ส่วนที่ ๒ วิธีพิจารณาวินิจฉัยการลงนิคหกรรมชั้นต้น

ส่วนที่ ๒

วิธีพิจารณาวินิจฉัยการลงนิคหกรรมชั้นต้น

—————

     อันวิธีพิจารณาวินิจฉัยการลงนิคหกรรมชั้นต้นนี้ เป็นฝ่ายวิธีสบัญญัติ ซึ่งว่าด้วยวิธีการปฏิบัติเกี่ยวกับการลงนิคหกรรม นับเป็นวิธีปฏิบัติที่ละเอียดสุขุมคัมภีรภาพ ทั้งวิธีปฏิบัติในส่วนนี้ เป็นวิธีที่จะต้องใช้มากกว่าในชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกา ทั้งวิธีปฏิบัติในชั้นนี้ เป็นอำนาจหน้าที่ของผู้ปกครองสงฆ์ทุกชั้น จึงจำเป็นที่พระสังฆาธิการจะต้องศึกษให้เข้าใจโดยละเอียด ในการพัฒนาพระสังฆาธิการชั้นเจ้าคณะนี้ ขอกำหนดประเด็นสำคัญเป็น ๗ คือ

     ๑.  ผู้มีอำนาจในการพิจารณาวินิจฉัยชั้นต้น

     ๒. การแต่งตั้งผู้ปฏิบัติหน้าที่โจทก์แทนสงฆ์

     ๓. หลักการปฏิบัติในการพิจารณาวินิจฉัยชั้นต้น

     ๔. การปฏิบัติเกี่ยวกับพยานหลักฐาน

     ๕. การปฏิบัติเมื่อมีอุปสรรค

     ๖. การพิจารณาวินิจฉัยการลงนิคหกรรม

     ๗. คำวินิจฉัยชั้นต้น

๑. ผู้มีอำนาจในการพิจารณาวินิจฉัยชั้นต้น

     วิธีพิจารณาวินิจฉัยการลงนิคหกรรมชั้นต้น เป็นวิธีที่ต่อเนื่องจากวิธีไต่สวนมูลฟ้อง นับเป็นวิธีปฏิบัติชั้นต้นที่สำคัญ อันการปฏิบัติในชั้นนี้ จะต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการ จะบกพร่องอย่างใดอย่างหนึ่งมิได้ ดังนั้น จึงขอนำพระสังฆาธิการทบทวนความรู้เดิมอันเป็นส่วนหลักเกณฑ์ให้แม่นยำชำนาญยิ่งขึ้น กล่าวคือให้ทบทวนถึงผู้ใช้อำนาจในชั้นนี้ เป็นหลักเกณฑ์อันสำคัญ ผู้ใช้อำนาจและหน้าที่ตามความในข้อ ๒๘-๔๐ นี้ ได้แก่ คณะผู้พิจารณาชั้นต้น ตามความในข้อ ๒๔ ซึ่งกำหนดไว้ ๗ อันดับ อันดับ ๑-๕ แต่ละอันดับกำหนดตำแหน่งคณะผู้พิจารณา ๓ ตำแหน่ง มีตำแหน่งสูงเป็นหัวหน้าคณะ การกำหนดผู้พิจารณาทั้งคณะนั้น กำหนดโดยตำแหน่ง มิใช่โดยการแต่งตั้ง เว้นแต่ในกรณีที่รองเจ้าคณะในอันดับสูงไม่มี ให้หัวหน้าคณะ คัดเลือกเจ้าคณะระดับรองลงมาในเขตนั้นเข้าร่วมด้วย ๑ รูป รายละเอียดแจ้งในข้อ ๕, ๖, ๗ แล้ว แต่ในชั้นนี้ ขอทบทวนเฉพาะหัวหน้าคณะ

     ๑. ชั้นต้นอันดับ ๑  เจ้าคณะเจ้าสังกัดเป็นหัวหน้าคณะ

     ๒. ชั้นต้นอันดับ ๒ เจ้าคณะอำเภอเป็นหัวหน้า

     ๓. ชั้นต้นอันดับ ๓ เจ้าคณะจังหวัดเป็นหัวหน้าคณะ

     ๔. ชั้นต้นอันดับ ๔ เจ้าคณะภาคเป็นหัวหน้าคณะ

     ๕. ชั้นต้นอันดับ ๕ เจ้าคณะใหญ่เป็นหัวหน้าคณะ

     ๖. ชั้นต้นอันดับ ๖-๗ เป็นอำนาจของมหาเถรสมาคม

     อันดับ ๒-๔ ในกรณีที่พระภิกษุกระทำความผิดในเขตสังกัด เป็นอำนาจเจ้าคณะเจ้าสังกัด แต่ในกรณีที่พระภิกษุอยู่ในเขตอื่นมากระทำความผิด เป็นอำนาจของเจ้าคณะเจ้าของเขต โดยถือผู้กระทำความผิดเป็นหลัก ดังนั้น วิธีพิจารณาวินิจฉัยการลงนิคหกรรมชั้นต้น จึงเป็นอำนาจหน้าที่ของคณะผู้พิจารณาชั้นต้น ทั้งเจ้าสังกัดและเจ้าของเขต แล้วแต่กรณี

๒. การแต่งตั้งผู้ปฏิบัติหน้าที่โจทก์แทนสงฆ์

     อันการพิจารณาวินิจฉัยการลงนิคหกรรมชั้นต้น เป็นวิธีปฏิบัติที่ต่อเนื่องจากการไต่สวนมูลฟ้อง เพราะเรื่องใดที่คณะผู้พิจารณาชั้นต้น ได้ประทับฟ้องแล้ว เรื่องนั้นคณะผู้พิจารณาชั้นต้นจักต้องดำเนินการพิจารณาวินิจฉัยต่อไป แต่ที่จะพิจารณาวินิจฉัยต่อไปได้โดยไม่มีอุปสรรค ก็เฉพาะกรณีที่มีโจทก์ฟ้องตามความในข้อ ๑๒ เท่านั้นเพราะกรณีเช่นนี้ มีทั้งโจทก์มีทั้งจำเลยพร้อมอยู่แล้ว ก็ดำเนินการพิจารณาวินิจฉัยได้ทันที แต่ในบางกรณี ถึงจะประทับฟ้องแล้ว ก็ดำเนินการพิจารณาวินิจฉัยยังมิได้ เพราะยังไม่พร้อมด้วยโจทก์จำเลย คณะผู้พิจารณาชั้นต้น จะต้องแต่งตั้งพระภิกษุผู้ทรงคุณวุฒิรูปใดรูปหนึ่งให้เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่โจทก์แทนสงฆ์ก่อน จึงจะดำเนินการได้เพราะการดำเนินการในกรณีเช่นนี้ ถือว่าสงฆ์เป็นผู้เสียหาย ให้มีโจทก์แทนสงฆ์อันเทียบได้กับคดีทางราชอาณาจักร ซึ่งอัยการเป็นโจทก์แทนแผ่นดิน ดังนั้น จึงมีบทบัญญัติข้อ ๒๘ กำหนดการแต่งตั้งผู้ปฏิบัติหน้าที่โจทก์แทนสงฆ์ เป็น ๓ กรณี คือ[1]

     (๑) กรณีที่มีผู้กล่าวหาตามความในข้อ ๑๕ (๑)

     (๒) กรณีที่มีผู้แจ้งความผิดตามความในข้อ ๑๖ (๑)

     (๓) กรณีที่ผู้พิจารณาพบเห็นพฤติการณ์ตามความในข้อ ๑๖ (๒) ก.

     ใน (๑) เมื่อมีผู้ใดผู้หนึ่งซึ่งมิได้ลักษณะผู้มีส่วนได้เสียหรือผู้เสียหาย ไม่มีสิทธิเป็นโจทก์ แต่เขาเป็นผู้มีสิทธิกล่าวหา ได้ยื่นหนังสือกล่าวหาพระภิกษุว่าได้กระทำความผิด เมื่อผู้พิจารณาได้รับเรื่องและปฏิบัติตามวิธีเบื้องต้นแล้ว เรื่องไม่ยุติในชั้นผู้ปกครอง ได้ส่งเรื่องให้คณะผู้พิจารณาชั้นต้น เมื่อคณะผู้พิจารณารับเรื่องแล้วไต่สวนมูลคำกล่าวหา เห็นว่ามีมูล ได้ประทับฟ้อง ถึงจะประทับฟ้องแล้ว แต่ก็ยังไม่มีโจทก์ พระภิกษุผู้ถูกกล่าวหาก็ยังไม่ตกเป็นจำเลย ยังไม่มีทั้งโจทก์และจำเลย จึงต้องแต่งตั้งผู้ปฏิบัติหน้าที่โจทก์แทนสงฆ์ เมื่อแต่งตั้งแล้ว ผู้ถูกกล่าวหาจึงจะตกเป็นจำเลย ผู้กล่าวหาถูกกันไว้เป็นพยานโจทก์เมื่อมีครบทั้งโจทก์และจำเลย แล้วจึงดำเนินการต่อไป

