หมวด ๓
วิธีพิจารณาวินิจฉัยการลงนิคหกรรม
ส่วนที่ ๑
หลักทั่วไป
——–
วิธีพิจารณาวินิจฉัยการลงนิคหกรรม เป็นวิธีพิจารณาชั้นกระบวนการยุติธรรมและเป็นวิธีที่ละเอียดขึ้นตามลำดับ ได้กำหนดเป็นหมวดหนึ่ง และแยกออกเป็นส่วนอีก ๔ ส่วน ทั้งเป็นส่วนว่าด้วยหลักการและวิธีการ ในส่วนที่ ๑ นี้ เป็นส่วนว่าด้วยหลักการ จึงควรศึกษาโดยละเอียด ขอกำหนดประเด็นที่จะต้องศึกษาโดยละเอียด ๔ ประเด็น คือ
๑. การพิจารณาวินิจฉัยการลงนิคหกรรม
๒. คณะผู้พิจารณาชั้นตั้น
๓. คณะผู้พิจารณาชั้นอุทธรณ์
๔. คณะผู้พิจารณาชั้นฎีกา
๑. การพิจารณาวินิจฉัยการลงนิคหกรรม
อันการปกครองกล่าวคือการบำบัดทุกข์บำรุงสุขนั้น ตั้งอยู่บนพื้นฐานแห่งอำนาจ ๓ อย่าง คือ อำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการ ทั้งการปกครองทางราชอาณาจักร ทั้งการปกครองทางพุทธจักร ย่อมใช้อำนาจทั้ง ๓ นี้เป็นฐาน แต่จะใช้แบบรวมอำนาจ หรือแบบกระจายอำนาจหรือแบบมอบอำนาจ ย่อมขึ้นอยู่กับหลักการปกครองนั้น ๆ การปกครองคณะสงฆ์ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ เป็นการปกครองแบบรวมและมอบอำนาจ โดยรวมอำนาจทั้ง ๓ ดังกล่าวอยู่ในมหาเถรสมาคม แล้วมหาเถรสมาคมมอบอำนาจเหล่านั้นแก่คณะพระสังฆาธิการรับไปใช้มากบ้างน้อยบ้างตามตำแหน่งหน้าที่ ว่าตรงนั้น อำนาจตุลาการซึ่งเป็นอำนาจที่มหาเถรสมาคมมีตามพระราชบัญญัตินั้น เมื่อตรากฎมหาเถรสมาคมแล้ว ได้บัญญัติข้อ ๒๓ เป็นฐานแห่งอำนาจตุลาการ โดยบัญญัติศัพท์ว่า “การพิจารณาวินิจฉัยการลงนิคหกรรม” ซึ่งศัพท์นี้ก็คือ อำนาจตุลาการ อันเป็นอำนาจหน้าที่ส่วนหนึ่งของคณะวินัยธรตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พุทธศักราช ๒๔๘๔ นั่นเอง หรือเทียบกับทางราชอาณาจักร ก็ได้แก่อำนาจศาลยุติธรรม การพิจารณาวินิจฉัยการลงนิคหกรรมตามความในข้อ ๒๓ นั้นกำหนดเป็น ๓ ชั้น คือ
๑. ชั้นต้น
๒. ชั้นอุทธรณ์
๓. ชั้นฎีกา
ดังนั้น จึงเห็นได้ชัดว่า “การพิจารณาวินิจฉัยการลงนิคหกรรม” นั้น เป็นตัวอำนาจตุลาการ แต่มิได้บัญญัติศัพท์ว่า “ศาล” บัญญัติศัพท์เป็นกิริยาอันเป็นตัวอำนาจซึ่งจักต้องอาศัยบุคคลผู้ใช้ อันได้แก่ “คณะผู้พิจารณา”
๒. คณะผู้พิจารณาชั้นต้น
ในข้อ ๒๔ กำหนดผู้ใช้อำนาจในชั้นต้นไว้ชัด โดยบัญญัติตำแหน่งว่า “คณะผู้พิจารณาชั้นต้น” ซึ่งจัดไว้ ๗ อันดับ แต่ละอันดับกำหนดตำแหน่งผู้ปกครองสงฆ์ร่วมในคณะผู้พิจารณาชั้นต้นอันดับละ ๓ ตำแหน่ง ซึ่งกำหนดเอาผู้ดำรงตำแหน่งสูงเป็นหัวหน้า คณะผู้พิจารณาชั้นต้นนั้นมี ๗ อันดับ ได้กล่าวไว้โดยครบถ้วนแล้วในลักษณะ ๒ ว่าด้วยผู้มีอำนาจลงนิคหกรรม ดังรายละเอียดปรากฏในข้อ ๕-๗ (ดูผังประกอบ)
๓. คณะผู้พิจารณาชั้นอุทธรณ์
