กฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ ๑๕ (พ.ศ. ๒๕๓๕)

กฎมหาเถรสมาคม

ฉบับที่ ๑๕  (พ.ศ. ๒๕๓๕)

ว่าด้วยระเบียบการปกครองคณะสงฆ์ *

———————–

         อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๕ ตรี มาตรา ๒๐ และมาตรา ๒๐ ทวิ แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๕ มหาเถรสมาคมตรากฎมหาเถรสมาคมไว้ ดังต่อไปนี้

         ข้อ ๑ กฎมหาเถรสมาคมนี้เรียกว่า กฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ ๑๕ (พ.ศ. ๒๕๓๕) ว่าด้วยระเบียบการปกครองคณะสงฆ์

         ข้อ ๒ กฎมหาเถรสมาคมนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในแถลงการณ์คณะสงฆ์เป็นต้นไป

         ข้อ ๓ ตั้งแต่วันใช้กฎมหาเถรสมาคมนี้ ให้ยกเลิก

              (๑) กฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ ๔ (พ.ศ. ๒๕๐๕) ว่าด้วยระเบียบการปกครองคณะสงฆ์

              (๒) กฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ ๔ แก้ไขเพิ่มเติม (พ.ศ.  ๒๕๑๕)

              (๓) กฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ ๔ แก้ไขเพิ่มเติม (พ.ศ.  ๒๕๒๑)

         บรรดากฎ  ข้อบังคับ ระเบียบ คำสั่ง มติ หรือประกาศอื่นใดในส่วนที่กำหนดไว้แล้วในกฎมหาเถรสมาคมนี้ หรือซึ่งขัดหรือแย้งกับกฎมหาเถรสมาคมนี้ ให้ใช้กฎมหาเถรสมาคมนี้แทน

บททั่วไป
หมวด ๑

         ข้อ ๔ การปกครองคณะสงฆ์ทุกสวนทุกชั้น ให้มีเจ้าคณะมหานิกายและเจ้าคณะธรรมยุตปกครองบังคับบัญชาวัดและพระภิกษุสามเณรในนิกายนั้น ๆ

หมวด ๒
ระเบียบการปกครองคณะสงฆ์ส่วนกลาง

         ข้อ ๕ วิธีดำเนินการเพื่อความเรียบร้อยดีงาม วิธีดำเนินการศาสนาศึกษาและศึกษาสงเคราะห์ วิธีการเผยแผ่พระพุทธศาสนา วิธีดำเนินการสาธารณูปการและสาธารณสงเคราะห์ อันเกี่ยวกับการคณะสงฆ์และการพระศาสนาให้เป็นไปตามที่กำหนดในระเบียบมหาเถรสมาคม

         ข้อ ๖ เพื่อประโยชน์กาการปกครองคณะสงฆ์ตามความในข้อ ๔ ให้เจ้าคณะใหญ่ปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับการคณะสงฆ์นิกายนั้น ๆ ในเขตปกครองคณะสงฆ์ดังนี้

              (๑) เจ้าคณะใหญ่หนกลาง ปฏิบัติหน้าที่ในเขตปกครองคณะสงฆ์ ภาค ๑ ภาค ๑ ภาค ๓ ภาค ๑๓ ภาค ๑๔ และภาค ๑๕

              (๒) เจ้าคณะใหญ่หนเหนือ ปฏิบัติหน้าที่ในเขตปกครอง ภาค ๔ ภาค ๕ ภาค ๖ และภาค ๗

              (๓) เจ้าคณะใหญ่หนตะวันออก ปฏิบัติหน้าที่ในเขตปกครอง ภาค ๘ ภาค ๙ ภาค ๑๐ ภาค ๑๑ และภาค ๑๒

              (๔) เจ้าคณะใหญ่หนใต้ ปฏิบัติหน้าที่ในเขตปกครองคณะสงฆ์ ภาค ๑๖ ภาค ๑๗ และภาค ๑๘

              (๕) เจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุต ปฏิบัติหน้าที่ในเขตปกครองคณะสงฆ์ธรรมยุตภาคทุกภาค

         ข้อ ๗ เจ้าคณะใหญ่มีอำนาจหน้าที่ปกครองคณะสงฆ์ในเขตหนของตน ดังนี้

              (๑) ดำเนินการปกครองคณะสงฆ์ให้เป็นไปตามพระธรรมวินัย กฎหมาย กฎมหาเถรสมาคม ข้องบังคับ ระเบียบ คำสั่ง มติ ประกาศ พระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช

              (๒) ควบคุมและส่งเสริมการรักษาความเรียบร้อยดีงามการศาสนศึกษา การศึกษาสงเคราะห์ การเผยแผ่พระพุทธศาสนา การสาธารณูปการ และสาธารณสงเคราะห์ ให้ดำเนินไปด้วยดี

              (๓) วินิจฉัยการลงนิคหกรรม วินิจฉัยข้ออุทธรณ์คำสั่ง หรือคำวินิจฉัยชั้นภาค หรือมีอำนาจหน้าที่ในกรณีที่ได้รับมอบหมายอย่างอื่นจากมหาเถรสมาคม

              (๔) แก้ไขข้อขัดข้องของเจ้าคณะภาคให้เป็นไปโดยชอบ

             (๕) ควบคุมบังคับบัญชาเจ้าคณะและเจ้าอาวาส ตลอดถึงพระภิกษุสามเณรผู้อยู่ในบังคับบัญชา หรืออยู่ในเขตปกครองของตน และชี้แจงแนะนำการปฏิบัติหน้าที่ของผู้อยู่ในบังคับบัญชาให้เป็นไปโดยความเรียบร้อย

         ข้อ ๘ ในเมื่อไม่มีเจ้าคณะใหญ่ หรือเจ้าคณะใหญ่ไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ สมเด็จพระสังฆราชทรงแต่งตั้งพระราชาคณะรูปใดรูปหนึ่งโดยความเห็นชอบของมหาเถรสมาคม เป็นผู้รักษาการแทนเจ้าคณะใหญ่

         ในกรณีที่ไม่มีเจ้าคณะใหญ่ เมื่อปฏิบัติตามความในวรรคต้นแล้ว ให้ดำเนินการเพื่อมีพระบัญชาแต่งตั้งเจ้าคณะใหญ่ภายในเวลาไม่เกินหนึ่งปี

         ให้ผู้รักษาการแทนเจ้าคณะใหญ่ มีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับเจ้าคณะใหญ่

         ข้อ ๙ เพื่อประโยชน์แก่การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าคณะใหญ่ให้มีเลขานุการเจ้าคณะใหญ่ ๒ รูป ทำหน้าที่เลขานุการ

หมวด ๓
ระเบียบการปกครองคณะสงฆ์ส่วนภูมิภาค

———–

ส่วนที่ ๑
ภาค

         ข้อ ๑๐ เจ้าคณะภาคมีอำนาจหน้าที่ปกครองคณะสงฆ์ในเขตปกครองของตน ดังนี้

              (๑) ดำเนินการปกครองคณะสงฆ์ให้เป็นไปตามพระธรรมวินัย กฎหมาย กฎมหาเถรสมาคม ข้อบังคับ ระเบียบ คำสั่ง มติ ประกาศ พระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช

              (๒) ควบคุมและส่งเสริมการรักษาความเรียบร้อยดีงามการศาสนศึกษา การศึกษาสงเคราะห์ การเผยแผ่พระพุทธศาสนา การสาธารณูปการ และสาธารณสงเคราะห์ ให้ดำเนินไปด้วยดี

              (๓) วินิจฉัยการลงนิคหกรรม วินิจฉัยข้ออุทธรณ์คำสั่ง หรือคำวินิจฉัยชั้นจังหวัด

              (๔) แก้ไขข้อขัดข้องของเจ้าคณะจังหวัดให้เป็นไปโดยชอบ

              (๕) ควบคุมบังคับบัญชาเจ้าคณะและเจ้าอาวาส ตลอดถึงพระภิกษุสามเณรผู้อยู่ในบังคับบัญชา หรืออยู่ในเขตปกครองของตน และตรวจตราชี้แจงแนะนำการปฏิบัติหน้าที่ของผู้อยู่ในบังคับบัญชาให้เป็นไปโดยความเรียบร้อย

         ข้อ ๑๑ ในเมื่อไม่มีเจ้าคณะภาค หรือเจ้าคณะภาคไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้เจ้าคณะใหญ่แต่งตั้งรองเจ้าคณะภาครักษาการแทนเจ้าคณะภาค ถ้าไม่มีรองเจ้าคณะภาคหรือรองเจ้าคณะภาคไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้แต่งตั้งพระภิกษุสามเณรรูปใดรูปหนึ่ง ที่เห็นสมควรรักษาการแทนเจ้าคณะภาค แล้วรายงานให้มหาเถรสมาคมทราบ

         ในกรณีที่ไม่มีเจ้าคณะภาค เมื่อได้ปฏิบัติตามความในวรรคต้นแล้ว ให้เจ้าคณะใหญ่ดำเนินการเพื่อมีพระบัญชาแต่งตั้งเจ้าคณะภาคภายในเวลาไม่กินหนึ่งปี