     ใน (๒) เมื่อพระภิกษุผู้ปกครองสงฆ์ซึ่งไม่มีอำนาจลงนิคหกรรม แจ้งการกระทำความผิดหรือพฤติการณ์แห่งความผิดของพระภิกษุ ตามที่ตนได้พบเห็นต่อผู้พิจารณาซึ่งเป็นเจ้าสังกัดหรือเจ้าของเขต เพื่อดำเนินการ เมื่อผู้พิจารณาดำเนินการตามวิธีปฏิบัติเบื้องต้น เรื่องไม่ยุติในชั้นปกครอง ได้ส่งเรื่องไปให้คณะผู้พิจารณาชั้นต้นดำเนินการไต่สวนมูลคำแจ้งความผิด เมื่อเห็นว่ามีมูล ได้รับเรื่องไว้ดำเนินการ (ประทับฟ้อง) ถึงจะรับไว้เพื่อดำเนินการแล้ว ก็ยังขาดโจทก์จำเลย มีแต่พระภิกษุผู้ถูกกล่าวหา จึงต้องแต่งตั้งผู้ปฏิบัติหน้าที่โจทก์แทนสงฆ์ เมื่อมีโจทก์แทนสงฆ์แล้วพระภิกษุผู้ถูกกล่าวหาก็ตกเป็นจำเลย

     ใน (๓) เมื่อพระภิกษุผู้พิจารณาซึ่งมีอำนาจลงนิคหกรรมได้พบเห็นพฤติการณ์อันน่ารังเกียจสงสัยของพระภิกษุ ได้บันทึกพฤติการณ์ไว้แล้วเรียกพระภิกษุนั้นมาได้ปฏิบัติการตามวิธีปฏิบัติเบื้องต้น แต่เรื่องไม่ยุติในชั้นผู้พิจารณา ได้ส่งเรื่องให้คณะผู้พิจารณาชั้นต้น เมื่อคณะผู้พิจารณาชั้นต้น ไต่สวนมูลพฤติการณ์แล้ว เห็นว่ามีมูลได้รับเรื่องไว้ดำเนินการ (ประทับฟ้อง) เรื่องนี้ยังไม่มีทั้งโจทก์และจำเลย มีแต่พระภิกษุผู้ถูกสงสัย จึงต้องแต่งตั้งผู้ปฏิบัติหน้าที่โจทก์แทนสงฆ์ เพื่อให้มีโจทก์ เมื่อมีโจทก์แล้ว พระภิกษุผู้ต้องสงสัยก็ตกเป็นจำเลย

     วิธีการปฏิบัติ  ในการแต่งตั้งผู้ปฏิบัติหน้าที่โจทก์แทนสงฆ์นั้น ให้คณะผู้พิจารณาชั้นต้นคัดเลือกพระภิกษุผู้ทรงคุณวุฒิรูปใดรูปหนึ่ง แล้วแต่งตั้งให้เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่โจทก์แทนสงฆ์ เมื่อแต่งตั้งแล้ว ให้จัดส่งสำเนาคำกล่าวหาหรือสำเนาคำแจ้งความผิด หรือสำเนาพฤติการณ์ รวมทั้งสำเนาบันทึกถ้อยคำสำเนาอื่น ๆ ที่มีอยู่เกี่ยวกับกรณีนั้น ๆ ให้แก่ผู้ปฏิบัติหน้าที่โจทก์แทนสงฆ์ แล้วแจ้งให้พระภิกษุผู้ตกเป็นจำเลยรับทราบในการคัดเลือกพระภิกษุผู้ทรงคุณวุฒนั้น ทางปฏิบัติควรคัดเลือกจากพระสังฆาธิการ เพราะพระสังฆาธิการย่อมรักษาจริยาในการปฏิบัติหน้าที่ และมีโอกาสตอบแทนความชอบได้

     อนึ่ง เมื่อได้แต่งตั้งผู้ปฏิบัติหน้าที่โจทก์แทนสงฆ์หรือเมื่อประทับฟ้องในกรณีที่มีโจทก์แล้ว ให้คณะผู้พิจารณาชั้นต้นกำหนดวัน เวลา และสถานที่ ที่จะทำการพิจารณาโดยแจ้งกำหนดดังกล่าวให้โจทก์จำเลยไปร่วมในการพิจารณา และเรียกพยานมาให้ถ้อยคำ

๓. หลักปฏิบัติในการพิจารณาวินิจฉัยชั้นต้น

     โดยปกติการปฏิบัติในการพิจารณาวินิจฉัยการลงนิคหกรรมชั้นต้นนั้น ย่อมปฏิบัติสืบต่อจากการประทับฟ้อง หรือเมื่อกรณีที่ต้องแต่งตั้งผู้ปฏิบัติหน้าที่โจทก์แทนสงฆ์ก็ได้แต่งตั้งแล้ว การปฏิบัติงานในขั้นนี้ ถือว่าสำคัญยิ่งกว่าการไต่สวนมูลฟ้อง จึงต้องดำเนินการด้วยความรอบคอบ โดยต้องยึดหลักพิเศษ ๒ ประการ คือ

     ๑.  ให้ทำในพร้อมหน้าโจทก์และจำเลย

     ๒. ให้ทำเป็นการลับ

     ๑. ให้ทำในที่พร้อมหน้าโจทก์และจำเลย ได้มีบทบัญญัติข้อ ๒๙ บังคับไว้โดยความก็คือ สัมมุขาวินัยโดยข้อที่ได้ดำเนินการตามหลักอธิกรณสมถะคือธรรมสำหรับระงับอธิกรณ์ สัมมุขาวินัยนั้นมีองค์ ๔ คือ พร้อมหน้าสงฆ์ พร้อมหน้าบุคคล พร้อมหน้าวัตถุ และพร้อมหน้าพระธรรมวินัย[2] ในการพิจารณาวินิจฉัยการลงนิคหกรรมนั้น ก็คือการระงับอนุวาทาธิกรณ์ ซึ่งจะต้องใช้หลักสัมมุขาวินัย หากจะมีปัญหาว่า ตรงไหนเป็นสัมมุขาวินัย เพราะบัญญัติไว้เฉพาะพร้อมหน้าโจทก์จำเลย ย่อมเฉลยได้ว่า พร้อมหน้าสงฆ์ก็คือพร้อมหน้าคณะผู้พิจารณาชั้นต้น ซึ่งเป็นเสมือนหนึ่งคณะสงฆ์ พร้อมหน้าบุคคล ก็คือพร้อมหน้าโจทก์และจำเลย พร้อมหน้าวัตถุนั้น ได้แก่พร้อมด้วยเรื่องราวซึ่งฝ่ายโจทก์ยกขึ้นฟ้อง เป็นต้น พร้อมหน้าพระธรรมวินัย ได้แก่การพิจารณาวินิจฉัยเป็นไปโดยพระธรรมวินัย คือโดยถูกต้อง ชอบธรรม แม้ ๓ อย่างนั้น มิได้ระบุไว้โดยชัดแจ้ง ก็เพราะเป็นเรื่องที่ขาดไม่ได้ เช่น ขาดคณะผู้พิจารณาหรือขาดเรื่องราวที่ยกขึ้นฟ้อง หรือขาดการวินิจฉัยอันชอบด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการแล้ว เรื่องนั้นย่อมเป็นไปมิได้ ดังนั้น ให้ทราบว่า ไม่ว่าจะพิจารณาวินิจฉัยเรื่องใด ๆ จะต้องให้พร้อมด้วยองค์ ๔ เสมอไป แม้ท่านจะบังคับเพียงแต่โจทก์และจำเลยไว้เพราะองค์นี้อาจขาดได้ ก็ให้ทราบว่าองค์ประกอบอื่นของสัมมุขาวินัยจะขาดเสียมิได้เว้นแต่ในที่ให้มีข้อยกเว้น

     แต่เพื่อให้สะดวกแก่คณะผู้พิจารณาชั้นต้น และเพื่อให้คู่กรณีได้เห็นความสำคัญของคณะผู้พิจารณาชั้นต้น ในข้อ ๒๙ นั้น ท่านบัญญัติพิเศษไว้ ซึ่งในกรณที่พิเศษให้ทำเว้นจากโจทก์และจำเลยได้ในกรณีที่บัญญัติให้เว้นได้นี้ เพราะเหตุที่คู่กรณีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือทั้งสองฝ่าย

     (๑) ไม่มาฟังการพิจารณาโดยมิได้แจ้งข้อขัดข้องเป็นหนังสือ

     (๒) ไม่มาฟังการพิจารณาโดยมีหนังสือแจ้งขัดข้อง แต่มิได้รับอนุญาต

     (๓) มาฟังการพิจารณาแต่ก่อความไม่สงบเรียบร้อยขึ้นในที่พิจารณาและถูกสั่งให้ออกไปจากที่พิจารณา

     ใน (๑) คู่กรณีทั้งสองฝ่ายหรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ไม่มาฟังการพิจารณาด้วยเหตุใดก็ตาม โดยมิได้มีหนังสือแจ้งข้อขัดข้องให้คณะผู้พิจารณาชั้นต้นทราบก่อนถึงวันนัดหมายให้ถือว่าเขาสละสิทธิในการเข้าฟังการพิจารณา คณะผู้พิจารณาชั้นต้นมีอำนาจดำเนินการพิจารณาต่อไปตามที่เห็นสมควร

     ใน (๒) แม้จะมีหนังสือแจ้งข้อขัดข้องแล้ว แต่คณะผู้พิจารณาชั้นต้น เห็นว่าเหตุที่อ้างไม่สมควรจึงไม่อนุญาต ให้คณะผู้พิจารณาชั้นต้นดำเนินการพิจารณาต่อไปได้

