ระเบียบการคณะสงฆ์ ว่าด้วยการจัดศาสนศึกษา พุทธศักราช ๒๔๘๔

ระเบียบการคณะสงฆ์

ว่าด้วยการจัดศาสนศึกษา

พุทธศักราช ๒๔๘๔[1]

———————

      โดยที่เห็นสมควรจะปรับปรุงการศาสนศึกษาให้เจริญด้วยปริมาณและคุณภาพ และเหมาะสมแก่กาละเทศะ เพื่อเป็นผลดีแก่การจัดการศึกษาในส่วนพระศาสนายิ่งขึ้น

      จึงให้ยกเลิกระเบียบบำรุงการศึกษาปริยัติธรรม พ.ศ.๒๔๘๑ และใช้ระเบียบใหม่นี้แทน ตั้งแต่วันประกาศในแถลงการณ์คณะสงฆ์ เป็นต้นไป

ลักษณะ ๑
ความทั่วไป

      ๑. ระเบียบนี้ให้เรียกว่า ระเบียบการคณะสงฆ์ว่าด้วยการจัดศาสนศึกษา พุทธศักราช ๒๔๘๔

      ๒. ในระเบียบนี้

      คำว่า “การศาสนศึกษา” หมายถึงการศึกษาปริยัติธรรมและการศึกษาอื่น ๆ อันสมควรแก่สมณศึกษาด้วย

      คำว่า “สำนักศาสนศึกษา” หมายถึงสำนักเรียนหรือโรงเรียนสอนปริยัติธรรมแต่เดิมมา

ลักษณะ ๒
ว่าด้วยงบประมาณและอัตราเงินบำรุงครู

      ๓. งบประมาณปกติสำหรับบำรุงการศาสนศึกษานั้น ให้กรมธรรมการตั้งจากเงินศาสนสมบัติกลาง กำหนดให้จ่ายบำรุงการศาสนศึกษาแก่สำนักศาสนศึกษาในคณะมหานิกายแขวงละ ๘๐ บาท คณะธรรมยุตติกนิกายแขวงละ ๒๐ บาท ต่อปี       

      ๔. นอกจากงบประมาณปกติดังกล่าวมาในข้อ ๓ แล้ว ภาพในเงื่อนไขดังจะได้ระบุไว้ในลักษณะ ๔ ให้กรมธรรมการตั้งงบประมาณพิเศษอีกส่วนหนึ่ง จากเงินศาสนสมบัติกลางเช่นเดียวกัน กำหนดจ่ายบำรุงแก่สำนักศาสนศึกษาตัวอย่าง ประจำจังหวัดตาง ๆ เว้นจังหวัดพระนครและธนบุรี จังหวัดละ ๑ สำนัก เป็นเงินไม่เกิน ๒๐๐ บาท

      ๕. เงินบำรุงการศาสนศึกษาตามงบประมาณปกตินั้น ให้จ่ายเป็นนิตยภัตบำรุงครู เมื่อได้ปฏิบัติการจ่ายดังกล่าวแล้ว ถ้าเงินบำรุงยังมีเหลือ จะจ่ายเป็นค่ารับแถลงการณ์สงฆ์ อันควรมีไว้เป็นสมบัติของสำนักศาสนศึกษานั้น ๆ หรือจะจ่ายเป็นค่าเครื่องอุปกรณ์การ ศาสนศึกษาก็ได้

      ๖. อัตรานิตยครูนั้น กำหนดให้ตั้งจ่ายโดยคำนึงตามปริมาณแลคุณภาพของงาน ดังนี้

                   (๑)  ครูสอนธรรม ไม่เกินเดือนละ ๘ บาท

                   (๒) ครูสอนบาลี ไม่เกินเดือนละ ๑๐ บาท

      ๗. เงินบำรุงการศาสนศึกษาประจำแขวง หากมีเหลือจ่ายจะโอนไปบำรุงแขวง หากมีเหลือจ่ายจะโอนไปบำรุงแขวงอื่นภายในจังหวัดเดียวกัน โดยความเห็นชอบของที่ประชุมผู้อำนวยการสาสนศึกษาแห่งจังหวัดนั้นก็ได้