         ให้ผู้รักษาการแทนเจ้าคณะภาค มีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับเจ้าคณะภาค

         ข้อ ๑๒ รองเจ้าคณะภาคเป็นผู้ช่วยเจ้าคณะภาค มีอำนาจหน้าที่ตามที่เจ้าคณะภาคมอบหมาย

         ข้อ ๑๓ เพื่อประโยชน์แก่การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าคณะภาคและรองเจ้าคณะภาค ให้มีเลขานุการเจ้าคณะภาคและเลขานุการรองเจ้าคณะภาค ทำหน้าที่เลขานุการ

ส่วนที่ ๒
จังหวัด

         ข้อ ๑๔ เจ้าคณะจังหวัด หมายถึง เจ้าคณะกรุงเทพมหานคร และเจ้าคณะจังหวัดนอกจากกรุงเทหมานคร

         รองเจ้าคณะจังหวัด หมายถึง รองเจ้าคณะกรุงเทพมหานครและรองเจ้าคณะจังหวัดนอกจากกรุงเทพมหานคร

          ในกรณีที่มีข้อความกล่าวถึงเจ้าคณะจังหวัด รองเจ้าคณะจังหวัดที่ปรากฏอยู่ในกฎมหาเถรสมาคมทราบนี้ กฎมหาเถรสมาคมทราบอื่น ข้อบังคับ ระเบียบ คำสั่ง มติ ประกาศ สำหรับกรุงเทพมหานครให้หมายถึงเจ้าคณะกรุงเทพมหานครและรองเจ้าคณะกรุงเทพมหานคร

         ข้อ ๑๕ เจ้าคณะจังหวัดมีอำนาจหน้าที่ปกครองคณะสงฆ์ในเขตปกครองของตน ดังนี้

              (๑) ดำเนินการปกครองคณะสงฆ์ให้เป็นไปตามพระธรรมวินัย กฎหมาย กฎมหาเถรสมาคม ข้อบังคับ ระเบียบ คำสั่ง มติ ประกาศ พระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช คำสั่งของผู้บังคับบัญชาเหนือตน

              (๒) ควบคุมและส่งเสริมการรักษาความเรียบร้อยดีงามการศาสนศึกษา การศึกษาสงเคราะห์ การเผยแผ่พระพุทธศาสนา การสาธารณูปการ และสาธารณสงเคราะห์ ให้ดำเนินไปด้วยดี

              (๓) ระงับอธิกรณ์ วินิจฉัยการลงนิคหกรรม วินิจฉัยข้ออุทธรณ์คำสั่ง หรือคำวินิจฉัยของเจ้าคณะอำเภอ

              (๔) แก้ไขข้อขัดข้องของเจ้าคณะอำเภอให้เป็นไปโดยชอบ

              (๕) ควบคุมบังคับบัญชาเจ้าคณะและเจ้าอาวาส ตลอดถึงพระภิกษุสามเณรผู้อยู่ในบังคับบัญชา หรืออยู่ในเขตปกครองของตน และตรวจตราชี้แจงแนะนำการปฏิบัติหน้าที่ของผู้อยู่ในบังคับบัญชาให้เป็นไปโดยความเรียบร้อย

         ข้อ ๑๖ ในเมื่อไม่มีเจ้าคณะจังหวัด หรือเจ้าคณะจังหวัดไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้เจ้าคณะภาคแต่งตั้งรองเจ้าคณะภาครักษาการแทนเจ้าคณะภาค ถ้าไม่มีรองเจ้าคณะภาคหรือรองเจ้าคณะภาคไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้แต่งตั้งพระภิกษุสามเณรรูปใดรูปหนึ่ง ที่เห็นสมควรรักษาการแทนเจ้าคณะจังหวัด แล้วรายงานให้เจ้าคณะใหญ่ทราบ

         ในกรณีที่ไม่มีเจ้าคณะจังหวัด เมื่อได้ปฏิบัติตามความในวรรคต้นแล้ว ให้เจ้าคณะภาคดำเนินการเพื่อมีพระบัญชาแต่งตั้งเจ้าคณะจังหวัดภายในเวลาไม่กินหนึ่งปี

         ให้ผู้รักษาการแทนเจ้าคณะจังหวัด มีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับเจ้าคณะจังหวัด

         ข้อ ๑๗ รองเจ้าคณะจังหวัดเป็นผู้ช่วยเจ้าคณะจังหวัด มีอำนาจหน้าที่ตามที่เจ้าคณะจังหวัดมอบหมาย

