กฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ ๗ (พ.ศ. ๒๕๐๖)

กฎมหาเถรสมาคม

ฉบับที่ ๗ (พ.ศ. ๒๕๐๖) [1]

ว่าด้วยการแต่งตั้งถอดถอนพระอุปัชฌาย์

———————–

         อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๘ และมาตรา ๒๓ แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ มหาเถรสมาคมตรากฎมหาเถรสมาคมไว้ ดังต่อไปนี้

         ข้อ ๑ กฎมหาเถรสมาคมนี้เรียกว่า “กฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ ๗ (พ.ศ. ๒๕๐๖) ว่าด้วยการแต่งตั้งถอดถอนพระอุปัชฌาย์”

         ข้อ ๒ กฎมหาเถรสมาคมนี้ ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในแถลงการณ์คณะสงฆ์เป็นต้นไป

         ข้อ ๓ ตั้งแต่วันใช้กฎมหาเถรสมาคมนี้ ให้ยกเลิกบรรดาสังฆาณัติ กติกาสงฆ์ กฎองค์การ พระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช ข้องบังคับ และระเบียบเกี่ยวกับคณะสงฆ์ที่มีบัญญัติไว้แล้วในกฎมหาเถรสมาคมนี้ หรือซึ่งขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติแห่งกฎมหาเถรสมาคมนี้

หมวด ๑
บททั่วไป

         ข้อ ๔ ในกฎมหาเถรสมาคมนี้ “พระอุปัชฌาย์” หมายความว่า พระภิกษุผู้ได้รับแต่งตั้งให้มีหน้าที่เป็นประธานและรับผิดชอบในการบรรพชาอุปสมบทตามบทบัญญัติแห่งกฎมหาเถรสมาคม

         ข้อ ๕ พระอุปัชฌาย์ มี ๒ ประเภท

              (๑) พระอุปัชฌาย์สามัญ ได้แก่พระอุปัชฌาย์ที่ได้รับแต่งตั้งจากเจ้าคณะใหญ่ ซึ่งสมเด็จพระสังฆราชทรงมอบหมายตามมติของมหาเถรสมาคม

              (๒) พระอุปัชฌาย์วิสามัญ ได้แก่พระอุปัชฌาย์ที่ได้รับแต่งตั้งจากสมเด็จพระสังฆราช

         ข้อ ๖ พระภิกษุผู้ได้รับตราตั้งพระอุปัชฌาย์อยู่ก่อนใช้กฎมหาเถรสมาคมนี้ให้คงเป็นพระอุปัชฌาย์ ตามบทบัญญัติแห่งกฎมหาเถรสมาคมนี้

หมวด ๒
การแต่งตั้งพระอุปัชฌาย์

         ข้อ ๗ ในเขตปกครองคณะสงฆ์ตำบลหนึ่ง ให้มีพระอุปัชฌาย์เพียงหนึ่งรูปเว้นแต่มีกรณีพิเศษ

         ข้อ ๘ พระภิกษุผู้จะดำรงตำแหน่งพระอุปัชฌาย์ต้องประกอบด้วยคุณสมบัติ ดังต่อไปนี้

              (๑) มีตำแหน่งในทางการปกครองชั้นเจ้าอาวาสขึ้นไป เว้นแต่พระอารามหลวง

              (๒) มีพรรษาพ้น ๑๐

              (๓) ไม่เป็นผู้มีร่างกายทุพพลภาพไร้ความสามารถ หรือมีจิตฟั่นเฟือน ไมสมประกอบ หรืออาพาธเป็นโรคติดต่อ เช่น โรคเรื้อน หรือวัณโรคในระยะอันตราย

              (๔)  มีประวัติความประพฤติดี

              (๕) เป็นที่นับถือของประชาชน ทั้งบรรพชิตและคฤหัสถ

              (๖) เป็นเปรียญหรือนักธรรมเอก เว้นแต่ในบางท้องถิ่นซึ่งเจ้าคณะพิจารณาเห็นสมควรผ่อนผัน

