ระเบียบกรมการศาสนา ว่าด้วยการกำหนดขั้นตอน ฯ พ.ศ.๒๕๓๗

ระเบียบกรมการศาสนา

ว่าด้วยการกำหนดขั้นตอนและระยะเวลาปฏิบัติราชการสำหรับ

การขอพระราชทานเพลิงศพพระสมณศักดิ์

พ.ศ. ๒๕๓๗[1]

————————-

      อาศัยอำนาจตามความในข้อ ๙ แห่งระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการปฏิบัติราชการเพื่อประชาชนของหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. ๒๕๓๒ จึงให้ออกระเบียบกำหนดขั้นตอนและระยะเวลาปฏิบัติราชการสำหรับการขอพระราชทานเพลิงศพพระสมณศักดิ์ไว้ ดังต่อไปนี้

      ข้อ ๑ ระเบียบนี้เรียกว่า “ระเบียบกรมการศาสนาว่าด้วยการกำหนดขั้นตอนและระยะเวลาปฎิบัติราชการสำหรับการขอพระราชทานเพลิงศพพระสมณศักดิ์ พ.ศ. ๒๕๓๗”

      ข้อ ๒ ระเบียบนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศเป็นต้นไป

      ข้อ ๓ การขอพระราชทานเพลิงศพ มี ๒ ประเภท คือ

             ๓.๑ การขอพระราชทานเพลิงพระศพตามปกติ

             ๓.๒ การขอพระราชทานเพลิงพระศพเป็นกรณีพิเศษ

      ข้อ ๔ พระสมณศักดิ์อยู่ในเกณฑ์ที่จะขอพระราชทานเพลิงศพได้

             ๔.๑ พระครูประทวน

             ๔.๒ พระครูปลัดของพระราชคณะตั้งแต่ชั้นราชขึ้นไป

             ๔.๓ พระเปรียญธรรม ๙ ประโยค

             ๔.๔ พระครูสัญญาบัตร

             ๔.๕ พระราชาคณะทุกชั้น

      ข้อ ๕ พระภิกษุที่ไม่ในเกณฑ์ตามข้อ ๔ แต่ได้ประกอบคุณงามความดี หรือมีเหตุอันสมควรอื่นใดที่เจ้าคณะผู้ปกครองฝ่ายสงฆ์ พิจารณาเห็นสมควร ถ้ามีความประสงค์จะขอพระราชทานเพลิงศพ ต้องขอเป็นกรณีพิเศษ

      ข้อ ๖ การเสนอเรื่องขอพระราชทานเพลิงศพ ในส่วนกลาง ให้เจ้าอาวาสหรือผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาส เสนอเรื่องถึงกรมการศาสนาโดยตรง

      ข้อ ๗ การเสนอเรื่องขอพระราชทานเพลิงศพ ในส่วนภูมิภาค

             ๗.๑ เจ้าคณะจังหวัด (โดยเจ้าภาพเสนอเรื่องผ่านตามลำดับมีถึงเจ้าคณะจังหวัด) หรือ

             ๗.๒  ผู้ว่าราชการจังหวัด (โดยเจ้าภาพเสนอเรื่องผ่านอำเภอถึงผู้ว่าราชการจังหวัด)

      ข้อ ๘ หลักฐานประกอบการขอพระราชทานเพลิงศพ

             ๘.๑ สำเนาตราตั้งสมณศักดิ์

             ๘.๒ สำเนามรณบัตร

             ๘.๓ อื่น ๆ (ถ้ามี)

      ข้อ ๙ การขอพระราชทานเพลิงศพเป็นกรณีพิเศษ นอกจากหลักฐานตามข้อ ๘ แล้ว ให้แนบประวัติและผลงานของผู้มรณภาพที่จะขอรับพระราชทานเพลิงศพโดยเจ้าอาวาสลงนามรับรอง และเจ้าคณะตำบล อำเภอ จังหวัดตามลำดับ ลงในนามให้ความเห็นชอบประกอบการขอพระราชทานด้วย

