กฎมหาเถรสมาคม
ฉบับที่ ๕ (พ.ศ. ๒๕๐๖) [1]
ว่าด้วยการแต่งตั้งถอดถอนพระสังฆาธิการ
————————
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๘ และมาตรา ๒๓ แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ มหาเถรสมาคมตรากฎมหาเถรสมาคมไว้ ดังต่อไปนี
ข้อ ๑ กฎมหาเถรสมาคมนี้เรียกว่า “กฎมหาเถรสมาคมฉบับที่ ๕ (พ.ศ. ๒๕๐๖) ว่าด้วยการแต่งตั้งถอดถอนพระสังฆาธิการ”
ข้อ ๒ กฎมหาเถรสมาคมนี้ ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในแถลงการณ์คณะสงฆ์เป็นต้นไป
ข้อ ๓ ตั้งแต่วันใช้กฎมหาเถรสมาคมนี้ ให้ยกเลิกบรรดาสังฆาณัติ กติกาสงฆ์ กฎองค์การ พระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช ข้อบังคับ และระเบียบเกี่ยวกับคณะสงฆ์ ที่บัญญัติไว้แล้วในกฎมหาเถรสมาคมนี้ หรือซึ่งขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติแห่งกฎมหาเถรสมาคมนี้
หมวด ๑
บททั่วไป
ข้อ ๔ ในกฎมหาเถรสมาคมนี้ พระสังฆาธิการ หมายถึง พระภิกษุผู้ดำรงตำแหน่งปกครองคณะสงฆ์ ดังต่อไปนี้
๑. เจ้าคณะภาค รองเจ้าคณะภาค
๒. เจ้าคณะจังหวัด รองเจ้าคณะจังหวัด
๓. เจ้าคณะอำเภอ รองเจ้าคณะอำเภอ
๔. เจ้าคณะตำบล รองเจ้าคณะตำบล
๕. เจ้าอาวาส รองเจ้าอาวาส ผู้ช่วยเจ้าอาวาส
ส่วนตำแหน่งที่เรียกชื่ออย่างอื่น จะได้มีระเบียบมหาเถรสมาคมกำหนดเทียบกับตำแหน่ง ที่กล่าวแล้ว
ข้อ ๕ พระภิกษุผู้ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัด เจ้าคณะอำเภอ เจ้าคณะตำบล เจ้าอาวาส รองเจ้าอาวาส ผู้ช่วยเจ้าอาวาส อยู่ก่อนวันใช้พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ ให้ถือว่าเป็นพระสังฆาธิการผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวนั้นตามกฎมหาเถรสมาคมนี
ส่วนผู้รักษาการแทนในหน้าที่ของตำแหน่งดังกล่าวในวรรคต้น ก่อนวันใช้พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ ให้ถือว่าเป็นผู้รักษาการแทนในตำแหน่งนั้น ๆ
หมวด ๒
การแต่งตั้งพระสังฆาธิการ
ข้อ ๖ พระภิกษุผู้จะดำรงตำแหน่งตามความในข้อ ๔ ต้องมีคุณสมบัติทั่วไป ดังต่อไปนี้
(๑) มีพรรษาสมควรแก่ตำแหน่ง
(๒) มีความรู้สมควรแก่ตำแหน่ง
(๓) มีความประพฤติเรียบร้อยตามพระธรรมวินัย
(๔) เป็นผู้ฉลาดสามารถในการปกครองคณะสงฆ์
