องค์กรปกครองคณะสงฆ์และการคณะสงฆ์

เอกสารประกอบคำบรรยาย

เรื่อง องค์กรปกครองคณะสงฆ์และการคณะสงฆ์

ในที่ประชุมเจ้าคณะเขต รองเจ้าคณะเขต เจ้าคณะแขวง รองเจ้าคณะแขวง และเลขานุการเจ้าคณะเขต สังกัดกรุงเทพมหานคร

ณ พระอุโบสถวัดมหาธาตุ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร

๑๙ มิถุนายน ๒๕๕๑
โดย

พระเทพปริยัติสุธี วัดโมลีโลกยาราม

———————-

องค์กรปกครองคณะสงฆ์

     คำว่า “องค์กร” เป็นคำนาม ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตสถาน ให้ความหมายว่า “ส่วนประกอบย่อยของหน่วยใหญ่ ทำน้าที่สัมพันธ์กันหรือขึ้นต่อกันและกัน”

     การปกครองคณะสงฆ์หรือการดำเนินการคณะสงฆ์ในปัจจุบัน มีองค์สกลมหาสังฆปริณายก คือสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ทรงเป็นประมุขสงฆ์และทรงบัญชาการคณะสงฆ์สูงสุด มีหน่วยงานปกครองคณะสงฆ์สูงสุดหรือศูนย์รวมอำนาจการปกครองคือ มหาเถรสมาคม จากนั้นมีหน่วยงานย่อยลดหลั่นกันตามสายบังคับบัญชาและมีระเบียบการทั้งส่วนกลางส่วนภูมิภาคและส่วนวัด เพราะเหตุนี้ หน่วยงานคณะสงฆ์จึงจัดเป็นองค์การปกครองคณะสงฆ์โดยแท้

     ก็แล องค์กรนั้น ยังมีส่วนประกอบสำคัญอีกหลายประการ อาทิ ผู้บังคับบัญชารับผิดชอบ การ ระเบียบการ อุปกรณ์และอื่น ๆ เฉพาะองค์กรปกครองคณะสงฆ์มีส่วนประกอบดังกล่าวอย่างพอเหมาะโดยได้จัดไว้อย่างเป็นระเบียบ เพราะมีพระราชบัญญัติหรือกฏหมายซึ่งทางราชอาณาจักรถวายเป็นหลักพระราชบัญญัติที่ให้อำนาจดำเนินการเช่นว่านี้ มีมาแล้ว ๓ ฉบับ และตราขึ้นเพื่อแก้ไขเพิ่มเติมฉบับเดิมให้เหมาะสมยิ่งขึ้นอีก ๑ ฉบับ คือ

           ๑.   พระราชบัญญัติลักษณะปกครองคณะสงฆ์รัตนโกสินทรสก ๑๒๑

           ๒.   พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พุทธศักราช ๒๔๘๔

           ๓.   พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕

           ๔.   พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๕

     เรื่ององค์กรปกครองคณะสงฆ์ตามพระราชบัญญัติดังว่ามานี้ จะยกกล่าวตามลำดับเฉพาะผู้บัญชาการองค์กรและผู้บังคับบัญชารับผิดชอบเท่านั้น

องค์กรตามพระราชบัญญัติฉบับที่ ๑

     องค์กรตามพระราชบัญญัติลักษณะปกครองคณะสงฆ์รัตนโกสินทรศก ๑๒๑ นั้น เป็นองค์กรที่มีรูปแบบคล้ายกับการปกครองราชอาณาจักรแบบราชาธิปไตย ดังนี้.

     ๑.   สกลมหาสังฆปริณายก.- ได้แก่องค์ประมุขสงฆ์หรือผู้บัญชาการคณะสงฆ์สูงสุด คือ สมเด็จพระสังฆราช แยกได้เป็น ๓ ระยะ คือ.

           ๑)   ระยะแรก เมื่อทรงตราพระราชบัญญัติ ไม่มีสมเด็จพระสังฆราช พระมหากษัตริย์ ทรงบัญชาการทางเสนาบดีกระทรวงธรรมการ

           ๒)   ระยะกลาง เมื่อมีสมเด็จพระมหาสมณเจ้าแล้ว โปรดให้บัญชาการคณะสงฆ์ได้ทั่วทั้งสังฆมณฑล และทรงบัญชาการคณะสงฆ์โดยลำพังพระองค์

           ๓)   ระยะหลัง สมเด็จพระสังฆราช ทรงบัญชาการคณะสงฆ์โดยทรงปรึกษามหาเถรสมาคมและมีผู้บัญชาการคณะสงฆ์แทนองค์สมเด็จพระสังฆราช

     ๒.   มหาเถรสมาคม เป็นองค์กรที่ทรงปรึกษาในการพระศาสนาและการปกครองบำรุงสังฆมณฑล มิใช่องค์กรปกครองคณะสงฆ์ องค์ประกอบของมหาเถรสมาคม กำหนดโดยตำแหน่ง คือ.  