     ใน (๓) มาร่วมฟังการพิจารณาแต่ก่อความไม่สงบเรียบร้อยในที่พิจารณาและคณะผู้พิจารณาชั้นต้นได้สั่งให้ออกไปเสีย แล้วคณะผู้พิจารณาชั้นต้นมีอำนาจดำเนินการพิจารณาต่อไปได้

     ๒. ให้ทำเป็นการลับ ได้มีบทบัญญัติข้อ ๓๐ บังคับในการพิจารณาวินิจฉัยว่า “ให้ทำเป็นการลับ” เพราะกรณีที่โจทก์กันด้วยอาบัตินี้ เป็นไปเพื่อความทำลายศรัทธาของประชาชน ซึ่งมีต่อพระพุทธศาสนา ถ้าเปิดเผย อาจก่อให้เกิดความเสื่อมแก่การคณะสงฆ์และการพระศาสนาอย่างร้ายแรงได้ ดังนั้น จึงมีบทบัญญัติให้ทำเป็นการลับ[3] ให้บุคคลมีสิทธิอยู่ในที่พิจารณาได้เฉพาะ

           (๑) โจทก์และจำเลย

           (๒) พยานเฉพาะที่กำลังให้การ

           (๓) ผู้ที่ได้รับเชิญมาเพื่อปฏิบัติการใด ๆ เกี่ยวกับการพิจารณา

           (๔) พระภิกษุผู้ทำหน้าที่จดบันทึกถ้อยคำสำนวน

     ใน (๑) โจทก์และจำเลยมีสิทธิอยู่ในที่พิจารณาได้โดยตลอด เว้นแต่ก่อความไม่สงบขึ้นและถูกสั่งให้ออกไปเสีย หรือมิได้มาฟังการพิจารณาด้วยเหตุใดเหตุหนึ่ง

     ใน (๒) พยานให้อยู่ในที่พิจารณาได้เฉพาะในขณะที่กำลังให้การเท่านั้น เสร็จจากการให้การแล้ว ให้ออกไปจากที่พิจารณา ในทางปฏิบัติต้องกันมิให้พบกับพยานคนอื่นที่ยังมิได้ให้การ

     ใน (๓) ผู้ที่ได้รับเชิญมาปฏิบัติการใด ๆ เสร็จปฏิบัติการนั้นแล้ว อยู่ในที่พิจารณาต่อไปมิได้

     ใน (๔) พระภิกษุผู้จดบันทึกให้อยู่ในที่พิจารณาโดยตลอดในขณะที่พิจารณาเพราะต้องทำหน้าที่จดบันทึก การจดบันทึกนั้น ต้องจดบันทึกตามที่คณะผู้พิจารณาสั่งเท่านั้น ถ้าจดคำที่มิได้สั่งหรือสั่งแล้วไม่จด อาจเป็นการละเมิดกฎหมายอาญาได้ ดังนั้น พระภิกษุผู้ทำหน้าที่จดบันทึกถ้อยคำสำนวนต้องละเอียดรอบคอบมิให้ปฏิบัติการตามอำเภอใจ

     เพื่อประโยชน์แก่การปฏิบัติงานนี้ ได้มีบทบัญญัติข้อ ๓๐ วรรค ๒ บัญญัติให้อำนาจพิเศษแก่คณะผู้พิจารณาอีก ๒ ประการ คือ[4]

     (๑) ถ้ามีผู้ใดก่อความไม่สงบเรียบร้อยขึ้นในที่พิจารณา หรือในบริเวณที่พิจารณา ให้คณะผู้พิจารณาชั้นต้นมีอำนาจสั่งผู้นั้นให้อยู่ในความสงบเรียบร้อย หรือสั่งให้ออกไปจากที่นั้นหรือบริเวณนั้นได้

     (๒) ถ้าเป็นการสมควร จะขออารักขาต่อเจ้าหน้าที่ฝ่ายราชอาณาจักร เพื่อปฏิการเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยก็ได้

๔. การปฏิบัติเกี่ยวกับพยานหลักฐาน

     พยานหลักฐานเป็นส่วนประกอบกรณีอันสำคัญ เพราะเป็นเครื่องพิสูจน์ให้เห็นความผิดหรือความบริสุทธิ์ของจำเลย กรณีใดก็ตาม คู่กรณีนั้น ปราศจากพยานหลักฐานแล้ว จะไม่อาจพิสูจน์ความผิดหรือความบริสุทธิ์ได้เลย กรณีต่าง ๆ นั้น ต้องอาศัยพยานหลักฐานเป็นส่วนสำคัญ เป็นแว่นขยายให้มองเห็นสภาพนั้น ๆ ได้ตามข้อเท็จจริงเป็นมูลเหตุให้การวินิจฉัยกรณีนั้น ๆ เป็นไปอย่างถูกต้องได้ บทบัญญัติในกฎ ๑๑ นี้ ได้กำหนดวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับพยานหลักฐานไว้ ๔ วิธีคือ

     ๑. ให้รวบรวมพยานหลักฐาน

     ๒. ลำดับสืบพยาน

     ๓. วิธีสืบพยาน

     ๔. การสืบพยานในกรณีพิเศษ

     ๑. ให้รวมพยานหลักฐาน[5] ตามบัญญัติข้อ ๓๑ กำหนดให้รวมพยานหลักฐานฝ่ายโจทก์ ฝ่ายจำเลยและฝ่ายที่คณะผู้พิจารณาชั้นต้นนำมาสืบ ฝ่ายจำเลยนำมาสืบ และฝ่ายที่คณะผู้พิจารณาชั้นต้นนำมาสืบ รวบรวมพยานเหล่านี้ สาระของพยานฝ่ายใดจะมีหลักฐานควรเชื่อถือ และเมื่อรวมทั้ง ๓ ฝ่ายแล้ว ข้อเท็จจริงของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะปรากฏชัด ดังนั้นการพิจารณาวินิจฉัยกรณีต่าง ๆ จะปราศจากหลักฐานมิได้

     และเพื่อให้การรวบรวมหลักฐานให้เป็นไปโดยรวดเร็ว จึงมีบทบัญญัติข้อ ๓๑ วรรค ๒ ให้อำนาจแก่คณะผู้พิจารณาชั้นต้น เป็นกรณีพิเศษ ๗ ประการ คือ[6]           (๑) แจ้งกำหนด วัน เวลา และสถานที่

     (๒) ออกหนังสือเรียกพยาน หรือบุคคลใด ๆ มาให้ถ้อยคำ

     (๓) ออกหนังสือเรียกเอกสารหรือวัตถุสิ่งของจากผู้ครอบครอง หรือสั่งให้ผู้นั้นส่งเอกสารหรือวัตถุสิ่งของซึ่งอาจใช้เป็นพยานหลักฐานได้

     (๔) ทำการตรวจตัวผู้เสียหาย หรือตัวจำเลย ตรวจสถานที่ วัตถุสิ่งของ หรือสิ่งอื่นใด

     (๕) แจ้งให้เจ้าอาวาสหรือเจ้าคณะในเขตนั้น รวบรวมข้อเท็จจริงหรือพยานหลักฐาน หรือชี้แจงพฤติการณ์ใด ๆ

     (๖) จดบึนทึกถ้อยคำสำนวนการพิจารณาด้วยตนเอง     ถ้าจำเป็นจะให้มีพระภิกษุผู้จดบันทึกก็ได้

     (๗) ทำรายงานแต่ละครั้งรวมไว้ในสำนวน    ถ้านัดหมายใด ๆ   ให้บันทึกไว้ในรายงานและให้คู่กรณีผู้มาฟังการพิจารณาลงชื่อรับทราบด้วย

     ใน (๑)   ให้อำนาจแจ้งกำหนดดังกล่าวแก่คู่กรณีเป็นลายลักษณ์อักษร     

     ใน (๒) พยานบุคคลของฝ่ายโจทก์และฝ่ายจำเลย   ตลอดจนบุลคลผู้เกี่ยวข้องหรือผู้ชำนาญการอื่นใดที่อำนวยประโยชน์แก่รูปกรณี ให้มีอำนาจทำหนังสือเรียกได้

     ใน (๓) พยานเอกสารหรือพยานวัตถุหรือเอกสารหรือวัตถุสิ่งของอื่น ซึ่งอาจใช้เป็นพยานหลักฐานได้ แม้จะอยู่ในครอบครองของผู้ใด ให้มีอำนาจทำหนังสือเรียกจากผู้ปกครองได้

     ใน (๔) หากต้องตรวจตัวผู้เสียหาย  หรือตัวจำเลย  หรือสถานที่   หรือวัตถุสิ่งของ  หรือวัตถุสิ่งใด  อันเกี่ยวกับกรณี  ซึ่งอาจใช้เป็นพยานหลักฐานได้  ให้ทำการตรวจได้  โดยให้บันทึกรายละเอียดเกี่ยวกับการตรวจและลงชื่อผู้ตรวจคู่กรณีและผู้พิจารณาไว้ด้วย

     ใน (๕) บางกรณีข้อเท็จจริงหรือพยานหลักฐานมีอยู่ในเขตอื่น  ให้แจ้งให้เจ้าอาวาสหรือเจ้าคณะนั้น ๆ รวบรวมส่งได้

