หมวด ๒ วิธีไต่สวนมูลฟ้อง

หมวด ๒

วิธีไต่สวนมูลฟ้อง

———-

     วิธีไต่สวนมูลฟ้อง เป็นงานอำนาจหน้าที่ของคณะผู้พิจารณาชั้นต้นและเป็นงานเริ่มแรกของคณะผู้พิจารณาชั้นต้นนั้น เพราะงานของผู้พิจารณาชั้นต้นทั้งหมดนั้นโดยขั้นตอนแบ่งเป็น ๒ ตอน คือ

     ๑. วิธีไต่สวนมูลฟ้อง

     ๒. วิธีพิจารณาวินิจฉัยการลงนิคหกรรมชั้นต้น

     ทั้งสองวิธีนี้ เป็นงานที่ต้องปฏิบัติในคณะผู้พิจารณาชั้นต้นคณะเดียวกัน แต่ตามบทบัญญัติท่านแยกไว้วิธีละตอน เป็นงานคนละอย่าง ก่อนจะได้ศึกษาวิธีทั้งสองนี้ขอให้ทำความเข้าใจถึงความหมายและขั้นตอนของวิธีทั้งสองนี้เป็นลำดับ ดังนี้

     ๑. วิธีไต่สวนมูลฟ้อง

           (๑) ความหมาย หมายถึง “วิธีไต่สวนมูลฟ้องของคณะผู้พิจารณาชั้นต้นเพื่อวินิจฉัยถึงมูลกรณีซึ่งจำเลยถูกฟ้อง”

           (๒) ขั้นตอนแห่งการปฏิบัติ เริ่มวิธีนี้ตั้งแต่หัวหน้าคณะผู้พิจารณาชั้นต้นรับเรื่องราวจากผู้พิจารณาเป็นต้นไป จนถึงประทับฟ้องหรือสั่งยกฟ้อง

     ๒. วิธีพิจารณาวินิจฉัยการลงนิคหกรรมชั้นต้น แยกพิจารณาเป็น ๒ คือ

           (๑) วิธีพิจารณา

             ก. ความหมาย หมายถึง “วิธีการพิจารณาใด ๆ อันเกี่ยวกับกรณีของคณะผู้พิจารณาชั้นต้น ก่อนที่จะตัดสินชี้ขาดโดยคำวินิจฉัยหรือคำสั่ง”

             ข. ขั้นตอนแห่งการปฏิบัติ เริ่มวิธีตั้งแต่เมื่อคณะผู้พิจารณาชั้นต้นได้ประทับฟ้องแล้ว กำหนดพิจารณาหรือแต่งตั้งผู้พิจารณาชั้นต้นได้ประทับฟ้องแล้ว กำหนดพิจารณาหรือแต่งตั้งผู้ปฏิบัติหน้าที่โจทก์แทนสงฆ์ในกรณีที่ยังไม่มีโจทก์เป็นต้นไป จนถึงประชุมพิจารณาวินิจฉัยเพื่อจัดทำคำวินิจฉัย

           (๒) วินิจฉัยการลงนิคหกรรมชั้นต้น

                ก. ความหมาย หมายถึง “การวินิจฉัยชี้ขาดเป็นสองอย่าง อย่างใดอย่างหนึ่ง คือ “ยกฟ้องของโจทก์” หรือ “ลงโทษจำเลย” ของคณะผู้พิจารณาชั้นต้น

                ข. ขั้นตอนแห่งการปฏิบัติ เริ่มวิธีจากการที่คณะผู้พิจารณาชั้นต้นลงนามในคำวินิจฉัยชี้ขาดเป็นต้นไป จนถึงอ่านคำวินิจฉัยและให้คู่กรณีลงชื่อรับทราบคำวินิจฉัยนั้น

           ความประสงค์ใน ๑. เพียงเพื่อให้ทราบมูลฟ้องหรือมูลคำกล่าวหาเป็นต้น ว่ามีมูลหรือไม่มีมูล ชอบที่จะรับไว้ดำเนินการต่อไปหรือไม่

           ความประสงค์ใน ๒. (๑) เพื่อให้ทราบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นนั้น ตลอดจนสามารถชี้ขาดได้ว่า “ยกฟ้องของโจทก์” หรือ “ลงโทษจำเลย” อย่างใดอย่างหนึ่ง

           ความประสงค์ใน ๒. (๒) เพื่อชี้ขาดว่า “จำเลยมีความผิดต้องรับโทษสถานใดเพราะเหตุใด” หรือ “จำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์ต้องยกฟ้องของโจทก์เพราะเหตุใด”

           โดยความประสงค์แห่งวิธีทั้งสองนี้ มีความประสงค์แตกต่างกัน ทั้งขั้นตอนแห่งการปฏิบัติก็แตกต่างกัน มีข้อควรทราบเป็น ๒ คือ

           ๑. วิธีไต่สวนมูลฟ้อง เป็นวิธีหามูลเหตุที่ให้เกิดกรณีก่อนที่จะรับไว้ดำเนินการ จัดว่าเป็นวิธีอันเป็นบุรพประโยคของวิธีพิจารณาวินิจฉัยการลงนิคหกรรมชั้นต้น กรรมวิธีในการไต่สวนมูลฟ้องนั้น ยังมิใช่ขั้นใช้อำนาจตุลาการอย่างสมบูรณ์ ถึงแม้ว่าจำเลยจะรับสารภาพในขณะกำลังไต่สวนมูลฟ้อง ก็สั่งลงนิคหกรรมมิได้ ต้องประทับฟ้องไว้เพื่อดำเนินการ ต่อเมื่อได้พิจารณาแล้วจึงสั่งลงนิคหกรรมได้ ทางศาลยุติธรรมแห่งราชอาณาจักร ก็จัดวิธีไต่สวนมูลฟ้องเป็นบุรพประโยคแห่งวิธีพิจารณาในศาลชั้นต้น ตามประมวลกฏมหมายวิธีพิจารณาความอาญานั้น คดีที่อัยการเป็นโจทก์ จะไม่ไต่สวนมูลฟ้องก็ได้ คดีที่ราษฎรเป็นโจทก์เท่านั้น ที่บังคับให้ไต่สวนมูลฟ้องก่อนจึงประทับฟ้องและในชั้นไต่สวนมูลฟ้องนั้น แม้จำเลยจะรับสารภาพ ก็ให้สั่งประทับฟ้องไว้เพื่อดำเนินการเท่านั้น[1]

