หมวด ๕ วิธีบังคับตามคำวินิจฉัยลงนิคหกรรม

หมวด ๕

วิธีบังคับตามคำวินิจฉัยลงนิคหกรรม

——————–

     วิธีบังคับจำเลยหรือผู้ถูกสั่งลงนิคหกรรม ให้ปฏิบัติตามคำวินิจฉัยหรือคำสั่งลงนิคหกรรมนั้น ชื่อว่า “วิธีบังคับตามคำวินิจฉัยลงนิคหกรรม” นับเป็นวิธีที่สำคัญยิ่งเพราะการวินิจฉัยลงนิคหกรรมหรือคำสั่งลงนิคหกรรมใด ๆ ถึงจำเลยหรือพระภิกษุผู้ถูกสั่งลงนิคหกรรม จะสั่งลงชื่อรับทราบแล้ว หรือถือว่าได้รับทราบแล้ว ก็เป็นเพียงแต่บังคับให้รับทราบเท่านั้น คำวินิจฉัยหรือคำสั่งนั้น ย่อมจะไม่เกิดประโยชน์อันใด เว้นแต่กรณีที่ผู้รับทราบแล้วยอมปฏิบัติตามทันที แต่ถ้าเป็นกรณีที่ผู้นั้นไม่ยอมปฏิบัติตาม ต้องบังคับให้ปฏิบัติตาม จะละเว้นการบังคับมิได้ การปฏิบัตินั้น ได้มีวิธีบังคับตามคำวินิจฉัยลงนิคหกรรม ก็เพื่อบังคับให้ปฏิบัติตาม โดยวิธีบังคับดังกล่าวนี้ นับเป็นอุปกรณ์การวินิจฉัยลงนิคหกรรม เป็นวิธีที่จะทำให้คำวินิจฉัยหรือคำสั่งลงโทษซึ่งถึงที่สุดแล้ว มีผลสมบูรณ์ เช่นเดียวกับคดีทางราชอาณาจักร ในทางราชอาณาจักนั้น ศาลยุติธรรมตัดสินคดีใด เมื่อถึงที่สุดแล้ว ก็มีเจ้าหน้าที่บังคับคดีให้เป็นไปตามคำวินิจฉัย เพราะความสำคัญของวิธีบังคับตามคำวินิจฉัยนี้ จึงมีบทบัญญัติข้อ ๖๑-๖๒ เป็นหลักปฏิบัติ ซึ่งพอกำหนดได้เป็น ๒ คือ

     ๑. วิธีบังคับตามปกติ

     ๒. วิธีบังคับในกรณพิเศษ

    ๑. วิธีบังคับตามปกติ

     ตามบทบัญญัติข้อ ๖๑ ได้กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการบังคับให้ปฏิบัติตามคำวินิจฉัยหรือคำสั่งโดยปกติ กล่าวคือให้รับนิคหกรรมตามคำวินิจฉัยหรือคำสั่ง เช่นคำวินิจฉัยให้ลงนิคหกรรมเป็นอาบัติปาราชิก ก็บังคับให้สึก คำวินิจฉัยให้ลงนิคหกรรมเป็นอาบัติสังฆาทิเสส ก็บังคับให้กระทำคืนด้วยวุฏฐานวิธี คำวินิจฉัยให้ลงนิคหกรรมเป็นลหุกาบัติกองใดกองหนึ่ง ก็บังคับให้ทำคืนด้วยเทศนาวิธี เรียกว่า “วิธีบังคับตามปกติ” ถ้าไม่ยอมปฏิบัติตาม จึงบังคับตามวิธีบังคับในกรณีพิเศษต่อไป ในการปฏิบัติตามวิธีบังคับตามปกตินี้ มีข้อควรศึกษา ๒ คือ คำวินิจฉัยหรือคำสั่งถึงที่สุด ๑ ผู้บังคับและวิธีบังคับ ๑

     ๑. คำวินิจฉัยหรือคำสั่งถึงที่สุด เก็บความจากที่ต่างกัน

           (๑) คำสั่งลงนิคหกรรมตามข้อ ๑๓ (๑) ข้อ ๑๕ (๑) ข้อ ๑๖ (๑)

           (๒) คำสั่งลงนิคหกรรมตามข้อ ๑๖ (๒) ข.

