ระเบียบมหาเถรสมาคม ว่าด้วยกองทุนเผยแผ่พระธรรมในพระพุทธศาสนา ตามพระราชประสงค์ พ.ศ.๒๕๕๑

ระเบียบมหาเถรสมาคม

ว่าด้วยกองทุนเผยแผ่พระธรรมในพระพุทธศาสนา

ตามพระราชประสงค์

พ.ศ.๒๕๕๑[1]

——————

      โดยที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดฯ พระราชทานเงินจำนวน ๗๒ ล้านบาท ที่ธนาคารออมสินได้ทูลเกล้าฯ ถวาย เพื่อทรงใช้สอยตามพระราชอัธยาศัย เนื่องในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ ตั้งเป็นกองทุนเผยแผ่พระธรรมในพระพุทธศาสนา จึงควรมีระเบียบมกาเถรสมาคมเพื่อให้การดำเนินการเป็นไปตามพระราชประสงค์

      อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๕ ตรี และมาตรา ๑๙ แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.๒๕๐๕ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๓๕ มหาเถรสมาคมวางระเบียบไว้ดังนี้

หมวดที่ ๑
บททั่วไป

      ข้อ ๑ ระเบียบนี้เรียกว่า “ระเบียบมหาเถรสมาคม ว่าด้วยกองทุนเผยแผ่พระธรรมในพระพุทธศาสนา ตามพระราชประสงค์ พ.ศ.๒๕๕๑”

      ข้อ ๒ ระเบียบนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในแถลงการณ์คณะสงฆ์เป็นต้นไป

      ข้อ ๓ ในระเบียบนี้

             (๑)   “กองทุน” หมายความว่า กองทุนเผยแผ่พระธรรมในพระพุทธศาสนา ตามพระราชประสงค์

             (๒)   “กรรมการ” หมายความว่า กรรมการบริหารกองทุนเผยแผ่พระธรรมในพระพุทธศาสนา ตามพระราชประสงค์

             (๓)   “ประธานกรรมการ” หมายความว่า ประธานกรรมการบริหาร กองทุนเผยแผ่พระธรรมในพระพุทธศาสนา ตามพระราชประสงค์

            (๔)   “ผู้จัดการกองทุน” หมายความว่า ผู้จัดการกองทุนเผยแผ่พระธรรมในพระพุทธศาสนา ตามพระราชประสงค์

             (๕)   “องค์กรทางพระพุทธศาสนา” หมายความว่า หน่วยงานราชการ หรือรัฐวิสาหกิจ มูลนิธิ สมาคม ชมรม ศูนย์ หรือองค์กรที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่ส่วนราชการรับรองหรือคณะกรรมการบริหารกองทุนเห็นชอบ ซึ่งดำเนินการจัดโครงการหรือกิจกรรมที่เกี่ยวกับการเผยแผ่พระพุทธศาสนา

             (๖)   “สำนักงานกองทุน” หมายความว่า สำนักงานกองทุนเผยแผ่พระธรรมในพระพุทธศาสนา ตามพระราชประสงค์

      ข้อ ๔ ให้เลขาธิการมหาเถรสมาคมรักษาการตามระเบียบนี้

หมวดที่ ๒
วัตถุประสงค์ของกองทุน

      ข้อ ๕ ให้จัดตั้งกองทุนขึ้นที่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ โดยมีวัตถุประสงค์ คือ

             (๑)   เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการเผยแผ่พระธรรมในพระพุทธศาสนาสู่สังคม

             (๒)   เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนโครงการ กิจกรรม การเผยแผ่พระพุทธศาสนา โดยมุ่งเน้นคุณภาพชีวิตที่ดี การอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข ด้วยหลักพุทธธรรม

             (๓)   เพื่อยกย่องเชิดชูเกียรติองค์กร และบุคลากร ที่มีความสามารถในการเผยแผ่พระธรรมในพระพุทธศาสนาได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล  

             (๔)   เพื่อส่งเสริมสนับสนุนและพัฒนาบุคลากรผู้ทำหน้าที่เผยแผ่พระธรรมในพระพุทธศาสนา

             (๕)   เพื่อจัดหาและระดมทุนทุกภาคส่วนสมทบกองทุน เพื่อนำมาใช้ในการเผยแผ่พระธรรมในพระพุทธศาสนา

หมวดที่ ๓
ทุนทรัพย์ ทรัพย์สิน และการได้มาซึ่งทรัพย์สิน

      ข้อ ๖ กองทุนประกอบด้วย

             (๑)   พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดฯ พระราชทานเงินเป็นกองทุน จำนวน ๗๒ ล้านบาท

