กฎกระทรวง
ฉบับที่ ๓ (พ.ศ. ๒๕๒๐)
ออกตามความในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์
พ.ศ. ๒๕๐๕ *
——————
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๖ มาตรา ๓๒ และมาตรา ๔๖ แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้
หมวด ๑
บททั่วไป
ข้อ ๑ คำว่า “คณะสงฆ์” ในกฎกระทรวงนี้ หมายถึงคณะสงฆ์จีนนิกายและหรือคณะสงฆ์อนัมนิกายแล้วแต่กรณี
ข้อ ๒ ให้คณะสงฆ์อยู่ในปกครองบังคับบัญชาของสมเด็จพระสังฆราช
ข้อ ๓ ให้กรมการศาสนารับสนองงานของคณะสงฆ์ที่เกี่ยวข้องกับสมเด็จพระสังฆราชและทางราชการ
หมวด ๒
การปกครองคณะสงฆ์
ข้อ ๔ การปกครองคณะสงฆ์แต่ละคณะ ให้มีบรรพชิตเป็นผู้ปกครองตามตำแหน่ง ดังนี้
(๑) เจ้าคณะใหญ่
(๒) รองเจ้าคณะใหญ่
(๓) ผู้ช่วยเจ้าคณะใหญ่
(๔) ปลัดขวา
(๕) ปลัดซ้าย
(๖) รองปลัดขวา
(๗) รองปลัดซ้าย
(๘) ผู้ช่วยปลัดขวา
(๙) ผู้ช่วยปลัดซ้าย
(๑๐) เจ้าอาวาส
(๑๑) รองเจ้าอาวาส
(๑๒) ผู้ช่วยเจ้าอาวาส
ข้อ ๕ บรรพชิตในคณะสงฆ์ ต้องสังกัดอยู่ในวัดหนึ่งวัดใด และอยู่ในปกครองของบรรพชิตในตำแหน่งตามลำดับในข้อ ๔
ข้อ ๖ สมเด็จพระสังฆราชทรงแต่งตั้งบรรพชิตเป็นเจ้าคณะใหญ่ในคณะสงฆ์คณะละ ๑ รูป
ข้อ ๗ สมเด็จพระสังฆราชทรงแต่งตั้งบรรพชิตในคณะสงฆ์เป็นรองเจ้าคณะใหญ่ผู้ช่วยเจ้าคณะใหญ่ ปลัดขวา ปลัดซ้าย รองปลัดขวา รองปลัดซ้าย ผู้ช่วยปลัดขวา และผู้ช่วยปลัดซ้าย ตามที่เจ้าคณะใหญ่เสนอ
ข้อ ๘ ในแต่ละคณะสงฆ์ เจ้าคณะใหญ่มีอำนาจแต่งตั้งบรรพชิตในคณะสงฆ์เป็นเจ้าอาวาส รองเจ้าอาวาส ผู้ช่วยเจ้าอาวาส และผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาส
ข้อ ๙ เจ้าคณะใหญ่มีอำนาจหน้าที่ ดังนี้
(๑) ดำเนินการปกครองให้เป็นไปตามพระธรรมวินัย ลัทธิ นิกาย กฎหมาย และพระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช
(๒) ควบคุมและส่งเสริมการปกครอง การศาสนศึกษา การศึกษาสงเคราะห์ การเผยแพร่พระพุทธศาสนา การสาธารณูปการ และการสาธารณสงเคราะห์ ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย
(๓) วินิจฉัยการลงนิคหกรรม และวินิจฉัยข้ออุทธรณ์คำสั่งหรือคำวินิจฉัยของบรรพชิตในตำแหน่งรองลงมา
(๔) แก้ไขข้อขัดข้องในการปกครองคณะสงฆ์
(๕) ปกครองบรรพชิตในคณะสงฆ์ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย
เพื่อการนี้ เจ้าคณะใหญ่มีอำนาจวางระเบียบและออกคำสั่ง โดยไม่ขัดหรือแย้งกับพระธรรมวินัย ลัทธิ นิกาย กฎหมาย พระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช และระเบียบแบบแผนของทางราชการ
