ระเบียบมหาเถรสมาคม
ว่าด้วยการจัดงานวัด พ.ศ. ๒๕๑๐ [1]
—————-
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๘ แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ มหาเถรสมาคมวางระเบียบมหาเถรสมาคมไว้ ดังต่อไปนี้
ข้อ ๑. ระเบียบมหาเถรสมาคมนี้ เรียกว่า “ระเบียบมหาเถรสมาคม ว่าด้วยการจัดงานวัด พ.ศ. ๒๕๑๐”
ข้อ ๒. ระเบียบมหาเถรสมาคมนี้ ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศใน
แถลงการณ์คณะสงฆ์ เป็นต้นไป
ข้อ ๓ ตั้งแต่วันใช้ระเบียบนี้ ให้ยกเลิกประกาศคณะสงฆ์เกี่ยวกับการจัดงานวัดที่กำหนดไว้แล้วในระเบียบมหาเถรสมาคมนี้ หรือซึ่งขัดหรือแย้งกับระเบียบมหาเถรสมาคมนี้
หมวด ๑
บททั่วไป
ข้อ ๔ ในระเบียบนี้
(๑) “เจ้าคณะ” หมายถึงผู้ปกครองคณะสงฆ์ตามลำดับชั้น ในเขตซึ่งวัดที่จะจัดงานนั้นตั้งอยู่
(๒) “เจ้าหน้าที่ฝ่ายบ้านเมือง” สำหรับในจังหวัดพระนคร ธนบุรี ให้หมายถึงผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ และสารวัตรใหญ่ ในจังหวัดอื่นให้หมายถึงผู้ว่าราชการ จังหวัด นายอำเภอและผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัด หรือผู้บังคับกองตำรวจภูธรอำเภอในท้องที่ซึ่งวัดที่จัดงานนั้นตั้งอยู่
ข้อ ๕ งานวัดตามระเบียบนี้ มี ๓ ประเภท คือ
(๑) งานเทศกาล ได้แก่ งานนมัสการปูชนียวัตถุ ปูชะนียสถาน หรืองานประเพณีที่มีการออกร้านและมหรสพ ซึ่งเป็นงานประจำปี
(๒) งานมหกรรม ได้แก่ งานฉลองหรืองานกุศล ที่มีการออกร้นและมหรสพ ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งคราว
(๓) งานชุมนุม ได้แก่ งานที่วัดขัดขึ้นเองหรือมีผู้ขอจัดขึ้นภายในวัด
ข้อ ๖ การจัดงานวัดทุกประเภท จะต้องให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ไม่ขัดต่อพระธรรมวินัย ศีลธรรม กฎหมาย และระเบียบหรือคำสั่งของผู้บังคับบัญชา
ข้อ ๗ การจัดงานวัดทุกประเภท ห้ามมิให้
(๑) การแสดงใด ๆ อันเป็นการลบหลู่ดูหมิ่นพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์
(๒) การพนัน และการหารายได้โดยวิธีเสี่ยงโชคเลียนแบบการพนัน
(๓) การเต้นรำ รำวง และการแสดงภาพนิ่งหรือภาพยนตร์ลามก
(๔) การแสดงระบำหรือการแสดงอย่างอื่น ที่เป็นการยั่วยุกามารมณ์
(๕) การแข่งขันมวย การทรมานสัตว์ เช่น กัดปลา ชนไก่ ชนโค เป็นต้น
(๖) การจำหน่ายสุราเมรัย และการเลี้ยงสุราเมรัย
