กฎมหาเถรสมาคม (๑)
ฉบับที่ ๑ (พ.ศ. ๒๕๐๖)
ว่าด้วยระเบียบการประชุมมหาเถรสมาคม
———————–
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๗ และมาตรา ๑๘ แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ มหาเถรสมาคมตรากฎมหาเถรสมาคมไว้ ดังต่อไปนี้
ข้อ ๑ กฎมหาเถรสมาคมนี้ เรียกว่า “กฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ ๑ (พ.ศ. ๒๕๐๖) ว่าด้วยระเบียบการประชุมมหาเถรสมาคม”
ข้อ ๒ กฎมหาเถรสมาคมนี้ ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในแถลงการณ์คณะสงฆ์เป็นต้นไป
หมวด ๑
บททั่วไป
ข้อ ๓ การประชุมมหาเถรสมาคม มี ๒ อย่าง
(๑) การประชุมปรกติ
(๒) การประชุมพิเศษ
ข้อ ๔ การนัดประชุมมหาเถรสมาคม ต้องออกหนังสือนัดล่วงหน้าไม่น้อยกว่า ๒ วัน หากเป็นการด่วน จะนัดเร็วกว่านี้ หรือนัดโดยวิธีอื่นก็ได้
ข้อ ๕ การนัดประชุมมหาเถรสมาคม ให้ส่งระเบียบวาระการประชุมด้วย เว้นแต่เป็นการด่วน
ข้อ ๖ การตั้งระเบียบวาระการประชุม โดยปรกติให้ตั้งตามลำดับ ดังนี้
(๑) รับรองรายงานการประชุม
(๒) เรื่องด่วน
(๓) เรื่องอื่น ฯ
ข้อ ๗ เมื่อประธานมีเรื่องที่จะแจ้งให้ที่ประชุมทราบ ก่อนเริ่มปรึกษาตามระเบียบวาระ ก็ให้แจ้งต่อที่ประชุม แล้วดำเนินการประชุมตามระเบียบวาระ เว้นแต่ที่ประชุมจะตกลงเป็นอย่างอื่นในคราวนั้น
ข้อ ๘ ในการประชุมมหาเถรสมาคม ที่ประชุมอาจตั้งคณะอนุกรรมการ เพื่อกระทำกิจการใด ๆ อันเกี่ยวกับกิจการคณะสงฆ์เป็นการประจำ หรือชั่วคราว หรือเฉพาะเรื่องใดเรื่องหนึ่งก็ได้
ในการเลือกตั้งคณะอนุกรรมการตามความในวรรคต้นให้เลือกกรรมการมหาเถรสมาคมรูปใดรูปหนึ่งเป็นประธานคณะอนุกรรมการ โดยตำแหน่ง อนุกรรมการนอกจากนี้ จะเลือกจากกรรมการมหาเถรสมาคม หรือผู้ทรงคุณวุฒิก็ได้ และให้คณะอนุกรรมการเลือกกันเองเป็นเลขานุการ ถ้าเห็นสมควร จะเลือกกันเองเป็นรองประธานหรือผู้ช่วยเลขานุการก็ได้
ให้คณะอนุกรรมการตามความในวรรคต้น มีอำนาจหน้าที่ดำเนินการตามที่ได้รับมอบหมายจากมหาเถรสมาคม
ข้อ ๙ ในการประชุมมหาเถรสมาคม ให้เลขาธิการมหาเถรสมาคมทำรายงานการประชุม และเมื่อที่ประชุมกรรมการมหาเถรสมาคม หรือกรรมการมหาเถรสมาคมที่ได้เข้าประชุมในครั้งนั้นทุกรูปได้รับรองแล้ว ให้ประธานกรรมการมหาเถรสมาคมลงนามไว้เป็นสำคัญ
ข้อ ๑๐ เมื่อมีปัญหาเกี่ยวกับการประชุมมหาเถรสมาคม ซึ่งมิได้กำหนดไว้ใน กฎมหาเถรสมาคมนี้ ให้ปฏิบัติตามมติของที่ประชุมมหาเถรสมาคม
หมวด ๒
การประชุม
ข้อ ๑๑ การประชุมปรกติ ได้แก่การประชุมตามวาระที่มหาเถรสมาคมกำหนดไว้เป็นการประจำ เพื่อพิจารณาดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของมหาเถรสมาคม
ข้อ ๑๒ การประชุมพิเศษ ได้แก่การประชุมนอกจากวาระที่ได้กำหนดไว้เป็นการประจำ เพื่อพิจารณาดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งตามอำนาจหน้าที่
ข้อ ๑๓ ร่างกฎมหาเถรสมาคม ร่างข้อบังคับ ระเบียบ หรือคำสั่งมหาเถรสมาคมให้มีบันทึกหลักการและเหตุผลประกอบด้วย
ให้เลขาธิการมหาเถรสมาคม ส่งร่างกฎมหาเถรสมาคม ร่างข้อบังคับ ระเบียบหรือคำสั่งมหาเถรสมาคม แก่กรรมการมหาเถรสมาคม ล่วงหน้าอย่างน้อย ๓ วัน ก่อนวันประชุม เว้นแต่เป็นการด่วน