              (๗) มีความสามารถฝึกสอนผู้อยู่ในปกครองให้เป็นพระภิกษุสามเณรที่ดี ตามพระธรรมวินัยและสามารถบำเพ็ญกรณียกิจอันอยู่ในหน้าที่ของพระอุปัชฌาย์ได้

              (๘) มีความรู้ความสามารถ ทำอุปสมบทกรรมให้ถูกต้องตามพระธรรมวินัย และระเบียบแบบแผนของคณะสงฆ์

         ข้อ ๙ ในการแต่งตั้งพระสังฆาธิการผู้ดำรงตำแหน่งต่ำกว่าเจ้าคณะจังหวัดเป็น พระอุปัชฌาย์ ให้พิจารณาเลือกพระสังฆาธิการผู้ประกอบด้วยคุณสมบัติตามข้อ ๘ แล้วรายงานรับรอง ขอแต่งตั้งเสนอขึ้นไปตามลำดับจนถึงเจ้าคณะภาค ดังนี้

              (๑)  ตั้งรองเจ้าคณะจังหวัดหรือเจ้าคณะอำเภอเป็นพระอุปัชฌาย์ให้เจ้าคณะจังหวัดเป็นผู้เสนอรายงานรับรองขอแต่งตั้ง

              (๒) ตั้งรองเจ้าคณะอำเภอ หรือเจ้าคณะตำบลเป็นพระอุปัชฌาย์ให้เจ้าคณะอำเภอเป็นผู้รายงานรับรองขอแต่งตั้ง

              (๓) ตั้งรองเจ้าคณะตำบล หรือเจ้าอาวาสเป็นพระอุปัชฌาย์ให้เจ้าคณะตำบลเป็นผู้เสนอรายงานรับรองการแต่งตั้ง

         เมื่อเจ้าคณะภาคได้รับรายงานรับรองขอแต่งตั้งแล้ว ให้ดำเนินการฝึกซ้อมอบรม หรือสอบความรู้ตามความในข้อ ๔๑ เมื่อเห็นเป็นการสมควรแล้ว ให้เสนอรายงานรับรองไปยังเจ้าคณะใหญ่ เพื่อพิจารณาแต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์ต่อไป

         ข้อ ๑๐ ในการแต่งตั้งเจ้าคณะใหญ่ เจ้าคณะภาค รองเจ้าคณะภาค หรือเจ้าคณะจังหวัด เป็นพระอุปัชฌาย์ สมเด็จพระสังฆราชทรงแต่งตั้งตามมติ มหาเถรสมาคม

         ในการแต่งตั้งเจ้าอาวาส รองเจ้าอาวาส หรือผู้ช่วยเจ้าอาวาสพระอารามหลวงเป็นพระอุปัชฌาย์ ให้เจ้าคณะจังหวัดพิจารณาเลือกแล้วเสนอรายงานรับรองตามลำดับ เพื่อทรงแต่งตั้งตามความในวรรคต้น

         ข้อ ๑๑ พระสังฆาธิการจะปฏิบัติหน้าที่พระอุปัชฌาย์ได้ ต่อเมื่อได้รับตราตั้งพระอุปัชฌาย์แล้ว

หมวด ๓
หน้าที่พระอุปัชฌาย์

         ข้อ ๑๒ พระอุปัชฌาย์มีหน้าที่ให้บรรพชาอุปสมบทแก่กุลบุตรได้เฉพาะตนและเฉพาะ

ภายในเขต ตามที่บัญญัติไว้ในหมวด ๔ แห่งกฎมหาเถรสมาคมนี้

         ข้อ ๑๓ พระอุปัชฌาย์ต้องพบและสอบสวนกุลบุตรให้ได้คุณลักษณะก่อนจึงรับให้

บรรพชาอุปสมบทได้ คุณลักษณะของกุลบุตรนั้น ดังนี้

              (๑)  เป็นคนมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตตำบลหรืออำเภอที่จะบวช และมีหลักฐาน มี อาชีพชอบธรรม หรือแม้มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตอื่น แต่เมื่อสอบสวนแล้วปรากฏว่าเป็นคนมีหลักฐาน มีอาชีพชอบธรรม มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง ไม่ใช่คนจรจัด

