ระเบียบมหาเถรสมาคม
ว่าด้วยการตั้งหน่วยอบรมประชาชนประจำตำบล
พ.ศ. ๒๕๑๘ [1]
——————
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๘ แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ มหาเถรสมาคมวางระเบียบมหาเถรสมาคมไว้ ดังต่อไปนี้
ข้อ ๑. ระเบียบมหาเถรสมาคมนี้ เรียกว่า “ระเบียบมหาเถรสมาคม ว่าด้วยกรตั้งหน่วยอบรมประชาชนประจำตำบล พ.ศ. ๒๕๑๘”
ข้อ ๒. ระเบียบมหาเถรสมาคมนี้ ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในแถลงการณ์คณะสงฆ์ เป็นต้นไป
ข้อ ๓. ในระเบียบมหาเถรสมาคมนี้ “หน่วยอบรมประชาชนประจำตำบล” หมายถึง หน่วยอบรมประชาชนประจำตำบลแห่งพระราชอาณาจักรซึ่งมีวัดตั้งอยู่
หน่วยอบรมประชาชนประจำตำบล มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและสร้างสิ่งที่เป็นคุณประโยชน์แก่ประชาชน ตามหัวข้ออบรมดังนี้
(๑) ศีลธรรมและวัฒนธรรม
(๒) สุขภาพอนามัย
(๓) สัมมาชีพ
(๔) สันติสุข
(๕) ศึกษาสงเคราะห์
(๖) สาธารณสงเคราะห์
(๗) กตัญญูกตเวิทิตาธรรม
(๘) สามัคคีธรรม
ข้อ ๔. หน่วยอบรมประชาชนประจำตำบล ประกอบด้วยกรรมการ ดังต่อไปนี้
๑. กรรมการโดยตำแหน่ง
ก. ประธานกรรมการ ได้แก่ เจ้าอาวาสแห่งวัดที่ตั้งหน่วยอบรมประชาชนประจำตำบลนั้น
ในกรณีที่ประธานกรรมการไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ถ้ามีรองประธานกรรมการฝ่ายบรรพชิตรูปเดียว ให้ประธานกรรมการมอบหมายให้รองประธานกรรมการฝ่ายบรรพชิตรูปนั้นปฏิบัติหน้าที่แทน ถ้ามีรองประธานกรรมการฝ่ายบรรพชิตหลายรูป ให้ประธานกรรมการมอบหมายให้รองประธานกรรมการฝ่ายบรรพชิตรูปใดรูปหนึ่งปฏิบัติหน้าที่แทน ถ้าประธานกรรมการมิได้มอบหมาย ให้รองประธานกรรมการฝ่ายบรรพชิตเลือกกันเองขึ้นปฏิบัติหน้าที่แทนประธานกรรมการ เว้นแต่ในกรณีที่มีรองประธานกรรมการฝ่ายบรรพชิตรูปเดียว ให้รองประธานกรรมการฝ่ายบรรพชิตรูปนั้นปฏิบัติหน้าที่แทน
ข. รองประธานกรรมการฝ่ายบรรพชิต ได้แก่ เจ้าอาวาสวัดอื่นทุกวัดในตำบลนั้นเว้นแต่ในกรณีที่เจ้าอาวาสวัดอื่นนั้นดำรงตำแหน่งตั้งแต่เจ้าคณะตำบลขึ้นไปให้มอบหมายแก่พระภิกษุรูปใดรูปหนึ่งในวัดของตนเป็นรองประธานกรรมการในฐานะเจ้าอาวาสด้วย
ถ้าตำบลนั้นมีวัดตั้งหน่วยอบรมเพียงวัดเดียว ให้เจ้าอาวาสเลือกพระภิกษุรูปใดรูปหนึ่งในวัดนั้นเป็นรองประธานกรรมการ
ถ้าเจ้าคณะตำบลในตำบลนั้นมิได้ดำรงตำแหน่งเจาอาวาสวัดที่ตั้งหน่วยอบรมประชาชนหรืออยู่วัดอื่น ให้เจ้าคณะตำบลเข้าร่วมประชุมในฐานะที่ปรึกษา
ค.รองประธานกรรมการฝ่ายคฤหัสถ์ ได้แก่ กำนันในตำบลนั้น ถ้าตำบลนั้นอยู่ในเขตเทศบาล ให้มีผู้แทนเทศบาลเป็นรองประธานฝ่ายคฤหัสถ์
