ประกาศรัชกาลที่ ๕ เรื่องผู้จะบวชฯ

ประกาศรัชกาลที่ ๕

เรื่องผู้จะบวชเป็นพระภิกษุให้มีประกัน

และการตั้งอุปัชฌาย์

จุลศักราช ๑๒๓๗ (พ.ศ.๒๔๑๙)

———————–

        ด้วยพระวุฒิการบดีศรีวิสุทธิศาสนวโรประการ จางวางกรมธรรมการและบังคับการกรมสังฆการีทั้งสิ้น รับพระบรมราชโองการใส่เกล้า ฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สั่งว่า ให้หมายประกาศเป็นพระราชบัญญัติถึงเจ้าคณะใหญ่ วัดเดิม วัดขึ้นในกรุงหัวเมืองฝ่ายใต้ ฝ่ายเหนือ ให้ทราบทั่วกันว่า

        ในปัตยุบันนี้ พระสงฆ์ประพฤติการลามกต่าง ๆ ในพระศาสนา เที่ยวคบเพื่อนสูบฝิ่น กินสุรา สูบกัญชา กินเข้าค่ำ และเล่นเบี้ยเล่นโป ทำอนาจารต่าง ๆ นั้น มีชุกชุมขึ้น บางทีมีผู้มากล่าวโทษภิกษุรูปนั้น ทางทีเจ้าพนักงานและผู้ซึ่งรักษาถนนจับภิกษุรูปนั้นได้ เจ้ากระทรวงธรรมการชำระไต่ถามได้ความจริงว่า ภิกษุรูปนั้น แต่เมื่อเป็นคฤหัสถ์ เป็นผู้ร้ายเที่ยวฉกชิงวิ่งราว และเป็นคนร้ายเที่ยวฟันแทงชาวบ้าน เจ้ากระทรวงชำระเป็นสัตย์จึงทำโทษเฆี่ยนตีจองจำไว้ ผู้ที่เป็นโทษนั้นออกได้บ้าง หนีไปบ้าง ครั้นจะอยู่เป็นคฤหัสถ์ ก็กลัวเจ้าพนักงานจะจับได้จึงได้บวชเป็นภิกษุ และความชั่วของผู้นั้นก็ติดตัวมา ครั้นเป็นภิกษุแล้ว จะงดอดความชั่วไว้ไม่ได้ จึงได้เที่ยวประพฤติการลามก เสพสุราฝิ่นกินเข้าค่ำ สูบกัญชา เช่นนี้ก็มีอยู่หลายราย

        บางจำพวกที่บวชเป็นพระภิกษุ มีวิชาต่าง ๆ หาพัสดุเงินทองได้ในสมณมากแล้ว ก็สึกจากภิกษุ ปรารถนาจะหาที่พึ่งให้มั่นคง ผู้นั้นไปได้ภรรยาที่เป็นพาล พาตัวให้เล่นเบี้ยเล่นโป ทรัพย์นั้นก็วิบัติหมดสิ้นตัว จะหากินในทางฆราวาสก็ขัดสน จึงได้วนเข้าบวชเป็นพระภิกษุ คิดส่ำสมพัสดุเงินทองไว้อีกเล่า ครั้นได้มากก็กลับสึกออกจากภิกษุ ทรัพย์นั้นก็ร้อนก็หมดสิ้นไป แล้วก็หันเจ้าหาผ้ากาสาวพัตรเป็นที่พึ่งพอหากิน แต่กลับบวช ๆ สึก ๆ ถึง ๓ ครั้ง ๔ ครั้ง ๕ ครั้ง ๖ ครั้ง ก็มีบ้าง ภิกษุเหล่านี้มักจะกระทำการลามกต่าง ๆ เพราะตนขวนขวายจะหาทรัพย์มาเลี้ยงภรรยาและบุตรแต่เมื่อยังเป็นคฤหัสถ์ ไม่คิดละอายแก่บาป

        จึงทรงพระราชดำริว่า ภิกษุที่สักหน้าหลังลาย และบวช ๆ สึก ๆ ถึง ๓ ครั้ง ๔ ครั้ง ๕ ครั้ง ๖ ครั้งเหล่านี้ จะทำให้พระศาสนาเศร้าหมอง เป็นที่ติฉินแห่งชาววัดชาวบ้าน เพราะเป็นพวกพาลหากินไม่ชอบธรรม เที่ยวประพฤติอนาจารลามกต่าง ๆ ดังกล่าวมานี้

        จึงมีพระบรมราชโองการดำรัสเหนือเกล้า ฯ ว่า การที่คน ๓ จำพวกนี้ จะเข้ามาอาศัยพระศาสนาหากินได้ ก็เพราะพระสงฆ์ผู้ที่เป็นอุปัชฌายะคู่สวด เมื่อจะบวชกุลบุตรในพระศาสนานั้น หาได้พิจารณาไต่สวนสืบถามข้อความของผู้นั้นไม่ เป็นแต่ใครนิมนต์บวช ก็บวชให้ไม่เลือกหน้า ว่าคนดีคนชั่ว ไม่พิจารณาให้ละเอียด จึงได้มีพวกพาลเข้ามาบวชเป็นภิกษุเนือง ๆ เช่นนี้

