใช่ตำแหน่งผู้พิจารณา เว้นแต่เป็นผู้รักษาการแทนตำแหน่งดังกล่าวโดยชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่าผู้พิจารณา ๗ อันดับนั้น เป็นผู้มีอำนาจหน้าที่ปฏิบัติตามวิธีปฏิบัติในเบื้องต้น ซึ่งวิธีปฏิบัติเบื้องต้นเริ่มจากรับฟ้อง คำกล่าวหา หรือคำแจ้งความผิด หรือบันทึกพฤติการณ์อันเป็นที่น่ารังเกียจสงสัยและการกระทำความผิดเพื่อดำเนินการเป็นต้นไป
๒.วิธีปฏิบัติในกรณีที่มีโจทก์ฟ้องพระภิกษุ
อันวิธีปฏิบัติในเบื้องต้นนั้น แยกเป็นหลายกรณีตามลักษณะแห่งกรณีที่เกิดขึ้นซึ่งพอแยกกล่าวเป็น ๓ กรณี คือ ในกรณีที่มีโจทก์ฟ้องพระภิกษุ ๑ ในกรณีที่มีผู้กล่าวหาพระภิกษุ ๑ ในกรณีที่พบเห็นพฤติการณ์หรือความผิด ๑ ซึ่งแต่ละกรณีกำหนดวิธีปฏิบัติไว้บางอย่างก็คล้ายคลึงกัน บางอย่างก็แตกต่างกัน จึงจำเป็นที่พระสังฆาธิการจะต้องศึกษาให้เข้าใจถึงหลักเกณฑ์และวิธีการปฏิบัติแต่กรณีโดยละเอียด
วิธีปฏิบัติในกรณีที่มีโจทก์ฟ้องพระภิกษุนั้น ได้มีบทบัญญัติข้อ ๑๒-๑๔ กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการไว้ ซึ่งพอจะกำหนดเป็นแนวปฏิบัติได้ดังนี้
๑. ผู้มีสิทธิเป็นโจทก์ ผู้มีสิทธิเป็นโจทก์ฟ้องพระภิกษุว่าได้กระทำความผิดนั้นตามความในข้อ ๔ (๖) ก. ได้กำหนดให้ฟ้องได้เฉพาะ “ผู้มีส่วนได้เสีย” หรือ “ผู้เสียหาย” ซึ่งผู้มีส่วนได้เสียนั้น ได้แก่พระภิกษุผู้ปกตัตตะซึ่งสังกัดในวัดเดียวกันและมีสังวาสเสมอกันกับจำเลย และผู้เสียหายนั้น ได้แก่ผู้ได้รับความเสียหายเฉพาะตัวซึ่งเกิดขึ้นเพราะการกระทำของพระภิกษุผู้เป็นจำเลยและผู้จัดการแทนผู้เสียหาย ตามความในข้อ ๔ (๕) ก. ข. และ ค. ดังนั้น ผู้จะเป็นโจทก์ตามข้อ ๑๒ ได้นั้น จึงมีสิทธิเฉพาะ “ผู้มีส่วนได้เสีย” หรือ “ผู้เสียหาย” หรือ “ผู้จัดการแทนผู้เสียหาย” เท่านั้น
๒. ผู้รับคำฟ้อง ผู้มีสิทธิในการรับคำฟ้องนั้น ได้แก่ เจ้าอาวาสเจ้าสังกัด หรือเจ้าคณะเจ้าสังกัด ในกรณีที่พระภิกษุในสังกัดทำความผิดในเขตที่ตนสังกัดอยู่ ซึ่งเรียกว่า “ผู้พิจารณาเจ้าสังกัด” หรือ “เจ้าคณะเจ้าสังกัด” ในกรณีที่พระภิกษุในเขตปกครองอื่นมากระทำความผิดในเขตที่ตนปกครอง ซึ่งเรียกว่า “ผู้พิจารณาเจ้าของเขต” หรือ “เจ้าคณะเจ้าของเขต”
๓. การยื่นคำฟ้อง เมื่อโจทก์จะฟ้องพระภิกษุใด ๆ โจทก์จะต้องเรียบเรียงคำฟ้องเป็นลายลักษณ์อักษร โดยระบุความผิด ข้อเท็จจริง วันเวลา สถานที่ บุคคล และสิ่งของที่เกี่ยวข้อง พอที่จะทำให้เข้าใจในข้อหาได้ดี และยื่นต่อผู้พิจารณาเจ้าสังกัด หรือผู้พิจารณาเจ้าของเขต แล้วแต่กรณี การยื่นคำฟ้องนั้น กำหนดให้โจทก์ไปยื่นคำฟ้องด้วยตนเอง แต่ในกรณีที่โจทก์มีความจำเป็นไม่สามารถไปยื่นเองได้ จะมีหนังสือมอบมายให้ผู้ใดผู้หนึ่งไปยื่นแทนก็ได้
๔. การรับคำฟ้อง เมื่อโจทก์หรือผู้ซึ่งเข้าใจว่าตนเป็นโจทก์ ได้นำคำฟ้องมายื่นต่อผู้พิจารณา ให้ผู้พิจารณาปฏิบัติดังนี้ ให้รับหนังสือนั้น ลงทะเบียนรับหนังสือและออกใบรับหนังสือนั้นให้แก่โจทก์ แต่ถ้าโจทก์มอบหมายให้คนอื่นนำหนังสือฟ้องมายื่นแทน ให้สอบถามเหตุที่โจทก์ไม่มายื่นฟ้องเอง และบันทึกไว้ในหนังสือมอบหมาย อาจให้ผู้รับอำนาจมายื่นแทน ลงชื่อไว้แล้วจึงออกใบรับหนังสือ แล้วดำเนิการตามความในข้อ ๑๒ วรรค ๒ ต่อไป แต่มิใช่ปฏิบัติในขณะที่ผู้ยื่นหนังสือยังอยู่ ซึ่งอาจถัดจากนั้น ๑-๒ วัน สุดแต่จะเห็นสมควร ตามความในข้อ ๑๒ วรรค ๒ นั้น กำหนดให้ผู้พิจารณาปฏิบัติตามวิธีเบื้องต้นต่อไปนี้
(๑) ให้ตรวจลักษณะของโจทก์ประกอบด้วยลักษณะตามข้อ ๔ (๖) ก. หรือไม่
(๒) ให้ตรวจลักษณะคำฟ้องของโจทก์ว่า คำฟ้องนั้นประกอบด้ววยลักษณะหรือไม่ ลักษณะคำฟ้องนั้น มีดังนี้
ก.