ง.กรรมการ ได้แก่ ผู้ใหญ่บ้าน และแพทย์ประจำตำบลในตำบลนั้น กรรมการโดยตำแหน่งให้เจ้าคณะอำเภอเป็นผู้แจ้งให้ทราบ
๒. กรรมการโดยแต่งตั้ง ได้แก่ กรรมการซึ่งที่ประชุมกรรมการโดยตำแหน่งคัดเลือกจากคฤหัสถ์ ซึ่งเป็นทายกทายิกา ครูโรงเรียน ผู้ทรงคุณวุฒิ ในตำบลนั้น มีจำนวนไม่ต่ำกว่า ๕ คน และไม่เกิน ๙ คน เสนอเจ้าคณะเจ้าอำเภอเพื่อแต่งตั้ง
ให้คณะกรรมการดังกล่าวข้างต้น แต่งตั้งเลขานุการขึ้นรูปหนึ่ง เพื่อทำหน้าที่การเลขานุการและถ้าเป็นการสมควร จะแต่งตั้งบรรพชิตหรือคฤหัสถ์เป็นผู้ช่วยเลขานุการก็ได้
ข้อ ๕. กรรมการซึ่งได้รับแต่งตั้งตามความในข้อ ๔ (๒) พ้นจากตำแหน่ง เมื่อ
๑. ตาย
๒. ลาออก
๓. ดำรงตำแหน่งครบ ๔ ปี
กรรมการผู้พ้นจากตำแหน่งตามความใน (๓) ข้างต้น อาจได้รับแต่งตั้งอีกได้
ข้อ ๖. การประชุมคณะกรรมการตามความในข้อ ๔ ต้องมีกรรมการประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมด จึงเป็นองค์ประชุม
การลงมติข้อปรึกษาในที่ประชุมคณะกรรมการตามความในวรรคต้น ให้ถือเอาเสียงข้างมากเป็นประมาณ ถ้ามีเสียงเท่ากัน ให้ประธานที่ประชุมสั่งระงับเรื่องนั้นไว้ก่อน
การประชุมโดยปกติของคณะกรรมการดังกล่าวข้างต้น ให้คณะกรรมการกำหนดขึ้นตามที่เห็นสมควร ส่วนการประชุมพิเศษ จะให้มีขึ้นเป็นครั้งคราวตามความจำเป็นก็ได้
ข้อ ๗. คณะกรรมการหน่วยอบรมประชาชนประจำตำบลเรียกชื่อว่า “คณะกรรมการ อ.ป.ต.” มีอำนาจหน้าที่ดังนี้
๑. จัดการอบรมประชาชน ตามวัตถุประสงค์และวิธีการที่กำหนดไว้ในระเบียบมหาเถรสมาคมนี้
๒. ปฏิบัติการช่วยเหลือเกื้อกูลแก่ประชาชนในตำบลนั้น ตามกำลังและความสามารถ
๓. แต่งตั้งเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงินและฝ่ายธุรการอื่น ๆ กำหนดวิธีปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ฝ่ายธุรการ และถ้าเป็นการสมควรจะแต่งตั้งคณะอนุกรรมการขึ้น เพื่อมอบหมายให้พิจารณาหรือดำเนินการใด ๆ ก็ได้
๔. จัดการดูแลรักษาทรัพย์สินของหน่วยอบรมให้เป็นไปด้วยดี
๕. เสนอความเห็นหรือข้อขัดข้องต่อคณะกรรมการอำนวยการอบรมและปฏิบัติการตามคำแนะนำชี้แจงของคณะกรรมการอำนวยการ หรือผู้อำนวยการอบรมแล้วแต่กรณี
๖. ติดต่อประสานานและขอความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายบ้านเมืองเพื่อให้การอบรมประชาชนดำเนินไปโดยสะดวกและเรียบร้อย
๗. เสนอรายงานกิจกรรมที่ได้ดำเนินการไปแล้วในรอบปีต่อคณะกรรมการอำนวยการและผู้อำนวยการอบรมตามลำดับ จนถึงคณะกรรมการอำนวยการอบรมประชาชนกลาง