              (๒) เป็นสุภาพชน มีความประพฤติดีประพฤติชอบไม่มีความประพฤติเสียหายเช่นติดสุราหรือยาเสพติดให้โทษเป็นต้น

              (๓) มีความรู้อ่านและเขียนหนังสือไทยได้

              (๔)  ไม่เป็นผู้มีทิฎฐิวิบัติ

              (๕) เป็นผู้ปราศจากบรรพชาโทษ และมีร่างกายสมบูรณ์ อาจบำเพ็ญสมณกิจได้ไม่เป็นคนชราไร้ความสามารถหรือทุพพลภาพหรือพิกลพิการ

              (๖) มีสมณบริขารครบถ้วนและถูกต้องตามพระวินัย

              (๗) เป็นผู้สามารถกล่าวคำขอบรรพชาอุปสมบทได้ด้วยตนเองและถูกต้องไม่วิบัติ

         ข้อ ๑๔ พระอุปัชฌาย์ต้องงดเว้นการให้บรรพชาอุปสมบทแก่คนต้องห้ามเหล่านี้

              (๑)  คนทำความผิดหลบหนีอาญาแผ่นดิน

              (๒) คนหลบหนีราชการ

              (๓) คนต้องหาในคดีอาญา

              (๔)  คนเคยถูกตัดสินจำคุกโดยฐานเป็นผู้ร้ายสำคัญ

              (๕)  คนถูกห้ามอุปสมบทเด็ดขาดทางพระศาสนา

              (๖) คนมีโรคติดต่อเป็นที่น่ารังเกียจ เช่น วัณโรคในระยะอันตราย

              (๗) คนมีอวัยวะพิการจนไม่สามารถปฏิบัติกิจพระศาสนาได้

         ข้อ ๑๕ พระอุปัชฌาย์จะให้บรรพชาอุปสมบทในวัดใด ต้องได้รับนิมนต์ของเจ้าอาวาสวัดนั้น ห้ามเข้าไปให้บรรพชาอุปสมบทในวัดของผู้อื่นโดยมิได้รับนิมนต์ของเจ้าอาวาส

         ข้อ ๑๖ เจ้าอาวาสผู้เป็นพระอุปัชฌาย์จะรับผู้ใดบวช ต้องมีผู้รับรองและให้ผู้รับรองของผู้ นั้นนำผู้จะบวชมามอบตัวพร้อมด้วยใบสมัครและใบรับรองผู้จะบรรพชาอุปสมบทตามความในข้อ ๔๑ ซึ่งจะขอได้จากพระอุปัชฌาย์ ก่อนถึงวันบรรพชาอุปสมบทไม้น้อยกว่า ๑๕ วัน

         ให้เจ้าอาวาสผู้เป็นพระอุปัชฌาย์ สอบสวนผู้จะมาบวชตามความในข้อ ๑๓ และข้อ ๑๔ ซึ่งปรากฎตามข้อปฏิญญาในใบสมัครขอบรรพชาอุปสมบท และสอบถามผู้รับรองตามข้อรับรองผู้จะบรรพชาอุปสมบท จนเป็นที่เข้าใจถูกต้องตรงกันดีแล้ว จึงรับใบสมัครขอบรรพชาอุปสมบทและใบรับรอง แล้วดำเนินการฝึกซ้อมผู้จะบวชต่อไป

         ข้อ ๑๗ เจ้าอาวาสผู้มิได้เป็นพระอุปัชฌาย์ จะรับผู้ใดบวชในวัดของตนให้นำผู้สมัครขอบรรพชาอุปสมบทนั้น ไปมอบตัวแก่พระอุปัชฌาย์พร้อมทั้งใบสมัครขอบรรพชาอุปสมบท และใบรับรองผู้จะบรรพชาอุปสมบท ก่อนถึง วันบรรพชาอุปสมบทไม่น้อยกว่า ๑๕ วัน

         ในกรณีเช่นนี้ ให้พระอุปัชฌาย์ผู้จะรับบวชปฏิบัติตามความในข้อ ๑๖ วรรค ๒

         ข้อ ๑๘ ใบสมัครขอบรรพชาอุปสมบทและใบรับรองผู้จะบรรพชาอุปสมบทให้ยื่นต่อเจ้าอาวาสผู้มิได้ เป็นพระอุปัชฌาย์ ๒ ฉบับ เพื่อเจ้าอาวาสเก็บรักษาไว้ฉบับหนึ่งและพระอุปัชฌาย์เก็บไว้ฉบับหนึ่ง ถ้าเจ้าอาวาสเป็นพระอุปัชฌาย์ให้ยื่นเพียงฉบับเดียว

         ข้อ ๑๙  พระอุปัชฌาย์เมื่อให้บรรพชาอุปสมบทแก่กุลบุตรแล้ว มีหน้าที่ต้องถือเป็นภารธุระปกครองดูแลสั่งสอนสัทธิวิหาริกของตนให้ตั้งอยู่ในสัมมาปฏิบัติ ต้องขวนขวายให้ได้รับการศึกษาพระธรรมวินัย และต้องออกหนังสือสุทธิให้แก่สัทธิวิหาริกตามความในข้อ ๔๑ เพื่อแสดงสังกัดถิ่นที่อยู่และความบริสุทธิ์แห่งสมณเพศ

         ถ้าสัทธิวิหาริกผู้มีพรรษายังไม่พ้น ๕ จะไปอยู่ในวัดอื่นใด เมื่อพระอุปัชฌาย์เห็นสมควรก็ ให้สอบถามไปยังเจ้าอาวาสวัดนั้น เมื่อได้รับคำยืนยันรับรองที่จะปกครองดูแลสั่งสอนแทนได้ จึงให้ทำหนังสือฝากและมอบภารธุระแก่เจ้าอาวาสวัดนั้น ให้เป็นผู้ปกครองดูแลสั่งสอนแทนตน

         ถ้าสัทธิวิหาริกผู้นั้น จะย้ายไปอยู่วัดอื่นต่อไปอีกภายใน ๕ พรรษา ให้เจ้าอาวาสผู้รับฝากปกครองแจ้งไปยังพระอุปัชฌาย์ เพื่อได้ปฏิบัติการตามความในวรรค ๒  แต่ถ้าพระอุปัชฌาย์นั้นพ้นจากความเป็นพระภิกษุแล้ว ก็ให้เจ้าอาวาสผู้ปกครองปฏิบัติการตามความในวรรค ๒

         ข้อ ๒๐ พระอุปัชฌาย์ต้องส่งบัญชีสัทธิวิหาริกของตนตามความในข้อ ๔๑

หมวด ๔
เขตพระอุปัชฌาย์

         ข้อ ๒๑ พระอุปัชฌาย์จะให้บรรพชาอุปสมบทแก่กุลบุตรได้ภายในเขตที่ระบุไว้ในตราตั้ง หรือเขตอำนาจที่ตนปกครองอยู่ในปัจจุบัน คือ ถ้าเป็น

              (๑)  เจ้าอาวาสภาย ในวัดของตน

              (๒) เจ้าคณะตำบล         ภายในเขตตำบลของตน

              (๓) เจ้าคณะอำเภอ        ภายในเขตอำเภอของตน

              (๔)  เจ้าคณะจังหวัด        ภายในเขตจังหวัดของตน

              (๕)  เจ้าคณะภาค  ภาคในเขตภาคของตน

              (๖) เจ้าคณะใหญ่ ภายในเขตหนของตน

         พระอุปัชฌาย์ที่ดำรงตำแหน่งประธานและกรรมการมหาเถรสมาคม ไม่จำกัดเขต

         ข้อ ๒๒ ถ้าไม่มีคำสั่งเป็นอย่างอื่น พระอุปัชฌาย์ผู้เป็นกิตติมศักดิ์ในตำแหน่งปกครอง ให้ บรรพชาอุปสมบทได้ในเขต อนุรูปแก่ตำแหน่งปกครองเดิมของตนตลอดเวลาที่ตนยังสำนักอยู่ในวัด หรือในเขตที่ตนเคยปกครองนั้นเว้นแต่เป็นเจ้าคณะภาคกิตติมศักดิ์ แม้มิได้อยู่ในเขตที่ตนเคยปกครองก็ให้บรรพชาอุปสมบทในเขตที่ตนเคยปกครองนั้นได้

         ข้อ ๒๓ พระอุปัชฌาย์ผู้ลาออกจากตำแหน่ง หรือพ้นจากตำแหน่ง หรือถูกให้ออกจากตำแหน่งในทางปกครอง และไม่ได้เป็นกิตติมศักดิ์ แต่ยังคงเป็นเจ้าอาวาส ให้เป็นพระอุปัชฌาย์ได้เฉพาะในวัดของตน

         ข้อ ๒๔  พระอุปัชฌาย์จะให้บรรพชาอุปสมบทนอกเขตของตนได้ ต่อเมื่อเจ้าของเขตขอร้องหรืออนุญาต หรือได้รับอนุญาตด้วยหนังสือจากเจ้าคณะภาคนั้น ๆ ในกรณีพิเศษเป็นครั้งคราว

หมวด ๕
การระงับหน้าที่พระอุปัชฌาย์

         ข้อ ๒๕ หน้าที่พระอุปัชฌาย์ต้องระงับในเมื่อ

              (๑)  พ้นจากตำแหน่งหน้าที่ในทางปกครอง และมิได้เป็นกิตติมศักดิ์ในตำแหน่งนั้นๆ         หรือถูกให้พ้นจากตำแหน่งหน้าที่ในทางปกครอง

              (๒) ขาดคุณสมบัติอย่างใดอย่างหนึ่งตามความในข้อ ๘

              (๓) ถูกเป็นจำเลยในอธิกรณ์ที่มีโทษถึงให้สึก และอยู่ในระหว่างไต่สวนพิจารณาวินิจฉัย

              (๔) ถูกถอดถอนจากตำแหน่งหน้าที่พระอุปัชฌาย์

         ข้อ ๒๖ การระงับหน้าที่พระอุปัชฌาย์ตามความในข้อ ๒๕ (๑) (๒) และ (๓) ของ พระสังฆาธิการตำแหน่งต่ำกว่าชั้นเจ้าคณะจังหวัดให้พระสังฆาธิการผู้บังคับบัญชา ของพระอุปัชฌาย์รูปนั้นรายงานตามลำดับจนถึงเจ้าคณะจังหวัด เพื่อพิจารณาสั่งระงับจากหน้าที่พระอุปัชฌาย์

         ส่วนพระสังฆาธิการตำแหน่งตั้งแต่เจ้าคณะจังหวัดขึ้นไป ให้ผู้บังคับบัญชาเหนือพิจารณาสั่งระงับ

         ข้อ ๒๗ การถอดถอนพระอุปัชฌาย์ตามความในข้อ ๒๕ (๔) ให้เป็นไปตามที่บัญญัติไว้ ในหมวด ๖ แห่งกฎมหาเถรสมาคมนี้

หมวด ๖
จริยาพระอุปัชฌาย์

———–

ส่วนที่ ๑
จริยา

         ข้อ ๒๘ พระอุปัชฌาย์ ต้องเอื้อเฟื้อ สังวร ประพฤติ ตามพระธรรมวินัย และกฎหมายอย่างเคร่งครัด เพื่อเป็นแบบอย่างอันดีของสัทธิวิหาริก

         ข้อ ๒๙ พระอุปัชฌาย์ ต้องปฏิบัติหน้าที่ตามบทบัญญัติแห่งกฎมหาเถรสมาคมนี้

         ข้อ ๓๐ พระอุปัชฌาย์ ต้องปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งหรือคำแนะนำชี้แจงของพระสังฆาธิการ ผู้บังคับบัญชา ซึ่งสั่งโดยชอบด้วยพระธรรมวินัยและกฎมหาเถรสมาคมนี้

         ข้อ ๓๑ พระอุปัชฌาย์ ต้องปฎิบัติหน้าที่ด้วยความระมัดระวัง มิให้บรรพชาอุปสมบทกรรมวิบัติบกพร่องไม่ว่าด้วยเหตุใด ๆ