ฟ้องโดยระบุการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่า จำเลยได้กระทำความผิด ข้อเท็จจริงและรายละเอียดอันเกี่ยวกับเวลาและสถานที่ซึ่งเกิดการกระทำ
นั้น ๆ อีกทั้งบุคคลสิ่งของที่เกี่ยวข้องด้วย โดยสมควรเท่าที่จะทำให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี
ข. เรื่องที่นำมาฟ้อง มิใช่เป็นเรื่องเก่าอันมิได้คิดจะฟ้องมาแต่เดิม
ค. เรื่องที่นำมาฟ้อง มิใช่เรื่องที่คำวินิจฉัยหรือคำสั่งของผู้มีอำนาจลงนิคหกรรมถึงที่สุดแล้ว
ง. เรื่องที่มาฟ้อง มิใช่เรื่องที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาของฝ่ายราชอาณาจักร หรือมิใช่เรื่องที่มีคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลถึงที่สุดแล้ว เว้นแต่กรณีที่มีปัญหาทางพระวินัย
ขออธิบายลักษณะคำฟ้องประกอบ ดังนี้
ใน ก. การบรรยายคำฟ้องนั้น จะต้องระบุการกระทำของจำเลยไว้อย่างชัดแจ้งว่า จำเลยได้กระทำความผิดอะไร ระบุถึงข้อเท็จจริง รายละเอียดซึ่งเกี่ยวกับวันเวลา และสถานที่ บุคคลผู้รู้เห็น และสิ่งของที่เกี่ยวข้อง โดยชัดเจนพอที่จะทำให้จำเลยเข้าใจในคำฟ้องสามารถแก้คำฟ้องหรือคำกล่าวหานั้นได้ อย่าฟ้องโดยคลุมเคลือ อย่าประมาณหรือเดาวัน เวลา ถ้าบรรยายคำฟ้องหรือคำกล่าวหาไม่ชัดเจน ไม่อยู่ในลักษณะคำฟ้องที่ต้องรับดำเนินการ เช่น โจทก์ฟ้องว่า ได้เห็นจำเลยกระทำความผิดอย่างนั้น เมื่อประมาณเดือนพฤษภาคม ๒๕๒๒ ใน ก. นี้ เป็นการกำหนดคุณลักษณะแห่งคำฟ้องหรือกล่าวหา
ใน ข. เป็นลักษณะเรื่องที่ต้องห้ามโดยกำหนดเอาเรื่องที่เก่าซึ่งคิดจะไม่ฟ้องมาแต่เดิม แต่มาถูกคนอื่นยุยงแล้วกลับใจนำเรื่องนั้นมาฟ้องขึ้น หรือนำมาฟ้องเพราะเหตุอย่างใดอย่างหนึ่ง
ใน ค. เป็นลักษณะเรื่องเสร็จสิ้นแล้วในฝ่ายสงฆ์ เพราะเรื่องนั้นผู้มีอำนาจลงนิคหกรรมชั้นใด ๆ ได้มีคำวินิจฉัยหรือคำสั่งถึงที่สุดแล้ว แต่จะนำมาฟ้องใหม่
ใน ง. เป็นลักษณะของเรื่องที่ฟ้องในศาลหรือเรื่องที่ถึงที่สุดในศาลฝ่ายราชอาณาจักรแล้ว เรื่องที่กำลังฟ้องกันอยู่ ให้รอจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือมีคำสั่งหากรับเรื่องไว้รอก็รับได้ ส่วนเรื่องที่ศาลพิพากษาหรือคำสั่งถึงที่สุดแล้ว นำมาฟ้องอีกไม่ได้ เว้นแต่เรื่องมีปัญหาทางพระวินัย เช่น กรณีที่ฟ้องคดีข่มขืน ซึ่งศาลพิพากษาให้พระภิกษุชนะ เพราะฝ่ายหญิงให้การว่าสมยอมเอง ถึงชนะคดีในศาลฝ่านราชอาณาจักรก็นำมาฟ้องได้ เพราะมีปัญหาทางพระวินัย ซึ่งถ้าเป็นเรื่องสมยอมจริง พระภิกษุก็ย่อมจะต้องอันติมวัตถุแล้ว แม้จะชนะคดีอาญาก็ตาม
ในการปฏิบัติตามความในข้อ ๑๒ วรรค ๒ นี้ ผู้พิจารณาต้องใช้วิจารณญาณตรวจลักษณะโจทก์และลักษณะคำฟ้องของโจทก์โดยละเอียดรอบคอบ ถ้าตรวจแล้วปรากฏว่า โจทก์มีลักษณะตามความในข้อ ๔ (๖) ก. และคำฟ้องของโจทก์มีลักษณะตาม ก. ข. ค. และ ง. ที่กล่าวแล้ว ให้ผู้พิจารณารับคำฟ้องนั้นไว้เพื่อดำเนินการต่อไป โดยบันทึกต่อท้ายคำฟ้องนั้น เมื่อผู้พิจารณารับคำฟ้องไว้ดำเนิการแล้ว พระภิกษุผู้ถูกฟ้องนั้น ก็ตกเป็น “จำเลย” นับว่าต่างจากจำเลยในทางราชอาณาจักร ซึ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา บุคคลจะตกเป็นจำเลยเมื่อถูกฟ้องยังศาลแล้วโดยข้อหาว่าได้กระทำความผิด[1]