นอกจากกรณีดังกล่าวข้างต้น ให้มีหน้าที่จัดตั้งห้องสมุดและเภสัชทานสถานประจำตำบลอีกส่วนหนึ่งตามวิธีการที่จะได้กำหนดขึ้น
ข้อ ๘. การประชุมอบรมประชาชนตามวัตถุประสงค์ในข้อ ๓ จะดำเนินการโดยวิธีใดวิธีหนึ่งก็ได้ ตามสมควรแก่กรณี คือ
๑. การอบรมทั่วไป ได้แก่ การประชุมประชาชนทั่วไปในตำบลนั้น โดยเชิญวิทยากรมาอธิบายชี้แจงแนะนำในทางวิชาการ และในทางปฏิบัติตามวัตถุประสงค์ข้อใดข้อหนึ่งของหน่วยอบรม
๒. การอบรมเฉพาะกรณี ได้แก่ การประชุมประชาชนเพียงบางส่วนเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่เกิดขึ้นแก่ประชาชนส่วนนั้น ๆ โดยวิธีการชี้แจงแนะนำซ้อมความเข้าใจในเรื่องนั้น ๆ
๓. การอบรมเฉพาะบุคคล ได้แก่ การจัดให้บุคคลบางคนมาพบปะสังสรรค์เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นหรือชี้แจง แนะนำซ้อมความเข้าใจในเรื่องที่เกี่ยวกับบุคคลนั้น
การประชุมอบรมตามวิธีใน (๑) โดยปกติให้มีการประชุมเดือนละ ๑ ครั้ง ในกรณีจำเป็นคณะกรรมการจะงดการประชุม หรือจะจัดให้มีการประชุมพิเศษ ก็ได้
ส่วนการประชุมอบรมตามวิธีการใน (๒) และ (๓) ให้ดำเนินการตามสมควรแก่กรณีที่เกิดขึ้น
ข้อ ๙. หน่วยอบรมประชาชนประจำตำบล อยู่ในอำนวยการของคณะกรรมการอำนวยการและผู้อำนวยการตามลำดับ ดังนี้
๑. คณะกรรมการอำนวยการอบรมประชาชนประจำอำเภอ เรียกชื่อย่อว่า “คณะกรรมการ อ.ป.อ.” ประกอบด้วย
ก. กรรมการเจ้าหน้าที่โดยตำแหน่ง ได้แก่ เจ้าคณะอำเภอเจ้าสังกัดเป็นประธาน รองเจ้าคณะอำเภอเป็นรองประธาน และเจ้าคณะตำบลทุกตำบลในเขตอำเภอนั้นเป็นกรรมการ
ในกรณีทีไม่มีเจ้าคณะอำเภอ ให้เจ้าคณะอำเภอเลือกเจ้าคณะตำบลในเขต
อำเภอนั้น เป็นรองประธานกรรมการ
ข. กรรมการที่ปรึกษา ได้แก่ นายอำเภอที่หน่วยอบรมประชาชน
ประจำตำบลตั้งอยู่ และเจ้าหน้าที่ประจำอำเภอนั้นมีจำนวนไม่ต่ำกว่า ๓ คน และไม่เกิน ๕ คน ตามที่นายอำเภอพิจารณาเลือกให้เข้าร่วมเป็นกรรมที่ปรึกษา
๒. คณะกรรมการอำนวยการอบรมประชาชนประจำจังหวัดเรียกชื่อย่อว่า “คณะกรรมการ อ.ป.จ.” ประกอบด้วย
ก. กรรมการเจ้าหน้าที่โดยตำแหน่ง ได้แก่ เจ้าคณะจังหวัดเจ้าสังกัดเป็นประธาน รองเจ้าคณะจังหวัดเป็นรองประธาน และเจ้าคณะอำเภอทุกอำเภอในเขตจังหวัดนั้นเป็นกรรมการ
ในกรณีที่ไม่มีรองเจ้าคณะจังหวัด ให้เจ้าคณะจังหวัดเลือกเจ้าคณะอำเภอในเขตจัวหวัดนั้นเป็นรองประธานกรรมการ
ข. กรรมการที่ปรึกษา ได้แก่ ผู้ว่าราชการจังหวัดในเขตที่หน่วยอบรมประชาชนประจำตำบลนั้นตั้งอยู่ และเจ้าหน้าที่ประจำจังหวัดนั้นมีจำนวนไม่ต่ำกว่า ๓ คน และไม่เกิน ๕ คน ตามที่ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจารณาเลือกให้เข้าร่วมเป็นกรรมการที่ปรึกษา