ลักษณะ ๓
ว่าด้วยการบำรุงการศาสนศึกษาและวิทยฐานะครู

      ๘. สำนักศาสนศึกษาที่ควรได้รับบำรุงตามระเบียบนี้ จะต้องมีจำนวนนักศึกษาอันแท้จริงไม่ต่ำกว่า ๒๐ เว้นแต่

             (๑) สำนักศาสนศึกษาอันตั้งอยู่ตามท้องที่ชายพระราชอาณาจักร ติดต่อกับต่างประเทศ

             (๒) สำนักศาสนศึกษาอันตั้งอยู่ตามท้องที่กันดาร การวินิจฉัยลักษณะแห่งท้องที่นี้ ให้ปฏิบัติตามมติของที่ประชุมผู้อำนวยการศาสนศึกษาแห่งจังหวัด

      ๙. การกำหนดจ่ายเงินบำรุงสำนักศาสนศึกษานั้น เพื่อความเป็นธรรม ให้ดำเนินตามมติของที่ประชุมผู้อำนวยการศาสนศึกษาแห่งจังหวัด

      ๑๐.ในการพิจารณาตามความในข้อ ๙ ให้ที่ประชุมผู้อำนวยการศาสนศึกษาแห่งจังหวัดคำนึงตามหลักเกณฑ์โดยตามลักษณะ ดังนี้

             (๑) สำนักศาสนศึกษาที่ไม่มีทุนของวัด หรือนิธิสมบัติอื่นใดบำรุง

             (๒) สำนักศาสนศึกษาที่มีนักศึกษาสอบความรู้ในสนามหลวงได้มาก

             (๓) สำนักศาสนศึกษาที่มีนักศึกษาอันแท้จริงมากที่สุด

             (๔) สำนักศาสนศึกษาที่ตั้งมาก่อน

      ๑๑. เฉพาะครูสอนปริยัติธรรม ต้อเป็นภิกษุหรือสามเณรเปรียญ และต้องมีวิทยฐานะกำหนดตามคุณภาพแห่งลักษณะวิชา ดังนี้

             (๑) ครูสอนนักธรรมชั้นตรี อย่างต่ำต้องเป็นนักธรรมชั้นโทหรือเป็นนักธรรมชั้นตรี ซึ่งได้เคยเข้าสอบนักธรรมชั้นโทในสนามหลวงมาแล้วไม่น้อยกว่า ๓ ปี หรือเป็นเปรียญ

             (๒) ครูสอนธรรมชั้นโท อย่างต่ำต้องเป็นนักธรรมชั้นเอกหรือเป็นนักธรรมชั้นโท ซึ่งเคยเข้าสอบนักธรรมชั้นเอกในสนามหลวงมาแล้วไม่น้อยกว่า ๓ ปี หรือเป็นเปรียญ

             (๓) ครูสอนธรรมชั้นเอก อย่างต่ำต้องเป็นนักธรรมชั้นเอกมาแล้วไม่น้อยกว่า ๓ ปี หรือเป็นเปรียญ

             (๔) ครูสอนบาลี ต้องเป็นเปรียญ

             การจ่ายเงินบำรุงครู กำหนดให้จ่ายเฉพาะเดือนที่ทำการสอนเท่านั้น

ลักษณะ ๔

ว่าด้วยการบำรุงสำนักศาสนศึกษาตัวอย่างประจังหวัด

      ๑๒. ภายในบังคับข้อ ๔ ให้สำนักศาสนศึกษาอันประกอบด้วยคุณลักษณะดังจะกล่าวในข้อ ๑๓ เป็นสำนักศาสนศึกษาตัวอย่างประจำจังหวัด ให้ได้รับบำรุงตามงบประมาณพิเศษส่วนหนึ่งต่างหากจากงบประมาณสามัญ