ข้อ ๑๔ ที่ประชุมจะต้องพิจารณาร่างกฎมหาเถรสมาคม ร่างข้อบังคับ ระเบียบ หรือคำสั่งมหาเถรสมาคมเป็น ๓ วาระ หรือจะพิจารณารวดเดียว ๓ วาระก็ได้
ในการพิจารณาเป็น ๓ วาระนั้น ให้เลขาธิการมหาเถรสมาคมส่งร่างนั้นไปให้คณะอนุกรรมการพิจารณาโดยละเอียด ภายในเวลาซึ่งที่ประชุมกำหนด เว้นแต่ที่ประชุมจะตกลงเป็นอย่างอื่น
กรรมการมหาเถรสมาคมรูปใด เห็นควรจะแก้ไขเพิ่มเติมในเรื่องใด ก็ให้แก้ต่อประธานคณะอนุกรรมการ
ข้อ ๑๕ ให้คณะอนุกรรมการทำรายงาน และบันทึกความเห็นพร้อมด้วยร่างเดิม และร่างที่แก้ไขเพิ่มเติม ยื่นต่อประธานกรรมการมหาเถรสมาคม เพื่อพิจารณาในวาระที่ ๒ ต่อไป
ข้อ ๑๖ ในการพิจารณาวาระที่ ๒ ให้ที่ประชุมพิจารณาเรียงตามลำดับข้อเว้นแต่ที่ประชุมจะเห็นเป็นอย่างอื่น
ในการนี้ ประธานกรรมการมหาเถรสมาคมจะให้คณะอนุกรรมการเข้าชี้แจงประกอบ การพิจารณาด้วยก็ได้
ข้อ ๑๗ ในการพิจารณาวาระที่ ๓ ให้ที่ประชุมพิจารณาร่างที่ได้แก้ไขแล้วนั้นว่า สมควรจะออกเป็นกฎมหาเถรสมาคม ข้อบังคับระเบียบ หรือคำสั่งมหาเถรสมาคมหรือไม่ถ้าที่ประชุมพิจารณาเห็นชอบแล้ว ให้ดำเนินการเพื่อใช้บังคับต่อไป
ข้อ ๑๘ การลงมติข้อปรึกษาในการประชุมมหาเถรสมาคม ถ้าข้อปรึกษานั้นเป็นปัญหาเกี่ยวกับการตีความพระธรรมวินัย เมื่อมีข้อสงสัย ให้ตีความไปในทางรักษา พระธรรมวินัยโดยเคร่งครัด
ถ้าข้อปรึกษานั้น เกี่ยวกับกิจการพระศาสนา ซึ่งมิได้บัญญัติไว้ในพระธรรมวินัย ให้ถือเอาเสียงข้างมากเป็นประมาณ ถ้ามีจำนวนเสียงเท่ากัน ให้ประธานในที่ประชุมชี้ขาด หรือจะให้ระงับเรื่องนั้นไว้ก็ได้
หมวด ๓
การประชุมคณะอนุกรรมการ
ข้อ ๑๙ การนัดประชุมคณะอนุกรรมการ ให้เป็นหน้าที่ของเลขานุการคณะอนุกรรมการ
ข้อ ๒๐ การประชุมคณะอนุกรรมการทุกคราว ต้องมีอนุกรรมการมาประชุมไม่ต่ำกว่ากึ่งจำนวน จึงเป็นองค์ประชุม
ข้อ ๒๑ คณะอนุกรรมการอาจนิมนต์พระภิกษุรูปใด หรือเชิญผู้ทรงคุณวุฒิใด ๆ มาชี้แจงแสดงความคิดเห็นในเรื่องที่พิจารณาอยู่นั้นได้
ข้อ ๒๒ กรรมการมหาเถรสมาคม ผู้แทนกรมการศาสนา ผู้แทนกระทรวงศึกษาธิการ อาจเข้าฟังการประชุมของคณะกรรมการได้
ตราไว้ ณ วันที่ ๒๙ มกราคม พ.ศ. ๒๕๐๖
สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช
ประธานกรรมการมหาเถรสมาคม
หมายเหตุ:-
เหตุผลในการประกาศใช้กฎมหาเถรสมาคมฉบับนี้ คือ โดยที่มีบทบัญญัติในมาตรา ๑๘ แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ บัญญัติให้มหาเถรสมาคม มีอำนาจหน้าที่ปกครองคณะสงฆ์ให้เป็นไปโดยเรียบร้อย เพื่อการนี้ให้มีอำนาจตรากฎมหาเถรสมาคมออกข้อบังคับวางระเบียบ หรือออกคำสั่งใช้บังคับได้
ฉะนั้น
ในการประชุมมหาเถรสมาคมเพื่อร่างกฎมหาเถรสมาคมออกข้อบังคับ
วางระเบียบหรือออกคำสั่งมหาเถรสมาคม จึงนับเป็นกรณีสำคัญ สมควรตรากฎมหาเถรสมาคม
ว่าด้วยระเบียบการประชุมมหาเถรสมาคมขึ้น
ตามความในมาตรา ๑๗ วรรค ๒
เพื่อให้การประชุมดังกล่าวดำเนินไปโดยเรียบร้อย.
(๑) ประกาศในแถลงการณ์คณะสงฆ์ เล่ม ๕๑ ภาค ๑ ตอนที่ ๓ วันที่ ๓๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๐๖
Hits: 3