           (๓) คำวินิจฉัยชั้นต้น

           (๔) คำวินิจฉัยชั้นอุทธรณ์

           (๕) คำวินิจฉัยชั้นฎีกา

          ใน (๑) ได้แก่คำสั่งของผู้พิจารณา ซึ่งสั่งลงนิคหกรรมตามคำสารภาพโดยปราศจากเงื่อนไข ตามความในข้อ ๑๓ (๑)  ข้อ ๑๕ (๑) และ ข้อ ๑๖ (๑) ทั้ง ๓ กรณีนี้ ให้คำสั่งนั้นเป็นอันถึงที่สุดทันที่ในทุกกรณี พระภิกษุผู้ถูกสั่งลงนิคหกรรมในกรณีนั้น ๆ จะอุทธรณ์มิได้ เมื่อผู้พิจารณาสั่งลงนิคหกรรมแล้ว ต้องดำเนินการบังคับตามคำสั่งทันที มิใช่สั่งลอย ๆ

          ใน (๒) ได้แก่คำสั่งของผู้พิจารณาซึ่งสั่งลงนิคหกรรมแก่พระภิกษุ ในกรณีที่ตนได้พบเห็นการกระทำความผิดโดยประจักษ์ชัด ตามข้อ ๑๖ (๒) ข. เฉพาะโทษลหุกาบัติ ให้คำสั่งนั้นถึงที่สุดทันทีในทุกกรณี แต่คำสั่งลงนิคหกรรมโทษครุกาบัติ ให้สิทธิอุทธรณ์ ถ้ามิได้อุทธรณ์ภายใน ๓๐ วัน คำสั่งนั้นย่อมถึงที่สุดเช่นเดียวกัน

          ตาม (๑) และ (๒) นั้น ในกรณีที่ผู้พิจารณาเป็นเจ้าสังกัด เมื่อคำสั่งถึงที่สุดแล้วให้ใช้อำนาจผู้บังคับบัญชาใกล้ชิดบังคับให้ปฏิบัติตามคำวินิจฉัยนั้น แต่ในกรณีที่ผู้พิจารณาเป็นเจ้าของเขต ให้แจ้งผู้บังคับบัญชาใกล้ชิดบังคับตามคำวินิจฉัย เว้นแต่พระภิกษุรูปนั้นเป็นผู้ว่าง่าย ยอมรับนิคหกรรมทันที ก็จัดให้รับนิคหกรรมตามคำสั่งนั้นและแจ้งให้ผู้บังคับบัญชาใกล้ชิดของพระภิกษุนั้นทราบเป็นการด่วน

          ใน (๓) ได้แก่คำวินิจฉัยชั้นต้น ซึ่งถึงที่สุดตามความในข้อ ๔๐ กล่าวคือโจทก์จำเลยมิได้อุทธรณ์ หรืออุทธรณ์แต่ชั้นอุทธรณ์สั่งยุติการพิจารณา

          ใน (๔) ได้แก่คำวินิจฉัยชั้นอุทธรณ์ ซึ่งไม่มีผู้ฎีกา หรือฎีกาแต่ถูกวินิจฉัยยกเพราะเป็นฎีกาต้องห้ามหรือเพราะเป็นฎีกาขาดอายุความ หรือสั่งยุติการพิจารณา

          ใน (๕) ได้แก่คำวินิจฉัยชั้นฎีกา ซึ่งถึงที่สุดทันทีที่คู่กรณีรับทราบหรือถือว่าคู่กรณีได้รับทราบแล้ว

     ในกรณีใด ๆ ก็ตาม ถ้าคำวินิจฉัยถึงที่สุด ให้ดำเนินการบังคับตามคำวินิจฉัยนั้น อย่าปล่อยทิ้งเฉย

