กฎกระทรวง
ฉบับที่ ๑ (พ.ศ. ๒๕๐๗)
ออกตามความในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์
พ.ศ. ๒๕๐๕ *
——————
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๖ และมาตรา ๓๒ แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้
หมวด ๑
การสร้างวัด
ข้อ ๑ บุคคลใดประสงค์จะสร้างวัด ให้ยื่นคำขออนุญาต (๑) ต่อนายอำเภอท้องที่ที่จะสร้างวัดนั้น พร้อมด้วยรายการและเอกสารดังต่อไปนี้
(๑) หนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองที่ดิน ที่จะยกให้สร้างวัดและที่ดินนั้นต้องมีเนื้อที่ไม่น้อยกว่า ๖ ไร่
(๒) หนังสือสัญญาซึ่งเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินหรือผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินตามกฎหมายทำกับนายอำเภอและเจ้าพนักงานที่ดินอำเภอ แสดงความจำนงจะให้ที่ดินดังกล่าวใน (๑) เพื่อสร้างวัด
(๓) จำนวนเงินและสัมภาระที่จะใช้ในการสร้างวัดในระยะเริ่มแรก ต้องมีราคารวมกันไม่น้อยกว่าห้าหมื่นบาท (๒)
(๔) แผนที่แสดงเขตที่ตั้งวัด ประกอบด้วยเขตติดต่อข้างเคียง และระยะทางระหว่างวัดที่จะสร้างขึ้นกับวัดอื่นโดยรอบ และให้แสดงแผนผังสิ่งก่อสร้างของวัดตามความเหมาะสมของสภาพที่ดิน โดยอาศัยแผนผังแบบ ก. แบบ ข. หรือแบบ ค. ท้ายกฎกระทรวงนี้เป็นหลักเท่าที่จะทำได้ (๓)
(๕) กำหนดเวลาที่จะสร้างวัดให้แล้วเสร็จตามแผนผังนั้น
ข้อ ๒ วัดที่จะสร้างขึ้น ต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์ดังนี้ (๔)
(๑) สมควรเป็นที่พำนักของพระภิกษุสงฆ์
(๒) เป็นประโยชน์แก่ประชาชนที่ตั้งบ้านเรือนอยู่ในรัศมี ๒ กิโลเมตร โดยเฉลี่ยวัดละไม่น้อยกว่า ๑,๐๐๐ คน เว้นแต่จะมีเหตุจำเป็น (๕)
(๓) มีเหตุผลที่เชื่อได้ว่า เมื่อตั้งขึ้นแล้วจะได้รับการบำรุงส่งเสริมจากประชาชน
(๔) ตั้งอยู่ห่างจากวัดอื่นไม่น้อยกว่า ๒ กิโลเมตร เว้นแต่จะมีเหตุจำเป็น
ข้อ ๓ เมื่อนายอำเภอได้รับคำขออนุญาตสร้างวัดและพิจารณาเห็นสมควรแล้ว ให้นำปรึกษาเจ้าคณะอำเภอ แล้วเสนอเรื่องและความเห็นไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด (๖)
เมื่อผู้ว่าราชการจังหวัดพิจารณาเห็นสมควรแล้ว ให้นำปรึกษาเจ้าคณะจังหวัดแล้วส่งเรื่องและความเห็นไปยังกรมการศาสนา
ในการพิจารณาคำขออนุญาตสร้างวัด กรมการศาสนาอาจสั่งให้ผู้ขออนุญาตเปลี่ยนแปลงแก้ไขแผนผัง หารือระงับเรื่องการขออนุญาตสร้างวัดได้ตามที่เห็นสมควร
เมื่อกรมการศาสนาพิจารณาเห็นสมควรให้สร้างวัดได้แล้ว ให้รายงานกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อขอรับความเห็นชอบ แล้วนำเสนอมหาเถรสมาคม
เมื่อมหาเถรสมาคมพิจารณาเห็นชอบด้วยแล้ว ให้กรมการศาสนาออกหนังสืออนุญาตให้สร้างวัด (๗)
หมวด ๒
การตั้งวัด (๘)
