ระเบียบองค์การศึกษา
ว่าด้วยการจัดศาสนศึกษา พุทธศักราช ๒๔๙๑[1]
——————–
โดยที่เห็นสมควรจะปรับปรุงการศาสนศึกษาให้เจริญด้วยปริมาณและคุณภาพ และ
เหมาะสมกับกาลเทศะ เพื่อเป็นผลดีและเรียบร้อยในการจัดการศึกษาในส่วนพระศาสนายิ่งขึ้น
จึงให้ยกเลิกระเบียบการคณะสงฆ์ว่าด้วยการจัดศาสนศึกษา พ.ศ.๒๔๘๔ และระเบียบแก้ไขเพิ่มเติมอื่น ๆ ที่เนื่องด้วยการจัดศาสนศึกษา และให้ใช้ระเบียบใหม่นี้แทน ตั้งแต่วันประกาศในแถลงการณ์คณะสงฆ์เป็นต้นไป
ลักษณะ ๑
ความทั่วไป
๑. ระเบียบนี้ให้เรียกว่า “ระเบียบองค์การศึกษา ว่าด้วยการจัดศาสนศึกษา พุทธศักราช ๒๔๙๑”
๒. ในระเบียบนี้
คำว่า “การศาสนศึกษา” หมายถึงการศึกษาปริยัติธรรม และการศึกษาอื่นๆ อันควรแก่สมณศึกษา
คำว่า “สำนักศาสนศึกษา” หมายถึงสำนักเรียนหรือโรงเรียนสอนปริยัติธรรม
ลักษณะ ๒
ว่าด้วยสำนักศาสนศึกษาและการเปิด ปิดภาคเรียน
๓. สำนักศาสนศึกษาแบ่งเป็น ๒ ประเภท คือ
(๑) สำนักศาสนศึกษาสามัญ
(๒) สำนักศาสนศึกษาตัวอย่างประจำจังหวัด
๔. สำนักศาสนศึกษาสามัญ ได้แก่ สำนักศาสนศึกษาทั่วไป อันผู้อำนวยการศาสนศึกษาประจำท้องที่นั้น ๆ พิจารณาเห็นสมควรแล้วจัดตั้งขึ้น
๕. สำนักศาสนศึกษาตัวอย่างประจำจังหวัด ได้แก่ สำนักศาสนศึกษาพิเศษ อันคณะกรรมการสงฆ์จังหวัดนั้น ๆ ประชุมพิจารณาเลือกสรรแล้วขออนุมัติจัดตั้ง
๖. การเปิด ปิดภาคการเรียนปกติ ให้แบ่งเป็น ๓ ภาค เรียกว่า ภาควิสาขะ ภาคพรรษา และภาคปวารณา โดยกำหนดเวลาดังนี้
(๑) นักธรรม
ก. ภาควิสาขะ เริ่มแต่ขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๗ จนถึงขึ้น ๙ ค่ำ เดือน ๘
ข. ภาคพรรษา เริ่มแต่แรม ๙ ค่ำเดือน ๘ จนถึงขึ้น ๑๓ ค่ำ เดือน ๑๑
ค. ภาคปวารณา เริ่มแต่ขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๑๒ จนถึงขึ้น ๑๓ ค่ำ เดือนอ้าย
(๒) บาลี
ก. ภาควิสาขะ เริ่มแต่ขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๖ จนถึงขึ้น ๙ ค่ำ เดือน ๘
ข. ภาคพรรษา เริ่มแต่แรม ๙ ค่ำเดือน ๘ จนถึงขึ้น ๑๓ ค่ำ เดือน ๑๑
ค. ภาคปวารณา เริ่มแต่ขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๑๒ จนถึงแรม ๑๓ ค่ำ เดือนยี่