                ๑)   สมเด็จเจ้าคณะใหญ่ ๔ ตำแหน่ง

              ๒)  พระราชาคณะเจ้าคณะรอง ๔ ตำแหน่ง

     ในระยะแรกและระยะกลาง มหาเถรสมาคมมิได้มีประธานกรรมการและมิได้มีการประชุมตามพระราชบัญญัติ แต่ในระยะหลัง คงมีประธานกรรมการและมีการประชุมสมเป็นองค์กรที่ทรงปรึกษาโดยชัดแจ้ง

     ๓.   องค์กรปกครองคณะสงฆ์.- ได้แก่เขตปกครองคณะสงฆ์ แบ่งเป็น ๔ ชัน คือ.

          ๑)   คณะใหญ่ ๔ คณะ คือ คณะเหนือ คณะใต้ คณะธรรมยุติกา และคณะกลาง สมเด็จเจ้าคณะใหญ่ พระราชาคณะเจ้าคณะรอง

           ๒)   คณะมณฑล เจ้าคณะมณฑล รองเจ้าคณะมณฑล

           ๓)   คณะเมือง เจ้าคณะเมือง รองเจ้าคณะเมือง

           ๔)   คณะแขวง

              (๑) ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร พระราชาคณะผู้กำกับแขวง รองเจ้าคณะแขวง มีฐานะเท่ากับเจ้าคณะเมือง

                (๒) ในหัวเมือง    เจ้าคณะแขวง รองเจ้าคณะแขวง

     ๔.   องค์กรหลัก.-   ได้แก่ฐานของคณะสงฆ์และพระพุทธศาสนา เป็นหน่วยปฏิบัติงานโดยตรง คือ.

          วัด  เจ้าอาวาส รองเจ้าอาวาส

องค์กรตามพระราชบัญญัติฉบับที่ ๒

      องค์กรตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พุทธศักราช ๒๔๘๔ เป็นองค์กรที่มีรูปแบบคล้ายกับการปกครองราชอาณาจักรตามระบอบประชาธิปไตย ซึ่งพอกล่าวได้ดังนี้.-

     ๑.   สกลมหาสังฆปริณายก.- ได้แก่องค์ประมุขสงฆ์หรือผู้บัญชาการคณะสงฆ์สูงสุด คือสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ทรงบัญชาการคณะสงฆ์ ๓ ทางคือ

           ๑)   การบัญญัติสังฆาณัติโดยคำแนะนำของสังฆสภา

          ๒)  การบริหารการคณะสงฆ์ทางคณะสังฆมนตรี

          ๓)   การวินิจฉัยอธิกรณ์ทางคณะวินัยธร

     ๒.   องค์กรบัญญัติสังฆาณัติ

     องค์กรนี้   ทำหน้าที่ถวายคำแนะนำในการบัญญัติสังฆาณัติ เรียกว่า “สังฆสภา”     โดยประธานสภาสังฆสภาเป็นหลัก ประกอบด้วย.-

                ๑)   พระเถระชั้นธรรมขึ้นไป

               ๒)  พระคณะจารย์เอก

              ๓)   พระเปรียญเอก

     รวมไม่เกิน ๔๕ รูป ถ้ามีมากเกิน ให้เป็นสมาชิก ๑) ๒) ๓) และตามลำดับอาวุโส ให้กรมการศาสนาทำหน้าที่สำนักเลขาธิการสังฆสภา องค์กรนี้ทำหน้าที่คล้ายกับรัฐสภาของราชอาณาจักร แต่มีวงงานจำกัด ใช่จะบัญญัติสังฆาณัติได้โดยอิสระ เพราะมีมาตรา ๒๑ ล้อมกรอบไว้

     ๓.   องค์กรบริหารการคณะสงฆ์

          ๑)   องค์กรบริหารการคณะสงฆ์ในส่วนกลาง.- ได้แก่ศูนย์กลางการบริหารการคณะสงฆ์และการพระศาสนา กิจกรรมทั่วไปอยู่ในความรับผิดชอบของคณะสังฆมนตรีซึ่งมีสังฆนายกเป็นหัวหน้า แยกหน่วยงานหลักเป็น ๔ องค์การ คือ