      ๑๓. สำนักสาสนศึกษาตัวอย่างประจำจังหวัดนั้น ให้มีได้แต่เพียงจังหวัดละ ๑ แห่ง คุณลักษณะสำคัญแห่งสำนักศาสนศึกษาตัวอย่างประจำจังหวัด ดังนี้      

             (๑) มีศึกษาสถานโดยเฉพาะและเป็นปึกแผ่น มีเครื่องอุปกรณ์พร้อม และได้สุขลักษณะตามหลักสุขาภิบาลที่จะเป็นสำนักเรียน

             (๒) มีการศึกษาธรรมและบาลี

             (๓) มีจำนวนนักศึกษาทั้งธรรมและบาลีส่งเข้าสอบในสนามหลวงตั้งแต่ ๕๐ ขึ้นไป

             (๔) ส่งนักศึกษาเข้าสอบ ความรู้บาลีในสนามหลวงทุกปีกำหนดปีหลังที่สุดเป็นปทัฏฐาน

             (๕) จัดการศึกษาเป็นระเบียบเรียบร้อย

             (๖) สามารถอำนวยการศึกษาส่วนอื่นอันควรแก่สมณศึกษา

             (๗) สามารถส่งครูไปทำการสอนในสำนักศาสนศึกษาอื่น ๆ ภายในจังหวัดเดียวกันในเมื่อสำนักศาสนศึกษานั้น ๆ ร้องขอ

      ๑๔. ให้เป็นหน้าที่ของคณะผู้อำนวยการสอนศาสนศึกษาแห่งจังหวัดนั้น ๆ จะพึงพิจารณาคัดเลือกสำนักศาสนศึกษาด้วยตัวอย่างประจำจังหวัด แล้วรายงานต่อไปเป็นลำดับจนถึงการกระทรวงธรรมการ เมื่อเห็นสมควร กระทรวงธรรมการจะได้กราบทูลรายงานถวายความเห็นต่อสมเด็จพระสังฆราช เพื่อทรงอนุมัติให้สำนักศาสนศึกษานั้น ๆ เป็นสำนักศาสนศึกษาตัวอย่างประจำจังหวัด

      ๑๕. สำนักศาสนศึกษาประจำจังหวัด จะควรได้รับบำรุงพิเศษในอัตราปีละเท่าใดภายในงบประมาณพิเศษนั้น ให้เป็นไปตามรายงานของกรมธรรมการ ซึ่งจะได้พิจารณาคำนึงตามปริมาณและคุณภาพของสำนักศาสนศึกษานั้น ๆ แลตามปริมาณของงบประมาณ

      ๑๖. เงินบำรุงสำนักศาสนศึกษาตัวอย่างประจำจังหวัดนี้นอกจากจะจ่ายบำรุงครูแล้ว ผู้อำนวยการศาสนศึกษาแห่งสำนักศาสนศึกษานั้น ๆ จะขอตั้งจ่ายเพื่อการอื่นอันเป็นประโยชน์แก่การศาสนศึกษาก็ได้ แต่ต้องได้รับอนุมัติตามระเบียบก่อน

ลักษณะ ๕
ว่าด้วยการอำนวยการศาสนศึกษา        

      ๑๗. เพื่อควบคุมการดำเนินการศาสนศึกษาให้เป็นไปด้วยดีให้มีเจ้าหน้าที่อำนวยการ ดังต่อไปนี้

