ระเบียบมหาเถรสมาคม ว่าด้วยวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการปลูกสร้างอาคาร ในที่วัดฯ พ.ศ. ๒๕๑๐

ระเบียบมหาเถรสมาคม

ว่าด้วยวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการปลูกสร้างอาคาร

ในที่วัดหรือซึ่งขึ้นต่อวัดอันมีผู้เช่าอยู่

พ.ศ. ๒๕๑๐ [1]

—————–

      อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๘ แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ มหาเถรสมาคมวางระเบียบมหาเถรสมาคมไว้ ดังต่อไปนี้

      ข้อ ๑. ระเบียบมหาเถรสมาคมนี้ เรียกว่า “ระเบียบมหาเถรสมาคม ว่าด้วยวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการปลูกสร้างอาคารในที่วัดหรือที่ซึ่งขึ้นต่อวัดอันมีผู้เช่าอยู่ พ.ศ. ๒๕๑๐”

      ข้อ ๒. ระเบียบมหาเถรสมาคมนี้ ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในแถลงการณ์คณะสงฆ์ เป็นต้นไป

      ข้อ ๓ วัดใดมีความประสงค์จะปลูกสร้างอาคารพานิชย์ของวัดขึ้นใหม่ในที่วัดหรือที่ซึ่งขึ้นต่อวัด อันมีผู้เช่าปลูกสร้างอาคารอยู่ก่อนก็ดี จะปรับปรุงแก้ไขอาคารของวัดซึ่งปลูกสร้างอยู่ในที่วัดหรือที่ซึ่งขึ้นต่อวัด อันมีผู้เช่าอยู่ก่อนให้เป็นอาคารพาณิชย์ก็ดี ให้ดำเนินการตามวิธีการ ดังต่อไปนี้

            (ก) วัดดำเนินการปลูกสร้างเป็นอาคารของวัด โดยขอให้ผู้เช่าที่ดินหรืออาคารนั้นบริจาคค่าปลูกสร้างตามราคาที่ปลูกสร้าง และให้ได้รับสิทธิการเช่ามีกำหนดจำนวนปีตามสมควรแก่ท้องที่

            (ข) ในกรณีดังกล่าวใน (ก) ถ้าผู้เช่าที่ดินหรืออาคารนั้นไม่สามารถบริจาคค่าปลูกสร้างอาคารได้ก็ดี ไม่มีความประสงค์จะเช่าที่ดินหรืออาคารนั้นต่อไปก็ดี วัดจะมอบให้ผู้อื่นปลูกสร้างอาคารก็ได้ โดยยกกรรมสิทธิ์ให้แก่วัดทันที พร้อมกับมีเงื่อนไขตามที่ตกลงกันไว้ในสัญญา และให้วัดช่วยค่ารื้อย้ายอาคารจากที่เช่า หรือค่าขนย้ายออกจากอาคารเช่าให้แก่ผู้เช่าตามจำนวนอันสมควร

            (ค) เมื่อวัดได้ดำเนินการสงเคราะห์ช่วยเหลือผู้เช่าที่ดินหรืออาคารดังกล่าวใน (ก) หรือ (ข) แล้วแต่กรณี แต่ผู้เช่าที่ดินหรือาคารนั้นไม่ยอมตกลงด้วย ให้วัดหรือผู้จัดประโยชน์แทนวัดเสนอข้อขัดแย้งไปยังคณะอนุกรรมการตามความในข้อ ๕ ในกรณีเช่นนี้ ผู้เช่ามีสิทธิ์จะเสนอข้อขัดแย้งนั้นเองก็ได้

      ข้อ ๔ ในการพิจารณาแก้ไขข้อขัดแย้งของคณะอนุกรรมการตามความในข้อ ๓ (ค) ถ้าสามารถตกลงกันได้ ก็ให้รายงานมหาเถรสมาคมทราบ ถ้าตกลงกันไม่ได้ก็ให้นำเสนอมหาเถรสมาคมพิจารณา เมื่อมหาเถรสมาคมมีมติประการใด ถ้าผู้เช่าที่ดินหรืออาคารนั้นยังไม่ยอมตกลง ก็ให้วัดหรือผู้จัดประโยชน์แทนวัดดำเนินการต่อไปตามที่เห็นสมควร

      ข้อ ๕ ให้มีอนุกรรมการพิจารณาแก้ไขข้อขัดแย้งในระหว่างวัดกับผู้เช่าคณะหนึ่งเรียกชื่อย่อว่า “พ.ว.ช.” ซึ่งมหาเถรสมาคมจะไดตั้งขึ้น มีจำนวนไม่น้อยกว่า ๕ และไม่เกิน ๙

      ข้อ ๖ คณะอนุกรรมการ พ.ว.ช. มีอำนาจหน้าที่ปฏิบัติการให้เป็นไปตามระเบียบมหาเถรสมาคมนี้หรือตามที่มหาเถรสมาคมจะมอบหมายให้ปฏิบัติ

ประกาศ ณ วันที่ ๒๐ กันยายน พ.ศ. ๒๕๑๐

สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ

สมเด็จพระสังฆราช ประธานกรรมการมหาเถรสมาคม


[1] ประกาศในแถลงการณ์คณะสงฆ์ เล่มที่ ๕๕ ตอนที่ ๑๑ :  ๒๕ ตุลาคม ๒๕๑๐

Hits: 24