                (๑) องค์การปกครอง

              (๒) องค์การศึกษา

              (๓) องค์การเผยแผ่

              (๔) องค์การสาธารณูปการ

     ทุกองค์การมีสังฆมนตรีว่าการรูปหนึ่ง เป็นผู้บังคับบัญชารับผิดชอบ และมีสังฆมนตรีช่วยว่าการอีก เพื่อช่วยบังคับบัญชารับผิดชอบ

     ในส่วนกลางนี้ ยังมีองค์กรณีพิเศษอีก คือ กรรมการสังฆาณัติระเบียบพระคณาธิการ (ก.ส.พ.)   ซึ่งมีสังฆนายกเป็นประธาน ก.ส.พ.

           ๒)   องค์กรบริหารการคณะสงฆ์ในส่วนภูมิภาค.-    ได้แก่องค์กรบริหารการคณะสงฆ์และการพระศาสนาในส่วนภูมิภาค มี ๔ ชั้น คือ

                (๑) ภาค  เจ้าคณะตรวจการภาค, เจ้าคณะตรวจการผู้ช่วย    

                (๒) จังหวัด กรรมการสงฆ์ประจำทั้ง ๔ องค์การ

                (๓) อำเภอ กรรมการสงฆ์ประจำทั้ง๔ องค์การ

                (๔) ตำบล เจ้าคณะตำบล

           ๓)   องค์กรหลัก.- ได้แก่ฐานของคณะสงฆ์และพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นหน่วยปฏิบัติการโดยตรงคือ.-

           วัด  เจ้าอาวาส รองเจ้าอาวาส ผู้ช่วยเจ้าอาวาส

     ๔.   องค์กรวินิจฉัยอธิกรณ์

          องค์กรนี้ ทำหน้าที่วินิจฉัยอธิกรณ์ โดยประธานคณะวินัยธรเป็นผู้รับผิดชอบในงานธุรการคณะวินัยธรทุกชั้น และเป็นหัวหน้าคณะวินัยธรชั้นฏีกาโดยตำแหน่ง มีคณะวินัยธร ๓ ชั้น คือ

           ๑) คณะวินัยธรชั้นต้น

          ๒) คณะวินัยธรชั้นอุทธรณ์

          ๓) คณะชั้นวินัยธรชั้นฎีกา

          คณะวินัยธรทุกชั้น อยู่ในสังกัดสมเด็จพระสังฆราช

องค์กรตามพระราชบัญญัติฉบับที่ ๓-๔

     องค์กรตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ และพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๓๔ ซึ่งตราขึ้นเพื่อปรับปรุงพระราชบัญญัติฉบับเดิมให้เหมาะสมยิ่งขึ้น ได้แก่องค์กรปกครองคณะสงฆ์ในปัจจุบัน ซึ่งพอกล่าวได้ดังนี้.-

     ๑.   สกลมหาสังฆปริณายก.- ได้แก่องค์ประมุขสงฆ์หรือผู้บัญชาการคณะสงฆ์สูงสุดคือ สมเด็จพระสังฆราช ซึ่งทรงบัญชาการคณะสงฆ์ทางมหาเถรสมาคม ตามอำนาจกฎหมายและพระธรรมวินัย ทั้งนี้ เพื่อความเจริญรุ่งเรืองแห่งพระศาสนา

     ๒.   องค์กรปกครองคณะสงฆ์สูงสุด

          ๑)   มหาเถรสมาคม ประกอบกด้วย

              (๑) สมเด็จพระสังฆราช ซึ่งทรงดำรงตำแหน่งประธานกรรมการโดยตำแหน่ง

                (๒) สมเด็จพระราชาคณะ เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง

                (๓) พระราชาคณะที่ทรงแต่งตั้ง (ไม่เกิน ๑๒ รูป) เป็นกรรมการ

      ลักษณะดำเนินกิจการ

              ๑)   ประธานกรรมการ เป็นผู้บังคับบัญชารับผิดชอบ

                ๒)   เลขาธิการ อธิบดีกรมการศาสนา เป็นเลขาธิการมหา
เถรสมาคมโดยตำแหน่ง

                  ๓)   สำนักเลขาธิการ กรมการศาสนาทำหน้าที่สำนักเลขาธิการ

                ๔)   องค์กรย่อย เป็นหน่วยสนองงาน

     ๒)   องค์กรย่อยในส่วนกลาง

          (๑) เขตปกครองคณะสงฆ์ ได้แก่เขตปกครองสงฆ์ใน   นิกายนั้น ๆ ดังนี้.