         ข้อ ๑๘ เพื่อประโยชน์แก่การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าคณะจังหวัดและรองเจ้าคณะจังหวัด ให้มีเลขานุการเจ้าคณะจังหวัด ทำหน้าที่เลขานุการ

ส่วนที่ ๓
อำเภอ

         ข้อ ๑๙ เจ้าคณะอำเภอ หมายถึงเจ้าคณะเขตในกรุงเทพมหานคร และเจ้าคณะอำเภอในจังหวัดนอกจากกรุงเทพมหานคร

         รองเจ้าคณะอำเภอ หมายถึง รองเจ้าคณะเขตในกรุงเทพมหานคร และรองเจ้าคณะอำเภอในจังหวัดนอกจากกรุงเทพมหานคร

         ในกรณีที่มีข้อความกล่าวถึงเจ้าคณะอำเภอ รองเจ้าคณะอำเภอที่ปรากฏอยู่ในกฎมหาเถรสมาคมนี้ กฎมหาเถรสมาคมอื่น ข้อบังคับ คำสั่ง มติ ประกาศ สำหรับกรุงเทพมหานคร ให้หมายถึงเจ้าคณะเขตและรองเจ้าคณะเขต

         ข้อ ๒๐ เจ้าคณะอำเภอมีอำนาจหน้าที่ปกครองคณะสงฆ์ในเขตอำเภอของตน ดังนี้

              (๑) ดำเนินการปกครองคณะสงฆ์ให้เป็นไปตามพระธรรมวินัย กฎหมาย กฎมหาเถรสมาคม ข้อบังคับ ระเบียบ คำสั่ง มติ ประกาศ พระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช คำสั่งของผู้บังคับบัญชาเหนือตน

              (๒) ควบคุมและส่งเสริมการรักษาความเรียบร้อยดีงามการศาสนศึกษา การศึกษาสงเคราะห์ การเผยแผ่พระพุทธศาสนา การสาธารณูปการ และสาธารณสงเคราะห์ ให้ดำเนินไปด้วยดี

              (๓) ระงับอธิกรณ์ วินิจฉัยการลงนิคหกรรม วินิจฉัยข้ออุทธรณ์คำสั่ง หรือคำวินิจฉัยของเจ้าคณะตำบล

              (๔) แก้ไขข้อขัดข้องของเจ้าคณะตำบลให้เป็นไปโดยชอบ

              (๕) ควบคุมบังคับบัญชาเจ้าคณะและเจ้าอาวาส ตลอดถึงพระภิกษุสามเณรผู้อยู่ในบังคับบัญชา หรืออยู่ในเขตปกครองของตน และตรวจตราชี้แจงแนะนำการปฏิบัติหน้าที่ของผู้อยู่ในบังคับบัญชาให้เป็นไปโดยความเรียบร้อย

         ข้อ ๒๑ ในเมื่อไม่มีเจ้าคณะอำเภอ หรือเจ้าคณะอำเภอไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้เจ้าคณะจังหวัดแต่งตั้งรองเจ้าคณะอำเภอรักษาการแทนเจ้าคณะอำเภอ ถ้าไม่มีรองเจ้าคณะอำเภอหรือรองเจ้าคณะอำเภอไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้แต่งตั้งพระภิกษุสามเณรรูปใดรูปหนึ่ง ที่เห็นสมควรรักษาการแทนเจ้าคณะอำเภอ แล้วรายงานให้เจ้าคณะภาคทราบ

         ในกรณีที่ไม่มีเจ้าคณะอำเภอ เมื่อได้ปฏิบัติตามความในวรรคต้นแล้ว ให้เจ้าคณะจังหวัดดำเนินการเพื่อมีพระบัญชาแต่งตั้งเจ้าคณะอำเภอภายในเวลาไม่กินหนึ่งปี

         ให้ผู้รักษาการแทนเจ้าคณะอำเภอ มีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับเจ้าคณะอำเภอ

         ข้อ ๒๒ รองเจ้าคณะอำเภอเป็นผู้ช่วยเจ้าคณะอำเภอ มีอำนาจหน้าที่ตามที่เจ้าคณะอำเภอมอบหมาย

         ข้อ ๒๓ เพื่อประโยชน์แก่การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าคณะอำเภอและรองเจ้าคณะอำเภอ ให้มีเลขานุการเจ้าคณะจังหวัด ทำหน้าที่เลขานุการ

