กฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ ๒๓ (พ.ศ.๒๕๔๑)

กฎมหาเถรสมาคม
ฉบับที่ ๒๓ (พ.ศ.๒๕๔๑)
ว่าด้วยระเบียบการปกครองคณะสงฆ์ *

————————

         อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๕ ตรี มาตรา ๒๐ และมาตรา ๒๐ ทวิ แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.๒๕๐๕ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๓๕ มหาเถรสมาคมตรากฎมหาเถรสมาคมไว้ ดังต่อไปนี้

         ข้อ ๑ กฎมหาเถรสมาคมนี้เรียกว่า “กฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ ๒๓ (พ.ศ.๒๕๔๑) ว่าด้วยระเบียบการปกครองคณะสงฆ์

         ข้อ ๒ กฎมหาเถรสมาคมนี้ ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในแถลงการณ์คณะสงฆ์ เป็นต้นไป

         ข้อ ๓ ตั้งแต่วันใช้กฎมหาเถรสมาคมนี้ ให้ยกเลิกกฎมหาเถรสมาคมฉบับที่ ๑๕ (พ.ศ. ๒๕๓๕) ว่าด้วยระเบียบการปกครองคณะสงฆ์

         บรรดากฎ ข้อบังคับ ระเบียบ คำสั่ง มติ หรือประกาศอื่นใด ในส่วนที่กำหนดไว้แล้วในกฎมหาเถรสมาคมนี้ หรือซึ่งขัดหรือแย้งกับกฎมหาเถรสมาคมนี้ ให้ใช้กฎมหาเถรสมาคมนี้แทน

หมวด ๑
บททั่วไป

         ข้อ ๔ การปกครองคณะสงฆ์ ทุกส่วนทุกชั้น ให้มีเจ้าคณะมหานิกายและเจ้าคณะธรรมยุต ปกครองบังคับบัญชาวัด และพระภิกษุสามเณรในนิกายนั้น

หมวด ๒
ระเบียบการปกครองคณะสงฆ์ส่วนกลาง

         ข้อ ๕ วิธีดำเนินการเพื่อความเรียบร้อยดีงาม วิธีดำเนินการศาสนศึกษาและศึกษาสงเคราะห์ วิธีดำเนินการเผยแผ่พระพุทธศาสนา วิธีดำเนินการสาธารณูปการและสาธารณสงเคราะห์ อันเกี่ยวกับการคณะสงฆ์และการพระศาสนา ให้เป็นไปตามที่กำหนดในระเบียบมหาเถรสมาคม

         ข้อ ๖ เพื่อประโยชน์แก่การปกครองคณะสงฆ์ ตามข้อ ๔ ให้เจ้าคณะใหญ่ปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับการคณะสงฆ์นิกายนั้นๆ ในเขตปกครองคณะสงฆ์ ดังนี้

              (๑) เจ้าคณะใหญ่หนกลาง ปฏิบัติหน้าที่ในเขตปกครองคณะสงฆ์ ภาค ๑ ภาค ๒ ภาค ๓ ภาค ๑๓ ภาค ๑๔ และภาค ๑๕

              (๒) เจ้าคณะใหญ่หนเหนือ ปฏิบัติหน้าที่ในเขตปกครองคณะสงฆ์ ภาค ๔ ภาค ๕ ภาค ๖ และภาค ๗

              (๓) เจ้าคณะใหญ่หนตะวันออก ปฏิบัติหน้าที่ในเขตปกครองคณะสงฆ์ ภาค ๘ ภาค ๙ ภาค ๑๐ ภาค ๑๑ และภาค ๑๒

              (๔) เจ้าคณะใหญ่หนใต้ ปฏิบัติหน้าที่ในเขตปกครองคณะสงฆ์ ภาค ๑๖ ภาค ๑๗ และภาค ๑๘

              (๕) เจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุต ปฏิบัติหน้าที่ในเขตปกครองคณะสงฆ์ธรรมยุตภาคทุกภาค

         ข้อ ๗ เจ้าคณะใหญ่มีอำนาจหน้าที่ปกครองคณะสงฆ์ในเขตหนของตน ดังนี้

              (๑) ดำเนินการปกครองคณะสงฆ์ให้เป็นไปตามพระธรรมวินัยกฎหมาย กฎมหาเถรสมาคม ข้อบังคับ ระเบียบ คำสั่ง มติ ประกาศ พระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช

              (๒) ควบคุมและส่งเสริมการรักษาความเรียบร้อยดีงามการศาสนศึกษา การศึกษาสงเคราะห์ การเผยแผ่พระพุทธศาสนา การสาธารณูปการ และการสาธารณสงเคราะห์ ให้ดำเนินไปด้วยดี

