กฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ ๕ แก้ไขเพิ่มเติม (พ.ศ. ๒๕๒๑)

กฎมหาเถรสมาคม

ฉบับที่ ๕ แก้ไขเพิ่มเติม (พ.ศ. ๒๕๒๑) [1]

ว่าด้วยการแต่งตั้งถอดถอนพระสังฆาธิการ

————————–

        อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๘ และมาตรา ๒๓ แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ มหาเถรสมาคมตรากฎมหาเถรสมาคมไว้ ดังต่อไปนี

         ข้อ ๑ กฎมหาเถรสมาคมนี้เรียกว่า “กฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ ๕ แก้ไขเพิ่มเติม (พ.ศ. ๒๕๒๑) ว่าด้วยการแต่งตั้งถอดถอนพระสังฆาธิการ”

         ข้อ ๒ กฎมหาเถรสมาคมนี้ ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในแถลงการณ์คณะสงฆ์เป็นต้นไป

         ข้อ ๓ ให้ยกเลิกความในข้อ ๑๒ แห่งกฎมหาเถรสมาคม (ฉบับที่ ๕ พ.ศ. ๒๕๐๖) ว่าด้วยการแต่งตั้งถอดถอนพระสังฆาธิการ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

              “ข้อ ๑๒ ในการแต่งตั้งเจ้าคณะจังหวัดในภาคใด ให้เจ้าคณะภาคนั้นพิจารณาคัดเลือกพระภิกษุผู้มีคุณสมบัติตามข้อ ๖ และข้อ ๑๑ เสนอเจ้าคณะใหญ่พิจารณา เพื่อมีพระบัญชาแต่งตั้งตามมติของมหาเถรสมาคม”

         ข้อ ๔ ให้ยกเลิกความในข้อ ๓๒ แห่งกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ ๕ (พ.ศ. ๒๕๐๖) ว่าด้วยการแต่งตั้งถอดถอนพระสังฆาธิการ   และให้ใช้ความดังต่อไปนี้แทน

              “ข้อ ๓๒ ในกรณีที่พระสังฆาธิการ ตั้งแต่ตำแหน่งรองเจ้าคณะตำบลขึ้นไปได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งหน้าที่พระสังฆาธิการสูงกว่าเดิม พระสังฆาธิการรูปนั้นย่อมพ้นจากตำแหน่งหน้าที่เดิม เว้นแต่ในกรุงเทพมหานคร” (๒)

ตราไว้ ณ วันที่ ๑๗ เมษายน พ.ศ. ๒๕๒๑

สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ

สมเด็จพระสังฆราช  ประธานกรรมการมหาเถรสมาคม

หมายเหตุ:-

         เหตุผลในการประกาศในกฎมหาเถรสมาคมฉบับนี้ คือ เนื่องจากวิธีการแต่งตั้งเจ้าคณะจังหวัดตามความในข้อ ๑๒ แห่งกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ ๕ (พ.ศ. ๒๕๐๖) ว่าด้วยการแต่งตั้งถอดถอนพระสังฆาธิการได้กำหนดให้เป็นหน้าที่ของเจ้าคณะภาคเจ้าสังกัดพิจารณาคัดเลือกพระภิกษุผู้มีคุณสมบัติที่กำหนดไว้เสนอเจ้าคณะใหญ่ เพื่อมีพระบัญชาแต่งตั้ง ทั้งนี้ โดยไม่ผ่านการพิจารณาของมหาเถรสมาคม และโดยที่เจ้าคณะจังหวัดมีภาระต้องรับผิดชอบ ปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ตลอดเขตจังหวัด จัดเป็นตำแหน่งสำคัญในส่วนภูมิภาคตำแหน่งหนึ่ง จึงสมควรแก้ไขวิธีการแต่งตั้งเสียใหม่ โดยให้ผ่านการพิจารณาของมหาเถรสมาคมก่อน เพื่อมหาเถรสมาคมจะได้มีโอกาสควบคุมการแต่งตั้ง   ตลอดถึงการถอดถอนเจ้าคณะจังหวัดด้วย

         นอกจากนี้ ในกรณีพ้นจากตำแหน่งหน้าที่ของพระสังฆาธิการตั้งแต่ตำแหน่งรองเจ้าคณะตำบลขึ้นไปตามความในข้อ ๓๒ แห่งกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ ๕ นั้น ได้กำหนดให้พ้นจากตำแหน่งหน้าที่ในเมื่อได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งหน้าที่พระสังฆาธิการสูงกว่าเดิม ทั้งนี้ ควรจัดให้เป็นกรณีตามปกติโดยกำหนดข้อยกเว้นไว้เป็นกรณีพิเศษเฉพาะในกรุงเทพมหานคร เพราะกรุงเทพมหานครเป็นนครหลวงแห่งประเทศไทย ซึ่งมีบรรพชิตและคฤหัสถ์อยู่อย่างหนาแน่น ทั้งเป็นศูนย์รวมแห่งกิจการคณะสงฆ์และการพระศาสนา เจ้าคณะผู้ปกครองคณะสงฆ์ในกรุงเทพมหานครจำต้องมีคุณสมบัติเป็นพิเศษ และในบางคราวอาจมีความจำเป็นต้องดำรงตำแหน่งหน้าที่พระสังฆาธิการหลายตำแหน่งเพื่อประโยชน์แก่ความเจริญรุ่งเรืองและคณะสงฆ์และพระศาสนา

……………………….


            [1] ประกาศแถลงการณ์คณะสงฆ์ เล่ม ๖๖ ตอนที่ ๔ วันที่ ๒๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๒๑

Views: 14