ระเบียบมหาเถรสมาคม ว่าด้วยการเผยแผ่พระพุทธศาสนา พ.ศ.๒๕๕๐

ระเบียบมหาเถรสมาคม

ว่าด้วยการเผยแผ่พระพุทธศาสนา

พ.ศ.๒๕๕๐[1]

———————-

      อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๕ ตรี และมาตรา ๑๙ แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.๒๕๐๕ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๓๕ มหาเถรสมาคมวางระเบียบไว้ดังต่อไปนี้

      ข้อ ๑ ระเบียบมหาเถรสมาคมนี้เรียกว่า “ระเบียบมหาเถรสมาคม ว่าด้วยการเผยแผ่พระพุทธศานา พ.ศ.๒๕๕๐”

      ข้อ ๒ ระเบียบนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในแถลงการณ์คณะสงฆ์เป็นต้นไป

      ข้อ ๓ ตั้งแต่วันใช้ระเบียบนี้ ให้ยกเลิกบรรดาระเบียบ ข้อบังคับ หรือคำสั่งอื่นใดของมหาเถรสมาคมและสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ในส่วนที่ระเบียบนี้กำหนดไว้แล้ว หรือขัดแย้งกับระเบียบนี้

หมวด ๑
บททั่วไป

      ข้อ ๔ ในระเบียบนี้

             ๔.๑ ศูนย์การเผยแผ่พระพุทธศาสนาแห่งชาติ หมายถึง สำนักงานที่ทำหน้าที่บริหารจัดการกิจการเผยแผ่พระพุทธศาสนา และเป็นสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการ

             ๔.๒ ศูนย์การเผยแผ่พระพุทธสนาประจำจังหวัด หมายถึง สำนักงานที่ทำหน้าที่บริหารจัดการกิจการเผยแผ่พระพุทธศาสนา ประจำกรุงเทพมหานคร และจังหวัดในส่วนภูมิภาค และเป็นสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการจังหวัด

             ๔.๓ บุคลากรเผยแผ่พระพุทธศาสนา หมายถึง พระสังฆาธิการทุกระดับชั้น เลขานุการเจ้าคณะจังหวัด เลขานุการเจ้าคณะอำเภอ พระธรรมทูต พระนักเทศน์ พระวิปัสสนาจารย์ พระจริยานิเทศก์ พระปริยัตินิเทศ ครูสอนพระปริยัติธรรมแผนกธรรม – บาลี ครูสอนปริยัติธรรมแผนกสามัญศึกษา และครูพระสอนศีลธรรมในสถานศึกษา

             ๔.๔ คณะกรรมการ หมายถึง คณะกรรมการการเผยแผ่พระพุทธศาสนาแห่งชาติ และคณะกรรมการการเผยแผ่พระพุทธศาสนาประจำจังหวัด

      ข้อ ๕ ให้มีศูนย์การเผยแผ่พระพุทธศาสนาแห่งชาติ

      ศูนย์การเผยแผ่พระพุทธศาสนาแห่งชาติมีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดนโยบายและแผนแม่บทการเผยแผ่พระพุทธศาสนา สนับสนุนส่งเสริมการพัฒนาบุคลาการการเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้มีอุดมการณ์ ความรู้ ความสามารถ ทักษะ และวิธีการในการนำหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาไปอบรมสั่งสอนประชาชนให้นำไปประยุกต์ใช้ในการประกอบสัมมาชีพและดำเนินชีวิตอย่างมีความสุขสอดคล้องกับแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง

      ให้ศูนย์การเผยแผ่พระพุทธศาสนาแห่งชาติมีสำนักงานตั้งอยู่ที่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ

      ข้อ ๖ ให้มีศูนย์การเผยแผ่พระพุทธศาสนาประจำจังหวัด

      ศูนย์การเผยแผ่พระพุทธศาสนาประจำจังหวัดมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นศูนย์ประสานงานกลางประจำจังหวัด อำนวยความสะดวก เป็นที่ปรึกษา พัฒนาบุคลากรการเผยแผ่พระพุทธศาสนา ให้การอุปถัมภ์ และปฏิบัติตามนโยบาย ข้อกำหนด ข้อบังคับ วัตถุประสงค์ และอื่น ๆ ตามที่ศูนย์การเผยแผ่พระพุทธศาสนาแห่งชาติกำหนดหรือมอบหมาย

      ให้ศูนย์การเผยแผ่พระพุทธศาสนาประจำจังหวัดมีสำนักงานตั้งอยู่ที่สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัด 