              (๓) วินิจฉัยการลงนิคหกรรม วินิจฉัยข้ออุทธรณ์คำสั่งหรือคำวินิจฉัยชั้นภาค หรือมีอำนาจหน้าที่ในกรณีที่ได้รับมอบหมายอย่างอื่นจากมหาเถรสมาคม

              (๔) แก้ไขข้อขัดข้องของเจ้าคณะภาคให้เป็นไปโดยชอบ

              (๕) ควบคุมบังคับบัญชาเจ้าคณะและเจ้าอาวาส ตลอดถึงพระภิกษุสามเณรผู้อยู่ในบังคับบัญชาหรืออยู่ในเขตปกครองของตน และชี้แจงแนะนำการปฏิบัติหน้าที่ของผู้อยู่ในบังคับบัญชา ให้เป็นไปโดยความเรียบร้อย

              (๖) ตรวจการและประชุมพระสังฆาธิการในเขตปกครองของตน

         ข้อ ๘ ในเมื่อไม่มีเจ้าคณะใหญ่ หรือเจ้าคณะใหญ่ไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ สมเด็จพระสังฆราชทรงแต่งตั้งพระภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง โดยความเห็นชอบของมหาเถรสมาคม รักษาการแทนเจ้าคณะใหญ่

              ในกรณีที่ไม่มีเจ้าคณะใหญ่ เมื่อได้ปฏิบัติตามความในวรรคต้นแล้ว ให้ดำเนินการเพื่อมีพระบัญชาแต่งตั้งเจ้าคณะใหญ่ภายในเวลาไม่เกิน ๑ ปี

              ให้ผู้รักษาการแทนเจ้าคณะใหญ่มีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับเจ้าคณะใหญ่

         ข้อ ๙ เพื่อประโยชน์แก่การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าคณะใหญ่ ให้มีเลขานุการเจ้าคณะใหญ่ ๒ รูป ทำหน้าที่การเลขานุการ

หมวด ๓
ระเบียบการปกครองคณะสงฆ์ส่วนภูมิภาค

———–

ส่วนที่ ๑
ภาค

         ข้อ ๑๐ เจ้าคณะภาคมีอำนาจหน้าที่ปกครองคณะสงฆ์ในเขตภาคของตน ดังนี้

              (๑) ดำเนินการปกครองคณะสงฆ์ให้เป็นไปตามพระธรรมวินัย กฎหมาย กฎมหาเถรสมาคม ข้อบังคับ ระเบียบ คำสั่ง มติ ประกาศ พระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช

              (๒) ควบคุมและส่งเสริมการรักษาความเรียบร้อยดีงาม การศาสนศึกษา การศึกษาสงเคราะห์ การเผยแผ่พระพุทธศาสนา การสาธารณูปการ และการสาธารณสงเคราะห์ ให้ดำเนินไปด้วยดี

              (๓) วินิจฉัยการลงนิคหกรรม วินิจฉัยข้ออุทธรณ์คำสั่งหรือคำวินิจฉัยชั้นจังหวัด

              (๔) แก้ไขข้อขัดข้องของเจ้าคณะจังหวัดให้เป็นไปโดยชอบ

              (๕) ควบคุมผู้บังคับบัญชาเจ้าคณะและเจ้าอาวาส ตลอดถึงพระภิกษุสามเณรผู้อยู่ในบังคับบัญชาหรือ อยู่ในเขตปกครองของตน และชี้แจงแนะนำการปฏิบัติหน้าที่ของผู้อยู่ในบังคับบัญชา ให้เป็นไปโดยความเรียบร้อย

              (๖) ตรวจการและประชุมพระสังฆาธิการในเขตปกครองของตน

         ข้อ ๑๑ ในเมื่อไม่มีเจ้าคณะภาค หรือเจ้าคณะภาคไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้เจ้าคณะใหญ่แต่งตั้งรองเจ้าคณะภาครักษาการแทนเจ้าคณะภาค ถ้าไม่มีรองเจ้าคณะภาค หรือรองเจ้าคณะภาคไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้แต่งตั้งพระภิกษุรูปใดรูปหนึ่งที่เห็นสมควรรักษาการแทนเจ้าคณะภาค แล้วรายงานให้มหาเถรสมาคมทราบ

              ในกรณีที่ไม่มีเจ้าคณะภาค เมื่อได้ปฏิบัติตามความในวรรคต้นแล้ว ให้เจ้าคณะใหญ่ดำเนินการเพื่อมีการแต่งตั้งเจ้าคณะภาคภายในเวลาไม่เกิน ๑ ปี