     ๒. ผู้บังคับและวิธีบังคับ

          (๑) คณะผู้พิจารณาซึ่งอ่านคำวินิจฉัย มีหน้าที่

                (ก) อ่านคำวินิจฉัยและให้คู่กรณีลงนามรับทราบ

                (ข) แจ้งให้ผู้บังคับบัญชาใกล้ชิดเพื่อบังคับตามคำวินิจฉัย

           (๒) ผู้พิจารณา

                (ก) ถ้าเป็นเจ้าสังกัดให้บังคับตามคำวินิจฉัยลงนิคหกรรมเอง

                (ข) ถ้าเป็นเจ้าของเขตจัดการให้รับนิคหกรรมตามที่พระภิกษุรูปนั้นยอมรับตามคำสั่งลงนิคหกรรม หรือแจ้งให้ผู้บังคับบัญชาใกล้ชิดเพื่อบังคับตามคำวินิจฉัย

           (๓) ผู้บังคับบัญชาใกล้ชิด

                (ก) บังคับตามคำวินิจฉัยลงนิคหกรรม

                (ข) รายงานให้ผู้แจ้งให้รับทราบผลแห่งการบังคับนั้น

          ใน (๑) ได้แก่คณะผู้พิจารณาชั้นใด ๆ ซึ่งเป็นผู้อ่านคำวินิจฉัยตามความในข้อ ๓๙ และหรือข้ออื่นซึ่งใช้ข้อ ๓๙ โดยอนุโลม เมื่อการอื่นคำวินิจฉัยซึ่งถึงที่สุดแล้ว ต้องแจ้งผลการวินิจฉัยลงนิคหกรรมแก่ผู้บังคับบัญชาใกล้ชิดของจำเลยรูปนั้น เพื่อให้บังคับให้จำเลยปฏิบัติตามคำวินิจฉัย อ่านแล้วจะเฉยเสียมิได้ ในกรณีที่ผู้อ่านเป็นคณะผู้พิจารณาชั้นต้นอ่านคำวินิจฉัยชั้นฎีกา อ่านแล้วต้องแจ้งให้ผู้บังคับบัญชาใกล้ชิดของจำเลย เพื่อบังคับให้จำเลยรับนิคหกรรม และรอรับรายงานจากผู้บังคับบัญชาใกล้ชิดของจำเลย ซึ่งจะรายงานผลการบังคับตามคำวินิจฉัยว่าเป็นประการใด แล้วต้องรอรายงานต่อผู้บังคับบัญชาตามลำดับจนถึงมหาเถรสมาคมในฐานะคณะผู้พิจารณาชั้นฎีกาทราบ

          ใน (๒) ได้แก่กรณีที่คณะผู้พิจารณาซึ่งสั่งลงนิคหกรรม ถ้าตนเองเป็นผู้พิจารณาเจ้าสังกัด กล่าวคือเป็นผู้บังคับบัญชาใกล้ชิด ให้ใช้อำนาจผู้บังคับบัญชาใกล้ชิดนั้นบังคับให้พระภิกษุรูปนั้นปฏิบัติตามคำสั่งลงนิคหกรรม อย่าสั่งแล้วเฉยเสีย ส่วนในกรณีที่ผู้พิจารณาเป็นเจ้าของเขต ให้แจ้งแก่ผู้บังคับบัญชาใกล้ชิดของพระภิกษุรูปนั้น  เพื่อให้บังคับพระภิกษุรูปนั้นปฏิบัติตามคำสั่งลงนิคหกรรม สั่งลงนิคหกรรมแล้วเฉยเสียมิได้แต่ถ้าพระภิกษุรูปนั้นยอมปฏิบัติตามคำสั่งลงนิคหกรรมโดยดี ก็จัดให้รับนิคหกรรมนั้นตามความผิดได้ แล้วแจ้งให้ผู้บังคับบัญชาใกล้ชิดทราบเป็นการด่วน