        แต่นี้ต่อไป พระสงฆ์ผู้ที่เป็นอุปัชฌายะคู่สวดจะบวชกุลบุตรแล้ว จงพิจารณาให้ละเอียด ถ้าผู้ใดเป็นคนหน้าสักหลังลายและบวชมาแต่ก่อนแล้ว สึกถึง ๓ ครั้ง ห้ามมิให้บวชเป็นอันขาด และผู้ที่ต้องโทษถูกเฆี่ยนตีหลังลายแต่ยังไม่ได้บวช ครั้นอายุครบอุปสมบทหรืออายุเกินอุปสมบทก็ดี จะบวชเป็นพระภิกษุ ก็ให้บิดามารดาญาติพี่น้องหรือคนอื่น ๆ มารับรองให้มั่นคงว่า จะไม่ประพฤติความชั่วแล้ว จึงบวชให้ผู้นั้น แล้วให้เรียกประกันทานบนไว้ให้มั่นคง

        อนึ่ง พระสงฆ์อยู่วัดบางและหัวเมืองที่จะเป็นอุปัชฌายะนั้น ยังไม่มีตราตั้งแห่งเจ้าพนักงานและเจ้าคณะนั้น ก็ให้พระสงฆ์และทายกมาขอตราตั้งต่อเจ้าพนักงาน เจ้าคณะตรวจตราดูว่า จะสมควรเป็นพระอุปัชฌาย์ หรือไม่สมควร ถ้าเห็นสมควรแล้ว จะได้มีตราตั้งไปให้ตามสมควรแก่หัวเมืองที่มีวัดมากและน้อย แล้วจะได้ชี้แจงให้ผู้ที่จะเป็นอุปัชฌาย์นั้นเจ้าใจในหมายประกาศ

        ถ้าพระสงฆ์วัดบางหรือหัวเมืองที่จะเป็นอุปัชฌาย์นั้น ถ้ายังไม่มีตราตั้งแห่งเจ้าพนักงานและเจ้าคณะแล้ว ห้ามมิให้เป็นอุปัชฌาย์เป็นอันขาด พระสงฆ์รูปใดไม่มีตราตั้ง ขัดขืนไปเป็นอุปัชฌาย์ จะทำโทษอุปัชฌาย์ ไวยาวัจกรนายประกันจงหนัก และให้พระอุปัชฌาย์และเจ้าคณะอธิการ เรียกเอานายประกันทานบนคฤหัสถ์ที่จะบวชเป็นพระภิกษุไว้ให้มั่นคง แล้วทำบาญชีชื่อนายประกัน ตำบลบ้านสังกัดมูลนายเหมือนอย่างวัดหลวง มายื่นพนักงานเจ้าคณะก็ได้ จงทุกเดือนเหมือนในกรุง แต่ที่หัวเมืองไกลนั้น ให้ส่งบาญชีแต่เข้าพรรษาปีละครั้ง

        แต่วัดตามบางที่ยังไม่มีเจ้าอธิการก็ดี หรือเจ้าอธิการถึงแก่กรรมก็ดี ผู้ที่จะเป็นเจ้าอธิการขึ้นในวัดนั้นใหม่ ก็ให้ทายกและพระสงฆ์มาขอตราตั้งต่อเจ้าพนักงานเจ้าคณะ จะได้มีตราตั้งไปให้แก่พระสงฆ์รูปนั้น ถ้าพระสงฆ์รูปใดที่จะเป็นพระอธิการ ยังไม่มีตราตั้งแห่งเจ้าพนักงานเจ้าคณะแล้ว ห้ามมิให้เป็นเจ้าอธิการเป็นอันขาด ด้วยเหตุที่มักเกิดวิวาทถุ้มเถียงกัน ด้วยเรื่องกฐินและลาภอื่น ๆ อยู่เนืองๆ

        แต่ตราตั้งพระอุปัชฌาย์เจ้าอธิการนั้น ตราเสมาธรรมจักรจึงจะเป็นพระอุปัชฌาย์เจ้าอธิการได้ และพระอารามตามหัวเมือง พระสงฆ์รูปใดจะเป็นเจ้าอธิการ ก็ให้มีตราตั้งแห่งพระราชาคณะหรือพระครูในหัวเมืองนั้นทุกรูป แล้วให้เจ้าคณะเจ้าวัดเรียกประกันเจ้าอธิการวัดบางไว้ทุกอาราม แต่พระสงฆ์อันดับวัดบางนั้น ให้ทำประกันไว้กับเจ้าอธิการ ตามพระราชบัญญัติเดิม ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เป็นพระราชบัญญัติ

        ด้วยพระราชประสงค์เพื่อจะบำรงพระศาสนาให้ถวารวัฒนาการ มิให้พวกพาลเจ้ามาทำประทุษฐร้ายในพระศาสนา ให้มีพระสงฆ์แต่ที่บริสุทธิ์ บวชเอากุศลด้วยตนศรัทธาแท้ ๆ จะได้เป็นที่ไหว้บูชาสรรเสริญแห่งสัปรุษทายกทั้งปวง ถ้าพระอุปัชฌาย์คู่สวดรูปใด ไม่ฟังหมายประกาศ ยังขัดขืนบวชให้คน ๓ จำพวกที่กล่าวมานี้ เป็นพระภิกษุ มีผู้มาร้องต่อเจ้าพนักงานหรือเจ้าคณะ  และเจ้าพนักงานเจ้าคณะสืบได้ตวามก็ดี พิจารณาได้ความจริงแล้ว จะทำโทษผู้ที่เป็นอุปัชฌาย์คู่สวดไวยาวัจกร ประกันของอุปัชฌาย์คู่สวด ตามโทษานุโทษจงหนัก

        หมายประกาศ ณ วันศุกร เดือนห้า ขึ้นเจ็ดค่ำ จุลศักราช ๑๒๓๗ ปีชวดยังเป็นสัปตศก

Hits: 1