           ๒. วิธีพิจารณาวินิจฉัยการลงนิคหกรรมชั้นต้น เป็นวิธีเสาะแสวงหาข้อเท็จจริงให้ประจักษ์ โดยการใช้ดุลยพินิจพิจารณาชั่งนำหนักพยานหลักฐานทั้งของคู่กรณีจนกว่าจะแน่ชัดว่าจำเลยได้กระทำความผิดหรือมิได้กระทำความผิด จึงวินิจฉัยกรณีนั้น ๆ ตามข้อเท็จจริง ผู้ศึกษาอย่าได้เข้าใจว่าวิธีทั้งสองเป็นอันเดียวกัน

           เมื่อได้ทราบวิธีทั้งสองดีพอสมควรแล้ว จึงขอให้แยกศึกษาเฉพาะวิธีไต่สวนมูลฟ้องก่อน อันวิธีไต่สวนมูลฟ้องนั้น เป็นบทบัญญัติวิธีดำเนินการซึ่งมีขั้นตอนและวิธีปฏิบัติที่สำคัญ อันคณะผู้พิจารณาชั้นต้นจะต้องปฏิบัติให้ถูกต้อง ดังนั้น เพื่อให้สะดวกแก่ผู้ศึกษา จึงกำหนดประเด็นที่จะต้องปฏิบัติเป็น  ๗ ประเด็น คือ

               ๑. ผู้ไต่สวนมูลฟ้อง

                ๒. มูลฟ้องคืออะไร

                ๓. หลักและข้อพิสูจน์มูลฟ้อง

                ๔. หลักการปฏิบัติในการไต่สวนมูลฟ้อง

                ๕. การดำเนินการเมื่อมีอุปสรรค

                ๖. ผลการไต่สวนมูลฟ้อง

                ๗. การอุทธรณ์คำสั่งยกฟ้อง

๑. ผู้ไต่สวนมูลฟ้อง

    ก่อนที่จะศึกษาวิธีการในหมวดนี้ จะต้องทราบถึงผู้ใช้อำนาจหน้าที่ในกรณีไต่สวนมูลฟ้องให้ดีก่อน ซึ่งเป็นเรื่องที่ได้ศึกษามาแล้วในลักษณะ ๒ แต่ควรได้ทบทวนอีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้เกิดความแม่นยำชำนาญยิ่งขึ้น ทุกท่านเคยได้ทราบแล้วว่า ผู้มีอำนาจลงนิคหกรรมมี ๒ คือ “ผู้พิจารณา” และ “และคณะผู้พิจารณาชั้นต้น” และวิธีปฏิบัตินั้นได้แยกออกไปแล้วขั้นหนึ่ง คือ ขั้นวิธีปฏิบัติเบื้องต้น ซึ่งเป็นอำนาจหน้าที่ของผู้พิจารณาอันเปรียบเหมือนขั้นพนักงานสอบสวน แต่มีอำนาจศาลปนอยู่ด้วย กล่าวคือ สั่งลงนิคหกรรมได้ แต่ในขั้นไต่สวนมูลฟ้องนี้ ทางราชอาณาจักรเป็นขั้นที่ต้องปฏิบัติในศาลยุติธรรม ตามกฏมหาเถรสมาคมฉบับนี้ ได้กำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะผู้พิจารณาชั้นต้น ซึ่งมี ๗ อันดับ คือ อันดับ ๑-๗ ทั้งที่เป็น “คณะผู้พิจารณาเจ้าสังกัด” ทั้งที่เป็น “คณะผู้พิจารณาเจ้าของเขต” เป็นผู้ใช้อำนาจหน้าที่ในการไต่สวนมูลฟ้อง ดังนั้น จึงยุติว่า คณะผู้พิจารณาชั้นต้นเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่ไต่สวนมูลฟ้อง ไต่สวนมูลคำกล่าวหา เป็นต้น และในชั้นต้น อันดับ ๑-๒ ซึ่งเจ้าคณะอำเภอเป็นหัวหน้า เป็นชั้นที่จะต้องมีกรณีมากกว่าชั้นอื่น ๆ                    

๒. มูลฟ้องคืออะไร[2]

     ตามความในข้อ ๑๗ ให้ความหมายว่า “มูลฟ้อง” หมายถึง “มูลเหตุแห่งการฟ้องของโจทก์ ซึ่งฟ้องจำเลยด้วยเหตุอย่างใดอย่างหนึ่ง” แล้วบัญญัติมูลเหตุไว้ ๓ ตามนัยแห่งพระวินัย คือ ได้พบเห็นการกระทำความผิดด้วยตนเอง ๑ ได้ยินการกระทำหรือได้ฟังคำบอกเล่าที่มีหลักฐานพอที่จะเชื่อถือได้ ๑ รังเกียจสงสัยเพราะพบเห็นพฤติการณ์อันน่าเชื่อว่าได้กระทำความผิด ๑ จึงกล่าวได้ว่า เหตุที่คณะผู้พิจารณาชั้นต้นต้องไต่สวนมูลฟ้อง ก็เพื่อวินิจฉัยมูลเหตุ ๓ นี้นั้นเอง อันมูลที่จะต้องไต่สวนนั้นโดยประเภทแยกเป็น ๔ คือ

