ระเบียบมหาเถรสมาคม ว่าด้วยคณะกรรมการฝ่ายต่าง ๆ ของมหาเถรสมาคม พ.ศ.๒๕๓๙

ระเบียบมหาเถรสมาคม

ว่าด้วยคณะกรรมการฝ่ายต่าง ๆ ของมหาเถรสมาคม

พ.ศ.๒๕๓๙ [1]

————————

      อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๕ ตรี และมาตรา ๑๙ แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.๒๕๐๕ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๓๕ มหาเถรสมาคมวางระเบียบมหาเถรสมาคมไว้ ดังต่อไปนี้

      ข้อ ๑ ระเบียบมหาเถรสมาคมนี้ เรียกว่า “ระเบียบมหาเถรสมาคมว่าด้วยคณะกรรมการฝ่ายต่าง ๆ ของมหาเถรสมาคม พ.ศ.๒๕๔๙”

      ข้อ ๒ ระเบียบมหาเถรสมาคมนี้ ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในแถลงการณ์คณะสงฆ์เป็นต้นไป

      ข้อ ๓ ให้มีคณะกรรมการฝ่ายต่าง ๆ ของมหาเถรสมาคม ดังนี้

             (๑)   คณะกรรมการฝ่ายปกครอง

             (๒)   คณะกรรมการฝ่ายศาสนศึกษา

             (๓)   คณะกรรมการฝ่ายการศึกษาสงเคราะห์

             (๔)   คณะกรรมการฝ่ายเผยแผ่พระพุทธศาสนา

             (๕)   คณะกรรมการฝ่ายสาธารณูปการ

             (๖)   คณะกรรมการฝ่ายสาธารณสงเคราะห์

      มหาเถรสมาคมจะให้มีคณะกรรมการฝ่ายอื่น ๆ อีกก็ได้

      ข้อ ๔ คณะกรรมการฝ่ายต่าง ๆ ตามข้อ ๓ ให้ประกอบด้วย

             (๑)   ประธานกรรมการ และรองประธานกรรมการ แต่งตั้งจากกรรมการมหาเถรสมาคม

             (๒)   กรรมการตามข้อ ๓ (๑) ถึงข้อ ๓ (๖) มีจำนวนไม่น้อยกว่า ๕ ท่าน ไม่เกิน ๑๕ ท่าน จะเป็นพระภิกษุหรือบุคคลอื่นก็ได้

             (๓)   กรรมการและเลขานุการ ๑ ท่าน

      ให้คณะกรรมการมีสิทธิ์แต่งตั้งผู้ช่วยเลขานุการ มีจำนวนไม่เกิน ๒ ท่าน ซึ่งจะเป็นพระภิกษุหรือบุคคลอื่นก็ได้ และเมื่อแต่งตั้งแล้วให้รายงานมหาเถรสมาคมทราบ

      ข้อ ๕ ประธานกรรมการ รองประธานกรรมการ กรรมการ และกรรมการและเลขานุการ ในคณะกรรมการฝ่ายต่าง ๆ อยู่ในตำแหน่งคราวละ ๒ ปี และอาจได้รับแต่งตั้งอีกได้

      ข้อ ๖ นอกจากการพ้นจากตำแหน่งเมื่อครบวาระตามข้อ ๕ ประธานกรรมการ รองประธานกรรมการ กรรมการ และกรรมการและเลขานุการ ในคณะกรรมการฝ่ายต่าง ๆ  พ้นจากตำแหน่งเมื่อ

             (๑)   มรณภาพ หรือตาย

             (๒)   พ้นจากความเป็นพระภิกษุ

             (๓)   พ้นจากตำแหน่ง ในกรณีที่ได้รับแต่งตั้งโดยตำแหน่ง

             (๔)   ลาออก

             (๕)   สมเด็จพระสังฆราชมีพระบัญชาให้ออก

      ข้อ ๗ เมื่อตำแหน่งประธานกรรมการ รองประธานกรรมการ กรรมการ หรือกรรมการและเลขานุการ ว่างลง เพราะเหตุอื่นใดนอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระ สมเด็จพระสังฆราชมีพระบัญชาแต่งตั้งแทนตำแหน่งที่ว่างลงก็ได้ และให้ผู้ซึ่งได้รับแต่งตั้งอยู่ในตำแหน่งเท่าวาระที่เหลืออยู่ของผู้ซึ่งตนแทน

