ระเบียบกรมการศาสนา
ว่าด้วยการกราบทูลอาราธนาสมเด็จพระสังฆราช
พ.ศ.๒๕๒๓*
———————–
เพื่อให้การกราบทูลอาราธนาสมเด็จพระสังฆราชได้ดำเนินไปด้วยความเรียบร้อย สมเจตนาของทางราชการ กรมการศาสนาจึงวางระเบียบไว้ ดังต่อไปนี้
ข้อ ๑ ระเบียบนี้เรียกว่า “ระเบียบกรมการศาสนา ว่าด้วยการกราบทูลอาราธนาสมเด็จพระสังฆราช พ.ศ.๒๕๒๓”
ข้อ ๒ ให้ใช้ระเบียบนี้ตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศเป็นต้นไป
ข้อ ๓ ตั้งแต่วันใช้ระเบียบนี้ ให้ยกเลิกคำแนะนำอื่นใดที่กรมการศาสนาได้ประกาศใช้ก่อนออกระเบียบนี้ หรือซึ่งขัดหรือแย้งกับระเบียบนี้
ข้อ ๔ วัดที่สมควรขอกราบทูลอาราธนาสมเด็จพระสังฆราชต้องมีลักษณะทั่ว ๆ ไป ดังนี้
(๑) เป็นวัดที่มีเสนาสนะหรือปูชนียสถานที่ได้รับการบูรณะปฏิสังขรณ์เป็นระเบียบเรียบร้อย และเป็นหลักฐานมั่นคง หรือมีการพัฒนาวัดเป็นระเบียบสวยงาม
(๒) ที่ดินที่ตั้งวัดมีบริเวณกว้างพอสมควร ไม่คับแคบเกินไป มีความปลอดภัยและการคมนาคมสะดวก
(๓) ประชาชนผู้บำรุงวัดมีความพร้อมเพรียงสมานฉันท์ ให้การสนับสนุนแก่วัดเป็นอย่างดี
(๔) การปกครองพระภิกษุสามเณรภายในวัดเป็นระเบียบเรียบร้อยตามธรรมวินัย กฎหมาย กฎ ระเบียบ และคำสั่งมหาเถรสมาคม มีการจัดการศาสนศึกษา การศึกษาสงเคราะห์ การเผยแผ่พระพุทธศาสนา การสาธารณูปการ และการสาธารณสงเคราะห์ ตามระเบียบแบบแผนของคณะสงฆ์เป็นอย่างดี
(๕) เจ้าอาวาสมีเกียรติประวัติ คุณสมบัติ และสมบูรณ์ด้วยสมณสารูป เป็นที่นิยมและเคารพนับถือของประชาชนทั่วไป
(๖) เป็นวัดที่ถูกต้องตามกฎหมาย
ข้อ ๕ หน่วยงานราชการ องค์การ บริษัท ห้างร้าน สมาคม มูลนิธิ และบุคคลที่มีความประสงค์จะกราบทูลอาราธนา ให้อยู่ในดุลพินิจของผู้ว่าราชการจังหวัดนั้น ๆ เป็นผู้พิจารณา
ข้อ ๖ บุคคลที่จะขอกราบทูลอาราธนาสมเด็จพระสังฆราช ต้องมีคุณสมบัติทั่วไป ดังนี้
(๑) เป็นผู้เลื่อมใสในพระพุทธศาสนา และการปกครองในระบอบประชาธิปไตย
(๒) ไม่เป็นผู้บกพร่องในศีลธรรมอันดี
(๓) ไม่เป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัว หรือเป็นบุคคลล้มละลาย
(๔) ไม่เป็นผู้ไร้ความสามารถ หรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ
ข้อ ๗ วัด หน่วยงานราชการ องค์การ บริษัท ห้างร้าน สมาคม มูลนิธิ ที่จะขอกราบทูลอาราธนาสมเด็จพระสังฆณาช ต้องเป็นนิติบุคคลอันถูกต้องตามกฎหมาย
ข้อ ๘ การเสด็จปฏิบัติศาสนกิจสนองศรัทธา ผู้กราบทูลอาราธนาสมเด็จพระสังฆราช แยกได้ ๓ กรณี คือ
(๑) ปฏิบัติศาสนกิจในเขตกรุงเทพมหานคร
(๒) ปฏิบัติศาสนกิจในต่างจังหวัด
(๓) ปฏิบัติศาสนกิจในต่างประเทศ
การเสด็จทั้ง ๓ กรณี สมเด็จพระสังฆราชจักต้องได้รับการถวายอารักขาและอำนวยความสะดวกให้สมพระเกียรติ
ข้อ ๙ ผู้ใดประสงค์จะกราบทูลอาราธนาสมเด็จพระสังฆราชเสด็จปฏิบัติศาสนกิจในเขตกรุงเทพมหานคร ให้ติดต่อกับสำนักเลขานุการสมเด็จพระสังฆราช เพื่อนำความขึ้นกราบทูลต่อไป
