ระเบียบมหาเถรสมาคม ว่าด้วยการจัดตั้งหน่วยอบรมประชาชนประจำตำบล พ.ศ. ๒๕๔๖

ระเบียบมหาเถรสมาคม

ว่าด้วยการจัดตั้งหน่วยอบรมประชาชนประจำตำบล

พ.ศ. ๒๕๔๖[1]

———————–

      อาศัยอาจตามความในมาตรา ๑๕ ตรี แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๕ มหาเถรสมาคมวางระเบียบไว้ ดังต่อไปนี้

      ข้อ ๑. ระเบียบมหาเถรสมาคมนี้ เรียกว่า “ระเบียบมหาเถรสมาคม ว่าด้วยการจัดตั้งหน่วยอบรมประชาชนประจำตำบล  พ.ศ. ๒๕๔๖”

      ข้อ ๒. ระเบียบมหาเถรสมาคมนี้  ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในแถลงการณ์คณะสงฆ์ เป็นต้นไป

      ข้อ ๓. ตั้งแต่วันใช้ระเบียบมหาเถรสมาคมนี้ ให้ยกเลิกระเบียบมหาเถรสมาคม ว่าด้วยการตั้งหน่วยอบรมประชาชนประจำตำบล พ.ศ. ๒๕๑๘

      ให้บรรดาหน่วยอบรมประชาชนประจำตำบลซึ่งได้จัดตั้งขึ้นตามระเบียบมหาเถรสมาคม ว่าด้วยการตั้งหน่วยอบรมประชาชนประจำตำบล พ.ศ. ๒๕๑๘ ให้คงเป็นหน่วยอบรมประชาชนประจำตำบลตามระเบียบมหาเถรสมาคมนี้

ข้อ ๔ ในระเบียบมหาเถรสมาคมนี้ “หน่วยอบรมประชาชนประจำตำบล” หมายถึงหน่วยอบรมประชาชนประจำตำบลแห่งราชอาณาจักรซี่งมีวัดตั้งอยู่

      หน่วยอบรมประชาชนประจำตำบล มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและสร้างสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ประชาชนตามหัวข้ออบรม ดังนี้

             (๑) ศีลธรรมและวัฒนธรรม

             (๒) สุขภาพอนามัย

             (๓) สัมมาชีพ

            (๔) สันติสุ

             (๕) ศึกษาสงเคราะห์

             (๖) สาธารณสงเคราะห์

             (๗) กตัญญูกตเวทิตาธรรม

             (๘) สามัคคีธรรม

      ข้อ ๕ หน่วยอบรมประชาชนประจำตำบล ประกอบด้วยกรรมการ ดังต่อไปนี้

             (๑) กรรมการโดยตำแหน่ง

                   ก. ประธานกรรมการ ได้แก่เจ้าอาวาสแห่งวัดที่ตั้งหน่วยอบรมประชาชนประจำตำบลนั้น

                   ในกรณีที่ประธานกรรมการไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ถ้ามีรองประธานกรรมการฝ่ายบรรพชิตรูปเดียว ให้ประธานกรรมการมอบหมายให้รองประธานกรรมการฝ่ายบรรพชิตรูปนั้นปฏิบัติหน้าที่แทน ถ้ามีรองประธานกรรมการฝ่ายบรรพชิตหลายรูป ให้ประธานกรรมการมอบหมายให้รองประธานกรรมการฝ่ายบรรพชิตรูปใดรูปหนึ่งปฏิบัติหน้าที่แทน ถ้าประธานกรรมการมิได้มอบหมาย ให้รองประธานกรรมการฝ่ายบรรพชิตเลือกกันเองขึ้นปฎิบัติหน้าที่แทนประธานกรรมการ เว้นแต่ในกรณีที่มีรองประธานกรรมการฝ่ายบรรพชิตรูปเดียว ให้รองประธานกรรมการฝ่ายบรรพชิตรูปนั้นปฏิบัติหน้าที่แทน

                   ข. รองประธานกรรมการฝ่ายบรรพชิต ได้แก่เจ้าอาวาสวัดอื่นทุกวัดในตำบลนั้น แว้นแต่ในกรณีที่เจ้าอาวาสวัดอื่นนั้นดำรงตำแหน่งตั้งแต่เจ้าคณะตำบลขึ้นไป ให้มอบหมายแก่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งในวัดของตนเป็นรองประธานกรรมการในฐานะเจ้าอาวาส

