ส่วนที่ ๓ วิธีพิจารณาวินิจฉัยการลงนิคหกรรมชั้นอุทธรณ์

ส่วนที่ ๓

วิธีพิจารณาวินิจฉัยการลงนิคหกรรมชั้นอุทธรณ์

————–

     อันวิธีพิจารณาวินิจฉัยการลงนิคหกรรมชั้นอุทธรณ์ เป็นวิธีใช้อำนาจตุลาการชั้นที่   ๒ เป็นชั้นตรวจการปฏิบัติงานของคณะผู้ปฏิบัติงานชั้นต้น ซึ่งชั้นนี้มีอำนาจรื้อฟื้นคำวินิจฉัยชั้นต้นวินิจฉัยใหม่ การใช้อำนาจชั้นนี้ เป็นการกรองการปฏิบัติงานชั้นต้น    เพื่อให้ได้รับความยุติธรรมมากขึ้น ขอกำหนดสาระในชั้นนี้เป็น ๖ ประเด็น  คือ 

     ๑.ข้อควรทราบเกี่ยวกับการอุทธรณ์

     ๒.การดำเนินการในชั้นต้น

     ๓.วิธีพิจารณาวินิจฉัยการลงนิคหกรรมชั้นอุทธรณ์

     ๔.การปฏิบัติเมื่อมีอุปสรรค

     ๕.คำวินิจฉัยชั้นอุทธรณ์

     ๖.ข้อพิเศษ

๑.ข้อควรทราบเกี่ยวกับการอุทธรณ์

     ก็แล วิธีพิจารณาวินิจฉัยการลงนิคหกรรมชั้นอุทธรณ์ แม้จะป็นวิธีที่อยู่ในคณะชั้นผู้พิจารณาชั้นสูง และพระสังฆาธิการชั้นผู้น้อยไม่มีอำนาจก็ตาม แต่เมื่อว่าโดยการปฏิบัตินั้น พระสังฆาธิการผู้น้อยยังมีหน้าที่เกี่ยวข้องอยู่ จึงกำหนดหลักควรทราบเป็น ๕ คือ    

     ๑. ผู้มีอำนาจพิจารณา  ตามบทบัญญัติข้อ  ๒๓  (๒) กำหนดให้การพิจารณณาวินิจฉัยการลงนิคหกรรมชั้นอุทธรณ์นั้น   เป็นการใช้อำนาจตุลาการขั้นที่ ๒ และในข้อ  ๒๕ กำหนดตำแหน่งผู้ใช้อำนาจว่า “คณะผู้พิจารณาชั้นอุทธรณ์” ซึ่งจัดเป็น ๔ อันดับ กำหนดผู้พิจารณาอันดับละ ๓ ตำแหน่ง โดยมีผู้ปกครองสงฆ์เจ้าสังกัดของคณะผู้พิจารณาชั้นต้นเป็นคณะผู้พิจารณา      ซึ่งมีผู้ดำรงตำแหน่งสูงเป็นหัวหน้า และในข้อ ๒๕ นั้น กำหนดอำนาจไว้โดยสมบูรณ์ ซึ่งในข้อ ๒๕ นั้น กำหนดไว้เป็นส่วนหลักการ แต่เมื่อจะศึกษาส่วนวิธีการ ก็จำเป็นต้องทราบถึงส่วนหลักการก่อนคณะผู้พิจารณาชั้นอุทธรณ์นั้นมี ๔ อันดับ คือ         

          (๑) อันดับ ๑ มีเจ้าคณะภาค เจ้าคณะจังหวัด และรองเจ้าคณะจังหวัดหรือเจ้าคณะจังหวัดในเขตภาคที่เจ้าคณะภาคคัดเลือก มีอำนาจวินิจฉัยคำสั่งหรือคำวินิจฉัยของคณะผู้พิจารณาชั้นต้นอันดับ  ๑-๒

          (๒) อันดับ ๒  มีเจ้าคณะใหญ่ เจ้าคณะภาค และรองเจ้าคณะภาคหรือเจ้าคณะภาคในหนนั้นที่เจ้าคณะใหญ่คัดเลือก    มีอำนาจวินิจฉัยคำสั่งหรือคำวินิจฉัยของคณะผู้พิจารณาชั้นต้นอันดับ   ๓                 

          (๓)  อันดับ ๓  มีเจ้าคณะใหญ่ เจ้าคณะภาคในหนนั้น ๒ รูป ซึ่งเจ้าคณะใหญ่คัดเลือกจากผู้มิได้พิจารณาในชั้นต้น มีอำนาจพิจารณาคำสั่งหรือคำวินิจฉัยของคณะผู้พิจารณาชั้นต้นอันดับ  ๔

          (๔) อันดับ ๔  เป็นอำนาจของมหาเถรสมาคม  มีอำนาจวินิจฉัยคำสั่งหรือคำวินิจฉัยของคณะผู้พิจารณาชั้นต้นอันดับ   ๕     

     ๒. กรณีที่ให้อุทธรณ์

           (๑) คำวินิจฉัยชั้นต้น

           (๒) คำสั่งลงนิคหกรรมโทษครุกาบัติ ตามข้อ ๑๖ (๒) ข.