              ให้ผู้รักษาการแทนเจ้าคณะภาคมีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับเจ้าคณะภาค

         ข้อ ๑๒ รองเจ้าคณะภาคเป็นผู้ช่วยเจ้าคณะภาค มีอำนาจหน้าที่ตามที่เจ้าคณะภาคมอบหมาย

         ข้อ ๑๓ เพื่อประโยชน์แก่การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าคณะภาคและรองเจ้าคณะภาค ให้มีเลขานุกรเจ้าคณะภาค และเลขานุการรองเจ้าคณะภาค ทำหน้าที่การเลขานุการ

ส่วนที่ ๒
จังหวัด

         ข้อ ๑๔ เจ้าคณะจังหวัด หมายถึงเจ้าคณะกรุงเทพมหานครและเจ้าคณะจังหวัดนอกจากกรุงเทพมหานคร

         รองเจ้าคณะจังหวัด หมายถึง รองเจ้าคณะกรุงเทพมหานครและรองเจ้าคณะจังหวัดนอกจากรุงเทพมหานคร

         ในกรณีที่มีข้อความกล่าวถึงเจ้าคณะจังหวัด รองเจ้าคณะจังหวัดที่ปรากฎอยู่ในกฎมหาเถรสมาคมนี้ กฎมหาเถรสมาคมอื่น ข้อบังคับ ระเบียบ คำสั่ง มติ ประกาศ สำหรับกรุงเทพมหานคร ให้หมายถึง เจ้าคณะกรุงเทพมหานครและรองเจ้าคณะกรุงเทพมหานคร

         ข้อ ๑๕ เจ้าคณะจังหวัดมีอำนาจหน้าที่ปกครองคณะสงฆ์ในเขตจังหวัดของตน ดังนี้

              (๑) ดำเนินการปกครองคณะสงฆ์ให้เป็นไปตามพระธรรมวินัย กฎหมาย มหาเถรสมาคม ข้อบังคับ ระเบียบ คำสั่ง มติ ประกาศ พระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช คำสั่งของผู้บังคับบัญชาเหนือตน

              (๒) ควบคุมและส่งเสริมการรักษาความเรียบร้อยดีงาม การศาสนศึกษา การศึกษาสงเคราะห์ การเผยแผ่พระพุทธศาสนา การสาธารณูปการ และการสาธารณสงเคราะห์ ให้ดำเนินไปด้วยดี

              (๓) ระงับอธิกรณ์ วินิจฉัยการลงนิคหกรรม วินิจฉัย ข้ออุทธรณ์คำสั่งหรือคำวินิจฉัยชั้นเจ้าคณะอำเภอ

              (๔) แก้ไขข้อขัดข้องของเจ้าคณะอำเภอให้เป็นไปโดยชอบ

              (๕) ควบคุมบังคับบัญชาเจ้าคณะและเจ้าอาวาส ตลอดถึงพระภิกษุสามเณรผู้อยู่ในบังคับบัญชาหรืออยู่ในเขตปกครองของตน และชี้แจงแนะนำการปฏิบัติหน้าที่ของผู้อยู่ในบังคับบัญชา ให้เป็นไปโดยความเรียบร้อย

              (๖) ตรวจการและประชุมพระสังฆาธิการในเขตปกครองของตน

         ข้อ ๑๖ ในเมื่อไม่มีเจ้าคณะจังหวัด หรือเจ้าคณะจังหวัดไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้เจ้าคณะภาคแต่งตั้งรองเจ้าคณะจังหวัดรักษาการแทนเจ้าคณะจังหวัด ถ้าไม่มีรองเจ้าคณะจังหวัด หรือรองเจ้าคณะจังหวัดไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้แต่งตั้งพระภิกษุรูปใดรูปหนึ่งที่เห็นสมควรรักษาการแทนเจ้าคณะจังหวัด แล้วรายงานให้เจ้าคณะใหญ่ทราบ

              ในกรณีที่ไม่มีเจ้าคณะจังหวัด เมื่อได้ปฏิบัติตามวรรคต้นแล้ว ให้เจ้าคณะภาคดำเนินการเพื่อมีการแต่งตั้ง เจ้าคณะจังหวัดภายในเวลาไม่เกิน ๑ ปี

              ให้ผู้รักษาการแทนเจ้าคณะจังหวัดมีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับเจ้าคณะจังหวัด

         ข้อ ๑๗ รองเจ้าคณะจังหวัดเป็นผู้ช่วยเจ้าคณะจังหวัด มีอำนาจหน้าที่ตามที่เจ้าคณะจังหวัดมอบหมาย