อนึ่ง ถ้าปรากฏว่า ลักษณะของโจทก์บกพร่อง ไม่ได้ลักษณะตามข้อ ๔ (๖) ก. แต่เข้าในลักษณะผู้กล่าวหาตามความในข้อ ๔ (๘) ก. ข. หรือเข้าในลักษณะผู้แจ้งความผิด ตามความในข้อ ๔ (๙) และลักษณะคำฟ้องประกอบด้วยลักษณะ ให้รับไว้ดำเนินการในกรณีที่มีผู้กล่าวหาตามความในข้อ ๑๕ หรือในกณรีที่มีผู้แจ้งความผิดตามความในข้อ ๑๖ (๑) แล้วแต่กรณี
๕. การไม่รับคำฟ้อง เมื่อผู้พิจารณาได้ตรวจลักษณะของโจทก์และลักษณะคำฟ้องของโจทก์แล้ว ถ้าลักษณะของโจทก์และคำฟ้องของโจทก์บกพร่องจากลักษณะดังกล่าวหรือลักษณะผู้ฟ้องบกพร่อง จะจัดเข้าในลักษณะผู้กล่าวหาหรือผู้แจ้งความผิดก็มิได้ แม้ลักษณะคำฟ้องจะสมบูรณ์ก็ตาม ให้ผู้พิจารณาสั่งไม่รับคำฟ้อง โดยบันทึกต่อท้ายคำฟ้องนั้น ระบุข้อบกพร่องในคำสั่งและแจ้งให้โจทก์ทราบ โดยให้ลงนามรับทราบ แล้วเก็บเรื่องไว้ อย่าส่งเรื่องทั้งหมดคืนให้
๖. ก่อนรับคำฟ้องหรือไม่รับ ถ้าในบางกรณีลักษณะของโจทก์หรือคำฟ้องของโจทก์ ยังเป็นที่เคลือบแคลงสงสัย มีข้อที่จะต้องหารายละเอียดเพิ่มเติม จึงจะชี้ขาดได้ว่าลักษณะบกพร่องหรือไม่ ในกรณีเช่นนี้ ให้ผู้พิจารณามีหนังสือเรียกโจทก์มาสอบถามและให้โจทก์ชี้แจงประกอบลักษณะของโจทก์และลักษณะคำฟ้องก่อน และให้จดคำชี้แจงของโจทก์พร้อมกับให้โจทก์ลงชื่อไว้ด้วย
๗. การปฏิบัติเมื่อรับคำฟ้องแล้ว ตามความในข้อ ๑๓ ได้กำหนดการปฏิบัติในเมื่อผู้พิจารณาได้รับคำฟ้องไว้เพื่อดำเนินการแล้ว โดยกำหนดเป็น ๓ ขั้น คือ
(๑) ขั้นต้น ให้ผู้พิจารณามีหนังสือ เรียกพระภิกษุผู้ตกเป็นจำเลยมาแล้วแจ้งคำฟ้องให้จำเลยทราบโดยละเอียดพอที่จะสามารถแก้ข้อกล่าวหาได้โดยจะคัดสำเนาคำฟ้องให้หรืออ่านให้ฟัง หรือให้อ่านเอง อย่างใดอย่างหนึ่ง แล้วสอบถามตามประเด็นฟ้องนั้น ๆ ทุกประเด็นโดยละเอียด และให้จดคำให้การและให้จำเลยลงชื่อไว้ด้วยคำให้การนี้ถือเป็นคำให้การแก้ของจำเลย
(๒) ขั้นกลาง เมื่อสอบถามจำเลยแล้ว ให้ปฏิบัติการต่อไป
ก. กรณีจำเลยสารภาพ ถ้าจำเลยสารภาพสมตามคำฟ้องของโจทก์ ให้ผู้พิจารณามีอำนาจสั่งลงนิคหกรรมตามคำสารภาพนั้น โดยบันทึกต่อท้ายคำฟ้องและให้จำเลยลงชื่อรับทราบคำสั่ง ถ้าจำเลยสารภาพเกินกว่าคำฟ้อง แม้มิได้มีบทบัญญัติให้อำนาจไว้ ก็อาจสั่งลงนิคหกรรมได้
ข. กรณีความแพ่ง ผู้พิจารณาควรชี้แนะเพื่อประนีประนอมกันอันเป็นลักษณะพ่อปกครองลูก ถ้าคู่กรณีประนีประนอมกันได้อย่างไร ให้ผู้พิจารณาบันทึกข้อตกลงนั้นไว้ แล้วให้ทั้งสองฝ่ายลงชื่อไว้ด้วย
(๓) ขั้นสุดท้าย ถ้าจำเลยให้การแบ่งรับความผิดเบากว่าหรือน้อยกว่าที่ถูกฟ้อง (ภาคเสธ) หรือปฏิเสธ ในกรณีเช่นนี้ ให้ผู้พิจารณารวบรวมคำฟ้อง คำชี้แจงของโจทก์และคำให้การของจำเลยส่งไปยังคณะผู้พิจารณาชั้นต้น เพื่อดำเนินการไต่สวนมูลฟ้องต่อไป การส่งเรื่องราวไปยังคณะผู้พิจารณาชั้นต้น ให้ส่งผ่านผู้บังคับบัญชาตามลำดับ อย่าทำการข้ามผู้บังคับบัญชา เพราะขัดต่อบทบัญญัติข้อ ๓๗ วรรคท้าย แห่งกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ ๕ (พ.ศ.๒๕๐๖) ว่าด้วยการแต่งตั้นถอดถอนพระสังฆาธิการ[2] ซึ่งถ้าส่งข้ามลำดับ เป็นการละเมิดจริยาพระสังฆธิการ
