หมวด ๔
วิธีอ้างพยานหลักฐาน
————–
อันพยานหลักฐานนั้น เป็นส่วนประกอบคำฟ้องของโจทก์และคำให้การแก้ของจำเลยที่สำคัญยิ่ง หากจะกล่าวว่า พยานหลักฐานเป็นจุดยืนของโจทก์และจำเลยก็ได้เพราะโจทก์จะฟ้องพระภิกษุใด หรือผู้กล่าวหาจะกล่าวหาพระภิกษุรูปใดก็ตาม จะฟ้องหรือกล่าวหาโดยไม่มีพยานหลักฐานประกอบเลยมิได้ เพราะหากฟ้องหรือกล่าวหาโดยปราศจากพยานหลักฐานแล้ว อาจถูกฟ้องเป็นคดีอาญาความผิดฐานหมิ่นประมาท ตามประมวลกฏหมายอาญา มาตรา ๓๒๖ ซึ่งมีความว่า “ผู้ใดใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สามโดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือเกลียดชัง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” แต่การฟ้องหรือการกล่าวหาซึ่งได้อ้างพยานหลักฐานแล้ว ย่อมคุ้มกันความผิดฐานหมิ่นประมาทได้ นอกจากนี้ พยานหลักฐานเป็นอุปกรณ์อันสำคัญยิ่งสำหรับคณะผู้พิจารณาทุกชั้น คณะผู้พิจารณาทุกชั้นใช้พยานหลักฐาน เป็นเครื่องพิสูจน์ข้อเท็จจริง เป็นเครื่องวินิจฉัยชี้ขาด พยานหลักฐาน เป็นเครื่องอุปกรณ์สร้างความยุติธรรมให้แก่สังคม ในหมวดนี้ ขอกำหนดเป็น ๒ คือ
๑. พยานหลักฐาน
๒. การอ้างพยาน
๑. พยานหลักฐาน[1]
โดยที่พยานหลักฐานเป็นสิ่งจำเป็นแก่กรณีต่าง ๆ ซึ่งเกิดขึ้น กรณีใด ๆ ทั้งทางพุทธจักร และทางราชอาณาจักร จะเว้นจากพยานหลักฐานมิได้ ไม่ว่ากรณีใด ที่โจทก์ฟ้องพระภิกษุซึ่งผู้ฟ้องไม่มีพยานหลักฐาน กรณีเช่นนั้น ผู้พิจารณาไม่อาจรับดำเนินการได้ เมื่อเรื่องพยานหลักฐานเป็นเรื่องที่สำคัญ จะขาดเสียมิได้ จึงจำเป็นต้องศึกษารายละเอียดตามสมควร โดยกำหนดข้อควรศึกษา คือ ประเภทแห่งพยาน ลักษณะพยาน บุคคลผู้อ้างพยาน และการได้พยานมา
๑. ประเภทแห่งพยาน นั้น ตามข้อ ๕๕ กำหนดไว้ ๓ คือ
(๑) พยานบุคคล
(๒) พยานเอกสาร
(๓) พยานวัตถุ
ใน (๑) ได้แก่บุคคลผู้เห็นเป็นพยานในกรณีต่าง ๆ ซึ่งพยานประเภทนี้ มีไว้สำหรับเบิกความประกอบคำฟ้องของโจทก์หรือคำให้การแก้ของจำเลย โดยมิได้กำหนดคุณสมบัติของผู้เป็นพยานบุคคลไว้ชัดแจ้ง ทั้งนี้ สุดแต่กรณีนั้น ๆ ผู้ใดจะรู้เห็น แต่ถึงมิได้กำหนดคุณสมบัติไว้ก็ตาม แต่ในทางปฏิบัตินั้น ผู้ใดรู้เห็นเหตุการณ์และสามารถจะเบิกความอันจะนำไปสู่เป้าหมายของความเป็นพยานได้ ผู้นั้นก็พอใช้เป็นพยานได้ ดังความในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๙๖ ความว่า “พยานที่เป็นคนหูหนวก หรือเป็นใบ้ หรือทั้งหูหนวกและเป็นใบ้นั้น อาจถูกถามหรือให้คำตอบได้โดยวิธีเขียนหนังสือ หรือโดยวิธีอื่นใดที่สมควรและคำเบิกความของบุคคลนั้น ๆ ให้ถือว่าเป็นคำพยานบุคคลตามประมวลกฎหมายนี้”