      ข้อ ๑๐ แจ้งรายละเอียดต่าง ๆ เช่น นามเดิม ฉายา อายุ พรรษา ตำแหน่ง วัน เวลา และสถานที่ที่จะพระราชทานเพลิงศพให้ชัดเจน

      วันเฉลิมพระชนมพรรษา และวันฉัตรมงคลไม่พระราชทานเพลิงศพ

      ข้อ ๑๑ เสนอเรื่องขอพระราชทานเพลิงศพถึงกรมการศาสนาก่อนวันพระราชทานเพลิงศพอย่างน้อย ๓๐ วัน เพื่อกรมการศาสนาจะได้แจ้งการขอพระราชทานเพลิงศพไปยังสำนักพระราชวังต่อไป โดยใช้เวลาดำเนินการประมาณ ๗ วันทำการ

      ข้อ ๑๒ ประเภทของเพลิงพระราชทาน

             ๑๒.๑ เพลิงหลวง ได้แก่ไฟพระราชทานที่เจ้าหน้าที่กองพระราชพิธี สำนักพระราชวังเป็นผู้อัญเชิญไปเอง

             ๑๒.๒ หีบเพลิง ได้แก่หีบที่บรรจุไม้ขีดไฟ ๑ กลัก ธูปไม้ระกำ ๒ ดอก เทียน ๒ เล่ม และดอกไม้จันทน์ ๒ ช่อ

      ข้อ ๑๓ การพระราชทานเพลิงศพในส่วนกลาง (รวมจังหวัดนนทบุรี และจังหวัดสมุทรปราการบางอำเภอ) เจ้าหน้าที่พระราชพิธี สำนักพระราชวังเป็นผู้อัญเชิญไฟพระราชทานไปเอง

      ข้อ ๑๔ การพระราชทานเพลิงศพในส่วนภูมิภาค เมื่อทรงพระกรุณาโปรดพระราชทานและกรมการศาสนาได้รับหีบเพลิงจากสำนักพระราชวังแล้ว จะจัดส่งให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้รับไปดำเนินการ ไม่ว่าผู้ขอพระราชทานจะเป็นใครก็ตาม โดยจะจัดส่งหีบเพลิงถึงจังหวัดก่อนกำหนดงานอย่างน้อย ๗ วัน

      ข้อ ๑๕ ในกรณีที่ผู้ขอพระราชทานเพลิงศพในส่วนภูมิภาค ต้องการให้เจ้าหน้าที่พระราชพิธีสำนักพระราชวัง อัญเชิญไฟพระราชทานไป ต้องระบุในหนังสือขอพระราชทานด้วยว่า “ขอพระราชทานไฟหลวง” และเจ้าภาพต้องติดต่อประสานกับเจ้าหน้าที่กองพระราชพิธีสำนักพระราชวังเป็นการภายในอีกทางหนึ่งด้วย

      ข้อ ๑๖ เจ้าภาพที่มีความประสงค์จะขอหมายรับสั่งในการพระราชทานเพลิงศพเพื่อนำไปประกอบการพิมพ์หนังสือที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพ ติดต่อแจ้งเจ้าหน้าที่กองพระราชพิธีสำนักพระราชวังเอง

      ข้อ ๑๗ เมื่องานพระราชทานเพลิงศพเสร็จเรียบร้อยแล้ว ต้องจัดส่งพัดยศคืนกรมการศาสนาในเวลาอันสมควร

      ข้อ ๑๘ ให้ผู้อำนวยการกองศาสนูปถัมภ์รักษาการให้เป็นไปตามระเบียบนี้

             ประกาศ  ณ  วันที่  ๑๒  มกราคม พ.ศ.  ๒๕๓๗

จำเริญ  เสกธีระ

(ลงชื่อ) จำเริญ  เสกธีระ)

อธิบดีกรมการศาสนา


            [1] จากแถลงการณ์คณะสงฆ์ เล่ม  ๘๓  : ๒๕  กันยายน  ๒๕๓๘

Views: 69