ส่วนที่ ๔
ตำบล

         ข้อ ๒๔ เจ้าคณะตำบล หมายถึง เจ้าคณะแขวงในกรุงเทพมหานคร และเจ้าคณะตำบลในจังหวัดนอกจากกรุงเทพมหานคร

         รองเจ้าคณะตำบล หมายถึง รองเจ้าคณะแขวงในกรุงเทพมหานคร และรองเจ้าคณะตำบลในจังหวัดนอกจากกรุงเทพมหานคร

              ในกรณีที่มีข้อความกล่าวถึงเจ้าคณะตำบล รองเจ้าคณะตำบลที่ปรากฏอยู่ในกฎมหาเถรสมาคมนี้ กฎมหาเถรสมาคมอื่น ข้อบังคับ คำสั่ง มติ ประกาศ สำหรับกรุงเทพมหานคร ให้หมายถึงเจ้าคณะแขวงและรองเจ้าคณะแขวง

         ข้อ ๒๕ เจ้าคณะตำบลมีอำนาจหน้าที่ปกครองคณะสงฆ์ในเขตอำเภอของตน ดังนี้

              (๑) ดำเนินการปกครองคณะสงฆ์ให้เป็นไปตามพระธรรมวินัย กฎหมาย กฎมหาเถรสมาคม ข้อบังคับ ระเบียบ คำสั่ง มติ ประกาศ พระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช คำสั่งของผู้บังคับบัญชาเหนือตน

              (๒) ควบคุมและส่งเสริมการรักษาความเรียบร้อยดีงามการศาสนศึกษา การศึกษาสงเคราะห์ การเผยแผ่พระพุทธศาสนา การสาธารณูปการ และสาธารณสงเคราะห์ ให้ดำเนินไปด้วยดี

              (๓) ระงับอธิกรณ์ วินิจฉัยการลงนิคหกรรม วินิจฉัยข้ออุทธรณ์คำสั่ง หรือคำวินิจฉัยของเจ้าอาวาส

              (๔) แก้ไขข้อขัดข้องของเจ้าคณะอาวาสให้เป็นไปโดยชอบ

              (๕) ควบคุมบังคับบัญชาเจ้าคณะและเจ้าอาวาส ตลอดถึงพระภิกษุสามเณรผู้อยู่ในบังคับบัญชา หรืออยู่ในเขตปกครองของตน และตรวจตราชี้แจงแนะนำการปฏิบัติหน้าที่ของผู้อยู่ในบังคับบัญชาให้เป็นไปโดยความเรียบร้อย

         ข้อ ๒๖ ในเมื่อไม่มีเจ้าคณะตำบล หรือเจ้าคณะตำบลไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้เจ้าคณะอำเภอแต่งตั้งรองเจ้าคณะตำบลรักษาการแทนเจ้าคณะตำบล ถ้าไม่มีรองเจ้าคณะตำบลหรือรองเจ้าคณะตำบลไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้แต่งตั้งพระภิกษุสามเณรรูปใดรูปหนึ่ง ที่เห็นสมควรรักษาการแทนเจ้าคณะตำบล แล้วรายงานให้เจ้าคณะจังหวัดทราบ

         ในกรณีที่ไม่มีเจ้าคณะตำบล เมื่อได้ปฏิบัติตามความในวรรคต้นแล้ว ให้เจ้าคณะอำเภอดำเนินการเพื่อมีพระบัญชาแต่งตั้งเจ้าคณะตำบลภายในเวลาไม่กินหนึ่งปี

         ให้ผู้รักษาการแทนเจ้าคณะตำบล มีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับเจ้าคณะตำบล

         ข้อ ๒๗ รองเจ้าคณะตำบลเป็นผู้ช่วยเจ้าคณะตำบล มีอำนาจหน้าที่ตามที่เจ้าคณะตำบลมอบหมาย

หมวด ๔
บทเบ็ดเตล็ด

         ข้อ ๒๘ เพื่อยกย่องเชิดชูเจ้าคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่มาโดยความเรียบร้อยหรือเพื่อช่วยการคณะสงฆ์เป็นครั้งคราว เมื่อมหาเถรสมาคมเห็นสมควรจะให้มีที่ปรึกษาของเจ้าคณะในส่วนภูมิภาคชั้นใด ๆ ด้วยก็ได้

              ตราไว้  ณ  วันที่  ๑๘  พฤศจิกายน  ๒๕๓๕

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก

ประธานกรรมการมหาเถรสมาคม


*  จากแถลงการณ์คณะสงฆ์ เล่ม ๘๐ ฉบับพิเศษ (๒) : ๒๕ พฤศจิกายน ๒๕๓๕