             (๑) ผู้อำนวยการสำนักศาสนศึกษา

             (๒) ผู้อำนวยการศาสนศึกษาประจำแขวง

             (๓) ผู้อำนวยการศาสนศึกษาประจำจังหวัด 

             (๔) ผู้อำนวยการศาสนศึกษาประจำมณฑล

      ๑๘. เว้นแต่จะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่นให้

             (๑) เจ้าอาวาสเป็นผู้อำนวยการสำนักศาสนศึกษา

             (๒) เจ้าคณะแขวงเป็นผู้อำนวยการสาศนศึกษาประจำแขวง

             (๓) เจ้าคณะจังหวัดเป็นผู้อำนวยการศาสนศึกษาประจำจังหวัด

             (๔) เจ้าคณะมณฑลเป็นผู้อำนวยการศาสนศึกษาประจำมณฑล

      ๑๙. ภายในจังหวัดหนึ่ง ๆ ให้มีการประชุมอำนวยการศาสนศึกษาประจำแขวงไม่น้อยกว่าปีละ ๑ ครั้ง เพื่อพิจารณาปฏิบัติการให้เป็นไปตามระเบียบการศาสนศึกษานี้ เพื่อพิจารณาดำเนินการสถานใด ๆ อันจะเป็นไปเพื่อความเจริญแห่งการศาสนศึกษาคณะในเขตจังหวัดก็แล้วแต่กรณี ให้ผู้อำนวยการศึกษาประจำจังหวัด เป็นประธานของที่ประชุม ก่อนมีการประชุมเช่นนี้ ให้ประธานแห่งที่ประชุมนัดหมายไปยังคณะกรมการจังหวัดขอให้ส่งธรรมการจังหวัดหรือผู้แทนเข้าร่วมประชุมในฐานเป็นผู้สังเกตการ และให้ความเห็นต่อที่ประชุม ผลแห่งการประชุมมีอย่างไร ให้ประธานแห่งที่ประชุมรายงานต่อเจ้าคณะผู้บังคับบัญชาผ่านทางคณะกรมการจังหวัด ในกรณีเช่นนี้ คณะกรมการจังหวัดอาจแสดงความเห็นประกอบรายงานนั้นก็ได้ แล้วเสนอเรื่องไปยังกระทรวงธรรมการเพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป

      ๒๐. หากมีเหตุอันสมควรและจำเป็น ผู้อำนวยการศาสนศึกษาประจำจังหวัดจะจัดให้มีการประชุมผู้อำนวยการสำนักศาสนศึกษาทั่วทั้งจังหวัดก็ได้ โดยอนุโลมปฏิบัติการโดยนัยแห่งข้อ ๑๙

      ๒๑. ผู้อำนวยการศาสนศึกษา มีอำนาจหน้าที่ดังนี้

             (๑) จัดการศาสนศึกษาในสำนักให้เป็นระเบียบเรียบร้อย           

             (๒) รายงานศาสนสถานะการศึกษาต่อผู้อำนวยการศาสนศึกษาประจำแขวงทุกเดือนที่มีการเรียน

             (๓) ภายหลังเมื่อทราบผลแห่งการสอบธรรมหรือบาลีสนามหลวงแล้ว ให้รายงานสรุปผลของการศึกษาและการสอบไล่ต่อผู้อำนวยการศึกษาประจำแขวง

             (๔) รายงานขอบรรจุครูภายในเขตกำหนดเวลา และดูแลการเบิกจ่ายนิตยภัตบำรุงครูให้เป็นไปตามระเบียบ

             (๕) จัดให้มีการศึกษาอย่างอื่นอันควรแก่สมณศึกษา       

      ๒๒. ผู้อำนวยการศาสนศึกษาประจำแขวงมีอำนาจและหน้าที่ ดังนี้

             (๑)  เป็นผู้ควบคุมอำนวยการศาสนศึกษาภายในแขวงของตนให้ดำเนินไปโดยเรียบร้อย

             (๒) พิจารณาเลือกสรรสำนักเรียน และครูที่ควรได้รับบำรุงแล้วเสนอต่อผู้อำนวยการศาสนศึกษาประจำจังหวัด เพื่อนำเข้าพิจารณาหารือในที่ประชุมผู้อำนวยการศาสนศึกษาแห่งจังหวัดนั้น ๆ ภายในกำหนดเวลา

