บันทึกสรุปคำบรรยาย[1]
กฎมหาเถรสมาคมฉบับที่ ๑๑
โดย… พระธรรมปริยัติโสภณ เจ้าคณะภาค ๑๐
——————-
อันนักปกครองทั้งทางราชอาณาจักรและทางพุทธจักร จัดการปกครองหมู่คณะในอาณาจักรนั้น ๆ ก็เพื่อบำบัดทุกข์บำรุงสุขเป็นหลักสำคัญ มิใช่เพื่อประโยชน์อย่างอื่น แต่จะให้บรรลุผลสมมโนปณิธานได้นั้น ต้องใช้อุปกรณ์พิเศษ ๒ อย่างคือ.-
(๑) นิคหะ การปราบปรามผู้ควรปราบปราม
(๒) ปัคคหะ การยกย่องผู้ควรยกย่อง
ในทางราชอาณาจักรนั้น ได้ตราประมวลกฎหมายอาญาขึ้นเพื่อปราบปรามผู้ควรปราบปราม กล่าวคือเพื่อใช้บำบัดทุกข์ซึ่งเกิดขึ้นเพราะการเบียดเบียนข่มเหงตลอดจนฆ่าตีกันและกัน “นี่คือหลักนิคหะ” และได้ตราประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เพื่อรับรองสิทธิมนุษยชนในทุกด้าน กล่าวคือเพื่อบำรุงสุข “นี่คือหลักปัคคหะ” แต่กฎหมายดังกล่าวเป็นฝ่ายสารบัญญัติ มีฝ่ายเดียวเท่านี้ย่อมไม่อำนวยผล จึงได้ตราประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาและประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ซึ่งเป็นฝ่ายวิธีสบัญญัติ เพื่อเป็นอุปกรณ์ปราบปรามผู้กระทำความผิดกฎหมายอาญา และเป็นอุปกรณ์รับรองสิทธิมนุษยชนตามกฎหมายแพ่ง นี้เป็นหลักการปกครองราชอาณาจักส่วนหนึ่งซึ่งจะขาดเสียมิได้เลย
ในทางพุทธจักรนั้น พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติสิกขาบท กำหนดโทษแก่ผู้ล่วงละเมิดสิกขาบทนั้น ๆ ก็คือ ทรงบัญญัติโทษอาญาซึ่งเรียกว่า “พุทธอาณา” อันได้แก่ “หลักนิคหะ” ทรงบัญญัติเพื่อปราบปรามผู้ควรปราบปรามซึ่งตรงกับคำว่า “บำบัดทุกข์” เป็นฝ่ายสารบัญญัติและทรงบัญญัติหลัการปฏิบัติอื่นอันเป็นส่วนแห่งการยกย่อง เช่น ทรงตั้งอัครสาวก ทรงมอบให้พระสงฆ์เป็นใหญ่ในสังฆกรรม อันเป็นส่วนปัคคหะ การที่ทรงบัญญัติสิกขาบทอันเป็นส่วนนิคหะนั้น แม้จะทรงบัญญัติวิธีการลงโทษแก่ผู้ล่วงละเมิดไว้ก็ตาม แต่เพราะราชอาณาจักรเป็นฐานรองรับพุทธจักร จึงอาศัยอำนาจแห่งพระราชบัญญัติตรากฎมหาเถรสมาคมขึ้น เพื่อเป็นหลักเกณฑ์และวิธีการลงโทษแก่ผู้ล่วงละเมิดพระวินัยอีกชั้นหนึ่ง มิใช่บัญญัติโทษขึ้นใหม่ เป็นเพียงบัญญัติวิธีการลงโทษซึ่งอาศัยกฎหมายแผ่นดินเท่านั้น เหมือนกับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญานั่นเอง
การที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติสิกขาบทนั้น โดยพุทธประสงค์เพื่ออำนาจแห่งประโยชน์ ๑๐ ประการคือ.-
(๑) เพื่อความยอมรับแห่งสงฆ์
(๒) เพื่อความอยู่ผาสุกแห่งสงฆ์
(๓) เพื่อข่มบุคคลผู้เก้อยาก
(๔) เพื่อความผาสุกแห่งพระภิกษุผู้มีศีลเป็นที่รัก