ข้อ ๔ เมื่อได้สร้างเสนาสนะขึ้นเป็นหลักฐานพร้อมที่จะเป็นที่พำนักของพระภิกษุสงฆ์ได้แล้ว ให้ผู้ได้รับอนุญาตสร้างวัด ทายาท (๙) หรือผู้แทน เสนอรายงานการก่อสร้างและจำนวนพระภิกษุที่จะอยู่ประจำไม่น้อยกว่าสี่รูป พร้อมทั้งเสนอนามวัดและนามพระภิกษุผู้สมควรเป็นเจ้าอาวาสเพื่อขอตั้งเป็นวัดต่อนายอำเภอ
ให้นำความในข้อ ๓ วรรคหนึ่ง วรรคสอง และวรรคสี่ มาใช้บังคับแก่การพิจารณา การปรึกษา และการรายงานขอตั้งวัด โดยอนุโลม
เมื่อมหาเถรสมาคมพิจารณาเห็นชอบด้วยแล้ว กระทรวงศึกษาธิการจะได้ประกาศตั้งวัดในราชกิจจานุเบกษา ตามแบบ ว. ๑ ท้ายกฎกระทรวงนี้ (๑๐)
ข้อ ๕ เมื่อได้ประกาศตั้งเป็นวัดแล้ว (๑๑) ให้ผู้ได้รับอนุญาตสร้างวัด ทายาทหรือผู้แทน ดำเนินการโอนที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้แก่วัดนั้นตามกฎหมาย และให้เจ้าอาวาสบันทึกประวัติของวัดนั้นไว้เป็นหลักฐาน (๑๒)
หมวด ๓
การรวมวัด
ข้อ ๖ เมื่อเจ้าคณะอำเภอและนายอำเภอเห็นสมควรที่จะรวมวัดตั้งแต่สองวัดซึ่งอยู่ใกล้ชิดกันเป็นวัดเดียว เพื่อประโยชน์แก่การทำนุบำรุงวัดให้เจริญยิ่งขึ้น หรือเพื่อประโยชน์แก่การปกครองคณะสงฆ์ ให้รายงานต่อเจ้าคณะจังหวัด
เมื่อเจ้าคณะจังหวัดพิจารณาเห็นสมควรแล้ว ให้นำปรึกษาผู้ว่าราชการจังหวัดแล้วเสนอเรื่องและความเห็นไปยังเจ้าคณะภาค (๑๓)
เมื่อเจ้าคณะภาคพิจารณาเห็นสมควรแล้ว ให้ส่งเรื่องและความเห็นไปยังกรมการศาสนา
เมื่อกรมการศาสนาเห็นสมควรแล้ว ให้รายงานกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อขอรับความเห็นชอบ แล้วนำเสนอมหาเถรสมาคม
เมื่อมหาเถรสมาคมพิจารณาเห็นชอบด้วยแล้ว กระทรวงศึกษาธิการจะได้ประกาศรวมวัดในราชกิจจานุเบกษาตามแบบ ว. ๒ ท้ายกฎกระทรวงนี้
หมวด ๔
การย้ายวัด
ข้อ ๗ วัดใดมีเหตุจำเป็นต้องย้ายไปตั้งในที่อื่น เพราะสถานที่ตั้งอยู่เดิมเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ไม่เหมาะสมที่จะเป็นที่พำนักของพระภิกษุสงฆ์ ให้เจ้าอาวาสแห่งวัดนั้นรายงานไปยังเจ้าคณะตำบลและเจ้าคณะอำเภอ
เมื่อเจ้าคณะตำบลและเจ้าคณะอำเภอพิจารณาเห็นสมควรแล้วให้ปรึกษานายอำเภอแล้วเสนอเรื่องและความเห็นไปยังเจ้าคณะจังหวัด และให้นำความในข้อ ๖ วรรคสอง วรรคสาม และวรรคสี่ มาใช้บังคับแก่การพิจารณา การปรึกษา และการรายงานขอย้ายวัดโดยอนุโลม
เมื่อมหาเถรสมาคมพิจารณาเห็นชอบด้วยแล้ว กระทรวงศึกษาธิการจะได้ประกาศย้ายวัดในราชกิจจานุเบกษาตามแบบ ว. ๓ ท้ายกฎกระทรวงนี้
ข้อ ๘ การจัดหาที่ดินตั้งวัด การย้ายทรัพย์สินของวัดและการก่อสร้างวัดใหม่ให้เป็นหน้าที่ของผู้ขอย้ายวัด และให้อยู่ภายใต้บังคับแห่งข้อ ๑ และข้อ ๒ ของกฎกระทรวงนี้ โดยอนุโลม
หมวด ๕
การยุบเลิกวัด
ข้อ ๙ วัดใดมีเหตุอันควรยุบเลิก เพราะสภาพเสื่อมโทรมหรือมีเหตุอื่นอันไม่สมควรจะเป็นวัดต่อไป เมื่อเจ้าคณะอำเภอและนายอำเภอพิจารณาเห็นสมควรยุบเลิกวัดนั้น ให้รายงานเจ้าคณะจังหวัด พร้อมด้วยบัญชีรายละเอียดทรัพย์สินของวัดที่จะยุบเลิกนั้น