๓. เจ้าคณะภาคสังกัด เป็นผู้อำนวยการอบรมประชาชนประจำภาคโดยตำแหน่ง
๔. คณะกรรมการอำนวยการอบรมประชาชนกลาง เรียกชื่อย่อว่า “คณะกรรมการ อ.ป.ก.” ประกอบด้วยประธาน รองประธาน และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิไม่เกิน ๕ รูป ตามที่มหาเถรสมาคมจะได้แต่งตั้งขึ้น กับเจ้าคณะใหญ่ทุกหนเป็นกรรมการโดยตำแหน่ง นอกจากนี้ มหาเถรสมาคมจะได้เชิญผู้แทนกระทรวงทบวงกรมที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับวัตถุประสงค์ของหน่วยอบรมตามที่เห็นสมควรเข้าร่วมเป็นกรรมการด้วย
ให้กรรมการตาม (๑) (๒) และ (๔) แต่งตั้งเลขานุการขึ้นรูปหนึ่ง เพื่อทำหน้าที่การเลขานุการ ถ้าเป็นการสมควร จะแต่งตั้งผู้ช่วยเลขานุการอีกรูปหนึ่งหรือหลายรูปก็ได้
ข้อ ๑๐. การประชุมคณะกรรมการตามความในข้อ ๙ (๑) และ (๒) ต้องมีคณะกกรมการ เจ้าหน้าที่มาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการเจ้าหน้าที่ทั้งหมดและต้องมีกรรมการที่ปรึกษามาประชุมไม่น้อยกว่า ๑ คน จึงเป็นองค์ประชุม
การลงมติข้อปรึกษาในที่ประชุมคณะกรรมการดังกล่าวในวรรคต้น ให้นำความในข้อ ๖ วรรค ๒ มาใช้บังคับ โดยอนุโลม
การประชุมคณะกรรมการตามความในข้อนี้ ให้คณะกรรมการกำหนดตามควรแก่กรณี
ข้อ ๑๑. การประชุมและการลงมติข้อปรึกษาในที่ประชุมคณะกรรมการ อ.ป.ก. ให้นำความในข้อ ๖ วรรค ๑ และ วรรค ๒ มาใช้บังคับโดยอนุโลม
ข้อ ๑๒. การพ้นจากตำแหน่งของกรรมการ อ.ป.ก. ซึ่งได้รับแต่งตั้งตามความในข้อ ๙ (๔) ให้นำความในข้อ ๕ มาใช้บังคับโดยอนุโลม
ข้อ ๑๓. คณะกรรมการอำนวยและผู้อำนวยการการอบรมประชาชนตามาความในข้อ ๙ แต่ละชั้น มีอำนาจหน้าที่ดังนี้
๑. ควบคุมและส่งเสริมการอบรมประชาชนให้เป็นไปตามระเบียบมหาเถรสมาคมนี้
๒. แก้ไขข้อขัดข้องเกี่ยวกับกิจการในอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการหน่วยอบรมประชาชนประจำตำบลให้เป็นไปโดยชอบ
๓. ตรวจตราชี้แจงแนะนำเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องกับหน่วยอบรมประชาชนประจำตำบลให้ปฏิบัติหน้าที่โดยเรียบร้อย
ข้อ ๑๔. ในอำเภอหนึ่ง เมื่อคณะกรรมการ อ.ป.อ. ,มีความประสงค์ขอตั้งหน่วยอบรมประชาชนประจำตำบลใด ณ วัดใด ให้รายงานเสนอขอรับอนุมัติจากคณะกรรมการ อ.ป.จ. เมื่อได้รับอนุมัติให้ตั้งหน่วยอบรมประชาชนประจำตำบลนั้น และเปิดดำเนินการอบรมครั้งแรกแล้ว ให้หน่วยอบรมนั้นรายงานโดยลำดับจนถึงคณะกรรมการ อ.ป.ก.