     (๑) มูลฟ้อง คือมูลเหตุที่โจทก์นำมาฟ้อง

     (๒) มูลคำกล่าวหา คือมูลเหตุที่ให้ผู้กล่าวหายกขึ้นเป็นเหตุกล่าวหา

     (๓) มูลคำแจ้งความผิด คือมูลเหตุให้ผู้แจ้งความผิดยกขึ้นเป็นเหตุแจ้งความผิด

     (๔) มูลพฤติการณ์ คือมูลเหตุที่ให้ผู้ปกครองสงฆ์บันทึกพฤติการณ์

     ใน (๑) ได้แก่กรณีที่มีโจทก์ฟ้องพระภิกษุตามข้อ ๑๒ และในชั้นผู้พิจารณานั้นจำเลยให้การภาคหรือปฏิเสธ ตามข้อ ๑๓ (๒) ผู้พิจารณาได้รวบรวมคำฟ้องและเอกสารอื่นส่งขึ้นสู่คณะผู้พิจารณาชั้นต้น เพื่อให้ทำการไต่สวนมูลฟ้อง

     ใน (๒) ได้แก่กรณีที่มีผู้กล่าวหาบอกกล่าวการกระทำความผิดของพระภิกษุต่อผู้พิจารณาตามความในข้อ ๑๕ และในชั้นผู้พิจารณานั้น ผู้ถูกกล่าวหาให้การภาคเสธหรือปฏิเสธ ตามข้อ ๑๕ (๑) ผู้พิจารณาได้รวบรวมคำกล่าวหาและเอกสารเรื่องอื่นส่งขึ้นสู่คณะผู้พิจารณาชั้นต้น เพื่อไต่สวนมูลคำกล่าวหา

     ใน (๓) ได้แก่กรณีที่พระภิกษุผู้กปครองสงฆ์แต่ไม่มีอำนจลงนิคหกรรม ได้แจ้งพฤติการณ์หรือการกระทำความผิดของพระภิกษุต่อผู้พิจารณา ตามข้อ ๑๖ (๑) และในชั้นผู้พิจารณา ผู้ถูกแจ้งความผิดให้การภาคเสธหรือปฏิเสธ ผู้พิจารณาได้รวบรวมคำแจ้งความผิดและเอกสารอื่น ๆ ส่งขึ้นสู่คณะผู้พิจารณาชั้นต้น เพื่อไต่สวนมูลคำแจ้งความผิด

    ใน (๔) ได้แก่กรณีที่พระภิกษุผู้ปกครองสงฆ์ซึ่งมีอำนาจลงนิคหกรรมได้พบเห็นพฤติการณ์อันเป็นที่น่ารังเกียจสงสัย และได้บันทึกพฤติการณ์ขึ้นเองตามความในข้อ ๑๖ (๒) ก. และในชั้นผู้พิจารณานั้น พระภิกษุผู้ต้องสงสัยให้การภาคเสธหรือปฏิเสธแล้วผู้พิจารณาได้รวบรวมบันทึกพฤติการณ์และเอกสารอื่นส่งขึ้นสู่คณะผู้พิจารณาชั้นต้น เพื่อไต่สวนมูลพฤติการณ์

     มูลทั้ง ๔ นี้ เป็นมูลที่มาจากผู้พิจารณาทั้งที่เป็นเจ้าสังกัดทั้งที่เป็นเจ้าของเขตและเมื่อมาถึงคณะผู้พิจารณาชั้นต้นแล้ว ทุกกรณีต้องมีการไต่สวน เพื่อวินิฉัยถึงมูลกรณีนั้น ๆ จะไม่ทำการไต่สวนมูลฟ้องก่อนมิได้

๓. หลักและข้อมูลพิสูจน์มูลฟ้อง

     อันการไต่สวนมูลฟ้อง มูลคำกล่าวหา มูลคำแจ้งความผิด หรือมูลพฤติการณ์ เพื่อวินิจฉัยถึงมูลกรณีดังกล่าวนั้น เป็นวิธีที่ต้องปฏิบัติโดยความรอบคอบ ทั้งต้องมีหลักปฏิบัติ ซึ่งพอกำหนดได้ ๒ คือ

     ๑. หลักพิสูจน์มูลฟ้อง

     ๒. ข้อมูล

     ๑. หลักพิสูจน์มูลฟ้อง หมายถึง “หลักอันเป็นอุปกรณ์แห่งการวินิจฉัยคำฟ้องหรือคำกล่าวหา เป็นต้น ซึ่งคณะผู้พิจารณาชั้นต้นต้องใช้เป็นเครื่องมือในการไต่สวน” ดังบทบัญญัติข้อ ๑๘ กำหนดให้คณะผู้พิจารณาชั้นต้นไต่สวนจากพยานหลักฐานของฝ่ายโจทก์ นั่นเอง เป็นหลักพิสูจน์มูลฟ้องพยานหลักฐานดังกล่าวนั้นแยกเป็น ๓ ประเภท คือ พยานบุคคล พยานเอกสาร พยานวัตถุ จึงยึดเอาสาระจากพยานทั้งสามประเภทนี้ ทุกประเภทหรือเพียงประเภทใดประเภทหนึ่งซึ่งเป็นหลักฐานกล่าวคือเป็นที่เชื่อถือได้ แล้วแต่กรณี หลักพิสูจน์มูลฟ้องนี้กำหนดเฉพาะพยานฝ่ายโจทก์เท่านั้น มิได้กำหนดถึงพยานฝ่ายจำเลย เพราะถือว่าการไต่สวนมูลฟ้องนั้น เป็นเพียงบุรพประโยคแห่งการใช้อำนาจตุลาการ ในชั้นนี้ แม้จำเลยจะสารภาพก็สั่งลงนิคหกรรมมิได้ ได้เพียงแต่รับเรื่องไว้ดำเนินการ คือ สั่งประทับฟ้องเท่านั้น ข้อนี้เทียบได้กับประมวลกฏหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๖๒ วรรคสุดท้ายซึ่งมีความว่า “ในกรณีที่มีการไต่สวนมูลฟ้องดังกล่าวแล้ว ถ้าจำเลยได้ให้การรับสารภาพ ให้ศาลประทับฟ้องไว้พิจารณา”  ในศาลยุติธรรมฝ่ายราชอาณาจักรนั้น คดีราษฎรเป็นโจทก์เท่านั่น ให้ไต่สวนมูลฟ้อง คดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ไม่จำเป็นต้องไต่สวนมูลฟ้อง แต่ถ้าเห็นสมควรจะสั่งให้ไต่สวนมูลฟ้องก่อนก็ได้ ดังนั้น จึงเห็นได้ชัดว่าวิธีไต่สวนมูลฟ้อง เป็นบุรพประโยคแห่งการพิจารณาวินิจฉัยการลงนิคหกรรม ทำเพื่อพิสูจน์หาข้อมูลอันจะประทับฟ้องหรือสั่งยกฟ้อง