           ใน (๑) ได้แก่ คำวินิจฉัยชั้นต้น ซึ่งวินิจฉัย “ยกฟ้องของโจทก์” หรือ “ลงโทษจำเลย” อย่างใดอย่างหนึ่ง เมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เห็นว่าคำวินิจฉัยนั้น ยังมีข้อที่ควรคัดค้าน คำวินิจฉัยในกรณีเช่นนี้ ให้อุทธรณ์ได้

           ใน (๒) ได้แก่ คำสั่งของผู้พิจารณาซึ่งได้เห็นการกระทำความผิดของพระภิกษุโดยประจักษ์ชัด และตนเองก็มีอำนาจสั่งลงนิคหกรรม ตามความในข้อ ๑๖ (๒) ข. ได้สั่งลงนิคหกรรมแก่พระภิกษุผู้กระทำความผิดนั้น ในกรณีที่ลงโทษลหุกาบัติ ให้เรื่องถึงที่สุดทันที ผู้ถูกสั่งลงนิคหกรรมจะอุทธรณ์ฎีกามิได้ แต่ส่วนในกรณีความผิดครุกาบัติเมื่อสั่งลงนิคหกรรมแล้ว ให้สิทธิแก่ผู้ถูกสั่งลงนิคหกรรมนั้น เพื่อจะอุทธรณ์ฎีกา ทั้งนี้ก็เพื่อให้มีการพิจารณาโดยรอบคอบอีกชั้นหนึ่ง และเพื่อป้องกันการใช้อำนาจโดยไม่เป็นธรรม หรือการใช้อำนาจเกินกว่าเหตุ และเพื่อให้เกิดความถ่วงดุล ในการใช้อำนาจตามหลักทั่วไป

     ๓. ผู้มีสิทธิอุทธรณ์ ตามข้อ ๔๑ คือ

           (๑) โจทก์หรือจำเลย

           (๒) ผู้ถูกสั่งลงนิคหกรรมโทษครุกาบัติ ตามข้อ ๑๖ (๒) ข.

           ใน (๑) ได้แก่ ฝ่ายโจทก์หรือจำเลยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ซึ่งเห็นว่าคำวินิจฉัยของชั้นต้น ตนเองยังมีข้อคัดค้านได้

           ใน (๒) ได้แก่ ผู้ถูกพระภิกษุผู้พิจารณาสั่งลงนิคหกรรมโทษครุกาบัติ ตามข้อ ๑๖ (๒) ข. เมื่อเห็นว่ายังไม่ถูกต้องมีข้อคัดค้านได้ ก็ให้สิทธิอุทธรณ์ได้

     ๔. ปัญหาที่ให้สิทธิอุทธรณ์ ตามข้อ ๔๑ คือ

           (๑) ปัญหาข้อเท็จจริง

           (๒) ปัญหาพระวินัย

           ใน (๑) ได้แก่ เรื่องราวต่าง ๆ ของกรณีนั้น ๆ เช่น ลำดับเหตุการณ์ต่าง ๆ สถานที่เกิดเหตุ วัน  เดือน ปี เวลา ที่อ้างว่าจำเลยกระทำความผิด บุคคลผู้เกี่ยวข้องกับกรณี พยานหลักฐานและอื่น ๆ ซึ่งฝ่ายใดเห็นว่ามีข้อที่ตนคัดค้านได้

           ใน (๒) ได้แก่ การลงโทษทางพระวินัย คือการปรับอาบัติในกรณีนั้น ๆ เช่น การฟ้องระบุอาบัติตามสิกขาบทนี้ หรือระบุการกระทำความผิดทางพระวินัยอย่างนี้ ต้องปรับอาบัตินี้ แต่กลับปรับอาบัติอย่างอื่น  หรือควรปรับโทษเป็นอาบัติอะไรตามสิกขาบทไหน จึงจะสมความผิดที่ยกขึ้นฟ้อง หรือควรจะยกฟ้องของโจทก์ ซึ่งฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเห็นว่า มีข้อที่ตนยังคัดค้านได้

     ๕. หลักของคำอุทธรณ์ ตามข้อ ๔๑ มี ๓ คือ[1]

