ระเบียบคณะสงฆ์
เรื่องห้ามบรรพชิตรับบุตรบุญธรรม[1]
—————–
ด้วยกรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม นำเรื่องภิกษุขอจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมเสนอคณะสังฆมนตรีพิจารณา คณะสังฆมนตรีพิจารณาแล้ว เห็นว่า บรรพชิตได้ยอมสละบุตร ภรรยาและทรัพย์สมบัติออกจากบ้านเรือนมาบวชในพระธรรมวินัยของพระพุทธเจ้า ดำรงสมณเพศที่ไม่มีบ้านเรือน ตั้งแต่วันบวชมาแล้ว จะต้องปฏิบัติตามอนาคาริยวินัยโดยตรง จึงมีเพศต่างจากฆราวาสตามสมณวิสัย ฆราวาสเป็นผู้ครองเรือน มีบุตรภรรยาได้ตามโลกิยวิสัย พระพุทธเจ้าผู้อนาคาริกรัตน์ ทรงเว้นจากการรับข้าวเปลือก เนื้อดิบ สตรี กุมาร ทาสหญิง ทาสชาย ฯลฯ และบรรพชิตผู้บวชในพระธรรมวินัยนี้ มีชื่อว่า สมณศากยบุตร โดยพระพุทธบัญญัติ เมื่อพระพุทธเจ้าผู้เป็นสังฆบิดาไม่ทรงรับสตรี กุมาร ทาสหญิง ทาสชายเช่นนี้แล้ว บรรพชิตผู้เป็นสมณศากยบุตร จึงไม่พึงรับบุตรบุญธรรม ซึ่งเป็นการผิดสมณวิสัยและสมณเพศที่ดำรงอยู่ เพราะผู้บรรพชาอุปสมบท จะต้องศึกษาและปฏิบัติตามพระวินัยที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงบัญญัติไว้
คณะสังฆมนตรีจึงมีมติให้ห้ามบรรพชิตผู้บวชในพระธรรมวินัยนี้ มิให้ขอจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรม
ประกาศ ณ วันที่ ๑๘ เดือนธันวาคม ๒๔๙๖
(ลงนาม) สมเด็จพระวันรัต
สังฆนายก
[1]ลงในแถลงการณ์คณะสงฆ์ เล่ม ๔๒ ภาค ๑ : ๒๕ มกราคม ๒๔๙๗