ใน (๒) ได้แก่เอกสารที่ใช้เป็นพยานหลักฐาน จะเป็นเอกสารธรรมดาหรือเอกสารราชการหรือเอกสารสิทธิ ก็ใช้เป็นพยานเอกสารได้ทั้งนั้น เพื่อให้ทราบชัดถึงความหมายของเอกสาร เอกสารราชการเอกสารสิทธิ จึงนำความในประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑ มาเป็นหลักฐานบางอนุมาตรา คือ
มาตรา ๑ (๗) “เอกสาร” หมายความว่า กระดาษหรือวัตถุอื่นใด ซึ่งได้ทำให้ปรากฏความหมายด้วยตัวอักษร ตัวเลข ผัง หรือแบบแผนอย่างอื่น จะเป็นโดยวิธีพิมพ์ ถ่ายภาพ หรือวิธีอื่นอันเป็นหลักฐานแห่งความหมายนั้น
มาตรา ๑ (๘) “เอกสารราชการ” หมายความว่า เอกสารซึ่งเจ้าพนักงานได้ทำขึ้นหรือรับรองในหน้าที่ และให้หมายความรวมถึงสำเนาเอกสารนั้น ๆ ที่เจ้าพนักงานได้
มาตรา ๑ (๙) “เอกสารสิทธิ” หมายความว่า เอกสารที่เป็นหลักฐานแห่งการก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน หรือระงับซึ่งสิทธิ
ใน (๓) ได้แก่สิ่งของใด ๆ อันเกี่ยวข้องกับกรณีนั้น ๆ อันอาจใช้เป็นพยานหลักฐานในกรณีนั้น ๆ ได้
๒. ลักษณะของพยาน ตามความในข้อ ๕๕ คือ
(๑) น่าจะพิสูจน์ได้ว่าจำเลยมีผิด
(๒) น่าจะพิสูจน์ได้ว่าจำเลยบริสุทธิ์
ใน ๒. ได้แก่พยานนั้น จะต้องมีลักษณะ ๒ อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่ง จึงให้อ้างเป็นพยานหลักฐานได้ เพราะคณะผู้พิจารณาทุกชั้น จะต้องใช้พยานหลักฐานนั่นเอง เป็นเครื่องพิสูจน์ให้เห็นชัดว่า ในกรณีที่โจทก์ฟ้องนั้น จะพิสูจน์ได้ว่า จำเลยได้กระทำความผิด หรือจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์ พยานหลักฐานเป็นเครื่องฉายให้คณะผู้พิจารณาเห็นข้อเท็จจริง จนสามารถพิสูจน์และวินิจฉัยได้ ดังนั้น พยานหลักฐานฝ่ายโจทก์ ก็น่าจะพิสูจน์ได้ว่า จำเลยได้กระทำความผิด พยานหลักฐานของฝ่ายจำเลย ก็น่าจะพิสูจน์ได้ว่าจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์
๓. บุคคลผู้อ้างพยาน พอกำหนดได้ ๓ คือ
(๑) โจทก์
(๒) จำเลย
(๓) คณะผู้พิจารณา