หน่วยอบรมประชาชนประจำตำบลใด มีอาณาเขตกว้างขวาง หรือประชาชนเป็นจำนวนมาก เพื่อสะดวกแก่ประชาชน จะจัดให้มีการอบรมเพิ่มขึ้น ณ วัดใดวัดหนึ่งหรือสถานที่แห่งใดแห่งหนึ่งในเขตตำบลนั้น ตามที่คณะกรรมการ อ.ป.ต. เห็นสมควรก็ได้
ถ้าตำบลใดที่ไม่มีวัดตั้งอยู่ เมื่อกำนันและผู้ใหญ่บ้านในเขตตำบลนั้นร้องขอต่อหน่วยอบรมประชาชนประจำตำบลใด คณะกรรมการ อ.ป.ต. จะจัดให้มีการอบรมเพิ่มขึ้น ณ ตำบลนั้นก็ได้
ในกรณีที่คณะกรรมการ อ.ป.ต. เห็นสมควรย้ายหน่วยอบรมประชาชนประจำตำบลจากวัดหนึ่ง ไปยังอีกวัดหนึ่งในตำบลเดียวกัน ให้รายงานเสนอผ่านคณะกรรมการ อ.ป.อ. จนถึงคณะกรรมการ อ.ป.จ. เมื่อได้รับอนุมัติจากคณะกรรรมการ อ.ป.จ. แล้วจึงให้ย้ายได้ และให้คณะกรรมการ อ.ป.จ. รายงานโดยลำดับจนถึงคณะกรรมการ อ.ป.ก.
ในกรณีที่หน่วยอบรมประชาชนประจำตำบลล้มเลิกตามมติมหาเถรสมาคมบรรดาทรัพย์สินของหน่วยอบรมประชาชนประจำตำบลนั้น ย่อมตกเป็นสมบัติของวัดที่หน่วยอบรมประชาชนนั้นตั้งอยู่
ข้อ ๑๕. เงินเละพัสดุของหน่วยอบรมประชาชนประจำตำบลอาจได้รับจากผู้มีจิตศรัทธาบริจาค
การดูแลรักษาและจัดการเงินและพัสดุของหน่วยอบรมประชาชนประจำตำบลให้ดำเนินการตามวิธีปฏิบัติที่จะได้กำหนดขึ้น
ข้อ ๑๖. ให้เริ่มดำเนินการตั้งหน่วยอบรมประชาชนประจำตำบลตามระเบียบมหาเถรสมาคมนี้ ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๑๘ เป็นต้นไป และให้ครบทุกตำบลภายในสิ้นปี ๒๕๒๑ เว้นแต่จะมีเหตุขัดข้อง ซึ่งยังไม่สามารถจะจัดตั้งได้ภายในกำหนดดังกล่าวนั้น ให้คณะกรรมการ อ.ป.อ. รายงานโดยลำดับจนถึงคณะกรรมการ อ.ป.ก.
ประกาศ ณ วันที่ ๗ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๑๘
(สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ)
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
ประธานกรรมการมหเถรสมาคม
[1] ประกาศในแถลงการณ์คณะสงฆ์ เล่ม ๖๓ ฉบับพิเศษ : ๑ พฤษภาคม ๒๕๑๘
Hits: 5