๘. การอุทธรณ์คำสั่งไม่รับคำฟ้อง ในกรณีที่ผู้พิจารณาไม่รับคำฟ้องของโจทก์ตามความในข้อ ๑๒ (๒)ถ้าโจทก์ฟ้องความผิดครุกาบัติ ให้โจทก์มีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งไม่รับคำฟ้องนั้นได้ ให้สิทธิอุทธรณ์เฉพาะโจทก์ประเภทเดียว ส่วนผู้กล่าวหาและผู้แจ้งความผิดมิได้กำหนดให้สิทธิอุทธรณ์ ทั้งนี้ เพื่อต้องการให้ผู้มีอำนาจลงนิคหกรรมได้พิจารณาหลายชั้น อันเป็นการป้องกันความผิดพลาดซึ่งอาจเกิดขึ้น เพื่อให้ได้มาซึ่งความบริสุทธิ์ผุดผ่องแห่งสังฆมณฑล โดยได้มีข้อบัญญัติข้อ ๑๔ กำหนดวิธีการปฏิบัติไว้ดังนี้
(๑) หน้าที่ของโจทก์ โจทก์ต้องทำคำอุทธรณ์คำสั่งไม่รับคำฟ้อง โดยระบุตำแหน่งหัวหน้าคณะผู้พิจารณาชั้นต้น ยื่นต่อผู้ออกคำสั่งภายใน ๑๕ วัน นับแต่วันรับทราบคำสั่ง อย่าให้เกินเวลาที่กำหนดไว้ ถ้าไม่ยื่นตามกำหนด ถือว่า คำสั่งถึงที่สุด
(๒) หน้าที่ผู้ออกคำสั่ง เมื่อผู้พิจารณาซึ่งเป็นผู้ออกคำสั่งได้รับอุทธรณ์แล้ว ให้ออกหนังสือรับคำอุทธรณ์ให้แก่โจทก์ แล้วทำหนังสือทำส่งอุทธรณ์นั้นพร้อมทั้งคำฟ้องและอื่น ๆ ไปยังหัวหน้าคณะผู้พิจารณาชั้นต้น ผ่านผู้บังคับบัญชาตามลำดับภายใน ๑๕ วัน นับแต่วันได้รับอุทธรณ์คำสั่ง
(๓) หน้าที่คณะผู้พิจารณาชั้นต้น เมื่อหัวหน้าคณะผู้พิจารณาชั้นต้นได้รับอุทธรณ์คำสั่งนั้นแล้ว ต้องนัดประชุมคณะผู้พิจารณาชั้นต้น เพื่อพิจารณาวินิจฉัยคำอุทธรณ์นั้นให้เสร็จสิ้นภายใน ๓๐ วัน นับแต่วันที่ได้รับคำอุทธรณ์ เมื่อคณะผู้พิจารณาชั้นต้นได้ประชุมวินิจฉัยแล้ว ให้ออกคำวินิจฉัย แล้วส่งคำวินิจฉัยไปยังผู้พิจารณาซึ่งเป็นผู้ออกคำสั่ง และให้ผู้ออกคำสั่งแจ้งให้โจทก์ทราบภายใน ๑๕ วัน นับแต่วันรับคำวินิจฉัยอุทธรณ์คำสั่งนั้น
(๔) ผลการวินิจฉัยคำอุทธรณ์ การพิจารณาวินิจฉัยคำอุทธรณ์คำสั่งนั้น คณะผู้พิจารณาชั้นต้นมีอำนาจวินิจฉัยได้ ๒ คือ สั่งให้รับคำฟ้อง ๑ สั่งไม่รับคำฟ้อง ๑ จึงกล่าวได้ว่า ผลแห่งการวินิจฉัยเป็น ๒ คือ
ก. ผลต่อเนื่อง คือถ้าวินิจฉัยให้รับคำฟ้อง คำวินิจฉัยนั้นมีผลต่อเนื่อง กล่าวคือเป็นเหตุให้ผู้พิจารณาต้องรับคำฟ้องไว้ดำเนินการ และแจ้งการรับคำฟ้องให้โจทก์ทราบ แล้วดำเนินการตามความในข้อ ๑๓ โดยอนุโลมต่อไป
ข. ผลยุติ ถ้าวินิจฉัยไม่รับคำฟ้อง ให้เรื่องเป็นอันถึงที่สุด โจทก์จะฎีกาต่อไปมิได้ ให้ผู้พิจารณาจำหน่ายเรื่อง โดยบันทึกไว้ท้ายเรื่องแล้วลงชื่อกำกับไว้และแจ้งให้โจทก์รับทราบ
๓. วิธีปฏิบัติในกรณีที่มีผู้กล่าวหา
วิธีปฏิบัติในกรณีที่มีผู้กล่าวหาพระภิกษุว่าได้กระทำความผิด เป็นวิธีปฏิบัติเบื้องต้นวิธีหนึ่ง ซึ่งเมื่อว่าโดยลักษณะแห่งการปฏิบัติ คล้ายคลึงกับกรณีที่มีผู้เป็นโจทก์ฟ้อง ต่างกันเฉพาะลักษณะของผู้กล่าวหาและวิธีปฏิบัติบางประการ เพื่อให้เกิดประโยชน์ในการศึกษา ขอกำหนดประเด็นถวายความรู้เป็น ๖ คือ
๑. ผู้มีสิทธิกล่าวหา ผู้กล่าวหากับโจทก์ โดยลักษณะกคล้ายคลึงกัน แต่ให้ผู้ศึกษาแยกทั้งสองประเภทออกศึกษาให้เข้าใจ จึงจะไม่เกิดความยุ่งเหยิง เพราะท่านกำหนดลักษณะบุคคลผู้เป็นโจทก์และบุคคลผู้กล่าวหาไว้แตกต่างกัน สิทธิในการเป็นโจทก์นั้นได้กล่าวมาแล้ว ในประเด็นนี้ จึงจะกล่าวเฉพาะผู้มีสิทธิในการเป็นผู้กล่าวหาตามความในข้อ ๔ (๘) ท่านกำหนดผู้มีสิทธิกล่าวหาไว้อย่างชัดแจ้ง กล่าวโดยความได้แก่ผู้ที่ตนมิได้เป็นผู้มีส่วนได้เสีย หรือผู้ที่ตนมิได้เป็นผู้เสียหาย และกำหนดคุณสมบัติไว้ ๒ อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่งคือ “เป็นพระภิกษุปกตัตตะหรือสามเณร ซึ่งถึงพร้อมด้วยศีลและอาจาระ และมีสังกัดอยู่ในวัดใดวัดหนึ่ง” หรือ “เป็นคฤหัสถ์ผู้นับถือพระพุทธศาสนา ซึ่งมีอายุไม่ต่ำกว่า ๒๐ ปีบริบูรณ์ มีความประพฤติเรียบร้อย มีวาจาพอเชื่อถือได้ และมีอาชีพเป็นหลักฐาน” ดังนั้น จึงพอสรุปได้ว่า ผู้มีสิทธิ์กล่าวหานั้นต้องเป็นพระภิกษุหรือสามเณรซึ่งมีคุณสมบัติ และคฤหัสถ์ผู้นับถือพระพุทธศาสนาซึ่งมีคุณสมบัติ บุคคลอื่นนอกจากนี้ ไม่มีสิทธิกล่าวหาพระภิกษุได้ สำหรับผู้รับคำกล่าวหาก็เช่นเดียวกันกับผู้รับคำฟ้อง ส่วนวิธีปฏิบัติในกรณีที่มีผู้กล่าวหาพระภิกษุนั้น ได้มีบทบัญญัติข้อ ๑๕ เป็นหลักดังกล่าวต่อไป
๒. การยื่นคำกล่าวหา เมื่อผู้มีสิทธิกล่าวหาพระภิกษุ จะกล่าวหาพระภิกษุใด ๆ ก็ตาม จะต้องเรียบเรียงคำกล่าวหาเป็นลายลักษณ์อักษรอย่างเดียวกับคำฟ้อง แล้วยื่นคำกล่าวหาต่อผู้พิจารณาเจ้าสังกัด ในกรณีที่พระภิกษุกระทำความผิดในเขตสังกัด หรือยื่นต่อผู้พิจารณาเจ้าของเขต ในกรณีที่พระภิกษุกระทำความผิดนอกเขตสังกัด และต้องไปยื่นด้วยตนเอง จะมีหนังสือมอบมายให้ผู้ใดผู้หนึ่งไปยื่นแทนมิได้ ถ้ามอบให้ไปยื่นแทน ทางปฏิบัตินั้นให้รับและบันทึกไว้ แต่อาจไม่รับดำเนินการ
๓. การรับคำกล่าวหา เมื่อผู้พิจารณาเจ้าสังกัดหรือผู้พิจารณาเจ้าของเขต ได้รับคำกล่าวหา ให้รับเข้าทะเบียนรับและออกหนังสือรับคำกล่าวหาให้แก่ผู้กล่าวหา เมื่อได้โอกาสให้ปฏิบัติการดังนี้
(๑) ตรวจลักษณะของผู้กล่าวหาว่ามีลักษณะดังความในข้อ ๔ (๘) หรือไม่
(๒) ตรวจลักษณะคำกล่าวหานั้นว่า มีลักษณะหรือไม่ ซึ่งลักษณะคำกล่าวหานั้นกำหนดเช่นเดียวกับลักษณะคำฟ้องนั่นเอง
ในกรณีเช่นนี้ ถ้าตรวจลักษณะทั้ง ๒ อย่างแล้ว ปรากฏว่า ทั้งผู้กล่าวหาทั้งคำกล่าวหาได้ลักษณะและผู้กล่าวหายื่นเรื่องด้วยตนเอง ให้ผู้พิจารณารับคำกล่าวหา โดยบันทึกสั่งการต่อท้ายคำกล่าวหานั้น แล้วแจ้งให้ผู้กล่าวหาได้รับทราบและดำเนินการต่อไป โดยใช้ข้อ ๑๓ เป็นหลักดำเนินการโดยอนุโลม แต่ถ้าปรากฏว่า ผู้ยื่นคำกล่าวหานั้น มีลักษณะเป็นโจทก์และคำกล่าวหาก็ได้ลักษณะ ให้สั่งรับไว้ดำเนินการในกรณีที่มีโจทก์ฟ้องดังกล่าวในประเด็นก่อน โจทก์กับผู้กล่าวหามีลักษณะคล้ายกัน ผู้พิจารณาต้องเข้าใจให้ถูกต้อง อย่าสั่งรับเรื่องดำเนินการผิดพลาดต้องรอบคอบพอสมควรและเมื่อเขายื่นในกรณีหนึ่ง แต่ลักษณะผู้ยื่นเรื่องราวนั้นเข้าลักษณะอย่างหนึ่ง ให้น้อมไปตามลักษณะผู้ยื่น มิใช่ปฏิเสธเลย เพราะผู้ยื่นไม่อาจทราบวิธีปฏิบัติ และอาจไม่ทราบว่าตนมีสิทธิเป็นโจทก์หรือผู้กล่าวหา