           (๑) ให้ระบุข้อเท็จจริงที่ยกขึ้นอ้างอิงไว้โดยย่อ

          (๒) ข้อพระวินัยที่ยกขึ้นอ้างอิงให้แสดงไว้โดยชัดเจน

           (๓) ข้อพระวินัยนั้น ต้องเป็นข้อพระวินัยที่ได้ยกว่ากันมาแล้วในชั้นต้น

           ใน (๑) ได้แก่ ให้ยกความของข้อเท็จจริงคงไว้เฉพาะสาระสำคัญ แสดงเหตุผลการคัดค้านในปัญหาข้อเท็จจริงนั้น ๆ เป็นตอน ๆ

           ใน (๒) ได้แก่ ปัญหาข้อพระวินัยนั้น จะต้องแสดงให้ละเอียดชัดเจน เช่น ระบุให้ชัดเจนว่า การล่วงละเมิดอย่างนี้ ต้องปรับเป็นอาบัติชนิดนั้นตามสิกขาบทนั้นซึ่งเป็นเช่นนี้ ควรปรับเป็นอาบัตินั้นตามสิกขาบทนั้น แต่กลับปรับอาบัติอื่นตามสิกขาบทอื่น ซึ่งเป็นความผิดที่สูงกว่า หรือการประพฤติเช่นนี้ ควรได้รับการยกเว้นโทษตามสิกขาบทนั้น ผู้อุทธรณ์จะต้องพยามเขียนให้ชัดเจนและอ้างสิกขาบทให้ถูกต้องอย่าให้คลุมเครือ

           ใน (๓) ได้แก่ ข้อพระวินัยที่จะยกมาอุทธรณ์ได้นั้น ต้องเป็นข้อพระวินัยที่ยกว่ากันมาแล้วในชั้นต้นเท่านั้น ห้ามมิให้ยกเอาเรื่องอื่นมาอุทธรณ์

๒. การดำเนินการชั้นต้น[2]

     อันวิธีพิจารณาวินิจฉัยการลงนิคหกรรมชั้นอุทธรณ์นี้ แม้จะเป็นวิธีสำหรับชั้นอุทธรณ์ก็ตาม แต่การปฏิบัติงานในส่วนบุรพภาคนั้น หาเป็นของคณะผู้พิจารณชั้นอุทธรณ์โดยตรงไม่ ตามความในข้อ ๔๑ วรรค ๒ และข้อ ๔๓ กำหนดให้เป็นหน้าที่ของผู้ยื่นอุทธรณ์ คณะผู้พิจารณาชั้นต้นและผู้แก้อุทธรณ์ คือคู่กรณีฝ่ายหนึ่ง ดังนั้นวิธีปฏิบัติงานในชั้นอุทธรณ์ จึงเกี่ยวพันกับพระสังฆาธิการระต่ำอยู่ จึงขอกำหนดการดำเนินการในชั้นต้นเป็น ๓ คือ

     ๑. หน้าที่ของผู้อุทธรณ์ ผู้ประสงฆ์จะยื่ออุทธรณ์นั้น จะเป็นโจทก์หรือจำเลยหรือผู้ถูกสั่งลงนิคหกรรมตามข้อ ๑๖ (๒) ข. ก็ตาม จะต้องขอคัดสำเนาคำวินิจฉัยชั้นต้นหรือคำสั่งลงนิคหกรรมแล้ว เรียบเรียงคำอุทธรณ์ จัดพิมพ์ให้มีต้นฉบับ ๑ ฉบับและสำเนาคู่ฉบับอีกเท่ากับจำนวนของอีกฝ่ายหนึ่ง การเรียบเรียงคำอุทธรณ์นั้น ให้เรียบเรียงโดยยึดหลักคำอุทธรณ์ดังกล่าวแล้ว การระบุชื่อผู้รับคำอุทธรณ์ให้ระบุตำแหน่งหัวหน้าคณะชั้นอุทธรณ์ และจัดส่งคำอุทธรณ์โดยปฏิบัติดังต่อไปนี้

           (๑) ให้ยื่นอุทธรณ์นั้นต่อคณะผู้พิจารณาชั้นต้น

           (๒) ยื่นภายใน ๓๐ วัน นับแต่วันรับทราบคำวินิจฉัย

           (๓) ให้ส่งสำเนาอุทธรณ์ตามจำนวนที่จะส่งให้แก่อีกฝ่ายหนึ่ง

           ในกรณีที่อุทธรณ์คำสั่งตามข้อ ๑๖ (๒) ข. ก็ให้ปฏิบัติตามนัยนี้โดยอนุโลม

     ๒. หน้าที่คณะผู้พิจารณาชั้นต้น คณะผู้พิจารณาชั้นต้นนั้นต้องรับปฏิบัติงานอันเป็นบุรพประโยคของชั้นอุทธรณ์ กล่าวคือรับและจัดการเกี่ยวกับการอุทธรณ์ การรับคำอุทธรณ์นั้น ให้ออกหนังสือรับคำอุทธรณ์ไว้เป็นหลักฐาน และบันทึกไว้ในสำนวนและดำเนินการต่อไปดังนี้