     ๒.ข้อมูล ได้แก่ มูลกรณีกล่าวคือบทบัญญัติแห่งพระวินัยและมูลเหตุที่ยกขึ้นฟ้องหรือกล่าวหาของโจทก์หรือผู้กล่าวหาเป็นต้น ตามบทบัญญัติข้อ ๑๘ กำหนดไว้ ๒ อย่าง คือ

           (๑) การกระทำของจำเลยที่โจทก์นำมาฟ้องนั้น ต้องด้วยบทบัญญัติแห่งพระวินัยหรือไม่

           (๒) การฟ้องของโจทก์มีมูลเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งตามความในข้อ ๑๗ หรือไม่

     ข้อมูลที่ ๑ กำหนดด้วยบทบัญญัติแห่งพระวินัย ข้อมูลนี้ คณะผู้พิจารณาชั้นต้นต้องพิสูจน์ให้เห็นชัดว่า การกระทำของจำเลยที่โจทก์ฟ้องระบุไว้ในคำฟ้องว่าได้กระทำความผิดพร้อมด้วยข้อเท็จจริงต่าง ๆ นั้น เป็นความผิดทางพระวินัย กล่าวคือโจทก์ด้วยอาบัติ ๗ กอง ตามสิกขาบทใดบทหนึ่งหรือไม่ ถ้าโจทก์ระบุข้อเท็จจริงอย่างนั้น ๆ แล้วอ้างสิกขาบทได้ถูกต้อง จัดว่าการกระทำนั้นต้องด้วยบทบัญญัติแห่งพระวินัย และถ้าฟ้องโดยอ้างการกระทำความผิด ระบุข้อเท็จจริงถูกต้องตามลักษณะการก้าวล่วงละเมิดสิกขาบท เช่น ฟ้องว่าได้เห็นพระ ก. กอดจูบนางสาว ส. ระบุวัน เวลา สถานที่และบุคคลรู้เห็นเป็นพยานอย่างชัดเจน แต่มิได้อ้างความผิดว่า เป็นอาบัติอะไร ตามสิกขาบทไหน หรืออ้างแต่อ้างผิด ก็ถือว่า การกระทำนั้น ต้องด้วยบทบัญญัติแห่งพระวินัย จัดเป็นข้อมูลได้ แต่ถ้าโจทก์ระบุความผิดสถานอื่น นอกจากพระธรรมวินัย เช่น ฟ้องว่า ได้เห็นพระ ก. ขึ้นเวทีปราศัยหาเสียงให้แก่นาย จ. ซึ่งสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แม้พระ ก. จะได้กระทำเช่นนั้นจริง หรือโจทก์ฟ้องว่า พระอธิการ ข. ละเมิดจริยาพระสังฆาธิการอย่างร้ายแรง แม้พระอธิการ ข. จะละเมิดจริยาอย่างร้ายแรงจริง ก็มิใช่บทบัญญัติแห่งพระวินัย จะจัดว่าเป็นข้อมูลมิได้

     ข้อมูลที่ ๒ กำหนดด้วยมูลเหตุแห่การฟ้องของโจทก์ ข้อมูลนี้ คณะผู้พิจารณาชั้นต้นจะต้องพิสูจน์ให้เห็นชัดว่า มูลเหตุแห่งการฟ้องของโจทก์ซึ่งบรรยายว่า “ตนได้เห็นเอง” หรือ “ได้ยินได้ฟังมา” หรือ “รังเกียจสงสัย” โจทก์ได้เห็นเองตามข้ออ้างหรือไม่โจทก์ได้ยินได้ฟังมาหรือไม่ หรือโจทก์ได้รังเกียจสงสัยจริงหรือไม่ ถ้าโจทก์ได้เห็นเองหรือได้ยินได้ฟังมาจริงหรือได้รังเกียจสงสัย จัดว่ามีข้อมูลคือจัดเป็นข้อมูลได้

     ข้อมูลทั้งสองนี้ ใช้พยานหลักฐานของฝ่ายโจทก์ กล่าวคือพยานบุคคล หรือพยานเอกสาร หรือพยานวัตถุ นั่นเอง เป็นเครื่องพิสูจน์ หากไต่สวนได้อย่างแน่ชัดว่า การกระทำของจำเลยต้องด้วยบทบัญญัติแห่งพระวินัย และคำฟ้องของโจทก์มีมูล ๓ อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่ง ก็พิสูจน์ได้ชัดว่า คำฟ้องมีมูล

๔. หลักปฏิบัติในการไต่สวนมูลฟ้อง

     การไต่สวนมูลฟ้องดังกล่าวนี้ นอกจากจะยึดหลักพิสูจน์ฟ้องและข้อมูลเป็นหลักในการดำเนินการแล้ว ยังต้องยึดหลักปฏิบัติการอีก ๕ อย่าง คือ

     ๑. ให้ทำเป็นการลับ

     ๒. อำนาจพิเศษ

     ๓. การมาฟังการไต่สวน

     ๔. วัตถุประสงค์ของการไต่สวน

     ๕. การปฏิบัติ

     ๑. ให้ทำเป็นการลับ ได้มีบทบัญญัติข้อ ๑๙ บังคับไว้และบังคับให้นำความในข้อ ๓๐ มาใช้บังคับโดยอนุโลม การไต่สวนมูลฟ้องนั้น ถือเป็นกรณีอันสำคัญเพราะการที่โจทก์ฟ้องด้วยอาบัตินั้น ย่อมเป็นเหตุบั่นทอนความมั่นคงแห่งสังฆมณฑล ดังนั้น จึงกำหนดให้ดำเนินการเป็นการลับ หลักข้อนี้ให้นำความในข้อ ๓๐ มาใช้บังคับโดยอนุโลม กล่าวคือกำหนดให้เฉพาะบุคคลผู้เกี่ยวข้องอยู่ในที่ไต่สวนได้ คือ     