           ใน (๓) ได้แก่การปฏิบัติงานของผู้ปกครองของจำเลยหรือของพระภิกษุผู้ถูกสั่งลงนิคหกรรม จะต้องบังคับให้จำเลยหรือพระภิกษุรูปนั้น ปฏิบัติตามคำวินิจฉัย เช่น ให้สึกหรือให้ทำคืนด้วยวุฏฐานคามินีวิธี แนวปฏิบัตินั้น ให้ขออารักขาเจ้าหน้าที่ฝ่ายราชอาณาจักรเพื่อเตรียมการ เพราะบางกรณีอาจเกิดปัญหาต้องบังคับโดยวิธีบังคับพิเศษ ถ้าเป็นกรณีนิคหกรรมให้สึก ก็ให้จัดการให้สึกภายในกำหนด ถ้าเป็นนิคหกรรมโทษอาบัติสังฆาทิเสส ต้องบังคับให้ประพฤติวุฏฐานคามินีวิธี ถ้าเป็นกรณีอาบัติเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็บังคับให้ทำคืนด้วยเทสนาคามินีวิธี จำเลยหรือพระภิกษุรูปนั้น จะประพฤติตามโดยดีหรือไม่ก็ตาม ให้รายงานไปยังผู้แจ้งโดยด่วน ถ้าในกรณีนิคหกรรมไม่ถึงให้สึก จำเลยหรือพระภิกษุนั้นไม่ยอมปฏิบัติตาม ให้รายงานด่วนเพื่อรายงานตามลำดับจนถึงมหาเถรสมาคม เพื่อมหาเถรสมาคมได้วินิจฉัยให้สละเพศตามรายงานตามความในมาตรา ๒๗ แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ ๒๕๐๕ โดยกำหนดให้สึกภายใน ๗ วัน และให้จัดการบังคับในกรณีพิเศษอีกชั้นหนึ่ง

    ๒. การบังคับในกรณีพิเศษ

    ในกรณีที่ดำเนินการบังคับตามคำวินิจฉัยตามปกติแล้ว แต่จำเลยหรือผู้ถูกสั่งลงนิคหกรรมไม่ยอมรับนิคหกรรมตามคำวินิจฉัยหรือคำสั่ง จะยุติการบังคับเพียงแค่นั้นมิได้จะต้องดำเนินการบังคับให้รับนิคหกรรมเป็นกรณีพิเศษ กล่าวคือ ต้องบังคับให้รับโทษทางอาญาฐานฝ่าฝืนพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ มาตรา ๒๖ และมาตรา ๒๗ วรรค ๒ การบังคับในกรณีพิเศษนั้น ได้มีบทบัญญัติข้อ ๖๒ ซึ่งแยกพิจารณาเป็น ๓ หลักคือ หลักเกณฑ์ การปฏิบัติ และกำหนดโทษทางอาญา

           ๑. หลักเกณฑ์ อย่างใดอย่างหนึ่ง

                (๑) จำเลยหรือผู้ถูกสั่งลงนิคหกรรมไม่ยอมรับนิคหกรรมให้สึก

                (๒) จำเลยหรือผู้ถูกสั่งลงนิคหกรรมไม่ถึงให้สึก แต่ไม่ยอมรับนิคหกรรม เมื่อมหาเถรสมาคมวินิจฉัยและมีคำสั่งให้สละสมณเพศ

           ใน ๑. ได้แก่หลักเกณฑ์ที่จะต้องบังคับให้รับโทษทางอาญา ซึ่งเป็นการบังคับโดยกฎหมายแผ่นดิน และโดยเจ้าหน้าที่ทางราชอาณาจักรโดยกำหนดหลักเกณฑ์ไว้ ๒ คือ

           ใน (๑) ได้แก่กรณีที่จำเลยหรือผู้ถูกสั่งลงนิคหกรรมไม่ยอมรับนิคหกรรมให้สึก เช่น กรณีที่รับสารภาพโดยปราศจากเงื่อนไข ตามความในข้อ ๑๓ (๑) ๑๕ (๑) และ ๑๖ (๑) หรือข้อ ๑๖ (๒) ข. โทษครุกาบัติซึ่งไม่อุทธรณ์ภายใน ๓๐ วัน หรือกรณีที่คำวินิจฉัยใด ๆ ซึ่งถึงที่สุดแล้ว แต่จำเลยหรือพระภิกษุรูปนั้น ไม่ยอมสึกภายในยี่สิบสี่ชั่วโมง เป็นการฝ่าฝืนมาตรา ๒๖ แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ ซึ่งมีความว่า

           “มาตรา ๒๖ พระภิกษุรูปใดล่วงละเมิดพระธรรมวินัยและได้มีคำวินิจฉัยถึงที่สุดให้ได้รับนิคหกรรมให้สึก ต้องสึกภายในยี่สิบสี่ชั่วโมง โดยนับแต่เวลาที่ได้รับทราบคำวินิจฉัยนั้น”