                   ถ้าในตำบลนั้น มีวัดตั้งหน่วยอบรมเพียบวัดเดียว ให้เจ้าอาวาสเลือกพระภิกษุรูปใดรูปหนึ่งในวัดนั้นเป็นรองประธานกรรมการ

                   ถ้าเจ้าคณะตำบลในตำบลนั้นมิได้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดที่ตั้งหน่วยอบรมประชาชน หรืออยู่ที่วัดอื่น ใด้เจ้าคณะตำบลเข้าร่วมประชุมในฐานะที่ปรึกษา

                   ค. รองประธานกรรมการฝ่ายคฤหัสถ์ ได้แก่กำนันในตำบลนั้น ประธานกรรมการบริหารองค์การบริหารส่วนตำบลในตำบลนั้น ถ้าตำบลนั้นอยู่ในเขตเทศบาล ให้มีผู้แทนเทศบาลเป็นรองประธานฝ่ายคฤหัสถ์

                   ง. กรรมการ ได้แก่ผู้ใหญ่บ้าน กรรมการบริหารองค์การบริหารส่วนตำบล และแพทย์ปยะจำตำบลนั้น

                   กรรมการโดยตำแหน่ง ใด้เจ้าคณะอำเภอเป็นผู้แจ้งให้ทราบ

             (๒) กรรมการโดยแต่งตั้ง ได้แก่ กรรมการซึ่งที่ประชุมกรรมการโดยตำแหน่ง

คัดเลือกจากคฤหัสถ์ซึ่งเป็นทายกทายิกา ครูโรงเรียน ผู้ทรงคุณวุฒิในตำบลนั้น มีจำนวนไม่ตำกว่าห้าคน และไม่เกินเก้าคน เสนอเจ้าคณะอำเภอเพื่อแต่งตั้ง

             ให้คณะกรรมการดังกล่าวข้างต้น แต่งตั้งเลขานุการขึ้นรูปหนึ่ง เพื่อทำหน้าที่การเลขานุการ และถ้าเป็นการสมควรจะแต่งตั้งบรรพชิตหรือคฤหัสถ์เป็นผู้ช่วยเลขานุการก็ได้

      ข้อ ๖ กรรมการชึ่งได้รับการแต่งตั้งตามความในข้อ ๕ (๒) พ้นจากตำแหน่ง เมื่อ

             (๑) ตาย

             (๒) ลาออก

             (๓) ดำรงตำแหน่งครบ ๔ ปี

      กรรมการผู้พ้นจากตำแหน่งตามความในข้อ (๓) ข้างต้น อาจได้รับการแต่งตั้งอีกก็ได้

      ข้อ ๗ การประชุมคณะกรรมการตามความในข้อ ๕ ต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมด จึงเป็นองค์ประชุม

      การลงมติข้อปรึกษาในที่ประชุมคณะกรรมการตามความในวรรคต้น ให้ถือเอาเสียงข้างมากเป็นประมาณ ถ้ามีเสียงเท่ากัน ให้ประธานที่ประชมสั้งระงับเรื่องนั้นไว้ก่อน

      การประชุมโดยปกติของคณะกรรมการดังกล่าวข้างต้น ให้คณะกรรมการกำหนดขึ้นตามที่เห็นสมควร ส่วนการประชุมพิเศษจะให้มีขึ้นเป็นครั้งคราวตามความจำเป็นก็ได้

      ข้อ ๘ คณะกรรมการหน่วยอบรมประชาชนประจำตำบล เรียกชื่อย่อว่า “คณะกรรมการ อ.ป.ต.” มีอำนาจหน้าที่ดังนี้

             (๑) จัดอบรมประชาชนตามวัตถุประสงค์และวิธีการที่กำหนดไว้ในระเบียบมหาเถรสมาคมนี้ และตามแนวการอบรมซึ่งคณะกรรมการอบรมประชาชนกลางจะได้กำหนดขึ้น โดยความเห็นชอบของมหาเถรสมาคม

             (๒) ปฏิบัติการช่วยเหลือเกื้อกูลประชาชนในตำบลนั้นตามกำลังและความสามารถ

             (๓) แต่งตั้งเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน และฝ่ายธุรการอื่น ๆ กำหนดวิธีปฏิบัติงานชองเจ้าหน้าที่ฝ่ายธุรการ และเป็นการสมควรจะแต่งตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นเพื่อมอบหมายให้พิจารณาหรือดำเนินการใด ๆ ก็ได้

