ส่วนที่ ๔
ความแตกต่าง
แห่งองค์กรปกครองคณะสงฆ์
—————————
องค์กรปกครองคณะสงฆ์ทั้ง ๓ แบบดังกล่าวมา ย่อมมีความแตกต่างกันทั้งรูปแบบและอำนาจหน้าที่ ทั้งนี้ เพราะเจตนารมณ์ของการตรากฎหมายเป็นหลัก
องค์กรแบบที่ ๑ มีลักษณะเหมือนแบบการปกครองราชอาณาจักรในระบอบราชาธิปไตยและเป็นแบบอย่างในการจัดองค์กรคราวต่อไป การปฏิบัติงานขององค์กรเป็นไปได้โดยความสะดวก เพราะเป็นแบบถืออำนาจเป็นใหญ่ การทุกอย่างอยู่ที่ผู้บัญชาการคณะสงฆ์เป็นสำคัญ เช่น การแต่งตั้งเจ้าคณะใหญ่และเจ้าคณะมณฑล ในบางครั้งเป็นไปตามความประสงค์ของผู้มีอำนาจมากเกินไป จนเป็นเหตุให้มีคณะปฏิสังขรณ์พระพุทธ-ศาสนา เกิดขึ้นในปี ๒๔๗๕ อันเป็นมูลเหตุหนึ่งที่ให้มีการตราพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พุทธศักราช ๒๔๘๔
องค์กรแบบที่ ๒ มีลักษณะเหมือนแบบการปกครองราชอาณาจักรในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข คือการบริหารการคณะสงฆ์โดยคณะสังฆมนตรี มีสมเด็จพระสังฆราชทรงเป็นประมุข แยกอำนาจบัญญัติสังฆาณัติ อำนาจบริหารและอำนาจวินิจฉัยอธิกรณ์ออกจากกัน สมเด็จพระสังฆราชทรงบัญชาการคณะสงฆ์ทางสังฆสภา ทางคณะสังฆมนตรี และทางคณะวินัยธร เจตนารมณ์ของการตรากฎหมายเพื่อให้เกิดความถ่วงดุลแห่งอำนาจ เพื่อให้มีการสังคายนาพระธรรมวินัยและเพื่อรวมสงฆ์ ๒ คณะเข้าเป็นคณะเดียวกัน แต่ในทางปฏิบัติ เกิดความขัดแย้งในสังฆมณฑลนานัปปการ การปฏิบัติต้องตามเจตนารมณ์เพียงความถ่วงดุลแห่งอำนาจเท่านั้น ส่วนการสังคายนาพระธรรมวินัยและการรวมสงฆ์เข้าเป็นคณะเดียวกันล้มเหลว จนเป็นเหตุให้มีการตราพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.๒๕๐๕ ขึ้นบังคับใช้แทน
องค์กรแบบที่ ๓ มีลักษณะยึดแบบที่ ๑ เป็นหลักใหญ่และใช้แบบที่ ๒ ผสมผสานจัดว่าอยู่ในสายกลาง โดยยึดพระธรรมวินัยเป็นหลัก องค์กรที่จัดตามแบบนี้ใช้นานจนปัจจุบัน ดังนั้น ในส่วนต่อไปจะกล่าวถึงเฉพาะองค์กรแบบที่ ๓ เท่านั้น
Views: 41