ประกาศคณะสงฆ์ เรื่อง ห้ามพระสงฆ์เกี่ยวข้องกับการเมือง

ประกาศคณะสงฆ์

เรื่อง ห้ามพระสงฆ์เกี่ยวข้องกับการเมือง[1]

—————

       พระภิกษุสงฆ์ได้นามว่า สมณะ แปลว่า ผู้สงบ ได้นามว่า บรรพชิต แปลว่า ผู้เว้นกิจกรรมอันเศร้าหมองมีโทษ สมควรเป็นผู้มีสังวรระวังการทำของตนให้เป็นไปแต่ในทางสงบ ปราศจากโทษทั้งแก่ตนทั้งแก่หมู่คณะ ด้วยเหตุนี้ พระบรมศาสดาจึงทรงบัญญัติสิกขาบทห้ามภิกษุมิให้ประพฤตินอกทางสมณะ และบรรพชิต เช่นทรงห้ามชักสื่อชายหญิงให้เป็นสามีภรรยากันเป็นต้น ทรงปรับโทษอย่างหนักแก่ผู้ฝ่าฝืนละเมิด ในสมัยปัจจุบันนี้มีการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรเข้าเป็นสมาชิกในสภาผู้แทน ซึ่งเป็นธุรกิจฝ่ายการเมืองเป็นหน้าที่ของฆราวาสผู้มีสิทธิตามกฎหมายโดยเฉพาะ ไม่ใช่หน้าที่ของพระภิกษุสามเณรผู้อยู่นอกเหนือการเมือง ไม่มีสิทธิลงคะแนนเลือกตั้ง แม้ผู้ใดรับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแล้ว หากอุปสมบทเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา ก็ขาดจากสมาชิกภาพแห่งสภาผู้แทนทันที ข้อนี้แสดงว่า ความเป็นพระภิกษุไม่ควรแก่การเมืองโดยประการทั้งปวง การที่พระภิกษุเข้าเกี่ยวข้องช่วยสนับสนุนการเลือกตั้งบุคคลใด ๆ เพื่อเป็นสมาชิกสภาผู้แทนหรือสมาชิกสภาเทศบาล ย่อมเป็นการประพฤติผิดวิสัยของสมณะบรรพชิตนำความเสื่อมเสียมาสู่ตนเองและหมู่คณะตลอดถึงพระศาสนา เป็นที่ติเตียนของสาธุชนทั้งในและนอกพระศาสนา เพราะสมณะบรรพชิตคราวางตนเป็นกลาง ทำจิตให้กว้างขวางด้วยเมตตาทั่วไปแก่ชนทั้งปวงผู้ทำนุบำรุงพระศาสนา โดยไม่เลือกหน้าในตำแหน่งที่มีผู้แข่งขันช่วงชิงกันมากคน ภิกษุเข้าช่วยให้ผู้ใดได้ ย่อมเป็นที่พอใจของผู้นั้น แต่ผู้ไม่ได้เป็นอีกจำนวนมากกับทั้งพวกพ้องย่อมไม่พอใจ เสื่อมคลายความเคารพนับถือ ความเป็นอยู่ของพระสงฆ์และความดำรงอยู่แห่งพระศาสนา ขึ้นอยู่กับความเคารพนับถือของประชาชน ไม่ใช่เพียงเอกชนหรือชนหมู่น้อย พระภิกษุจึงควรทำตนให้เป็นที่เคารพนับถือของประชาชนทั่วไป ไม่ควรทำตนให้เป็นพวกเป็นฝ่ายของผู้ใดผู้หนึ่งซึ่งจะนำให้ชนทั้งหลายเห็นว่าไม่ตั้งอยู่ในธรรม เกิดความเบื่อหน่ายคลายความเคารพนับถือ และติเตียนต่าง ๆ ดังเคยมีตัวอย่างปรากฏมาแล้วมากมาย

       เพราะฉะนั้น เพื่อสงวนและเชิดชูพระภิกษุให้ตั้งอยู่ในฐานะอันน่าเคารพนับถือ ไม่เป็นที่ดูหมิ่นติเตียนของมหาชน และเพื่อป้องกันความเสื่อมของคณะสงฆ์และพระศาสนา อันมีพระภิกษุสงฆ์เป็นผู้ดำรงรักษาไว้ โดยอนุมัติแห่งสังฆมนตรี จึงประกาศห้ามไว้ดังต่อไปนี้

       ๑. ห้ามภิกษุสามเณรมิให้เข้าไปในที่ชุมนุมหรือในบริเวรที่ชุมนุมซึ่งมีการโฆษณาหาเสียงเพื่อเลือกตั้งสมาชิกแห่สภาผู้แทนสภาเทศบาล

       ๒. ห้ามพระภิกษุสามเณรมิให้ทำการใด ๆ อันเป็นการสนับสนุนช่วยเหลือโดยตรงหรือโดยอ้อมแก่การหาเสียง เพื่อการเลือกตั้งสมาชิกแห่งสภาผู้แทนหรือสภาเทศบาลแก่บุคคลใด ๆ

       ๓. ห้ามมิให้เจ้าอาวาสมิให้อนุญาตให้ผู้ใด อาศัยศาสนสถานภายในวัดหรือบริเวรวัด เป็นที่ชุมนุมทำการโฆษณาหาเสียงเพื่อการเลือกตั้งสมาชิกแห่งสภาผู้แทนหรือสภาเทศบาล

       ๔.ให้พระคณาธิการตั้งแต่ชั้นเจ้าอาวาสขึ้นไป ผู้มีอำนาจหน้าที่ในทางปกครองชี้แจงแนะนำลูกวัด ลูกคณะในปกครองของตนให้ทราบประกาศนี้และกวดขันอย่าให้มีการฝ่าฝืนและละเมิด

       ๕. ผู้ใดฝ่าฝืนละเมิดข้อห้ามตามประกาศนี้ ถ้าผู้นั้นเป็นลูกวัด ให้เจ้าอาวาสลงโทษโยสมควรแก่ความผิดตามมาตรา ๔๔ (๒) หรือ (๓) แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พุทธศักราช ๒๔๘๔ ถ้าผู้นั้นเป็นพระคณาธิการ ให้เจ้าคณะผู้บังคับบัญชาใกล้ชิดตั้งแต่ชั้นเจ้าคณะอำเภอขึ้นไป พิจารณาวินิจฉัยลงโทษตามสมควรแก่ความผิดฐานละเมิดจริยาพระคณาธิการโดยสมควรแก่กรณี แล้วรายงานต่อเจ้าคณะตามลำดับจนถึงสังฆนายก

       ๖. ให้พระคณาธิการผู้มีอำนาจหน้าที่ในทางปกครอง ทุกชั้นปฏิการให้เป็นไปตามประกาศนี้          

       ทั้งนี้ ตั้งแต่วันประกาศเป็นต้นไป

       ประกาศ ณ วันที่  ๒ มกราคม พุทธศักราช ๒๔๙๑

(ลงชื่อ) พระศาสนโศภณ

สังฆมนตรีว่าการองค์การเผยแผ่

รักษากาการแทนสังฆนายก


[1] ประกาศแถลงการณ์คณะสงฆ์ เล่ม ๔๕ ภาค ๑ :  ๒๕ มกราคม ๒๕๐๐