     ใน (๖) การจดบันทึกถ้อยคำสำนวนนั้น  ให้เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะผู้พิจารณาชั้นต้นรูปใดรูปหนึ่ง  แต่ถ้ามีเหตุจำเป็น  จะให้พระภิกษุอื่นเป็นผู้จดบันทึกถ้อยคำสำนวนตามคำสั่งของผู้พิจารณาก็ได้  โดยให้จดบันทึกตามที่ผู้พิจารณาสั่ง  อย่าจดบันทึกให้คลาดเคลื่อน  หรือจดบันทึกเอาเองโดยพลการ  ซึ่งอาจเป็นเหตุให้ละเมิดกฎหมายอาญาได้

     ใน (๗) ปกตินั้น  การพิจารณาทุกครั้ง  ให้ทำรายงานประจำวันเพื่อแสดงการปฎิบัติหรือการตกลงหรือการนัดหมายใด ๆ หรือมีอุปสรรคใด ๆ โดยบันทึกไว้ในรายงานนั้น  ให้คู่กรณีผู้มาฟังการพิจารณาลงชื่อไว้ด้วยแล้ว  รวมรวมไว้ในสำเนา

     ข้อพิเศษ  ในกรณีที่คณะผู้พิจารณารูปใดรูปหนึ่งมาร่วมการพิจารณาไม่ได้เพราะเหตุสุดวิสัย  ให้ ๒ รูปที่เหลือพิจารณาต่อไปได้  แต่มิให้วินิจฉัย  เหตุสุดวิสัยนั้น  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา ๘  “เหตุสุดวิสัย หมายความว่า เหตุใด ๆ อันจะเกิดขึ้นก็ดี จะให้ผลวิบัติก็ดี ไม่มีใครอาจป้องกันได้ แม้ทั้งบุคคลผู้ต้องประสบ หรือใกล้จะต้องประสบเหตุนั้น จะได้จัดการระมัดระวังตามสมควร อันพึงหมายได้จากบุคคลในฐานะเช่นนั้น”

     อนึ่ง  ในกรณีดังกล่าวในข้อ  (๒), (๓), (๔)  ถ้าเป็นการจำเป็น  จะขอให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายราชอาณาจักรร่วมดำเนินการก็ได้

     ๒.  ลำดับสืบพยาน  นับเป็นวิธีสำคัญอีกวิธีหนึ่ง  เพราะการรวบรวมพยานนั้นจะสำเร็จลงได้โดยเรียบร้อย   ก็อาศัยการสืบพยาน  การสืบพยานที่ดีต้องสืบตามลำดับ  ดังนั้น  จึงมีบทบัญญัติข้อ  ๓๒  กำหนดไว้  ๕  อย่าง  คือ[7]

     (๑) ให้สืบพยานโจทก์ก่อนพยานจำเลย

     (๒) ให้คู่กรณีระบุบัญชีพยานก่อนวันสืบ ๑๕ วัน

     (๓) ขอระบุพยานเพิ่มได้

     (๔) สั่งงดสืบพยานที่เหลือได้

     (๕) สั่งสืบพยานเพิ่มเติมได้

    ใน (๑) โดยปกติโจทก์เป็นฝ่ายสร้างรูปกรณีขึ้น พยานของโจทก์คือผู้ช่วยให้รูปกรณีของโจทก์หนักแน่นยิ่งขึ้น ทั้งนี้ เพื่อมุ่งให้ลงโทษจำเลยได้ตามความประสงค์ จำเลยเป็นผู้แก้ข้อกล่าวหา เมื่อมีผู้ผูกจึงจะมีผู้แก้ เมื่อแก้แล้วต้องมีพยานสนับสนุนตามข้อแก้นั้น ๆ จึงบัญญัติให้สืบพยานโจทก์แล้วจึงสืบพยานจำเลย อย่าสืบสับลำดับ

     ใน (๒) เมื่อประทับฟ้องแล้ว คณะผู้พิจารณาชั้นต้นจะนัดสั่งให้คู่กรณีระบุพยาน คือเสนอชื่อพยานของตนโดยทำเป็นบัญชีระบุ โดยระบุให้ชัดเจน และส่งถึงหัวหน้าคณะผู้พิจารณาชั้นต้น ก่อนวันนัดสืบพยานอย่างน้อย ๑๕ วัน การเรียงชื่อพยานในบัญชีนั้น ควรเรียงลำดับความสำคัญของพยานแต่ละคน

     ใน (๓) เมื่อสืบพยานในฝ่ายใดยังไม่เสร็จ ฝ่ายนั้นประสงค์ขอระบุพยานเพิ่มอีก ในกรณีเช่นนี้ ให้คณะผู้พิจารณาชั้นต้นใช้ดุลพินิจตามที่เห็นสมควร และการขอระบุพยานเพิ่มนั้นให้ทำเป็นบัญชี แล้วส่งคณะผู้พิจารณาชั้นต้น

     ใน (๔) เมื่อสืบพยานของฝ่ายใดพอสมควรแล้ว เห็นว่าฝ่ายนั้น พยานมีหลักฐานดีมากสามารถหักล้างฝ่ายหนึ่งได้ หรือพยานให้การแตกกันมาก อีกฝ่ายหนึ่งหักล้างอย่างยับเยินแล้ว สืบพยานเพียงที่สืบแล้ว พอดำเนินการพิจารณาวินิจฉัยได้ ให้อำนาจสั่งงดสืบพยานที่เหลือได้

     ใน (๕) เมื่อสืบพยานของฝ่ายโจทก์และจำเลยเสร็จแล้ว ปรากฏว่าหลักฐานทั้งสองฝ่ายหักล้างกันมิได้ ยังมีพยานหลักฐานใด ๆ ที่ควรจะสืบเพิ่มเติม ให้คณะผู้พิจารณาชั้นต้นดำเนินการสืบพยานหลักฐานเพิ่มเติมอีกได้ และการสืบพยานหลักฐานเพิ่มเติมในกรณีเช่นนี้ ควรทำเป็นอย่างยิ่ง

     ๓. วิธีสืบพยาน[8]  เป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง เป็นการปฏิบัติที่อาจทำให้บกพร่องและผิดพลาดได้ง่าย วิธีปฏิบัตินี้ มีบทบัญญัติข้อ ๓๓ กำหนดวิธีการไว้มีข้อที่ควรทำความเข้าใจ คือ

     (๑) ความหมายแห่งถ้อยคำพิเศษ

     (๒) ลำดับแห่งการใช้ถ้อยคำพิเศษ

     (๓) วิธีสืบพยานแต่ละฝ่าย

     (๔) ข้อห้ามในการสืบพยาน

     (๕) การสืบพยานในกรณีพิเศษ

     ใน ๑. มีถ้อยคำพิเศษที่ปรากฏในการสืบพยานซึ่งต้องทำความเข้าใจ ๓ คือ ซักถาม ซักค้าน และถามติง

     ซักถาม  หมายถึง คำถามที่คณะผู้พิจารณาชั้นต้นถามพยานตามประเด็นคำฟ้องของโจทก์หรือตามประเด็นคำให้การแก้ของจำเลย และหมายถึง คำซักถามของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ซึ่งซักถามพยานของตน

     ซักค้าน  หมายถึง คำถามที่ฝ่ายจำเลยซักค้านพยานของฝ่ายโจทก์ หรือที่ฝ่ายโจทก์ซักค้านพยานของฝ่ายจำเลย หรือคำถามที่เมื่อจำเลยเป็นพยานของตนเองให้การปรักปรำหรือเสียหายแก่จำเลยอื่น จำเลยอื่น ซักค้านจำเลยผู้เป็นพยานของตนนั้น คำซักค้านนี้ จะถามนำได้แต่ต้องให้อยู่ในประเด็น

     ถามติง  หมายถึง คำถามของโจทก์หรือจำเลย ถามเตือนให้สติพยานของฝ่ายตนในเมื่อให้การผิดพลาด ถามติงได้เฉพาะในประเด็นเท่านั้น

     ใน (๒) ลำดับแห่งการใช้ถ้อยคำพิเศษ ให้ใช้ตามลำดับ คือ ถ้าสืบพยานฝ่ายโจทก์ ให้คณะผู้พิจารณาชั้นต้นซักถาม แล้วโจทก์ซักถาม จำเลยซักค้าน และโจทก์ถามติง ถ้าสืบพยานฝ่ายจำเลย ให้คณะผู้พิจารณาชั้นต้นซักถามพยานจำเลย แล้วจำเลยซักถามพยานจำเลย แล้วให้โจทก์ซักค้าน และจำเลยถามติง

     ใน (๓) การสืบพยานทั้งสองฝ่าย ให้จัดลำดับให้ถูกต้อง คือให้จัดลำดับสืบให้เสร็จเป็นคน ๆ เป็นฝ่าย ๆ อย่าให้สับสนกัน เช่น