๔. การปฏิบัติเมื่อรับคำกล่าวหาแล้ว ในเมื่อผู้พิจารณาได้สั่งรับคำกล่าวหาไว้เพื่อดำเนิการแล้ว ให้นำความในข้อ ๑๓ มาเป็นหลักปฏิบัติโดยอนุโลม โดยพอกำหนดเป็น ๓ ชั้น คือ
(๑) ขั้นต้น ให้ผู้พิจารณามีหนังสือเรียกพระภิกษุผู้กล่าวหานั้นมาพบแล้วแจ้งคำกล่าวหาให้ทราบโดยละเอียดเช่นกับคำฟ้อง แล้วสอบถามประเด็นข้อกล่าวหาทุกประเด็น และให้จดบันทึกคำให้การและให้ผู้ถูกกล่าวหาลงชื่อไว้ด้วย ในขั้นนี้ปฏิบัติการแบบเดียวกับกรณีที่มีโจทก์ฟ้อง
(๒) ขั้นกลาง เมื่อสอบถามแล้วให้ดำเนินการดังนี้
(ก) กรณีสารภาพ ถ้าผู้ถูกล่าวหาสารภาพสมตามคำกล่าวหา ให้ผู้พิจารณาสั่งลงนิคหกรรมตามคำสารภาพและให้ผู้ถูกกล่าวหาลงชื่อรับทราบ โดยบันทึกต่อท้ายคำกล่าวหา แล้วแจ้งให้ผู้กล่าวหารับทราบ
(ข) กรณีความแพ่ง ผู้พิจารณาควรได้ชี้แนะเพื่อให้ประนีประนอมกัน ถ้าทั้งสองฝ่ายประนีประนอมกันได้อย่างไร ให้ผู้พิจารณาข้อตกลงนั้นไว้ แล้วให้ทั้งสองฝ่ายลงชื่อรับทราบ
(๓) ขั้นสุดท้าย ถ้าผู้ถูกกล่าวหาให้การแบ่งรับความผิดเบากว่าหรือน้อยกว่าที่ถูกกล่าวหาหรือให้การปฏิเสธ ให้ผู้พิจารณารวบรวมเอกสารเกี่ยวกับเรื่องราวทั้งหมด ส่งไปยังคณะผู้พิจารณาชั้นต้นผ่านผู้บังคับบัญชาตามลำดับ เพื่อให้คณะผู้พิจารณาชั้นต้น ดำเนินการไต่สวนมูลคำกล่าวหาต่อไป โดยมีบทบัญญัติกำหนดให้
(ก) ถ้าปรากฏว่า คำกล่าวนั้นมีมูล ให้คณะผู้พิจารณาชั้นต้นสั่งรับคำกล่าวหา (ประทับฟ้อง) โดยอนุโลมตามข้อ ๒๑ (๑) แล้วแจ้งแก่ผู้พิจารณาเพื่อแจ้งให้ผู้กล่าวหาและผู้ถูกกล่าวหารับทราบ แล้วดำเนินการตามความในข้อ ๒๘ ต่อไป
(ข) ถ้าปรากฏว่า คำกล่าวหานั้นไม่มีมูล ให้คณะผู้พิจารณาชั้นต้นสั่งยกคำกล่าวหา (สั่งยกฟ้อง) โดยอนุโลมตามข้อ ๒๑ (๒) แล้วแจ้งให้แก่ผู้พิจารณาเพื่อแจ้งแก่ผู้กล่าวหาต่อไป และให้เรื่องเป็นอันถึงที่สุด
๕. การไม่รับคำกล่าวหา เมื่อผู้พิจารณาได้ตรวจลักษณะผู้กล่าวหาและลักษณะของคำกล่าวหาแล้ว ถ้าปรากฏว่า ลักษณะผู้กล่าวหาไม่ถูกต้องและคำกล่าวหาก็ไม่ประกอบด้วยลักษณะจะน้อมไปเทียบกับลักษณะโจทก์ หรือลักษณะแจ้งความผิดก็มิได้ทั้งนั้น ให้ยึดแนวปฏิบัติดังนี้
(๑) ถ้าคำกล่าวหาระบุความผิดลหุกาบัติ ให้ผู้พิจารณาไม่รับคำกล่าวหา โดยบันทึกระบุข้อบกพร่องไว้ในคำสั่ง และแจ้งให้ผู้กล่าวหารับทราบ คำสั่งนั้นให้เป็นอันถึงที่สุด
(๒) ถ้าคำกล่าวหาระบุครุกาบัติ ให้ประมวลเรื่องราวทั้งหมดเสนอต่อคณะผู้พิจารณาชั้นต้น โดยผ่านผู้บังคับบัญชาตามลำดับ เมื่อคณะผู้พิจารณาชั้นต้นให้ความเห็นชอบแล้ว ให้ผู้พิจารณาบันทึกสั่งไม่รับคำกล่าวหาต่อท้ายคำกล่าวหา แล้วแจ้งให้ผู้ถูกกล่าวหารับทราบและกำหนดให้เรื่องเป็นอันถึงที่สุด
๖. ก่อนรับคำกล่าวหาหรือไม่รับ ในการตรวจลักษณะผู้กล่าวหาและลักษณะคำกล่าวหานั้น ถ้ามีข้อแคลงใจไม่อาจชี้ขาดได้ ให้มีหนังสือเรียกผู้กล่าวหามาชี้แจงเกี่ยวกับลักษณะของผู้กล่าวหาและลักษณะของคำกล่าวหาก่อนก็ได้ โดยให้จดบันทึกคำชี้แจงพร้อมกับให้ลงชื่อไว้ด้วย