๗. การปิดการเรียนประจำ ให้ปิดวันโกนกับวันพระ ๒ วัน
๘. นอกจากนี้ เมื่อเห็นเป็นการสมควร ผู้อำนวยการศาสนศึกษานั้นๆ แล้วแต่กรณีจะพิจารณากำหนดการเปิด ปิดให้เหมาะสมกับท้องที่นั้น ๆ หรือเหตุการณ์อันสมควรก็ได้
ลักษณะ ๓
ว่าด้วยงบประมาณและอัตราเงินบำรุงครู
๙. งบประมาณปกติสำหรับบำรุงการศาสนศึกษานั้น ให้กรมการศาสนาตั้งจากเงินศา-สนสมบัติกลาง หรือกำหนดให้จ่ายบำรุงการศาสนศึกษาแก่สำนักศึกษาในคณะมหานิกายอำเภอละ ๙๐ บาท คณะธรรมยุตติกนิกายอำเภอละ ๓๐ บาทต่อปี
๑๐. นอกจากงบประมาณปกติดังกล่าวมาในข้อ ๙ แล้ว ภายในเงื่อนไขดังจะได้ระบุไว้ในลักษณะ ๕ ให้กรมการศาสนาตั้งงบประมาณพิเศษอีกส่วนหนึ่ง จากเงินศาสนสมบัติกลางเช่นเดียวกัน กำหนดจ่ายบำรงแก่สำนักศาสนศึกาตัวอย่างประจำจังหวัดต่าง ๆ เว้นจังหวัดพระนครและธนบุรี จังหวัดละ ๑ สำนัก เป็นเงินไม่เกิน ๒๐๐ บาท
๑๑. เงินบำรุงการศาสนศึกษาตามงบประมาณปกตินั้น ให้จ่ายเป็นนิตยภัตต์บำรุงครู เมื่อได้ปฏิบัติการจ่ายดังกล่าวแล้ว ถ้าเงินบำรุงยังมีเหลือ จะจ่ายเป็นค่ารับแถลงการณ์คณะสงฆ์อันควรมีไว้เป็นสมบัติของสำนักศาสนศึกษานั้น ๆ หรือจะจ่ายเป้นค่าเครื่องอุปกรณ์การศาสนศึกษาก็ได้
๑๒. อัตรานิตยภัตต์ครูนั้น กำหนดให้จ่ายโดยคำนึงตามปริมาณและคุณภาพของงานดังนี้
(๑) ครูสอนธรรม ไม่เกินเดือนละ ๗ บาท
(๒) ครูสอนบาลี ไม่เกินเดือนละ ๑๐ บาท
๑๓. เงินบำรุงการศาสนศึกษาประจำอำเภอ หากมีเหลือจ่ายจะโอนไปบำรุงอำเภออื่นภายในจังหวัดเดียวกัน โดยความเห็นชอบของที่ประชุมคณะกรรมการสงฆ์แห่งจังหวัดนั้นก็ได้
ลักษณะ ๔
ว่าด้วยการบำรุงการศึกษาและวิทยฐานะครู
๑๔. สำนักศาสนศึกษาที่ควรใด้รับบำรุงตามลักษณะนี้ ได้แก่สำนักศาสนศึกษาสามัญ ที่มีจำนวนนักศึกษาอันแท้จริง นักเรียนธรรมต้องไม่ต่ำกว่า ๒๐ รูป นักเรียนบาลี ๑๐ รูป ก็ใช้ได้ เว้นแต่
(๑) สำนักศาสนศึกษาอันตั้งอยู่ตามท้องที่ชายพระราชอาณาจักร ติดต่กับต่างประเทศ
(๒) สำนักศาสนศึกษาอันตั้งอยู่ตามท้องที่กันดาร การวินิจฉัยลักษณะแห่งท้องที่นี้ ให้ปฏิบัติตามมติของที่ประชุมคณะกรรมการสงฆ์จังหวัด
๑๕. การกำหนดจ่ายเงินบำรุงสำนักศาสนศึกษานั้น เพื่อความเป็นธรรม ให้ดำเนินการตามมติของที่ประชุมคณะกรรมการสงฆ์จังหวัด