ใน (๑) โจทก์ระบุอ้างพยานเพื่อให้คำฟ้องมีน้ำหนักยิ่งขึ้นจนสามารถพิสูจน์ความผิดของจำเลย พยานที่โจทก์ระบุนี้ เรียกว่า “พยานฝ่ายโจทก์”
ใน (๒) จำเลยระบุอ้างพยานเพื่อให้คำให้การของตนมีน้ำหนักขึ้น จนสามารถพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของจำเลย พยานที่จำเลยระบุนี้ เรียกว่า “พยานฝ่ายจำเลย”
ใน (๓) คณะผู้พิจารณาอาจนำพยานซึ่งมิใช่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมาสืบเพิ่มเติม ในเมื่อสืบพยาน ๒ ฝ่ายแล้ว ยังมิอาจพิสูจน์ได้ชัด จำเป็นต้องอาศัยคนกลางอีกชั้นหนึ่ง พยานประเภทนี้เรียกว่า “พยานที่คณะผู้พิจารณานำมาสืบ”
๔. การได้พยานมา[2] ตามข้อ ๕๕ ได้กำหนดการได้พยานเป็น ๕ คือ
(๑) มิใช่เกิดจากการจูงใจ
(๒) มิใช่เกิดจากการมีคำมั่นสัญญา
(๓) มิใช่เกิดจากการหลอกลวง
(๔) มิใช่เกิดจากการขู่เข็ญ
(๕) มิใช่เกิดจากเหตุอื่นอันมิชอบ
ใน ๔. ได้แก่พยานหลักฐานทุกชนิดของฝ่ายโจทก์ ของฝ่ายจำเลย หรือของคณะผู้พิจารณานั้น การที่จะได้พยานหลักฐานนั้นมา การที่จะได้พยานหลักฐานนั้นมา จะต้องได้มาโดยอาการอันชอบมิใช่ได้มาโดยการจูงใจเป็นต้น รวมความว่า พยานหลักฐานนั้น จะต้องเป็นพยานหลักฐานซึ่งเกิดมาโดยอาการอันชอบ
๒. การอ้างพยาน
ในการอ้างพยานหลักฐานของแต่ละฝ่ายนั้น ท่านกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติไว้ตามลำดับ คือ การอ้างพยานบุคคล การอ้างพยานเอกสาร การอ้างพยานวัตถุ การอ้างผู้ชำนาญพิเศษ และการให้การและส่งพยานหลักฐานลับ มีข้อควรศึกษาดังนี้
๑. การอ้างพยานบุคคล[3]ตามมข้อ ๕๖ กำหนดไว้ ๒ คือ
(๑) ห้ามโจทก์อ้างจำเลยเป็นพยาน
(๒) จำเลยจะอ้างตนเองเป็นพยานได้ แต่ต้อง
(ก) ให้จำเลยเข้าสืบก่อนพยานจำเลยอื่น
(ข) ถ้าให้การปรักปรำหรือเสียหายแก่จำเลยอื่น ให้จำเลยอื่นซักค้านได้
ใน (๑) ได้แก่การเสนอบัญชีระบุพยานของโจทก์หรือการอ้างพยานในคำฟ้องของโจทก์ ห้ามมิให้อ้างจำเลยเป็นพยานของโจทก์ เช่น โจทก์ฟ้องว่าจำเลยลักทรัพย์ของตน และอ้างว่าจำเลยเป็นคนรู้เห็น และอ้างจำเลยนั้นเป็นพยาน ให้โจทก์อ้างบุคคลอื่นนอกจากจำเลยเป็นพยานบุคคลของโจทก์ แม้จะไม่มีบทบัญญัติห้ามมิให้โจทก์เป็นพยานของโจทก์ก็จริง แต่โจทก์จะอ้างตนเองเป็นพยานของโจทก์ดูไม่งาม เพราะมิได้มีบทบัญญัติอนุญาตดังเช่นจำเลย และเมื่อไม่อนุญาตไว้ ก็ย่อมไม่ได้วางแนวปฏิบัติไว้แต่ทางลักษณะกฎหมายนั้น สิ่งใดมิได้มีข้อห้าม จะกระทำก็ย่อมไม่ผิด