สืบพยานฝ่ายโจทก์

     เมื่อจะสืบพยานฝ่ายโจทก์ ให้คณะผู้พิจารณาชั้นต้น ถามชื่อ ฉายา นามสกุล อายุ พรรษา เป็นต้น ของพยาน สั่งให้จัดบันทึกตามลำดับ จากนั้น ซักถามประเด็นคำฟ้องของโจทก์เป็นประเด็น ๆ สั่งให้จดบันทึกตามประเด็นจนเป็นที่พอใจแล้วให้โอกาสแก่โจทก์เพื่อซักถามพยานของโจทก์เอง และให้จดบันทึกไว้เป็นประเด็น ๆ  เมื่อซักถามโจทก์แล้ว ให้ถามจำเลยว่า จะซักค้านหรือไม่ ถ้าจำเลยจะซักค้าน ก็ให้ซักค้านในลำดับนี้ จำเลยซักค้านคือทำหน้าที่ทนาย  เพราะตามบทบัญญัติไม่อนุญาตให้มีทนาย จำเลยซักค้านอย่างไร ให้สั่งจดบันทึกไว้ เมื่อจำเลยซักค้านตามประเด็นแล้ว ให้ถามโจทก์ว่า จะถามติงหรือไม่ ถ้าโจทก์จะถามติง ก็อนุญาต ให้สั่งจดบันทึกไว้เช่นเดียวกัน เมื่อจบแล้ว ให้อ่านให้พยานฟัง เมื่อมีการขอแก้คำใด ให้แก้ได้โดยลงชื่อกำกับไว้ และบันทึกว่าขอแก้กี่แห่ง แล้วให้พยานกับคณะผู้พิจารณาชั้นต้น และผู้จดบันทึก ลงชื่อไว้ ในการสืบพยานคนต่อไป ก็ปฏิบัติโดยนัยนี้

สืบพยานฝ่ายจำเลย

     เมื่อจะสืบพยานฝ่ายจำเลย ให้คณะผู้พิจารณาชั้นต้น ถามพยานโดยถามชื่อ ฉายา นามสกุล เป็นต้น แล้วสั่งให้จดบันทึกไว้ แล้วซักถามตามประเด็นคำให้การแก้ของจำเลย โดยถามเป็นประเด็น ๆ และให้จดบันทึกเป็นประเด็น ๆ  แล้วให้จำเลยซักถามพยานของตนเองตามประเด็น และให้จดบันทึกไว้ แล้วให้โอกาสโจทก์ซักค้านตามประเด็น ให้จดบันทึกไว้ทุกประเด็นจนจบ แล้วให้โอกาสจำเลยถามติง และจดบันทึกไว้ แล้วอ่านให้พยานฟัง ถ้าพยานขออนุญาตแก้ ให้แก้และบันทึกถ้อยคำกำกับว่า พยานขอแก้และลงชื่อกำกับไว้ เมื่ออ่านให้ฟังจบแล้ว ให้พยาน คณะผู้พิจารณาชั้นต้น และผู้จดบันทึก ลงชื่อไว้ ในการสืบพยานคนต่อไป ก็ปฏิบัติโดยนัยนี้            

สืบพยานฝ่ายที่คณะผู้พิจารณาชั้นต้นนำมาสืบ

     เมื่อจะสืบพยานฝ่ายที่นำมาสืบ ให้คณะผู้พิจารณาชั้นต้น ถามพยานโดยถามชื่อ ฉายา นามสกุล เป็นต้น แล้วซักถามตามประเด็น แล้วให้จดบันทึกไว้ ถ้าคู่กรณีหรือฝ่ายใดขออนุญาตซักถาม ก็อนุญาตให้ซักถามตามประเด็นและให้จดบันทักไว้  ถ้าขออนุญาตทั้งสองฝ่าย ให้อนุญาตให้โจทก์ซักถามก่อน ผู้ใดซักถามประเด็นใดและตอบประเด็นใด ให้จดบันทึกไว้ การอ่าน การขอแก้ และการลงชื่อ ให้ปฏิบัติตามวิธีสืบพยานโจทก์

     ๔. ข้อห้ามในการสืบพยาน  มีบทบัญญัติห้ามคู่กรณีไว้ พอกำหนดแนวปฏิบัติได้ ๔ คือ

           (๑)   ห้ามคู่กรณีฝ่ายใดใช้คำถามนำเพื่อให้พยานฝ่ายตนตอบ

           (๒)  ห้ามมิให้ใช้คำถามหมิ่นประมาทพยานหรือคำถามที่อาจทำให้พยานถูกฟ้อง

           (๓)พยานไม่ต้องตอบคำถามเช่นนั้น

           (๔) เมื่อมีคำถามเช่นนั้น ให้คณะผู้พิจารณาชั้นต้นเตือนผู้ถามและพยาน

           ใน (๑) ในเมื่อโจทก์หรือจำเลยซักถามหรือถามติงพยานของตน จะใช้ถ้อยคำนำ เช่น “เวลา ๑๗.๓๕ น. ใช่ไหม” “เวลานั้น มีนาย ก. อยู่ด้วยใช่ไหม” ดังนี้ ไม่ได้ แต่ข้อนี้ไม่ห้ามถึงการซักค้าน

           ใน (๒) คำถามใด ๆ เป็นการหมิ่นประมาทพยาน เช่นถามว่า  “คุณถูกจ้างเป็นพยานใช่ไหม” หรือคำถามที่เมื่อจำเลยตอบแล้ว อาจถูกฟ้องในทางคณะสงฆ์หรือทางราชอาณาจักร ห้ามใช้คำถามเช่นนั้น

           ใน (๓) เมื่อถูกซักถามหรือซักค้านเช่นนั้น จำเลยไม่ต้องตอบคำถามนั้น

           ใน(๔) เมื่อมีคำถามเช่นนั้น คณะผู้พิจารณาชั้นต้นต้องทักผู้ถามให้หยุด และเตือนพยานมิให้ตอบ

     ๕. การสืบพยานในกรณีพิเศษ มีบทบัญญัติข้อ ๓๔ กำหนดให้มีการสืบพยานเป็นกรณีพิเศษได้ ในเมื่อสืบพยานตามปกติไม่สะดวก เพราะเหตุอย่างใดอย่างหนึ่ง วิธีสืบพยานพิเศษนั้นบัญญัติไว้ ๒ วิธี คือ [9]

           ๑)  วิธีเดินเผชิญสืบ

           (๒) วิธีส่งประเด็นไปสืบ

     วิธีเดินเผชิญสืบ  คือวิธีที่คณะผู้พิจารณาชั้นต้น เคลื่อนที่ที่พิจารณาไปทำการสืบพยาน ณ สถานที่แห่งใดแห่งหนึ่งซึ่งอยู่ในเขตอำนาจของตน เพื่อแก้ไขอุปสรรคในการสืบพยาน เทียบได้กับวิธีเดินเผชิญสืบของศาลยุติธรรม ซึ่งได้มีบทบัญญัติระบุถึงบุคคลที่เป็นพยาน แต่ไม่ต้องไปศาล คือ

           ๑)  สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระราชินี พระยุพราช หรือผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน ไม่ว่ากรณีใด ๆ

           ๒) พระภิกษุสามเณรในพระพุทธศาสนา ไม่ว่ากรณีใด ๆ

           ๓) บุคคลใด ๆ ที่อ้างว่าไม่สามารถจะไปศาลดังกล่าวข้างต้นเพราะเจ็บป่วยหรือมีข้อแก้ตัวเพราะจำเป็นอย่างอื่น โดยได้แจ้งเหตุนั้นให้ศาลทราบแล้ว และศาลเห็นว่าข้องอ้างและข้อแก้ตัวนั้นฟังขึ้น

    บุคคลทั้ง ๓ ประเภทดังกล่าวนี้ ศาลต้องสืบพยานโดยวิธีเดินเผชิญสืบ กล่าวคือมีหมายแจ้ง วัน เวลา แล้วไปสืบตามกำหนด และในเรื่องเดินเผชิญสืบตามบทบัญญัตินี้ ก็มุ่งหมายในทำนองเดียวกัน เช่น โจทก์หรือจำเลย ระบุกรรมการมหาเถรสมาคม ผู้บังคับบัญชาชั้นสูงของคณะผู้พิจารณาชั้นต้นเป็นพยาน พยานที่ระบุไว้อาพาธหนักหรือมีความจำเป็นอื่น ต้องใช้วิธีเดินเผชิญสืบ การสืบพยานคงปฏิบัติดังสืบพยานตามปกติ ผิดแต่รายงานการสืบพยานเท่านั้น

     วิธีส่งประเด็นไปสืบ  คือวิธีส่งประเด็นใด ๆ ไปให้คณะผู้พิจารณาชั้นต้นในเขตอื่นซึ่งพยานพำนักอยู่ เพื่อให้ทำการสืบพยานในประเด็นที่พึงประสงค์แทน ในศาลยุติธรรมทางราชอาณาจักร ก็มีกฏหมายบัญญัติให้ส่งประเด็นไปสืบเช่นเดียวกัน วิธีส่งประเด็นไปสืบนั้น มีข้อควรทราบ คือ

           ก. การส่งเอกสาร

           ข. การแจ้งแก่คู่กรณี

           ค. การฟังการพิจารณาของคู่กรณี

           ง. อำนาจและการปฏิบัติของผู้รับประเด็น

           ใน ก. เมื่อมีความจำเป็นซึ่งจะต้องส่งประเด็นไปสืบในเขตของคณะผู้พิจารณาชั้นต้นอื่น ให้ทำหนังสือแจ้งการส่งประเด็น ไปยังหัวหน้าคณะผู้พิจารณาชั้นต้นในเขตนั้น โดยแจ้งชื่อผู้เป็นพยานและลายละเอียดแห่งประเด็นที่ต้องการในสืบ พร้อมกับส่งเอกสารเกี่ยวกับกรณี คือ คำฟ้องของโจทก์, คำให้การของจำเลย และสำนวนเท่าที่จำเป็น