๑๖. ในการพิจารณาตามความในข้อ ๑๕ ให้ที่ประชุมคณะกรรมการสงฆ์จังหวัด คำนึงตามหลักเกณฑ์โดยลำดับลักษณะ ดังนี้
(๑) สำนักศาสนศึกษาที่ไม่มีทุนของวัด หรือนิธิสมบัติอื่นใดบำรุง
(๒) สำนักศาสนศึกษาที่มีนักศึกษาสอบความรู้ในสนามหลวงได้มาก
(๓) สำนักศาสนศึกษาที่มีนักศึกษาอันแท้จริงมากที่สุด
(๔) สำนักศาสนศึกษาที่ตั้งมาก่อน
๑๗. เฉพาะครูสอนปริยัติธรรม ต้องเป็นภิกษุหรือสามเณรเปรียญ และต้องมีวิทยฐานะ กำหนดตามคุณภาพแห่งลักษณะวิชา ดังนี้
(๑) ครูสอนธรรมชั้นตรี อย่างต่ำต้องเป็นนักธรรมชั้นโท หรือเป็นนักธรรมชั้นตรี ซึ่งได้เคยสอบนักธรรมชั้นโทในสนามหลวงมาแล้วไม่ต่ำกว่า ๓ ปี หรือเป็นเปรียญ
(๒) ครูสอนธรรมชั้นโท อย่างต่ำต้องเป็นธรรมชั้นเอก หรือเป็นนักธรรมชั้นโท ซึ่งได้เคยเข้าสอบนักธรรมชั้นเอกในสนามหลวงมาแล้วไม่น้อยกว่า ๓ ปี หรือเป็นเปรียญ
(๓) ครูสอนธรรมชั้นเอก อยางต่ำต้องเป็นนักธรรมชั้นเอกมาแล้วไม่น้อยกว่า ๓ ปี หรือเป็นเปรียญ
(๔) ครูสอนบาลี ต้องเป็นเปรียญ
(๕) ในท้องถิ่นที่กันดาร เมื่อผู้อำนวยการศาสนศึกษาแล้วแต่กรณี เห็นเป็นการสมควรและจำเป็น จะขออนุมัติบรรจุครูสอนธรรมทุกชั้นที่มีวิทยฐานะไม่ต่ำกว่าชั้นที่ตนสอนเป็นครูก็ได้
(๖) ครูสอนธรรมทุกชั้น ที่มีวิทยฐานะไม่ต่ำกว่าชั้นที่ตนสอนและได้เคยทำการสอนประจำชั้นนั้น ๆ มาแล้วก่อนใช้ระเบียบนี้ เมื่อเห็นสมควร ผู้อำนวยการศาสนศึกษาแล้วแต่กรณีจะขออนุมัติให้คงทำการสอนในชั้นนั้นๆ สืบไปก็ได้ แต่ต้องระบุไว้ในรายงานขอบรรจุให้ชัดแจ้ง
การจ่ายเงินบำรุงครู กำหนดให้จ่ายเฉพาะเดือนที่ทำการสอน
ลักษณะ ๕
ว่าด้วยสำนักศาสนศึกษาตัวอย่างประจำจังหวัดและการบำรุง
๑๘. สำนักศาสนศึกษาตัวอย่างประจำจังหวัดนั้น แบ่งเป็น ๓ ชั้น คือ ชั้นตรี ชั้นโท และชั้นเอก แต่ให้มีได้เพียงจังหวัดละ ๑ สำนัก จะเป็นชั้นใดชั้นหนึ่งก็ได้
๑๙. สำนักศาสนศึกษาตัวอย่างประจำจังหวัดทุกชั้น ต้องประกอบด้วยคุณลักษณะสำคัญทั่วไป ดังนี้
(๑) มีสถานที่ศึกษาโดยเฉพาะและเป็นปึกแผ่น มีเครื่องอุปกรณ์พร้อม และได้สุขลักษณะตามหลักสุขาภิบาลที่จะเป็นสำนักเรียน
(๒) มีการศึกษาทั้งธรรมและบาลี
