ระเบียบมหาเถรสมาคม กำหนดวิธีปฎิบัติในการไปต่างประเทศสำหรับพระภิกษุสามเณร พ.ศ. ๒๕๓๗

ระเบียบมหาเถรสมาคม

กำหนดวิธีปฎิบัติในการไปต่างประเทศสำหรับพระภิกษุสามเณร

พ.ศ. ๒๕๓๗[1]

——————–

        อาศัยอาจตามความในมาตรา ๑๕ ตรี แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๕ มหาเถรสมาคมวางระเบียบไว้ ดังต่อไปนี้

        ข้อ ๑. ระเบียบมหาเถรสมาคมนี้ เรียกว่า “ระเบียบมหาเถรสมาคม กำหนดวิธีปฎิบัติในการไปต่างประเทศสำหรับพระภิกษุสามเณร พ.ศ. ๒๕๓๗”

        ข้อ ๒. ระเบียบมหาเถรสมาคมนี้  ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในแถลงการณ์คณะสงฆ์ เป็นต้นไป

        ข้อ ๓. ตั้งแต่วันใช้ระเบียบมหาเถรสมาคมนี้ ให้ยกเลิกระเบียบมหาเถรสมาคม กำหนดวิธีปฎิบัติในการไปต่างประเทศสำหรับพระภิกษุสามเณร พ.ศ. ๒๕๐๗

หมวด ๑
บททั่วไป

        ข้อ ๔ การเดินทางไปต่างประเทศของพระภิกษุสามเณร แบ่งเป็น ๒ ประเภท คือ

             ก. ไปราชการหรือกิจของคณะสงฆ์

             ข. ไปเป็นส่วนบุคคล

        ข้อ ๕ การเดินทางไปต่างประเทศ ในประเภท ก. เป็นอำนาจหน้าที่ของมหาเถรสมาคม

        ข้อ ๖ การเดินทางไปต่างประเทศ ในประเภท ข. ต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดที่วางไว้ในระเบียบมหาเถรสมาคมนี้

หมวด ๒
คุณสมบัติของพระภิกษุสามเณรผู้เดินทางไปต่างประเทศ

        ข้อ ๗ พระภิกษุผู้จะเดินทางไปต่างประเทศ ต้องประกอบด้วยคุณสมบัติทั่วไป ดังนี้

             (๑) ต้องมีพรรษาพ้น ๕ เว้นแต่กรณีที่ระบุไว้ในข้อ ๘

             (๒) มีความรู้พระธรรมวินัยพอรักษาตัวได้

             (๓) เป็นปกตัตตะ และมีวคามประพฤติเรียบร้อยดีงาม

       ข้อ ๘ พระภิกษุผู้มีพรรษาต่ำกว่า ๕ หรือสามเณร ต้องมีพระภิกษุผู้มีคุณสมบัติตามข้อ ๗ เป็นผู้กำกับ หรือเจ้าอาวาสเจ้าคณะในต่างประเทศขอไปเพือการพระศาสนาหรือการคณะสงฆ์ ในสำนักหรือในเขตปกครองของตน จึงจะมีสิทธิได้รับการพิจารณาในการไปต่างประเทศ ตามระเบียบมหาเถรสมาคมนี้

หมวด ๓
กรณียะในการไปต่างประเทศ

        ข้อ ๙ ในกรณียะที่ยกเป็นเหตุในการขอเดินทางไปต่างประเทศได้ มีกำหนดดังนี้

             (๑) ไปสอนพระปริยัติธรรม หรือสอนพระพุทธศาสนาในถิ่นอันสมควร

             (๒) ไปศึกษาวิชาอันไม่ขัดต่อพระธรรมวินัย และสมควรแก่สมณวิสัย

             (๓) ไปนมัสการปูชนียวัตถุ และหรือปูชนียสถาน เป็นหมู่คณะ ตามที่คณะกรรมการ ศ.ต.ภ. เห็นสมควร

             (๔) ไปบำเพ็ญกุศลเนื่องด้วยถวายผ้ากฐิน ตามเทศกาลหรือผ้าป่า

             (๕) ไปเยี่ยมพระอุปัชฌาย์ อาจารย์ หรือญาติชั้นบุรพการี หรือญาติอื่นใด ตามที่คณะกรรมการ ศ.ต.ภ. เห็นสมควร หรือ

             (๖) ไปกิจนิมนต์ตามที่คณะกรรมการ ศ.ต.ภ. เห็นสมควร

        ข้อ ๑๐ พระภิกษุผู้ได้รับอาราธนาไปเป็นครูสอนพระปริยัติธรรม หรือสอนพระพุทธศาสนาจากเจ้าอาวาส เจ้าคณะ องค์การ สมาคม หรือสถาบันอื่นใดในต่างประเทศ ให้เป็นหน้าที่ของผู้ได้รับอาราธนาแจ้งราบละเอียดพร้อมด้วยหลักฐานการอาราธนา สถานที่จะทำการ กิจที่จะทำ วิธีที่จะทำ วิธีดำเนินการ การอุปถัมภ์ในการเดินทาง และการเป็นอยู่ ที่พักอาศัย

        ถ้าหลักฐานต่าง ๆ เป็นภาษาต่างประเทศ ให้แปลเป็นภาษาไทย โดยผูแปลและผู้ไปนั้นลงนามรับรองคำแปลด้วย

        ข้อ ๑๑ พระภิกษุผู้ประสงค์จะเดินทางไปศึกษาวิชา อันไม่ขัดต่อพระธรรมวินัยและสมควรแก่สมณวิสัย ต้องประกอบด้วยคุณสมบัติเฉพาะอีกส่วนหนึ่ง ดังนี้

             (๑) เป็นเปรียญ

             (๒) มีพื้นความรู้สามัญศึกษา ไม่ต่ำกว่าชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย หรือเทียบเท่า

             (๓) มีสุขภาพอนามัยดี ซึ่งนายแพทย์แผนปัจจุบันชั้น ๑ ตรวจและรับรองเป็นหลักฐานว่าสามารถไปศึกษาได้

             (๔) มีสติปัญญาและฉันทะ วิริยะ ชันติ ปานกลาง เป็นอย่างต่ำ ในกรณีนี้ให้ผู้ขออนุญาตแสดงหลักฐานและคะแนนวิชาครั้งสุดท้ายที่ตนสอบไล่ด้

        ข้อ ๑๒ พระภิกษุผู้ขออนุญาตเพื่อไปศึกษาในต่างประเทศ ต้องแจ้งรายละเอียดพร้อมด้วยหลักฐานเกี่ยวกับสถานศึกษา การรับเข้าศึกษา รายวิชาที่ศึกษา สถานที่พักเพื่อการศึกษา ค่าใช้จ่ายในการศึกษาแต่ละปี และผู้อุปถัมภ์ในการเดินทาง ตลอดถึงการอุปถัมภ์ในการศึกษาจนกว่าจะจบหลักสูตร

        ถ้าหลักฐานต่าง ๆ เป็นภาษาต่างประเทศ ให้แปลเป็นภาษาไทย โดยผู้แปลและผู้ไปนั้นลงนามรับรองคำแปลด้วย

หมวด ๔
วิธีการขออนุญาตไปต่างประเทศ

        ข้อ ๑๓ พระภิกษุสามเณรผู้ประสงค์จะเดินทางไปต่างประเทศตามข้อ ๖ ให้ยื่นหนังสือขออนุญาตตามแบบของคณะกรรมการ ศ.ต.ภ. ต่อผู้บังคับบัญชาตามชั้น ดังนี้

             (๑) รองเจ้าอาวาส ผู้ช่วยเจ้าอาวาส พระภิกษุสามเณรในวัด ยื่นต่อเจ้าอาวาส

             (๒) รองเจ้าคณะตำบล เจ้าอาวาส นอกจากพระอารามหลวง ยื่นต่อเจ้าคณะตำบล

             (๓) รองเจ้าคณะอำเภอ เจ้าคณะตำบล ยื่นต่อเจ้าคณะอำเภอ

             (๔) รองเจ้าคณะจังหวัด เจ้าคณะอำเภอ เจ้าอาวาสพระอารามหลวง รองหรือผู้ช่วยเจ้าอาวาสพระอารามหลวง โดยความเห็นชอบของเจ้าอาวาส ยื่นต่อเจ้าคณะจังหวัด

             (๕) รองเจ้าคณะภาค เจ้าคณะจังหวัด ยื่นต่อเจ้าคณะภาค

             (๖) เจ้าคณะภาค ยื่นต่อเจ้าคณะใหญ่

             (๗) กรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าคณะใหญ่ ยื่นต่อประธานกรรมการมหาเถรสมาคม

        ข้อ ๑๔ ให้ผู้มีหน้าที่รับหนังสือขออนุญาตชั้นต้น ตามความในข้อ ๑๓ (๑) (๒) (๓) (๔) (๕) ชี้แจงแสดงความเห็นในเรื่องอนุญาตถูกต้องตามระเบียบหรือไม่ ในเรื่องสมควรหรือไม่สมควร ในกรณีที่จะอนุญาตแล้วเสนอตามลำดับ จนถึงเจ้าคณะภาค

        เมื่อเจ้าคณะภาคพิจารณาเห็นว่าถูกต้องตามระเบียบสมควรอนุญาตให้เสนอไปยังคณะกรรมการ ศ.ต.ภ. ถ้าคณะกรรมการ ศ.ต.ภ. เห็นชอบตามความเห็นของเจ้าคณะภาค ให้แจ้งไปยังกรมการศาสนาเพื่อดำเนินการต่อไป

        ถ้าเจ้าคณะภาค หรือคณะกรรมการ ศ.ต.ภ. เห็นไม่สมควรอนุญาต ให้แจ้งแก่เจ้าคณะจังหวัดหรือเจ้าคณะภาคแล้วแต่กรณี ทราบถึงการไม่อนุญาต การสั่งไม่อนุญาตนั้น ๆ ให้เป็นอันสิ้นสุด

        ข้อ ๑๕ ผู้มีอำนาจที่รับหนังสืออนุญาต ตามความในข้อ ๑๓ (๖)  (๗) มีอำนาจพิจารณาอนุมัติหรือไม่อนุมัติก็ได้ และแจ้งการอนุมัติพร้อมด้วยเรื่องที่ขออนุญาตไปยังคณะกรรมการ ศ.ต.ภ.

        ข้อ ๑๖ ในกรณีที่พระภิกษุสามเณรซึ่งสังกัดในจังหวัดชายแดนขออนุญาตเดินทางไปต่างประเทศที่มีเขตติดต่อกันกับจังหวัดที่ตนสังกัดนั้น ตามความในข้อ ๔ เป็นการชั่วคราว ให้ยื่นคำขออนุญาตต่อเจ้าอาวาสที่ตนสังกัด เมื่อเจ้าอาวาสเห็นสมควรอนุญาต ให้เสนอต่อเจ้าคณะผู้มีหน้าที่ติตต่อกับทางราชการในเรื่องอนุญาตการเดินทางไปต่างประเทศในจังหวัดนั้น  เพื่อพิจารณาอนุมัติ และติดต่อกับทางราชการผู้ออกหนังสือเดินทางผ่านแดนชั่วคราวตามระเบียบของทางราชการ

        ถ้าผู้ขออนุญาตเป็นเจ้าอาวาสหรือเจ้าคณะ ให้ยื่นคำขออนุญาตต่อเจ้าคณะผู้มีหน้าที่ติดต่อกับทางราชการดังกล่างแล้วในวรรคแรก

        การพิจารณาอนุมัติของเจ้าคณะตามความสนสองวรรคแรก ให้ดำเนินการตามข้อ ๗ ข้อ ๘ และข้อ ๙ โดยอนุโลม

        เมื่อผู้เดินทางไปรับอนุญาตจากทางราชการแล้ว ให้เจ้าคณะผู้อนุมัติรายงานไปยังคณะกรรมการ ศ.ต.ภ. ทราบ

        ข้อ ๑๗ การได้รับอนุญาตให้เดินทางไปต่างประเทศตามระเบียบมหาเถรสมาคมนี้ ให้ถือว่าเป็นการอนุญาตให้ไปเฉพาะครั้งเดียว และเฉพาะกรณียะที่อนุญาตเท่านั้น

        เมื่อจะขอวีซ่าเดินทางไปต่างประเทศครั้งต่อ ๆ ไปอีก เฉพาะกรณียะตามข้อ ๙ (๓) (๔) (๕) หรือ (๖) ให้ขออนุญาตต่อเจ้าอาวาสหรือเจ้าคณะผู้บังคับบัญชาโดยใกล้ชิดแล้วแต่กรณี เมื่อเจ้าอาวาสหรือเจ้าคณะผู้บังคับบัญชาโดยใกล้ชิดอนุญาตแล้ว ให้รายงานคณะกรรมการ ศ.ต.ภ. ทราบ

        ให้นำความในวรรคสอง มาใช้ในกรณีที่เจ้าคณะใหญ่ หรือประธานกรรมการมหาเถรสมาคมอนุมัติให้วีซ่าด้วย

        ข้อ ๑๘ การขอต่ออายุหนังสือเดินทางไปต่างประเทศ ให้ปฏิบัติเช่นเดียวกันกับการขอครั้งแรก

หมวด ๔
การพำนักในต่างประเทศ

        ข้อ ๑๙ การพักแรมในระหว่างเกินทางหรือพักชั่วคราวในถิ่นที่ไปถึงของพระภิกษุสามเณรผู้เดินทางไปต่างประเทศ ให้พักในสถานที่อันสมควรแก่สมณวิสัย หากจำเป็นต้องพักในเคหะที่สมควรของบุคคล ให้พักได้ไม่เกิน ๑๕ วัน

        ในกรณีที่พระภิกษุสามเณรผู้ไปอยู่ประจำในต่างประเทศ เมื่อเดินทางไปพักแรมหรือพักชั่วคราวในถิ่นอื่น ให้ปฏิบัติตามความในวรรคแรก

        ข้อ ๒๐ พระภิกษุสามเณรผู้ได้รับอนุญาตให้เดินทางไปต่างประเทศ จะเดินทางไปได้เฉพาะในประเทศที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น ถ้าประสงค์จะเดินทางต่อไปยังประเทศอื่นใด จากประเทศที่ได้รับอนุญาต ต้องแจ้งรื่องราวพร้อมทั้งรายละเอียดให้คณะกรรมการ ศ.ต.ภ. อนุมัติก่อน จึงจะเดินทางต่อไปได้

        ข้อ ๒๑ การขอต่ออายุหนังสือเดินทางในต่างประเทศก็ดี การขอเปลี่ยนวัตถุประสงค์ในหนังสือเดินทางเป็นอย่างอื่นในต่างประเทศก็ดี ให้ผู้ขอทำรายงานชี้แจงเหตุผลในการที่จะต้องอยู่ต่อไป หรือที่จะต้องวัตถุประสงค์ พร้อมทั้งระบุสถานทูตไทย หรือสถานกงสุลไทยที่จะขอให้ต่อายุหรือให้เปลี่ยนวัตถุประสงค์นั้น เสนอคณะกรรมกา ศ.ต.ภ. เพื่อพิจารณาล่วงหน้าไม่ต่ำกว่า ๖ เดือน ก่อนวันครบกำหนดอายุการใช้หนังสือเดินทางหรือไม่ต่ำกว่า ๓ เดือน ก่อนยื่นเรื่องราวขอเปลี่ยนวัตถุประสงค์ในหนังสือเดินทางแล้วแต่กรณี

        ในการพิจารณาดังกล่าวในวรรคแรก ให้คณะกรรมการ ศ.ต.ภ. สืบสวนสอบสวนก่อน เมื่ออนุมัติหรือไม่อนุมัติประการใดแล้ว  ให้แจ้งผลไปยังผู้ขอ หากอนุมัติก็ให้ส่งสำเนาหนังสืออนุมัตินั้นไปยังสถานทูตไทย หรือสถานกงสุลไทยตามที่ระบุไว้ในคำขอเพื่อรับทราบ

        เมื่อผู้ขอได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการ ศ.ต.ภ. ให้อยู่ในต่างประเทศต่อไปได้ หรือให้เปลี่ยนวัตถุประสงค์ในหนังสือเดินทางแล้ว ให้นำหลักฐานการอนุมัตินั้นไปแสดงพร้อมกับคำร้องขอต่ออายุหนังสือเดินทาง หรือขอเปลี่ยนวัตถุประสงค์ในหนังสือเดินทาง

หมวด ๖
คณะกรรมการ ศ.ต.ภ.

        ข้อ ๒๒ ให้มีศุนย์ควบคุมการไปต่างประเทศสำหรับพระภิกษุสามเณร เรียกชื่อย่อว่า ศ.ต.ภ. ประกอบด้วยคณะกรรมการคณะหนึ่ง ซึ่งมหาเถรสมาคมแต่งตั้ง มีจำนวนไม่น้อยกว่า ๓ รูป ไม่เกิน ๕ รูป

        คณะกรรมการ ศ.ต.ภ. สังกัดมหาเถสมาคม ปฏิบัติหน้าที่คราวละ ๔ ปี และอาจได้รับแต่งตั้งอีกได้

        ข้อ ๒๓ คณะกรรมการ ศ.ต.ภ. มีอำนาจหน้าที่ตามที่กำหนดไว้ในระเบียบมหาเถรสมาคมนี้ นอกจากนี้ให้มีหน้าที่ควบคุมทะเบียนและสอดส่องคามเป็นไปเกี่ยวกับทุกข์สุข หรืออย่างอื่นใดของพระภิกษุสามเณรผู้ไปหรืออยู่ในต่างประเทศ กับให้มีอำนาจกำหนดแบบหนังสือขออนุญาตและแบบพิมพ์ต่าง ๆ โดยอนุมัติมหาเถรสมาคม

        เมื่อมีความจำเป็นในการที่จะต้องรักษาความเรียบร้อยดีงามให้ยิ่งขึ้น มหาเถรสมาคมจะได้ขยายอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ ศ.ต.ภ. ให้กว้างขวางออกไปอีกตามความเหมาะสม

        ข้อ ๒๔ ให้มีเลขานุการคณะกรรมการ ศ.ต.ภ. ทำหน้าที่การเลขานุการซึ่งคณะกรรมการ ศ.ต.ภ. จะได้พิจารณาแต่งตั้ง มีจำนวน ๑ รูป หรือหลายรูปแล้วแต่จะเห็นสมควร

        ให้เลขานุการคณะกรรมการ ศ.ต.ภ. พ้นจากหน้าที่เมื่อคณะกรรมการ ศ.ต.ภ. ผู้แต่งตั้งให้พ้น หรือคณะกรรมการ ศ.ต.ภ. ผู้แต่งตั้งพ้นจากหน้าที่ตามวาระ

หมวด ๗
เบ็ดเตล็ด

        ข้อ ๒๕ให้มีพระภิกษุควบคุมดูแลพระภิกษุสามเณรที่ไปปฎิบัติศาสนกิจอยู่ในต่างประเทศ ซึ่งพระเถระที่มหาเถรสมาคมแต่งตั้งจะได้พิจารณาแต่งตั้งตามเห็นสมควร

        ในประเทศที่มิได้แต่งตั้งพะรภิกษุให้มีหน้าที่ควบคุมดูแลพระภิกษุสามเณรที่ไปปฏิบัติศาสนกิจในต่างประเทศ ให้พระภิกษุสามเณรที่ไปปฏิบัติศาสนกิจในต่างประเทศนั้น ๆ แจ้งทุกข์สุข หรือความเป็นไปของตนต่อสถานทูตไทยหรือกงสุลไทย เพื่อขอให้ส่งเรื่องมายังพระเถระที่มหาเถรสมาคมแต่งตั้ง

        สำหรับพระภิกษุสามเณรที่ไปศึกษาอยู่ในต่างประเทศ ให้แจ้งทุกข์สุขหรือความเป็นไปของตนต่อสถานทูตไทยหรือกงสุลไทยในประเทศนั้น ๆ เพื่อขอให้ส่งเรื่องมายังคณะกรรมการ ศ.ต.ภ.

        ข้อ ๒๖ พระภิกษุสามเณรผู้เดินทางไปหรือพักอยู่ในต่างประเทศด้วยกรณีใดก็ตาม ให้ถือว่ายังอยู่ในสังกัดการปกครองของเจ้าอาวาสและเจ้าคณะผู้บังคับบัญชาเหนือตนตามเดิม เช่นเดียวกับเมื่อยังมิได้เดินทางไปต่างประเทศ

        หากพระภิกษุสามเณรที่พักอยู่ในต่างประเทศรูปใด ถูกกล่าวโทษหรือต้องอธิกรณ์ ให้พระภิกษุที่ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ควบคุมในประเทศนั้น ๆ หรือสถานทูตไทย หรือสถานกงสุลไทย สอบสวนแล้วรายงานมายังพระเถระที่มหาสมาคมแต่งตั้ง หรือคณะกรรมการ ศ.ต.ภ. แล้วแต่กรณี เพื่อพิจารณาดำเนินการและแจ้งเจ้าอาวาสวัดที่พระภิกษุสามเณรรูปนั้นสังดัด

        ในประเทศที่ไม่มีพระภิกษุผู้ควบคุมดูแล ให้สถานทูตไทย หรือสถานกงสุลไทยในประเทศนั้น ๆ รายงานการถูกกล่าวโทษหรือต้องอธิกรณ์มายังพระเถระที่มหาเถรสมาคมแต่งตั้ง หรือคณะกรรมการ ศ.ต.ภ. แล้วแต่กรณี เพื่อพิจารณาดำเนินการและแจ้งเจ้าอาวาสวัดที่พระภิกษุสามเณรรูปนั้นสังกัดอยู่

        ให้เจ้าอาวาสและเจ้าคณะผู้บังคับบัญชาตามวรรคแรก สืบสวนสอบสวนข้อเท็จจริง ถ้าเห็นสมควรจะเรียกตัวกลับ ก็ขอให้สถานทูตไทยหรือสถานกงสุลไทยในประเทศนั้น ๆ ส่งตัวกลับประเทศไทย เพื่อดำเนินการตามควรแก่กรณี หากพระภิกษุสามเณรรูปนั้นไม่ปฎิบัติตาม ให้รายงานมหาเถรสมาคม หรือคณะกรรมการ ศ.ต.ภ. แล้วแต่กรณีพิจารณา

        ข้อ ๒๗ พระภิภษุสามเณรรูปใดฝ่าฝืนระเบียบมหาเถรสมาคมนี้ ให้เจ้าอาวาสเจ้าคณะพิจารณาลงโทษตามสมควร แล้วรายงานเจ้าคณะเหนือตนและมหาเถรสมาคม หรือคณะกรรมการ ศ.ต.ภ.

        ประกาศ ณ วันที่ ๑๕  เดือน กุมภาพันธ์  พ.ศ. ๒๕๓๗

สมเด็จพระญาณสังวร

(สมเด็จพระญาณสังวร)

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

ประธานกรรมการมหาเถรสมาคม


[1] ประกาศในแถลงการณ์คณะสงฆ์ เล่ม ๘๒  ตอนที่ ๒  :  ๒๕กุมภาพันธ์  ๒๕๓๗