ใน (๒) ได้แก่การเสนอบัญชีระบุพยานฝ่ายจำเลย ให้จำเลยอ้างตนเองเป็นพยานของตนได้ ถึงในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๓๓ ก็กำหนดให้จำเลยอ้างจำเลยเป็นพยานของตนได้ เช่นกรณีที่จำเลยเป็นพยานของตนหากจำเลยมีหลายคน ถ้าจำเลยให้การในฐานะพยานนั้น ปรักปรำหรือเสียหายแก่จำเลยรูปอื่นซึ่งอาจมี ให้จำเลยรูปอื่น ซักค้านได้เช่นเดียวกันกับโจทก์ซักค้านพยานฝ่ายจำเลย แต่ถ้าให้การเป็นประโยชน์แก่จำเลยทั้งหมด เมื่อโจทก์ซักค้านแล้ว ก็ให้จำเลยอื่นถามติงได้
๒. การอ้างพยานเอกสาร[4] ตามข้อ ๕๗ กำหนดไว้ ๓ คือ
(๑) อ้างต้นฉบับเอกสาร
(๒) อ้างสำเนาหนังสือการคณะสงฆ์หรือหนังสือราชการได้
(๓) ให้คณะผู้พิจารณาเรียกเอกสารจากผู้ยึดถือ
ใน (๑) ได้แก่การอ้างเอกสารเป็นพยานหลักฐาน ให้นำต้นฉบับเอกสารมาอ้าง ถ้าหาต้นฉบับมิได้ ยอมให้อ้างเอกสารสำเนานั้นได้ โดยต้องมีผู้รับรองว่าถูกต้อง หรือให้มีพยานบุคคลผู้รู้ข้อความนั้น มาเป็นพยานรับรองเอกสารนั้นก็ได้
ใน (๒) ได้แก่หนังสือการคณะสงฆ์หรือหนังสือราชการนั้น เมื่อจะอ้างเป็นพยานแม้ต้นฉบับจะมีอยู่ จะส่งสำเนาซึ่งเจ้าหน้าที่ทางคณะสงฆ์หรือทางราชการรับรองว่าถูกต้องก็ได้ เว้นแต่หนังสือเรียกเอกสารนั้น จะระบุไว้เป็นอย่างอื่น คำว่า “สำเนา” หมายถึงสำเนาคู่ฉบับ หรือสำเนาคัดลอก อย่างใดอย่างหนึ่ง
ใน (๓) ได้แก่กรณีที่มีผู้อ้างเอกสารเป็นพยานหลักฐาน โดยระบุไว้ในบัญชีระบุพยานว่า เอกสารนั้นอยู่ในความยึดถือของผู้ใดผู้หนึ่ง โดยแจ้งลักษณะเอกสารนั้นพร้อมทั้งที่อยู่ของเอกสารอย่างชัดเจน และขอให้คณะผู้พิจารณาเรียกเอกสารนั้น ให้คณะผู้พิจารณาเรียกเอกสารนั้นจากผู้ยึดถือ ซึ่งในกรณีเช่นนี้ หากผู้ยึดถือขัดขืน ย่อมเป็นการฝ่าฝืนมาตรา ๑๗๐ แห่งประมวลกฏหมายอาญาด้วย
๓. การอ้างพยานวัตถุ[5] ตามข้อ ๕๘ กำหนดไว้ ๒ คือ
(๑) ให้นำวัตถุนั้นมาส่งคณะผู้พิจารณา
(๒) ให้นำคณะผู้พิจารณาไปตรวจถึงสถานที่