(๕) ไม่เป็นผู้มีร่างกายทุพพลภาพ ไร้ความสามารถ หรือมีจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ หรือเป็นโรคเรื้อน หรือเป็นวัณโรคในระยะอันตรายจนเป็นที่น่ารังเกียจ
(๖) ไม่เคยต้องคำวินิจฉัยลงโทษในอธิกรณ์ที่พึงรังเกียจมาก่อน
(๗) ไม่เคยถูกถอดถอนหรือปลดจากตำแหน่งใด เพราะความผิดมาก่อน
ส่วนที่ ๑
เจ้าคณะภาค
ข้อ ๗ พระภิกษุผู้จะดำรงตำแหน่งเจ้าคณะภาค ต้องมีคุณสมบัติโดยเฉพาะอีกส่วนหนึ่ง ดังนี้
(๑) มีพรรษาพ้น ๑๐ และ
(๒) กำลังดำรงตำแหน่งรองเจ้าคณะภาคมาแล้วไม่ต่ำกว่าสองปี หรือ
(๓) ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดในภาคนั้นมาแล้วไม่ต่ำกว่าสี่ปี หรือ
(๔) มีสมณศักดิ์ไม่ต่ำกว่าพระราชาคณะชั้นเทพ หรือ
(๕) เป็นพระราชาคณะซึ่งเป็นพระคณาจารย์เอก หรือเปรียญ ๙ ประโยค
ถ้าจะคัดเลือกพระภิกษุผู้มีคุณสมบัติตาม (๒) (๓) (๔) หรือ (๕) ไม่ได้ หรือได้แต่ไม่เหมาะสม มหาเถรสมาคมอาจพิจารณาผ่อนผันได้เฉพาะกรณี
ข้อ ๘ ในการแต่งตั้งเจ้าคณะภาค เป็นหน้าที่ของเจ้าคณะใหญ่พิจารณาคัดเลือกพระภิกษุผู้มีคุณสมบัติตามข้อ ๖ และข้อ ๗ เสนอมหาเถรสมาคมพิจารณา เพื่อมีพระบัญชาแต่งตั้ง
เจ้าคณะภาคอยู่ในตำแหน่งคราวละ ๔ ปี และอาจได้รับแต่งตั้งอีกได้
ข้อ ๙ ในการแต่งตั้งรองเจ้าคณะภาค ให้นำบทบัญญัติในข้อ ๘ วรรคหนึ่งมาใช้บังคับโดยอนุโลม
ข้อ ๑๐ พระภิกษุผู้จะเป็นเลขานุการเจ้าคณะภาค หรือเลขานุการรองเจ้าคณะภาค ต้องมีคุณสมบัติตามความในข้อ ๖ โดยอนุโลม
ในการแต่งตั้งเลขานุการดังกล่าวในวรรคต้น ให้เจ้าคณะภาคหรือรองเจ้าคณะภาคแล้วแต่กรณี พิจารณาแต่งตั้ง
เลขานุการดังกล่าวในวรรคสอง พ้นจากหน้าที่ในเมื่อผู้แต่งตั้งให้พ้นจากหน้าที่หรือผู้แต่งตั้งพ้นจากตำแหน่ง
เมื่อมีการแต่งตั้งหรือให้พ้นจากหน้าที่แล้ว ให้รายงานเจ้าคณะใหญ่เพื่อทราบ
ส่วนที่ ๒
เจ้าคณะจังหวัด
ข้อ ๑๑ พระภิกษุผู้จะดำรงตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัด ต้องมีคุณสมบัติโดยเฉพาะอีกส่วนหนึ่ง ดังนี้
(๑) มีพรรษาพ้น ๑๐ กับมีสำนักอยู่ในเขตจังหวัดนั้น และ
(๒) กำลังดำรงตำแหน่งรองเจ้าคณะจังหวัดนั้นมาแล้วไม่ต่ำกว่าสองปี หรือ
(๓) ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะอำเภอในจังหวัดนั้นมาแล้วไม่ต่ำกว่าสี่ปี
(๔) มีสมณศักดิ์ไม่ต่ำกว่าพระราชาคณะชั้นสามัญ หรือเป็นพระคณาจารย์โทขึ้นไป หรือเป็นเปรียญไม่ตำกว่า ๖ ประโยค
ถ้าจะคัดเลือกพระภิกษุผู้มีคุณสมบัติตาม (๒) (๓) หรือ (๔) ไม่ได้ หรือได้แต่ไม่เหมาะสม สมเด็จพระสังฆราชอาจทรงพิจารณาผ่อนผันได้เฉพาะกรณี
ข้อ ๑๒ ในการแต่งตั้งเจ้าคณะจังหวัดในภาคใด ให้เจ้าคณะภาคนั้นพิจารณาคัดเลือกพระภิกษุผู้มีคุณสมบัติตามข้อ ๖ และข้อ ๑๑ เสนอเจ้าคณะใหญ่พิจารณา เพื่อมีพระบัญชาแต่งตั้ง
ข้อ ๑๓ ในการแต่งตั้งรองเจ้าคณะจังหวัด ให้นำบทบัญญัติในข้อ ๑๒ มาใช้บังคับโดยอนุโลม
ข้อ ๑๔ พระภิกษุผู้จะเป็นเลขานุการเจ้าคณะจังหวัด ต้องมีคุณสมบัติตามความในข้อ ๖ โดยอนุโลม
ในการแต่งตั้งเลขานุการเจ้าคณะจังหวัด ให้เจ้าคณะจังหวัดพิจารณาแต่งตั้ง
เลขานุการเจ้าคณะจังหวัดพ้นจากหน้าที่ในเมื่อผู้แต่งตั้งให้พ้นจากหน้าที่ หรือผู้แต่งตั้งพ้นจากตำแหน่ง
เมื่อมีการแต่งตั้งหรือให้พ้นจากหน้าที่แล้ว ให้รายงานเจ้าคณะภาคเพื่อทราบ
ส่วนที่ ๓
เจ้าคณะอำเภอ
ข้อ ๑๕ พระภิกษุผู้จะดำรงตำแหน่งเจ้าคณะอำเภอ ต้องมีคุณสมบัติโดยเฉพาะ อีกส่วนหนึ่ง ดังนี้
(๑) มีพรรษาพ้น ๕ และ
(๒) กำลังดำรงตำแหน่งรองเจ้าคณะอำเภอนั้นมาแล้วไม่ต่ำกว่าสองปี หรือ
(๓) ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะตำบลในอำเภอนั้นมาแล้วไม่ต่ำกว่าสี่ปี หรือ
(๔) มีสมณศักดิ์ไม่ต่ำกว่าชั้นสัญญาบัตร หรือเป็นคณาจารย์ตรีขึ้นไป หรือเป็นเปรียญธรรมไม่ต่ำกว่า ๔ ประโยค
ถ้าจะคัดเลือกพระภิกษุผู้มีคุณสมบัติตาม (๒) (๓) หรือ (๔) ไม่ได้ หรือได้แต่ไม่เหมาะสม เจ้าคณะภาคอาจพิจารณาผ่อนผันได้เฉพาะกรณี โดยอนุมัติของเจ้าคณะใหญ่
ข้อ ๑๖ ในการแต่งตั้งเจ้าคณะอำเภอในจังหวัดใด ให้เจ้าคณะจังหวัดนั้นคัดเลือกพระภิกษุผู้มีคุณสมบัติตามข้อ ๖ และข้อ ๑๕ เสนอเจ้าคณะภาค เพื่อพิจารณาแต่งตั้ง โดยอนุมัติของเจ้าคณะใหญ่
ข้อ ๑๗ ในการแต่งตั้งรองเจ้าคณะอำเภอ ให้นำบทบัญญัติในข้อ ๑๖ มาใช้บังคับโดยอนุโลม
ข้อ ๑๘ พระภิกษุผู้จะเป็นเลขานุการเจ้าคณะอำเภอ ต้องมีคุณสมบัติตามความในข้อ ๖ โดยอนุโลม
ในการแต่งตั้งเลขานุการเจ้าคณะอำเภอ ให้เจ้าคณะอำเภอพิจารณาแต่งตั้ง
เลขานุการเจ้าคณะอำเภอพ้นจากหน้าที่ในเมื่อผู้แต่งตั้งพ้นจากหน้าที่ หรือผู้แต่งตั้งพ้นจากตำแหน่ง
เมื่อมีการแต่งตั้งหรือให้พ้นจากหน้าที่แล้ว ให้รายงานเจ้าคณะจังหวัดเพื่อทราบ
ส่วนที่ ๔
เจ้าคณะตำบล
ข้อ ๑๙ พระภิกษุผู้จะดำรงตำแหน่งเจ้าคณะตำบล ต้องมีคุณสมบัติโดยเฉพาะ อีกส่วนหนึ่ง ดังนี้
(๑) มีพรรษาพ้น ๕ และ
(๒) กำลังดำรงตำแหน่งรองเจ้าคณะตำบลนั้นมาแล้วไม่ต่ำกว่าสองปี หรือ
(๓) ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสในตำบลนั้นมาแล้วไม่ต่ำกว่าสี่ปี หรือ
(๔) เป็นพระภิกษุมีสมณศักดิ์ หรือเป็นคณาจารย์ หรือเป็นเปรียญธรรมหรือเป็นนักธรรมชั้นเอก
ข้อ ๒๐ ในการแต่งตั้งเจ้าคณะตำบลในอำเภอใด ให้เจ้าคณะอำเภอนั้นคัดเลือกพระภิกษุผู้มีคุณสมบัติตามข้อ ๖ และข้อ ๑๙ เสนอเจ้าคณะจังหวัดพิจารณาแต่งตั้ง เมื่อได้แต่งตั้งแล้ว ให้รายงานเจ้าคณะภาคเพื่อทราบ
ข้อ ๒๑ ในการแต่งตั้งรองเจ้าคณะตำบล ให้นำบทบัญญัติในข้อ ๒๐ มาใช้บังคับโดยอนุโลม
ส่วนที่ ๕
เจ้าอาวาส
ข้อ ๒๒ พระภิกษุผู้จะดำรงตำแหน่งเจ้าคณะเจ้าอาวาส ต้องมีคุณสมบัติโดยเฉพาะอีกส่วนหนึ่ง ดังนี้
(๑) มีพรรษาพ้น ๕ และ
(๒) เป็นผู้ทรงเกียรติคุณเป็นที่เคารพนับถือของบรรพชิต และคฤหัสถ์ในถิ่นนั้น
ข้อ ๒๓ ในการแต่งตั้งเจ้าอาวาสนอกจากพระอารามหลวงในตำบลใด ให้เป็นหน้าที่ของเจ้าคณะตำบลนั้นกับเจ้าคณะอำเภอปรึกษาสงฆ์และทายกทายิกาแห่งวัดนั้นพิจารณาพระภิกษุผู้มีคุณสมบัติตามข้อ ๖ และข้อ ๒๒ ถ้าปรึกษาเห็นพ้องกันในพระภิกษุรูปหนึ่งรูปใดก็ดี หรือเห็นแตกต่างกันในพระภิกษุหลายรูปก็ดี ให้เจ้าคณะอำเภอรายงานเสนอเจ้าคณะจังหวัดพิจารณา ถ้าเจ้าคณะจังหวัดเห็นสมควรในพระภิกษุรูปใด ก็ให้แต่งตั้งพระภิกษุรูปนั้นเป็นเจ้าอาวาส
ข้อ ๒๔ ในการแต่งตั้งรองเจ้าอาวาส ผู้ช่วยเจ้าอาวาส นอกจากพระอารามหลวงให้เจ้าอาวาสวัดนั้นพิจารณาคัดเลือกพระภิกษุผู้มีคุณสมบัติตามข้อ ๖ และข้อ ๒๒ เสนอผู้บังคับบัญชาตามลำดับ เพื่อเจ้าคณะจังหวัดพิจารณาแต่งตั้ง
ข้อ ๒๕ การแต่งตั้งเจ้าอาวาส รองเจ้าอาวาส หรือผู้ช่วยเจ้าอาวาสพระอารามหลวง ให้เป็นไปตามวิธีการที่กำหนดในระเบียบมหาเถรสมาคม
ส่วนที่ ๖
ที่ปรึกษาเจ้าคณะ
ข้อ ๒๖ การแต่งตั้งที่ปรึกษาเจ้าคณะตามความในข้อ ๒๔ แห่งกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ ๔ (พ.ศ. ๒๕๐๖) ว่าด้วยระเบียบการปกครองคณะสงฆ์ ให้เป็นไปตามมติมหาเถรสมาคม
ส่วนที่ ๗
เบ็ดเตล็ด
ข้อ ๒๗ เมื่อได้มีการแต่งตั้งพระภิกษุให้ดำรงตำแหน่งตามความในหมวด ๑ แห่งกฎมหาเถรสมาคมนี้แล้ว ให้ผู้มีอำนาจแต่งตั้งแจ้งให้กรมการศาสนาทราบภายใน ๓๐ วัน นับแต่วันแต่งตั้ง
หมวด ๓
การพ้นจากตำแหน่งหน้าที่พระสังฆาธิการ
ข้อ ๒๘ พระสังฆาธิการ ย่อมพ้นจากตำแหน่งหน้าที่ เมื่อ
(๑) ถึงมรณภาพ
(๒) พ้นจากความเป็นภิกษุ
(๓) ลาออก
(๔) ย้ายสำนักที่อยู่ออกไปนอกเขตอำนาจหน้าที่
(๕) ยกเป็นกิตติมศักดิ์
(๖) รับตำแหน่งหน้าที่สูงขึ้น หรือเป็นที่ปรึกษา
(๗) ให้ออกจากตำแหน่งหน้าที่
(๘) ถูกปลดจากตำแหน่งหน้าที่
(๙) ถูกถอดถอนจากตำแหน่งหน้าที่
ข้อ ๒๙ พระสังฆาธิการรูปใดประสงค์จะลาออกจากตำแหน่งหน้าที่ ก็ย่อมทำได้ เมื่อผู้มีอำนาจแต่งตั้งได้พิจารณาอนุญาตแล้ว จึงเป็นอันพ้นจากตำแหน่งหน้าที่
ข้อ ๓๐ ในกรณีที่พระสังฆาธิการทุกตำแหน่ง เว้นเจ้าคณะภาค รองเจ้าภาค ย้ายสำนักที่อยู่ออกไปนอกเขตอำนาจหน้าที่ของตน โดยได้รับอนุญาตหรือคำสั่งของผู้มีอำนาจแต่งตั้ง พระสังฆาธิการรูปนั้นย่อมพ้นจากตำแหน่งหน้าที่นั้น เว้นแต่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้รักษาการแทนในตำแหน่งเดิม
ข้อ ๓๑ พระสังฆาธิการรูปใดดำรงตำแหน่งหน้าที่โดยเรียบร้อยตลอดมาจนถึงชราทุพพลภาพหรือพิการ สมควรได้รับปลดเปลื้องภาระเพื่อให้พักผ่อนหรือรักษาตัวก็ให้ผู้มีอำนาจแต่งตั้งพิจารณายกเป็นกิตติมศักดิ์
ข้อ ๓๒ ในกรณีที่พระสังฆาธิการ ตั้งแต่ตำแหน่งรองเจ้าคณะตำบลขึ้นไป ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งหน้าที่พระสังฆาธิการสูงกว่าเดิม พระสังฆาธิการรูปนั้นย่อมพ้นจากตำแหน่งเดิม
ข้อ ๓๓ การให้ออกจากตำแหน่งหน้าที่ ให้ผู้มีอำนาจแต่งตั้งกระทำได้ในกรณีที่พระสังฆาธิการหย่อนความสามารถด้วยเหตุใด ๆ ในการปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งของตน
ข้อ ๓๔ การปลดและการถอดถอนจากตำแหน่งหน้าที่ ให้เป็นไปตามที่บัญญัติไว้ในหมวด ๔ แห่งกฎมหาเถรสมาคมนี้
ข้อ ๓๕ เมื่อพระสังฆาธิการ พ้นจากตำแหน่งหน้าที่ด้วยเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งตามความในข้อ ๒๘ ให้ผู้บังคับบัญชารายงานโดยลำดับจนถึงผู้มีอำนาจแต่งตั้งภายใน ๓๐ วัน และให้ผู้มีอำนาจแต่งตั้งแจ้งให้กรมการศาสนาทราบภายใน ๑๕ วัน นับแต่วันที่ได้รับรายงาน
หมวด ๔
จริยาพระสังฆาธิการ
———-
ส่วนที่ ๑
จริยา