             (๒)   เงินหรือทรัพย์สินที่ผู้มีจิตศรัทธาบริจาคให้

             (๓)   ดอกผลซึ่งเกิดจากเงินหรือทรัพย์สิน หรือเงินงบประมาณที่รัฐบาลจัดสรรให้

             (๔)   การจัดกิจกรรมเพื่อหารายได้สมทบกองทุน โดยความเห็นชอบของมหาเถรสมาคม

หมวดที่ ๔
คณะกรรมการบริหารกองทุน

      ข้อ ๗ ให้มีคณะกรรมการบริหารกองทุน ประกอบด้วย

             (๑)   กรรมการที่ปรึกษา ซึ่งประธานกรรมการแต่งตั้งตามมติกรรมการบริหารกองทุน โดยความเห็นชอบของมหาเถรสมาคม

             (๒)   ประธานกรรมการ รองประธานกรรมการ กรรมการ กรรมการและเลขานุการ ๑ รูป/คน แต่งตั้งโดยมหาเถรสมาคม

             (๓)   ผู้จัดการกองทุน แต่งตั้งโดยประธานกรรมการ ตามมติกรรมการบริหารกองทุน โดยความเห็นชอบของมหาเถรสมาคม

      ข้อ ๘ คณะกรรมการบริหารกองทุนอยู่ในตำแหน่งคราวละ ๔ ปี เมื่อพ้นจากตำแหน่งแล้วให้รักษาการไปจนกว่าจะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ และอาจได้รับการแต่งตั้งอีกก็ได้ นอกจากพ้นจากตำแหน่งตามวาระแล้ว ให้พ้นจากตำแหน่งเมื่อ

             (๑)   มรณภาพ/ตาย

             (๒)   ลาออก

             (๓)   เป็นบุคคลล้มละลาย

             (๔)   เป็นบุคคลไร้ความสามารถ หรือเสมือนไร้ความสามารถ

             (๕)   ต้องโทษจำคุก โดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก

             (๖)   กรรมการมีมติโดยเสียงไม่น้อยกว่าสามในสี่ของจำนวนกรรมการทั้งหมดที่มีอยู่ให้ออกจากตำแหน่ง

      ข้อ ๙ ถ้ากรรมการบริหารกองทุนว่างลง ให้เลขาธิการมหาเถรสมาคมโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการบิรหารกองทุนนำรายชื่อผู้สมควรจะเป็นกรรมการเสนอมหาเถรสมาคมเพื่อพิจารณาแต่งตั้งแทนตำแหน่งที่ว่าง และให้กรรมการผู้ได้รับการแต่งตั้งแทนอยู่ในตำแหน่งตามวาระของผู้ซึ่งตนแทน

หมวดที่ ๕
อำนาจหน้าที่คณะกรรมการบริหารกองทุน

      ข้อ ๑๐ คณะกรรมการบริหารกองทุน มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้

             (๑)   กำหนดนโยบายและแนวทางการบริหารกองทุน

             (๒)   ควบคุมดูแลการเงินและทรัพย์สินต่าง ๆ ของกองทุน

             (๓)   บริหารงานให้เป็นไปตามมติที่ประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนและวัตถุประสงค์ของกองทุน

             (๔)   ตราระเบียบ ข้อบังคับ เกี่ยวกับการดำเนินงานบริหารกองทุน

             (๕)   แต่งตั้งหรือยกเลิกคณะอนุกรรมการหรือคณะทำงาน เพื่อดำเนินการเฉพาะอย่างของกลุ่ม

             (๖)   อนุมัติงบประมาณให้เป็นไปตามแผนงาน โครงการ หรือกิจกรรมที่ขอรับการอุดหนุนจากกองทุน ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกองทุน

             (๗)   อนุมัติแผนงาน โครงการ หรือกิจกรรมที่จัดขึ้นเพื่อระดมเงินสมบทกองทุน

             (๘)   ติดตามและประเมินผลโครงการหรือกิจจกรรมที่ได้รับการอุดหนุน

             (๙)  ปฏิบัติงานอื่นใดที่เกี่ยวข้องการงานกองทุน

หมวดที่ ๖
การประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุน

      ข้อ ๑๑ การประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุน ต้องมีกรรการเข้าประชุมอย่างน้อยกึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมด จึงจะเป็นองค์ประชุม ถ้าประธานกรรมการไม่มาหรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้รองประธานกรรมการทำหน้าที่แทน ถ้ารองประธานกรรมการไม่มาหรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้กรรมการที่มาประชุมเลือกกรรมการรูป/คนหนึ่งขึ้นทำหน้าที่เป็นประธานที่ประชุม

      ข้อ ๑๒ ในการลงคะแนนเสียงการประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนหรืออนุกรรมการ ให้ถือเอาเสียงข้างมากเป็นเกณฑ์ตัดสิน ในกรณีที่มีเสียงเท่ากันให้ประธานที่ประชุมเป็นผู้ชี้ขาด

      ข้อ ๑๓ ในการประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุน หรือคณะอนุกรรมการ ประธานกรรมการหรือประธานที่ประชุม มีอำนาจเชิญหรืออนุญาตให้บุคคลที่เห็นสมควรเข้าร่วมประชุมในฐานะผู้รับเชิญหรือผู้สังเกตการณ์ เพื่อให้คำปรึกษาหรือเพื่อชี้แจงต่อที่ประชุมได้

หมวดที่ ๗
การบริหารกองทุน

      ข้อ ๑๔ ให้สำนักงานกองทุนตั้งอยู่ที่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ผู้จัดการกองทุนเป็นผู้บังคับบัญชา มีเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานในสำนักงาน ตามที่ผู้อำนวนการหรือสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติแต่งตั้ง ให้มีเจ้าหน้าที่ในการบริหารงานทั่วไปและประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

      ข้อ ๑๕ ให้สำนักงานกองทุนมีหน้าที่ดังต่อไปนี้

             (๑)   บริหารงานทั่วไป

             (๒)   ดำเนินงานการเงิน – การบัญชี ดังนี้

                   ๒.๑ ดำเนินการเกี่ยวกับการรับ – จ่าย การเก็บรักษาเงินและทรัพย์สินของกองทุน

                   ๒.๒      ควบคุมดูแลการใช้เงินให้เป็นไปตามแผนงานโครงการหรือกิจกรรมที่ได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการบริหารกองทุน โดยความเห็นชอบของมหาเถรสมาคม

                   ๒.๓      จัดทำรายงานการเงินและบัญชีกองทุน

             (๓)   จัดทำแผนงานการระดมทุน และแผนประมาณการรับ – จ่าย ประจำปี เสนอคณะกรรมการบริหารกองทุนเพื่อให้ความเห็นชอบ ทั้งนี้ การประมาณการใช้จ่ายเงินต้องคำนึงถึงความมั่นคงของสถานะทางการเงินในบัญชีเงินบริหารกองทุน

             (๔)   รายงานผลการดำเนินงานให้คณะกรรมการบริหารกองทุนทราบ

             (๕)   งานอื่น ๆ ที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการบริหารกองทุน

      ข้อ ๑๖ หน่วยงานหรือองค์กรทางพระพุทธศาสนาที่ดำเนินงานโครงการ หรือการจัดกิจกรรมเพื่อเผยแผ่พระธรรมในพระพุทธศาสนา และมีความประสงค์จะขอรับการอุดหนุนจากกองทุน สามารถเสนอรายละเอียดโครงการหรือกิจจกรรมให้สำนักงานกองทุน เพื่อเสนอคณธกรรมการบริหารกองทุนพิจารณาอนุมัติ โดยความเห็นชอบของมหาเถรสมาคม สำหรับรายละเอียดของโครงการที่จะรับการอุดหนุดให้เป็นไปตามที่สำนักงานกองทุนกำหนด

      ข้อ ๑๗ ให้สำนักงานกองทุนรายงานผลการดำเนินงานให้คณะกรรมการบริหารกองทุนพิจารณา ปีละสองครั้ง ดังนี้

             (๑)   ครั้งที่ ๑ รายงานผลการดำเนินงานระหว่างเดือนตุลาคม – มีนาคม

             (๒)   ครั้งที่ ๒ รายงานผลการดำเนินงานระหว่างเดือนเมษายน – กันยายน

      เมื่อคณะกรรมการพิจารณาแล้ว ให้นำเสนอมหาเถรสมาคมทราบ

หมวดที่ ๘
การเงินและการบัญชี

      ข้อ ๑๘ ให้กองทุนเปิดบัญชีเงินฝากไว้กับธนาคารออมสิน สำนักงานใหญ่ โดยแยกเป็นสองบัญชี และใช้ชื่อบัญชี ดังนี้

             (๑)   บัญชีเงินกองทุน ชื่อบัญชี “เงินกองทุนเผยแผ่พระธรรมในพระพุทธศาสนา ตามพระราชประสงค์” ให้นำเงินพระราชทาน จำนวน ๗๒ ล้านบาท ฝากไว้ในบัญชีนี้ และให้เบิกถอนได้เฉพาะดอกผลเท่านั้น

             (๒)   บัญชีเงินบริหารกองทุน ชื่อบัญชี “เงินบริหารกองทุนเผยแผ่พระธรรมในพระพุทธศาสนา ตามพระราชประสงค์”

      ข้อ ๑๙ การระดมทุนและนำเงินเข้าสมทบกองทุน สามารถกระทำได้โดยการนำเงินเข้าสมทบในบัญชีเงินกองทุน เว้นแต่วัตถุประสงค์ของการระดมทุนหรือการบริจาคกำหนดให้นำเงินเข้าสมทบในบัญชีเงินบริหารกองทุน

      ข้อ ๒๐ การเบิกถอนเงินจากบัญชีเงินฝากให้ดำเนินการโดยมีเงื่อนไขดังนี้

             (๒)   บัญชีเงินตามข้อ ๑๘ (๑) และ (๒) ให้ประธานกรรมการบริหารกองทุนและบุคคลอีก ๒ คน คือ ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติหรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย หรือผู้อำนวยการธนาคารออมสินหรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย และผู้จัดการกองทุนหรือเลขานุการคณะกรรมการบริหารกองทุน เป็นผู้มีอำนาจลงนามร่วมกันเบิกถอนเงินจากบัญชี

      ข้อ ๒๑ เงินบริหารกองทุนให้ใช้จ่ายเพื่อการบริหารและจัดการกองทุนดังนี้

             (๑)   ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ตามแผนงานและโครงการหรือกิจกรรมที่ได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการบริหารกองทุน

             (๒)   ค่าตอบแทนคณะกรรมการบริหารกองทุนผู้จัดการกองทุนและเจ้าหน้าที่สำนักงานกองทุน

             (๓)   ค่าตอบแทนใช้สอนแลวัสดุในการบริหารสำนักงานกองทุน

      การจ่ายเงินตาม (๑) ให้จ่ายเป็นเงินอุดหนุน

      การจ่ายเงินตาม (๒) ให้เป็นไปตามข้อบังคับที่คณะกรรมการบริหารกองทุนกำหนดขึ้น

      การจ่ายเงินตาม (๓) ให้เป็นไปตามระเบียบทางราชการโดยอนุโลม

      ให้ผู้จัดการกองทุนกำหนดค่าตอบแทนแก่คณะกรรมการบริหารกองทุน

      ข้อ ๒๒ ให้ผู้จัดการกองทุนเป็นผู้มีอำนาจในการสั่งจ่ายเงินจากบัญชีบริหารกองทุน ภายใต้บังคับข้อ ๒๐ และข้อ ๒๑

      ข้อ ๒๓ ให้สำนักงานกองทุนจัดทำบัญชีตามที่คณะกรรมการบริหารกำหนด การปิดบัญชีให้กระทำปีละครั้ง ตามรอบปีงบประมาณ และให้จัดทำงบการเงินกองทุนเสนอคณะกรรมการบริหารภายในหกสิบวันนับแต่วันปิดบัญชีของทุกปี

หมวดที่ ๙
การตรวจสอบ

      ข้อ ๒๔ ให้มีผู้สอบบัญชีกองทุน ซึ่งคณะกรรมการบริหารกองทุนเห็นชอบ และแต่งตั้งจากบุคคลที่มิใช่กรรมการกองทุนหรือเจ้าหน้าที่อื่นของกองทุน โดยจะให้ดำรงตำแหน่งกิตติมศักดิ์ หรือได้รับค่าตอบแทนอย่างไร ตามที่คณะกรรมการบริหารกองทุนกำหนด ทั้งนี้ ให้ตรวจสอบบัญชีปีละ ๒ ครั้ง และให้รายงานผลการตรวจสอบให้คณะกรรมการบริหารกองทุนทราบ

หมวดที่ ๑๐
เบ็ดเตล็ด

      ข้อ ๒๕ ในกรณีที่มีปัญหาในการปฏิบัติตามระเบียบนี้ ให้คณะกรรมการบริหารกองทุนเป็นผู้วินิจฉัย

      ข้อ ๒๖ ให้นำเงินดอกผลที่เกิดจากเงินที่ทรงพระกรุณาโปรดฯ พระราชทาน จนถึง ณ วันที่ประกาศใช้ระเบียบนี้ ให้นำเข้าบัญชีเงินบริหารกองทุนตามข้อ ๑๘ (๑)

      ข้อ ๒๗ วิธีปฏิบัติอื่นใดที่มิได้กำหนดไว้ในระเบียบนี้ ให้ถือปฏิบัติตามระเบียบของทางราชการโดยอนุโลม

      ประกาศ ณ วันที่ ๒๕ มกราคม พ.ศ.๒๕๕๑

(สมเด็จพระพุฒาจารย์)

ประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช

ประธานกรรมการมหาเถรสมาคม


[1]  ประกาศในแถลงการณ์คณะสงฆ์ เล่ม ๙๖ ตอนที่ ๑  :  ๒๕ มกราคม ๒๕๕๑

Views: 30