ใน (๑) ได้แก่คู่กรณีฝ่ายใดอ้างวัตถุสิ่งของชนิดใด เป็นพยานหลักฐาน ให้ฝ่ายนั้นนำวัตถุนั้นมาแสดงแก่คณะผู้พิจารณา ในทางปฏิบัตินั้น วัตถุใด ที่ฝ่ายใดนำมาอ้างเป็นพยานหลักฐาน ให้คณะผู้พิจารณาตรวจลักษณะอื่น ๆ ของวัตถุนั้น แล้วบันทึกรายละเอียดต่าง ๆ ของวัตถุนั้น โดยกระทำต่อหน้าคู่กรณี และให้คู่กรณีลงนามในบันทึกไว้ด้วย ถ้าจะต้องเก็บเข้าหีบห่อ การเก็บเข้าห่อควรตีตรา หรือการแก้ห่อให้ทำต่อห้าคู่กรณี
ใน (๒) ได้แก่กรณีที่คู่กรณีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง อ้างวัตถุใดเป็นพยานหลักฐานของตน วัตถุนั้นเป็นวัตถุที่ไม่สามารถจะนำมาได้ด้วยเหตุใด ๆ ให้คณะผู้พิจารณาทุกรูปหรือรูปใดรูปหนึ่ง ซึ่งได้รับมอบหมายไปตรวจวัตถุนั้นถึงที่ วัตถุนั้นต้องอยู่ตามเวลาและวิธีซึ่งคณะผู้พิจารณาหรือผู้พิจารณาเห็นสมควรตามลักษณะแห่งพยานวัตถุ ในการไปตรวจนั้นให้แจ้งโจทก์จำเลยเพื่อไปร่วมด้วย เมื่อตรวจและบันทึกรายละเอียดแล้วให้คู่กรณีลงชื่อกำกับด้วย ในกรณีเช่นนี้ อาจถ่ายภาพประกอบด้วยก็ได้ แล้วนำมาแสดงต่อคณะผู้พิจารณา
๔. การอ้างผู้ชำนาญพิเศษ[6] ตามข้อ ๕๙ กำหนดเป็น ๓ คือ
(๑) ลักษณะผู้ชำนาญพิเศษ
(ก) ผู้ใดชำนาญพิเศษในการใด เช่น ในทางวิทยาศาสตร์ ศิลปะ ฝีมือ พาณิชยการหรือการแพทย์ จะโดยอาชีพหรือเหตุอื่นใด
(ข) ความเห็นของเขาอาจเป็นประโยชน์ในกรณีไต่สวนมูลฟ้องหรือการพิจารณาวินิจฉัย
(ค) ความเห็นของเขาอาจเป็นพยานในกรณีต่าง ๆ เช่น ตรวจร่างกาย
(๒) วิธีอ้างผู้ชำนาญพิเศษ คณะผู้พิจารณาต้อง
(ก) ให้ผู้ชำนาญพิเศษทำความเห็นนั้นเป็นหนังสือ
(ข) ให้ผู้ชำนาญพิเศษมาเบิกความประกอบหนังสือนั้น
(ค) ให้ส่งสำเนาหนังสือนั้นแก่คู่กรณีล่วงหน้า ๓ วัน
(๓) การได้ผู้ชำนาญพิเศษ
(ก) ได้จากทางการคณะสงฆ์
(ข) ได้จากทางราชอาณาจักร
ใน (๑) ได้แก่ลักษณะของผู้ชำนาญพิเศษ ซึ่งกำหนดไว้โดยชัดแจ้งว่า เป็นผู้ชำนาญพิเศษในกรณี่ใด ๆ เช่น ในทางวิทยาศาสตร์ จะมีความชำนาญโดยอาชีพหรือโดยเหตุอื่นใดก็ตาม ถ้าความเห็นของผู้นั้น อาจเป็นประโยชน์ในการไต่ส่วนมูลฟ้องหรือในการพิจารณา หรือใช้เป็นพยานในกรณีต่าง ๆ เช่น การตรวจร่างกาย การตรวจสุขภาพทางจิต หรือพิสูจน์เอกสาร ให้ถือว่าผู้นั้นเป็นผู้ชำนาญพิเศษ
ใน (๒) ได้แก่วิธีอ้างผู้ชำนาญพิเศษ โดยกำหนดให้คณะผู้พิจารณาแจ้งให้ผู้ชำนาญพิเศษนั้น ทำความเห็นเกี่ยวกับกรณีนั้น ๆ เป็นหนังสือ โดยชี้แจงรายละเอียดตามควรแก่กรณี แล้วนัดให้มาเบิกความประกอบหนังสือนั้นอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งต้องให้คณะผู้พิจารณาสำเนาหนังสือนั้นให้แก่คู่กรณีล่วงหน้า ๓ วัน ก่อนวันเบิกความ