         ข้อ ๑๘ เพื่อประโยชน์แก่การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าคณะจังหวัดและรองเจ้าคณะจังหวัด ให้มีเลขานุการเจ้าคณะจังหวัด และเลขานุการรองเจ้าคณะจังหวัด ทำหน้าที่การเลขานุการ

ส่วนที่ ๓
อำเภอ

         ข้อ ๑๙ เจ้าคณะอำเภอ หมายถึงเจ้าคณะเขตในกรุงเทพมหานคร เจ้าคณะอำเภอในจังหวัดนอกจากกรุงเทพมหานคร

              รองเจ้าคณะอำเภอ หมายถึงรองเจ้าคณะเขตในกรุงเทพมหานครและรองเจ้าคณะอำเภอ ในจังหวัดนอกจากกรุงเทพมหานคร

              ในกรณีที่มีข้อความกล่าวถึงเจ้าคณะอำเภอ รองเจ้าคณะอำเภอที่ปรากฏอยู่ในกฎมหาเถรสมาคมนี้ กฎมหาเถรสมาคมอื่น ข้อบังคับ ระเบียบ คำสั่ง มติ ประกาศ สำหรับกรุงเทพมหานคร ให้หมายถึงเจ้าคณะเขตและรองเจ้าคณะเขต

         ข้อ ๒๐ เจ้าคณะอำเภอมีอำนาจหน้าที่ปกครองคณะสงฆ์ในเขตอำเภอของตน ดังนี้

              (๑) ดำเนินการปกครองคณะสงฆ์ให้เป็นไปตามพระธรรมวินัย กฎหมาย กฎมหาเถรสมาคม ข้อบังคับ ระเบียบ คำสั่ง มติ ประกาศ พระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช คำสั่งของผู้บังคับบัญชาเหนือตน

              (๒) ควบคุมและส่งเสริมการรักษาความเรียบร้อยดีงาม การศาสนศึกษา การศึกษาสงเคราะห์ การเผยแผ่พระพุทธศาสนา การสาธารณูปการ และการสาธารณสงเคราะห์ ให้ดำเนินไปด้วยดี

              (๓) ระงับอธิกรณ์ วินิจฉัยการลงนิคหกรรม วินิจฉัยข้ออุทธรณ์คำสั่งหรือคำวินิจฉัยชั้นเจ้าคณะตำบล

              (๔) แก้ไขข้อขัดข้องของเจ้าคณะตำบลให้เป็นไปโดยชอบ

              (๕) ควบคุมบังคับบัญชาเจ้าคณะและเจ้าอาวาส ตลอดถึงพระภิกษุสามเณรผู้อยู่ในบังคับบัญชาหรืออยู่ในเขตปกครองของตน และชี้แจงแนะนำการปฏิบัติหน้าที่ของผู้อยู่ในบังคับบัญชา ให้เป็นไปโดยความเรียบร้อย

              (๖) ตรวจการและประชุมพระสังฆาธิการในเขตปกครองของตน

         ข้อ ๒๑ ในเมื่อไม่มีเจ้าคณะอำเภอ หรือเจ้าคณะอำเภอไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้เจ้าคณะจังหวัดแต่งตั้งรองเจ้าคณะอำเภอรักษาการแทนเจ้าคณะอำเภอ ถ้าไม่มีรองเจ้าคณะอำเภอ หรือรองเจ้าคณะอำเภอไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้แต่งตั้งพระภิกษุรูปใดรูปหนึ่งที่เห็นสมควรรักษาการแทนเจ้าคณะอำเภอ แล้วรายงานให้เจ้าคณะภาคทราบ

              ในกรณีที่ไม่มีเจ้าคณะอำเภอ เมื่อได้ปฏิบัติตามวรรคต้นแล้ว ให้เจ้าคณะจังหวัดดำเนินการเพื่อมีการแต่งตั้งเจ้าคณะอำเภอภายในเวลาไม่เกิน ๑ ปี

              ให้ผู้รักษาการแทนเจ้าคณะอำเภอมีอำนาจเจ้าที่เช่นเดียวกับเจ้าคณะอำเภอ

         ข้อ ๒๒ รองเจ้าคณะอำเภอเป็นผู้ช่วยเจ้าคณะอำเภอ มีอำนาจหน้าที่ตามที่เจ้าคณะอำเภอมอบหมาย

         ข้อ ๒๓ เพื่อประโยชน์แก่การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าคณะอำเภอและรองเจ้าคณะอำเภอ ให้มีเลขานุการเจ้าคณะอำเภอ และเลขานุการรองเจ้าคณะอำเภอ ทำหน้าที่การเลขานุการ