                ก. หน (ม) เจ้าคณะใหญ่

                ข. คณะ (ธ) เจ้าคณะใหญ่

           (๒) คณะกรรมการฝ่ายต่าง ๆ ของมหาเถรสมาคม

                ก. คณะกรรมการฝ่ายปกครอง

                ข. คณะกรรมการฝ่ายศาสนศึกษา

                ค. คณะกรรมการฝ่ายการศาสนศึกษาสงเคราะห์

                ง. คณะกรรมการฝ่ายเผยแผ่พระพุทธศาสนา

                จ. คณะกรรมการฝ่ายสาธารณูปการ

                ฉ. คณะกรรมการฝ่ายสาธารณสงเคราะห์

           (๓) คณะกรรมการและคณะอนุกรรมการอื่น ๆ

           (๔) กองงาน

                ก.   กองบาลีสนามหลวง

                ข.   กองธรรมสนามหลวง

                ค.   กองงานพระธรรมทูต

     ๓.   องค์กรปกครองคณะสงฆ์ส่วนภูมิภาค.- ได้แก่เขตปกครองคณะสงฆ์ในส่วนภูมิภาคมี ๔ ชั้น คือ

                ๑)   ภาค เจ้าคณะภาค,รองเจ้าคณะภาค

                ๒)   จังหวัด     เจ้าคณะจังหวัด รองเจ้าคณะจังหวัด

                ๓)   อำเภอ     เจ้าคณะอำเภอ รองเจ้าคณะอำเภอ

                ๔)   ตำบล เจ้าคณะตำบล รองเจ้าคณะตำบล

     ๔.   องค์กรหลัก.-   ได้แก่ฐานของคณะสงฆ์และพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นหน่วยปฏิบัติการโดยตรงคือ วัด เจ้าอาวาส รองเจ้าอาวาส ผู้ช่วยเจ้าอาวาส ไวยาวัจกร

การคณะสงฆ์

     คำว่า “การ” เป็นคำนาม ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ให้ความหมายว่า “งาน” “สิ่งหรือเรื่องที่ต้องทำ”… ถ้าอยู่หน้านาม หมายถึง “เรื่อง” “ธุระ” “หน้าที่

     ดังนั้น เมื่อรวม “การ” กับ “คณะสงฆ์” เป็น “การคณะสงฆ์” จึงหมายถึง “งานของคณะสงฆ์”  “สิ่งหรือเรื่องที่คณะสงฆ์ต้องกระทำ” “สิ่งหรือเรื่องที่คณะสงฆ์ควรกระทำ”  “หน้าที่ของคณะสงฆ์” โดยตรงได้แก่กิจการที่คณะสงฆ์ต้องกระทำหรือที่คณะสงฆ์ควรกระทำ กิจการที่เป็นงานของคณะสงฆ์ กิจการที่คณะสงฆ์ต้องถือหรือควรถือเป็นธุระหรือเป็นหน้าที่ เพราะเป็นกิจการที่มีอยู่ในองค์กรปกครองคณะสงฆ์ทุกส่วนและทุกชั้น เพราะคณะสงฆ์ต้องดำเนินกิจการคณะสงฆ์โดยแท้

     ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน มาตรา ๑๕ ตรี (๑) และ (๓) และตามข้อ ๕ แห่งกฎมหาเถรสมาคมฉบับที่ ๑๕ (พ.ศ.๒๕๓๕) ว่าด้วยระเบียบการปกครองคณะสงฆ์ กล่าวถึง “การ”  ไว้โดยชัดเจนเป็น ๖ คือ

           ๑)   การเพื่อความเรียบร้อยดีงาม (การปกครอง)

           ๒)   การศาสนศึกษา

           ๓)   การศึกษาสงเคราะห์

           ๔)   การเผยแผ่พระพุทธศาสนา

           ๕)   การสาธารณูปการ

           ๖)   การสาธารณสงเคราะห์

     กิจการคณะสงฆ์และกิจการพระศาสนา จะมีมากน้อยเพียงใดก็ตาม ว่าโดยลักษณะย่อมรวมลงในการทั้ง ๖ ทั้งสิ้น และการทั้ง ๖ นี้ เป็นงานที่มีอยู่ในองค์กรปกครองคณะสงฆ์โดยแท้ แต่วิธีดำเนินการนั้น ให้เป็นไปตามที่กำหนดในระเบียบมหาเถรสมาคม

     อนึ่ง การนิคหกรรม ตามมาตรา ๒๔-๒๕ ซึ่งแต่เดิมเรียกว่า “การวินิจฉัยอธิกรณ์” ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎมหาเถรสมาคม