ระเบียบมหาเถรสมาคม
กำหนดหลักเกณฑ์ให้มีรองเจ้าคณะอำเภอและรองเจ้าคณะจังหวัด
พ.ศ. ๒๕๐๗ [1]
——————–
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๘ และมาตรา ๒๒ วรรค ๒ แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ และตามความในข้อ ๔๕ แห่งกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ ๕ (พ.ศ. ๒๕๐๖) ว่าด้วยการแต่งตั้งถอดถอนพระสังฆาธิการ มหาเถรสมาคมวางระเบียบไว้ ดังต่อไปนี้
ข้อ ๑ ระเบียบมหาเถรสมาคมนี้ เรียกว่า “ระเบียบมหาเถรสมาคม ว่าด้วยหลักเกณฑ์ให้มีรองเจ้าคณะอำเภอและรองเจ้าคณะจังหวัด พ.ศ. ๒๕๐๗”
ข้อ ๒ ระเบียบมหาเถรสมาคมนี้ ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจาวันประกาศในแถลงการณ์คณะสงฆ์เป็นต้นไป
ข้อ ๓ ในเขตปกครองท้องที่อำเภอฝ่ายคณะสงฆ์ใด ถ้า
(ก) มีวัดไม่ต่ำกว่า ๓๐ วัด ให้เจ้าคณะภาคพิจารณาตามข้อเสนอของเจ้าคณะจังหวัด ว่าสมควรจะมีรองเจ้าคณะอำเภอหรือไม่ ถ้าพิจารณาเห็นสมควร ก็ให้อำเภอนั้นมีรองเจ้าคณะอำเภอได้ ๑ รูป
(ข) มีวัดไม่ต่ำกว่า ๔๕ วัด ให้อำเภอนั้นมีรองเจ้าคณะอำเภอได้ ๑ รูป
(ค) มีวัดไม่ต่ำกว่า ๖๐ วัด ให้เจ้าคณะภาคพิจารณาตามข้อเสนอของเจ้าคณะจังหวัด ว่าสมควรจะมีรองเจ้าคณะอำเภอถึง ๒ รูปหรือไม่ ถ้าพิจารณาเห็นสมควร ก็ให้อำเภอนั้นมีรองเจ้าคณะอำเภอถึง ๒ รูปได้
(ฆ) มีวัดไม่ต่ำกว่า ๑๐๑ วัด ให้อำเภอนั้นมีรองเจ้าคณะอำเภอได้ ๓ รูป
ข้อ ๔ ในเขตปกครองท้องที่จังหวัดฝ่ายคณะสงฆ์ใด ถ้า
(ก) มีวัดไม่ต่ำกว่า ๑๕๐ วัด ให้เจ้าคณะใหญ่พิจารณาตามข้อเสนอของเจ้าคณะภาค ว่าสมควรจะมีรองเจ้าคณะจังหวัดหรือไม่ ถ้าพิจารณาเห็นสมควร ก็ให้จังหวัดนั้นมีรองเจ้าคณะจังหวัดได้ ๑ รูป
(ข) มีวัดไม่ต่ำกว่า ๒๐๐ วัด ให้อำเภอนั้นมีรองเจ้าคณะจังหวัดได้ ๑ รูป
(ค) มีวัดไม่ต่ำกว่า ๔๐๐ วัด ให้เจ้าคณะใหญ่พิจารณาตามข้อเสนอของเจ้าคณะภาค ว่าสมควรจะมีรองเจ้าคณะจังหวัดถึง ๒ รูปหรือไม่ ถ้าพิจารณาเห็นสมควร ก็ให้จังหวัดนั้นมีรองเจ้าคณะจังหวัดถึง ๒ รูปได้
(ฆ) มีวัดไม่ต่ำกว่า ๕๐๐ วัด ให้จังหวัดนั้นมีรองเจ้าคณะจังหวัดได้ ๒ รูป
ข้อ ๕ ในเขตปกครองท้องที่อำเภอหรือจังหวัดได้ ๒ รูป ไม่เข้าในหลักเกณฑ์ตามข้อ ๓ (ก) หรือ ข้อ ๔ (ก) แต่มีความจำเป็นอย่างแท้จริงเนื่องในการปกครองคณะสงฆ์ สมควรมีรองเจ้าคณะอำเภอหรือรองเจ้าคณะจังหวัดได้เป็นกรณีพิเศษ ให้เป็นอำนาจหน้าที่ของมหาเถรสมาคมพิจารณา
ประกาศ ณ วันที่ ๒๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๐๗
สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ
สมเด็จพระสังฆราช ประธานกรรมการมหาเถรสมาคม
[1] จากแถลงการณ์คณะสงฆ์ เล่ม ๕๓ ตอนที่ ๑ : ๑๐ มกราคม ๒๕๐๘