ส่วนที่ ๒
การรักษาจริยา

         ข้อ ๓๒ ให้พระสังฆาธิการผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้น มีหน้าที่ควบคุมดูแลแนะนำชี้แจง หรือสั่งพระอุปัชฌาย์ในเขตบังคับบัญชาของตน ให้ปฏิบัติตามจริยาพระอุปัชฌาย์โดยเคร่งครัด

ส่วนที่ ๓
การละเมิดจริยา

         ข้อ ๓๓ พระอุปัชฌาย์รูปใด ปฏิบัติหน้าที่โดยละเมิดจริยาต้องได้รับโทษฐานละเมิดจริยาอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้

              (๑)  ให้ถอดถอนจากตำแหน่งหน้าที่พระอุปัชฌาย์
              (๒) ให้ระงับหน้าที่พระอุปัชฌาย์ชั่วคราวไม่เกิน ๒ ปี
              (๓) เรียกตัวมาอบรมชั่วคราวไม่เกิน ๑ ปี
              (๔)  ให้ทำทัณฑ์บน
              (๕) ตำหนิโทษเป็นลายลักษณ์อักษร

         ข้อ ๓๔ การให้ถอดถอนจากตำแหน่งหน้าที่พระอุปัชฌาย์นั้น จะทำได้ต่อเมื่อพระอุปัชฌาย์ละเมิดจริยาโดยจงใจให้บรรพชาอุปสมบทแก่คนต้องห้ามตามความในข้อ ๑๔

         ในกรณีเช่นนี้ ให้พระสังฆาธิการผู้บังคับบัญชาของพระอุปัชฌาย์นั้น รายงานโดยลำดับจนถึงผู้มีอำนาจแต่งตั้ง เมื่อได้สอบสวนและได้ความจริงตามรายงานนั้นแล้วให้ผู้มีอำนาจแต่งตั้งสั่งถอดถอนจากตำแหน่งหน้าที่พระอุปัชฌาย์

         ในระหว่างที่ยังไม่มีคำสั่ง พระสังฆาธิการผู้บังคับบัญชาเหนือ อาจสั่งให้พักหน้าที่ พระอุปัชฌาย์ก่อนได้ แต่ถ้าพระอุปัชฌาย์รูปนั้นดำรงตำแหน่งพระสังฆาธิการต่ำกว่าเจ้าคณะจังหวัดให้เจ้าคณะจังหวัดเป็นผู้ สั่งพัก

         ข้อ ๓๕ พระอุปัชฌาย์รูปใด ละเมิดจริยาอย่างใดอย่างหนึ่ง นอกจากที่บัญญัติไว้ในข้อ ๓๔ เมื่อผู้บังคับบัญชาพิจารณาเห็นสมควรลงโทษสถานเบาลงมาสถานเดียว หรือหลายสถานโดยสมควรแก่ ความผิด

              (๑) ถ้าพระอุปัชฌาย์รูปนั้นดำรงตำแหน่งพระสังฆาธิการต่ำกว่าเจ้าคณะจังหวัด ให้ผู้บังคับบัญชารายงานเสนอตามลำดับจนถึงเจ้าคณะภาค เพื่อพิจารณาสั่งลงโทษแล้วรายงานผู้มีอำนาจแต่งตั้งทราบ

              (๒) ถ้าพระอุปัชฌาย์รูปนั้น ดำรงตำแหน่งพระสังฆาธิการตั้งแต่เจ้าคณะจังหวัดขึ้นไป ให้ผู้บังคับบัญชารายงานเสนอตามลำดับ จนถึงผู้มีอำนาจแต่งตั้งเพื่อพิจารณาสั่งลงโทษ

         ข้อ ๓๖ ในกรณีที่พระอุปัชฌาย์เคยถูกลงโทษตามข้อ ๓๓ (๓) (๔) และ (๕) มาแล้วไม่เข็ดหลาบ กระทำผิดอีก ให้ลงโทษในสถานที่หนักกว่าโทษเดิม