      ข้อ ๘ การประชุมคณะกรรมการแต่ละคณะ ต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งจึงเป็นองค์ประชุม

      ในกรณีที่ประธานกรรมการไม่อาจมาประชุม หรือไม่อยู่ในที่ประชุม ให้รองประธานกรรมการทำหน้าที่เป็นประธานในที่ประชุม ถ้ารองประธานกรรมการไม่มาประชุม หรือไม่อยู่ในที่ประชุม ให้กรรมการที่มาประชุม เลือกกรรมการซึ่งเป็นพระภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม

      ข้อ ๙ ให้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการแต่ละคณะ ที่จะต้องจัดทำรายงานการดำเนินการและเสนอให้มหาเถรสมาคมทราบหรือวินิจฉัย

      ข้อ ๑๐ เมื่อมีความจำเป็นและเป็นการสมควร คณะกรรมการฝ่ายต่าง ๆ จะกราบทูลสมเด็จพระสังฆราช เพื่อมีพระบัญชาแต่งตั้งคณะอนุกรรมการของคณะกรรมการฝ่ายต่าง ๆ นั้นก็ได้ ตามมติมหาเถรสมาคม

      คณะอนุกรรมการของคณะกรรมการฝ่ายใด ย่อมมีวาระอยู่ในตำแหน่งตามวาระของคณะกรรมการฝ่ายนั้น และให้นำความในข้อ ๖ ข้อ ๗ และข้อ ๘ มาใช้บังคับโดยอนุโลม

      ข้อ ๑๑ คณะกรรมการฝ่ายปกครอง มีหน้าที่ดังต่อไปนี้

             (๑)   สอดส่องดูแล เพื่อให้การปกครองคณะสงฆ์และสามเณรเป็นไปตามพระธรรมวินัย กฎหมาย กฎ ข้อบังคับ ระเบียบ คำสั่ง ประกาศ ของมหาเถรสมาคม หรือพระบัญชาของสมเด็จพระสังฆราช

             (๒)   เสนอมหาเถรสมาคมให้ตรากฎ ออกข้อบังคับ วางระเบียบ ออกคำสั่ง ออกประกาศ หรือมาตรการที่เกี่ยวกับการปกครองคณะสงฆ์และสามเณร เพื่อให้การปกครองคณะสงฆ์และสามเณรเป็นไปด้วยความเรียบร้อยดีงาม

             (๓)   ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่มหาเถรสมาคมมอบหมาย

      ข้อ ๑๒ คณะกรรมการฝ่ายศาสนศึกษา มีหน้าที่ดังต่อไปนี้

             (๑)   ส่งเสริม สนับสนุน และดำเนินการเกี่ยวกับการศาสนศึกษาของคณะสงฆ์และสามเณร

             (๒)   กำกับดูแลพระภิกษุและสามเณรที่ไปศึกษาวิชาการในสถาบันต่าง ๆ ภายในราชอาณาจักรที่มิใช้สถาบันการศึกษาของสงฆ์

             (๓)   กำหนดแนวทางและวิธีปฏิบัติในการส่งเสริมการศาสนศึกษา

             (๔)   เสนอมหาเถรสมาคม เพื่อให้ตรากฎ ออกข้อบังคับ วางระเบียบ ออกคำสั่ง หรือออกประกาศของมหาเถรสมาคม

             (๕)   ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่มหาเถรสมาคมมอบหมาย

      แนวทางและวิธีปฏิบัติตาม (๓) เมื่อได้รับความเห็นชอบจากมหาเถรสมาคมแล้ว ให้คณะสงฆ์ถือเป็นหลักปฏิบัติต่อไป

      ข้อ ๑๓ คณะกรรมการฝ่ายการศึกษาสงเคราะห์ มีหน้าที่ดังต่อไปนี้

             (๑)   ส่งเสริม สนับสนุน และดำเนินการเกี่ยวกับการศึกษาสงเคราะห์ของคฤหัสถ์

             (๒)   ส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการศึกษาสงเคาะห์

             (๓)   กำหนดแนวทางและวิธีปฏิบัติในการส่งเสริมการศึกษาสงเคราะห์

             (๔)   เสนอมหาเถรสมาคม เพื่อให้ตรากฎ ออกข้อบังคับ วางระเบียบ ออกคำสั่ง หรืออกประกาศของมหาเถรสมาคม