ส่วนที่ ๔
ตำบล

         ข้อ ๒๔ เจ้าคณะตำบล หมายถึงเจ้าคณะแขวงในกรุงเทพมหานครและเจ้าคณะตำบลในจังหวัด นอกจากกรุงเทพมหานคร

              ในกรณีที่มีข้อความกล่าวถึงเจ้าคณะตำบล รองเจ้าคณะตำบลที่ปรากฏอยู่ในกฎมหาเถรสมาคมนี้ กฎมหาเถรสมาคมอื่น ข้อบังคับ ระเบียบ คำสั่ง มติ ประกาศ สำหรับกรุงเทพมหานคร ให้หมายถึงเจ้าคณะแขวงและรองเจ้าคณะแขวง

         ข้อ ๒๕ เจ้าคณะตำบลมีอำนาจหน้าที่ปกครองคณะสงฆ์ในเขตตำบลของตน ดังนี้

              (๑) ดำเนินการปกครองคณะสงฆ์ให้เป็นไปตามพระธรรมวินัย กฎหมาย กฎมหาเถรสมาคม ข้อบังคับ ระเบียบ คำสั่ง มติ ประกาศ พระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช คำสั่งของผู้บังคับบัญชาเหนือตน

              (๒) ควบคุมและส่งเสริมการรักษาความเรียบร้อยดีงาม การศาสนศึกษา การศึกษาสงเคราะห์ การเผยแผ่พระพุทธศาสนา การสาธารณูปการและการสาธารณสงเคราะห์ ให้ดำเนินไปด้วยดี

              (๓) ระงับอธิการกรณ์ วินิจฉัยการลงนิคหกรรม วินิจฉัยข้ออุทธรณ์คำสั่งหรือคำวินิจฉัยชั้นเจ้าอาวาส

              (๔) แก้ไขข้อขัดข้องของเจ้าอาวาสให้เป็นไปโดยชอบ

              (๕) ควบคุมและบังคับบัญชาเจ้าอาวาสและพระภิกษุสามเณรผู้อยู่ในบังคับบัญชาหรือ อยู่ในเขตปกครองของตน และชี้แจงแนะนำการปฏิบัติหน้าที่ของผู้อยู่ในบังคับบัญชา ให้เป็นไปโดยความเรียบร้อย

              (๖) ตรวจการและประชุมพระสังฆาธิการในเขตปกครองของตน

         ข้อ ๒๖ ในเมื่อไม่มีเจ้าคณะตำบล หรือเจ้าคณะตำบลไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้เจ้าคณะอำเภอแต่งตั้งรองเจ้าคณะตำบลรักษาการแทนเจ้าคณะตำบล ถ้าไม่มีรองเจ้าคณะตำบล หรือรองเจ้าคณะตำบลไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้แต่งตั้งพระภิกษุรูปใดรูปหนึ่งที่เห็นสมควรรักษาการแทนเจ้าคณะตำบล แล้วรายงานให้เจ้าคณะจังหวัดทราบ

              ในกรณีที่ไม่มีเจ้าคณะตำบล เมื่อได้ปฏิบัติตามวรรคต้นแล้ว ให้เจ้าคณะอำเภอดำเนินการเพื่อมีการแต่งตั้งเจ้าคณะตำบลภายในเวลาไม่เกิน ๑ ปี

              ให้ผู้รักษาการแทนเจ้าคณะตำบลมีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับเจ้าคณะตำบล

         ข้อ ๒๗  รองเจ้าคณะตำบลเป็นผู้ช่วยเจ้าคณะตำบล มีอำนาจหน้าที่ตามที่เจ้าคณะตำบลมอบหมาย

         ข้อ ๒๘ เพื่อประโยชน์แก่การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าคณะตำบล ให้มีเลขานุการเจ้าคณะตำบล ทำหน้าที่การเลขานุการ

หมวด ๔
บทเบ็ดเตล็ด

        ข้อ ๒๙ เพื่อยกย่องเชิดชูเจ้าคณะและรองเจ้าคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่มาโดยความเรียบร้อย มหาเถรสมาคมจะให้มีที่ปรึกษาของเจ้าคณะในส่วนภูมิภาคชั้นใดๆ ก็ได้ ให้ที่ปรึกษามีหน้าที่ให้คำปรึกษาแก่เจ้าคณะชั้นนั้นๆ

ตราไว้ ณ วันที่ ๑ เดือน ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๑

(สมเด็จพระญาณสังวร)
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
ประธานกรรมการมหาเถรสมาคม


*  จากแถลงการณ์คณะสงฆ์ เล่ม ๘๖ ฉบับพิเศษ : ๓ ตุลาคม ๒๕๔๑