ให้นำความในข้อ ๖ วรรคสอง วรรคสาม และวรรคสี่ มาใช้บังคับแก่การพิจารณา การปรึกษา และการรายงานขอยุบเลิกวัดโดยอนุโลม
เมื่อมหาเถรสมาคมพิจารณาเห็นชอบด้วยแล้ว กระทรวงศึกษาธิการจะได้ประกาศยุบเลิกวัดในราชกิจจานุเบกษาตามแบบ ว. ๔ ท้ายกฎกระทรวงนี้
ข้อ ๑๐ วัดใดร้างพระภิกษุไม่อาศัย เมื่อกรมการศาสนาเห็นสมควรยุบเลิกวัดนั้น ให้รายงานกระทรวงศึกษาธิการเพื่อขอรับความเห็นชอบ แล้วนำเสนอมหาเถรสมาคมและให้นำความในข้อ ๔ วรรคสาม มาใช้บังคับโดยอนุโลม(๑๔)
หมวด ๖
การขอรับพระราชทานวิสุงคามสีมา
ข้อ ๑๑ วัดที่สมควรได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา ต้องปรากฏว่าได้สร้างขึ้นหรือได้ปฏิสังขรณ์เป็นหลักฐานถาวร และมีพระภิกษุอยู่ประจำไม่น้อยกว่าห้ารูปติดต่อกันเป็นเวลาไม่น้อยกว่าห้าปี แต่ระยะเวลาห้าปีมิให้ใช้บังคับแก่วัดที่ได้สร้างอุโบสถเสร็จเรียบร้อยแล้ว(๑๕) และกระทรวงศึกษาธิการเห็นสมควรขอรับพระราชทานวิสุงคามสีมา
ให้เจ้าอาวาสแห่งวัดนั้น เสนอรายงานขอรับพระราชทานวิสุงคามสีมาต่อเจ้าคณะตำบลและเจ้าคณะอำเภอ
เมื่อเจ้าคณะตำบลและเจ้าคณะอำเภอพิจารณาเห็นสมควรแล้ว ให้นำปรึกษานายอำเภอ แล้วเสนอเรื่องและความเห็นไปยังเจ้าคณะจังหวัด และให้นำความในข้อ ๖ วรรคสอง และวรรคสาม มาใช้บังคับแก่การพิจารณา การปรึกษา และการขอรับพระราชทานวิสุงคามสีมาโดยอนุโลม
เมื่อกรมการศาสนาพิจารณาเห็นสมควรแล้ว ให้กราบทูลสมเด็จพระสังฆราชเพื่อทรงอนุมัติ แล้วเสนอกระทรวงศึกษาธิการเพื่อนำความกราบบังคมทูลขอรับพระราชทานวิสุงคามสีมาต่อไป
ข้อ ๑๒ เมื่อพระราชทานวิสุงคามสีมาแก่วัดใดแล้ว ให้นายอำเภอท้องที่ที่วัดนั้นตั้งอยู่ ดำเนินการปักหมายเขตที่ดินตามที่ได้พระราชทานต่อไป
ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๐๗
ปิ่น มาลากุล
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
* ลงในแถลงการณ์คณะสงฆ์ เล่ม ๕๓ ตอนที่ ๕ : ๑๕ เมษายน ๒๕๐๘
(๑) คำขออนุญาตสร้างวัด ตามกฎกระทรวงฉบับเก่าได้กำหนดแบบไว้ด้วย
(๒) เรื่องจำนวนเงินค่าสร้างวัดนี้เป็นกรณีเพิ่มขึ้นใหม่ เพื่อให้การสร้างวัดเสร็จเร็วขึ้น
(๓) กำหนดแผนผังวัดไว้เป็นตัวอย่าง เพื่อให้สิ่งก่อสร้างในวัดทั้งหลายเป็นระเบียบเรียบร้อยและเป็นแบบเดียวกัน
(๔) ตามกฎกระทรวงฉบับเก่า กำหนดกรณีไม่ขัดต่อการบริหารราชอาณาจักรเป็นหลักเกณฑ์ด้วย แต่ในกฎกระทรวงฉบับนี้มิได้กำหนดไว้ เพราะทางบ้านเมืองเป็นฝ่ายอนุญาตอยู่แล้ว ถ้าขัดต่อราชการบ้านเมืองก็มีอำนาจสั่งระงับได้ตามข้อ ๓ วรรค ๓
(๕) กำหนดจำนวนประชาชนเป็นหลักเกณฑ์ โดยมุ่งประโยชน์ของประชาชนจำนวนมากเป็นสำคัญ
(๖) ในการสร้างและตั้งวัด เป็นกรณีเริ่มต้นก่อนวัดเกิด จึงกำหนดให้ฝ่ายบ้านเมืองเป็นเจ้าการ ทางคณะสงฆ์เป็นฝ่ายรับปรึกษา แต่กำหนดไว้เพียงชั้นเจ้าคณะอำเภอและเจ้าคณะจังหวัด ไม่เกี่ยวถึงเจ้าคณะตำบลและเจ้าคณะภาค