(๗) การประกวดสาวงามและการแสดงการแต่งกายที่ขัดต่อศีลธรรมและวัฒนธรรม
หมวด ๒
งานเทศกาล
ข้อ ๘ ในการจัดงานเทศกาลของวัด ให้มีกรรมการจัดงานคณะหนึ่งอย่างน้อย ๙ คน มีหน้าที่วางโครงการและดำเนินการให้เป็นไปตามระเบียบมหาเถรสมาคมนี้
ข้อ ๙ คณะกรรมการการจัดงานเทศกาลของวัดดังกล่าวในข้อ ๘ ประกอบด้วย
(๑) คณะกรรมการโดยตำแหน่ง ได้แก่ เจ้าอาวาสวัดนั้นเป็นประธานกรรมการ และเจ้าหน้าที่ฝ่ายบ้านเมืองหรือผู้แทน และถ้า
(ก) งานมีกำหนดตั้งแต่ ๓ วันขึ้นไป ให้เจ้าคณะตำบลหรือผู้แทนเป็นที่ปรึกษา
(ข) งานกำหนดตั้งแต่ ๕ วันขึ้นไป ให้เจ้าคณะอำเภอหรือผู้แทนเป็นที่ปรึกษา
(ค) งานมีกำหนดตั้งแต่ ๗ วันขึ้นไป ให้เจ้าคณะจังหวัดหรือผู้แทนเป็นที่ปรึกษาและอธิบดีกรมการศาสนา หรือผู้แทนเข้าร่วมด้วย
(๒) กรรมการโดยการแต่งตั้ง ได้แก่พระภิกษุในวัด อุบาสกอุบาสิกาผู้บำรุงวัดนั้นหรือบรรพชิตหรือคฤหัสถ์อื่น ที่เจ้าอาวาสวัดนั้นแต่งตั้ง
(๓) ถ้าเป็นการสมควรเจ้าจะเชิญบุคคลอื่นเป็นกรรมการอีกคณะหนึ่งก็ได้
ข้อ ๑๐ ในโครงการจัดงานเทศการดังกล่าวในข้อ ๘ ให้ระบุ
(๑) รายนามกรรมการจัดงาน
(๒) วัตถุประสงค์ของการจัดงาน
(๓) กำหนดวันเวลาที่จัดงาน
(๔) ประเภทมหรสพที่วัดจะจัดให้มาแสดงในงาน
(๕) ประเภทการแสดงที่วัดจะนำออกแสดงในงาน
(๖) ประเภทการประกวดแข่งขันที่วัดจะจัดขึ้นในงาน
(๗) ประเภทประโยชน์ที่จะได้จากการจัดงาน
(๘) รายการอื่นที่สมควรจะรายงานให้ทราบ
ข้อ ๑๑ ให้เจ้าอาวาสเสนอโครงการจัดงานเทศกาล ขออนุญาตต่อผู้บังคับบัญชา ดังนี้
(ก) งานมีกำหนดตั้งแต่ ๓ วันขึ้นไป ให้ขออนุญาตต่อเจ้าคณะอำเภอ
(ข) งานกำหนดตั้งแต่ ๕ วันขึ้นไป ให้ขออนุญาตต่อเจ้าคณะจังหวัด
(ค) งานมีกำหนดตั้งแต่ ๗ วันขึ้นไป ให้ขออนุญาตต่อเจ้าคณะภาค
ทั้งนี้ นอกจากการขออนุญาตตามระเบียบแบบแผนของฝ่ายบ้านเมืองแล้ว ต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าคณะดังกล่าวข้างต้น จึงจัดให้มีงานได้
ข้อ ๑๒ ห้ามมิให้ดำเนินการ ต่อไปนี้ ในงานเทศกาลของวัด คือ
(๑) กู้ยืมเงินผู้อื่นมาลงทุน อันจะทำให้วัดเกิดข้อผูกพันชดใช้หนี้สิน
(๒) ให้เอกชนผูกขาดการจัดงานเทศกาลทั้งหมดหรือส่วนใดส่วนหนึ่ง
ข้อ ๑๓ ผลประโยชน์จากงานเทศกาลของวัดใด ให้เป็นศาสนสมบัติของวัดนั้น การกำหนดในกฎกระทรวง ตามความในมาตรา ๔๐ แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พงศ. ๒๕๐๕