๔. วิธีปฏิบัติในกรณีพบเห็นพฤติการณ์หรือความผิด
ในกรณีที่พระภิกษุซึ่งเป็นผู้ปกครองสงฆ์ได้พบเห็นพฤติการณ์อันเป็นที่น่ารังเกียจสงสัยในความผิดของพระภิกษุหรือได้พบเห็นการกระทำความผิดของพระภิกษุ ได้มีบทบัญญัติข้อ ๑๖ กำหนดวิธีปฏิบัติไว้โดยแยกเป็น ๒ ลักษณะ คือ กรณีที่ผู้พบเห็นไม่มีอำนาจลงนิคหกรรม ๑ กรณีที่ผู้พบเห็นมีอำนาจลงนิคหกรรม ๑ ซึ่งมีวิธีปฏิบัติ ดังนี้
๑. กรณีที่ผู้พบเห็นไม่มีอำนาจลงนิคหกรรม ในข้อ ๑๖ (๑) นี้ ท่านบัญญัติเพื่อให้พระภิกษุผู้ปกครองสงฆ์แต่ไม่มีอำนาจลงนิคหกรรม เพราะเหตุอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น เพราะตนเป็นรองเจ้าคณะ เพราะตนเป็นเจ้าคณะแต่พบเห็นนอกเขตอำนาจหน้าที่หรือเพราะเหตุอื่นใด เพื่อดำเนินการบางอย่างได้ ในกรณีเช่นนี้ มีบทบัญญัติให้ “เป็นผู้แจ้งความผิด” ตามความในข้อ ๔ (๙) การแจ้งความผิดนั้น มีวิธีปฏิบัติต่อไปนี้
(๑) การแจ้งความผิด ให้ผู้แจ้งความผิดเรียบเรียงคำแจ้งความผิดเป็นลายลักษณ์อักษร โดยระบุการกระทำความผิดหรือพฤติการณ์อันเป็นที่น่ารังเกียจสงสัยของพระภิกษุ ตลอดจนวัน เวลา สถานที่ บุคคลผู้รู้เห็น และอื่น ๆ ตามที่ได้พบเห็นแจ้งต่อผู้พิจารณาสังกัดหรือผู้พิจารณาเจ้าของเขต แล้วแต่กรณี
(๒) การรับคำแจ้งความผิด เมื่อผู้พิจารณาเจ้าสังกัดหรือผู้พิจารณาเจ้าของเขตได้รับคำแจ้งความผิดแล้ว ให้เข้าทะเบียนรับและแจ้งให้ผู้แจ้งความผิดได้ทราบ แล้วปฏิบัติการขั้นมูลฐานต่อไป คือ ตรวจลักษณะผู้แจ้งความผิดว่าถูกต้องลักษณะตามความในข้อ ๔ (๙) หรือไม่ ถ้าปรากฏว่า ผู้แจ้งความผิดนั้นเป็นผู้ปกครองสงฆ์จริง ให้รับไว้ดำเนินการตามความในข้อ ๑๓ โดยอนุโลม ถ้าปรากฏว่า ผู้แจ้งความผิดมิได้เป็นผู้ปกครองสงฆ์ แต่ได้ลักษณะเป็นผู้กล่าวหา และคำแจ้งความผิดก็ได้ลักษณะของคำกล่าวหา ให้รับไว้เพื่อดำเนินการในกรณีที่มีผู้กล่าวหา แต่ถ้าไม่เข้าลักษณะโดยประการทั้งปวง ให้บันทึกระงับคำแจ้งความผิดโดยระบุข้อบกพร่องไว้ด้วย
(๓) การดำเนินการเมื่อรับคำแจ้งความผิดแล้ว เมื่อได้รับคำแจ้งความผิดไว้แล้ว ให้นำความในข้อ ๑๓ มาเป็นหลักดำเนินการ พอกำหนดวิธีปฏิบัติได้เป็น ๓ ขั้น คือ
ก. ขั้นต้น ให้ผู้พิจารณามีหนังสือเรียกพระภิกษุผ้ต้องสงสัยนั้นมาพบ แจ้งคำแจ้งความผิดให้พระภิกษุนั้นทราบโดยละเอียด แล้วสอบถามตามประเด็นแจ้งความผิดนั้นโดยละเอียด และให้จดคำให้การพร้อมกับให้ลงชื่อไว้
ข. ขั้นกลาง ถ้าพระภิกษุผู้ต้องสงสัยนั้น ให้การสารภาพสมจริงตามคำแจ้งความผิด ให้ผู้พิจารณาสั่งลงนิคหกรรมตามคำสารภาพนั้น แล้วแจ้งให้ผู้แจ้งความผิดทราบ แต่ถ้าเป็นกรณีความแพ่ง ให้ดำเนินการเช่นเดียวกับกรณีความแพ่งที่มีโจทก์ฟ้อง
ค. ขั้นสุดท้าย ถ้าให้การแบ่งรับความผิดเบากว่าหรือน้อยกว่าคำแจ้งคำผิด (ภาคเสธ) หรือให้การปฏิเสธ ให้ผู้พิจารณารวบรวมคำแจ้งความผิดและเอกสารอื่น ๆ ส่งหัวหน้าคณะผู้พิจารณาชั้นต้น ผ่านผู้บังคับบัญชาตามลำดับ เพื่อดำเนินการไต่สวนมูลคำแจ้งความผิดต่อไป และในการไต่สวนมูลคำแจ้งความผิดนั้น ถ้าปรากฏว่า