           ใน ข. ให้แจ้งแก่โจทก์จำเลยทราบเรื่องการส่งประเด็น

           ใน ค. โจทก์หรือจำเลยจะไปฟังการสืบพยานหรือไม่ก็ได้

           ใน ง. ให้คณะผู้พิจารณาชั้นต้นซึ่งเป็นผู้รับประเด็น เมื่อรับประเด็นแล้วให้มีอำนาจสืบพยานเช่นเดียวกับผู้ส่งประเด็น หากเป็นกรณีที่ต้องใช้วิธีเดินเผชิญสืบ ก็ให้ใช้วิธีเดินเผชิญสืบได้ และให้กำหนด วัน เวลา สืบพยาน แล้ว

           (๑) แจ้งให้พยานทราบ

           (๒) แจ้งให้ผู้ส่งประเด็นทราบเพื่อได้แจ้งแก่โจทก์และจำเลย

           (๓) เมื่อสืบพยานเสร็จแล้วให้รีบส่งประเด็นที่สืบพร้อมกับเอกสารทั้งหมดคืนโดยไม่ชักช้า

๕. การปฏิบัติเมื่อมีเหตุอันเป็นอุปสรรค

     เมื่อได้ประทับฟ้องถึงระหว่างกำลังพิจารณาอยู่ ในบางกรณีอาจมีอุปสรรคอย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้น เพื่อให้มีอุปสรรคดังกล่าว ได้มีบทบัญญัติข้อ ๓๕ กำหนดวิธีปฏิบัติ ๗ อย่าง คือ

     (๑) มีการฟ้องซ้อนกันขึ้นในศาล

     (๒) จำเลยเสียสุขภาพทางจิต

     (๓) จำเลยมรณภาพ

     (๔) จำเลยพ้นจากความเป็นพระภิกษุ

     (๕) โจทก์ขอถอนเรื่อง

     (๖) โจทก์ไม่มาทำการตามนัดหมาย

     (๗) โจทก์มรณภาพหรือตาย

     ใน (๑) ถ้ามีการนำเรื่องนี้ไปฟ้องในศาลฝ่ายราชอาณาจักรอีก ให้รอการพิจารณาไว้จนกว่าศาลทางราชอาณาจักรจะตัดสิน

     ใน (๒) ถ้าจำเลยเป็นบ้าคลั่งเพ้อไม่รู้สึกตัว กระสับกระส่ายเพราะเวทนากล้าจนถึงไม่มีสติสัมปชัญญะ หรือฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ ให้รอการพิจารณาไว้จนกว่าจำเลยจะหายเป็นปกติ

     ใน (๓) จำเลยมรณภาพ ให้เรื่องถึงที่สุด คือจำหน่ายเรื่องโดยบันทึกไว้พร้อมด้วยเหตุ

     ใน (๔) จำเลยพ้นจากความเป็นพระภิกษุไม่ว่ากรณีใด ๆ ถ้าความผิดในคำฟ้องระบุลหุกาบัติ ให้ยุติการพิจารณา แต่ถ้าครุกาบัติ ให้ดำเนินการพิจารณาต่อไปจนถึงที่สุด

     ใน (๕) ถ้าโจทก์ขอถอนเรื่องทั้งหมดหรือบางเรื่อง หากคำฟ้องระบุลหุกาบัติและจำเลยมิได้คัดค้าน ให้ยุติการพิจารณาได้ แต่ถ้าระบุครุกาบัติ ให้ดำเนินการพิจารณาต่อไป

     ใน (๖) ถ้าโจทก์ไม่มาตามนัดหมาย ให้ยุติการพิจารณาได้ เว้นแต่โจทก์จะได้ชี้แจงข้อขัดข้องภายใน ๑๕ วัน นับแต่วันสั่งยุติการพิจารณา[10]

     ใน (๗) ถ้าโจทก์มรณภาพหรือตาย ให้แต่งตั้งพระภิกษุผู้ทรงคุณวุฒิรูปใดรูปหนึ่งปฏิบัติหน้าที่เป็นโจทก์แทน

     อนึ่ง การพิจารณาใน (๕), (๖) ไม่ได้ตัดสิทธิ

           (๑) ของโจทก์อื่นที่จะฟ้องเรื่องนี้

           (๒) ของคณะผู้พิจารณาชั้นต้นที่จะดำเนินการต่อไป

๖. การพิจารณาวินิจฉัยการลงนิคหกรรม

     เมื่อได้มีการสืบพยานเสร็จทุกฝ่ายแล้ว จากนั้น เป็นขั้นของการพิจารณาเพื่อจะวินิจฉัยในขั้นนี้ โดยวิธีปฏิบัติให้คณะผู้พิจารณาชั้นต้น ประชุมปรึกษาหารือกันตรวจ [11]

           (๑) ประเด็นคำฟ้องของโจทก์และคำให้การของพยานฝ่ายโจทก์

           (๒) ประเด็นคำให้การแก้ของจำเลยและคำให้การของพยานฝ่ายจำเลย

           (๓) คำให้การของพยานฝ่ายที่คณะผู้พิจารณาชั้นต้นนำมาสืบและอื่น ๆ

     เมื่อทุกรูปตรวจรายละเอียดแล้ว ให้ปรึกษาหารือกันว่ากรณีเป็นอย่างไร ฝ่ายโจทก์หรือจำเลยมีน้ำหนัก ต้องเปรียบเทียบน้ำหนักแห่งคำฟ้องและคำให้การแก้ อันประกอบด้วยพยานหลักฐานของแต่ละฝ่ายและฝ่ายที่นำมาสืบ คณะผู้พิจารณาชั้นต้นแต่ละรูปมีสิทธิออกควมเห็นเป็นอิสระ โดยเฉพาะหัวหน้าคณะผู้พิจารณา ควรจะได้อ่านประเด็นแล้ว ถามผู้พิจารณาแต่ละประเด็นเป็นรายรูป ตลอดจนสรุปความเห็นลงทุกประเด็นอีกครั้งหนึ่งว่ารูปใดจะเห็นควรอย่างใด เพราะการวินิจฉัยนั้น จะต้องออกมาใน ๒ รูป คือ “ยกฟ้องของโจทก์” และ “ลงโทษจำเลย” การจะยกฟ้องของโจทก์ได้นั้น จะต้องมีเหตุผลได้ข้อเท็จจริง ถึงการลงโทษจำเลย ก็จะต้องมีเหตุผลและได้ข้อเท็จจริงอย่างชัดแจ้ง มิใช่วินิจฉัยตามใจชอบ เมื่อประชุมปรึกษาตกลงกันแล้วจึงมอบให้รูปใดรูปหนึ่งเป็นผู้ร่างคำวินิจฉัย โดยที่ประชุมคณะผู้พิจารณาชั้นต้นเป็นผู้กำหนดแนวและให้คำวินิจฉัย เมื่อร่างเสร็จพิมพ์ร่างแล้ว ต้องนัดประชุมตรวจแก้ โดยผู้ร่างเป็นผู้ชี้แจงการใช้ถ้อยคำสำนวนในทุกประเด็น และชี้แจงเหตุผลตามประเด็นนั้นตลอดจนย่อคำฟ้องคำให้การแก้ และคำให้การของพยานทั้งสองฝ่าย และพยานฝ่ายที่คณะผู้พิจารณาชั้นต้นนำมาสืบ ลงในคำวินิจฉัย จนเป็นที่พอใจของคณะผู้พิจารณาชั้นต้นทุกรูป แล้วตรวจแก้คำพูดตามลำดับ เสร็จแล้วให้พิมพ์ใหม่ตามต้นฉบับที่ตรวจแก้แล้ว อย่าเปลี่ยนแปลงใด ๆ เว้นแต่แก้ตัวสะกดการรันต์ให้ถูกต้อง ตรวจทานให้เรียบร้อยจึงลงนามในคำวินิจฉัยนั้น ถ้าเป็นกรณีที่รูปใดรูปหนึ่งมีความเห็นแย้งให้พิมพ์ความเห็นแย้งต่อท้ายให้ชัดเจน และรูปที่เห็นแย้งนั้นลงนามรับรองความเห็นแย้งนั้น

     ส่วนหลักการวินิจฉัยการลงนิคหกรรมชั้นต้นนั้น ตามบทบัญญัติพอสรุปได้เป็น ๒ คือ

     ๑. ให้วินิจฉัยสองสถาน

     ๒. ให้วินิจฉัยลงนิคหกรรม

     ๑. ให้วินิจฉัยสองสถาน มีบทบัญญัติข้อ ๓๖ กำหนดให้คณะผู้พิจารณาชั้นต้นดำเนินการวินิจฉัยอย่างใดอย่างหนึ่ง คือ

           (๑) ให้วินิจฉัยยกฟ้องของโจทก์ เพราะปรากฏว่า

                ก. จำเลยมิได้กระทำความผิด หรือ

                ข. การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิด หรือ

                ค. มีเหตุผลที่จำเลยไม่ต้องรับนิคหกรรม [12]