ข้อ ๑๔ เมื่อเสร็จงานเทศกาลแล้ว ให้คณะกรรมการทำรายงานผล พร้อมด้วยบัญชีแสดงประเภทรายได้รายจ่าย เสนอต่อผู้บังคับบัญชาตามลำดับ จนถึงเจ้าคณะผู้อนุญาตให้จัดงานเทศกาลนั้นภายใน ๖๐ วัน
หมวด ๓
งานมหกรรม
ข้อ ๑๕ ในการจัดงานมหกรรม ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อหารายได้บำรุงวัด หรือบำรุงกิจการใด ๆ ของวัด และมีกำหนดงานตั้งแต่ ๕ วันขึ้นไป ให้เจ้าอาวาสนั้นแต่งตั้งกรรมการจัดงานขึ้นคณะหนึ่ง มีเจ้าอาวาสนั้นเป็นประธานกรรมการ และให้ทำโครงการจัดงานโดยอนุญาตตามความในข้อ ๑๐ เสนอผู้บังคับบัญชาตามลำดับ เฉพาะงานมีกำหนดตั้งแต่ ๕ วันขึ้นไป ให้ขออนุญาตต่อเจ้าคณะภาค เมื่อได้รับอนุญาตจากเจ้าคณะดังกล่าวแล้ว จึงจัดให้มีงานได้
ในการดำเนินงานมหกรรมดังกล่าวในวรรคต้น ให้นำความในข้อ ๑๒ (๒) มาใช้บังคับโดยอนุโลม
ข้อ ๑๖ เมื่อเสร็จงานมหกรรมตามความในข้อ ๑๕ แล้ว ให้รายงานผลการจัดงานต่อผู้บังคับบัญชาโดยอนุโลมตามความในข้อ ๑๔
หมวด ๔
งานชุมนุม
ข้อ ๑๗ ผู้ใดจะจัดงานชุมนุมในวัด ซึ่งมิใช่งานเทศกาล หรืองานมหกรรมให้ผู้นั้นขออนุญาตต่อเจ้าอาวาส เมื่อเจ้าอาวาสอนุญาตแล้ว จึงจัดได้เว้นแต่กรณีที่วัดจัดขึ้นเอง
ข้อ ๑๘ งานชุมนุมซึ่งจัดขึ้นในบริเวณวัดใด ต้องเป็นงานที่เกี่ยวกับการบำเพ็ญกุศลทางพระพุทธศาสนา การส่งเสริมวัฒนธรรมอันดีงามของประชาชน การส่งเสริมการศึกษา การส่งเสริมศีลธรรม การส่งเสริมกิจการทางราชการ และการบำเพ็ญศาสนกิจของบรรพชิตและคฤหัสถ์
ข้อ ๑๙ ผู้ได้รับอนุญาตจากเจ้าอาวาสให้จัดงานชุมนุมในวัด จะต้องรับผิดชอบต่อวัดในกรณีที่ทำให้เกิดความเสื่อมเสียแก่วัด
หมวด ๕
เบ็ดเตล็ด
ข้อ ๒๐ เจ้าอาวาสรูปใดฝ่าฝืนระเบียบมหาเถรสมาคมนี้ ให้ถือว่าละเมิดจริยาพระสังฆาธิการและต้องรับโทษฐานละเมิดจริยาพระสังฆาธิการ ตามความในหมวด ๖ แห่งกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ ๕ (พ.ศ. ๒๕๐๖) ว่าด้วยการแต่งตั้งถอดถอนพระสังฆาธิการ
ประกาศ ณ วันที่ ๑๐ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๑๐
สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ
สมเด็จพระสังฆราช ประธานกรรมการมหาเถรสมาคม
[1] ประกาศในแถลงการณ์คณธสงฆ์ ฉบับพิเศษ เล่ม ๕๕ ตอนที่ ๙ : ๓๑ สิงหาคม ๒๕๑๐
Views: 100