ข้อ ๑๐ รองเจ้าคณะใหญ่ ผู้ช่วยเจ้าคณะใหญ่ ปลัดขวา ปลัดซ้าย รองปลัดขวา รองปลัดซ้าย ผู้ช่วยปลัดขวา และผู้ช่วยปลัดซ้าย มีหน้าที่ช่วยปกครองบรรพชิตและวัดตามที่เจ้าคณะใหญ่มอบหมาย
ข้อ ๑๑ ในกรณีที่ไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะใหญ่ หรือมีแต่ไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้และเจ้าคณะใหญ่มิได้แต่งตั้งผู้ใดให้ปฏิบัติหน้าที่แทน ให้บรรพชิตผู้อาวุโสในตำแหน่งรองลงไปตาม ข้อ ๔ ตามลำดับ เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนเจ้าคณะใหญ่
ให้ผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนเจ้าคณะใหญ่ มีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับเจ้าคณะใหญ่
ข้อ ๑๒ เจ้าอาวาสมีอำนาจหน้าที่ ดังนี้
(๑) ห้ามบรรพชิตและคฤหัสถ์ซึ่งมิได้รับอนุญาตจากเจ้าอาวาสเข้าไปอยู่อาศัยในวัด
(๒) สั่งให้บรรพชิตและคฤหัสถ์ซึ่งไม่อยู่ในโอวาทของเจ้าอาวาสออกไปจากวัด
(๓) สั่งให้บรรพชิตและคฤหัสถ์ซึ่งอยู่หรือพำนักอาศัยในวัด ทำงานภายในวัด หรือให้ทำทัณฑ์บนหรือให้ขอขมาโทษ ในเมื่อบรรพชิตหรือคฤหัสถ์นั้นประพฤติผิตคำสั่งเจ้าอาวาสซึ่งได้สั่งโดยชอบด้วยพระธรรมวินัย ลัทธิ นิกาย กฎหมาย พระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช ระเบียบแบบแผนของทางราชการและคำสั่งของเจ้าคณะใหญ่ในคณะสงฆ์นั้นๆ
(๔) บำรุงรักษาวัด จัดกิจการและศาสนสมบัติของวัดให้เป็นไปด้วยดี
(๕) ปกครองและสอดส่องให้บรรพชิตและคฤหัสถ์ซึ่งอยู่หรือพำนักอาศัยในวัดนั้นปฏิบัติตามพระธรรมวินัย ลัทธิ นิกาย กฎหมาย พระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช ระเบียบแบบแผนของทางราชการและคำสั่งของเจ้าคณะใหญ่ในคณะสงฆ์นั้น ๆ
(๖) เป็นธุระในการศึกษา อบรมและสั่งสอนพระธรรมวินัยแก่บรรพชิตและคฤหัสถ์
(๗) ให้ความสะดวกตามสมควรในการบำเพ็ญกุศล
ให้รองเจ้าอาวาสและผู้ช่วยเจ้าอาวาส มีอำนาจหน้าที่ตามที่เจ้าอาวาสมอบหมาย
ข้อ ๑๓ เจ้าคณะใหญ่ รองเจ้าคณะใหญ่ ผู้ช่วยเจ้าคณะใหญ่ ปลัดขวา ปลัดซ้าย รองปลัดขวา รองปลัดซ้าย ผู้ช่วยปลัดขวา และผู้ช่วยปลัดซ้าย พ้นจากตำแหน่ง เมื่อ
(๑) มรณภาพ
(๒) พ้นจากความเป็นบรรพชิต
(๓) ลาออก
(๔) สมเด็จพระสังฆราชมีพระบัญชาให้ออก หรือแต่งตั้งเป็นตำแหน่งกิตติมศักดิ์
ข้อ ๑๔ เจ้าอาวาส รองเจ้าอาวาส และผู้ช่วยเจ้าอาวาส พ้นจากตำแหน่ง เมื่อ
(๑) มรณภาพ
(๒) พ้นจากความเป็นบรรพชิต
(๓) ลาออก
(๔) เจ้าคณะใหญ่มีคำสั่งให้ออก
ข้อ ๑๕ สมเด็จพระสังฆราชทรงตั้งบรรพชิตในคณะสงฆ์เป็นพระอุปัชฌาย์ตามที่เจ้าคณะใหญ่เสนอ
ข้อ ๑๖ พระอุปัชฌาย์ในคณะสงฆ์ มีหน้าที่ให้การบรรพชาอุปสมบทบรรพชิตตามลัทธินิกายในคณะสงฆ์นั้น ๆ และเมื่อได้บรรพชาอุปสมบทบรรพชิตใดแล้ว ต้องเป็นธุระสั่งสอนอบรมบรรพชิตนั้นให้ประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมวินัย และให้ตั้งอยู่ในสัมมาปฏิบัติ