ใน (๓) ได้แก่ในกรณีที่มีความจำเป็น จะต้องหาผู้ชำนาญพิเศษมาเบิกความในกรณีใด ๆ กำหนดการได้ผู้ชำนาญพิเศษ ๒ ทาง คือ ทางการคณะสงฆ์หรือทางราชอาณาจักร แต่ในทางปฏิบัตินั้น ในบางกรณีอาจได้จากประชาชน เช่น ในสมัยพุทธกาล เมื่อพระอุบาลีเถระวินิจฉัยอธิกรณ์ เรื่องภิกษุณีผู้เป็นมารดาของพระกุมารกัสปะ ท่านก็เชิญนางวิสาขามหาอุบาสิกามาเป็นผู้ชำนาญพิเศษทำหน้าที่ตรวจสอบครรภ์ของนางภิกษุณีนั้น
๕. การให้การหรือส่งพยานหลักฐานลับ[7] การให้การหรือการส่งพยานหลักฐานของโจทก์ จำเลยหรือผู้ใด ถ้าคำให้การหรือพยานหลักฐานนั้น มีลักษณะพิเศษดังกล่าวต่อไป ในกรณีเช่นนี้ โจทก์ จำเลยหรือผู้นั้น ไม่อาจให้การหรือส่งพยานหลักฐานนั้น โดยพลการได้ เพราะจะเป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย เพื่อให้การปฏิบัติในกรณีเช่นนี้ เป็นไปโดยสะดวก จึงมีบทบัญญัติข้อ ๖๐ กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติไว้ ซึ่งพอกำหนดได้เป็น ๔ คือ
(๑) ในกรณีพิเศษ ได้แก่กรณีที่โจทก์จำเลยหรือผู้ใด ซึ่ง
(ก) จะต้องให้การอันมีลักษณะพิเศษ
(ข) จะต้องส่งพยานหลักฐานอันมีลักษณะพิเศษ
(๒) ลักษณะพิเศษ ได้แก่ลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่ง
(ก) ข้อความหรือเอกสารซึ่งยังเป็นความลับในการคณะสงฆ์หรือในราชการ
(ข) ความลับหรือเอกสารลับซึ่งได้มาหรือทราบเนื่องด้วยปกติธุระหรือหน้าที่ของเขา
(ค) วิธีการ แบบแผน หรืองานอย่างอื่น ซึ่งมีกฎหมายควบคุมมิให้เปิดเผย
(๓) กรณีที่ขัดข้อง ได้แก่กรณีที่โจทก์จำเลยหรือผู้นั้น
(ก) อาจปฏิเสธไม่ยอมให้การดังกล่าวนั้น
(ข) อาจปฏิเสธไม่ยอมส่งหลักฐานดังกล่าวนั้น
(๔) การปฏิบัติ ในกรณีเช่นนี้ คณะผู้พิจารณาอาจแจ้งให้
(ก) ทางการคณะสงฆ์ที่เกี่ยวข้องกับความลับนั้น
(ข) ทางราชการที่เกี่ยวข้องกับความลับนั้น
(ค) บุคคลผู้ที่เกี่ยวข้องกับความลับนั้น
มาชี้แจงเหตุผลที่ไม่สมควรให้การหรือส่งพยานหลักฐานดังกล่าวนั้นโดยแจ้งชัดต่อคณะผู้พิจารณา