ข้อ ๓๖ พระสังฆาธิการ ต้องเคารพเอื้อเฟื้อต่อพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ กฎกระทรวง กฎมหาเถรสมาคม พระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช ข้อบังคับ ระเบียบ และคำสั่งของมหาเถรสมาคม สังวรและปฏิบัติตามหลักพระธรรมวินัยโดยเคร่งครัด
ข้อ ๓๗ พระสังฆาธิการ ต้องเชื่อฟังและปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา ซึ่งสั่งโดยชอบด้วยหน้าที่ ถ้าไม่เห็นพ้องด้วยคำสั่งนั้น จะเสนอความเห็นทัดทานเป็นลายลักษณ์อักษรก็ได้ แต่ต้องเสนอโดยด่วน และเมื่อได้ทัดทานดังกล่าวมานั้นแล้ว แต่ผู้สั่งมิได้สั่งถอดถอนหรือแก้คำสั่งนั้น ถ้าคำสั่งนั้นไม่ผิดพระวินัย ต้องปฏิบัติตามแล้วรายงานจนถึงผู้สั่ง
ในกรณีที่มีการทัดทานคำสั่งดังกล่าวในวรรคต้น ให้ผู้สั่งรายงานพฤติการณ์ทั้งหมดไปยังผู้บังคับบัญชาเหนือตนเพื่อพิจารณาสั่งการ
ในการปฏิบัติหน้าที่ ห้ามมิให้ทำการข้ามผู้บังคับบัญชาเหนือตน เว้นแต่จะได้รับอนุญาตพิเศษชั่วครั้งคราว
ข้อ ๓๘ พระสังฆาธิการต้องตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ด้วยความระมัดระวัง มิให้เกิดความเสียหายแก่การคณะสงฆ์และการพระศาสนา และห้ามมิให้ละทิ้งหน้าที่โดยไม่มีเหตุอันสมควร
ข้อ ๓๙ พระสังฆาธิการ ต้องปฏิบัติหน้าที่โดยชอบ และห้ามมิให้ใช้อำนาจหน้าที่ในทางที่สมควร
ข้อ ๔๐ พระสังฆาธิการ ต้องเป็นผู้สุภาพเรียบร้อยต่อผู้บังคับบัญชาเหนือตนและผู้อยู่ในปกครอง
ข้อ ๔๑ พระสังฆาธิการ ต้องรักษาส่งเสริมสามัคคีในหมู่คณะ และช่วยเหลือซึ่งกันและกันในทางที่ชอบ
ข้อ ๔๒ พระสังฆาธิการ ต้องอำนวยความสะดวกในหน้าที่การคณะสงฆ์และการพระศาสนา
ข้อ ๔๓ พระสังฆาธิการ ต้องรักษาข้อความอันเกี่ยวกับการคณะสงฆ์ที่ยังไม่ควรเปิดเผย
ส่วนที่ ๒
การรักษาจริยา
ข้อ ๔๔ ให้ผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้นมีหน้าที่ควบคุมดูแลแนะนำชี้แจง หรือสั่งให้ผู้อยู่ในบังคับบัญชาปฏิบัติตามจริยาโดยเคร่งครัด
ถ้าผู้บังคับบัญชารู้อยู่ว่า ผู้อยู่ในบังคับบัญชาละเมิดจริยาต้องพิจารณาว่าความละเมิดของผู้อยู่ในบังคับบัญชารูปนั้น อยู่ในอำนาจที่ตนจะสั่งลงโทษได้หรือไม่ ถ้าอยู่ในอำนาจที่ตนจะสั่งลงโทษได้ ก็ให้สั่งลงโทษแล้วรายงานไปยังผู้บังคับบัญชาเหนือตน ถ้าเห็นว่าความละเมิดนั้น ควรจะลงโทษหนักกว่าที่ตนมีอำนาจจะลงโทษได้ ก็ให้รายงานผู้บังคับบัญชาเหนือตนขึ้นไป เพื่อพิจารณาลงโทษตามควร