ข้อ ๑๗ เมื่อพระอุปัชฌาย์ในคณะสงฆ์ปฏิบัติไม่ชอบด้วยพระธรรมวินัย หรือประพฤติไม่สมควรแก่ตำแหน่งหน้าที่ สมเด็จพระสังฆราชอาจทรงถอดถอนหรือพักหน้าที่พระอุปัชฌาย์ได้ตามที่เจ้าคณะใหญ่เสนอ
ข้อ ๑๘ เมื่อมีอธิกรณ์เกิดขึ้นในคณะสงฆ์ ให้เป็นอำนาจหน้าที่ของเจ้าคณะใหญ่ที่จะระงับและลงนิคหกรรมตามพระธรรมวินัย
เพื่อการนี้ เจ้าคณะใหญ่จะมอบหมายให้ผู้ดำรงตำแหน่งตามข้อ ๔ ระงับอธิกรณ์และลงนิคหกรรมแทนก็ได้
หมวด ๓
การสร้างวัด
ข้อ ๑๙ วัดที่จะสร้างขึ้นต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์ ดังนี้
(๑) สมควรเป็นที่พำนักของบรรพชิต
(๒) เป็นประโยชน์แก่ประชาชนที่ตั้งบ้านเรือนอยู่ในบริเวณใกล้เคียง เละมีเหตุผลที่เชื่อได้ว่า เมื่อตั้งขึ้นแล้วจะได้รับการบำรุงส่งเสริมจากประชาชน
(๓) ตั้งอยู่ห่างจากวัดในคณะสงฆ์เดียวกันไม่น้อยกว่าสองกิโลเมตร เว้นแต่จะมีเหตุจำเป็น
ข้อ ๒๐ บุคคลใดมีความประสงค์จะสร้างวัด ให้ยื่นคำขอต่อนายอำเภอแห่งท้องที่ที่จะสร้างวัดนั้น พร้อมด้วยรายการและเอกสาร ดังต่อไปนี้
(๑) หนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์ หรือสิทธิครอบครองที่ดินที่เจ้าของกรรมสิทธิ์หรือผู้มีสิทธิครอบครองจะยกให้สร้างวัด และที่ดินนั้นต้องมีเนื้อที่ไม่น้อยกว่าหนึ่งไร่
(๒) หนังสือสัญญาที่เจ้าของกรรมสิทธิ์หรือผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินตามกฎหมายทำกับนายอำเภอและเจ้าพนักงานที่ดินอำเภอ แสดงความจำนงจะให้ที่ดินดังกล่าวใน (๑) เพื่อสร้างวัด
(๓) จำนวนเงินและสัมภาระที่จะใช้ในการสร้างวัดในระยะเริ่มแรก ต้องมีมูลค่ารวมกันไม่น้อยกว่าห้าหมื่นบาท
(๔) แผนที่แสดงเขตที่จะตั้งวัด ประกอบด้วยเขตติดต่อข้างเคียงและระยะทางระหว่างวัดที่จะสร้างขึ้นกับวัดอื่นในระยะสองกิโลเมตรโดยรอบ และให้แสดงแผนผังสิ่งก่อสร้างของวัดตามความเหมาะสมของสภาพที่ดิน
ข้อ ๒๑ เมื่อนายอำเภอได้รับคำขออนุญาตสร้างวัดและพิจารณาเห็นสมควรแล้วให้เสนอเรื่องและความเห็นไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด
เมื่อผู้ว่าราชการจังหวัดพิจารณาเห็นสมควรแล้ว ให้เสนอเรื่องและความเห็นไปยังกรมการศาสนา เพื่อนำปรึกษาเจ้าคณะใหญ่
ในการพิจารณาคำขออนุญาตสร้างวัด กรมการศาสนาอาจสั่งให้ผู้ขออนุญาตเปลี่ยนแปลงแก้ไขแผนผังหรือระงับเรื่องการขออนุญาตสร้างวัดได้ตามที่เห็นสมควร
เมื่อกรมการศาสนาและเจ้าคณะใหญ่พิจารณาเห็นสมควรแล้ว ให้นำกราบทูลสมเด็จพระสังฆราช