          ใน (๒) ได้แก่กรณีที่จำเลยหรือผู้ถูกสั่งลงนิคหกรรมไม่ถึงให้สึก เมื่อผู้บังคับบัญชาใกล้ชิดบังคับตามปกติ แต่ผู้ถูกบังคับไม่ยอมรับนิคหกรรมนั้น เช่น จำเลยถูกวินิจฉัยหรือสั่งลงนิคหกรรมโทษครุกาบัติหรือลหุกาบัติ ซึ่งจะต้องบังคับให้จำเลยทำคืนโดยวุฏฐานคามินีวิธีหรือเทศนาคามินีวิธีอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่จะบังคับอย่างใดจำเลยก็ไม่ยอมรับนิคหกรรมคือไม่ยอมทำคืนอาบัตินั้น จึงรายงานตามลำดับจนถึงมหาเถรสมาคม เมื่อมหาเถรสมาคมวินิจฉัยและมีคำสั่งให้สละสมณเพศ และเมื่อรับทราบคำวินิจฉัยแล้วมิได้สึกภายใน ๗ วัน การประพฤติเช่นนี้เป็นการฝ่าฝืนมาตรา ๒๗ วรรค ๒ แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ ซึ่งมีความว่า

           “มาตรา ๒๗ พระภิกษุรูปใดต้องคำวินิจฉัยให้รับนิคหกรรมไม่ถึงให้สึก ไม่ยอมรับนิคหกรรมนั้น หรือประพฤติล่วงละเมิดพระธรรมวินัยเป็นอาจิณ หรือไม่สังกัดอยู่ในวัดใดวัดหนึ่ง กับทั้งไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง มหาเถรสมาคมมีอำนาจวินิจฉัยและมีคำสั่งให้พระภิกษุรูปนั้นสละสมณเพศเสียได้

         พระภิกษุผู้ต้องคำวินิจฉัยให้สละสมณะเพศตามความในวรรคก่อน ต้องสึกภายใน ๗ วัน นับแต่วันที่ได้รับทราบคำวินิจฉัยนั้น”

          ๒. การปฏิบัติ

                (๑)  ให้ผู้บังคับบัญชาใกล้ชิดขออารักขาต่อเจ้าหน้าที่ฝ่ายราชอาณาจักร

               (๒) เจ้าหน้าที่ฝ่ายราชอาณาจักรดำเนินการตามกฎหมายแผ่นดิน

           ใน ๒. ได้แก่กรณีที่พระภิกษุฝ่าฝืน มาตรา ๒๖ หรือ มาตรา ๒๗ วรรค ๒ ให้ผู้บังคับบัญชาใกล้ชิดขออารักขาต่อหน้าที่ฝ่ายราชอาณาจักร เพื่อจะได้ดำเนินการตามกฎหมายต่อไป ผู้นั้นจะต้องรับโทษอาญาในเมื่อศาลยุติธรรมพิพากษาแล้ว

          ๓. กำหนดโทษทางอาญา

               (๑) โทษอาญาตามมาตรา ๔๒ แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕

                (๒) ฐานละเมิดมาตรา ๒๖ มาตรา ๒๗ วรรค ๒ แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕

                (๓) กำหนดระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน

           ใน ๓. ได้แก่การกำหนดโทษทางอาญาไว้ ช่วยบังคับให้ผู้ละเมิดพระธรรมวินัยซึ่งได้วินิจฉัยหรือคำสั่งถึงที่สุดแล้ว จะได้ยอมรับนิคหกรรมอันเป็นโทษทางพระวินัยแต่โดยดี นับว่าเป็นบทบัญญัติซึ่งป็นอุปกรณ์ต่อการลงนิคหกรรมเป็นอย่างดี โดยกำหนดไว้ในมาตรา ๔๒ แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.๒๕๐๕ เป็นหลักเกณฑ์ลงโทษทางอาญาว่า

           “มาตรา ๔๒ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๒๖ มาตรา ๒๗ วรรคสอง หรือมาตรา ๒๘ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน”