กฎกระทรวง ฉบับที่ ๕ (พ.ศ. ๒๕๓๘)

กฎกระทรวง

ฉบับที่ ๕ (พ.ศ. ๒๕๓๘)

ออกตามความในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์

พ.ศ. ๒๕๐๕ *

————————

        อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๖ แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ และมาตรา ๓๒ ทวิ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๕ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้

        ข้อ ๑ การยกวัดร้างขึ้นเป็นวัดที่พระภิกษุอยู่จำพรรษาให้กระทำได้เมื่อประชาชนได้มีหนังสือถึงเจ้าคณะอำเภอหรือนายอำเภอแห่งท้องที่ที่วัดร้างนั้นตั้งอยู่ว่าตนมีศรัทธาที่จะบูรณะปฏิสังขรณ์วัดร้างนั้นให้เป็นวัดมีพระภิกษุอยู่จำพรรษา โดยแสดงหลักฐานว่าตนมีทรัพย์สินพอที่จะบูรณะปฏิสังขรณ์วัดร้างนั้นให้เป็นวัดมีพระภิกษุอยู่จำพรรษาได้ และจะจัดให้มีพระภิกษุมาอยู่อาศัยและจำพรรษาในวัดได้ไม่น้อยกว่าสี่รูป ภายใน ๑ ปี นับแต่วันที่ได้มีหนังสือต่อเจ้าคณะอำเภอหรือนายอำเภอ

        ข้อ ๒ เมื่อเจ้าคณะอำเภอหรือนายอำเภอได้รับหนังสือตามข้อ ๑ ให้เจ้าคณะอำเภอและนายอำเภอร่วมกันพิจารณาว่า สมควรจะยกวัดร้างขึ้นเป็นวัดมีพระภิกษุอยู่จำพรรษาหรือไม่ถ้าพิจารณาเห็นพ้องต้องกันว่า

             (๑) วัดร้างนั้นอยู่ในสภาพที่สมควรเป็นที่อยู่อาศัยและจำพรรษาของพระภิกษุ

             (๒) มีประชาชนในละแวกใกล้เคียงจำนวนมากพอที่จะทำนุบำรุงให้วัดเจริญได้

             (๓) ตั้งอยู่ห่างวัดที่มีพระภิกษุอยู่จำพรรษาไม่ต่ำกว่า ๒ กิโลเมตร เว้นแต่จะมีเหตุอันสมควร

             (๔) มีที่ดินพอที่จะขยายให้วัดเจริญได้ซึ่งไม่ต่ำกว่า ๖ ไร่ เว้นแต่จะมีเหตุจำเป็น และ

             (๕) พอใจในหลักฐานของประชาชนตามข้อ ๑ ที่จะบูรณะปฏิสังขรณ์วัดร้างนั้นให้เป็นวัดมีพระภิกษุอยู่จำพรรษาและสามารถจัดให้มีพระภิกษุมาอยู่อาศัยและจำพรรษาและจำพรรษาในวัดได้ไม่น้อยกว่าสี่รูป

        ให้เจ้าคณะอำเภอและนายอำเภอร่วมกันรายงานการขอยกวัดร้างนั้นขึ้นเป็นวัดมีพระภิกษุอยู่จำพรรษาต่อเจ้าคณะจังหวัดตามแบบที่กรมการศาสนากำหนด

        ข้อ ๓ รายงานการขอยกวัดร้างขึ้นเป็นวัดมีพระภิกษุอยู่จำพรรษาตามข้อ ๒ ให้แสดงรายการ ดังนี้

             (๑) ที่ตั้งของวัด

             (๒) อาณาเขต เนื้อที่และแผนที่แสดงที่ดินของวัด

             (๓) ถาวรวัตถุและปูชนียสถาน (ถ้ามี) พร้อมทั้งแผนผัง

             (๔) จำนวนพระภิกษุที่จะอยู่อาศัยและจำพรรษา และพระภิกษุที่จะเป็นเจ้าอาวาส

             (๕) ระยะห่างจากวัดที่มีพระภิกษุอยู่จำพรรษาในละแวกใกล้เคียง

             (๖) จำนวนประชาชนในละแวกใกล้เคียงที่จะใช้วัดประกอบศาสนกิจ

             (๗) ความเห็นของเจ้าคณะอำเภอและนายอำเภอแห่งท้องที่ที่วัดร้างนั้นตั้งอยู่

        ข้อ ๔ เมื่อเจ้าคณะจังหวัดได้พิจารณาเห็นชอบตามรายงานของเจ้าคณะอำเภอและนายอำเภอแล้ว ให้เสนอเรื่องต่อผู้ว่าราชการจังหวัดเพื่อทำความเห็นเสนอต่อไปยังกรมการศาสนา

        ข้อ ๕ ให้กรมการศาสนาพิจารณารายงานการขอยกวัดร้างขึ้นเป็นวัดมีพระภิกษุอยู่จำพรรษา แล้วทำความเห็นเสนอต่อมหาเถรสมาคมเพื่อขอความเห็นชอบ ในกรณีที่มีข้อสงสัยมหาเถรสมาคมจะให้กรมการศาสนามีหนังสือสอบถามเจ้าคณะภาคและเจ้าคณะใหญ่ซึ่งรับผิดชอบท้องที่ที่วัดร้างนั้นตั้งอยู่ก็ได้

        การวินิจฉัยของมหาเถรสมาคมให้เป็นที่สุด

        ข้อ ๖ เมื่อมหาเถรสมาคมเห็นชอบแล้ว ให้กรมการศาสนาประกาศยกวัดร้างนั้นขึ้นเป็นวัดมีพระภิกษุอยู่จำพรรษา และแจ้งให้เจ้าคณะพระสังฆาธิการเจ้าสังกัดรับวัดนั้นไว้ในความปกครองดูแล แล้วแจ้งให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอแห่งท้องที่ที่วัดนั้นตั้งอยู่ทราบ

        ข้อ ๗ ให้กรมการศาสนาจัดทำทะเบียนวัดร้างและแบบรายงานการยกวัดร้างขึ้นเป็นวัดมีพระภิกษุอยู่จำพรรษา

ให้ไว้ ณ วันที่ ๗ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๓๘

นายสุขวิช   รังสิตพล

(นายสุขวิช   รังสิตพล)

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ


*  จากแถลงการณ์คณะสงฆ์ เล่ม ๘๓ ตอนที่ ๙ : ๒๕ กันยายน ๒๕๓๘

Views: 12