(๓) ส่งนักศึกษาเข้าสอบความรู้ทั้งธรรมและบาลีในสนามหลวงทุกปี กำหนดปีหลังสุดเป็นปทัฎฐาน
(๔) จัดการศึกษาเป็นระเบียบเรียบร้อย
(๕) สามารถอำนวยการศึกษาส่วนอื่นอันควรแก่สมณศึกษา
(๖) สามารถส่งครูไปทำการสอนในสำนักศาสนศึกษาอื่น ๆ ภายในจังหวัดเดียวกัน ในเมื่อสำนักศาสนศึกษานั้น ๆ ร้องขอ
๒๐. สำนักศาสนศึกษาตัวอย่างประจำจังหวัดชั้นตรี ต้องประกอบด้วยคุณลักษณะโดยเฉพาะ ดังนี้
(๑) ส่งนักศึกษาธรรมเข้าสอบในสนามหลวงปีหนึ่งตั้งแต่ ๒๑ ขึ้นไป
(๒) ส่งนักศึกษาบาลีเข้าสอบในสนามหลวงปีหนึ่งตั้งแต่ ๑๐ ขึ้นไป
(๓) มีนักศึกษาธรรมสอบได้ในสนามหลวงปีหนึ่งตั้ง ๑๐ ขึ้นไป
(๔) มีนักศึกษาบาลีสอบได้ในสนามหลวงปีหนึ่งตั้งแต่ ๕ ขึ้นไป
(๕) ได้จัดตั้งเป็นสำนักศาสนศึกษาสามัญมาแล้ว ไม่น้อยกว่า ๓ ปี
๒๑. สำนักศาสนศึกษาตัวอย่างประจำจังหวัดชั้นโท ต้องประกอบด้วยคุณลักษณะโดยเฉพาะ ดังนี้
(๑) ส่งนักศึกษาธรรมเข้าสอบในสนามหลวงปีหนึ่งตั้งแต่ ๔๐ ขึ้นไป
(๒) ส่งนักศึกษาบาลีเข้าสอบในสนามหลวงปีหนึ่งตั้งแต่ ๒๐ ขึ้นไป
(๓) มีนักศึกษาธรรมสอบได้ในสนามหลวงปีหนึ่งตั้งแต่ ๒๐ ขึ้นไป
(๔) มีนักศึกษาบาลีสอบได้ในสนามหลวงปีหนึ่งตั้งแต่ ๑๐ ขึ้นไป
(๕) ได้จัดตั้งเป็นสำนักศาสนศึกษาสามัญมาแล้ว ไม่น้อยกว่า ๕ ปี หรือเป็นสำนักศาสนศึกษาตัวอย่างชั้นตรีมาก่อน
๒๒. สำนักศาสนศึกษาตัวอย่างประจำจังหวัดชั้นเอก ต้องประกอบด้วยคุณลักษณะโดยเฉพาะ ดังนี้
(๑) ส่งนักศึกษาทั้งธรรม และบาลีเข้าสอบในสนามหลวงปีหนึ่งตั้งแต่ ๑๐๐ ขึ้นไป เป็นเวลาติดต่อกันอย่างน้อย ๓ ปี
(๒) มีนักศึกษาทั้งธรรมละบาลีสอบได้ในสนามหลวงปีหนึ่งตั้งแต่ ๕๐ ขึ้นไป เป็นเวลาติดต่อกันอย่างน้อย ๒ ปี
(๓) ได้จัดตั้งเป็นสำคัญศาสนศึกษาสามัญมาแล้วไม่น้อยกว่า ๘ ปี หรือเป็นสำนักศาสนศึกษาตัวอย่างชั้นโทมาก่อน
๒๓. ให้เป็นหน้าของคณะกรรมการสงฆ์จังหวัดนั้น ๆ จะพึงพิจารณาคัดเลือกสำนักศาสนศึกษาตัวอย่างประจำจังหวัด แล้วรายงานต่อไปเป็นลำดับจนถึงองค์การศึกษา โดยผ่านทางศึกษาธิการจังหวัดถึงกรมการศาสนา ๆ จะได้รายงานความเห็นต่อสังฆมตรีว่าการองค์การศึกษา เพื่ออนุมัติให้เป็นสำนักศาสนศึกษา ตัวอย่างประจำจังหวัด
๒๔. สำนักศาสนศึกษาตัวอย่างประจำจังหวัด ให้ได้รับบำรุงตามงบประมาณพิเศษส่วนหนึ่งต่างหากจากงบประมาณสามัญ ตามความในบังคับแห่งข้อ ๑๐ โดยแบ่งประเภท ดังนี้
(๑) สำนักศาสนศึกษาตัวอย่างชั้นตรี ในอัตราปีละ ๑๐๐ บาท
(๒) สำนักศาสนศึกษาตัวอย่างชั้นโท ในอัตราปีละ ๑๕๐ บาท
(๓) สำนักศาสนศึกษาตัวอย่างชั้นเอก ในอัตราปีละ ๒๐๐ บาท
๒๕. เงินบำรุงสำนักศาสนศึกษาตัวอย่างประจำจังหวัดนี้ นอกจากจะจ่ายบำรุงครูแล้ว ผู้อำนวยการศาสนศึกษาแห่งสำนักศาสนศึกษาตัวอย่างนั้น ๆ จะขอตั้งจ่ายเพื่อการอื่นอันเป็นประโยชน์แก่การศึกษาก็ได้ แต่ต้องให้เป็นไปตามความเห็นชอบของคณะกรรมการสงฆ์จังหวัดก่อน.
ลักษณะ ๖
ว่าด้วยผู้อำนวยการศาสนศึกษา
๒๖. เพื่อควบคุมการดำเนินการศาสนศึกษาให้เป็นไปด้วยดี ให้มีเจ้าหน้าที่อำนวยการดำเนินงาน ดังต่อไปนี้
(๑) ผู้อำนวยการสำนักศาสนศึกษา
(๒) ผู้อำนวยการศาสนศึกษาประจำอำเภอ
(๓) ผู้อำนวยการศาสนศึกษาประจำจังหวัด
(๔) ผู้อำนวยการศาสนศึกษาประจำภาค
๒๗. เว้นแต่จะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่นให้
(๑) เจ้าอาวาสหรือเจ้าคณะตำบลเป็นผู้อำนวยการสำนักศาสนศึกษา
(๒) คณะกรรมการสงฆ์อำเภอเป็นผู้อำนวยการศาสนศึกษาประจำอำเภอ
(๓) คณะกรรมการสงฆ์จังหวัดเป็นผู้อำนวยการศาสนศึกษาประจำจังหวัด
(๔) เจ้าคณะตรวจการภาคเป็นผู้อำนวยการศาสนศึกษาประจำภาค
๒๘. ภายในจังหวัดหนึ่ง ๆ ให้มีการประชุมผู้อำนวยการศาสนศึกษาประจำอำเภอไม่น้อยกว่าปีละ ๑ ครั้ง หรือมากกว่า เพื่อพิจารณาปฏิบัติการให้เป็นไปตามระเบียบการศาสนศึกษานี้ หรือพิจารณาดำเนินการสถานใด ๆ อันจะเป็นไปเพื่อความเจริญแห่งการศาสนศึกษาภายในเขตจังหวัดแล้วแต่กรณี ให้ผู้อำนวยการศาสนศึกษาประจำจังหวัดเป็นประธานของที่ประชุม ก่อนมีการประชุมเช่นนี้ ให้ประธานแห่งที่ประชุมนัดหมายไปยังคณะกรรมการจังหวัด ขอให้ส่งศึกษาธิการจังหวัดหรือผู้แทนเข้าร่วมประชุมในฐานะสังเกตการณ์และให้ความเห็นต่อที่ประชุม ผลแห่งการประชุมมีอย่างไร ให้ประธานแห่งที่ประชุมรายงานต่อไปตามลำดับจนถึงองค์การศึกษาผ่านทางคณะกรรมการจังหวัด ในกรณีเช่นนี้คณะกรรมการจังหวัดอาจแสดงความเห็นประกอบรายงานนั้นก็ได้ แล้วเสนอเรื่องไปยังกรมการศาสนาเพื่อพิจารณาในการต่อไป.
๒๙. หากมีเหตุอันสมควรหรือจำเป็น ผู้อำนวยการศาสนศึกษาประจำจังหวัดจะจัดให้มีการประชุมผู้อำนวยการสำนักศาสนศึกษาทั่วทั้งจังหวัดก็ได้ โดยอนุโลมปฏิบัติการตามนัยแห่งข้อ ๒๘
๓๐. เมื่อเห็นเป็นการสมควร ให้ผู้อำนวยการศาสนศึกษาประจำจังหวัดจัดอบรบผู้อำนวยการศาสนศึกษา หรือครูสอนปริยัติธรรมภายในจังหวัดของตน เพื่อให้เข้าใจวิธีปฏิบัติการตามระเบียบนี้หรือข้ออันควรรู้ อย่างอื่นแล้วแต่กรณี และเพื่อให้เข้าใจถึงวิธีการสอนอันถูกต้องตามหลัก เพื่อความเจริญแห่งการศาสนศึกษาต่อไป
ลักษณะ ๗
ว่าด้วยอำนาจและหน้าที่ของผู้อำนวยการศาสนศึกษา
๓๑. ผู้อำนวยการสำนักศาสนศึกษา มีอำนาจและหน้าที่ ดังนี้
(๑) จัดการสำนักศาสนศึกษาในสำนักให้เป็นระเบียบเรียบร้อย
(๒) รายงานสถานะการศึกษาต่อผู้อำนวยการศาสนศึกษาประจำอำเภอไม่น้อยกว่าปีละ ๒ ครั้ง
(๓) ภายหลังเมื่อทราบผลแห่งการสอบธรรมและบาลีสนามหลวงแล้ว ให้รายงานสรุปผลของการศึกษาและการสอบไล่ต่อผู้อำนวยการศาสนศึกษาประจำอำเภอ
(๔) รายงานขอบรรจุครูถึงผู้อำนวยการศาสนศึกษาประจำอำเภอให้เสร็จก่อนวันเข้าพรรษา
(๕) จัดให้มีการศึกษาอย่างอื่นอันควรแก่สมณศึกษา
๓๒. ผู้อำนวยการศาสนศึกษาประจำอำเภอ มีอำนาจและหน้าที่ ดังนี้
(๑) เป็นผู้ควบคุมอำนวยการศาสนศึกษาภายในเขตอำเภอของตนให้ดำเนินไปโดยเรียบร้อย
(๒) พิจารณาเลือกสรรสำนักเรียน และครูที่ควรได้บำรุงแล้วเสนอต่อผู้อำนวยการศาสนศึกษาประจำจังหวัด เพื่อนำเข้าพิจารณาหรือในที่ประชุมคณะกรรมการสงฆ์จังหวัดนั้น ๆ ภานในเดือนต้นแห่งพรรษา
(๓) รายงานสถานะการศึกษาของสำนักศาสนศึกษาในอำเภอของตนต่อผู้อำนวยการศาสนศึกษาประจำจังหวัดไม่น้อยกว่าปีละ ๒ ครั้ง
(๔) รวบรวมรายงานผลแห่งการสอบไล่ธรรมและบาลีสนามหลวงเสนอต่อผู้อำนวยการศาสนศึกษาประจำจังหวัด
(๕) เป็นที่ปรึษาและอำนวยความสะดวกแก่สำนักศาสนศึกษาในเขตของตน
๓๓. ผู้อำนวยการศาสนศึกษาประจำจังหวัด มีอำนาจและหน้าที่ ดังนี้
(๑) เป็นประธานในที่ประชุมผู้อำนวยการศาสนศึกษาแห่งจังหวัด
(๒) ควบคุมอำนวยการศาสนศึกษาภายในจังหวัดให้ดำเนินไปโดยเรียบร้อย
(๓) เสนอบัญชีตั้งครูสอนปริยัติธรรมตามมติของที่ประชุมคณะกรรมการสงฆ์จังหวัดต่อผู้อำนวยการศาสนศึกษาประจำภาค ภายในเดือนที่ ๒ แห่งพรรษา
(๔) รายงานสถานะการศึกษาของสำนักศาสนศึกษาภายในเขตจังหวัดของตนต่อผู้อำนวยการศาสนศึกษาประจำภาค
(๕) เสนอรายงานผลแห่งการสอบไล่ธรรมและบาลีภายในจังหวัดต่อผู้อำนวยการศาสนศึกษาประจำภาค
(๖) เป็นที่ปรึกษาและอำนวยความสะดวก ในการบริหารงานศาสนศึกษาแก่ผู้อำนวยการศาสนศึกษาประจำอำเภอ
(๗) ทำการอบรมผู้อำนวยการศาสนศึกษาและครูสอนปริยัติธรรม ภายในจังหวัดของตน
๓๔. ผู้อำนวยการศาสนศึกษาประจำภาค มีอำนาจและหน้าที่ ดังนี้
(๑) ตรวจการศาสนศึกษาในภาคให้ดำเนินไปด้วยดี
(๒) พิจารณาให้ความเห็นเกี่ยวแก่การตั้งครูหรือการจ่ายเงินเพื่อการอื่นตามระเบียบนี้ แล้วแจ้งให้กรมการศาสนาทราบภายในพรรษา
(๓) ประมวลรายงานผล แห่งการศึกษาให้กรมการศาสนาทราบทุกปี ตามปกติให้รายงานภายหลังเมื่อได้ทราบผลแห่งการสอบธรรมและบาลีสนามหลวงแล้ว เพื่อกรมการศาสนานำเสนอองค์การศึกษาต่อไป
(๔) เป็นที่ปรึกษาและอำนวยความสะดวกแก่ผู้อำนวยการศาสนศึกษาประจำจังหวัดนั้น ๆ
๓๕. สำหรับจังหวัดพระนครและธนบุรี ให้ผู้อำนวยการศาสนศึกษาประจำอำเภอ ปฏิบัติการนี้ติดต่อกับกรมการศาสนาโดยตรง
๓๖. ให้กรมการศาสนารักษาการให้เป็นไปตามระเบียบนี้ และเพื่อความเรียบร้อยให้มีอำนาจกำหนดแบบบัญชีหรือวิธีปฎิบัติใด ๆ อันจะช่วยให้เป็นความสะดวก แก่การปฎิบัติการตามระเบียบนี้ก็ได้ โดยอนุมัติแห่งองค์การศึกษา
๓๗. เมื่อเห็นสมควร องค์การศึกษาหรือกรมการศาสนาจะจัดส่งเจ้าหน้าที่ไปสังเกตภาวะการศาสนศึกษาในจังหวัดต่าง ๆ ก็ได้ ในกรณีเช่นนี้ ให้ผู้อำนวยการศาสนศึกษาตามท้องที่นั้น ๆ ช่วยเหลือให้ความสะดวกแก่เจ้าหน้าที่ผู้ไปตรวจการตามสมควร.
ระเบียบนี้ ตราไว้ ณ วันที่ ๑๕ มิถุนายน ๒๔๙๑
(ลงนาม) สมเด็จพระวันรัต
สังฆมนตรีว่าการองค์การศึกษา
[1] ลงในแถลงการณ์คณะสงฆ์ เล่ม ๓๖ ภาค ๔ เดือนกรกฎาคม และสิงหาคม พ.ศ. ๒๔๙๑