           (๑) ส่งสำเนาอุทธรณ์ให้แก่ฝ่ายหนึ่งภายใน ๑๕ วัน นับแต่วันได้รับ

           (๒) ให้รีบส่งอุทธรณ์ไปยังคณะผู้พิจารณาชั้นอุทธรณ์ เมื่อ

               ก. ส่งสำเนาให้แก่อีกฝ่ายหนึ่งมิได้เพราะหาตัวไม่พบหรือหลบหนีหรือจงใจจะไม่รับ

                ข. ได้รับคำแก่อุทธรณ์แล้ว

                ค. พ้นกำหนดวันแก่อุทธรณ์แล้ว

           ใน (๑) ให้ส่งสำเนาอุทธรณ์แก่ฝ่ายหนึ่งทุกรูป โดยมีหนังสือนำส่งและมีใบตอบรับปะหน้าพร้อมแจ้งกำหนดสั่งแก้อุทธรณ์ให้ชัดเจน

           ใน (๒) การส่งอุทธรณ์ต่อคณะผู้พิจารณาชั้นอุทธรณ์นั้น ให้ส่งสำเนาทั้งหมดด้วย และให้ส่งผ่านผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้น อย่างส่งข้ามผู้บังคับบัญชา เพราะขัดต่อบทบัญญัติข้อ ๓๗ วรรค ๓ แห่งกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ ๕ (พ.ศ. ๒๕๐๖)[3] ว่าด้วยการแต่งตั้งถอดถอนพระสังฆาธิการ ซึ่งอาจเป็นมูลเหตุให้ผู้ส่งถูกกล่าวหาว่าละเมิดจริยาพระสังฆาธิการได้

           ในการปฏิบัติงานขั้นบุรพประโยคนี้ การรับอุทธรณ์ การส่งสำเนาอุทธรณ์ เป็นไปตามปกติ หรือจะมีเหตุขัดข้องอย่างไร หรือได้รับคำแก้อุทธรณ์ หรือพ้นเขตกำหนดแก้อุทธรณ์ ให้หัวหน้าคณะผู้พิจารณาชั้นต้นบันทึกรายงานประจำวันไว้ตามระยะนั้น และติดไว้ในสำนวน เมื่อได้ส่งอุทธรณ์พร้อมสำนวนไปยังคณะผู้พิจารณาชั้นอุทธรณ์แล้ว เป็นอันหมดหน้าที่ของคณะผู้พิจารณาชั้นต้น เว้นแต่คณะผู้พิจารณาชั้นอุทธรณ์จะส่งให้ปฏิบัติการใดอีก

     ๓. หน้าที่ผู้แก้อุทธรณ์

          (๑) ต้องรีบเรียบเรียงคำแก้อุทธรณ์

           (๒) แล้วส่งไปยังคณะผู้พิจารณาชั้นต้นภายใน ๑๕ วัน นับแต่วันได้รับสำเนาอุทธรณ์

           ใน (๑) การเรียบเรียงคำแก้อุทธรณ์ ให้แก้ข้ออุทธรณ์นั้น ๆ โดยชี้ให้ชัดเจนทั้งในปัญหาข้อเท็จจริงหรือปัญหาพระวินัย

           ใน (๒) อย่าส่งคำแก้อุทธรณ์ช้ากว่ากำหนด

๓. วิธีพิจารณาวินิจฉัยการลงนิคหกรรมชั้นอุทธรณ์

     วิธีพิจารณาวินิจฉัยการลงนิคหกรรมชั้นอุทธรณ์ เป็นวิธีปฏิบัติในชั้นสูง ซึ่งเป็นอำนาจหน้าที่ของผู้ปกครองสงฆ์ในระดับจังหวัด – ภาคขึ้นไป ซึ่งนับเป็นชั้นที่มีหลักวิชาอันพร้อมมูล รายละเอียดแห่งวิธีปฏิบัติท่านจึงมิได้กำหนดไว้ คงกำหนดไว้เฉพาะส่วนที่เป็นหลัก เช่น ให้มีอำนาจพิเศษในการพิจารณาวินิจฉัย ตามความในข้อ ๔๓ กำหนดอำนาจพิเศษของคณะผู้พิจารณาชั้นอุทธรณ์ไว้ ๔ คือ

     ๑) ถ้ามิได้ยื่นอุทธรณ์ตามกำหนด ให้วินิจฉัยยกคำอุทธณรณ์นั้นเสีย

     ๒) ถ้าเห็นสมควรสืบพยานเพิ่มเติมในข้อใดหรือในกรณีใด ให้[4]

           (๑) เรียกพยานมาสืบเอง

           (๒) สั่งคณะผู้พิจารณาชั้นต้นสืบให้

     ๓) ถ้าคณะผู้พิจารณาชั้นต้นปฏิบัติไม่ถูกต้อง๔๘

           (๑) สั่งคณะผู้พิจรณาชั้นต้นปฏิบัติการใหม่ให้ถูกต้อง

           (๒) แล้วให้ส่งสำนวนคืนไปยังคณะผู้พิจารณาชั้นอุทธรณ์

     ๔) ในกรณีที่จำเลยหลายรูป ถูกวินิจฉัยให้ลงนิคหกรรมในความผิดฐานเดียวกันหรือต่อเนื่องกัน แต่จำเลยอุทธรณ์รูปเดียว

           (๑) ถ้าวินิจฉัยกลับหรือแก้โดยไม่ลงหรือลดนิคหกรรม

           (๒) ให้วินิจฉัยถึงจำเลยรูปที่มิได้อุทธรณ์ด้วย[5]

     ใน  ๑) ได้แก่กรณีที่โจทก์หรือจำเลยหรือพระภิกษุผู้ถูกสั่งลงนิคหกรรมตามข้อ ๑๖ (๒) ข. ยื่นอุทธรณ์ แต่มิได้ยื่นภายใน ๓๐ วัน  คณะผู้พิจารณาชั้นต้นรับและส่งไปยังคณะผู้พิจารณาชั้นอุทธรณ์ คำอุทธรณ์ที่ส่งไม่ตามกำหนดเช่นนี้เรียกว่า “คำอุทธรณ์ขาดอายุความ” ให้คณะผู้พิจารณาชั้นอุทธรณ์วินิจฉัยยกคำอุทธรณ์นั้นเสีย

     ใน (๒) ได้แก่กรณีที่คณะผู้พิจารณาชั้นอุทธรณ์ตรวจสำนวนแล้ว เห็นว่าพยานที่คณะผู้พิจารณาชั้นต้นสืบแล้วนั้น ยังไม่เพียงพอ ควรได้สืบพยานเพิ่มเติมในปัญหาใดหรือกรณีใดอีก เพื่อให้พิจารณาวินิจฉัยเป็นไปโดยถูกต้อง สะดวก รวดเร็วและเป็นธรรม ให้อำนาจสืบพยานเพิ่มเติมอีก โดย

           (๑) เรียกพยานมาสืบเอง

           (๒) สั่งให้คณะผู้พิจารณาชั้นต้นสืบให้

           ใน ๓) ได้แก่กรณีที่ผู้พิจารณาชั้นอุทธรณ์ตรวจสำนวนแล้ว เห็นว่า คณะผู้พิจารณาชั้นต้นปฏิบัติงานในขั้นตอนใด หรือในส่วนใด ๆ ยังไม่ถูกต้องตามหลักเกณฑ์และวิธีการ หรือยังบกพร่องในส่วนใด จำเป็นต้องแก้ไขให้ถูกต้อง ให้มีอำนาจสั่งให้คณะผู้พิจารณาชั้นต้น จัดการแก้ไขส่วนนั้น ๆ ให้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์และวิธีการอย่าให้มีข้อบกพร่อง การสั่งให้แก้ไขนี้ มิได้หมายถึงสั่งให้คณะผู้พิจารณาชั้นต้นแก้คำวินิจฉัยชั้นต้นใหม่ หมายความเพียงให้แก้ไขการปฏิบัติอันไม่ถูกต้องเท่านั้น และเมื่อได้แก้ไขเสร็จแล้ว ให้ส่งสำนวนคืนแก่ชั้นอุทธรณ์

           ใน ๔) ได้แก่กรณีที่จำเลยหลายรูป ถูกวินิจฉัยลงนิคหกรรมในความผิดฐานเดียวกันหรือต่อเนื่องกัน จำเลยอุทธรณ์เพียงรูปเดียว หรือบางรูป มิได้อุทธรณ์ทั้งหมด ในการพิจารณาวินิจฉัยในชั้นอุทธรณ์นี้ ถ้าคณะผู้พิจารณาชั้นต้นอุทธรณ์พิจารณาอุทธรณ์นั้นเห็นว่าจำเลยไม่มีความผิด หรือมีความผิดแต่น้อยกว่า หรือเบากว่าคำวินิจฉัยชั้นต้น คณะผู้พิจารณาชั้นอุทธรณ์วินิจฉัยกลับ คือวินิจฉัยกลับคำวินิจฉัยชั้นต้นนั้นโดยไม่ลงนิคหกรรมแก่จำเลย  หรือวินิจฉัยแก้คำวินิจฉัยของชั้นต้น คือแก้จากโทษหนักให้เป็นโทษเบา ซึ่งรวมความว่า คณะผู้พิจารณาวินิจฉัยชั้นอุทธรณ์วินิจฉัยเป็นประโยชน์ต่อจำเลย ในกรณีเช่นนี้ ให้วินิจฉัยไปถึงจำเลยผู้มิได้อุทธรณ์ด้วย ซึ่งข้อนี้เทียบได้กับคำพิพากษาคำอุทธรณ์ของจำเลยในศาลอุทธรณ์ฝ่ายราชอาณาจักร ตามประมวลกฏหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา ๒๑๓

๔. การปฏิบัติเมื่อมีอุปสรรค

     ในเมื่อดำเนินการพิจารณาวินิจฉัยในชั้นอุทธรณ์อยู่ ถ้าเกิดอุปสรรคขึ้น ท่านบัญญัติข้อ ๔๔ ไว้เพื่อเป็นหลักดำเนินการ โดยแยกเป็น ๒ หลักคือ

     ๑) จำเลยมรณภาพ ให้ยุติการพิจารณา

     ๒)จำเลยพ้นจากความเป็นพระภิกษุ ให้ยุติการพิจารณา เว้นแต่กรณีความผิดครุกาบัติ

     ใน ๑) ให้ยุติการพิจารณา โดยให้หัวหน้าคณะผู้พิจารณาชั้นอุทธรณ์บันทึกจำหน่ายเรื่องนั้น พร้อมด้วยเหตุผลและลงชื่อกำกับไว้และแจ้งให้ฝ่ายโจทก์ทราบ

     ใน ๒) ถ้าเป็นกรณีความผิดลหุกาบัติ ให้ยุติการพิจารณา โดยให้ปฏิบัติอย่างเดียวกับใน ๑) ส่วนในกรณีความผิดครุกาบัติ ให้ดำเนินการพิจารณาวินิจฉัยต่อไป ห้ามมิให้ยุติการพิจารณา  เพราะความผิดครุกาบัตินั้น เป็นมลทิลต่อความมั่นคงแห่งพระพุทธศาสนา เพราะอาบัติปาราชิกนั้น ผู้ทำต้องให้ขาดจากความเป็นพระภิกษุ แม้จะสึกแล้วอุปสมบทใหม่ ก็ไม่เป็นพระภิกษุภาวะ ภายหลังทราบเข้า ต้องให้สละสมณะเพศเสีย อาบัติสังฆาทิเสสนั้น เป็นอาบัติที่ทำให้ผู้ต้อง ต้องรับโทษขั้นกลางคือประพฤติวุฏฐานวิธี ซึ่งเทียบได้กับโทษจำคุกของทางราชอาณาจักร ประพฤติวุฏฐานวิธีแล้วจึงจะพ้นจากอาบัติ ต้องแล้วมิได้ทำคือสึกเสียก่อนภายหลังกลับอุปสมบทใหม่อาบัติสังฆาทิเสสก็ยังมีติดตัวอยู่ จะต้องประพฤติวุฏฐานวิธี ดังนั้น กรณีความผิดครุกาบัติ แม้จำเลยจะพ้นจากความเป็นพระภิกษุแล้ว ก็ต้องดำเนินการจนได้ชี้ขาด หากไม่มีบทบัญญัติไว้เช่นนี้ ในบางกรณี จำเลยรำคาญใจสึกเสียทั้งที่กำลังอุทธรณ์อยู่ ก็จะเป็นผู้มีมลทิลติดตัว หากประสงค์จะอุปสมบทอีก ก็ไม่มีผู้ใดรับ แต่ถ้าได้วินิจฉัยแล้วปรากฏว่าจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์แล้ว ถึงเขาจะสึกไปก่อนแล้ว ก็มีโอกาสจะอุปสมบทได้อีก บทบัญญัติข้อนี้ เพื่อมุ่งความบริสุทธิ์ผุดผ่องของจำเลยและสังฆมณฑลนั่นเอง

๕. คำวินิจฉัยชั้นอุทธรณ์

     เมื่อคณะผู้พิจารณาชั้นอุทธรณ์ได้ดำเนินการพิจารณาตามลำดับแล้ว งานสุดท้ายของคณะผู้พิจารณาชั้นอุทธรณ์คืองานวินิจฉัย อันงานวินิจฉัยนั้น แบ่งเป็นขั้นตอนได้ ๓ คือ การทำคำวินิจฉัย ๑ การอ่านคำวินิจฉัย ๑ คำวินิจฉัยถึงที่สุด ๑

     ๑. การทำคำวินิจฉัย[6] การทำคำวินิจฉัยชั้นอุทธรณ์นั้น ทำในลำดับที่คณะผู้พิจารณาชั้นอุทธรณ์ประชุมปรึกษาตรวจสำนวนชั้นต้นทั้งหมด แล้วลงมติว่าจะวินิจฉัย ยืน ยก แก้ หรือ กลับ เมื่อได้ตกลงแล้ว มอบให้รูปใดรูปหนึ่งยกร่างคำวินิจฉัยเสร็จแล้วประชุมตรวจแก้ถ้อยคำสำนวนแล้วพิมพ์ใหม่อีก เมื่อตรวจแก้ครั้งสุดท้ายแล้ว จึงลงชื่อใช้เป็นคำวินิจฉัยได้ โดยยึดหลักคำวินิจฉัยมีดังนี้

