ระเบียบมหาเถรสมาคม ว่าด้วยวิธีปฎิบัติเกี่ยวกับการปลูกสร้างอาคาร ในที่วัด ฯ พ.ศ. ๒๕๓๗

ระเบียบมหาเถรสมาคม

ว่าด้วยวิธีปฎิบัติเกี่ยวกับการปลูกสร้างอาคาร

ในที่วัด หรือที่ธรณีสงฆ์ของวัดอันมีผู้เช่าอยู่ พ.ศ. ๒๕๓๗[1]

————————–

        อาศัยอาจตามความในมาตรา ๑๕ ตรี แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๕ มหาเถรสมาคมวางระเบียบไว้ ดังต่อไปนี้

        ข้อ ๑. ระเบียบมหาเถรสมาคมนี้ เรียกว่า “ระเบียบมหาเถรสมาคม ว่าด้วยวิธีปฎิบัติเกี่ยวกับการปลูกสร้างอาคารในที่วัด หรือที่ธรณีสงฆ์ของวัดอันมีผู้เช่าอยู่ พ.ศ. ๒๕๓๗”

        ข้อ ๒. ระเบียบมหาเถรสมาคมนี้  ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในแถลงการณ์คณะสงฆ์ เป็นต้นไป

        ข้อ ๓. ตั้งแต่ใช้ระเบียบมหาเถรสมาคมนี้ ให้ยกเลิกระเบียบมหาเถรสมาคม ว่าด้วยวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการป,กสร้างอาคารในที่วัด หรือที่ซึ่งขึ้นต่อวัดอันมีผู้เข่าอยู่ พ.ศ. ๒๕๑๐

        ข้อ ๔ วัดใดมีความประสงค์จะปลูกสร้างอาคารพาณิชย์ของวัดขึ้นใหม่ในที่วัด หรือที่ธรณีสงฆ์ของวัดอันมีผู้เช่าปลูกสร้างอาคารอยู่ก่อนก็ดี จะปรับปรุงแก้ไขอาคารของวัดซุ่งปลูกสร้างอยู่ในที่วัดหรือที่ธรณีสงฆ์ชองวัดอันมีผู้เช่าอยู่ก่อนให้เป็นอาคารพาณิชบย์ก็ดี ให้ดำเนินการตามวิธีการดังต่อไปนี้

             (ก) วัดดำเนินการปลูกสร้างเป็นอาคารของวัด โดยขอให้ผู้เช่าที่ดิน หรืออาคารนั้น

บริจาคค่าปลูกสร้างตามราคาที่ปลูกสร้าง และให้ได้รับสิทธิการเช่ามีกำหนดจำนวนปีตามสมควรแก่ท้องที่

             ในกรณีเช่นนี้ ถ้าผู้เช่าบริจาคมูลค่าบำรุงวัดด้วยก็ให้ขยายเวลาการเช่าออกไปอีก ตามสมควรแก่จำนวนมูลค่าบำรุงวัด

             ในการเก็บค่าเช่า ให้จัดเก็บตามความเหมาะสมของอาคารและท้องถิ่น ส่วนการทำ

สัญญาเช่าให้เป็นไปตามมาตรา ๔๐ วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๕

             (ข) ในกรณีดังกล่าวใน (ก) ถ้าผู้เช่าที่ดินหรืออาคารนั้น ไม่สามารถบริจาคค่าปลูกสร้างอาคารได้ก็ดี ไม่มีความประสงค์จะเช่าที่ดินหรืออาคารนั้นต่อไปก็ดี วัดจะมอบให้ผู้อื่นปลูกสร้างอาคารก็ได้ โดยยกกรรมสิทธิ์ให้แก่วัดทันที พร้อมกับมีเงื่อนไขตามที่ตกลงกันไว้ในสัญญา และให้วัดช่วยค่ารื้อย้ายอาคารจากที่เช่า หรือค่าขนย้ายออกจากอาคารเช่าให้แก่ผู้เช่าตามจำนวนอันสมควร

             (ค) เมื่อวัดได้ดำเนินการสงเคราะห์ช่วยเหลือผู้เช่าที่ดินหรืออาคารดังกล่าวใน (ก) หรือ (ข) แล้วแต่กรณี แต่ผู้เช่าที่ดินหรืออาคารนั้นไม่ยอมตกลงด้วย ให้วัดหรือผู้จัดประโยชน์แทนวัดเสนอข้อขัดแย้งไปยังคณะกรรมการตามความในข้อ ๖ ในกรณีเช่นนี้ ผู้เช่ามีสิทธิ์ที่จะเสนอข้อขัดแย้งนั้นเองก็ได้

        ข้อ ๕ ในการพิจารณาแก้ไขข้อขัดแย้งของคณะกรรมการตามความในข้อ ๔ (ค) ถ้าสามารถตกลงกันได้ ก็ให้รายงานมหาเถรสมาคม ถ้าตกลงกันไม่ได้ ก็ให้นำเสนอมหาเถรสมาคมพิจารณา เมื่อมหาเถรสมาคมมีมติประการใดแล้ว ถ้าผู้เช่าที่ดินหรืออาคารนั้นยังไม่ยอมตกลง ก็ให้วัดหรือผู้จัดประโยชน์แทนวัดดำเนินการต่อไปตามที่เห็นสมควร

        ข้อ ๖ ให้มีคณะกรรมการพิจารณาแก้ไขข้อขัดแย้งในระหว่างวัดกับผู้เช่าคณะหนึ่ง เรียกชื่อย่อว่า “พ.ว.ช.” ซึ่งมหาเถรสมาคมจะได้ตั้งขึ้นมีจำนวนไม่น้อยกว่า ๕ คน และไม่เกิน ๙ คน

        ข้อ ๗ คณะกรรมการ พ.ว.ช. มีอำนาจหน้าที่ปฎิบัติให้เป็นไปตามระเบียบมหาเถรสมาคมนี้ หรือตามที่มหาเถรสมาคมจะมอบหมายให้ปฏิบัติ

ประกาศ ณ วันที่ ๑๒ เดือน พฤศจิกายน  พ.ศ. ๒๕๓๗

สมเด็จพระญาณสังวร

(สมเด็จพระญาณสังวร)

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

ประธานกรรมการมหาเถรสมาคม


[1] ประกาศในแถลงการณ์คณะสงฆ์ เล่ม ๘๒  ตอนที่ ๑๑ :   ๒๕  พฤศจิกายน  ๒๕๓๗

Views: 154