เมื่อสมเด็จพระสังฆราชทรงเห็นชอบแล้ว ให้กรมการศาสนาออกหนังสืออนุญาตให้สร้างวัดได้
หมวด ๔
การตั้งวัด
ข้อ ๒๒ เมื่อได้สร้างเสนาสนะขึ้นเป็นหลักฐานพร้อมที่จะเป็นที่พำนักของบรรพชิตได้แล้ว ให้ผู้ได้รับอนุญาตสร้างวัด ทายาท หรือผู้แทนเสนอรายงานการก่อสร้างและจำนวนบรรพชิตที่จะอยู่ประจำไม่น้อยกว่าสี่รูป พร้อมทั้งเสนอนามวัดและนามบรรพชิตผู้สมควรเป็นเจ้าอาวาสเพื่อขอตั้งเป็นวัดต่อนายอำเภอ
ให้นำความในข้อ ๒๑ วรรคหนึ่ง วรรคสอง วรรคสาม และวรรคสี่ มาใช้บังคับแก่การขอตั้งวัดโดยอนุโลม
เมื่อสมเด็จพระสังฆราชทรงเห็นชอบแล้ว ให้กระทรวงศึกษาธิการดำเนินการประกาศตั้งวัดในราชกิจจานุเบกษา
ข้อ ๒๓ เมื่อได้มีการประกาศการตั้งวัดในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ผู้ได้รับอนุญาตสร้างวัด หรือทายาทดำเนินการโอนที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้แก่วัดนั้น และให้เจ้าอาวาสบันทึกประวัติของวัดนั้นไว้เป็นหลักฐาน
หมวด ๕
การรวมวัด
ข้อ ๒๔ เมื่อเจ้าอาวาสและนายอำเภอเห็นสมควรที่จะรวมวัดตั้งแต่งสองวัดขึ้นไปในคณะสงฆ์ใดเป็นวัดเดียว เพื่อประโยชน์แก่การทำนุบำรุงวัดให้เจริญยิ่งขึ้น เพื่อประโยชน์แก่การปกครองคณะสงฆ์ ให้เสนอเรื่องและความเห็นไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด
เมื่อผู้ว่าราชการจังหวัดพิจารณาเห็นสมควรแล้ว ให้เสนอเรื่องและความเป็นไปยังกรมการศาสนาเพื่อนำปรึกษาเจ้าคณะใหญ่
เมื่อกรมการศาสนาและเจ้าคณะใหญ่พิจารณาเห็นสมควรแล้ว ให้นำกราบทูลสมเด็จพระสังฆราช
เมื่อสมเด็จพระสังฆราชทรงเห็นชอบแล้ว ให้กระทรวงศึกษาธิการดำเนินการประกาศการรวมวัดในราชกิจจานุเบกษา
หมวด ๖
การย้ายวัด
ข้อ ๒๕ วัดใดมีเหตุจำเป็นต้องย้ายไปตั้งในที่อื่น เพราะสถานที่ตั้งอยู่เดิมเปลี่ยนแปลงไปในทางไม่เหมาะสมที่จะเป็นที่พำนักของบรรพชิต ให้เจ้าอาวาสแห่งวัดนั้นปรึกษานายอำเภอและผู้ว่าราชการจังหวัด
เมื่อนายอำเภอและผู้ว่าราชการจังหวัดพิจารณาเห็นชอบแล้ว ให้เสนอเรื่องและความเป็นไปยังกรมการศาสนาเพื่อนำปรึกษาเจ้าคณะใหญ่
เมื่อกรมการศาสนาและเจ้าคณะใหญ่พิจารณาเห็นสมควรแล้ว ให้นำกราบทูลสมเด็จพระสังฆราช
เมื่อสมเด็จพระสังฆราชทรงเห็นชอบแล้ว ให้กระทรวงศึกษาธิการดำเนินการประกาศย้ายวัดในราชกิจจานุเบกษา
ข้อ ๒๖ การจัดหาที่ดินที่ตั้งวัด การย้ายทรัพย์สินของวัดและการก่อสร้างวัดใหม่ ให้เป็นหน้าที่ของผู้ขอย้ายวัด และให้อยู่ภายใต้บังคับแห่งข้อ ๑๙ ข้อ ๒๐ ข้อ ๒๑ ข้อ ๒๒ และข้อ ๒๓ ว่าด้วยการสร้างและการตั้งวัดโดยอนุโลม
หมวด ๗
การยุบเลิกวัด