(๕) เพื่อกำจัดอาสวะทั้งหลายที่จะเกิดขึ้นในปัจจุบัน
(๖) เพื่อป้องกันอาสวะทั้งหลายที่จักเกิดขึ้นในอนาคต
(๗) เพื่อให้เกิดความเลื่อมใสแก่เหล่าชนผู้ยังไม่เลื่อมใส
(๘) เพื่อให้เกิดความเลื่อมใสยิ่ง ๆ ขึ้นแก่เหล่าชนผู้เลื่อมใสแล้ว
(๙) เพื่อความตั้งมั่นแห่งพระสัทธรรม
(๑๐) เพื่ออนุเคราะห์แก่พระวินัย
ในการตรากฎมหาเถรสมาคมฉบับนี้นั้น แม้มหาเถรสมาคมจะมิได้กำหนดนโยบายในการตราไว้เลยก็ตาม แต่เมื่อจะว่าโดยนโยบายอันเป็นเหตุ พอสรุปได้ ๓ คือ.-
(๑) เพื่อเป็นอุปกรณ์กำจัดพระภิกษุผู้ทุศีล
(๒) เพื่อเป็นอุปกรณ์ป้องกันและชำระมลทินในสังฆมณฑล
(๓) เพื่อเป็นอุปกรณ์การปกครองคณะสงฆ์
ทั้ง ๓ อย่างนี้ เป็นส่วนมูลเหตุอันจะให้เกิดผล แต่เมื่อว่าโดยส่วนผล อันคล้อยตามพระพุทธประสงค์ทั้ง ๑๐ ประการนั้น พอสรุปได้ ๓ คือ.-
(๑) เพื่อความบริสุทธิ์ผุดผ่องแห่งสังฆมณฑล (๑-๖)
(๒) เพื่อเสริมสร้างกำลังให้แก่สังฆมณฑล (๗-๘)
(๓) เพื่อความตั้งมั่นแห่งพุทธจักร (๙-๑๐)
หลักการ
ในการตรากฎมหาเถรสมาคมฉบับนี้ มีหลักการสำคัญ ๒ คือ
(๑) ยกเลิกความในข้อ ๓ (๗) ข.แห่งกฎ ๒ และยกเลิกกฎ ๙
(๒) ตราเป็นกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ ๑๑ (พ.ศ.๒๕๒๑) ว่าด้วยการลงนิคหกรรม
เหตุผล
เหตุผลที่ต้องตรากฎมหาเถรสมาคมฉบับนี้ แยกเป็น ๓ คือ
(๑) เพราะความในข้อ ๓ (๗) ข. แห่งกฎ ๒ ได้บัญญัติไว้ในกฎ ๑๑ แล้ว
(๒) เพราะกฎ ๙ ให้กำหนดวิธีปฏิบัติเป็นระเบียบมหาเถรสมาคม และให้อำนาจมหาเถรสมาคมในการพิจารณาวินิจฉัยอธิกรณ์ซึ่งค้างปฏิบัติอยู่ก่อน วันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๐๖
(๓) บัดนี้ สมควรยกเลิกความดังกล่าวใน (๑) และ (๒) แล้วตราขึ้นเป็นกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ ๑๑
คำปรารภ
๑. อำนาจในการตรา อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๘ และมาตรา ๒๕ แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.๒๕๐๕ เป็นหลักในการตรา
๒. ข้อ ๑-๒ บอกชื่อกฎและกำหนดวันใช้บังคับ
(๑) ชื่อว่ากฎมหาเถรสมาคมฉบับที่ ๑๑ (พ.ศ.๒๕๒๑) ว่าด้วยการลงนิคหกรรม เรียกย่อว่า “กฎ ๑๑”
(๒) ใช้บังคับถัดจากวันประกาศในแถลงการณ์คณะสงฆ์เป็นต้นไป (๒๖ ธ.ค.๒๑)
(๓) ข้อ ๓ กำหนดให้ยกเลิก
(๑) ความในข้อ ๓ (๗) ข.แห่งกฎ ๒ และความในกฎ ๙
(๒) ข้อขังคับ ระเบียบ หรือคำสั่งเกี่ยวกับคณะสงฆ์
ก. ในส่วนที่บัญญัติไว้ในกฎฉบับนี้
ข. ซึ่งขัดหรือแย้งกับกฎฉบับนี้
- ลักษณะ ๑ บทนิยาม
- ลักษณะ ๒ ผู้มีอำนาจลงนิคหกรรม
- ลักษณะ ๓ การลงนิคหกรรม
[1] บันทึกเมื่อครั้งเป็นพระศรีสุธรรมมุนี พ.ศ.๒๕๒๒
Hits: 10