ในข้อ ๒๕ กำหนดผู้ใช้อำนาจในชั้นอุทธรณ์ โดยบัญญัติตำแหน่งว่า “คณะผู้พิจารณาณาชั้นอุทธรณ์” ประกอบด้วยพระภิกษุผู้ปกครองสงฆ์เจ้าสังกัด กล่าวคือเจ้าสังกัดของคณะผู้พิจารณาชั้นต้นนั้น ซึ่งมีผู้ดำรงตำแหน่งสูงเป็นหัวหน้าคณะ ที่มีคณะผู้พิจารณาชั้นอุทธรณ์ไว้ก็เพื่อได้ให้ความยุติธรรมแก่โจทก์จำเลยมากขึ้น เพราะชั้นอุทธรณ์เป็นชั้นสูง มีอำนาจที่จะยืนตามคำวินิจฉัยของชั้นต้นซึ่งเห็นว่าถูกต้อง ยกคำวินิจฉัยของชั้นต้นซึ่งเห็นว่าไม่ถูกต้อง แก้คำวินิจฉัยของชั้นต้นซึ่งเห็นว่าควรแก้ไข แล้วกลับในกรณีที่เห็นควรกลับคำวินิจฉัยของชั้นต้น ทั้งนี้ ก็เพื่อให้เป็นผู้ตรวจการปฏิบัติงานของชั้นต้น อันเป็นมูลเหตุให้ได้มาซึ่งความยุติธรรม คณะผู้พิจารณาชั้นอุทธรณ์นั้นกำหนด ๔ อันดับ คือ
๑. คณะผู้พิจารณาชั้นอุทธรณ์อันดับ ๑ ประกอบด้วย
(๑) เจ้าคณะภาคเป็นหัวหน้าคณะ
(๒) เจ้าคณะจังหวัด
(๓) รองเจ้าคณะจังหวัด
มีอำนาจพิจารณาวินิจฉัยคำสั่งหรือคำวินิจฉัยของชั้นต้นอันดับ ๑-๒ ซึ่งมีเจ้าคณะอำเภอเป็นหัวหน้าคณะ
๒. คณะผู้พิจารณาชั้นอุทธรณ์อันดับ ๒ ประกอบด้วย
(๑) เจ้าคณะใหญ่ เป็นหัวหน้าคณะ
(๒) เจ้าคณะภาค
(๓) รองเจ้าคณะภาค
มีอำนาจพิจารณาวินิจฉัยคำสั่งหรือคำวินิจฉัยของชั้นต้นอันดับ ๓ ซึ่งมีเจ้าคณะจังหวัดเป็นหัวหน้า
๓. คณะผู้พิจารณาชั้นอุทธรณ์อันดับ ๓ ประกอบด้วย
(๑) เจ้าคณะใหญ่เป็นหัวหน้าคณะ
(๒) เจ้าคณะภาคในหนนั้น ๒ รูป (ซึ่งเจ้าคณะใหญ่คัดเลือกจากผู้มิได้ร่วมในชั้นต้น)
มีอำนาจพิจารณาวินิจฉัยคำสั่งหรือคำวินิจฉัยของชั้นต้นอันดับ ๔ ซึ่งมีเจ้าคณะภาคเป็นหัวหน้าคณะ
๔. คณะผู้พิจารณาชั้นอุทธรณ์อันดับ ๔ เป็นอำนาจของมหาเถรสมาคม
มีอำนาจพิจารณาวินิจฉัยคำสั่งหรือคำวินิจฉัยของชั้นต้นอันดับ ๕ ซึ่งมีเจ้าคณะใหญ่เป็นหัวหน้าคณะ
๔. คณะผู้พิจารณาชั้นฎีกา
คณะผู้พิจารณาชั้นฎีกา ซึ่งถือว่าเป็นชั้นสูงสุดในการพิจาณาวินิจฉัยการลงนิคหกรรม เป็นชั้นที่กำหนดให้เป็นผู้ทรงความยุติธรรมชั้นสูงสุด อันสังฆมณฑลต้องยอมรับ ตามบทบัญญัติข้อ ๒๖ กำหนดว่า “ให้เป็นอำนาจหน้าที่ของมหาเถรสมาคม” ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่า “มหาเถรสมาคมเป็นคณะผู้พิจารณาชั้นฎีกา”
ความจริงนั้น มหาเถรสมาคมเป็นสถาบันอันสูงสุดของคณะสงฆ์ มีอำนาจพิจารณาวินิจฉัยการลงนิคหกรรมทั้ง ๓ ชั้น คือ ชั้นต้นอันดับ ๖-๗ ชั้นอุทธรณ์อันดับ ๔ และชั้นฎีกา ในชั้นต้นอันดับ ๖-๗ นั้น ถึงแม้จะเรียกว่าชั้นต้นก็ตาม แต่โดยความหมายก็คือ “ชั้นฎีกา” เพราะมหาเถรสมาคมจะมีคำสั่งหรือคำวินิจฉัยอย่างใดในชั้นต้นอันดับ ๖-๗ นั้น ย่อมเป็นอันถึงที่สุดเหมือนกับสั่งในชั้นฎีกา ดังนั้น มหาเถรสมาคมในชั้นต้นอันดับ ๖-๗ ก็คือ ชั้นฎีกาลดรูป นั่นเอง และในชั้นอุทธรณ์อันดับ ๔ ก็มีมีนัยเช่นเดียวกันกับในชั้นต้นอันดับ ๖-๗ ทั้งนี้ อาศัยบทบัญญัติข้อ ๒๗ เป็นบทให้อำนาจ ซึ่งมีความว่า “คำสั่งหรือคำวินิจฉัยของมหาเถรสมาคมในการพิจารณาวินิจฉัยการลงนิคหกรรมไม่ว่ากรณีใด ๆ ให้เป็นอันถึงที่สุด” ดังนั้น เมื่อมหาเถรสมาคมมีคำสั่งหรือคำวินิจฉัยในชั้นต้นหรือในชั้นอุทธรณ์ จึงให้เป็นอันถึงที่สุดอย่างเดียวกับคำสั่งหรือคำวินิจฉัยในชั้นฎีกา
Views: 5