             (๓) รายงานสถานะศึกษาของสำนักศาสนศึกษาในแขวงของตน ต่อผู้อำนวยการศาสนศึกษาประจำศาสนศึกษาประจำจังหวัดทุกเดือน

             (๔) รวบรวมรายงานผลแห่งการสอบไล่ธรรมและบาลีสนามหลวง เสนอต่อผู้อำนวยการศาสนศึกษาประจำจังหวัด

             (๕) เป็นที่ปรึกษาและอำนวยความสะดวกแก่สำนักศาสนศึกษาในเขตแขวงของตน

      ๒๓. ผู้อำนวยการศาสนศึกษาประจำจังหวัดมีอำนาจและหน้าที่ ดังนี้

             (๑) เป็นประธานในที่ประชุมผู้อำนวยการศาสนศึกษาแห่งจังหวัด

             (๒) ควบคุมอำนวยการศาสนศึกษาภายในจังหวัดให้ดำเนินไปโดยความเรียบร้อย

             (๓) เสนอบัญชีตั้งครูสอนปริยัติธรรม ตามมติของที่ประชุมผู้อำนวยการศาสนศึกษาแห่งจังหวัด ต่อผู้อำนวยการศาสนศึกษาประจำมณฑลภายในกำหนดเวลา

             (๔) รายงานสถานะศึกษาของสำนักศาสนศึกษาภายใน จังหวัดของตนต่อผู้อำนวยการศาสนศึกษาประจำมณฑลทุกเดือน

             (๕) เสนอรายงานผลแห่งการ สอบไล่ธรรมบาลี ภายในจังหวัด ต่อผู้อำนวยการศาสนศึกษาประจำมณฑล

             (๖) เป็นที่ปรึกษาและอำนวยความสะดวกในการบริหารงานศาสนศึกษาแก่ผู้อำนวยการศาสนศึกษาประจำจังแขวง

      ๒๔. ผู้อำนวยการศาสนศึกษาประจำมณฑลมีอำนาจหน้าที่ ดังนี้

             (๑) ตรวจการศาสนศึกษาในมณฑลให้ดำเนินไปด้วยดี

             (๒)  พิจารณาให้ความเห็นเกี่ยวกับการตั้งครูหรือการจ่ายเงินเพื่อการอื่นตามระเบียบนี้ แล้วแจ้งให้กรมธรรมการทราบภายในพรรษา

             (๓) ประมวลรายงานผลแห่งการศึกษาให้กรมธรรมการทราบทุกปี ตามปกติให้รายงานภายหลังเมื่อได้ทราบผลแห่งการสอบธรรมและบาลีสนามหลวงแล้ว                

             (๔) เป็นที่ปรึกษาและอำนวยความสะดวกแก่ผู้อำนวยการศาสนศึกษาประจำจังหวัดนั้น ๆ

      ๒๕. สำหรับจังหวัดพระนครและธนบุรี ให้ผู้อำนวยการศาสนศึกษาประจำแขวงปฏิบัติการนี้ติดต่อกับกรมธรรมการโดยตรง

      ๒๖. ให้กรมธรรมการรักษาให้เป็นไปตามระเบียบนี้ และเพื่อความเรียบร้อย ให้มีอำนาจกำหนดแบบบัญชีหรือวิธีปฏิบัติใด ๆ อันจะช่วยให้เป็นที่สะดวกแก่การปฏิบัติการตามระเบียบนี้ก็ได้ ในกรณีเช่นนี้ ให้ผู้อำนวยการศาสนศึกษาตามท้องที่นั้น ๆ ช่วยเหลือให้ความสะดวกแก่เจ้าหน้าที่ผู้ไปตรวจการตามสมควร.

         ระเบียบนี้ตราไว้ ณ วันที่ ๖ เดือน มีนาคม พุทธศักราช ๒๔๘๔

(ลงพระนาม) สมเด็จพระสังฆราช


[1]  ประกาศในแถลงการณ์คณะสงฆ์ เล่ม ๒๙ ภาค ๑  :  เมษายน ๒๔๘๔