ข้อ ๑๐ ผู้ใดประสงค์กราบทูลอาราธนาสมเด็จพระสังฆราชเสด็จปฏิบัติศาสนกิจในต่างจังหวัด ถ้าเป็นฝ่ายศาสนจักร ต้องเสนอรายงานต่อเจ้าคณะตามลำดับจนถึงเจ้าคณะจังหวัด และให้เจ้าคณะจังหวัดทำรายงานผ่านผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทำหนังสือกราบทูลอาราธนาผ่านสำนักเลขาธิการมหาเถรสมาคม ถ้าเป็นฝ่ายราชอาณาจักร ต้องผ่านผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อทำหนังสือกราบทูลอาราธนาผ่านสำนักเลขาธิการมหาเถรสมาคม และทั้ง ๒ กรณี ให้ผ่านสำนักเลขาธิการมหาเถรสมาคมล่วงหน้าอย่างน้อย ๓๐ วัน เพื่อสำนักเลขาธิการมหาเถรสมาคมนำความกราบทูลสมเด็จพระสังฆราชวินิจฉัยต่อไป เมื่อเลขาธิการมหาเถรสมาคมตอบยืนยันแล้ว การเสด็จของสมเด็จพระสังฆราชจึงจะเป็นอันแน่นอน
ข้อ ๑๑ ผู้ใดประสงฆ์จะกราบทูลอาราธนาสมเด็จพระสังฆราชเสด็จปฏิบัติศาสนกิจในต่างประเทศ ให้ทำหนังสือขอกราบทูลผ่านสำนักเลขาธิการมหาเถรสมาคม และสำนักเลขานุการสมเด็จพระสังฆราชพร้อมกัน เพื่อการประสานงานและการวินิจฉัยร่วมกัน
ข้อ ๑๒ คำขอกราบทูลอาราธนาใด อันส่อไปในทางที่ทำให้เสื่อมเสียแก่พระเกียรติ เป็นการขัดต่อพระธรรมวินัย กฎหมาย กฎ ระเบียบ คำสั่ง ประเพณี ศาสนพิธี หรือเป็นการไม่สมควรประการใด สำนักเลขาธิการมหาเถรสมาคม หรือสำนักเลขานุการสมเด็จพระสังฆราชอาจกราบทูลเพื่องดเสด็จก็ได้
ข้อ ๑๓ ในกรณีที่สมเด็จพระสังฆราชมีพระประสงค์ที่จะเสด็จไปปฏิบัติศาสนกิจส่วนพระองค์ เลขานุการสมเด็จพระสังฆราช จะได้มีหนังสือแจ้งมายังสำนักเลขาธิการมหาเถรสมาคมโดยตรง เพื่อให้แจ้งไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป
ข้อ ๑๔ ผู้กราบทูลอาราธนาจักต้องเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการจัดพาหนะและค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ในการเสด็จเกี่ยวกับการนี้ทั้งหมด ตลอดจนอำนวยความสะดวกในด้านต่าง ๆ
ข้อ ๑๕ เมื่อสำนักเลขาธิการมหาเถรสมาคมได้รับหนังสือขอกราบทูลอาราธนา หากเห็นว่ามีความจำเป็นอาจสั่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบยังสถานที่นั้นอีกทางหนึ่ง ก่อนที่จะนำความขึ้นกราบทูลก็ได้
ข้อ ๑๖ ให้สำนักงานเลขาธิการมหาเถรสมาคมรักษาการให้เป็นไปตามระเบียบนี้.
ประกาศ ณ วันที่ ๒๓ กันยายน พ.ศ.๒๕๒๓
พินิจ สมบัติศิริ
(นายพินิจ สมบัติศิริ)
อธิบดีกรมการศาสนา
* จากแถลงการณ์คณะสงฆ์ เล่ม ๖๘ ตอนที่ ๑๐ หน้า ๙ วันที่ ๒๕ ตุลาคม ๒๕๒๓
* เหตุผลในการประกาศใช้ระเบียบกรมการศาสนาฉบับนี้คือ เนื่องจากมีวัด หน่วยงานราชการ องค์การ บริษัท ห้างร้าน สมาคม มูลนิธิ และบุคคล ได้กราบทูลอาราธนาสมเด็จพระสังฆราชเสด็จปฏิบัติศาสนกิจมากขึ้น เพื่อให้การเสด็จปฏิบัติศาสนกิจของสมเด็จพระสังฆราชเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ไม่เป็นการรบกวนสมเด็จพระสังฆราชจนเกินไป จึงสมควรวางระเบียบกรมการศาสนา ว่าด้วยเรื่องนี้.
Hits: 8