ประกาศ เรื่อง ตั้งอุปัชฌายะ

ประกาศ

เรื่อง ตั้งอุปัชฌายะ*

—————————–

        มหาอำมาตย์เอก พระยาวิสุทธสุริยศักดิ์ เสนาบดีกระทรวงธรรมการ รับพระบรมราชโองการเหนือเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

        สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาวชิรญาณวโรรส พระมหาสมณะ ถวายพระพรทูลว่า ธรรมเนียมตั้งอุปัชฌาย์ผู้ให้อุปสมบทกุลบุตร ตามหมายประกาศพระบรมราชโองการในรัชกาลที่ ๕ ลงวันศุกร เดือนห้าขึ้นเจ็ดค่ำ ปีชวดยังเป็นสัปตศก จุลศักราช ๑๒๓๗ ยังไม่เป็นไปสะดวกเพื่อการปกครองคณะสงฆ์ สมควรจะจัดให้เข้ารูปกับพระราชบัญญัติลักษณะการปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ. ๑๒๑ เพื่อจะให้สะดวกแก่การปกครองคณะสงฆ์

        จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกข้อว่าด้วยการตั้งอุปัชฌายะในหมายประกาศ ลงวันที่กล่าวแล้วข้างต้นนั้นเสีย และให้ใช้ธรรมเนียมตั้งอุปัชฌายะดังต่อไปนี้

        ข้อ ๑ ให้เป็นหน้าที่ของเจ้าคณะในท้องถิ่น จะจัดหาพระอุปัชฌาย์ให้มีพอจะให้อุปสมบทกุลบุตรในท้องถิ่น แต่ไม่มีมากจนเกินต้องการ

        ข้อ ๒ ในตำบลใดว่างอุปัชฌายะหรือไม่มีพอ ให้เป็นหน้าที่ของเจ้าคณะในท้องถิ่น ประชุมพระสงฆ์และชาวบ้านพร้อมกันเลือกว่า ภิกษุรูปไรสมควรจะเป็นอุปัชฌายะ เมื่อเลือกได้แล้ว ให้ทำชื่อขึ้นเสนอเจ้าคณะใหญ่เหนือตน ในมณฑลกรุงเทพฯ เป็นหน้าที่ของเจ้าคณะกลาง ในมณฑลอื่นเป็นหน้าที่ของเจ้าคณะมณฑล จะสอดส่องให้รู้ว่า ภิกษุผู้ได้รับเลือกนั้น ประกอบด้วยองคสมบัติพอจะเป็นอุปัชฌายะได้ ถ้าพร้อมด้วยองคสมบัติ จึงออกตราตั้งให้เป็นอุปัชฌายะ ถ้าบกพร่องไม่สมควร ก็ให้ค้านไปและสั่งให้เลือกใหม่

        ข้อ ๓ องคสมบัติอย่างไร ควรถือเป็นเกณฑ์ตั้งอุปัชฌายะ เป็นหน้าที่ของคณะสงฆ์จะพึงกำหนด

        ข้อ ๔ การตั้งอุปัชฌายะนั้น ต้องได้รับอนุมัติของเจ้าหน้าที่ในราชการด้วย ในมณฑลกรุงเทพฯ เป็นหน้าที่ของเสนาบดีกระทรวงธรรมการ ในมณฑลอื่นเป็นหน้าที่ของสมุหเทศาภิบาล จะให้อนุมัติถ้าเห็นชอบ ก็ให้ลงชื่อและประทับตราในใบตั้งนั้น ถ้าไม่เห็นชอบก็ค้านได้ ตราตั้งนั้นยังเป็นอันใช้ไม่ได้ กว่าจะได้อนุมัติของเจ้าหน้าที่ในราชการด้วย

        ข้อ ๕ ถ้าสมเด็จพระมหาสมณะ ทรงพระดำริเห็นสมควรจะประทานตราตั้งอุปัชฌายะแก่พระภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง เช่นพระภิกษุผู้อยู่ในฐานันดรอันสูง หรือเจ้าคณะชั้นผู้ใหญ่ เพื่อเป็นเกียรติยศพิเศษ ก็ประทานได้ ตราตั้งที่สมเด็จพระมหาสมณะประทานนั้น เมื่อตรัสให้เจ้าหน้าที่ทราบแล้ว ให้ฟังได้ในราชการด้วย

        ข้อ ๖ ในเวลาว่างสมเด็จพระมหาสมณะ ให้สมเด็จเจ้าคณะตั้งอุปัชฌายะเป็นพิเศษได้ในคณะของตน แต่ต้องได้อนุมัติของเจ้าหน้าที่ด้วย