๑) คำแจ้งความผิดมีมูล ให้คณะผู้พิจรณาชั้นต้นรับเรื่องไว้ดำเนินการโดยอนุโลมตามข้อ ๒๑ (๑) (ประทับฟ้อง) และให้ดำเนิการตามความในข้อ ๒๘ ต่อไป
๒) คำแจ้งความผิดนั้น ไม่มีมูล ให้สั่งไม่รับคำแจ้งความผิด (สั่งยกฟ้อง) โดยอนุโลมตามข้อ ๒๑ (๒) และให้เป็นเรื่องอันถึงที่สุด
๒. กรณีที่ผู้พบเห็นมีอำนาจลงนิคหกรรม ในกรณีที่พระภิกษุผู้ปกครองสงฆ์ซึ่งมีอำนาจลงนิคหกรรมได้พบเห็นพฤติการณ์อันเป็นที่น่ารังเกียจสงสัย หรือได้พบเห็นการกระทำความผิดของพระภิกษุ ให้ปฏิบัติตามความในข้อ ๑๖ (๒) ซึ่งได้กำหนดวิธีปฏิบัติไว้เป็น ๒ คือ
(๑) ได้พบเห็นพฤติการณ์อันเป็นที่น่ารังเกียจสงสัย ให้ปฏิบัติเป็น ๓ ขั้น คือ
ก. ขั้นต้น ให้ผู้พิจารณาบันทึกพฤติการณ์นั้น ๆ โดยละเอียดชัดเจนทั้งพฤติการณ์และข้อเท็จจริงและอื่น ๆ แล้วสั่งให้พระภิกษุผู้ต้องสงสัยนั้นมาพบ แจ้งพฤติการณ์ที่ตนได้พบเห็นให้ทราบโดยละเอียด สอบถามตามประเด็นแห่งพฤติการณ์นั้นโดยละเอียด และจดจำคำให้การและให้ลงชื่อไว้
ข. ขั้นกลาง ถ้าพระภิกษุนั้นให้สารภาพสมตามที่พบเห็นพฤติการณ์นั้น ให้ผู้พิจารณาสั่งลงนิคหกรรมตามคำสารภาพนั้น ถ้าสารภาพเกินกว่าที่พบเห็นแม้มิได้มีบทบัญญัติให้อำนาจไว้ ก็อาจสั่งลงนิคหกรรมได้
ค. ขั้นสุดท้าย ถ้าพระภิกษุนั้นให้การแบ่งรับความผิดเบากว่าหรือน้อยกว่าพฤติการณ์อันเป็นที่น่ารังเกียจสงสัยนั้น หรือให้การปฏิเสธ ให้ผู้พิจารณารวบรวมบันทึกการพบเห็นและคำให้การส่งไปยังคณะผู้พิจารณาชั้นต้น ผ่านผู้บังคับบัญชาตามลำดับ เพื่อให้คณะผู้พิจารณาชั้นต้นไต่สวนมูลพฤติการณ์อันเป็นที่น่ารังเกียจสงสัยต่อไป และในการไต่สวนมูลพฤติกาณณีนั้น ถ้าปรากฏว่า
๑) พฤติการณ์นั้นมีมูล ให้คณะผู้พิจารณาชั้นต้นรับพฤติการณ์นั้นไว้ดำเนิการ (สั่งประทับฟ้อง) โดยอนุโลมตามข้อ ๒๑ (๑) แล้วดำเนินการตามความในข้อ ๒๘ ต่อไป
๒) พฤติการณ์นั้นไม่มีมูล ให้คณะผู้พิจารณาชั้นต้นสั่งไม่รับพฤติการณ์นั้น (สั่งยกฟ้อง) โดยอนุโลมตามข้อ ๒๑ (๒) และให้เรื่องเป็นอันถึงที่สุด
(๒) กรณีได้พบเห็นการกระทำความผิดโดยประจักษ์ชัด ให้ผู้พิจารณาเจ้าสังกัดหรือผู้พิจารณาเจ้าของเขตซึ่งพบเห็นการกระทำความผิดนั้น มีอำนาจสั่งลงนิคหกรรมตามความผิดที่ได้พบเห็นโดยประจักษ์ชัด โดยให้บันทึกพฤติการณ์และความผิดนั้นพร้อมทั้งคำสั่งลงนิคหกรรม และให้พระภิกษุนั้นลงชื่อรับทราบคำสั่งด้วย
แต่ในกรณีเช่นนี้
ถ้าคำสั่งลงนิคหกรรมโทษลหุกาบัติ ให้เป็นอันถึงที่สุด
ถ้าคำสั่งลงนิคหกรรมโทษครุกาบัติ ให้พระภิกษุนั้นมีสิทธิอุทธรณ์และฎีกาได้
ถ้ามีการอุทธรณ์และฎีกา ให้นำความในหมวด ๓ ส่วนที่ ๓-๔ มาใช้บังคับโดยอนุโลม
[1] ดูประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒ (๒) (๓) ประกอบ
[2] ปัจจุบันเป็นข้อ ๔๕ วรรคสุดท้าย แห่งกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ ๒๔ (พ.ศ. ๒๕๔๑) ว่าด้วยการแต่งตั้งถอดถอนพระสังฆาธิการ