      ข้อ ๗ ให้มีคณะกรรมการการเผยแผ่พระพุทธศาสนาแห่งชาติ ประกอบด้วย

             ๗.๑ กรรมการมหาเถรสมาคม ๓ รูป

             ๗.๒ แม่กองงานพระธรรมทูต

             ๗.๓ เจ้าคณะภาค ๕ รูป จาก ๕ หน

             ๗.๔ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

             ๗.๕ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย

             ๗.๖ ปลัดกระทรวงมหาดไทย

             ๗.๗ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ

             ๗.๘ ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม

             ๗.๙ ปลัดกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

             ๗.๑๐ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ

             ๗.๑๑ อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์

             ๗.๑๒ ผู้อำนวยการสถานีวิทยุโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจ (ทรท)

             ๗.๑๓ อธิบดีกรมการศาสนา

             ๗.๑๔ ผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน ๕ รูป/คน

             ๗.๑๕ ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เป็นกรรมการและเลขานุการ และให้มีกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ จำนวน ๕ คน

      ข้อ ๘ ให้มีคณะกรรมการการเผยแผ่พระพุทธศาสนาประจำจังหวัด ประกอบด้วย

             ๘.๑ เจ้าคณะภาคและรองเจ้าคณะภาค ในเขตการปกครองคณะสงฆ์จังหวัดนั้น เป็นกรรมการที่ปรึกษา

             ๘.๒ เจ้าคณะจังหวัดหรือผู้ที่เจ้าคณะจังหวัดมอบหมาย เป็นประธานกรรมการ

             ๘.๓ รองเจ้าคณะจังหวัด เป็นรองประธานกรรมการ

             ๘.๔ ผู้แทนเจ้าคณะจังหวัด เจ้าคณะอำเภอ เจ้าคณะตำบล เจ้าอาวาส และเลขานุการ จำนวน ๕ รูป แต่ไม่เกิน ๗ รูป

             ๘.๕ ผู้แทนบุคลากรการเผยแผ่พระพุทธศาสนา ๘ รูป

             ๘.๖ หัวหน้าส่วนราชการ และผู้นำท้องถิ่น จำนวน ๕ คน

             ๘.๗ ผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน ๕ รูป/คน

             ๘.๘ ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัด เป็นกรรมการและเลขานุการ และให้มีกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ จำนวน ๕ คน

      ข้อ ๙ กรรมการที่ปรึกษา ประธานกรรมการ รองประธานกรรมการ กรรมการ กรรมการและเลขานุการ กรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ แต่งตั้งโดยมหาเถรสมาคม และให้อยู่ในตำแหน่งได้คราวละ ๔ ปี เมื่อพ้นจากตำแหน่ง ให้รักษาการไปจนกว่าจะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ และอาจได้รับการแต่งตั้งอีกก็ได้

หมวด ๒
อำนาจหน้าที่

      ข้อ ๑๐ คณะกรรมการเผยแผ่พระพุทธศาสนาแห่งชาติมีอำนาจหน้าที่ ดังนี้

             ๑๐.๑ บริหารศูนย์การเผยแผ่พระพุทธศาสนาแห่งชาติ

             ๑๐.๒ กำหนดนโยบาย และแผนแม่บทการเผยแผ่พระพุทธศาสนา

             ๑๐.๓ กำกับดูแลและสนับสนุนส่งเสริมให้ศูนย์การเผยแผ่พระพุทธศาสนาประจำจังหวัดได้ดำเนินกิจการตามนโยบายและแผนแม่บท

             ๑๐.๔ สนับสนุนส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรการเผยแผ่พระพุทธศาสนา

             ๑๐.๕ ให้คำปรึกษาและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการเผยแผ่แก่บุคลากรการเผยแผ่พระพุทธศาสนา

             ๑๐.๖ พิจารณาให้ความเห็นชอบแผนงานและงบประมาณการเผยแผ่พระพุทธศาสนา

             ๑๐.๗ ออกประกาศ มติ คำสั่ง ระเบียบ กฎอื่น ๆ เพื่อการพัฒนาบุคลากรการเผยแผ่พระพุทธศาสนา และการส่งเสริมสนับสนุนการทำงานของคณะกรรมการ

