ระเบียบมหาเถรสมาคม กำหนดจำนวนและเขตปกครองตำบล พ.ศ. ๒๕๓๗

ระเบียบมหาเถรสมาคม

กำหนดจำนวนและเขตปกครองตำบล

พ.ศ. ๒๕๓๗ [1]

———————

      อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๕ ตรี แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๕ และข้อ ๕ แห่งกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ ๑๔ (พ.ศ. ๒๕๓๕) ว่าด้วยจำนวนและเขตปกครองคณะสงฆ์ส่วนภูมิภาค มหาเถรสมาคมจึงวางระเบียบไว้ ดังต่อไปนี้

      ข้อ ๑ ระเบียบมหาเถรสมาคมนี้ เรียกว่า ระเบียบมหาเถรสมาคมกำหนดจำนวนและเขตปกครองตำบล พ.ศ. ๒๕๓๗

      ข้อ ๒ ระเบียบมหาเถรสมาคมนี้ ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในแถลงการณ์คณะสงฆ์เป็นต้นไป

      ข้อ ๓ ตั้งแต่วันใช้ระเบียบมหาเถรสมาคมนี้ ให้ยกเลิกระเบียบมหาเถรสมาคมกำหนดจำนวนและเขตปกครองตำบล พ.ศ. ๒๕๐๖

      ข้อ ๔ การกำหนดเขตปกครองตำบลในกรณีพิเศษ ย่อมทำได้ตามที่กำหนดไว้ในระเบียบมหาเถรสมาคมนี้

      ข้อ ๕ ตำบลที่มีวัดต่ำกว่า ๕ วัด ให้รวมขึ้นในปกครองของเจ้าคณะตำบลอื่นซึ่งมีเขตติดต่อกัน

      ถ้ารวมวัดใน ๒ ตำบลเข้าด้วยกัน มีจำนวนวัดตั้งแต่ ๑๐ วัดขึ้นไป เพื่อสะดวกแก่การปกครอง หรือเพื่อความเจริญรุ่งเรืองแห่งคณะสงฆ์ จะแบ่งวัดใน ๒ ตำบลที่รวมกันนี้เป็น ๒ เขต หรือหลายเขต ให้มีเจ้าคณะตำบลเขตละรูปก็ได้

      ในกรณีเช่นนี้ การเรียกชื่อเจ้าคณะตำบล จะเรียกอนุโลมตามชื่อตำบลแห่งราชอาณาจักรก็ได้ หรือจะเรียกชื่อตำบลตามเขตว่า ตำบลชื่อนี้ เขตหนึ่ง ตำบลชื่อนี้ เขตสองก็ได้ แล้วแต่ความเหมาะสม

      ข้อ ๖ ตำบลที่มีเขตติดต่อกัน ตั้งแต่สามตำบลขึ้นไป ถ้าแต่ละตำบลมีวัดไม่ถึง ๕ วัด หากรวมวัดในตำบลเหล่านั้นเข้าด้วยกัน มีจำนวนตั้งแต่ ๕ วัดขึ้นไป ก็ให้รวมยกขึ้นเป็นเขตตำบลเดียวกันหรือหลายเขต แล้วตามความเหมาะสม ให้มีเจ้าคณะตำบลเป็นผู้ปกครองเขตละหนึ่งรูป การเรียกชื่อเจ้าคณะตำบลให้อนุโลมตาม ข้อ ๕

      ข้อ ๗ แม้ตำบลที่มีวัดครบ ๕ วัด จะให้รวมขึ้นในปกครองของเจ้าคณะตำบลอื่นที่มีเขตติดต่อกันก็ได้ ถ้าเป็นการเหมาะสมและจำเป็นในทางปกครอง

      ข้อ ๘ ตำบลที่มีวัดเกินกว่า ๑๐ วัด จะแยกวัดที่เกินนั้นไปรวมขึ้นในปกครองของเจ้าคณะตำบลอื่น ที่มีเขตติดต่อกันก็ได้ ถ้าเป็นความสะดวกในทางปกครอง

      ข้อ ๙ ในตำบลที่มีวัดตั้งแต่ ๑๐ วัดขึ้นไป เพื่อสะดวกแก่การปกครอง หรือเพื่อความเจริญรุ่งเรืองแก่คณะสงฆ์ จะแบ่งเขตตำบลออกเป็น ๒ เขต หรือหลายเขต และให้มีเจ้าคณะตำบลเขตแต่ละรูปก็ได้

      ในกรณีเช่นนี้ การเรียกชื่อเจ้าคณะตำบล ให้เรียกตามเขตว่า เจ้าคณะตำบลนี้เขตหนึ่ง เขตสอง เป็นต้น

      ข้อ ๑๐ ในตำบลเดียวกันที่มีวัดจั้งแต่ ๘ วัดขึ้นไป หรือหลายตำบลรวมกัน มีวัดตั้งแต่ ๘ วัดขึ้นไป จะให้มีรองเจ้าคณะตำบล ๑ รูปก็ได้

      ในกรณี ที่มีการรวมวัดในหลายตำบล  ให้ขึ้นในปกครองของเจ้าคณะตำบลรูปเดียว ถ้ารวมกันเพียงสองตำบลให้คงชื่อไว้ทั้งคู่ ถ้ารวมกันเกินกว่านั้นให้คงชื่อไว้แต่ตำบลเดียวจะคงชื่อตำบลใดไว้ แล้วแต่จะพิจารณาเห็นสมควร

      ข้อ ๑๑ ให้เป็นหน้าที่ของเจ้าคณะอำเภอ พิจารณากำหนดเขตตำบล จำนวนวัด ในตำบล และชื่อตำบล ตามระเบียบมหาเถรสมาคมนี้เสนอเจ้าคณะจังหวัดเพื่อพิจารณา เมื่อเจ้าคณะจังหวัดได้ประกาศโดยอนุมัติของเจ้าคณะภาค ตามแบบท้ายระเบียบมหาเถรสมาคมนี้ ในแถลงการณ์คณะสงฆ์แล้ว ให้ถือเป็นเขตปกครองตำบลของคณะสงฆ์

      ข้อ ๑๒ จำนวนและเขตปกครองที่ได้กำหนดไว้แล้วก่อนใช้ระเบียบมหาเถรสมาคมนี้ ให้ถือเป็นจำนวนและเขตปกครองตำบล ตามระเบียบมหาเถรสมาคมนี้

ประกาศ ณ วันที่ ๒๓  มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๓๗

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก

ประธานกรรมมหาเถรสมาคม


[1]  จากแถลงการณ์คณะสงฆ์ เล่ม ๘๒ ตอนที่ ๗ :  ๒๕ กรกฎาคม ๒๕๓๗