         ข้อ ๓๗ พระอุปัชฌาย์รูปใด ถูกระงับหน้าที่พระอุปัชฌาย์ตามข้อ ๒๕ ก็ดี ถูกระงับหน้าที่พระอุปัชฌาย์ตามข้อ ๓๓ (๒) ก็ดี ถูกพักหน้าที่พระอุปัชฌาย์ตามข้อ ๓๔ วรรค ๓ ก็ดี หากฝ่าฝืนให้ บรรพชาอุปสมบทแก่กุลบุตรอีก หรือถูกลงโทษตามความในข้อ ๓๓ (๒) แล้วไม่เข็ดหลาบ ละเมิดซ้ำอีกให้ถือว่าเป็นการละเมิดจริยาพระสังฆาธิการอย่างร้ายแรง ฐานขัดคำสั่งผู้บังคับบัญชาตามความในข้อ ๗๔ (๓) แห่งกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ ๑๖ (พ.ศ. ๒๕๓๕) ว่าด้วยการแต่งตั้งถอดถอนพระสังฆาธิการ

         ในกรณีเช่นนี้ ให้ผู้บังคับบัญชารายงานโดยลำดับ จนถึงผู้มีอำนาจแต่งตั้งพระ    สังฆาธิการผู้เป็นพระอุปัชฌาย์รูปนั้น เพื่อพิจารณาสั่งถอดถอนจากตำแหน่งหน้าที่           พระสังฆาธิการ

หมวด ๗
เบ็ดเตล็ด

         ข้อ ๓๘ พระภิกษุรูปใดไม่ได้รับแต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์ หรือถูกถอดถอนจากความเป็นพระอุปัชฌาย์ตามกฎมหาเถรสมาคมนี้

              (๑) ถ้าพระภิกษุรูปนั้น ดำรงตำแหน่งพระสังฆาธิการ ให้ถือว่าเป็นการละเมิดจริยาพระสังฆาธิการประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง ตามความในข้อ ๔๗ (๕) แห่งกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ ๕ (พ.ศ. ๒๕๐๖) ว่าด้วยการแต่งตั้งถอดถอนพระสังฆาธิการ

         ในกรณีเช่นนี้ ให้ผู้บังคับบัญชาปฏิบัติตามความในข้อ ๓๗ วรรค ๒

              (๒) ถ้าพระภิกษุรูปนั้น มิได้ดำรงตำแหน่งพระสังฆาธิการให้เจ้าอาวาสผู้ปกครองจัดการให้พระภิกษุรูปนั้นออกไปเสียจากวัด และให้บันทึกเหตุที่ให้ออกนั้นในหนังสือสุทธิด้วย

         ข้อ ๓๙ บุคคลผู้ได้รับบรรพชาอุปสมบทตามความในข้อ ๓๗ และข้อ ๓๘ ให้ถือว่าบรรพชาอุปสมบทโดยมิชอบ ไม่มีสิทธิได้รับประโยชน์อันพระภิกษุสามเณรจะพึงได้

         ข้อ ๔๐ ในกรณีแต่งตั้งหรือถอดถอนพระอุปัชฌาย์ ให้ผู้แต่งตั้งหรือผู้ถอดถอนแจ้งการแต่งตั้งหรือการถอดถอนไปยังสำนักเลขาธิการมหาเถรสมาคม

         ในกรณีที่พระอุปัชฌาย์พ้นจากตำแหน่งหน้าที่ด้วยประการใด ให้พระสังฆาธิการผู้บังคับบัญชาปฏิบัติตามความในวรรคต้น

         ข้อ ๔๑ วิธีปฏิบัติในการฝึกซ้อมอบรม หรือสอบความรู้พระอุปัชฌาย์ก็ดี ในการทำใบสมัคร รับรองผู้จะบรรพชาอุปสมบทก็ดี ในการออกหนังสือสุทธิให้แก่สัทธิวิหาริกก็ดี ในการส่งบัญชีสัทธิวิหาริกก็ดี ให้เป็นไปตามที่กำหนดในระเบียบมหาเถรสมาคม

         ตราไว้ ณ วันที่ ๓๑ ธันวาคม  พ.ศ. ๒๕๐๖

สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ

สมเด็จพระสังฆราช ประธานกรรมการมหาเถรสมาคม


            [1] ประกาศในแถลงการณ์คณะสงฆ์ เล่ม ๕ ภาค ๑๒ ตอน ๒ วันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๐๖