ตามความใน (๑) (๒) และ (๓) ได้แก่กรณีที่โจทก์จำเลยหรือผู้ใด ซึ่งจะต้องให้การมีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งดังกล่าวแล้ว หรือซึ่งจะต้องส่งพยานหลักฐานซึ่งมีลักษณะอย่างหนึ่งดังกล่าวแล้ว แต่เพราะข้อความที่จะให้การหรือพยานหลักฐานที่จะส่งนั้น มีลักษณะอยู่ในฐานะต้องห้าม เพราะเป็นความลับหรือเป็นไปในลักษณะที่กฎหมายควบคุมมิให้เปิดเผย ถ้าจำเลยให้การส่งพยานหลักฐานดังว่านั้นโดยพลการ อาจเป็นการละเมิดกฎหมายอาญา ในความผิดฐานเปิดเผยความลับตามมาตรา ๓๒๒, ๓๒๓ หรือ ๓๒๔ แห่งประมวลกฎหมาอาญา[8] หรืออาจเป็นการเปิดเผยควมลับของทางราชการ ตามระเบียบว่าด้วยการรักษาความปลอดภัยแห่งชาติอีกโสดหนึ่งด้วย ซึ่งเป็นเหตุให้ผู้นั้นต้องได้รับความผิดฐานเปิดเผยความลับของทางราชการ ในกรณีเช่นนี้โจทก์จำเลยหรือผู้นั้น อาจปฏิเสธไม่ยอมให้การหรือส่งพยานหลักฐานดังกล่าว เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากทางคณะสงฆ์หรือทางราชการ หรือบุคคลผู้เกี่ยวข้องกับความลับนั้น ถ้าไม่ได้รับอนุญาต เขาอาจปฏิเสธ และในกรณีที่เขาปฏิเสธไม่ยอมให้การหรือไม่ยอมส่งพยานหลักฐาน เพราะเหตุดังกล่าวนี้ คณะผู้พิจารณาอาจแจ้งให้ทางการคณะสงฆ์หรือทางราชการหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องกับความลับนั้นมาพบ เพื่อชี้แจงเหตุผลที่ไม่สมควรให้การ หรือเหตุผลที่ไม่สมควรส่งพยานหลักฐานดังกล่าวแล้ว โดยละเอียดแล้ว โดยละเอียดแจ่มแจ้ง
ขอแนะนำเกี่ยวกับความลับเพิ่มเติม
ความลับของทางราชการ ได้แก่งานราชการแผ่นดินซึ่งต้องสงวนเป็นความลับตามระเบียบว่าด้วยการรักษาความปลอดภัยแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๑๗ กำหนดชั้นแห่งความลับไว้ ๔ คือ
๑. ลับที่สุด ได้แก่ความลับที่มีความสำคัญที่สุดเกี่ยวกับข่าวสารวัตถุหรือบุคคล ซึ่งถ้าหากความลับดังกล่าวทั้งหมดหรือเพียงบางส่วนรั่วไหลไปถึงบุคคลผู้ไม่มีหน้าที่ทราบ จะทำให้เกิดความเสียหาย หรือเป็นภยันตรายต่อความมั่นคง ความปลอดภัยหรือความสงบเรียบร้อยของประเทศชาติหรือพันธมิตรอย่างร้ายแรงที่สุด เช่น นโยบายหรือแผนการสำคัญยิ่งของชาติ ซึ่งถ้าเปิดเผยก่อนเวลาอันสมควร จะก่อให้เกิดผลเสียหายอย่างร้ายแรงที่สุดแก่ประเทศชาติ