           ใน ก. หมายถึง เมื่อรวบรวมพยานหลักฐานทุกฝ่ายแล้ว พยานหลักฐานฝ่ายโจทก์หละหลวมขัดแย้งกันซึ่งเรียกว่า “พยานแตก” พยานของจำเลยให้การเป็นประโยชน์แก่จำเลยดี ทั้งพยานฝ่ายที่นำมาสืบหรือเหตุแวดล้อมอื่น ก็เป็นประโยชน์แก่จำเลย แสดงชัดว่า “จำเลยมิได้กระทำความผิด”

           ใน ข. เมื่อรวบรวมพยานทุกฝ่ายแล้ว ตามข้อเท็จจริง ปรากฏว่าจำเลยได้กระทำความผิดในลักษณะที่โจทก์ฟ้อง แต่การกระทำของจำเลยนั้นไม่เป็นความผิดเช่น กระทำโดยมิได้มีเจตนาในสิกขาบทซึ่งเป็นสจิตตกะ

           ใน ค. ปรากฏว่า จำเลยได้กระทำความผิดตามข้อกล่าวหานั้นจริง แต่มีเหตุที่จำเลยไม่ต้องรับนิคหกรรม เพราะการกระทำของจำเลยทำในขณะที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องได้รับโทษด้วยเหตุอย่างใดอย่างหนึ่ง[13]คือ

                ก) ทำในเวลาเป็นบ้าคลั่งจนถึงไม่มีสติสัมปชัญญะ

                ข) ทำในเวลาเพ้อไม่รู้สึกตัว

                ค) ทำในเวลากระสับกระส่ายเพราะเวทนากล้าจนไม่มีสติ

                ง) ถูกลักหลับไม่รู้ตัว หรือถูกข่มขืนไม่ยินดี

                จ) อาทิกัมมิกบุคคล (ประเภทนี้ปัจจุบันไม่มีแล้ว)

           (๒) ให้วินิจฉัยลงโทษจำเลย เพราะปรากฏว่า

                ก. จำเลยได้กระทำความผิด

                ข. การกระทำของจำเลยเป็นความผิด

                ค. ไม่มีข้อยกเว้นโทษแต่อย่างใด [14]

                ใน ก. ได้แจ้งชัดว่าจำเลยได้กระทำความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง

                ใน ข. ได้ความแจ้งชัดว่าการกระทำของจำเลยนั้นเป็นความผิด กล่าวคือ ผิดสิกขาบทใดสิกขาบทหนึ่ง ซึ่งจะลงโทษฐานละเมิดพระวินัยได้

                ใน ค. ได้ความแจ้งชัดว่า จำเลยมิได้กระทำในขณะที่มีเหตุให้ยกเว้นโทษ ด้วยเหตุอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น กระทำในขณะเป็นบ้าคลั่งจนถึงไม่มีสติสัมปชัญญะ

     ๒. ให้วินิจฉัยลงนิคหกรรม การวินิจฉัยการลงนิคหกรรมนั้น เป็นจุดประสงค์ของการดำเนินกรณี เป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่ง ได้มีบทบัญญัติข้อ ๓๗ กำหนดให้คณะผู้พิจารณาชั้นต้นมีอำนาจวินิจฉัยลงนิคหกรรมนั้น จึงเป็นอำนาจโดยกฏหมายหลักวินิจฉัยให้อำนาจไว้ ๒ ลักษณะ คือ

          (๑) วินิจฉัยลงนิคหกรรมตามคำฟ้องของโจทก์

           (๒) วินิจฉัยลงนิคหกรรมต่างจากคำฟ้องของโจทก์

                ก. ตามสมควรแก่กรณี

                ข. ตามสิกขาบทที่ถูกต้อง

                ค. ตามความผิดนั้น[15]

           ใน (๑) เมื่อได้ข้อเท็จจริงว่าจำเลยได้กระทำความผิดสมตามคำฟ้องของโจทก์ทุกประการ ให้วินิจฉัยลงนิคหกรรมตามคำฟ้องของโจทก์ คือโจทก์ฟ้องระบุสิกขาบทใดให้วินิจฉัยลงนิคหกรรมตามสิกขาบทที่โจทก์ฟ้อง

           ใน (๒) ก. เมื่อได้พิจารณาตามพยานหลักฐานแล้ว ปรากฏชัดว่า ข้อเท็จจิรงในทางพิจารณาต่างจากข้อเท็จจริงในคำฟ้องของโจทก์ แต่เป็นข้อเท็จจริงที่อยู่ในฐานความผิดสิกขาบทเดียวกัน ให้มีอำนาจวินิจฉัยลงนิคหกรรมตามสมควรแก่กรณี เช่นโจทก์ฟ้องว่า จำเลยกระทำความผิดฐานละเมิดปฐมปาราชิก เพราะจำเลยที่ข่มขืนสตรีจนสำเร็จความใคร่ ข้อเท็จจริงในทางพิจารณาได้ความว่า จำเลยมิได้ข่มขืนแต่อย่างใดแต่ได้ล่วงละเมิดปฐมปาราชิก เพราะถูกสตรีบังคับข่มขืนและจำเลยยินดีในการร่วมเพศนั้น ดังนี้ ให้อำนาจวินิจฉัยลงนิคหกรรมแก่จำเลยตามล่วงละเมิดปฐมปาราชิกได้

           ใน (๒) ข. เมื่อได้พิจารณาตามหลักฐานแล้ว ปากฏว่า ข้อเท็จจริงดังกล่าวในคำฟ้องของโจทก์นั้น โจทก์สืบสมแต่อ้างสิกขาบทผิด คือคำฟ้องของโจทก์และคำให้การของพยานโจทก์ที่สืบแล้วสมกันทุกประการ แต่อ้างสิกขาบทที่ให้ยกขึ้วินิจฉัยลงโทษนั้นอ้างผิด ให้มีอำนาจวินิจฉัยลงนิคหกรรมตามสิกขาบทที่ถูกต้อง เช่น โจทก์ฟ้องอาบัติปาราชิก โดยฟ้องว่า “จำเลยร่วมเพศกับสตรีชื่อนั้น” ขอให้ลงโทษจำเลยเป็นอาบัติปาราชิกฐานล่วงละเมิดสิกขาบทที่ ๓ สืบพยานหลักฐานฝ่ายโจทก์พยานอ้างสมจริงทุกประการ ให้ปรับอาบัติปาราชิกฐานล่วงละเมิดสิกขาบทที่ ๑ ได้ เพราะสิกขาบทที่ ๑ เป็นสิกขาบทที่ถูกต้อง

           ใน (๒) ค. เมื่อได้พิจารณาตามพยานหลักฐานแล้ว ปรากฏว่า ข้อเท็จจริงในทางพิจารณาได้ความว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่าง  ถึงแม้โจทก์จะมิได้กล่าวไว้ในคำฟ้อง ให้มีอำนาจวินิจฉัยลงนิคหกรรมตามความผิดนั้น เช่น โจทก์ฟ้องว่าจำเลยต้องอาบัติสังฆาทิเสสฐานพูดเกี้ยวหญิงตามสิกขาบทที่ ๓ แต่ทางพิจารณาได้ความชัดว่าจำเลยได้พูดเกี้ยวหญิงด้วย ทั้งจับต้องกายหญิงด้วย ดังนี้ ให้ปรับอาบัติสังฆาทิเสสทั้งสองสิกขาบทแก่จำเลยตามข้อเท็จจริงนั้น                

๗. คำวินิจฉัยชั้นต้น

     ได้กล่าวในประเด็นก่อนว่า เมื่อคณะผู้พิจารณาชั้นต้น ได้รวบรวมพยานหลักฐานครบถ้วนแล้ว คณะผู้พิจารณาชั้นต้นประชุมพิจารณาข้อเท็จจริง ซึ่งได้จากพยานหลักฐานทั้งสองฝ่ายนั้นแล้วลงมติว่าจะวินิจฉัยอย่างใด จึงกำหนดประเด็นเกี่ยวกับคำวินิจฉัยเป็น ๓ คือ

     ๑. การทำคำวินิจฉัย

     ๒. การอ่านคำวินิจฉัย

     ๓. คำวินิจฉัยถึงที่สุด

     ๑. การทำคำวินิจฉัย  เป็นการกระทำอันสำคัญยิ่งในการพิจารณาวินิจฉัยการลงนิคหกรรมการลงนิคหกรรมชั้นต้น เพราะคำวินิจฉัย เป็นคำชี้โทษมหันต์และชี้คุณอนันต์ จึงมีบทบัญญัติข้อ ๓๘ กำหนดเป็นหลักการปฏิบัติ โดยกำหนดข้อความสำคัญ ๑๑ อย่าง คือ[16]