ผู้บังคับบัญชารูปใดไม่จัดการลงโทษผู้อยู่ในบังคับบัญชาที่ละเมิดจริยา หรือจัดการลงโทษโดยไม่สุจริต ให้ถือว่าผู้บังคับบัญชารูปนั้นละเมิดจริยา
ข้อ ๔๕ พระสังฆาธิการรูปใดถูกผู้บังคับบัญชาสั่งลงโทษฐานละเมิดจริยา ต้องปฏิบัติตามทันที ถ้าเห็นว่าคำสั่งลงโทษไม่เป็นธรรมก็มีสิทธิ์ร้องทุกข์ได้ตามวิธีการที่บัญญัติไว้ในระเบียบมหาเถรสมาคมว่าด้วยการร้องทุกข์ แต่ถ้าปรากฏว่าเป็นการร้องทุกข์เท็จให้ถือว่าเป็นการละมิดจริยาอย่างร้ายแรง
ส่วนที่ ๓
การละเมิดจริยา
ข้อ ๔๖ พระสังฆาธิการรูปใดประพฤติละเมิดจริยา ต้องได้รับโทษฐานละเมิดจริยาอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้
(๑) ถอดถอนจากตำแหน่งหน้าที่
(๒) ปลดจากตำแหน่งหน้าที่
(๓) ตำหนิโทษ
(๔) ภาคทัณฑ์
ข้อ ๔๗ การถอดถอนจากตำแหน่งหน้าที่นั้น จะทำได้ต่อเมื่อพระสังฆาธิการละเมิดจริยาอย่างร้ายแรงแม้ข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้
(๑) ทุจริตต่อหน้าที่
(๒) ละทิ้งหน้าที่โดยไม่มีเหตุผลอันควรเกินกว่า ๓๐ วัน
(๓) ขัดคำสั่งอันชอบด้วยการคณะสงฆ์ และการขัดคำสั่งนั้นเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่การคณะสงฆ์
(๔) ประมาทเลินเล่อในหน้าที่เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่การคณะสงฆ์
(๕) ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง
ในกรณีเช่นนี้ ให้ผู้บังคับบัญชารายงานโดยลำดับจนถึงผู้มีอำนาจแต่งตั้ง เมื่อได้สอบสวนและได้ความสมจริงตามรายงายนั้นแล้ว ให้ผู้มีอำนาจแต่งตั้งสั่งถอดถอนจากตำแหน่งหน้าที่ได้
ข้อ ๔๘ พระสังฆาธิการรูปใดต้องอธิกรณ์ หรือถูกฟ้องเป็นจำเลยในคดีอาญาและอยู่ในระหว่างพิจารณาวินิจฉัย หรือมีกรณีต้องหาว่าละเมิดจริยาอย่างร้ายแรง และอยู่ในระหว่างสอบสวน ถ้าผู้บังคับบัญชาใกล้ชิด เห็นว่าจะให้คงอยู่ในตำแหน่งหน้าที่ในระหว่างพิจารณา หรือสอบสวนจะเป็นการเสียหายแก่การคณะสงฆ์จะสั่งให้พักจากตำแหน่งหน้าที่ก็ได้
การให้พ้นจากตำแหน่งหน้าที่นั้น ให้พักตลอดเวลาที่พิจารณาหรือสอบสวน เมื่อพิจารณาหรือสอบสวนเสร็จแล้ว ถ้าปรากฏว่าพระสังฆาธิการที่ถูกสั่งให้พักนั้นไม่มีความผิด และไม่มีมลทินความผิดเลย ผู้บังคับบัญชาผู้สั่งให้พัก ต้องสั่งให้พระสังฆาธิการรูปนั้นกลับดำรงตำแหน่งเดิม