        ข้อ ๗ ภิกษุผู้อยู่ในตำแหน่งเป็นหัวหน้า ตั้งแต่ตำแหน่งสังฆปาโมกข์ขี้นไป ไม่ถูกห้ามในพระธรรมวินัยหรือในราชการ เมื่อจำเป็นจะเป็นพระอุปัชฌายะตามลำพังก่อนก็ได้ แต่ภายหลังต้องขออนุมัติจากเจ้าคณะผู้ใหญ่และเจ้าหน้าที่

        ข้อ ๘ อุปัชฌายะผู้ได้รับตั้งเป็นพิเศษ ให้ถือว่ามีเกียรติยศเฉพาะรูป แม้ในตำบลหนึ่งมีจำนวนพอแล้ว ก็ตั้งขึ้นได้

        ข้อ ๙ ภิกษุผู้ได้รับตั้งเป็นอุปัชฌายะ ไม่มีฐานนันดรสูงขึ้นไปกว่า มียศเป็นเจ้าอธิการ เสมอรองแขวงหรือเจ้าคณะหมวด ขึ้นในปกครองของเจ้าคณะท้องถิ่นผู้เป็นใหญ่เหนือตน

        ข้อ ๑๐ ห้ามไม่ให้อุปัชฌายะให้บรรพชาอุปสมบท แก่คนที่คณะสงฆ์และเจ้าหน้าที่ในราชการกำหนดห้ามไว้

        ข้อ ๑๑ ห้ามไม่ให้อุปัชฌายะให้บรรพชาอุปสมบท นอกจากเขตที่ได้รับอนุญาต เว้นไว้แต่ได้รับอนุมัติของเจ้าคณะ หรือของเจ้าหน้าที่ในราชการ ในท้องถิ่นที่จะให้อุปสมบทนั้น

        ข้อ ๑๒ อุปัชฌายะขืนให้บรรพชาอุปสมบทคนต้องห้าม และให้อุปสมบทนอกเขต เจ้าคณะเห็นจำเป็นจะทำนิคหกรรม ก็ให้ทำได้ดังต่อไปนี้

             (ก)  สั่งห้ามไม่ให้บรรพชาอุปสมบทชั่วคราว

             (ข)  คืนตราตั้ง ถอดเสียจากตำแหน่งอุปัชฌายะ

             (ค)  ลงทัณฑกรรมอันไม่ผิดต่อกฎหมายแผ่นดิน

             (ฆ)  เอาตัวมากักไว้ชั่วคราว

             (ง)  ย้ายเสียจากถิ่นที่ทำยุ่งชั่วคราว

             สถานเดียวหรือหลายสถาน โดยสมแก่โทษ

        ข้อ ๑๓ นิคหกรรมอันจะพึงทำชั่วคราวนั้น กว่าจะเห็นว่าเข็ดหลาย แต่คราวหนึ่งไม่เกิน ๒ ปี

        ข้อ ๑๔ ในเวลาที่ถูกห้ามหรือถูกถอด อุปัชฌายะนั้น ขืนให้บรรพชาอุปสมบทแก่คนใด ให้ถือว่าคนนั้นได้รับบรรพชาอุปสมบทผิดกฎหมาย อย่าให้ได้รับประโยชน์พิเศษในราชการอย่างภิกษุสามเณร

        ข้อ ๑๕ ภิกษุใดไม่ได้รับแต่งตั้งของคณะสงฆ์ และเป็นอุปัชฌายะให้บรรพชาอุปสมบทตามลำพัง ต้องนิคหกรรม ๓ สถานเบื้องปลายในข้อ ๑๒ และคนที่ภิกษุนั้นบวชให้ ชื่อว่าบวชผิดกฎหมายไม่ได้รับประโยชน์อันภิกษุสามเณรจะพึงได้ ดุจเดียวกับในข้อ ๑๔

        ข้อ ๑๖ คณะสงฆ์จะตั้งข้ออาณัติ เพื่อขยายความแห่งประกาศนี้ก็ดี เพื่อรักษาธรรมเนียมตั้งอุปัชฌายะให้เป็นไปสะดวกก็ดี ให้ตั้งได้แต่ไม่ผิดกฎหมายแผ่นดิน ให้อุปัชฌายะประพฤติตาม

        ข้อ ๑๗ ให้เจ้าหน้าที่ผู้รักษาราชการในท้องถิ่น เอาเป็นธุระช่วยคณะสงฆ์ดูแลให้อุปัชฌายะทั้งปวงประพฤติตามหมายประกาศนี้

        ข้อ ๑๘ ข้อความในหมายประกาศนี้ ให้นับว่าเป็นอนุโลมแห่งพระราชบัญญัติลักษณะปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ. ๑๒๑

        ประกาศให้ไว้  ณ  วันที่  ๙ เดือนสิงหาคม   พระพุทธศักราช  ๒๔๕๖


* จากราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๓๐ หน้า ๑๙๖

Hits: 0