             (๕)   ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่มหาเถรสมาคมมอบหมาย

      แนวทางและวิธีปฏิบัติตาม (๓) ที่เป็นหน้าที่ของกระทรวงศึกษาธิการ ให้รับฟังความคิดเห็นของกระทรวงศึกษาธิการประกอบด้วย

      ข้อ ๑๔ คณะกรรมการฝ่ายเผยแผ่พระพุทธศาสนา มีหน้าที่ดังต่อไปนี้

             (๑)   สนับสนุน ส่งเสริม และจัดให้มีการเผยแผ่พระพุทธศาสนา ในและนอกราชอาณาจักร

             (๒)   กำกับ ดูแล การเผยแผ่พระพุทธศาสนาในราชอาณาจักรให้เรียบร้อยดีงามและถูกต้องตามหลักพระศาสนา

             (๓)   เสนอมหาเถรสมาคม เพื่อให้ตรากฎ ออกข้อบังคับ วางระเบียบ ออกคำสั่ง หรือออกประกาศของมหาเถรสมาคม

             (๔)   ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่มหาเถรสมาคมมอบหมาย

      ข้อ ๑๕ คณะกรรมการฝ่ายสาธารณูปการ มีหน้าที่ดังต่อไปนี้

             (๑)   กำกับ สอดส่อง ดูแล แนะนำ การสาธารณูปการให้เป็นไปโดยเรียบร้อยดีงาม เกิดประโยชน์ต่อพระศาสนาและสังคม และเป็นไปโดยประหยัด

             (๒)   สนับสนุนและส่งเสริมให้มีการสาธารณูปการ ตามความเหมาะสมแก่ท้องถิ่น

             (๓)   กำกับ ดูแล การสาธารณูปการให้สอดคล้องกับพระธรรมวินัยและวัตรปฏิบัติของพระภิกษุสามเณร

             (๔)   เสนอมหาเถรสมาคม เพื่อให้ตรากฎ ออกข้อบังคับ วางระเบียบ ออกคำสั่ง หรืออกประกาศของมหาเถรสมาคม

             (๕)   ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่มหาเถรสมาคมมอบหมาย

      ข้อ ๑๖ คณะกรรมการฝ่ายสาธารณสงเคราะห์ มีหน้าที่ดังต่อไปนี้

             (๑)   กำกับ สอดส่อง ดูแล แนะนำ การสาธารณสงเคราะห์ ให้เป็นไปโดยเรียบร้อยดีงาม เกิดประโยชน์ต่อพระศาสนาและสังคม

             (๒)   สนับสนุนและส่งเสริมให้มีการสาธารณสงเคราะห์ ตามความเหมาะสมแก่ท้องถิ่น

             (๓)   กำกับ ดูแล การสาธารณสงเคราะห์ ให้สอดคล้องกับพระธรรมวินัยและวัตรปฏิบัติของพระภิกษุสามเณร

             (๔)   เสนอมหาเถรสมาคม เพื่อให้ตรากฎ ออกข้อบังคับ วางระเบียบ ออกคำสั่ง หรืออกประกาศของมหาเถรสมาคม

             (๕)   ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่มหาเถรสมาคมมอบหมาย

      ข้อ ๑๗ คณะกรรมการฝ่ายอื่น ๆ ที่มหาเถรสมาคมเห็นสมควรให้มีนั้น มีหน้าที่ตามที่มหาเถรสมาคมมอบหมาย

      ข้อ ๑๘ คณะกรรมการหรือคณะอนุกรรมการที่มหาเถรสมาคมแต่งตั้งอยู่ก่อนประกาศใช้ระเบียบนี้ ให้ถือว่าเป็นคณะกรรมการ หรือคณะอนุกรรมการตามระเบียบนี้

      ข้อ ๑๙ เมื่อมีปัญหาว่าหน้าที่ใด เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการฝ่ายใด ให้คณะกรรมการที่เกี่ยวข้อง นำเสนอมหาเถรสมาคมเพื่อวินิจฉัย

      ประกาศ ณ วันที่ ๑๖ พฤษภาคม ๒๕๓๙

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

ประธานกรรมการมหาเถรสมาคม


[1]  ประกาศในแถลงการณ์คณะสงฆ์ เล่ม ๘๔ ตอนที่ ๕ :  ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๓๙

Views: 1029