           (๑) ชั้นของคำวินิจฉัย

           (๒) สถานที่ ที่วินิจฉัย

           (๓) วัน เดือน ปี ที่วินิจฉัย

           (๔) กรณีระหว่างผู้ใดเป็นโจทก์ผู้ใดเป็นจำเลย

           (๕) เรื่องมี่ยกขึ้นฟ้อง

           (๖) ข้อหาของโจทก์

           (๗) คำให้การของจำเลย

           (๘) ข้อเท็จจริงที่พิจารณาได้ความ

           (๙) เหตุผลในการวินิจฉัยในข้อเท็จจริงและปัญหาพระวินัย

           (๑๐) บทบัญญัติแห่งพระวินัยที่ยกขึ้นวินิจฉัย

           (๑๑) คำชี้ขาดให้ยกฟ้องหรือให้ลงโทษ

          ใน (๑), (๒) และ (๓) ความชัดแจ้งอยู่แล้ว

          ใน (๔) ได้แก่  “โจทก์หรือผู้แทน”  กับ “จำเลย” ให้ลงชื่อ ฉายา นามสกุล ของโจทก์ ถ้ามีโจทก์หลายรูปหรือหลายคน ให้ลงเพียงรายเดียว แล้วให้ใช้คำว่า “กับพวก” ต่อท้าย และให้ลงชื่อ  ฉายาของจำเลย ถ้ามีจำเลยหลายรูป ให้ลงชื่อ ฉายาเพียงรูปเดียวแล้วให้ใช้คำว่า “กับพวก” ต่อท้าย

          ใน (๕) ได้แก่ “เรื่องที่โจทก์นำมาฟ้องจำเลย” ให้ระบุฐานความผิดที่ฟ้อง เช่น ความผิดฐานกายสังสัคคะ

           ใน (๖) ได้แก่ “การบรรยายข้อหา” ให้บรรยายให้แจ่มแจ้งชัดเจน ทั้งคำฟ้องของโจทก์พร้อมทั้งคำให้การของพยานบุคคลและอื่น ๆ ซึ่งสนับสนุนคำฟ้องของโจทก์

           ใน (๗) ได้แก่ “คำให้การแก้ข้อหา” ให้บรรยายให้แจ่มแจ้งชัดเจน ทั้งคำให้การของจำเลยพร้อมทั้งคำให้การของพยานบุคคลและอื่น ๆ ซึ่งสนันสนุนฝ่ายจำเลย

           ใน (๘) ได้แก่  “ข้อเท็จจริงที่พิจารณาได้ความ” ให้บรรยายข้อเท็จจริงตามคำฟ้องพร้อมทั้งคำให้การของพยานบุคคลและอื่น ๆ ซึ่งสนับสนุนฝ่ายโจทก์ และให้บรรยายข้อเท็จจริงตามคำให้การของจำเลยพร้อมทั้งคำให้การพยานบุคคลและอื่น ๆ ซึ่งสนับสนุนฝ่ายจำเลย โดยให้พิจารณาสรุปเป็นข้อ ๆ ที่เห็นว่าเป็นประเด็นสำคัญ อันจะนำไปสู่การวินิจฉัย

           ใน (๙) ได้แก่ “เหตุผลในการวินิจฉัย” ให้บรรยายถึงเหตุผลในการวินิจฉัยข้อเท็จจริงต่าง ๆ และเหตุผลในการวินิจฉัยปัญหาพระวินัย

           ใน (๑๐) ได้แก่ “บทบัญญัติทางพระวินัย” ให้บรรยายโดยอ้างสิกขาบทให้ตรงกับหลักฐานความผิดที่โจทก์ฟ้อง และเหตุผลอย่างแน่ชัดว่า โจทก์ฟ้องระบุสิกขาบทใดหรือไม่ระบุสิกขาบท และจำเลยกระทำนั้นผิดพระวินัยตามสิกขาบทใด อย่างไร หรือไม่ผิดสิกขาบทใดเลย

           ใน (๑๑) ได้แก่ “คำชี้ขาด” ให้บรรยายความเห็นของคณะผู้พิจารณาชั้นต้นสำหรับวินิจฉัยให้ชัดเจนและตัดสินชี้ขาดว่า “จำเลยได้กระทำความผิดหรือมิได้กระทำความผิดอย่างไร ให้ลงโทษจำเลยอย่างไร หรือให้ยกฟ้องของโจทก์

     ๒. การอ่านคำวินิจฉัย[17]  ถือเป็นการวินิจฉัยโดยสมบูรณ์ คณะผู้พิจารณาชั้นต้น ต้องอ่านเอง จะส่งให้ผู้ใดผู้หนึ่งนำไปอ่านมิได้ โดยบทบัญญัติข้อ ๓๙ กำหนดวิธีปฏิบัติไว้ดังนี้

           (๑) ให้อ่านให้โจทก์จำเลยฟังตามกำหนดที่นัดหมาย

           (๒) ให้โจทก์และจำเลยลงชื่อรับทราบ

           (๓) ถ้าโจทก์หรือจำเลยไม่ยอมลงชื่อ

                (ก)  ให้คณะผู้พิจารณาชั้นต้นบันทึกไว้ท้ายคำวินิจฉัย และ

                (ข) ให้ถือว่าโจทก์หรือจำเลยได้รับทราบแล้ว

           (๔) ถ้าแจ้งกำหนดให้แก่โจทก์จำเลยไม่ได้ ให้

                (ก) แจ้งแก่ผู้บังคับบัญชาใกล้ชิด เพื่อแจ้งแก่โจทก์จำเลย

                (ข) ถ้าเป็นคฤหัสถ์เมื่อส่งไปยังภูมิลำเนาแล้ว ถือว่าได้แจ้งแก่โจทก์จำเลยแล้ว

           ในกรณี่ที่ฝ่ายหนึ่งหรือทั้งสองฝ่ายมิได้มาฟังคำวินิจฉัยตามที่นัดหมาย ได้มีบทบัญญัติ ข้อ ๓๙ วรรค ๓-๔ ให้อำนาจพิเศษแก่คณะผู้พิจารณาชั้นต้นให้อ่านคำวินิจฉัยได้โดยไม่ต้องหยุดชะงัก โดยกำหนดเหตุ ๓ อย่างใดอย่างหนึ่ง คือ

           (๑) โดยมิได้แจ้งเหตุขัดข้อง  ให้ถือว่าทั้งสองฝ่ายได้รับทราบคำวินิจฉัยแล้ว

           (๒) โดยมีหนังสือแจ้งเหตุขัดข้อง ให้เลื่อนไปวันอื่นได้ โดยแจ้งให้ทั้งสองฝ่ายทราบ

           (๓) ไม่มาฟังการวินิจฉัยครั้งหลัง จะแจ้งเหตุหรือไม่ก็ตาม ให้อ่านคำวินิจฉัย และให้ถือว่าทั้งสองฝ่ายทราบคำวินิจฉัยแล้ว

     ๓. คำวินิจฉัยถึงที่สุด  ในการวินิจฉัยการลงนิคหกรรม จำเป็นต้องบังคับระยะเวลากำหนดให้กรณีถึงที่สุด เพื่อบังคับกรณี ๆ ให้เป็นไปตามคำวินิฉัยได้สะดวก ได้มีบทบัญญัติข้อ ๔๐ กำหนดให้คำวินิจฉัยถึงที่สุดใน ๒ กรณี คือ

           (๑) โจทก์หรือจำเลยมิได้อุทธรณ์

           (๒) คณะผู้พิจารณาชั้นอุทธรณ์มีคำสั่งให้ยุติการพิจารณาตามความในข้อ ๔๔


[1] ดูข้อ ๑๕, ๑๖ ประกอบ

[2]  ดูอธิกรณสมถะ ๗ ในวินัยมุขเล่ม ๑ หน้า ๒๒๕ ประกอบ แต่ในพระไตรปฎก เล่ม ๖ หน้า ๓๕๐ สัมมุขาวินัยมีองค์ ๔ คือ พร้อมหน้าสงฆ์ ๑ พร้อมหน้าธรรม ๑ พร้อมหน้าวินัย ๑ พร้อมหน้าบุคคล ๑ ไม่มีพร้อมหน้าวัตถุ ในเอกสารนี้ยึดตามแนววินัยมุข เล่ม ๑

[3] ดูประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๗๗ และมาตรา ๑๗๘ เทียบเคียง

[4] ดูประมวลกฎหมายอาญา วิ.มาตรา ๑๘๐ และประมวลกฎหมายแพ่ง วิ.มาตรา ๓๐-๓๐ เทียบเคียง

[5]  ดูประมวลกฎหมายอาญา วิ.มาตรา ๑๓๑-๑๓๓ ประกอบ

[6] ดูประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๘๐ เทียบเคียง

[7] ดูประมวลกฎหมายอาญา วิ.มาตรา ๑๗๕ และ๒๒๘ เทียบเคียง

[8] ดูประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๑๗-๑๑๘ เทียบเคียง                                                                                                                                                                                                                                       

[9]  ดูประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๓๕-๑๐๒ และ ๑๐๘ และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๒๙-๒๓๐ ประกอบ

[10]  ดูประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๖๖ ประกอบ

[11]  ดูประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๘๓-๑๘๔ ประกอบ

[12] ดูประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๘๕ วรรคแรก  ประกอบ

[13]  ยึดกังขาวิตรณี หน้า ๕๐ เป็นหลัก

[14]  ดูประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๘๕ วรรคสอง เทียบเคียง

[15]  ดูประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๙๒ เทียบเคียง

[16] ดูประมวลกฎหมายอาญา วิ. มาตรา ๑๘๖ เทียบเคียง

[17]  ดูประมวลกฎหมายอาญา วิ. มาตรา ๑๘๒ วรรค ๒-๓ และมาตรา ๑๘๘ เทียบเคียง

Hits: 5