๒. ลับมาก ได้แก่ความลับที่มีความสำคัญมากเกี่ยวกับข่าวสารวัตถุหรือบุคคล ซึ่งถ้าหากความลับดังกล่าวทั้งหมดหรือเพียงบางส่วนรั่วไหลไปถึงบุคคลผู้ไม่มีหน้าที่ทราบ จะทำให้เกิดความเสียหายหรือเป็นภยันตรายต่อความมั่นคง ความปลอดภัยของประเทศชาติ หรือพันธมิตร หรือความสงบเรีบยร้อยในราชอาณาจักรอย่างร้ายแรง เช่น แผนการปราบผู้ก่อการร้าย รายงานเสนอแต่งตั้งหรือโยกย้ายข้าราชการในตำแหน่งที่สำคัญมาก
๓. ลับ ได้แก่ความลับที่มีความสำคัญที่เกี่ยวกับข่าวสารวัตถุหรือบุคคล ซึ่งถ้าหากความลับดังกล่าวทั้งหมดหรือเพียงบางส่วนรั่วไหลไปถึงบุคคลผู้ไม่มีหน้าที่ได้ทราบ จะทำให้เกิดความเสียหายต่อทางราชการหรือเกียรติภูมิของประเทศหรือพันธมิตรได้ เช่น การดำเนินการเกี่ยวกับการตรากฎหมายที่สำคัญบางเรื่อง ประกาศหรือคำสั่งที่สำคัญซึ่งอยู่ในระหว่างดำเนินการ ระเบียบวาระการประชุมลับ
๔. ปกปิด ได้แก่ความลับซึ่งไม่พึงเปิดเผยให้ผู้ไม่มีหน้าที่ได้ทราบโดยสงวนไว้ให้ทราบเฉพาะบุคคลที่มีหน้าที่ต้องทราบ เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติราชการเท่านั้น เช่น เอกสารของทางราชการบางเรื่อง ที่มุ่งหมายสำหรับใช้ในทางราชการเท่านั้น เช่น คำบรรยาย คำรายงาน หรือความเห็น ฯลฯ
ความลับของทางการคณะสงฆ์
คณะสงฆ์มิได้กำหนดชนิดหรือชั้นแห่งความลับเหมือนทางราชการ
แต่คงใช้ลักษณะแห่งความลับดังเช่นทางราชการ โดยอนุโลม ในข้อ ๔๓ แห่งกฎมหาเถรสมาคม
ฉบับที่ ๕ (พ.ศ. ๒๕๐๖) ว่าด้วยการแต่งตั้งถอดถอนพระสังฆาธิการ ได้บัญญัติไว้กว้างๆ
ว่า “ข้อ ๔๓
พระสังฆาธิการต้องรักษาข้อความอันเกี่ยวกับการคณะสงฆ์ที่ยังไม่ควรเปิดเผย”[9] และบัญญัติไว้ในข้อ ๖๒
และข้อ ๖๔ แห่งกฎนี้ ดังนั้น จึงยืนยันได้ชัดว่าคณะสงฆ์คงอนุโลมชนิดแห่งความลับตามลักษณะแห่งความลับของทางราชการ
[1] ดูประกฎหมายอาญา วิ. มาตรา ๒๒๖ เทียบเคียง
[2] ดูประมวลกฎหมายอาญา วิ.มาตรา ๒๒๖ ประกอบ
[3] ดูประมวลกฎหมายอาญา วิ. มาตรา ๒๓๒-๒๓๖ ประกอบ
[4] ดูประมวลกฎหมายอาญา วิ. มาตรา ๒๓๘-๒๔๐ เทียบเคียง
[5] ดูประมวลกฎหมายอาญา วิ. มาตรา ๒๔๑-๒๔๒ เทียบเคียง
[6] ดูประมวลกฎหมายอาญา วิ. มาตรา ๒๔๓ เทียบเคียง
[7] ดูประมวลกฎหมายแพ่ง วิ. มาตรา ๙๒ และประมวลกฎหมายอาญา วิ. มตรา ๒๓๑ เทียบเคียง
[8] ดูประมวลกฎหมายอาญา มาตราทั้ง ๓ ประกอบ
[9] ปัจจุบันเป็นข้อ ๕๑ แห่งกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ ๒๔ (พ.ศ. ๒๕๔๑) ว่าด้วยการแต่งตั้งถอดถดนพระสังฆาธิการ
Views: 13