เมื่อได้สั่งพักจากตำแหน่งหน้าที่หรือสั่งให้กลับดำรงตำแหน่งเดิมแล้ว ให้รายงานโดยลำดับจนถึงผู้มีอำนาจแต่งตั้ง และแจ้งให้กรมการศาสนาทราบภายในกำหนด ๓๐ วัน นับแต่วันสั่ง
แต่ถ้าปรากฏว่า ถึงแม้การพิจารณาหรือสอบสวนจะไม่ได้ความสัตย์ว่าได้กระทำผิด แต่มีมลทินหรือมัวหมอง ให้ผู้มีอำนาจแต่งตั้งพิจารณาดู ถ้าเห็นว่าจะให้กลับเข้ารับหน้าที่อีก อาจเสียหายแก่คณะสงฆ์ ก็สั่งปลดจากตำแหน่งหน้าที่ได้
ข้อ ๔๙ การตำหนิโทษนั้น จะกระทำได้ต่อเมื่อพระสังฆาธิการรูปใดละเมิดจริยาซึ่งไม่ร้ายแรงถึงกับถอดถอน หรือปลดจากตำแหน่งหน้าที่ มีเหตุที่ผู้บังคับบัญชาเห็นควรปรานี ในกรณีเช่นนี้ ให้ผู้บังคับบัญชาสั่งตำหนิโทษโดยแสดงความผิดของพระสังฆาธิการรูปนั้นให้ปรากฏเป็นลายลักษณ์อักษร และจะให้ทำทัณฑ์บนไว้ด้วยก็ได้
การตำหนิโทษเช่นนี้ ให้มีกำหนดไม่เกินสามปีนับแต่วันสั่งลงโทษ แต่เมื่อผู้บังคับบัญชาเห็นว่า พระสังฆาธิการรูปนั้นกลับปฏิบัติในทางการคณะสงฆ์พอสมควรแล้วจะสั่งลบล้างการตำหนิโทษก่อนครบกำหนดก็ได้ หากในระหว่างกำหนดที่สั่งลงโทษไว้พระสังฆาธิการรูปนั้นละเมิดจริยาในกรณีเดียวกันหรือคล้ายคลึงกันซ้ำอีก ให้ถือว่าเป็นการละเมิดจริยาอย่างร้ายแรง
ข้อ ๕๐ ในกรณีดังกล่าวแล้วในข้อ ๔๙ ถ้าผู้บังคับบัญชาเห็นว่า ยังไม่ควรเห็นลงโทษถึงตำหนโทษ ควรลงโทษเพียงภาคทัณฑ์ ก็ให้มีอำนาจลงโทษภาคทัณฑ์ได้ โดยแสดงความผิดของพระสังฆาธิการรูปนั้นให้ปรากฏเป็นลายลักษณ์อักษร และจะให้ทำทัณฑ์บนไว้ด้วยก็ได้
การลงโทษภาคทัณฑ์นี้ ให้มีกำหนดไม่เกินหนึ่งปีนับแต่วันที่สั่งลงโทษ แต่เมื่อผู้บังคับบัญชาเห็นว่า พระสังฆาธิการรูปนั้นกลับปฏิบัติดีในทางการคณะสงฆ์พอควรแล้วจะสั่งลบล้างภาคทัณฑ์ก่อนครบกำหนดก็ได้ หากในระหว่างกำหนดที่สั่งลงโทษไว้พระสังฆาธิการรูปนั้นละเมิดจริยาอีก ให้ลงโทษสถานอื่นถัดขึ้นไปตามควรแก่กรณี
ข้อ ๕๑ เมื่อได้มีการลงโทษตามข้อ ๔๙ หรือข้อ ๕๐ แล้วให้ผู้สั่งลงโทษรายงานผู้บังคับบัญชาเหนือตนทราบ
ตราไว้ ณ วันที่ ๓๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๐๖
สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ
สมเด็จพระสังฆราช ประธานกรรมการมหาเถรสมาคม
[1] ประกาศในแถลงการณ์คณะสงฆ์ เล่ม ๕๑ ภาค ๑๒ ตอนที่ ๑ วันที่ ๓๐ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๐๖
Views: 227