(๗) การออกหนังสืออนุญาตให้สร้างวัด ตามกฎกระทรวงฉบับเก่า กำหนดให้เป็นหน้าที่ของนายอำเภอ และกำหนดแบบหนังสืออนุญาตไว้ด้วย
(๘) ในเรื่องการตั้งวัด ตามกฎกระรวงฉบับเก่า ได้กล่าวถึงกรณีตั้งวัดร้างขึ้นใหม่ด้วย แต่ในกฎกระทรวงฉบับนี้มิได้กล่าวถึง เพราะวัดร้างที่ยังมิได้มีประกาศยุบเลิก ยังคงเป็นวัดอยู่ตามเดิม
ในกรณีเช่นนี้ มหาเถรสมาคมมีอำนาจที่จะกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติขึ้นได้โดยออกข้อบังคับ วางระเบียบหรือออกคำสั่งแล้วแต่กรณี ตามความในมาตรา ๑๘ แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕
(๙) สำหรับกรณีที่ผู้รับอนุญาตสร้างวัดตายก่อนสร้างเสร็จ
(๑๐) เมื่อได้ประกาศตั้งเป็นวัดแล้ว ย่อมมีฐานะเป็น “นิติบุคคล” ตามมาตรา ๗๒ (๒) แห่ง ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ จนกว่าจะได้มีประกาศยุบเลิก
มีข้อที่ควรสังเกตอยู่ว่าสภาพนิติบุคคลของวัดนั้น จะเริ่มต้นตั้งแต่เมื่อใด ถ้าพิจารณาตามข้อความในข้อ ๕ วรรค ๓ นี้ น่าจะเริ่มต้นตั้งวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาแต่ก็ขัดกันกับข้อความในแบบ ว. ๑ ที่ระบุไว้ว่า “ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป” ซึ่งหมายถึงวันที่ลงในประกาศตั้งวัด ไม่ใช่วันที่นำประกาศตั้งวัดลงในราชกิจจานุเบกษา
ในกรณีรวมวัด ย้ายวัด และยุบเลิกวัด ก็มีข้อความโดยนัยเดียวกัน
(๑๑) เป็นวัดประเภท ๒ คือสำนักสงฆ์
(๑๒) เรื่องบันทึกประวัติของวัดนี้ ตามกฎกระทรวงฉบับเก่าได้กำหนดแบบไว้พร้อมทั้งแบบ “ทะเบียนวัด” ในกฎกระทรวงฉบับนี้มิได้กำหนดไว้ จึงแล้วแต่ทางคณะสงฆ์และทางราชการจะกำหนดขึ้นตามที่เห็นสมควร
(๑๓) ในกรณีรวมวัด มีวิธีดำเนินการต่างกับกรณีสร้างวัดและตั้งวัด เพราะเป็นวิธีการภายหลังที่วัดตั้งขึ้น และอยู่ในความควบคุมของคณะสงฆ์แล้ว จึงกำหนดให้ทางคณะสงฆ์เป็นเจ้าการ ทางบ้านเมืองเป็นฝ่ายรับปรึกษา
ในกรณีย้ายวัดและยุบเลิกวัด ก็มีวิธีการเช่นเดียวกัน เว้นแต่ในกรณียุบเลิกวัดร้างตามข้อ ๑๐
(๑๔) ในกรณียุบเลิกวัดร้าง มีวิธีดำเนินการต่างกับกรณียุบเลิกวัดที่มีพระภิกษุอาศัยอยู่ เพราะวัดร้างอยู่ในความปกครองรักษาของเจ้าหน้าที่ฝ่ายบ้านเมือง ตามมาตรา ๘ แห่งพระราชบัญญัติลักษณะปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ. ๑๒๑
(๑๕) เป็นข้อยกเว้นเฉพาะเรื่องกำหนดเวลาห้าปี คือไม่ต้องรอจนกว่าจะครบกำหนดเวลาห้าปี แต่ก็ต้องมีพระภิกษุอยู่ไม่น้อยกว่าห้ารูป
โดยข้อยกเว้นนี้ ถ้าผู้สร้างวัดสามารถสร้างอุโบสถให้เสร็จเรียบร้อยได้ในคราวเดียวกัน เมื่อประกาศตั้งเป็นวัดตามข้อ ๔ แล้ว ก็ขอรับพระราชทานวิสุงคามสีมาได้ เช่นเดียวกับวิธีการสร้าง “ อาราม” ตามที่เคยบัญญัติไว้ในมาตรา ๙ ข้อ ๓ แห้งพระราชบัญญัติลักษณะปกครองวงฆ์ ร.ศ. ๑๒๑
Views: 28