          (๑) ตามแบบคำวินิจฉัยชั้นต้น

           (๒) และให้เพิ่ม

                (ก) ชื่อ นามสกุล ฉายา อายุ  พรรษา สำนัก และสังกัดของผู้อุทธรณ์

                (ข) คำวินิจฉัยให้ ยืน ยก แก้ หรือ กลับ คำวินิจฉัยชั้นต้น

           ใน (๑) ใช้ยึดตามแบบคำวินิจฉัยชั้นต้น จะมีผิดแผกบ้างเพียงบางประการ

           ใน (๒) ได้แก่ให้เพิ่มความตอนต้นถัดจาก “เรื่อง” โดยให้ลงชื่อ นามสกุล ฉายา อายุ พรรษา สำนัก และสังกัดของผู้อุทธรณ์ บอกให้ชัดว่า ยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำวินิจฉัยชั้นต้นหรือคำสั่งของผู้พิจารณา ตามคำวินิจฉัยหรือคำสั่งลงวันที่…….เดือน……..พ.ศ………. และให้เพิ่มคำวินิจฉัยของคณะผู้พิจารณาชั้นอุทธรณ์ โดยให้เพิ่มคำว่า “ยืน” “ยก” “แก้” “กลับ” คำวินิจฉัยชั้นต้น หรือ คำสั่งของผู้พิจารณา พึงทราบความหมายของคำว่า ยืน ยก แก้ กลับ นั้นดังต่อไปนี้

          (๑) ยืน หมายถึง กรณีที่คณะผู้พิจารณาชั้นอุทธรณ์ได้พิจารณาโดยตลอดแล้ว เห็นว่า คำวินิจฉัยชั้นต้นหรือคำสั่งลงนิคหกรรมนั้นเป็นอันถูกต้องแล้ว จึงวินิจฉัยให้ยืนตามคำวินิจฉัยของชั้นต้น หรือตามคำสั่งของผู้พิจารณา เช่น “ให้ยืนตามคำวินิจฉัยชั้นต้น”

          (๒) ยก หมายถึง กรณีที่คณะผู้พิจารณาชั้นอุทธรณ์ได้พิจารณาโดยตลอดแล้ว เห็นว่า คำอุทธรณ์ของฝ่ายโจทก์หรือจำเลยหรือผู้ถูกสั่งลงนิคหกรรมนั้น ไม่เพียงพอจะลบล้างคำวินิจฉัยของคณะผู้พิจารณาชั้นต้นหรือคำสั่งของผู้พิจารณาได้ หรือเป็นคำอุทธรณ์ที่ต้องห้าม ซึ่งอยู่ในลักษณะต้องยก เช่น “ให้ยกคำอุทธรณ์ของ……..เสีย” ซึ่งเมื่อยกแล้ว ผลก็คงให้บังคับตามคำวินิจฉัยเดิม เท่ากับคำว่า “ทับสัตย์”

           (๓) แก้ หมายถึง กรณีที่คณะผู้พิจารณาชั้นอุทธรณ์ได้พิจารณาโดยตลอดแล้ว เห็นว่าคำวินิจฉัยลงนิคหกรรมชั้นต้น หรือคำสั่งลงนิคหกรรมของผู้พิจารณานั้น ลงนิคหกรรมไม่ถูกต้อง เช่น ลงเบากว่าหรือน้อยกว่าที่ควรจะได้รับ หรือลงหนักกว่าที่ควรจะได้รับ อยู่ในลักษณะที่จะต้องแก้ โดย “ถ้าเบาแก้ให้หนักขึ้น” “ถ้าหนักแก้ให้เบาลง” เช่น ให้แก้คำวินิจฉัยชั้นต้น ให้ลงนิคหกรรมเป็นอาบัติ………. ตามสิกขาบทที่………..แห่ง………………

          (๔) กลับ หมายถึง กรณีที่คณะผู้พิจารณาชั้นอุทธรณ์พิจารณาโดยตลอดแล้ว เห็นว่าคณะผู้พิจารณาชั้นต้นวินิจฉัยคำสั่งลงนิคหกรรมของผู้พิจารณายังไม่ถูกต้องเช่น ควรจะลงโทษ แต่ยกฟ้องของโจทก์ หรือควรจะยกฟ้องของโจทก์แต่วินิจฉัยลงโทษจำเลย อย่างใดอย่างหึ่ง ซึ่งจะต้องวินิจฉัยกลับคำวินิจฉัยชั้นต้นกล่าวคือ กลับจากยกฟ้องของโจทก์เป็นลงโทษจำเลย หรือกลับจากลงโทษจำเลยเป็นยกฟ้องของโจทก์ เท่ากับคำว่า “กลับสัตย์”