ข้อ ๒๗ วัดใดมีเหตุอันควรยุบเลิก เพราะสภาพเสื่อมโทรมหรือมีเหตุอื่นอันไม่สมควรที่จะเป็นวัดต่อไป เมื่อเจ้าอาวาสและนายอำเภอเห็นสมควรยุบเลิกวัด หรือในกรณีที่ไม่มีเจ้าอาวาส เมื่อนายอำเภอเห็นสมควรยุบเลิกวัด ให้รายงานผู้ว่าราชการจังหวัดพร้อมกับส่งบัญชีรายละเอียดทรัพย์สินของวัดที่จะยุบเลิกนั้น
ให้นำความในข้อ ๒๔ วรรคสอง และวรรคสาม มาใช้บังคับแก่การยุบเลิกวัดโดยอนุโลม
เมื่อสมเด็จพระสังฆราชทรงเห็นชอบแล้ว ให้กระทรวงศึกษาธิการประกาศยุบเลิกวัดในราชกิจจานุเบกษา
ข้อ ๒๘ ในกรณียุบเลิกวัด ทรัพย์สินของวัดที่ถูกยุบเลิก ให้ตกเป็นศาสนสมบัติกลางของคณะสงฆ์นั้น ๆ
ข้อ ๒๙ วัดใดร้างบรรพชิตไม่อาศัย ให้นายอำเภอรายงานต่อผู้ว่าราชการจังหวัด
เมื่อผู้ว่าราชการจังหวัดพิจารณาเห็นสมควรแล้ว ให้เสนอเรื่องและความเห็นไปยังกรมการศาสนาเพื่อนำปรึกษาเจ้าคณะใหญ่
เมื่อกรมการศาสนาและเจ้าคณะใหญ่พิจารณาเห็นสมควรแล้ว ให้นำกราบทูลสมเด็จพระสังฆราช
เมื่อสมเด็จพระสังฆราชทรงเห็นชอบแล้ว ให้กระทรวงศึกษาธิการดำเนินการประกาศยุบเลิกวัดในราชกิจจานุเบกษา
หมวด ๘
การขอรับพระราชทานวิสุงคามสีมา
ข้อ ๓๐ วัดที่สมควรได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา ต้องปรากฏว่าได้สร้างขึ้นหรือได้ปฏิสังขรณ์เป็นหลักฐานถาวร และมีบรรพชิตอยู่ประจำไม่น้อยกว่าห้ารูปติดต่อกันเป็นเวลาไม่น้อยกว่าห้าปี แต่ระยะเวลาห้าปีนี้มิให้ใช้บังคับแก่วัดที่ได้สร้างอุโบสถเสร็จเรียบร้อยแล้ว
ให้เจ้าอาวาสแห่งวัดนั้นเสนอรายงานขอรับพระราชทานวิสุงคามสีมาต่อเจ้าคณะใหญ่ และเมื่อเจ้าคณะใหญ่พิจารณาเห็นสมควรแล้ว ให้นำปรึกษากรมการศาสนา
เมื่อเจ้าคณะใหญ่และกรมการศาสนาพิจารณาเห็นสมควรแล้ว ให้นำกราบทูลสมเด็จพระสังฆราช
เมื่อสมเด็จพระสังฆราชทรงเห็นชอบแล้ว ให้กระทรวงศึกษาธิการนำความกราบบังคมทูลขอรับพระราชทานวิสุงคามสีมาต่อไป
ข้อ ๓๑ เมื่อได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาแก่วัดใดแล้ว ให้นายอำเภอแห่งท้องที่ที่วัดนั้นตั้งอยู่ดำเนินการปักหมายเขตที่ดินตามที่ได้พระราชทาน
หมวด ๙
เบ็ดเตล็ด
ข้อ ๓๒ บรรพชิตในคณะสงฆ์ซึ่งดำรงตำแหน่งเจ้าคณะใหญ่ รองเจ้าคณะใหญ่ ผู้ช่วยเจ้าคณะใหญ่ ปลัดขวา ปลัดซ้าย รองปลัดขวา รองปลัดซ้าย ผู้ช่วยปลัดขวา ผู้ช่วยปลัดซ้าย เจ้าอาวาส รองเจ้าอาวาส หรือผู้ช่วยเจ้าอาวาส หรือดำรงตำแหน่งอื่นอยู่ในวันที่กระทรวงนี้ใช้บังคับให้ถือว่าเป็นผู้ดำรงตำแหน่งนั้นตามกฎกระทรวงนี้แล้วแต่กรณี
ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๒๐
ภิญโญ สาธร
(นายภิญโญ สาธร)
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
* จากแถลงการณ์คณะสงฆ์ เล่ม ๕๖ ตอนที่ ๖ : ๒๒ มิถุนายน ๒๕๒๐
Views: 5