             (๔) จัดการดูแลรักษาทรัพย์สินของหน่วยอบรมให้เป็นไปด้วยดี

             (๕) เสนอความเห็น หรือข้อขัดข้องต่อคณะกรรมการอำนวยการอบรม และปฏิบัติการตามคำแนะนำชี้แจงของคณะกรรมการอำนวยการหรือผู้อำนวยการอบรมแล้วแต่กรณี

             (๖) ติดต่อประสานงาน และขอความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายบ้านเมือง เพื่อให้การอบรมประชาชนดำเนินไปโดยสะดวกและเรียบร้อย

             (๗) เสนอรายการกิจการที่ได้ดำเนินการไปแล้วในรอบปีต่อคณะกรรมการอำนวยการ และผู้อำนวยการอบรมตามลำดับ จนถึงคณะกรรมการอำนวยการอบรมประชาชนกลาง

             นอกจากกรณีดังกล่าวข้างต้น ให้มีหน้าที่จัดตั้งห้องสมุดและเภสัชทานสถานประจำตำบลอีกส่วนหนึ่ง ตามวิธีการที่จะได้กำหนดขึ้น

      ข้อ ๙ การประชุมอบรมประชาชนตามวัตถุประสงค์ในข้อ ๔ จะดำเนินการโดยวิธีใดวิธีหนึ่งก็ได้ ตามสมควรแก่กรณี คือ

             (๑) การอบรมทั่วไป ได้แก่การประชุมประชาชนทั่วไปในตำบลนั้น โดยเชิญวิทยากรมาอธิบายชี้แจงแนะนำในทางวิชาการ และการปฏิบัติตามวัตถุประสงค์ข้อใดข้อหนึ่งของหน่วยอบรม

             (๒) การอบรมเฉพาะกรณี ได้แก่การประชุมประชาชนเพียงบางส่วน เฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่เกิดขึ้นแก่ประชาชนส่วนนั้น ๆ โดยวิธีชี้แจงแนะนำซ้อมความเข้าใจในเรื่องนั้น ๆ

             (๓) การอบรมเฉพาะบุคคล ได้แก่การจัดให้บุคคลมาพบปะสังสรรค์เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นหรือชี้แจงแนะนำซ้อมความเข้าใจในเรื่องเกี่ยวกับบุคคลนั้น

             การประชุมอบรมตามวิธีใน (๑) โดยปกติให้มีการประชุมเดือนละ ๑ ครั้ง ในกรณีจำเป็นคณะกรรมการจะงดการประชุมหรือจะจัดให้มีการประชุมพิเศษก็ได้

             ส่วนการประชุมอบรมตามวิธีการใน (๒) และ (๓) ให้ดำเนินการตามสมควรแก่กรณีที่เกิดขึ้น

      ข้อ ๑๐ หน่วยอบรมประชาชนประจำตำบล อยู่ในความอำนวยการของคณะกรรมการอำนวยการและผู้อำนวยการ ตามลำดับดังนี้

             (๑) คณะกรรมการอำนวยการอบรมประชาชนประจำอำเภอ เรียกชื่อย่อว่า “คณะกรรมการ อ.ป.อ.” ประกอบด้วย

                   ก. กรรมการเจ้าหน้าที่โดยตำแหน่ง ได้แก่เจ้าคณะอำเภอเจ้าสังกัดเป็นประธาน รองเจ้าคณะอำเภอเป็นรองประธาน และเจ้าคณะตำบลทุกตำบลในเขตอำเภอนั้นเป็นกรรมการ

                   ในกรณีที่ไม่มีรองเจ้าคณะอำเภอ ให้เจ้าคณะอำเภอเลือกเจ้าคณะตำบลในเขตนั้นเป็นรองประธานกรรมการ

                   ข. กรรรมการที่ปรึกษา ได้แก่ นายอำเภอที่หน่วยอบรมประชาชนประจำตำบลนั้นตั้งอยู่ และเจ้าหน้าที่ประจำอำเภอนั้นมีจำนวนไม่ต่ำกว่าสามคน และไม่เกินห้าคน ตามที่นายอำเภอพิจารณาเลือกให้เข้าร่วมเป็นกรรมการที่ปรึกษา

             (๒) คณะกรรมการอำนวยการอบรมประชาชนประจำจังหวัด เรียกชื่อย่อว่า “คณะกรรมการ อ.ป.จ.” ประกอบด้วย

                   ก. กรรมการเจ้าหน้าที่โดยตำแหน่ง ได้แก่ เจ้าคณะจังหวัดเจ้าสังกัดเป็นประธาน รองเจ้าคณะจังหวัดเป็นรองประธาน และเจ้าคณะอำเภอทุกอำเภอในเขตจังหวัดนั้นเป็นกรรมการ

                   ในกรณีที่ไม่มีรองเจ้าคณะจังหวัด ให้เจ้าคณะจังหวัดเลือกเจ้าคณะอำเภอในเขตจังหวัดนั้นเป็นรองประธานกรรมการ

                   ข. กรรมการที่ปรึกษา ได้แก่ ผู้ว่าราชการจังหวัดในเขตที่หน่วยอบรมประชาชนประจำตำบลนั้นตั้งอยู่ และเจ้าหน้าที่ประจำจังหวัดนั้น มีจำนวนไม่ต่ำกว่าสามคน และไม่เกินห้าคน ตามที่ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจารณาเลือกให้เจ้าร่วมเป็นกรรมการที่ปรึกษา

             (๓) เจ้าคณะภาคเจ้าสังกัด เป็นผู้อำนวยการอบรมประชาชนประจำภาคโดยตำแหน่งบ

             (๔) คณะกรรมการอบรมประชาชนกลาง เรียกชื่อย่อว่า “คณะกรรมการ อ.ป.ก.” ประกอบด้วยประธานและรองประธานกรรมการ ผู้ทรงคุณวุฒิไม่เกินห้ารูป  ตามที่มหาเถรสมาคมจะได้แต่ตั้งขึ้น กับเจ้าคณะใหญ่ทุกหนเป็นกรรมการโดยตำแหน่ง นอกจากนี้ มหาเถรสมาคมจะได้เชิญผู้แทนกระทรวง ทบวง กรม ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับวัตถุประสงค์ของหน่วยอบรมตามที่เห็นสมควรเข้าร่วมเป็นกรรมการด้วย

      ให้คณะกรรมการตาม (๑) (๒) และ (๔) แต่งตั้งเลขานุการขึ้นรูปหนึ่ง เพื่อทำหน้าที่การเลขานุการ ถ้าเป็นการสมควรจะแต่งตั้งผู้ช่วยเลขานุการอีกรูปหนึ่งหรือหลายรูปก็ได้

      ข้อ ๑๑ การประชุมคณะกรรมการตามความในข้อ ๑๐ (๑) และ (๒) ต้องมีคณะกรรมการเจ้าหน้าที่มาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการเจ้าหน้าที่ทั้งหมด และต้องมีกรรมการที่ปรึกษามาประชุมไม่น้อยกว่าหนึ่งคน จึงเป็นองค์ประชุม

      การลงมติข้อปรึกษาในที่ประชุมคณะกรรมการดังกล่าวในวรรคต้น ให้นำความในข้อ ๗ วรรค ๒ มาใช้บังคับโดยอนุโลม

      การประชุมคณะกรรมการตามความในข้อนี้ ให้คณะกรรมการกำหนดตามควรแก่กรณี

      ข้อ ๑๒ การประชุมและการลงมติข้อปรึกษาในที่ประชุมคณะกรรมการ อ.ป.ก. ให้นำความใข้อ ๗ วรรค ๑ และวรรค ๒ มาใช้บังคับโดยอนุโลม

      ข้อ ๑๓ การพ้นจากตำแหน่งของกรรมการ อ.ป.ก. ซึ่งได้รับการแต่งตั้งในข้อ ๑๐ (๔) ให้นำความในข้อ ๖ มาใช้บังคับโดยอนุโลม

      ข้อ ๑๔ คณะกรรมการอำนวยการและผู้อำนวยการอบรมประชาชนประจำตำบลตามความในข้อ ๑๐ แต่ละชั้น มีอำนาจและหน้าที่ดังนี้

            (๑) ควบคุมและส่งเสริมการอบรมประชาชนให้เป็นไปตามระเบียบมหาเถรสมาคมนี้

             (๒) แก้ไขข้อขัดข้องเกี่ยวกับกิจการในอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการหน่วยอบรมประชาชนประจำตำบลให้เป็นไปโดยชอบ

             (๓) ตรวจตรา ชี้แจง แนะนำเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องกับหน่วยอบรมประชาชนประจำตำบลให้ปฎิบัติหน้าที่โดยเรียบร้อย

      ข้อ ๑๕ ในอำเภอหนึ่ง เมื่อคณะกรรมการ อ.ป.อ.มีความประสงค์ขอตั้งหน่วยอบรมประชาชนประจำตำบล ณ วัดใด ให้รายงานเสนอขอรับอนุมัติจากคณะกรรมการ อ.ป.จ. เมื่อได้รับอนุมัติให้ตั้งหน่วยอบรมประชาชนประจำตำบลนั้น และเปิดดำเนินการอบรมครั้งแรกแล้ว ให้หน่วยอบรมนั้นรายงานโดยลำดับจนถึงคณะกรรมการ อ.ป.ก.

      หน่วยอบรมประชาชนประจำตำบลใด มีอาณาเขตกว้างขวางหรือมีประชาชนเป็นจำนวนมาก เพื่อความสะดวกแก่ประชาชน จะจัดให้มีการอบรมเพิ่มขึน ณ วัดใดวัดหนึ่ง หือสถานที่แห่งใดแห่งหนึ่ง ในเขตตำบลนั้นตามที่คณะกรรมการ อ.ป.ต.เห็นสมควรก็ได้

      ถ้าตำบลใดที่ไม่มีวัดตั้งอยู่ เมื่อกำนัน ประธานกรรมการบริหารองค์การบริหารส่วนตำบล ผู้ใหญ่บ้าน และกรรมการบริหารองค์การบริหารส่วนตำบล ในเขตตำบลนั้นร้องขอต่อหน่วยอบรมประชาชนประจำตำบลใด คณะกรรมการ อ.ป.ต. จะจัดให้มีการอบรมเพิ่มขึ้น ณ ตำบลนั้นก็ได้

      ในกรณีที่คณะกรรมการ อ.ป.ต. เห็นสมควรย้ายหน่วยอบรมประชาชนประจำตำบลจากวัดหนึ่งไปยังอีกวัดหนึ่งในตำบลเดียวกัน ให้รายงานเสนอผ่านคณะกรรมการ อ.ป.อ. จนถึงคณะกรรมการ อ.ป.จ. เมื่อได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการ อ.ป.จ.แล้ว จึงให้ย้ายได้ และให้คณะกรรมการ อ.ป.จ. รายงานโดยลำดับจนถึงคณะกรรมการ อ.ป.ก.

      ในกรณีที่หน่วยอบรมประชาชนประจำตำบลบ้มเลิกตามมติมหาเถรสมาคม บรรดาทรัพย์สินของหน่วยอบรมประชาชนประจำตำบลนั้น ย่อมตกเป็นสมบัติของวัดที่หน่วยอบรมประชาชนนั้นตั้งอยู่

      ข้อ ๑๖ เงินและพัสดุของหน่วยอบรมประชาชนประจำตำบลอาจได้รับจากผู้ศรัทธาบริจาค การดูแลรักษา และการจัดการเงินและพัสดุของหน่วยอบรมประชาชนประจำตำบล ให้ดำเนินการตามวิธีปฎิบัติที่จะได้กำหนดขึ้น

      ข้อ ๑๗ ในตำบลใดที่ยังไม่ได้ตั้งหน่วยอบรมประชาชนประจำตำบล ให้ดำเนินการตั้งหน่วยอบรมประชาชนประจำตำบลตามระเบียบมหาเถรสมาคมนี้ ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๔๖ เป็นต้นไป และให้ครบทุกตำบล ภายในสิ้นปี พ.ศ.๒๕๔๙ เว้นแต่จะมีเหตุขัดข้อง ซึ่งยังไม่สามารถจะจัดตั้งภายในกำหนดดังกล่าวนั้น ให้คณะกรรมการ อ.ป.อ. รายงานโดยลำดับ จนถึงคณะกรรมการ อ.ป.ก.

  ประกาศ ณ วันที่ ๑ เดือนกันยายน พ.ศ. ๒๕๔๖

สมเด็จพระญาณสังวร

(สมเด็จพระญาณสังวร)

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

ประธานกรรมการมหาเถรสมาคม


[1] ประกาศในแถลงการณ์คณะสงฆ์ เล่ม ๙๑  ตอนที่ ๙ :  ๒๕ กันยายน  ๒๕๔๖