     ๒. การอ่านวินิจฉัย[7]  ตามข้อ ๔๖ บัญญัติหลักการอ่านคำวินิจฉัย ซึ่งพอกำหนดได้เป็น ๓ คือ

           (๑) ให้อ่านคำวินิจฉัยโดยมิชักช้า

           (๒) ผู้อ่านคำวินิจฉัย

                (ก) คณะผู้พิจารณาชั้นอุทธรณ์

                (ข) ให้คณะผู้พิจารณาชั้นต้นอ่าน

           (๓) ให้นำข้อ ๓๙ มาใช้บังคับโดยอนุโลม

          ใน (๑) เมื่อได้คำวินิจฉัยแล้ว บังคับให้อ่านคำวินิจฉัยชั้นอุทธรณ์โดยมิชักช้าแต่มิได้กำหนดวันเวลาที่แน่นอน

          ใน (๒) คณะผู้พิจารณาชั้นอุทธรณ์จะอ่านเองหรือจะให้คณะผู้พิจารณาชั้นต้นอ่านก็ได้ ข้อสำคัญต้องอ่านในที่พิจารณาชั้นนั้น ๆ

          ใน (๓) การปฏิบัติอื่น ๆ ในการอ่านคำวินิจฉัยนั้นยังมีอีกมาก เช่น การกำหนด วัน เวลา สถานที่ การแจ้งแก่คู่กรณี มีบัญญัติให้นำความในข้อ ๓๙ ซึ่งเป็นวิธีปฏิบัติในการอ่านคำวินิจฉัยชั้นต้นมาใช้บังคับโดยอนุโลม

     ๓. คำวินิจฉัยถึงที่สุด ตามข้อ ๔๘ กำหนด ๒ คือ

           (๑) โจทก์หรือจำเลยหรือผู้ถูกสั่งลงนิคหกรรมมิได้ฎีกา

           (๒) ชั้นฎีกาสั่งยุติการพิจารณาตามข้อ ๕๑

           ใน (๑) เมื่อพ้นเขตยื่นฎีกาแล้วมิได้ฎีกา ให้ถือว่า “คำวินิจฉัยถึงที่สุด” และให้ผู้อ่านคำวินิจฉัย แจ้งแก่ผู้ปกครองใกล้ชิดของจำเลยเพื่อบังคับตามคำวินิจฉัยต่อไปและในกรณีที่ยื่นฎีกาเกินกว่ากำหนดหรือฎีกาต้องห้าม เมื่อชั้นฎีกาวินิจฉัยยกแล้ว ให้ปฏิบัติเช่นเดียวกัน

           ใน (๒) ให้หัวหน้าคณะผู้พิจารณาชั้นอุทธรณ์ บันทึกเหตุผลการยุติพิจารณาและลงชื่อกำกับไว้

๖. ข้อพิเศษ[8]

     ข้อ ๔๗ บังคับไว้ว่า วิธีพิจารณาวินิจฉัยลงนิคหกรรมชั้นอุทธรณ์ นอกจากที่กำหนดไว้ในส่วนที่ ๓ นี้ ให้นำความในส่วนที่ ๒ มาใช้บังคับโดยอนุโลม

     หมายความว่า การปฏิบัติงานในชั้นนี้ ได้บัญญัติไว้โดยตรงส่วนหนึ่ง และให้นำส่วนที่ ๒ มาใช้บังคับโดยอนุโลมอีกส่วนหนึ่ง


[1] ดูประมวลกฎหมายอาญา วิ. มาตรา ๑๙๓ วรรค ๒ และมาตรา ๑๙๕ วรรคแรก เทียบเคียง

[2]  ดูประมลลกฎหมายอาญา วิ. มาตรา ๑๙๘-๒๐๑ เทียบเคียง

[3]  ปัจจุบันเป็นข้อ ๔๕ วรรค ๓ แห่งกฎหมาเถรสมาคม ฉบับที่ ๒๔ (พ.ศ. ๒๕๔๑) ว่าด้วยการแต่งตั้งถอดถอนพระสังฆาธิการ

[4]  ดูประมวลกฎหมายความอาญา วิ. มาตรา ๒๐๘ (๑) (๒) เทียบเคียง

[5]  ดูประมวลกฎหมายความอาญา วิ. มาตรา ๒๑๓ เทียบเคียง

[6] ดูประมวลกฎหมายอาญา วิ.มาตรา ๒๑๔ เทียบเคียง

[7]  ดูประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา วิ. มาตรา ๒๐๙  เทียบเคียง

[8] ดูประมวลกฎหมายอาญา วิ. มาตรา ๒๑๔ เทียบเคียง