กฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ ๑ แก้ไขเพิ่มเติม (พ.ศ. ๒๕๒๐)

กฎมหาเถรสมาคม

ฉบับที่ ๑ แก้ไขเพิ่มเติม (พ.ศ. ๒๕๒๐) (๑)

ว่าด้วยระเบียบการประชุมมหาเถรสมาคม

———————–

         อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๗ และมาตรา ๑๘ แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕  มหาเถรสมาคมตรากฎมหาเถรสมาคมไว้  ดังต่อไปนี้

         ข้อ ๑ กฎมหาเถรสมาคมนี้เรียกว่า “กฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ ๑ แก้ไขเพิ่มเติม (พ.ศ. ๒๕๒๐) ว่าด้วยระเบียบการประชุมมหาเถรสมาคม”

         ข้อ ๒ กฎมหาเถรสมาคมนี้ ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในแถลงการคณะสงฆ์เป็นต้นไป

        ข้อ ๓ ให้ยกเลิกความในข้อ ๘ แห่งกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ ๑ (พ.ศ. ๒๕๐๖) ว่าด้วยระเบียบการประชุมมหาเถรสมาคม  และให้ใช้ความดังต่อไปนี้แทน

              “ข้อ ๘ ในการประชุมมหาเถรสมาคม ที่ประชุมอาจตั้งคณะกรรมการหรือคณะอนุกรรมการเพื่อกระทำกิจการใด ๆ อันเกี่ยวกับกิจการคณะสงฆ์เป็นการประจำหรือชั่วคราวหรือเฉพาะเรื่องใดเรื่องหนึ่งก็ได้

              ในการเลือกตั้งคณะกรรมการหรือคณะอนุกรรมการตามความในวรรคต้น ให้เลือกกรรมการมหาเถรสมาคมรูปใดรูปหนึ่งเป็นประธานคณะกรรมการ หรือประธานคณะอนุกรรมการโดยตำแหน่ง กรรมการหรืออนุกรรมการนอกจากนี้ จะเลือกจากกรรมการมหาเถรสมาคมหรือผู้ทรงคุณวุฒิก็ได้ และให้คณะกรรมการหรือคณะอนุกรรมการเลือกกันเองเป็นเลขานุการ ถ้าเห็นสมควรจะเลือกกันเองเป็นรองประธานหรือผู้ช่วยเลขานุการก็ได้

              ให้คณะกรรมการและคณะอนุกรรมการตามความในวรรคต้น มีอำนาจหน้าที่ดำเนินการตามที่ได้รับมอบหมายจากมหาเถรสมาคม”

         ข้อ ๔ ให้ยกเลิกความในวรรค ๒ และวรรค ๓ ข้อ ๑๔ แห่งกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ ๑ (พ.ศ. ๒๕๐๖) ว่าด้วยระเบียบการประชุมมหาเถรสมาคม และให้ใช้ความดังต่อไปนี้ แทน

              “ในการพิจารณาเป็น ๓ วาระนั้น ให้เลขาธิการมหาเถรสมาคมส่งร่างนั้นไปให้คณะกรรมการ หรือคณะอนุกรรมการพิจารณาโดยละเอียดภายในเวลาซึ่งที่ประชุมกำหนด  เว้นแต่ที่ประชุมจะตกลงเป็นอย่างอื่น

              กรรมการมหาเถรสมาคมรูปใด เห็นควรจะแก้ไขเพิ่มเติมในเรื่องใด ก็ให้แก้ต่อประธานคณะกรรมการหรือประธานคณะอนุกรรมการ”

         ข้อ ๕ ให้ยกเลิกความในข้อ ๑๕ แห่งกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ ๑ (พ.ศ. ๒๕๐๖) ว่าด้วยระเบียบการประชุมมหาเถรสมาคม และให้ใช้ความดังต่อไปนี้ แทน

              “ข้อ ๑๕ ให้คณะกรรมการหรือคณะอนุกรรมการทำรายงานและบันทึกความเห็นพร้อมด้วยร่างที่แก้ไขเพิ่มเติม ยื่นต่อประธานกรรมการมหาเถรสมาคม เพื่อพิจารณาในวาระที่ ๒  ต่อไป”

         ข้อ ๖ ให้ยกเลิกความในวรรค ๒ ข้อ ๑๖ แห่งกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ ๑ (พ.ศ. ๒๕๐๖) ว่าด้วยระเบียบการประชุมมหาเถรสมาคม และให้ใช้ความดังต่อไปนี้ แทน

              “ในการนี้ ประธานกรรมการมหาเถรสมาคม จะให้คณะกรรมการ หรือคณะอนุกรรมการเข้าชี้แจงประกอบการพิจารณาด้วยก็ได้”

         ข้อ ๗ ให้ยกเลิกความในหมวด ๓ แห่งกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ ๑ (พ.ศ.๒๕๐๖) ว่าด้วยระเบียบการประชุมมหาเถรสมาคม และให้ใช้ความดังต่อไปนี้ แทน

หมวด ๓
การประชุมคณะกรรมการหรือคณะอนุกรรมการ

        ข้อ ๑๙ การนัดประชุมคณะกรรมการหรือคณะอนุกรรมการให้เป็นหน้าที่ของเลขานุการคณะกรรมการหรือเลขานุการคณะอนุกรรมการ

         ข้อ ๒๐ การประชุมคณะกรรมการหรือคณะอนุกรรมการทุกคราว ต้องมีกรรมการหรืออนุกรรมการมาประชุมไม่ต่ำกว่ากึ่งจำนวน จึงเป็นองค์ประชุม

         ข้อ ๒๑ คณะกรรมการหรือคณะอนุกรรมการอาจนิมนต์พระภิกษุรูปใด หรือเชิญผู้ทรงคุณวุฒิใด ๆ  มาชี้แจงแสดงความคิดเห็นในเรื่องที่พิจารณาอยู่นั้นได้

         ข้อ ๒๒ กรรมการมหาเถรสมาคม ผู้แทนกรมการศาสนา ผู้แทนกระทรวงศึกษาธิการ อาจเข้าฟังการประชุมของคณะกรรมการหรือคณะอนุกรรมการได้”

ตราไว้ ณ วันที่ ๒๑ กันยายน ๒๕๒๐

สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ

ประธานกรรมการมหาเถรสมาคม

หมายเหตุ:-

              เหตุผลในการประกาศใช้กฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ ๑ แก้ไขเพิ่มเติม (พ.ศ. ๒๕๒๐) คือ เพื่อส่งเสริมการบริหารงานของมหาเถรสมาคม ให้ดำเนินไปโดยกว้างขวาง และรวดเร็ว สมควรมีบทบัญญัติให้มหาเถรสมาคม แต่งตั้งกรรมการขึ้นช่วยปฏิบัติงานได้  จึงต้องแก้ไขเพิ่มเติมกฎมหาเถรสมาคม เพื่อให้การปฏิบัติงานของมหาเถรสมาคม  เป็นไปด้วยความเรียบร้อยและมีประสิทธิภาพ


(๑) ประกาศในแถลงการณ์คณะสงฆ์  เล่ม ๖๕  ตอนที่ ๙  วันที ๒๕ กันยายน ๒๕๒๐

Hits: 40