      ข้อ ๑๑ ศูนย์การเผยแผ่พระพุทธศาสนาแห่งชาติมีหน้าที่ดังนี้

             ๑๑.๑ เป็นสำนักงานและศูนย์ประสานงานบุคลากรการเผยแผ่พระพุทธศาสนา

             ๑๑.๒ จัดทำนโยบาย ข้อกำหนด ข้อบังคับ โครงการ เป้าหมาย การวางแผนงาน แผนปฏิบัติงาน การเผยแผ่พระพุทธศาสนา ตามที่คณะกรรมการเผยแผ่พระพุทธศาสนาแห่งชาติกำหนด

             ๑๑.๓ สนับสนุนส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรการเผยแผ่พระพุทธศาสนา

             ๑๑.๔ จัดทำงบประมาณสนับสนุนกิจกรรมของศูนย์เผยแผ่พระพุทธศาสนาประจำจังหวัด

             ๑๑.๕ จัดทำรายงายผลการเผยแผ่พระพุทธศาสนาประจำปีเสนอมหาเถรสมาคม

             ๑๑.๖ ดำเนินงานเกี่ยวกับการเป็นศูนย์รวบรวมข้อมูลสารสนเทศ

             ๑๑.๗ ดำเนินการให้มีการผลิตสื่อการเรียนการสอน ตำราวิชาการ โสตทัศนศึกษา

             ๑๑.๘ ส่งเสริมการจัดตั้งสถานีวิทยุโทรทัศน์เพื่อการเผยแผ่พระพุทธศาสนา

             ๑๑.๙ สนับสนุนส่งเสริมตลอดจนดำเนินการศึกษาจัดประชุมสัมมนาด้านพระพุทธศาสนา

             ๑๑.๑๐ จัดตั้งกองทุนเพื่อการเผยแผ่พระพุทธศาสนา

             ๑๑.๑๑ เสนอของบประมาณสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน

             ๑๑.๑๒ เรื่องอื่น ๆ ที่ได้รับมอบหมายจากมหาเถรสมาคม

      ข้อ ๑๒ คณะกรรมการเผยแผ่พระพุทธศาสราประจำจังหวัดมีอำนาจและหน้าที่ภายในพื่นที่ของจังหวัดดังนี้

             ๑๒.๑ บริหารศูนย์การเผยแผ่พระพุทธศาสนาประจำจังหวัด

             ๑๒.๒ ปฏิบัติตามนโยบายและแผนแม่บทการเผยแผ่พระพุทธศาสนา

             ๑๒.๓ กำกับบุคลากรเผยแผ่พระพุทธศาสนาในจังหวัดให้ดำเนินกิจกรรมอย่างมีเอกภาพและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน

             ๑๒.๔ ดำเนินการพัฒนาบุคลากรเผยแผ่พระพุทธศาสนาจังหวัด

             ๑๒.๕ ให้คำปรึกษาและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการเผยแผ่ แก่บุคลากรการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในจังหวัด

             ๑๒.๖ พิจารณาโครงการและเสนอแนะให้ความเห็นชอบงบประมาณต่าง ๆ เกี่ยวกับการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในจังหวัด และเสนอขออนุมัติจากคณะกรรมการเผยแผ่พระพุทธศาสนาแห่งชาติ

             ๑๒.๗ พิจารณาให้ความเห็นชอบการจัดทำแผนปฏิบัติงานและงบประมาณประจำปีของจังหวัด

             ๑๒.๘ เสนอของบประมาณสนับสนุนจากหน่วยงานของรัฐและเอกชน

             ๑๒.๙ กำกับจรรยาบรรณบุคลากรการเผยแผ่พระพุทธศาสนา

      ข้อ ๑๓ ศูนย์การเผยแผ่พระพุทธศาสนาประจำจังหวัดมีหน้าที่ดังนี้

             ๑๓.๑ เป็นศูนย์กลางและประสานงานบุคลากรการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในจังหวัด

             ๑๓.๒ ปฏิบัติตามนโยบาย ข้อกำหนด ข้อบังคับ วัตถุประสงค์ และอื่น ๆ ตามที่ศูนย์การเผยแผ่พระพุทธศาสนาแห่งชาติกำหนดหรือมอบหมาย

             ๑๓.๓ จัดทำ รวบรวม บัญชีรายชื่อ ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ บุคลากรการเผยแผ่พระพุทธศาสนา จัดหาวัสดุอุปกรณ์ เครื่องมือประกอบการเรียนการสอนและการเผยแผ่ประจำศูนย์การเผยแผ่พระพุทธศานาแห่งชาติ

             ๑๓.๔ อำนวยความสะดวกและเป็นที่ปรึกษาในการดำเนินงานเผยแผ่พระพุทธศาสนา

             ๑๓.๕ ส่งเสริมสนับสนุนพัฒนาบุคลากรการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในจังหวัด

             ๑๓.๖ ติดตามประเมินผลบุคลากรการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในจังหวัด

            ๑๓.๗ จัดทำรายงานผลการดำเนินงานการเผยแผ่พระพุทธศาสนาประจำปีเสนอศูนย์การเผยแผ่พระพุทธศาสนาแห่งชาติ

             ๑๓.๘ จัดทำจัดหางบประมาณสนับสนุนให้การอุปถัมภ์กิจกรรมและบุคลากรเผยแผ่พระพุทธศาสนา

หมวด ๓
การพ้นจากตำแหน่ง

      ข้อ ๑๔ การพ้นจากตำแหน่งคณะกรรมการการเผยแผ่พระพุทธศาสนาแห่งชาติและจังหวัด

             ๑๔.๑ มรณภาพ ลาสิกขา หรือตาย

             ๑๔.๒ ลาออก

             ๑๔.๓ หมดวาระการดำรงตำแหน่งตามระเบียบที่กำหนด

             ๑๔.๔ ให้ออกโดยผู้มีอำนาจแต่งตั้ง

หมวด ๔
การประชุม

      ข้อ ๑๕ การประชุมคณะกรรมการ มี ๒ กรณี

             ๑๕.๑ การประชุมสามัญ ให้ประชุม ๒ เดือน ต่อครั้ง

             ๑๕.๒ การประชุมวิสามัญ ได้แก่ การประชุมนอกจากการประชุมสามัญ เพื่อพิจารณาดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งตามอำนาจหน้าที่

             ๑๕.๓ การประชุมทุกครั้งให้กรรมการและเลขานุการศูนย์การเผยแผ่พระพุทธศาสนาส่งระเบียบวาระให้คณะกรรมการทราบก่อนการประชุมอย่างน้อย ๓ วัน

             ๑๕.๔ การประชุมคณะกรรมการ ต้องมีคณะกรรมการมาประชุมไม่ต่อกว่ากึ่งหนึ่ง่ของคณะกรรมการทั้งหมดจึงจะครบองค์ประชุม ถ้าประธานกรรมการไม่มีหรือไม่อยู่ในที่ประชุม ให้รองประธานกรรมการเป็นประธานที่ประชุม ถ้าประธานกรรมการ รองประธานกรรมการ ไม่มาหรือไม่อยู่ ให้ที่ประชุมเลือกคณะกรรมการผู้หนึ่งเป็นประธานที่ประชุม การประชุมวินิจฉัยชี้ขาดของที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมากในการลงคะแนนเสียง ถ้าคะแนนเสียงเท่ากันให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งเสียงเป็นเสียงชี้ขาด

หมวด ๕
กองทุนเพื่อการเผยแผ่พระพุทธศาสนา

      ข้อ ๑๖ ให้จัดตั้งกองทุนเพื่อการเผยแผ่พระพุทธศาสนาเพื่อเพิ่มศักยภาพและการพัฒนาบุคลากรกาเผยแผ่พระพุทธศาสนา

      ข้อ ๑๗ ให้คณะกรรมการเผยแผ่พระพุทธศาสนาแห่งชาติออกกฎระเบียบ ว่าด้วยการบริหาร และจัดการเงินกองทุนเพื่อการเผยแผ่พระพุทธศาสนา

      ข้อ ๑๘ ให้ศูนย์การเผยแผ่พระพุทธศาสนาประจำจังหวัดเป็นที่ตั้งกอบทุนเพื่อการเผยแผ่พระพุทธศาสนาประจำจังหวัด

หมวด ๖
บทเบ็ดเตล็ด

      ข้อ ๑๙ ศูนย์การเผยแผ่พระพุทธศาสนาแห่งชาติและศูนย์การเผยแผ่พระพุทธศาสนาประจำจังหวัดรับเงินบริจาคอุดหนุนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน และผู้มีจิตศรัทธาบริจาค เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของศูนย์การเผยแผ่พระพุทธศาสนาได้

      ประกาศ ณ วันที่ ๑๔ เดือนกันยายน พุทธศักราช ๒๕๕๐

(สมเด็จพระพุฒาจารย์)

ประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช

ประธานกรรมการมหาเถรสมาคม


[1]  ประกาศในแถลงการณ์คณะสงฆ์ เล่ม ๙๕ ตอนที่ ๙  :  ๒๕ กันยายน ๒๕๕๐