           (๑) โจทก์และจำเลย

           (๒) พยานเฉพาะที่กำลังให้การ

           (๓) ผู้ที่ได้รับเชิญมาเพื่อปฏิบัติการใด ๆ เกี่ยวกับการไต่สวน

           (๔) พระภิกษุผู้จดบันทึกถ้วยคำสำนวน

     ๒. อำนาจพิเศษ เพื่อให้การไต่สวนมูลฟ้องดำเนินไปโดยความสะดวกรวดเร็วในข้อ ๓๐ นั้น ให้กำหนดอำนาจพิเศษ ๒ อย่าง คือ

           (๑) ถ้ามีผู้ก่อความไม่สงบเรียบร้อยขึ้นในที่ไต่สวนหรือในบริเวณ ให้คณะผู้พิจารณาชั้นต้นมีอำนาจ

             (ก) สั่งให้ผู้นั้นตั้งอยู่ในความสงบ หรือ

             (ข) สั่งให้ออกไปจากที่ไต่สวน หรือจากบริเวณนั้น

           (๒) ถ้าเห็นสมควรจะขออารักขาต่อเจ้าหน้าที่ฝ่ายราชอาณาจักรให้มารักษาความสงบเรียบร้อยก็ได้

     ๓. การมาฟังการไต่สวน ได้มีบทบัญญัติ ข้อ ๑๙ วรรคสุดท้าย กำหนดให้โจทก์มาฟังการไต่สวนทุกครั้งที่ทำการไต่สวน ถ้าไม่มาตามที่ได้รับแจ้งติดต่อกัน ๓ ครั้ง โดยมิได้ชี้แจงเหตุขัดข้องต่อคณะผู้พิจารณาชั้นต้น ให้เรื่องเป็นอันถึงที่สุด คือให้คณะผู้พิจารณาชั้นต้นสั่งให้ยุติการไต่สวนมูลฟ้อง ข้อบังคับนี้เป็นข้อบังคับโจทก์โดยตรง เพราะการไต่สวนมูลฟ้องนั้น เป็นเรื่องไต่สวนฝ่ายโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าการ เทียบได้กับการไต่สวนมูลฟ้องในศาลยุติธรรมทางราชอาณาจักร ซึ่งมาตรา ๑๖๖ บังคับว่า “ถ้าโจทก์ไม่มาตามกำหนดนัด ให้ศาลยกฟ้องเสีย แต่ถ้าศาลเห็นว่ามีเหตุอันสมควรจึงมาไม่ได้ จะสั่งเลื่อนคดีไปก็ได้” เหตุที่มีบทบัญญัติบังคับการมาฟังการไต่สวนของโจทก์ไว้นั้น เพราะในกรณีไต่สวนมูลฟ้องถือว่า เป็นเรื่องระหว่างโจทก์กับคณะผู้พิจารณาชั้นต้น ถ้าโจทก์ไม่มาฟังการไต่สวน คณะผู้พิจารณาชั้นต้นก็ไม่อาจดำเนินการได้ จึงให้อำนาจพิเศษแก่คณะผู้พิจารณาชั้นต้น เพื่อจะได้เร่งเรื่องราวให้รวดเร็วเข้าได้ ส่วนจำเลยนั้นมิได้บังคับไว้ จำเลยจะมาฟังการไต่สวนมูลฟ้องหรือไม่ก็ได้ เพราะการไต่สวนมูลฟ้องนั้นมิได้ไต่สวนจำเลย

     ๔. วัตถุประสงค์ของการไต่สวนมูลฟ้อง วิธีการไต่สวนมูลฟ้องนั้น เป็นวิธีที่ใช้วินิจฉัยมูลกรณีนั้น ๆ เพื่อจะได้ทราบข้อมูลเกี่ยวกับกรณีเท่านั้น หาได้มุ่งประสงค์ทราบถึงข้อเท็จจริง หรือประสงค์ชี้ขาดซึ่งความผิดถูก ดังเช่นวิธีพิจารณาวินิจฉัยการลงนิคหกรรมไม่เลย จึงสรุปได้โดยแจ้งชัดว่าประสงค์ทราบข้อมูล ๒ อย่าง คือ

           (๑) เรื่องที่โจทก์นำมาฟ้องนั้น เป็นเรื่องที่ต้องด้วยบทบัญญัติแห่งพระวินัยหรือไม่ กล่าวคือเป็นเรื่องจะดำเนินการตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่บัญญัติไว้ในกฎมหาเถรสมาคมฉบับนี้ได้หรือไม่ โดยเฉพาะเรื่องใดที่เป็นเรื่องที่ฟ้องกันด้วยบทบัญญัติแห่งพระวินัยตามพุทธบัญญัติ จึงเป็นเรื่องที่รับดำเนินการได้

           (๒) เรื่องที่โจทก์นำมาฟ้องนั้น มีมูล ๓ อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่งหรือไม่ เพราะเรื่องที่ฟ้อง แม้จะเป็นเรื่องทางพระวินัย จะต้องให้เป็นเรื่องที่มีมูล จึงรับดำเนินการได้

           ๕. การปฏิบัติ การไต่สวนมูลฟ้องนั้น เป็นงานที่สำคัญ จำเป็นต้องเข้าใจถึงวิธีปฏิบัติ จึงขอแนะนำดังนี้

                (๑) เบื้องต้น เมื่อหัวหน้าคณะผู้พิจารณาชั้นต้น ได้รับเรื่องราวจากผู้พิจารณาแล้ว ควรได้นัดประชุมคณะผู้พิจารณาชั้นต้น เพื่อปรึกษาวางแผนการดำเนินการเกี่ยวกับกรณีนี้ร่วมกัน ตลอดจนร่วมกันตรวจรายละเอียดเกี่ยวกับคำฟ้องและคำอื่น ๆ และกำหนดดำเนินการไต่ส่วน

               (๒) ขั้นเริ่มการ หัวหน้าคณะผู้พิจารณาชั้นต้น แจ้งกำหนดวัน เวลา และสถานที่ทำการไต่สวนมูลฟ้อง ให้แก่โจทก์ จำเลย และพยานโจทก์ เพื่อไปร่วมการไต่สวนมูลฟ้อง โดยส่งสำเนามูลฟ้องของโจทก์ให้แก่จำเลยด้วย พร้อมกับสั่งผู้พิจารณาร่วมคณะทุกรูปให้ร่วมดำเนินการโดยตลอด

                (๓) ขั้นปฏิบัติ ในเบื้องต้น ให้จัดสถานที่ทำการไต่สวนมูลฟ้อง โดยกำหนดเอาวัดของหัวหน้าคณะหรือวัดของผู้พิจารณารูปใดรูปหนึ่ง ซึ่งเป็นสถานที่อันเหมาะ และต้องเป็นสถานที่ลับ แต่ถ้าวัดนั้นเป็นวัดที่จำเลยอยู่ แม้จะเป็นวัดที่ผู้พิจารณาอยู่ก็ควรเว้น การจัดห้องไต่สวนนั้น ต้องจัดในที่ลับพอสมควร ซึ่งเหมาะแก่การปฏิบัติงานลับ การจัดที่นั่งควรจัดให้เหมาะสม ที่นั่งคณะผู้พิจารณาให้สง่าผ่าเผย สมกับเป็นผู้ทรงความยุติธรรม เฉพาะที่นั่งของคู่กรณี ควรให้โจทก์นั่งด้านขวา จำเลยนั่งด้านซ้าย และพยานนั่งตรงกลาง การจัดสถานที่ การจัดที่นั่ง เป็นมูลแห่งการสร้างศรัทธาในคณะผู้พิจารณาชั้นต้น การเข้าสู่ที่ไต่สวนนั้น ให้คณะผู้พิจารณาชั้นต้นทุกรูป ตรงต่อเวลา อย่าถือเวลาสะดวก  เพราะเป็นการสร้างความเชื่อถือให้คู่แก่กรณี เมื่อถึงเวลากำหนด ให้เปิดการไต่ส่วนทันที อย่าชักช้ารีรอ การดำเนินการนั้น ให้ยึดข้อ ๑๙ เป็นหลัก ซึ่งในข้อ ๑๘ กำหนดให้ไต่สวนมูลฟ้องจากพยานหลักฐานของฝ่ายโจทก์ ดังนั้น โจทก์และพยานโจทก์เท่านั้นที่ต้องทำการไต่สวน ส่วนจำเลยไม่มีสิทธิจะให้การหรือนำพยานมาให้การ แต่มีสิทธิมารับรู้ความเห็นการไต่สวนมูลฟ้องโดยตลอด

๕. การปฏิบัติเมื่อมีอุปสรรค

     เมื่อคณะผู้พิจารณาชั้นต้นได้เริ่มเรื่องราวจากผู้พิจารณาแล้ว จนถึงดำเนินการไต่สวนมูลฟ้องอยู่ หากมีอุปสรรคอย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้น จำต้องมีวิธีปฏิบัติพิเศษ ได้มีบทบัญญัติข้อ ๒๐ กำหนดอุปสรรคและวิธีปฏิบัติไว้เป็น ๒ กรณี คือ

     ๑. จำเลยถึงมรณภาพ

     ๒. โจทก์เสียชีวิต

     ในกรณีที่ ๑ มีบทบัญญัติว่า “ให้เรื่องเป็นอันถึงที่สุด” คือ ให้เรื่องยุติลงโดยสภาพเพราะไม่มีจำเลย ให้คณะผู้พิจารณาชั้นต้นบันทึกจำหน่ายเรื่องราว เช่น บันทึกว่า “ให้ยุติการไต่สวนมูลฟ้องเพราะจำเลยมรณภาพเมื่อวันที่……..” และให้หัวหน้าคณะผู้พิจารณาชั้นต้นลงชื่อและวันที่กำหนดไว้ และแจ้งให้โจทก์ทราบ

     ในกรณีที่ ๒ เป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับการถึงมรณภาพหรือการตายของโจทก์ เพื่อมิให้เรื่องราวต้องยุติลง กำหนดให้คณะผู้พิจารณาชั้นต้นแต่งตั้งพระภิกษุผู้ทรงวุฒิรูปใดรูปหนึ่งตามที่เห็นสมควรให้ปฏิบัติหน้าที่เป็นโจทก์แทนผู้เสียชีวิตนั้น เพื่อให้ดำเนินการต่อไป

     ขออธิบายคำว่า “โจทก์” ประกอบเรื่องโดยย่อดังนี้

     โจทก์ ตามบัญญัติในกฎ ๑๑ นี้ ประเภทแรกคือผู้มีส่วนได้เสียตามความในข้อ ๔ (๔) ได้แก่พระภิกษุปกตัตตะดังอธิบายมาแล้วในบทนิยาม

     โจทก์อีกประเภทหนึ่ง คือผู้เสียหายซึ่งเกิดจากการกระทำของพระภิกษุตามความในข้อ ๔ (๕) ซึ่งได้แก่พระภิกษุหรือคฤหัสถ์ผู้บรรลุนิติภาวะแล้ว

     โจทก์อีกประเภทหนึ่ง คือผู้จัดการแทนผู้เสียหาย ตามความในข้อ ๔ (๕) ซึ่งได้แก่ผู้แทนโดยชอบธรรมเป็นโจทก์แทนผู้เยาว์ ผู้อนุบาลตามกฎหมายเป็นโจทก์แทนผู้ไร้ความสามารถ ผู้ที่พระภิกษุผู้มีอำนาจลงนิคหกรรมให้เป็นผู้จัดการแทนผู้เยาว์หรือผู้ไร้ความสามารถ ซึ่งไม่มีผู้จัดการแทนหรือมีแต่ไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ดังกล่าวแล้วในบทนิยาม

     อีกประเภทหนึ่ง คือ ผู้บุพการี ผู้สืบสันดาน ผู้สัมพันธ์โดยกฎหมาย หรือผู้สัมพันธ์โดยสายโลหิต เป็นโจทก์แทนผู้บรรลุนิติภาวะแล้ว แต่ตายก่อนหรือหลังฟ้อง

     ในกรณีที่กล่าวถึงในข้อ ๒๐ นี้ เป็นกรณีที่ไม่มีผู้บุพการีเป็นต้น ที่จะเป็นโจทก์แทน ในเมื่อโจทก์เสียชีวิต ให้คณะผู้พิจารณาแต่งตั้งผู้ปฏิบัติหน้าที่เป็นโจทก์แทน แนวปฏิบัติในการแต่งตั้งผู้ปฏิบัติหน้าที่เป็นโจทก์แทนกรณีเช่นนี้ ควรได้แต่งตั้งพระภิกษุผู้ดำรงตำแหน่งพระสังฆาธิการ เพราะพระสังฆาธิการย่อมมีหน้าที่พิเศษในการช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกในกรณีไต่สวนมูลฟ้อง ในกรณีพิจารณาวินิจฉัยการลงนิคหกรรมตามความในข้อ ๖๕ ดังนั้น เมื่อแต่งตั้งพระสังฆาธิการแล้ว จะได้รับการช่วยเหลือด้วยดีทั้งการช่วยเหลือในกรณีเช่นนี้ อาจใช้เป็นหลักในการพิจารณาความชอบได้ด้วย และเมื่อได้แต่งตั้งแล้ว คณะผู้พิจารณาชั้นต้นแจ้งคำสั่งให้ทราบเพื่อปฏิบัติการ และส่งสำเนาคำฟ้องพร้อมด้วยสำเนาเอกสารอื่นอันเกี่ยวกับพฤติการณ์ของโจทก์ให้แก่ผู้ได้รับแต่งตั้งนั้นด้วย

๖. ผลของการไต่สวนมูลฟ้อง

     ในการไต่สวนมูลฟ้องเป็นต้นนั้น เมื่อคณะผู้พิจารณาชั้นต้นได้ทำการไต่สวนมูลฟ้องเป็นต้นจากพยานหลักฐานของฝ่ายโจทก์เสร็จเรียบร้อยแล้ว จากนั้นเป็นชั้นวินิจฉัยถึงมูลกรณีนั้น ๆ ว่า “มีมูล” หรือ “ไม่มีมูล” การปฏิบัตินั้น คณะผู้พิจารณาชั้นต้นจะต้องประชุมตรวจสอบเทียบเคียงคำฟ้องของโจทก์และคำให้การพยานของโจทก์โดยละเอียดรอบคอบ และประชุมปรึกษาลงมติว่า “เป็นกรณีที่มีมูล” หรือ “เป็นกรณีที่ไม่มีมูล” เพื่อจะได้สั่งการอย่างใดอย่างหนึ่งตามความในข้อ ๒๑ ดังนี้

     (๑) ถ้าคำฟ้องมีมูล ให้ประทับฟ้อง

     (๒) ถ้าคำฟ้องไม่มีมูล ให้สั่งยกฟ้อง[3]

     ใน (๑) ถ้าคำฟ้องกรณีใด เมื่อได้ดำเนินการไต่สวนและพิสูจน์โดยแน่ชัดแล้วปรากฏว่าเป็นกรณีมีมูล ๓ อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น โจทก์ฟ้องว่าตนได้เห็นเอง เมื่อไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เป็นการแน่ชัดว่าโจทก์ได้เห็นเองจริง และเรื่องที่ยกขึ้นฟ้องนั้น เป็นเรื่องที่ต้องด้วยบทบัญญัติแห่งพระวินัย ให้ประทับฟ้อง คำว่า “ประทับฟ้อง” หมายถึง “สั่งรับฟ้อง” คือรับเรื่องนั้นไว้ดำเนินการในชั้นพิจารณาวินิจฉัยต่อไป และเมื่อประทับฟ้องแล้ว ให้แจ้งการประทับฟ้องแก่โจทก์จำเลยและกำหนดดำเนินการพิจารณาวินิจฉัยต่อไป แต่กรณีที่ไม่มีโจทก์มาแต่เดิม กล่าวคือ กรณีที่พระภิกษุถูกกล่าวหา ถูกแจ้งความผิด ถูกสงสัยในพฤติการณ์อันเป็นที่น่ารังเกียจสงสัย เมื่อประทับฟ้องแล้ว ให้คณะผู้พิจารณาชั้นต้นดำเนินการแต่งตั้งผู้ปฏิบัติหน้าที่ที่โจทก์แทนสงฆ์ตามความในข้อ ๒๘ วรรคแรกก่อน จึงดำเนินการต่อไป

     ใน (๒) ถ้าคำฟ้องกรณีใด เมื่อได้ดำเนินการไต่สวนและพิสูจน์แล้ว ปรากฏว่าเป็นกรณีที่ไม่มีมูล ๓ อย่าง อย่างใดอย่างหนี่ง หรือมีมูล ๓ อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่ง แต่เรื่องที่โจทก์นำมาฟ้องนั้น ไม่ต้องด้วยบทบัญญัติแห่งพระวินัย เช่น ฟ้องว่า พระครู ก. เจ้าคณะตำบท ข. มิได้แต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์ แต่ได้รับเป็นพระอุปัชฌาย์ให้การบรรพชาอุปสมบท แม้จะเป็นเรื่องที่มีมูล ก็เป็นเรื่องไม่ต้องด้วยบทบัญญัติแห่งพระวินัย ให้สั่งยกฟ้อง  แล้วแจ้งให้โจทก์และจำเลยทราบ จะนำเรื่องละเมิดจริยามาดำเนินการมิได้

๗. การอุทธรณ์คำสั่งฟ้อง

     ในกรณีที่คณะผู้พิจารณาชั้นต้น สั่งยกฟ้องตามความในข้อ ๒๑ (๒) ให้สิทธิแก่โจทก์ที่จะอุทธรณ์คำสั่ง ให้อุทธรณ์ได้เฉพาะมูลฟ้องอย่างเดียว[4] ส่วนมูลคำกล่าวหาเป็นต้น มิได้ให้สิทธิอุทธรณีโดยบทบัญญัติข้อ ๒๒ กำหนดหลักเกณฑ์ และวิธีการไว้ดังนี้

     (๑)  คำสั่งให้สิทธิอุทธรณ์

     (๒) หน้าที่ผู้อุทธรณ์

     (๓) หน้าที่คณะผู้พิจารณาชั้นต้น

     (๔) หน้าที่คณะผู้พิจารณาชั้นอุทธรณ์

     (๕) ผลการวินิจฉัย

           ใน (๑) คำสั่งให้ยกฟ้องนั้น ให้โจทก์มีสิทธิอุทธรณ์ได้เพียงบางกรณี บางกรณีมิได้ให้สิทธิในการอุทธรณ์ ที่ให้สิทธิอุทธรณ์ คือ คำสั่งยกฟ้องในกรณีที่โจทก์ฟ้องครุกาบัติ และคำสั่งนั้นมิใช่คำสั่งมหาเถรสมาคม กล่าวคือคำสั่งยกฟ้องที่จะให้อุทธรณ์ได้นั้น ต้องประกอบด้วยลักษณะ ๒ อย่าง คือ ฟ้องว่าละเมิดอาบัติสังฆาทิเสสหรืออาบัติปาราชิก และเป็นคำสั่งของคณะผู้พิจารณาชั้นต้นอันดับ ๑-๕ ถ้าไม่พร้อมด้วยลักษณะทั้ง ๒ นี้ มิให้สิทธิในการอุทธรณ์คำสั่ง โดยตรงคำสั่งยกฟ้องในกรณีลหุกาบัติอย่างหนึ่ง และอีกอย่างหนึ่ง คือ คำสั่งของมหาเถรสมาคม ไม่ว่าจะเป็น
ครุกาบัติ หรือ ลหุกาบัติ

           ใน (๒) กำหนดให้โจทก์ทำคำอุทธรณ์คำสั่งนั้นต่อคณะผู้พิจารณาชั้นอุทธรณ์เป็นลายลักษณ์อักษร แล้วให้ยื่นต่อคณะผู้พิจารณาชั้นต้น ภายใน ๑๕ วัน นับแต่วันได้รับคำสั่ง ยื่นช้ากว่านั้นหมดสิทธิอุทธรณ์

           ใน (๓) กำหนดให้คณะผู้พิจารณาชั้นต้นซึ่งเป็นผู้ออกคำสั่งรับอุทธรณ์คำสั่งนั้น บันทึกรายงานประจำวันไว้แล้วส่งอุทธรณ์คำสั่งนั้นไปยังคณะผู้พิจารณาชั้นอุทธรณ์โดยผ่านผู้บังคับบัญชาตามลำดับ ระวังอย่าส่งข้ามผู้บังคับบัญชา เพราะมีบทบัญญัติข้อ ๓๗ วรรคสุดท้ายแห่งกฎมหาเถรสมาคมฉบับที่ ๕ (พ.ศ. ๒๕๐๖)[5]ห้ามไว้โดยชัดแจ้ง และผู้รับคำอุทธรณ์คำสั่งนั้น ต้องรีบส่งไปยังหัวหน้าคณะผู้พิจารณาชั้นอุทธรณ์ โดยให้ส่งภายใน ๑๕ วัน นับแต่วันได้รับอุทธรณ์คำสั่งนั้น จะกักคำอุทธรณ์ไว้มิได้

           ใน (๔) กำหนดให้คณะผู้พิจารณาชั้นอุทธรณ์ต้องดำเนินการพิจารณาวินิจฉัย โดยเมื่อหัวหน้าคณะได้รับอุทธรณ์คำสั่งแล้ว ให้สั่งประชุมคณผู้พิจารณาชั้นอุทธรณ์เพื่อทำการพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์คำสั่งนั้นให้เสร็จภายใน ๓๐ วัน นับแต่วันที่ได้รับอุทธรณ์นั้น และเมื่อได้วินิจฉัยอุทธรณ์นั้นแล้ว ให้ส่งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ไปยังคณะผู้พิจารณาชั้นต้น ซึ่งเป็นผู้ออกคำสั่ง เพื่อแจ้งให้โจทก์ทราบภายใน ๑๕ วัน นับแต่วันได้รับคำวินิจฉัยอุทธรณ์คำสั่ง

           ใน (๕) เมื่อคณะผู้พิจารณาชั้นอุทธรณ์ ได้ทำการพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์คำสั่งนั้น มีสิทธิวินิจฉัยได้ ๒ อย่าง ผลแห่งการวินิจฉัยจึงเป็น ๒ คือ

               (๑) ผลสืบเนื่อง ถ้าคณะผู้พิจารณาชั้นอุทธรณ์วินิจฉัยว่า “คำฟ้องนั้นมีมูล” จัดเป็นผลสืบเนื่อง กล่าวคือเป็นผลที่ต้องให้ดำเนินกรณีต่อไป ในกรณีเช่นนี้ ให้คณะผู้พิจารณาชั้นต้น สั่งประทับฟ้อง แล้วดำเนิการพิจารณาวินิจฉัยต่อไป

                (๒) ผลยุติ  ถ้าคณะผู้พิจารณาชั้นอุทธรณ์สวินิจฉัยว่า “คำฟ้องนั้นไม่มีมูล” จัดเป็นผลยุติ คือ มิต้องดำเนินกรณีต่อไป เพียงแต่ให้คณะผู้พิจารณาชั้นต้น แจ้งให้โจทก์ทราบและจำหน่ายเรื่องนั้น โดยให้หัวหน้าคณะผู้พิจารณาชั้นต้นบันทึกรายการไว้ว่า “ให้เรื่องยุติตามคำวินิจฉัยไม่รับฟ้องของคณะผู้พิจารณาชั้นอุทธรณ์” แล้วลงชื่อวันที่กำกับ


[1] ดูประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๖๒ ประกอบ

[2] ดูวินัยมุขประกอบ

ดูประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๖๗ ประกอบ

[4] ดูประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๗๐ ประกอบ

[5] ปัจจุบันเป็นข้อ ๔๕ วรรคสุดท้าย แห่งกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ ๒๔ (พ.ศ.๒๕๔๑)